ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 20 / 1อ่านอรรถกถา 20 / 207อรรถกถา เล่มที่ 20 ข้อ 247อ่านอรรถกถา 20 / 257อ่านอรรถกถา 20 / 596
อรรถกถา อังคุตตรนิกาย ทุกนิบาต ปฐมปัณณาสก์
กัมมกรณวรรคที่ ๑

               กัมมกรณวรรคที่ ๑               
               อรรถกถาสูตรที่ ๑               
               ทุกนิบาต สูตรที่ ๑ มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้.
               บทว่า วชฺชานิ แปลว่า โทษ คือความผิด.
               บทว่า ทิฏฺฐธมฺมิกํ ได้แก่ มีผลเกิดขึ้นในปัจจุบัน คือในอัตภาพนี้แหละ.
               บทว่า สมฺปรายิกํ ได้แก่ มีผลเกิดขึ้นในภายหน้า คือในอัตภาพที่ยังไม่มาถึง.
               บทว่า อาคุจารึ ได้แก่ ผู้กระทำชั่ว คือกระทำความผิด.
               บทว่า ราชาโน คเหตฺวา วิวิธา กมฺมกรณา กโรนฺเต ความว่า ราชบุรุษทั้งหลายจับโจรมาลงกรรมกรณ์หลายอย่างต่างวิธี แต่ชื่อว่า พระราชาทรงให้ราชบุรุษลงกรรมกรณ์เหล่านั้น. บุคคลนี้เห็นโจรนั้นถูกลงกรรมกรณ์อย่างนี้ เพราะเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า ปสฺสติ โจรํ อาคุจารึ ราชาโน คเหตฺวา วิวิธา ภมฺมกรณา กโรนฺเต ดังนี้.
               บทว่า อฑฺฒทณฺฑเกหิ ความว่า ด้วยไม้ตะบอง หรือด้วยท่อนไม้ที่เอาไม้ยาว ๔ ศอกมาตัดเป็น ๒ ท่อน ใส่ด้ามสำหรับถือไว้เพื่อประหาร.
               บทว่า ทวิลงฺคถาลิกํ ได้แก่ ลงกรรมกรณ์วิธีทำให้เป็นหม้อเคี่ยวน้ำส้ม.
               เมื่อจะลงกรรมกรณ์วิธีนั้น เปิดกะโหลกศีรษะแล้วเอาคีมคีบก้อนเหล็กแดงใส่เข้าในกะโหลกศีรษะนั้น ด้วยเหตุนั้น มันสมองในศีรษะเดือดล้นออก.
               บทว่า สงฺขมุณฺฑิกํ ได้แก่ ลงกรรมกรณ์วิธีขอดสังข์.
               เมื่อจะลงกรรมกรณ์วิธีนั้น ตัดหนังศีรษะแต่จอนหูทั้งสองข้างลงมาถึงท้ายทอยแล้วรวบเส้นผมทั้งหมดผูกเป็นขมวด ใช้ไม้สอดบิดยกขึ้นให้หนังเลิกหลุดขึ้นมาพร้อมทั้งผม ต่อแต่นั้นก็ใช้ทรายหยาบขัดกะโหลกศีรษะ ล้างให้เกลี้ยงขาวเหมือนสังข์.
               บทว่า ราหุมุขํ ได้แก่ ลงกรรมกรณ์วิธีปากราหู.
               เมื่อจะลงกรรมกรณ์วิธีนั้น ใช้ขอเหล็กเกี่ยวปากให้อ้าขึ้นแล้วจุดไฟในปากนั้น อีกวิธีหนึ่ง ใช้สิ่วตอกแต่จอนหูทั้งสองข้างลงไปทะลุปาก เลือดไหลออกมาเต็มปาก.
               บทว่า โชติมาลิกํ ความว่า ใช้ผ้าเก่าชุบน้ำมันพันทั่วทั้งตัว แล้วจุดไฟ.
               บทว่า หตฺถปฺปชฺโชติกํ ความว่า ใช้ผ้าเก่าชุบน้ำมันพันมือทั้งสองแล้วจุดไฟ ต่างคบไฟ.
               บทว่า เอรกวฏฺฏิกํ ได้แก่ ลงกรรมกรณ์วิธีริ้วส่าย.
               เมื่อจะลงกรรมกรณ์วิธีนั้น เชือดหนังลอกออกเป็นริ้วๆ ตั้งแต่ใต้คอลงไปถึงข้อเท้า แล้วใช้เชือกผูกโจรลากไป โจรเดินเหยียบริ้วหนังของตัวล้มลง.
               บทว่า จีรกวาสิกํ ได้แก่ ลงกรรมกรณ์วิธีนุ่งเปลือกไม้.
               เมื่อจะลงกรรมกรณ์วิธีนั้น เชือดหนังเป็นริ้วๆ เหมือนอย่างแรกนั่นแหละแต่ทำเป็น ๒ ตอน แต่ใต้คอลงมาถึงสะเอวตอน ๑ แต่สะเอวถึงข้อเท้าตอน ๑ ริ้วหนังตอนบนคลุมลงมาปิดกายตอนล่างเป็นดังนุ่งเปลือกไม้.
               บทว่า เอเณยฺยกํ ได้แก่ ลงกรรมกรณ์วิธียืนกวาง.
               เมื่อจะลงกรรมกรณ์วิธีนั้น ใช้ห่วงเหล็กสวมข้อศอกทั้งสอง และเข่าทั้งสองให้ก้มลงกับดิน สอดหลักเหล็กตอกตรึงไว้ เขาจะยืนอยู่บนดินด้วยหลักเหล็ก ๔ อัน แล้วก่อไฟล้อมลน เขาย่อมเป็นเหมือนกวางถูกไฟไหม้ตาย แม้ในอาคตสถานท่านก็กล่าวดังนี้เหมือนกัน. เมื่อเขาตายแล้ว ถอนหลักออก ให้เขายืน (เป็นสัตว์ ๔ เท้า) อยู่ด้วยปลายกระดูกทั้ง ๔ นั่นเอง.
               ชื่อว่าเหตุการณ์เห็นปานนี้ย่อมไม่มี.
               บทว่า พฬิสมํสิกํ ความว่า ใช้เบ็ดมีเงี่ยง ๒ ข้าง เกี่ยวหนังเนื้อเอ็นดึงออกมา.
               บทว่า กหาปณกํ ความว่า ใช้มีดคมเฉือนสรีระทุกแห่ง ตั้งแต่สะเอวออกเป็นแว่นๆ ขนาดเท่าเหรียญกษาปณ์.
               บทว่า ขาราปฏิจฺฉกํ ความว่า สับฟันให้ยับทั่วกายแล้วใช้น้ำแสบราด ขัดถูด้วยแปรงให้หนังเอ็นหลุดออกมาหมด เหลือแต่กระดูก.
               บทว่า ปลิฆปริวฏฺฏกํ ความว่า จับนอนตะแคง ใช้หลาวเหล็กตอกตรงช่องหู ทะลุลงไปตรึงแน่นอยู่กับดิน แล้วจับเท้าทั้งสองยกเดินเวียนไป.
               บทว่า ปลาลปีฐกํ ความว่า เจ้าหน้าที่ผู้ฉลาดใช้ลูกบดศิลากลิ้งทับตัวให้กระดูกแตกป่น แต่ไม่ให้ผิวหนังขาด แล้วจับผมรวบยกเขย่าๆ ให้เนื้อรวมเข้าเป็นกอง ใช้ผมนั่นเหละพันตะล่อมเข้าวางไว้เหมือนตั่งฟาง.
               บทว่า สุนเขหิปิ ขาทาเปนฺเต ความว่า ไม่ให้อาหารสุนัข ๒-๓ วัน แล้วให้ฝูงสุนัขที่หิวจัดกัดกิน เพียงครู่เดียวก็เหลือแต่กระดูก.
               บทว่า สูเล อุตฺตาเสนฺเต ได้แก่ ยกขึ้นนอนหงายบนหลาว.
               บทว่า น ปเรสํ ปาภตํ วิลุมฺปนฺโต วิจรติ ความว่า เห็นสิ่งของของผู้อื่นมาอยู่ต่อหน้า โดยที่สุดแม้เป็นของที่มีค่าตั้ง ๑,๐๐๐ ตกอยู่ตามถนน ก็มิได้เที่ยวยื้อแย่งเอา ด้วยคิดว่า จักมีชีวิตอยู่ด้วยสิ่งนี้ หรือคิดว่าประโยชน์อะไรด้วยสิ่งนี้ ใช้หลังเท้าเขี่ยไป.
               บทว่า ปาปโก แปลว่า เลว ได้แก่เป็นทุกข์ คือไม่น่าปรารถนา.
               บทว่า กิญฺจ ตํ ความว่า จะพึงมีเหตุนี้ได้อย่างไร.
               บทว่า เยนาหํ ตัดบทว่า เยน อหํ.
               บทว่า กายทุจฺจริตํ ได้แก่ กายกรรมที่เป็นอกุศล ๓ อย่างมีปาณาติบาตเป็นต้น.
               บทว่า กายสุจริตํ ได้แก่ กุศลกรรม ๓ อย่างที่เป็นปฏิปักษ์ต่อกายทุจริต.
               บทว่า วจีทุจริตํ ได้แก่ วจีกรรมที่เป็นอกุศล ๔ อย่างมีมุสาวาทเป็นต้น.
               บทว่า วจีสุจริตํ ได้แก่ กุศลกรรม ๔ อย่างที่เป็นปฏิปักษ์ต่อวจีทุจริต.
               บทว่า มโนทุจฺจริตํ ได้แก่ มโนกรรมที่เป็นอกุศล ๓ อย่างมีอภิชฌาเป็นต้น.
               บทว่า มโนสุจริตํ ได้แก่ กุศลกรรม ๓ อย่างที่เป็นปฏิปักษ์ต่อมโนทุจริต.
               ในคำว่า สุทฺธํ อตฺตานํ ปริหรติ นี้ สุทธิมี ๒ อย่าง คือ ปริยายสุทธิ ๑ นิปปริยายสุทธิ ๑.
               จริงอยู่ บุคคลชื่อว่าบริหารตนให้หมดจดโดยปริยาย ด้วยสรณคมน์ ชื่อว่าบริหารตนให้หมดจดโดยปริยาย ด้วยศีล ๕ ด้วยศีล ๑๐ ด้วยจตุปาริสุทธิศีล ด้วยปฐมฌาน ฯลฯ ด้วยเนวสัญญานาสัญญายตนฌาน ด้วยโสดาปัตติมรรค ฯลฯ ด้วยอรหัตมรรคเหมือนกัน.
               ส่วนผู้ที่ดำรงอยู่ในอรหัตผล เป็นพระขีณาสพ ยังขันธ์ ๕ ซึ่งมีรากขาดแล้ว ให้เป็นไปอยู่บ้าง ให้เคี้ยวกินบ้าง ให้บริโภคบ้าง ให้นั่งบ้าง ให้นอนบ้าง.
               พึงทราบว่า บริหาร คือประคับประคองตนให้หมดจด คือหมดมลทินโดยตรงทีเดียว.
               บทว่า ตสฺมา ความว่า เพราะสองอย่างเหล่านี้เป็นโทษทีเดียว มิใช่ไม่เป็นโทษ.
               บทว่า วชฺชภีรุโน แปลว่า เป็นผู้ขลาดต่อโทษ.
               บทว่า วชฺชภยทสฺสาวิโน แปลว่า เห็นโทษเป็นภัยอยู่เสมอ.
               บทว่า เอตํ ปาฏิกงฺขํ ความว่า ข้อนี้จะพึงหวังได้ อธิบายว่า ข้อนี้จะมีแน่.
               บทว่า ยํ เป็นเพียงนิบาต อีกอย่างหนึ่งเป็นตติยาวิภัตติ ความว่า เป็นเหตุเครื่องพ้นจากโทษทั้งปวง.
               ถามว่า จักพ้นด้วยเหตุไร.
               แก้ว่า พ้นด้วยมรรคที่ ๔ ด้วย ด้วยผลที่ ๔ ด้วย. ชื่อว่าพ้นด้วยมรรค เมื่อบรรลุผลแล้ว ชื่อว่าพ้นอย่างหมดจด. ก็อกุศลไม่ให้ผลแก่พระขีณาสพหรือ. ให้ผล. แต่อกุศลนั้น ท่านทำไว้ก่อนแต่ยังไม่เป็นพระขีณาสพ และให้ผลในอัตภาพนี้เท่านั้น ในสัมปรายภพ ผลกรรมไม่มีแก่ท่าน.
               จบอรรถกถาสูตรที่ ๑               

               อรรถกถาสูตรที่ ๒               
               ในสูตรที่ ๒ มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้.
               บทว่า ปธานานิ แปลว่า ความเพียร.
               จริงอยู่ ความเพียร ท่านเรียกว่าปธานะ เพราะควรตั้งไว้ หรือเพราะทำความพยายาม.
               บทว่า ทุรภิสมฺภวานิ ความว่า ยากที่จะบังคับ คือยากที่จะให้เป็นไป. อธิบายว่า ทำได้ยาก.
               บทว่า อคารํ อชฺฌาวสตํ แปลว่า อยู่ในเรือน.
               ด้วยคำว่า จีวรปิณฺฑปาตเสนาสนคิลานปจฺจยเภสชฺชปริกฺขารานุปฺปาทนตฺถํ ปธานํ ท่านแสดงว่า ชื่อว่าความพยายามเพื่อให้ปัจจัย ๔ มีจีวรเป็นต้นเหล่านี้เกิดขึ้น เกิดขึ้นยาก.
               ความจริง การที่จะพูดว่า ท่านทั้งหลายจงให้ผ้าเพียง ๔ ศอก หรือภัตตาหารประมาณข้าวสารฟายมือหนึ่ง หรือบรรณศาลาประมาณ ๔ ศอก หรือเภสัชมีเนยใสเนยข้นเป็นต้นเพียงนิดหน่อยดังนี้ก็ดี การนำออกให้ก็ดี ทำได้ยาก เหมือนกองทัพ ๒ ฝ่ายเข้าทำสงครามกัน.
               เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า
                                   ทานํ จ ยุทฺธํ จ สมานมาหุ
                                   อปฺปาปิ สนฺตา พหุกํ ชิเนนฺติ
                                   อปฺปํปิ เจ สทฺทหาโน ททาติ
                                   เตเนว โส โหติ สุขี ปรตฺถ.

                         ทานและการยุทธ์ท่านว่าเสมอกัน สัตบุรุษถึงน้อย
                         ก็ชนะคนมากได้ ถ้ามีศรัทธา ถึงจะให้น้อย เขา
                         ย่อมมีความสุขในโลกอื่น ด้วยเหตุนั้นแหละ ดังนี้.

               บทว่า อคารสฺมา อนคาริยํ ปพฺพชิตานํ ความว่า ออกจากเรือนเข้าบรรพชาอย่างผู้ไม่มีเรือน เว้นกสิกรรมและโครักขกรรมเป็นต้นที่นำประโยชน์เกื้อกูลมาแก่เรือน คือแก่ผู้ครองเรือน.
               บทว่า สพฺพูปธิปฏินิสฺสคฺคตฺตํ ปธานํ ความว่า ความเพียรที่เกิดร่วมกับวิปัสสนาและมรรค เพื่อประโยชน์พระนิพพาน กล่าวคือสลัดออกซึ่งอุปธิ คือขันธ์ กิเลสและอภิสังขาร.
               บทว่า ตสฺมา ความว่า เพราะความเพียร ๒ อย่างนี้เกิดได้ยาก.
               จบอรรถกถาสูตรที่ ๒               

               อรรถกถาสูตรที่ ๓               
               ในสูตรที่ ๓ มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้.
               บทว่า ตปนียา ความว่า ชื่อว่าเป็นที่ตั้งแห่งความเดือดร้อนใจ เพราะเหล่าสัตว์ย่อมร้อนใจทั้งในโลกนี้และโลกอื่น.
               บทว่า ตปฺปติ ความว่า ย่อมเดือดร้อนโดยเดือดร้อนใจ คือย่อมเศร้าโศก เหมือนนันทยักษ์ เหมือนนันทมาณพ เหมือนนันทโคฆาต เหมือนเทวทัตและเหมือนสองพี่น้อง.
               เล่ากันมาว่า พี่น้องสองคนนั้น ฆ่าโคแล้วแบ่งเนื้อเป็นสองส่วน.
               ต่อนั้น น้องชายพูดกะพี่ชายว่า ฉันมีเด็กหลายคน พี่ให้ไส้โคเหล่านี้แก่ฉันเถิด. พี่พูดกะน้องว่า เนื้อทั้งหมดเราแบ่งเป็นสองส่วนแล้ว แกจะมาหวังอะไรอีก แล้วตีน้องเสียตาย แต่เมื่อเหลียวดู เห็นน้องตาย จึงคิดได้ว่า เราทำกรรมหนักเสียแล้ว. เขาเศร้าโศกมาก. ในที่ยืนก็ตาม ที่นั่งก็ตาม เขานึกถึงแต่กรรมนั้นเท่านั้น ไม่ได้ความสบายใจ. แม้โอชารสที่เขากลืนดื่มและเคี้ยวกินเข้าไปก็ไม่ซาบซ่านในร่างกายของเขา. ร่างกายของเขาจึงเป็นเพียงหนังหุ้มกระดูกเท่านั้น.
               ครั้งนั้น พระเถระรูปหนึ่งเห็นเขา จึงถามว่า อุบาสก ท่านก็มีข้าวน้ำเพียงพอ แต่ไฉนจึงเหลือเพียงหนังหุ้มกระดูกเท่านั้น ท่านมีกรรมอะไรๆ ที่ทำให้ร้อนใจอยู่หรือ. เขารับว่า มีขอรับ ท่าน แล้วบอกเรื่องทั้งหมด.
               พระเถระพูดกะเขาว่า อุบาสก ท่านทำกรรมหนัก ท่านผิดในที่ไม่น่าผิด.
               เขาทำกาละแล้วบังเกิดในนรกด้วยกรรมนั้นเอง.
               คนที่ร้อนใจเพราะวจีทุจริต เช่นสุปปพุทธศากยะ พระโกกาลิกะและนางจิญจมาณวิกาเป็นต้น.
               จบอรรถกถาสูตรที่ ๓               

               อรรถกถาสูตรที่ ๔               
               คำที่เหลือในสูตรที่ ๔ นี้ มีเนื้อความง่ายทั้งนั้นแล.
               จบอรรถกถาสูตรที่ ๔               

               อรรถกถาสูตรที่ ๕               
               ในสูตรที่ ๕ มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้.
               บทว่า ทฺวินฺนาหํ ตัดบทเป็น ทฺวินฺนํ อหํ.
               บทว่า อุปญฺญาสึ ความว่า ได้เข้าไปรู้คือทราบคุณ. อธิบายว่า แทงตลอด.
               บัดนี้ เมื่อจะทรงแสดงธรรมเหล่านั้น จึงตรัสพระพุทธพจน์ว่า ยา จ อสนฺตุฏฺฐิตา เป็นต้น. เพราะพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงอาศัยธรรม ๒ นี้ บรรลุพระสัพพัญญุตญาณ ฉะนั้น เมื่อจะทรงแสดงอานุภาพของธรรม ๒ อย่างนั้น จึงตรัสอย่างนี้.
               บรรดาบทเหล่านั้น ด้วยบทว่า อสนฺตุฏฺฐิตา กุสเลสุ ธมฺเมสุ นี้ แสดงความดังนี้ว่า เราไม่สันโดษด้วยเพียงฌานนิมิตหรือ ด้วยเพียงโอภาสนิมิต ยังอรหัตมรรคให้เกิดขึ้นได้ คือเราไม่สันโดษชั่วเวลาที่อรหัตมรรคยังไม่เกิดขึ้น. และเราไม่ท้อถอยในความเพียรตั้งอยู่โดยไม่ย่อหย่อนเลย ได้กระทำความเพียร เมื่อจะทรงแสดงเนื้อความดังกล่าวนี้ จึงตรัสพระพุทธพจน์ว่า ยา จ อปฺปฏิวาณิตา เป็นต้น.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อปฺปฏิวาณิตา แปลว่า ความไม่ก้าวกลับ คือไม่ย่อหย่อน.
               บทว่า สุทํ ในคำนี้ว่า อปฺปฏิวาณํ สุทาหํ ภิกฺขเว ปทหาสึ เป็นเพียงนิบาต ในข้อนี้มีเนื้อความดังนี้ว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราตั้งอยู่ในความไม่ย่อหย่อน ปรารถนาเป็นพระสัพพัญญู ได้กระทำความเพียรเมื่อยังเป็นโพธิสัตว์. บัดนี้เมื่อจะทรงแสดงวิธีกระทำความเพียร จึงตรัสพระพุทธพจน์ว่า กามํ ตโจ จ เป็นต้น.
               บรรดาบทเหล่านั้น ด้วยบทว่า ยนฺตํ นี้ ทรงแสดงคุณชาตที่จะพึงบรรลุ.
               ในบทว่า ปุริสถาเมน เป็นต้น ตรัสถึงพลังที่ให้เกิดญาณ ความเพียรที่ให้เกิดญาณ ความบากบั่นที่ให้เกิดญาณของตน.
               บทว่า สณฺฐานํ ได้แก่ อยู่ คือไม่เป็นไปย่อหย่อน. อธิบายว่า ระงับ. ด้วยพระพุทธพจน์เพียงเท่านี้ ชื่อว่าพระองค์ตรัสความตั้งใจมั่นในการบำเพ็ญเพียรซึ่งประกอบด้วยองค์ ๔.
               แลในที่นี้ บทว่า กามํ ตโจ เป็นองค์หนึ่ง. บทว่า นหารุ จ เป็นองค์หนึ่ง.
               บทว่า อฏฺฐิ จ เป็นองค์หนึ่ง. บทว่า มํสโลหิตํ เป็นองค์หนึ่ง. องค์ ๔ เหล่านี้เป็นชื่อของความเพียรอย่างยิ่งยวด มีบทว่า ปุริสถาเมน เป็นต้น. ความเพียรที่ประกอบด้วยองค์ ๔ ข้างต้นด้วยประการฉะนี้ ตั้งมั่นแล้วอย่างนี้ พึงทราบว่า ชื่อว่าการตั้งความบำเพ็ญเพียรซึ่งประกอบด้วยองค์ ๔. ด้วยพระพุทธพจน์เพียงเท่านี้ เป็นอันพระองค์ตรัสอาคมนียปฏิปทาของพระองค์ ณ โพธิบัลลังก์.
               บัดนี้ เพื่อจะตรัสคุณที่พระองค์ได้มาด้วยปฏิปทานั้น จึงตรัสพระพุทธพจน์ว่า ตสฺส มยฺหํ ภิกฺขเว เป็นต้น.
               บรรดาบทเหล่านี้ บทว่า อปฺปมาทาธิคตา ความว่า ได้แล้วด้วยความไม่ประมาท กล่าวคือความไม่อยู่ปราศจากสติ.
               บทว่า โพธิ ได้แก่ จตุมรรคญาณและสัพพัญญุตญาณ.
               ด้วยว่า ผู้ที่มัวเมาประมาทไม่อาจบรรลุจตุมรรคญาณและสัพพัญญุตญาณนั้นได้ เพราะเหตุดังนี้นั้น พระองค์จึงตรัสว่า อปฺปมาทาธิคตา โพธิ ดังนี้.
               บทว่า อนุตฺตโร โยคกฺเขโม ความว่า มิใช่แต่ปัญญาเครื่องตรัสรู้อย่างเดียวเท่านั้น แม้ธรรมอันปลอดจากเครื่องผูกอันยอดเยี่ยม กล่าวคืออรหัตผล นิพพาน เราก็ได้บรรลุด้วยความไม่ประมาทนั่นแล. บัดนี้ เมื่อจะทรงให้ภิกษุสงฆ์ยึดถือในคุณที่พระองค์ได้มา จึงตรัสพระพุทธพจน์ว่า ตุมฺเห เจปิ ภิกฺขเว เป็นต้น.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ยสฺสตฺถาย ความว่า เพื่อประโยชน์แก่ผลอันเป็นที่สุดแห่งพรหมจรรย์อันใด. อธิบายว่า เป็นผู้ใคร่เพื่อจะเข้าถึงผลอันเป็นที่สุดแห่งพรหมจรรย์อันใดอยู่.
               บทว่า ตทนุตฺตรํ ได้แก่ ผลอันยอดเยี่ยมนั้น.
               บทว่า พฺรหฺมจริยปริโยสานํ ได้แก่ อริยผลซึ่งเป็นที่สุดแห่งมรรคพรหมจรรย์.
               บทว่า อภิญฺญา สจฺฉิกตฺวา ความว่า ทำให้ประจักษ์ด้วยปัญญาอันยิ่ง คือด้วยปัญญาอันสูงสุด.
               บทว่า อุปสมฺปชฺช วิหริสฺสถ ความว่า จักได้เฉพาะคือบรรลุอยู่.
               บทว่า ตสฺมา ความว่า เพราะธรรมดาความเพียรอย่างไม่ท้อถอยนี้ มีอุปการะมาก ให้สำเร็จประโยชน์แล้ว.
               จบอรรถกถาสูตรที่ ๕               

               อรรถกถาสูตรที่ ๖               
               ในสูตรที่ ๖ มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้.
               บทว่า สญฺโญชนิเยสุ ธมฺเมสุ ความว่า ในธรรมที่เป็นไปในภูมิ ๓ ซึ่งเป็นปัจจัยแห่งสังโยชน์ ๑๐.
               บทว่า อสฺสาทานุปสฺสิตา ความว่า ความเห็น คือภาวะที่เห็น โดยความเป็นอัสสาทะน่ายินดี.
               บทว่า นิพฺพิทานุปสฺสิตา ความว่า ความเห็นด้วยอำนาจความเบื่อหน่าย คือด้วยอำนาจความเอือมระอา.
               บทว่า ชาติยา ได้แก่ จากความเกิดแห่งขันธ์.
               บทว่า ชราย ได้แก่ จากความแก่แห่งขันธ์.
               บทว่า มรเณน ได้แก่ จากความแตกแห่งขันธ์.
               บทว่า โสเกหิ ได้แก่ จากความโศกซึ่งมีลักษณะเกรียมภายใน.
               บทว่า ปริเทเวหิ ได้แก่ จากความคร่ำครวญซึ่งมีลักษณะรำพันอาศัยความโศกนั้น.
               บทว่า ทุกฺเขหิ ได้แก่ จากทุกข์ที่บีบคั้นกาย.
               บทว่า โทมนสฺเสหิ ได้แก่ จากโทมนัสที่บีบคั้นใจ.
               บทว่า อุปายาเสหิ ได้แก่ จากความคับแค้นซึ่งมีลักษณะคับใจอย่างยิ่ง.
               บทว่า ทุกฺขสฺมา ได้แก่ จากทุกข์ในวัฏฏะทั้งสิ้น.
               บทว่า ปชหติ ได้แก่ ย่อมละได้ด้วยมรรค.
               ในบทว่า ปหาย นี้ ตรัสขณะแห่งผล.
               ในสูตรนี้ ตรัสทั้งวัฏฏะและวิวัฏฏะ.
               จบอรรถกถาสูตรที่ ๖               

               อรรถกถาสูตรที่ ๗               
               ในสูตรที่ ๗ มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้.
               บทว่า กณฺหา ความว่า มิใช่เป็นธรรมฝ่ายดำ เพราะมีสีดำ แต่น้อมไปเพื่อความเป็นธรรมดำ เพราะฉะนั้นจึงชื่อว่าเป็นธรรมฝ่ายดำ เพราะเป็นธรรมฝ่ายดำโดยผลสำเร็จ.
               อีกอย่างหนึ่ง เมื่อว่าโดยกิจคือหน้าที่ของตน อกุศลธรรมทั้งหมดเป็นธรรมฝ่ายดำทั้งนั้น ด้วยว่าจิตย่อมผ่องใสไม่ได้ เพราะอกุศลธรรมเหล่านั้นเกิดขึ้น.
               บทว่า อหิริกํ แปลว่า ไม่มีความละอาย.
               บทว่า อโนตฺตปฺปํ แปลว่า ไม่มีความเกรงกลัว.
               จบอรรถกถาสูตรที่ ๗               

               อรรถกถาสูตรที่ ๘               
               ในสูตรที่ ๘ มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้.
               บทว่า สุกฺกา ความว่า มิใช่เป็นธรรมฝ่ายขาว เพราะมีสีขาว แต่น้อมไปเพื่อเป็นธรรมฝ่ายขาว เพราะฉะนั้นจึงชื่อว่าธรรมฝ่ายขาว เพราะเป็นธรรมฝ่ายขาวโดยผลสำเร็จ.
               อีกอย่างหนึ่ง เมื่อว่าโดยกิจคือหน้าที่ของตน กุศลธรรมทั้งหมดเป็นธรรมฝ่ายขาวทั้งนั้น ด้วยว่าจิตย่อมผ่องใส เพราะกุศลธรรมเหล่านั้นเกิดขึ้น.
               ในคำว่า หิรี จ โอตฺตปฺปญฺจ นี้ หิริมีลักษณะรังเกียจบาป โอตตัปปะมีลักษณะกลัวบาป.
               อนึ่ง คำที่ควรจะกล่าวโดยพิสดารในที่นี้นั้น ได้กล่าวไว้แล้วในคัมภีร์วิสุทธิมรรคทั้งนั้น.
               จบอรรถกถาสูตรที่ ๘               

               อรรถกถาสูตรที่ ๙               
               ในสูตรที่ ๙ มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้.
               บทว่า โลกํ ปาเลนฺติ ความว่า ย่อมดำรงโลกไว้ คือให้อยู่ ได้แก่รักษาไว้.
               บทว่า นยิธ ปญฺญาเยถ มาตา ความว่า มารดาผู้ให้กำเนิดในโลกนี้ จะไม่พึงปรากฏเป็นที่เคารพนับถือว่า หญิงผู้นี้เป็นมารดาของเรา
               แม้ในบทที่เหลือ ก็นัยนี้เหมือนกัน.
               บทว่า สมฺเภทํ ได้แก่ ความระคนกัน หรือความไม่มีขอบเขต.
               ในคำว่า ยถา อเชฬกา เป็นต้น มีวินิจฉัยว่า ด้วยว่าสัตว์เหล่านั้นย่อมไม่สำนึกด้วยความเคารพนับถือว่าหญิงผู้นี้เป็นมารดาของเรา หรือว่าเป็นป้าของเรา ย่อมปฏิบัติผิดในวัตถุที่ตนได้อาศัยเกิดขึ้นนั่นเอง ฉะนั้น เมื่อทรงเปรียบเทียบจึงตรัสพระพุทธพจน์ว่า ยถา อเชฬกา เป็นต้น.
               จบอรรถกถาสูตรที่ ๙               

               อรรถกถาสูตรที่ ๑๐               
               ในสูตรที่ ๑๐ มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้.
               สูตรนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัส เพราะมีเหตุให้เกิดเรื่อง อะไรเป็นเหตุให้เกิดเรื่อง การโพนทะนาของพวกมนุษย์เป็นเหตุให้เกิดเรื่อง.
               เรื่องมีว่า ๒๐ พรรษาตอนปฐมโพธิกาล พระผู้มีพระภาคเจ้ายังมิได้ทรงบัญญัติวันเข้าพรรษา ภิกษุทั้งหลายไม่มีความผูกพันเรื่องพรรษา จาริกไปตามสบายทั้งในฤดูร้อน ทั้งในฤดูหนาว ทั้งในฤดูฝน.
               พวกมนุษย์เห็นดังนั้นพากันโพนทะนากล่าวคำเป็นต้นว่า ทำไม พระสมณะศากยบุตรถึงได้จาริกกันทั้งหน้าหนาวทั้งหน้าร้อนทั้งหน้าฝน เหยียบย่ำหญ้าระบัด เบียดเบียนสิ่งมีชีวิต ทำสัตว์เล็กๆ มากมายให้ลำบาก ถึงพวกอัญญเดียรถีย์ที่กล่าวธรรมไม่ดีไม่ชอบเหล่านี้ ก็ยังหยุดพักหลบฝน นกทั้งหลายยังทำรังที่ปลายต้นไม้หยุดพักหลบฝน ดังนี้.
               ภิกษุทั้งหลายกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาคเจ้า.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงยกเรื่องนั้นเป็นเหตุ ทรงแสดงสูตรนี้ ตรัสพระพุทธดำรัสเป็นปฐมเพียงเท่านี้ก่อนว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้เข้าจำพรรษา ดังนี้.
               ต่อมาทรงทราบว่าพวกภิกษุเกิดวิตกกันว่า ควรเข้าจำพรรษาเมื่อไร จึงตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้เข้าจำพรรษาในฤดูฝน.
               ต่อมาภิกษุทั้งหลายสงสัยกันว่า วันเข้าพรรษามีกี่วัน พากันกราบทูลความนั้นแด่พระผู้มีพระภาคเจ้า. พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทราบดังนั้น เมื่อทรงแสดงสูตรนี้ทั้งสิ้น จึงตรัสพระพุทธดำรัสเป็นต้นว่า เทฺวมา ภิกฺขเว ดังนี้.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า วสฺสูปนายิกา แปลว่า วันเข้าพรรษา.
               บทว่า ปุริมิกา ความว่า เมื่อถึงวันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๘ พึงเข้าพรรษา ๓ เดือนแรกมีวันเพ็ญเดือน ๑๑ เป็นที่สุด.
               บทว่า ปจฺฉิมิกา ความว่า เมื่อเดือน ๘ ล่วงไป พึงเข้าพรรษา ๓ เดือนหลังมีวันเพ็ญเดือน ๑๒ เป็นที่สุด.

               จบอรรถกถาสูตรที่ ๑๐               
               จบกัมมกรณวรรคที่ ๑               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา อังคุตตรนิกาย ทุกนิบาต ปฐมปัณณาสก์ กัมมกรณวรรคที่ ๑ จบ.
อ่านอรรถกถา 20 / 1อ่านอรรถกถา 20 / 207อรรถกถา เล่มที่ 20 ข้อ 247อ่านอรรถกถา 20 / 257อ่านอรรถกถา 20 / 596
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=20&A=1267&Z=1373
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=15&A=1
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=15&A=1
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๒๖  ธันวาคม  พ.ศ.  ๒๕๔๙
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :