ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 20 / 1อ่านอรรถกถา 20 / 12อรรถกถา เล่มที่ 20 ข้อ 22อ่านอรรถกถา 20 / 32อ่านอรรถกถา 20 / 596
อรรถกถา อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต เอกธัมมาทิบาลี
อกัมมนิยวรรคที่ ๓

               อรรถกถาอกัมมนิยวรรค ๓               
               อรรถกถาสูตรที่ ๑               
               วรรคที่ ๓ สูตรที่ ๑ มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้ :-
               บทว่า อวิภาวิตํ ความว่า ไม่เจริญ คือไม่เป็นไปด้วยอำนาจภาวนา.
               บทว่า อกมฺมนิยํ โหติ ได้แก่ ย่อมไม่ควรแก่งาน คือไม่คู่ควรแก่งาน.
               จบอรรถกถาสูตรที่ ๑               

               อรรถกถาสูตรที่ ๒               
               ในสูตรที่ ๒ พึงทราบความโดยปริยายดังกล่าวแล้ว.
               ก็บทว่า จิตฺตํ ในสูตรที่ ๑ นั้นได้แก่จิตที่เกิดขึ้นด้วยอำนาจวัฏฏะ.
               (ในสูตรที่ ๒ ได้แก่จิตที่เกิดด้วยอำนาจวัฏฏะ).
               ก็ในสองอย่างนั้น พึงทราบความแตกต่างกันดังนี้ คือ วัฏฏะ วัฏฏบาท วิวัฏฏะ วิวัฏฏบาท กรรมอันเป็นไปในภูมิ ๓ ชื่อว่าวัฏฏะ กรรมคือการกระทำเพื่อได้วัฏฏะ ชื่อว่าวัฏฏบาท โลกุตรธรรม ๙ ชื่อว่าวิวัฏฏะ กรรมคือการปฏิบัติเพื่อได้วิวัฏฏะ ชื่อว่าวิวัฏฏบาท.
               ท่านกล่าววัฏฏะและวิวัฏฏะไว้ในสูตรเหล่านี้ด้วยประการฉะนี้
               จบอรรถกถาสูตรที่ ๒               

               อรรถกถาสูตรที่ ๓               
               ในสูตรที่ ๓ พึงทราบจิตที่เกิดขึ้นด้วยอำนาจวัฏฏะนั่นแล
               บทว่า มหโต อนตฺถาย สํวตฺตติ ความว่า จิตแม้ให้เทวสมบัติ มนุษยสมบัติและความเป็นใหญ่ในมารและพรหม ยังให้ชาติ ชรา พยาธิ มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัสและอุปายาสเนืองๆ และให้วัฏฏะ คือขันธ์ ธาตุ อายตนะและปฏิจจสมุปบาท ย่อมให้แต่กองทุกข์อย่างเดียวเท่านั้น เพราะเหตุนั้น ชื่อว่าย่อมเป็นไปเพื่อมิใช่ประโยชน์อย่างใหญ่.
               จบอรรถกถาสูตรที่ ๓               

               อรรถกถาสูตรที่ ๔               
               บทว่า จิตฺตํ ในสูตรที่ ๔ ได้แก่ จิตที่เกิดขึ้นด้วยอำนาจวิวัฏฏะ.
               จบอรรถกถาสูตรที่ ๔               

               อรรถกถาสูตรที่ ๕-๖               
               ในสูตรที่ ๕-๖ มีความแปลกกันเพียงเท่านี้ว่า อภาวิตํ อปาตุภูตํ ไม่อบรมแล้ว ไม่ปรากฎแล้ว ดังนี้ ในข้อนั้นมีอธิบายดังต่อไปนี้ว่า
               จิตแม้เกิดด้วยอำนาจวัฏฏะ ก็ชื่อว่าไม่อบรม ไม่ปรากฏ เพราะเหตุไร?
               เพราะไม่สามารถจะแล่นไปในวิปัสสนาที่มีฌานเป็นบาท มรรคผลและนิพพานอันเป็นโลกุตตระ
               ส่วนจิตที่เกิดด้วยอำนาจวิวัฏฏะ ชื่อว่าเป็นจิตอบรมแล้ว ปรากฏแล้ว เพราะเหตุไร?
               เพราะสามารถแล่นไปในธรรมเหล่านั้นได้.
               ส่วนท่านพระปุสสมิตตเถระผู้อยู่กุรุนทกวิหารกล่าวว่า ผู้มีอายุ มรรคจิตเท่านั้นชื่อว่าเป็นจิตอบรมแล้ว ปรากฏแล้ว.
               จบอรรถกถาสูตรที่ ๕-๖               

               อรรถกถาสูตรที่ ๗-๘               
               ในสูตาที่ ๗-๘ มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้ :-
               บทว่า อพหุลีกตํ ได้แก่ ไม่กระทำบ่อยๆ พึงทราบเฉพาะจิตที่เกิดขึ้นด้วยอำนาจวัฏฏะและวิวัฏฏะทั้ง ๒ ดวงแม้นี้แล.
               จบอรรถกถาสูตรที่ ๗-๘               

               อรรถกถาสูตรที่ ๙               
               ในสูตรที่ ๙ มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้ :-
               (จิต) ชื่อว่านำทุกข์มาให้ เพราะชักมาคือนำมาซึ่งวัฏฏทุกข์ ที่ตรัสไว้โดยนัยมีอาทิว่า ชาติปิ ทุกฺขา (แม้ความเกิดก็เป็นทุกข์)
               บาลีว่า ทุกฺขาธิวาหํ ดังนี้ก็มี ความแห่งบาลีนั้นพึงทราบดังต่อไปนี้ว่า
               จิตชื่อว่าทุกขาธิวาหะ เพราะยากที่จะถูกนำส่งตรงต่ออริยธรรมอันมีฌานที่เป็นบาทของโลกุตตระเป็นต้น แม้จิตนี้ก็คือจิตที่เกิดขึ้นด้วยอำนาจวัฏฏทุกข์นั่นเอง.
               จริงอยู่ จิตนั้น แม้จะให้เทวสมบัติและมนุษย์สมบัติมีประการดังกล่าวแล้ว ก็ชื่อว่านำทุกข์มาให้ เพราะนำชาติทุกข์เป็นต้นมาให้ และชื่อว่ายากที่จะนำไป เพราะส่งไปเพื่อบรรลุอริยธรรมได้โดยยาก.
               จบอรรถกถาสูตรที่ ๙               

               อรรถกถาสูตรที่ ๑๐               
               ในสูตรที่ ๑๐ มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้ :-
               จิตก็คือจิตที่เกิดขึ้นด้วยอำนาจวิวัฏฏะนั่นแหละ.
               จริงอยู่ จิตชื่อว่าสุขาธิวหะหรือสุขาธิวาหะ เพราะอรรถว่าชักมา คือนำมาซึ่งทิพยสุขอันละเอียดประณีตกว่าสุขของมนุษย์, ซึ่งฌานสุขอันละเอียดประณีตกว่าทิพยสุข, ซึ่งวิปัสสนาสุขอันละเอียดประณีตกว่าฌานสุข, ซึ่งมรรคสุขอันละเอียดประณีตกว่าวิปัสสนาสุข, ซึ่งผลสุขอันละเอียดประณีตกว่ามรรคสุข, ซึ่งนิพพานสุขอันละเอียดประณีตกว่าผลสุข.
               จริงอยู่ จิตนั้นเป็นจิตสะดวกที่จะส่งตรงต่ออริยธรรม ซึ่งมีฌานอันเป็นบาทของโลกุตตระเป็นต้น เหมือนวชิราวุธของพระอินทร์ที่ปล่อยไป ฉะนั้น เหตุนั้นจึงเรียกว่าสุขาธิวาหะ.
               ในวรรคนี้ท่านกล่าววัฏฏะและวิวัฏฏะเท่านั้นแล.

               จบอรรถกถาสูตรที่ ๑๐               
               จบอรรถกถาอกัมมนิยวรรค ๓               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต เอกธัมมาทิบาลี อกัมมนิยวรรคที่ ๓ จบ.
อ่านอรรถกถา 20 / 1อ่านอรรถกถา 20 / 12อรรถกถา เล่มที่ 20 ข้อ 22อ่านอรรถกถา 20 / 32อ่านอรรถกถา 20 / 596
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=20&A=94&Z=127
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=14&A=1091
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=14&A=1091
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๒๒  ธันวาคม  พ.ศ.  ๒๕๔๙
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :