ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 

อ่าน อรรถกถาหน้าต่างที่ [หน้าสารบัญ] [๑] [๒] [๓]อ่านอรรถกถา 20 / 1อ่านอรรถกถา 20 / 247อรรถกถา เล่มที่ 20 ข้อ 257อ่านอรรถกถา 20 / 267อ่านอรรถกถา 20 / 596
อรรถกถา อังคุตตรนิกาย ทุกนิบาต ปฐมปัณณาสก์
อธิกรณวรรคที่ ๒

               อธิกรณวรรคที่ ๒               
               อรรถกถาสูตรที่ ๑               
               อธิกรณวรรคที่ ๒ สูตรที่ ๑ มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้.
               บทว่า พลานิ ความว่า ชื่อว่าพละ ด้วยอรรถอะไร. ชื่อว่าพละ ด้วยอรรถว่าไม่เป็นที่ตั้งแห่งความหวั่นไหว คือด้วยอรรถว่าครอบงำได้ยาก และย่ำยีไม่ได้.
               บทว่า ปฏิสงฺขานพลํ ได้แก่ กำลังคือการพิจารณา.
               บทว่า ภาวนาพลํ ได้แก่ กำลัง คือการพอกพูน คือกำลังคือการพัฒนา.
               บทว่า สุทฺธํ อตฺตานํ นี้ พึงทราบตามนัยที่กล่าวแล้วในหนหลังนั่นแล.
               บทว่า ตตฺร ได้แก่ ในพละ ๒ อย่างนั้น.
               บทว่า ยทิทํ ตัดบทเป็น ยํ อิทํ นี้ใด.
               บทว่า เสขเมตํ พลํ ความว่า ภาวนาพละนั่น ได้แก่กำลังญาณของพระเสขะ ๗ จำพวก.
               บทว่า เสขํ หิ โส ภิกฺขเว พลํ อาคมฺม ความว่า ปรารภ หมาย คืออาศัยกำลังญาณของพระเสขะ ๗ จำพวก.
               บทว่า ปชหติ ความว่า ละได้ด้วยมรรค.
               ด้วยบทว่า ปหาย นี้ตรัสถึงผล.
               บทว่า ยํ ปาปํ ความว่า สิ่งใดเป็นบาป คือลามก.
               ก็เพราะบุคคลเจริญพละทั้ง ๒ อย่างเหล่านี้แล้วจึงบรรลุพระอรหัตได้ ฉะนั้น พึงทราบว่าพละชั้นยอดเยี่ยม มิได้ทรงจัดไว้ในที่นี้.
               จบอรรถกถาสูตรที่ ๑               

               อรรถกถาสูตรที่ ๒               
               ในสูตรที่ ๒ มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้.
               ในบทว่า สติสมฺโพชฺฌงฺคํ ภาเวติ เป็นต้น มีพรรณนาความของบทที่ยังมิได้มีมาในหนหลัง ดังนี้.
               บทว่า วิเวกนิสฺสิตํ ได้แก่ อาศัยวิเวก.
               ความสงัด ชื่อว่าวิเวก. วิเวกดังกล่าวนี้มี ๕ อย่างคื่อ ตทังควิเวก วิกขัมภนวิเวก สมุจเฉทวิเวก ปฏิปัสสัทธิวิเวกและนิสสรณวิเวก.
               ในวิเวก ๕ อย่างนั้น ในบทว่า วิเวกนิสฺสิตํ พึงทราบเนื้อความว่า
               ภิกษุเจริญสติสัมโพชฌงค์อันอาศัยตทังควิเวก อาศัยสมุจเฉทวิเวกและอาศัยนิสสรณวิเวก. จริงอย่างนั้น พระโยคีผู้บำเพ็ญสติสัมโพชฌงคภาวนา ในขณะวิปัสสนาย่อมเจริญสติสัมโพชฌงค์ อาศัยตทังควิเวกโดยกิจ อาศัยนิสสรณวิเวกโดยอัชฌาสัย แต่ในขณะมรรคอาศัยสมุจเฉทวิเวกโดยกิจ อาศัยนิสสรณวิเวกโดยอารมณ์. อาจารย์บางพวกกล่าวว่า อาศัยวิเวกทั้ง ๕ อย่างก็มี.
               จริงอยู่ อาจารย์เหล่านั้นมิใช่ยกโพชฌงค์ทั้งหลายขึ้นในขณะแห่งพลววิปัสสนา มรรคและผลจิตอย่างเดียวเท่านั้น แม้ในกสิณฌาน อานาปานสติ อสุภกัมมัฏฐานและพรหมวิหารฌานซึ่งเป็นบาทแห่งวิปัสสนาก็ยกขึ้นด้วย แต่พระอรรถกถาจารย์ทั้งหลายก็ไม่ปฏิเสธ ฉะนั้น ตามมติของอาจารย์เหล่านั้น ในปวัตติขณะแห่งฌานเหล่านั้นอาศัยวิกขัมภนวิเวกโดยกิจเท่านั้น เหมือนอย่างที่กล่าวว่า ในขณะวิปัสสนาอาศัยนิสสรณวิเวกโดยอัชฌาสัยฉันใด ก็ควรจะกล่าวว่าเจริญสติสัมโพชฌงค์อันอาศัยปฏิปัสสัทธิวิเวกก็ได้ฉันนั้น.
               แม้ในสติสัมโพชฌงค์ที่อาศัยวิราคะเป็นต้นก็นัยนี้เหมือนกัน.
               ธรรมมีวิราคะเป็นต้น มีในอรรถว่าสงัดเหมือนกัน.
               ก็ความสละในบทว่า โวสฺสคฺคปริณามึ นี้ มี ๒ อย่างเท่านั้น คือความสละโดยบริจาค ๑ ความสละโดยแล่นไป ๑.
               ใน ๒ อย่างนั้น บทว่า ปริจฺจาคโวสฺสคฺโค ได้แก่ การละกิเลสอย่างชั่วขณะในวิปัสสนาขณะ และอย่างเด็ดขาดในมรรคขณะ.
               บทว่า ปกฺขนฺทนโวสฺสคฺโค ได้แก่ การแล่นไปสู่พระนิพพาน โดยน้อมไปในพระนิพพานนั้นในวิปัสสนาขณะ แต่ในมรรคขณะ โดยทำพระนิพพานให้เป็นอารมณ์.
               ความสละทั้ง ๒ อย่างนั้น ย่อมใช้ได้ในสติสัมโพชฌงค์ ซึ่งระคนกันทั้งโลกิยะและโลกุตระนี้ ตามนัยที่มาในอรรถกถา.
               จริงอย่างนั้น สติสัมโพชฌงค์นี้ย่อมสละกิเลส แล่นไปสู่พระนิพพานโดยประการดังกล่าวแล้ว.
               อนึ่ง ด้วยคำทั้งสิ้นว่า โวสฺสคฺคปริณามึ นี้ ท่านอธิบายว่า ตั้งอยู่ในความสละ คือที่กำลังน้อมไปก็น้อมไป และที่กำลังจะแก่กล้าก็แก่กล้าไป. ก็ภิกษุผู้บำเพ็ญโพชฌงคภาวนานี้ย่อมเจริญสติสัมโพชฌงค์ โดยประการที่สติสัมโพชฌงค์จะแก่กล้าและแก่กล้าแล้ว เพื่อโวสสัคคะคือความสละกิเลส เพื่อโวสสัคคะคือแล่นไปสู่พระนิพพาน.
               แม้ในโพชฌงค์ที่เหลือก็นัยนี้เหมือนกัน.
               ก็พระนิพพานนี้แหละ ท่านกล่าวว่าวิเวก เพราะสงัดจากสังขตธรรมทุกอย่าง กล่าวว่าวิราคะ เพราะสำรอกสังขตธรรมทุกอย่าง กล่าวว่านิโรธ เพราะเป็นธรรมที่ดับสังเขตธรรม.
               ก็มรรคนั่นแหละ ชื่อว่าน้อมไปในความสละ เพราะฉะนั้น ภิกษุเจริญสติสัมโพชฌงค์อันอาศัยวิเวก โดยทำวิเวกให้เป็นอารมณ์เป็นไป อาศัยวิราคะ อาศัยนิโรธก็เหมือนกัน และสติสัมโพชฌงค์นั้นแลน้อมไปแล้ว แก่กล้าแล้ว โดยสละกิเลสเหตุละได้อย่างเด็ดขาด ในขณะอริยมรรคเกิดขึ้น โดยแล่นไปสู่พระนิพพานนั่นเอง.
               พึงเห็นเนี้อความนี้ดังกล่าวมาฉะนี้แล.
               แม้ในโพชฌงค์ที่เหลือก็นัยนี้เหมือนกัน.
               โพชฌงค์ ๗ เหล่านี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสระคนกันทั้งโลกิยะและโลกุตระด้วยประการฉะนี้.
               ความเป็นเลิศในพละ ๒ แม้เหล่านี้ พึงทราบตามนัยที่กล่าวแล้วนั่นแล.
               จบอรรถกถาสูตรที่ ๒               

               อรรถกถาสูตรที่ ๓               
               ในสูตรที่ ๓ มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้.
               เนื้อความพระบาลีของฌาน ๔ ว่า วิวิจฺเจว กาเมหิ เป็นต้นและนัยแห่งภาวนา ได้กล่าวไว้พิสดารในคัมภีร์วิสุทธิมรรคโดยประการทั้งปวงทีเดียว.
               ก็ฌาน ๔ เหล่านี้ ภิกษุรูปหนึ่งเจริญเพื่อต้องการให้จิตแน่วแน่ รูปหนึ่งเจริญเพื่อต้องการเป็นบาทแห่งวิปัสสนา รูปหนึ่งเจริญเพื่อต้องการเป็นบาทแห่งอภิญญา รูปหนึ่งเจริญเพื่อต้องการเป็นบาทแห่งนิโรธ รูปหนึ่งเจริญเพื่อความวิเศษแห่งภพ.
               แต่ในสูตรนี้ฌาน ๔ เหล่านั้น ทรงประสงค์เป็นบาทแห่งวิปัสสนา.
               จริงอยู่ ภิกษุนี้เข้าถึงฌานเหล่านี้แล้วออกจากสมาบัติ พิจารณาสังขาร กำหนดเหตุปัจจัยและกำหนดนามรูปพร้อมทั้งปัจจัย ประชุมอินทรีย์ พละและโพชฌงค์ บรรลุพระอรหัต.
               ฌานเหล่านี้พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสระคนกันทั้งที่เป็นโลกิยะและที่เป็นโลกุตระ.
               อนึ่ง ความเป็นเลิศในพละ ๒ แม้นี้ พึงทราบตามนัยที่กล่าวแล้วนั่นแล.
               จบอรรถกถาสูตรที่ ๓               

               อรรถกถาสูตรที่ ๔               
               ในสูตรที่ ๔ มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้.
               ด้วยบทว่า สงฺขิตฺเตน จ วิตฺถาเรน จ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงว่า ธรรมเทศนามี ๒ เท่านั้น คือ ธรรมเทศนาโดยสังเขป ธรรมเทศนาโดยพิสดาร.
               ใน ๒ อย่างนั้น เทศนาที่ตรัสแสดงเฉพาะหัวข้อ ชื่อเทศนาโดยสังเขป. เทศนาที่ตรัสแยกแยะหัวข้อนั้นๆ ชื่อเทศนาโดยพิสดาร. อีกอย่างหนึ่ง เทศนาที่ทรงตั้งหัวข้อก็ตาม ไม่ทรงตั้งก็ตาม ตรัสแยกแยะโดยพิสดาร ชื่อว่าเทศนาโดยพิสดาร.
               ในเทศนา ๒ อย่างนั้น เทศนาโดยสังเขป ตรัสแก่บุคคลที่มีปัญญามาก. เทศนาโดยพิสดาร ตรัสแก่บุคคลที่มีปัญญาน้อย. เพราะเทศนาโดยพิสดารย่อมเป็นเหมือนเนิ่นช้าอย่างยิ่งแก่ผู้มีปัญญามาก. เทศนาโดยสังเขปย่อมเป็นเหมือนกระต่ายกระโดดแก่ผู้มีปัญญาน้อย ไม่อาจจับต้นชนปลายได้.
               อนึ่ง เทศนาโดยสังเขป ตรัสแก่บุคคลประเภทอุคฆติตัญญู. เทศนาโดยพิสดาร ตรัสแก่บุคคล ๓ ประเภทนอกนี้ (วิปจิตัญญู เนยยะ ปทปรมะ). พระไตรปิฏกทั้งสิ้นย่อมนับเข้าข้อนี้ว่า เทศนาโดยสังเขป เทศนาโดยพิสดารนั่นแล.
               จบอรรถกถาสูตรที่ ๔               

               อรรถกถาสูตรที่ ๕               
               ในสูตรที่ ๕ มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้.
               บทว่า ยสฺมึ ภิกฺขเว อธิกรเณ ความว่า ในอธิกรณ์ใด ในบรรดาอธิกรณ์ ๔ เหล่านี้ คือ วิวาทาธิกรณ์ อนุวาทาธิกรณ์ อาปัตตาธิกรณ์และกิจจาธิกรณ์.
               บทว่า อาปนฺโน จ ภิกฺขุ ได้แก่ ภิกษุผู้ต้องอาบัติ.
               บทว่า ตเสฺมตํ ตัดบทเป็น ตสฺมึ เอตํ แปลว่า ในอธิกรณ์นั้น ข้อที่พึงหวังนั้น.
               บทว่า ทีฆตฺตาย ได้แก่ เพื่อตั้งอยู่ตลอดกาลนาน.
               บทว่า ขรตฺตาย ได้แก่ เพื่อกล่าววาจาหยาบอย่างนี้ว่า ทาส เหี้ย จัณฑาล ช่างสาน.
               บทว่า วาฬตฺตาย ได้แก่ เพื่อความร้าย คือประหารด้วยก้อนหิน ก้อนดิน และท่อนไม้เป็นต้น.
               บทว่า ภิกฺขู จ น ผาสุํ วิหริสฺสนฺติ ความว่า เมื่อภิกษุวิวาทกัน ภิกษุที่ประสงค์จะเรียนอุเทศหรือปริปุจฉา หรือประสงค์จะบำเพ็ญเพียรเหล่านั้นจักอยู่ไม่ผาสุก. เมื่อภิกษุสงฆ์ทำอุโบสถหรือปวารณา ภิกษุที่มีความต้องการอุเทศเป็นต้น ย่อมไม่อาจเรียนอุเทศเป็นต้นได้ พวกภิกษุผู้เจริญวิปัสสนาย่อมไม่เกิดจิตมีอารมณ์เดียว แต่นั้นก็ไม่อาจให้คุณวิเศษบังเกิดได้ ภิกษุทั้งหลายจักอยู่ไม่ผาสุกด้วยอาการอย่างนี้แล.
               ในบทว่า น ทีฆตฺตาย เป็นต้น พึงทราบเนื้อความโดยนัยตรงข้ามกับที่กล่าวแล้ว.
               บทว่า อิธ แปลว่า ในศาสนานี้.
               บทว่า อิติ ปฏิสญฺจิกฺขติ แปลว่า พิจารณาอยู่อย่างนี้.
               บทว่า อกุสลํ ในข้อว่า อกุสฺลํ อาปนฺโน นี้ ทรงหมายถึงอาบัติ. ความว่า ต้องอาบัติ.
               บทว่า กิญฺจิเทว เทสํ ความว่า มิใช่อาบัติทั้งหมดทีเดียว แต่เป็นอาบัติบางส่วนเท่านั้น. อธิบายว่า อาบัติบางอย่าง.
               บทว่า กาเยน ได้แก่ กรัชกาย.
               บทว่า อนตฺตมโน แปลว่า มีจิตไม่ยินดี.
               บทว่า อนตฺตมนวาจํ แปลว่า วาจาไม่น่ายินดี.
               บทว่า มเมว แปลว่า แก่เราผู้เดียว.
               บทว่า ตตฺถ แปลว่า ในเหตุนั้น.
               บทว่า อจฺจโย อจฺจคมา ความว่า ความผิดได้ล่วงเกินย่ำยี (ข้าพเจ้า) ข้าพเจ้าผู้เดียวมีความผิดในเรื่องนี้.
               บทว่า สุงฺกทายิกํว ภณฺฑสฺมึ ความว่า เมื่อนำสินค้าเลี่ยงด่านภาษี ความผิดย่อมตกอยู่แก่ผู้นำสินค้าเลี่ยงภาษี เขาแหละเป็นผู้ผิดในเรื่องนั้น ไม่ใช่พระราชา ไม่ใช่ราชบุรุษ.
               ท่านอธิบายว่า ผู้ใดนำสินค้าเลี่ยงด่านภาษีที่พระราชาทรงตั้งไว้ พวกราชบุรุษเอาเกวียนนำผู้นั้นพร้อมด้วยสินค้ามาแสดงแก่พระราชา โทษไม่มีแก่ด่านภาษี ไม่มีแก่พระราชา ไม่มีแก่พวกราชบุรุษ แต่โทษมีแก่ผู้เลี่ยงด่านภาษีนี้เท่านั้น
               ภิกษุรูปนั้นก็ฉันนั้นนั่นแล ต้องอาบัติใดแล้วในเรื่องนั้น อาบัตินั้นไม่มีโทษ ภิกษุผู้โจทก์ก็ไม่มีโทษ แต่ภิกษุผู้ต้องอาบัติรูปนั้นเท่านั้นมีโทษด้วยเหตุ ๓ ประการ.
               ด้วยว่า เธอมีโทษด้วยความเป็นผู้ต้องอาบัติบ้าง. มีโทษด้วยความที่ภิกษุผู้เป็นโจทก์ไม่พอใจบ้าง มีโทษด้วยเมื่อมีผู้ไม่พอใจ บอกอาบัติแก่ผู้อื่นบ้าง. แต่สำหรับภิกษุผู้โจทก์ เธอได้เห็นภิกษุนั้นต้องอาบัติ ในข้อนั้นไม่มีโทษ แต่มีโทษเพราะโจทก์ด้วยความไม่พอใจ แม้ไม่ใส่ใจถึงข้อนั้น ภิกษุนี้ก็พิจารณาเห็นโทษของตน ชื่อว่าย่อมใคร่ครวญอย่างนี้ว่า เป็นอย่างนี้ โทษในกรณีนั้น ย่อมตกอยู่แก่ข้าพเจ้าผู้เดียว ดุจโทษเพราะสินค้าที่นำเลี่ยงภาษีมาฉะนั้น.
               ในทุติยวาร พึงประกอบเนี้อความว่า โทษ ๒ อย่าง คือ ภิกษุผู้โจทก์ไม่พอใจ ๑ จำเลยถูกโจทด้วยความไม่พอใจ ๑ โทษล่วงเกินกันด้วยอำนาจโทษ ๒ อย่างนั้น.
               คำที่เหลือในที่นี้ง่ายทั้งนั้นแล.

               จบอรรถกถาสูตรที่ ๕               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา อังคุตตรนิกาย ทุกนิบาต ปฐมปัณณาสก์ อธิกรณวรรคที่ ๒
อ่านอรรถกถาหน้าต่างที่ [หน้าสารบัญ] [๑] [๒] [๓]
อ่านอรรถกถา 20 / 1อ่านอรรถกถา 20 / 247อรรถกถา เล่มที่ 20 ข้อ 257อ่านอรรถกถา 20 / 267อ่านอรรถกถา 20 / 596
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=20&A=1374&Z=1563
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=15&A=209
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=15&A=209
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๒๖  ธันวาคม  พ.ศ.  ๒๕๔๙
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :