ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 20 / 1อ่านอรรถกถา 20 / 461อรรถกถา เล่มที่ 20 ข้อ 462อ่านอรรถกถา 20 / 463อ่านอรรถกถา 20 / 596
อรรถกถา อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต ปฐมปัณณาสก์ ปุคคลวรรคที่ ๓
๓. สังขารสูตร

               อรรถกถาสังขารสูตรที่ ๓               
               พึงทราบวินิจฉัยในสังขารสูตรที่ ๓ ดังต่อไปนี้ :-
               บทว่า สพฺยาปชฺฌํ แปลว่า มีทุกข์.๑-
____________________________
๑- ปาฐะว่า สพฺยาปชฺชนฺติ สทุกฺขํ ฉบับพม่าเป็น สพฺยาพชฺฌนฺติ สทุกฺขํ ตามแนวของฉบับพม่า บาลีและอรรถสมกัน เพราะคำว่า พฺยาพชฺช ฎีกาขยายว่า พฺยาพาโธว พยาพชฺฌํ และปาฐะว่า พยาปชฺฌ ในฉบับพม่าเป็น พฺยาพชฺฌ ทั้งหมด.

               บทว่า กายสงฺขารํ ได้แก่ กองเจตนาในกายทวาร.
               บทว่า อภิสงฺขโรติ ความว่า ประมวลมา คือทำให้เป็นกอง ได้แก่ทำให้เป็นก้อน.
               แม้ในวจีทวารและมโนทวารก็มีนัยนี้เหมือนกัน.
               บทว่า สพฺยาปชฺฌํ โลกํ ได้แก่ สัตว์โลกผู้มีทุกข์.
               บทว่า สพฺยาปชฺฌา ผสฺสา ผุสนฺติ ความว่า ผัสสะที่เป็นผลมีทุกข์ ย่อมถูกต้อง.
               บทว่า สพฺยาปชฺฌํ เวทนํ เวทิยติ ความว่า เสวยเวทนาที่เป็นผลมีทุกข์. อธิบายว่า เสวยความเจ็บไข้และอาพาธ คือหมดความสดชื่น.
               บทว่า เสยฺยถาปิ สตฺตา เนรยิกา มีอธิบายว่า เขาย่อมเสวยเวทนาเหมือนสัตว์ทั้งหลายผู้เกิดในนรก เสวยแต่เวทนาที่เป็นทุกข์โดยส่วนเดียวฉะนั้น.
               ถามว่า ก็นรกนั้น ไม่มีอุเบกขาเวทนาหรือ.
               ตอบว่า มี แต่เวทนานั้นอยู่ในฐานะเป็นอัพโพหาริก เพราะทุกขเวทนามีพลังมาก. ด้วยเหตุดังพรรณนามานี้ เป็นอันพระองค์ทรงนำนรกนั่นแหละมาเปรียบเทียบกับนรก.
               ได้ยินว่า นี้ชื่อ ปฏิภาคอุปมา ในข้อนั้น.
               แม้ในบทว่า เสยฺยถาปิ เทวา สุภกิณฺหา นี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงนำเอาเทวโลกนั้นแหละ มาเปรียบเทียบกับเทวโลก. ก็เพราะวิบากของฌานที่มีปีติ ย่อมเป็นไปในพรหมโลกชั้นต่ำ ส่วนวิบากของฌานที่ไม่มีปีติ มีแต่สุขอย่างเดียวจะเป็นไปในพรหมชั้นสุภกิณหะ ฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสสุภกิณหพรหม ไม่ทรงถือพรหมชั้นต่ำเหล่านั้น. ด้วยประการดังพรรณนามานี้ แม้อุปมานี้ในข้อนั้นก็พึงทราบว่า เป็นปฏิภาคอุปมา.
               บทว่า โวกิณฺณสุขทุกฺขํ ได้แก่ เวทนาที่มีสุขและทุกข์คลุกเคล้ากันไป.
               บทว่า เสยฺยถาปิ มนุสฺสา ความว่า แท้จริง มนุษย์ทั้งหลายย่อมมีสุขมีทุกข์ตามกาลเวลา.
               บทว่า เอกจฺเจ จ เทวา ได้แก่ เทวดาชั้นกามาวจร.
               แม้เทวดาชั้นกามาวจรเหล่านั้นก็มีสุขมีทุกข์ตามกาลเวลา. เพราะเทวดาชั้นกามาวจรผู้ต่ำศักดิ์กว่าเหล่านั้น จะต้องลุกจากอาสนะ จะต้องหลีกออกจากทาง จะต้องเปลื้องผ้าห่มออก จะต้องทำอัญชลีกรรม เพราะเห็นเทวดาที่มีศักดิ์สูงกว่า กิจกรรมแม้ทั้งหมดนั้นย่อมชื่อว่าเป็นทุกข์.
               บทว่า เอกจฺเจ จ วินิปาติกา ได้แก่ เวมานิกเปรต.
               ก็เปรตเหล่านั้นย่อมเสวยสมบัติตามกาลเวลา เสวยกรรมตามกาลเวลา เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่ามีสุขมีทุกข์คลุกเคล้ากันไปทีเดียว.
               ด้วยประการดังพรรณนามานี้ สุจริต ๓ อย่างในพระสูตรนี้ พึงทราบว่า พระองค์ตรัสให้เจือกันไปทั้งที่เป็นโลกิยะและโลกุตระ.

               จบอรรถกถาสังขารสูตรที่ ๓               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต ปฐมปัณณาสก์ ปุคคลวรรคที่ ๓ ๓. สังขารสูตร จบ.
อ่านอรรถกถา 20 / 1อ่านอรรถกถา 20 / 461อรรถกถา เล่มที่ 20 ข้อ 462อ่านอรรถกถา 20 / 463อ่านอรรถกถา 20 / 596
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=20&A=3201&Z=3224
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=15&A=2254
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=15&A=2254
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๒๖  ธันวาคม  พ.ศ.  ๒๕๔๙
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :