ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 

อ่าน อรรถกถาหน้าต่างที่ [๑] [๒]อ่านอรรถกถา 20 / 1อ่านอรรถกถา 20 / 135อรรถกถา เล่มที่ 20 ข้อ 139อ่านอรรถกถา 20 / 146อ่านอรรถกถา 20 / 596
อรรถกถา อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต
เอกบุคคลบาลี

               อรรถกถาเอกปุคคลวรรคที่ ๑๓               
               อรรถกถาสูตรที่ ๑               
               เอกปุคคลวรรค สูตรที่ ๑ มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้ :-
               บทว่า เอกปุคฺคโล แปลว่า บุคคลคนเดียว.
               บทว่า เอโก ในคำว่า เอกปุคฺคโล นี้ เป็นการกำหนดจำนวน ซึ่งมีใจความปฏิเสธคนที่ ๒ เป็นต้น.
               บทว่า ปุคฺคโล เป็นคำพูดโดยสมมติ ไม่ใช่คำพูดโดยปรมัตถ์.
               จริงอยู่ เทศนาของพระผู้มีพระภาคพุทธเจ้ามี ๒ อย่าง คือสมมติเทศนา ๑ ปรมัตถเทศนา ๑.
               ใน ๒ อย่างนั้น เทศนาทำนองนี้ว่า บุคคล สัตว์ หญิง ชาย กษัตริย์ พราหมณ์ เทวดา มาร ชื่อว่าสมมติเทศนา. เทศนาทำนองนี้ว่า ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ขันธ์ ธาตุ อายตนะ สติปัฏฐาน ชื่อว่าปรมัตถเทศนา.
               ในเทศนา ๒ อย่างนั้น ชนเหล่าใดฟังเทศนาเนื่องด้วยสมมติ สามารถเข้าใจเนื้อความละโมหะ บรรลุคุณพิเศษได้ พระผู้มีพระภาคเจ้าย่อมทรงแสดงสมมติเทศนาแก่ชนเหล่านั้น.
               ส่วนชนเหล่าใดฟังเทศนาเนื่องด้วยปรมัตถ์ แล้วสามารถเข้าใจเนื้อความ ละโมหะ บรรลุคุณพิเศษได้ พระผู้มีพระภาคเจ้าย่อมทรงแสดงปรมัตถเทศนาแก่ชนเหล่านั้น.
               ในข้อนั้น พึงทราบอุปมาดังต่อไปนี้ :-
               เหมือนอย่างว่า อาจารย์ผู้ฉลาดในภาษาท้องถิ่น ผู้บรรยายเนื้อความแห่งเวททั้ง ๓ ชนเหล่าใด เมื่อพูดด้วยภาษาทมิฬย่อมรู้ใจความได้ ก็จะสอนชนเหล่านั้นด้วยภาษาทมิฬ ชนเหล่าใดเมื่อพูดด้วยภาษาใดภาษาหนึ่งในบรรดาภาษาของชาวอันธะเป็นต้น ย่อมรู้ใจความได้ ก็จะสอนด้วยภาษานั้นๆ แก่ชนเหล่านั้น เมื่อเป็นดังนั้น มาณพเหล่านั้นอาศัยอาจารย์ผู้ฉลาด เฉียบแหลม ย่อมเรียนศิลปะได้โดยฉับพลันทีเดียว.
               ในอุปมานั้นพึงทราบว่า พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าเปรียบเหมือนอาจารย์. ปิฎก ๓ ตั้งอยู่ในภาวะที่จะต้องบอกกล่าว เปรียบเหมือนเวท ๓. ความเป็นผู้ฉลาดในสมมติและปรมัตถ์ เหมือนความเป็นผู้ฉลาดในภาษาท้องถิ่น. เวไนยสัตว์ผู้สามารถเข้าใจความได้ด้วยอำนาจแห่งสมมติและปรมัตถ์ เหมือนมาณพผู้รู้ภาษาท้องถิ่นต่างๆ กัน. เทศนาด้วยอำนาจสมมติและปรมัตถ์ของพระผู้มีพระภาคเจ้า เปรียบเหมือนการสอนด้วยภาษามีภาษาทมิฬเป็นต้นของอาจารย์.
               สมจริงดังที่ท่านกล่าวไว้ในที่นี้ว่า
                         พระสัมพุทธเจ้า เป็นยอดของผู้กล่าวสอนทั้งหลาย
                         ได้ตรัสสัจจะ ๒ อย่าง คือสมมติสัจจะและปรมัตถ
                         สัจจะ ไม่ตรัสสัจจะที่ ๓
                         คำที่ชาวโลกหมายรู้กันก็เป็นสัจจะ เพราะมีโลก
                         สมมติเป็นเหตุ คำที่ระบุถึงสิ่งที่เป็นปรมัตถ์ก็เป็น
                         สัจจะ เพราะมีความจริงของธรรมทั้งหลายเป็นเหตุ
                         เพราะฉะนั้น มุสาวาท จึงไม่เกิดแก่พระโลกนาถ
                         ผู้ศาสดา ผู้ฉลาดในโวหาร ผู้ตรัสตามสมมติ.
               อีกอย่างหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสปุคคลกถา ว่าด้วยบุคคล ด้วยเหตุ ๘ ประการ คือ
                         เพื่อทรงแสดงหิริ ความละอายและโอตตัปปะ ความเกรงกลัว ๑
                         เพื่อทรงแสดง กัมมัสสกตา (ความที่สัตว์มีกรรมเป็นของตน) ๑
                         เพื่อทรงแสดงบุคคลผู้กระทำเฉพาะตน ๑
                         เพื่อทรงแสดงถึงอนันตริยกรรม (กรรมก่อนกรรมอื่นๆ ที่ให้ผล) ๑
                         เพื่อทรงแสดงถึงพรหมวิหารธรรม (เมตตา กรุณา มุทิตา อุเปกขา) ๑
                         เพื่อทรงแสดงถึงปุพเพนิวาสญาณ (ระลึกชาติก่อนไว้) ๑
                         เพื่อทรงแสดงถึงทักขิณาวิสุทธิ (ความบริสุทธิ์แห่งทักขิณา) ๑
                         และเพื่อไม่ทรงละโลกสมมติ ๑.
               เมื่อพระองค์ตรัสว่า ขันธ์ ธาตุ อายตนะทั้งหลายย่อมละอาย ย่อมเกรงกลัวดังนี้ มหาชนย่อมไม่เข้าใจ ย่อมงงงวย กลับเป็นศัตรู (โต้แย้ง) ว่า นี้อะไรกัน ขันธ์ ธาตุ อายตนะย่อมละอาย ย่อมเกรงกลัว. แต่เมื่อตรัสว่า หญิง ชาย กษัตริย์ พราหมณ์ เทพและมารย่อมละอาย ย่อมเกรงกลัว มหาชนย่อมเข้าใจ ย่อมไม่งงงวย ไม่กลับเป็นศัตรู (ไม่โต้แย้ง). เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสบุคคลกถา (กถาว่าด้วยบุคคล) ก็เพื่อทรงแสดงหิริและโอตตัปปะ.
               แม้ในคำที่กล่าวไว้ว่า ขันธ์ทั้งหลาย ธาตุทั้งหลาย อายตนะทั้งหลายมีกรรมเป็นของตน ก็มีนัยนี้เหมือนกัน. เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสบุคคลกถา เพื่อทรงแสดงความที่สัตว์มีกรรมเป็นของตน.
               แม้ในคำที่กล่าวไว้ว่า มหาวิหารทั้งหลายมีเวฬุวันเป็นต้นอันขันธ์ ธาตุ อายตนะสร้างแล้ว ก็นัยนี้เหมือนกัน. เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงทรงแสดงบุคคลกถา เพื่อทรงแสดงถึงบุคคลผู้กระทำเฉพาะตน.
               แม้ในคำที่กล่าวไว้ว่า ขันธ์ ธาตุ อายตนะ ย่อมปลงชีวิตบิดา มารดา พระอรหันต์ กระทำกรรมคือยังพระโลหิตให้ห้อ และกระทำสังฆเภท ก็นัยนี้เหมือนกัน เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงทรงแสดงบุคคลกถา เพื่อทรงแสดงอนันตริยกรรม.
               แม้ในคำที่กล่าวไว้ว่า ขันธ์ ธาตุ อายตนะ ย่อมมีเมตตา ก็นัยนี้เหมือนกัน เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงทรงแสดงบุคคลกถา เพื่อทรงแสดงพรหมวิหารธรรม.
               แม้ในคำที่กล่าวไว้ว่า ขันธ์ ธาตุ อายตนะ ย่อมระลึกถึงปุพเพนิวาสญาณ ก็นัยนี้เหมือนกัน เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงทรงแสดงบุคคลกถา เพื่อทรงแสดงปุพเพนิวาสญาณ.
               แม้เมื่อกล่าวว่า ขันธ์ ธาตุ อายตนะ ย่อมรับทาน มหาชนย่อมไม่เข้าใจ ย่อมงงงวย กลับเป็นศัตรูว่า นี้อะไรกัน ขันธ์ ธาตุ อายตนะย่อมรับทาน. แต่เมื่อกล่าวว่า บุคคลผู้มีศีล มีกัลยาณธรรมเป็นต้น มหาชนย่อมเข้าใจ ย่อมไม่งงงวย เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงทรงแสดงบุคคลกถา เพื่อทรงแสดงความหมดจดแห่งทักษิณา.
               จริงอยู่ พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทั้งหลาย ย่อมไม่ละโลกสมมติ ตั้งอยู่ในชื่อของชาวโลก ในภาษาของชาวโลก ในคำพูดจากันของชาวโลกนั่นแลแสดงธรรม. เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงทรงแสดงบุคคลกถา แม้เพื่อไม่ละโลกสมมติ.
               ดังนั้น จึงชื่อว่าบุคคลเอก เพราะบุคคลนั้นด้วย เป็นเอกด้วย.
               ที่ชื่อว่าบุคคลเอก เพราะอรรถว่ากระไร?
               เพราะอรรถว่าไม่มีผู้อื่นเหมือน เพราะอรรถว่าพิเศษโดยคุณ เพราะอรรถว่าเสมอกับพระพุทธเจ้าผู้ไม่มีบุคคลเสมอ.
               จริงอยู่ พระผู้มีพระภาคเจ้านั้นไม่เหมือนกับมหาชนทั่วไป โดยคุณคือโพธิสมภารนับตั้งแต่ทรงรำพึงถึงบารมี ๑๐ ตามลำดับและโดยพระพุทธคุณ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่าบุคคลเอก เพราะอรรถว่าไม่มีใครเหมือนบ้าง.
               อนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้านั้นทรงมีคุณพิเศษกว่าคุณของเหล่าสัตว์ผู้มีคุณทั่วไป เพราะเหตุนั้น จึงชื่อบุคคลเอก เพราะอรรถว่ามีความพิเศษโดยคุณ. พระสัมมาสัมพุทธเจ้าก่อนๆ ไม่เสมอด้วยสัตว์ทุกจำพวก แต่พระผู้มีพระภาคเจ้านี้พระองค์เดียวเท่านั้น เป็นผู้เสมอกับพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเหล่านั้น โดยพระคุณคือรูปกายและพระคุณคือนามกาย เพราะเหตุนั้น จึงชื่อว่าบุคคลเอก เพราะอรรถว่าเสมอกับพระพุทธเจ้าผู้ไม่มีผู้เสมอ.
               บทว่า โลเก ได้แก่ โลก ๓ คือ สัตวโลก โอกาสโลก สังขารโลก.
               กถาว่าด้วยความพิสดารแห่งโลกทั้ง ๓ นั้น ท่านได้กล่าวไว้แล้วในวิสุทธิมรรค.
               บรรดาโลก ๓ นั้น สัตวโลกท่านประสงค์เอาในที่นี้.
               จริงอยู่ พระตถาคตนั้น แม้เมื่อเกิดในสัตวโลก หาได้เกิดในเทวโลกและในพรหมโลกไม่ ย่อมเกิดเฉพาะในมนุษยโลกเท่านั้น. แม้ในมนุษยโลกเล่าก็หาได้เกิดในจักรวาลอื่นไม่ ย่อมเกิดเฉพาะในจักรวาลนี้เท่านั้น แม้ในจักรวาลนั้นก็หาเกิดในที่ทุกแห่งไปไม่.
               ในทิศบูรพา มีนิคมชื่อว่ากชังคละ ถัดจากกชังคละนิคมนั้นไป มีนครชื่อว่ามหาสาละ ถัดจากมหาสาละนั้นไปเป็นปัจจันตชนบท ร่วมในเป็นมัชฌิมชนบท. ในทิศอาคเนย์ มีแม่น้ำชื่อว่าสัลลวดี ถัดจากแม่น้ำสัลลวดีนั้นไปเป็นปัจจันตชนบท ร่วมในเป็นมัชฌิมชนบท. ในทิศทักษิณ มีนิคมชื่อว่าเสตกัณณิกะ ถัดจากเสตกัณณิกนิคมนั้นไปเป็นปัจจันตชนบท ร่วมในเป็นมัชฌิมชนบท. ในทิศประจิม มีบ้านพราหมณ์ชื่อว่าถูนะ ถัดจากบ้านพราหมณ์นั้นไปเป็นปัจจันตชนบท ร่วมในเป็นมัชฌิมชนบท. ในทิศอุดร มีภูเขาชื่อว่าอุสีรธชะ ถัดจากภูเขานั้นไปเป็นปัจจันตชนบท ร่วมในเป็นมัชฌิมชนบท.
               พระตถาคตย่อมอุบัติในมัชฌิมประเทศ ที่ท่านกำหนดดังกล่าวมาแล้วนั้น โดยส่วนยาววัดได้ ๓๐๐ โยชน์ โดยส่วนกว้างวัดได้ ๑๕๐ โยชน์ วัดโดยรอบได้ ๙๐๐ โยชน์.
               อนึ่ง พระตถาคตหาได้อุบัติแต่ลำพังพระองค์อย่างเดียวไม่ พระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลาย พระอัครสาวก พระอสีติมหาเถระ แม้ท่านผู้มีบุญอื่นๆ ก็ย่อมเกิดขึ้น. พระพุทธมารดา พระพุทธบิดา พระเจ้าจักรพรรดิ์และพราหมณ์คฤหบดี ผู้เป็นบุคคลสำคัญเหล่าอื่น ก็ย่อมเกิดในมัชฌิมประเทศนี้เหมือนกัน.
               ก็บทว่า อุปฺปชฺชมาโน อุปฺปชฺชติ ทั้งสองนี้เป็นคำกล่าวค้างไว้เท่านั้น. ก็ในคำนี้พึงทราบความอย่างนี้ว่า พระตถาคตเมื่ออุบัติ ย่อมอุบัติเพื่อประโยชน์เกื้อกูลแก่ชนเป็นอันมาก หาอุบัติด้วยเหตุอื่นไม่. ก็ในอธิการนี้ ลักษณะเห็นปานนี้ ใครๆ หาอาจคัดค้านคำทั้งสองนั่นโดยลักษณะศัพท์อื่นไม่.
               อีกอย่างหนึ่ง พึงทราบความต่างกันในคำนี้ ดังนี้ว่า
                         อุปฺปชฺชมาโน นาม (ชื่อว่าเมื่อจะอุบัติ)
                         อุปฺปชฺชติ นาม (ชื่อว่ากำลังอุบัติ)
                         อุปฺปนฺโน นาม (ชื่อว่าอุบัติแล้ว).
               จริงอยู่ พระพุทธองค์ได้รับคำพยากรณ์ แต่บาทมูลแห่งพระพุทธเจ้าพระนามว่าทีปังกร เมื่อแสวงหาพุทธการกธรรม (ธรรมเครื่องทำความเป็นพระพุทธเจ้า) ทรงเห็นบารมี ๑๐ จึงทรงตกลงพระทัยว่า เราควรบำเพ็ญธรรมเหล่านี้ แม้กำลังบำเพ็ญทานบารมีอยู่ก็ชื่อว่าเมื่อจะอุบัติ. แม้เมื่อทรงบำเพ็ญบารมี ๑๐ เหล่านี้คือ ศีลบารมี ฯลฯ อุเปกขาบารมีก็ดี ทรงบำเพ็ญอุปบารมี ๑๐ อยู่ก็ดีก็ชื่อว่าเมื่อจะอุบัติ. แม้เมื่อทรงบำเพ็ญปรมัตถบารมี ๑๐ อยู่ก็ชื่อว่าเมื่อจะอุบัติ เมื่อบริจาคซึ่งมหาบริจาค ๕ ประการก็ชื่อว่าเมื่อจะอุบัติ. แม้เมื่อทรงบำเพ็ญญาตัตถจริยา โลกัตถจริยาและพุทธัตถจริยา ก็ชื่อว่าเมื่อจะอุบัติ. แม้เมื่อทรงบำเพ็ญพุทธการกธรรมให้ถึงที่สุด สิ้น ๔ อสงไขยกำไรแสนกัป ก็ชื่อว่าเมื่อจะอุบัติ. แม้เมื่อทรงละอัตภาพพระเวสสันดร ถือปฏิสนธิในดุสิตบุรี ดำรงอยู่ตลอด ๕๗ โกฏิปีกับอีก ๖๐,๐๐๐ ปี ก็ชื่อว่าเมื่อจะอุบัติ. พระองค์อันเทวดาทูลอาราธนาแล้ว ทรงตรวจดูมหาวิโลกิตะ ๕ ประการ ทรงถือปฏิสนธิในพระครรภ์ของพระเทวี ทรงพระนามว่ามหามายาก็ดี ทรงอยู่ในพระครรภ์ ๑๐ เดือนถ้วนก็ดี ก็ชื่อว่าเมื่อจะอุบัติเหมือนกัน.
               แม้ทรงดำรงอยู่ในการครองเรือน ๒๙ พรรษาก็ชื่อว่าเมื่อจะอุบัติเหมือนกัน. แม้เมื่อทรงเห็นโทษในกามทั้งหลาย เห็นอานิสงส์ในการออกจากกาม มีนายฉันนะเป็นสหาย ทรงม้ากัณฐกะตัวประเสริฐ เสด็จออกผนวชในวันที่พระราหุลภัททะประสูติ ก็ชื่อว่าเมื่อจะอุบัติเหมือนกัน. เสด็จผ่านพ้นราชอาณาจักรทั้ง ๓ แห่งไป ทรงผนวชที่ฝั่งแม่น้ำอโนมานทีก็ดี ก็ชื่อว่าเมื่อจะอุบัติเหมือนกัน. แม้ทรงทำมหาปธานความเพียร ๖ พรรษาก็ชื่อว่าเมื่อจะอุบัติเหมือนกัน. เมื่อพระญาณแก่กล้าแล้วเสวยกระยาหารหยาบก็ดี ก็ชื่อว่าเมื่อจะอุบัติเหมือนกัน.
               แม้เมื่อขึ้นสู่มหาโพธิมัณฑสถานในวันวิสาขบุรณมีในเวลาเย็น ทรงกำจัดมารและพลแห่งมาร ทรงระลึกถึงปุพเพนิวาสญาณในปฐมยาม ทรงชำระทิพพจักขุในมัชฌิมยาม ทรงพิจารณาปฏิจจสมุปบาท ๑๒ องค์โดยอนุโลมและปฏิโลมในเวลาติดต่อกับปัจฉิมยาม แล้วแทงตลอดโสดาปัตติมรรคก็ดี ชื่อว่าเมื่อจะอุบัติเหมือนกัน.
               ในขณะแห่งโสดาปัตติผลก็ดี ในขณะแห่งสกทาคามิมรรคก็ดี ในขณะแห่งสกทาคามิผลก็ดี ในขณะแห่งอนาคามิมรรคก็ดี ในขณะแห่งอนาคามิผลก็ดี ชื่อว่าเมื่อจะอุบัติเหมือนกัน.
               ส่วนในขณะแห่งอรหัตตมรรค ชื่อว่ากำลังอุบัติ.
               ในขณะแห่งอรหัตตผล ชื่อว่าอุบัติแล้ว.
               จริงอยู่ อิทธิวิธญาณเป็นต้นของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ย่อมไม่เกิดขึ้นตามลำดับ เหมือนของพระสาวกทั้งหลาย. ก็กองแห่งคุณมีพระสัพพัญญุตญาณเป็นต้นแม้ทั้งสิ้น ชื่อว่าย่อมมาพร้อมกันทีเดียวกับพระอรหัตตมรรค. เพราะฉะนั้น ท่านเหล่านั้นชื่อว่าอุบัติแล้วในขณะแห่งอรหัตตผล เพราะมีกิจทั้งปวงอันสำเร็จแล้ว.
               ในสูตรนี้ พึงทราบว่า กำลังอุบัติ หมายเอาขณะแห่งอรหัตตผลนั่นแล.
               ความจริงในคำว่า อุปฺปชฺชติ นี้ มีใจความดังนี้ว่า อุปฺปนฺโน โหติ (ย่อมเป็นผู้อุบัติ).
               บทว่า พหุชนหิตาย ความว่า ย่อมเสด็จอุบัติเพื่อประโยชน์เกื้อกูลแก่ชนหมู่มาก.
               บทว่า พหุโน ชนสฺส สุขาย ความว่า ย่อมเสด็จอุบัติเพื่อประโยชน์สุขแก่ชนหมู่มาก.
               บทว่า โลกานุกมฺปาย ความว่า เสด็จอุบัติเพราะอาศัยความเอ็นดูแก่สัตวโลก.
               ถามว่า แก่สัตว์โลกไหน?
               แก้ว่า เพื่อประโยชน์แก่สัตวโลกผู้สดับพระธรรมเทศนาของพระตถาคตได้ดื่มน้ำอมฤตแล้วตรัสรู้ธรรม. เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้ายับยั้งอยู่ ๗ สัปดาห์ ณ โพธิมัณฑสถาน แล้วเสด็จจากโพธิมัณฑสถานมายังป่าอิสิปตนมฤคทายวัน แล้วทรงแสดงธรรมจักกัปปวัตตนสูตรว่า ภิกษุทั้งหลาย ที่สุด ๒ อย่างนี้ บรรพชิตไม่ควรเสพเป็นต้น พรหมนับได้ ๑๘ โกฏิพร้อมด้วยท่านพระอัญญาโกณฑัญญเถระ ได้ดื่มน้ำอมฤตแล้ว. พระองค์เสด็จอุบัติเพื่อความอนุเคราะห์แก่สัตวโลกนี้. ในวันที่ ๕ ในเวลาจบอนันตลักขณสูตร พระปัญจวัคคีย์เถระดำรงอยู่ในพระอรหัตแล้ว.
               พระองค์เสด็จอุบัติเพื่อความอนุเคราะห์แก่สัตวโลกแม้นี้.
               ลำดับนั้น ทรงให้บุรุษ ๕๕ คนมียสกุลบุตรเป็นหัวหน้าดำรงอยู่ในพระอรหัต. แต่นั้นทรงให้ภัททวัคคีย์กุมาร ๓๐ คน ณ ไพรสณฑ์ป่าฝ้าย ได้บรรลุมรรค ๓ และผล ๓. พระองค์เสด็จอุบัติเพื่อความอนุเคราะห์แก่สัตวโลกนี้. ในเวลาจบอาทิตตปริยายสูตร ให้ชฎิล ๑,๐๐๐ คนดำรงอยู่ในพระอรหัต ณ คยาสีสประเทศ.
               อนึ่ง พราหมณ์และคฤหบดี ๑๑ นหุตมีพระเจ้าพิมพิสารเป็นประมุข ณ สวนตาลหนุ่ม ฟังพระธรรมเทศนาของพระศาสดาแล้ว ดำรงอยู่ในโสดาปัตติผล อีก ๑ นหุตตั้งอยู่ในสรณะ ในเวลาจบอนุโมทนาด้วยติโรกุฑฑสูตร สัตว์ ๘๔,๐๐๐ ได้ดื่มน้ำอมฤตแล้ว. ในสมาคมแห่งนายสุมนมาลาการ สัตว์ ๘๔,๐๐๐ ดื่มน้ำอมฤตแล้ว. ในสมาคมแห่งช้างธนบาล สัตว์ ๑๐,๐๐๐ ดื่มน้ำอมฤตแล้ว. ในสมาคมแห่งขทิรังคารชาดก สัตว์ ๘๔,๐๐๐ ดื่มน้ำอมฤตแล้ว. ในสมาคมแห่งชัมพุกาชีวก สัตว์ ๘๔,๐๐๐ ดื่มน้ำอมฤต. ในสมาคมแห่งอานันทเศรษฐี สัตว์ ๘๔,๐๐๐ ดื่มน้ำอมฤต. ในวันแสดงปารายนสูตร ณ ปาสาณกเจดีย์ สัตว์ ๑๔ โกฏิดื่มน้ำอมฤตแล้ว. ในวันแสดงยมกปาฏิหาริย์ สัตว์ ๒๐ โกฏิดื่มน้ำอมฤต.
               เมื่อพระศาสดาประทับนั่งบนบัณฑุกัมพลศิลาอาสน์ ณ ภพดาวดึงส์ ทรงกระทำพระมารดาให้เป็นกายสักขี แสดงพระอภิธรรม ๗ คัมภีร์ สัตว์ ๘๐ โกฏิดื่มน้ำอมฤต. ในวันเสด็จลงจากเทวโลก สัตว์ ๓๐ โกฏิดื่มน้ำอมฤต ในสักกปัญหสูตร เทวดา ๘๐,๐๐๐ ได้ดื่มน้ำอมฤตแล้ว.
               ในฐานะทั้ง ๔ เหล่านี้ คือ ในมหาสมัยสูตร ในมงคลสูตร ในจุลลราหุโลวาทสูตร ในสมจิตตปฏิปทาสูตร สัตว์ผู้ได้ตรัสรู้ธรรมกำหนดไม่ได้.
               พระองค์เสด็จอุบัติเพื่อความอนุเคราะห์แก่สัตวโลกแม้นี้แล. เบื้องหน้าแต่นี้จากวันนี้ไป (และ) ในอนาคตกาล พึงทราบเนื้อความในอธิการนี้ดังกล่าวมานี้ แม้ด้วยอำนาจแห่งเหล่าสัตว์ผู้อาศัยพระศาสนาแล้วดำรงอยู่ในทางสวรรค์และพระนิพพาน.
               บทว่า เทวมนุสฺสานํ ความว่า พระองค์เสด็จอุบัติเพื่อประโยชน์ เพื่อเกื้อกูลและเพื่อความสุขแก่เทวดาและมนุษย์อย่างเดียวเท่านั้น ก็หาไม่ (แต่) เสด็จอุบัติเพื่อประโยชน์ เพื่อเกื้อกูลและเพื่อความสุขแก่สัตว์ที่เหลือมีนาคและครุฑเป็นต้นด้วย. ก็เพื่อจะแสดงบุคคลผู้ถือปฏิสนธิเป็นสเหตุกะ ผู้สมควรทำให้แจ้งมรรคและผล จึงกล่าวอย่างนั้น. เพราะเหตุนั้น พึงทราบว่า พระองค์เสด็จอุบัติเพื่อประโยชน์เพื่อเกื้อกูลและเพื่อความสุขเท่านั้น แม้แก่สัตว์เหล่านั้น.
               บทว่า กตโม เอกปุคฺคโล มีปุจฉาดังต่อไปนี้
               ชื่อว่าปุจฉานี้มี ๕ อย่าง คือ
                         อทิฏฐโชตนาปุจฉา (คำถามเพื่อให้กระจ่างในสิ่งที่ตนยังไม่เห็น) ๑
                         ทิฏฐสังสันทนาปุจฉา (คำถามเพื่อเทียบกับสิ่งที่ตนเห็นแล้ว ๑
                         วิมติเฉทนาปุจฉา (คำถามเพื่อตัดความสงสัย) ๑
                         อนุมติปุจฉา (คำถามเพื่อรับอนุมัติ) ๑
                         กเถตุกัมยตาปุจฉา (คำถามโดยใคร่จะกล่าวเสียเอง ๑
               ปุจฉาทั้ง ๕ นั้น มีความต่างกันดังต่อไปนี้ :-
               อทิฏฐโชตนาปุจฉา เป็นไฉน?
               ลักษณะตามปกติ เป็นสิ่งยังไม่รู้ ยังไม่เห็น ยังชั่งไม่ได้ ยังไม่ได้ไตร่ตรอง ยังไม่ปรากฏชัด ยังไม่แจ่มแจ้ง บุคคลย่อมถามปัญหาเพื่อรู้ เพื่อเห็น เพื่อชั่ง เพื่อไตร่ตรอง เพื่อต้องการให้ปรากฏชัด เพื่อต้องการความแจ่มแจ้งแห่งลักษณะนั้น. นี้ชื่อว่าอทิฏฐโชตนาปุจฉา.
               ทิฏฐสังสันทนาปุจฉา เป็นไฉน?
               ลักษณะตามปกติเป็นอันรู้แล้ว เห็น ชั่ง ไตร่ตรอง ปรากฏชัดและแจ่มแจ้งแล้ว บุคคลย่อมถามปัญหาเพื่อเทียบเคียงกับบัณฑิตเหล่าอื่น. นี้ชื่อว่าทิฏฐสังสันทนาปุจฉา.
               วิมติเฉทนาปุจฉา เป็นไฉน?
               ตามปกติ บุคคลย่อมแล่นไปสู่ความสงสัย เกิดความลังเลใจขึ้นว่า เป็นอย่างนี้หรือหนอ มิใช่หรือหนอ เป็นอะไรหนอ เป็นอย่างไรหนอ เขาจึงถามปัญหาเพื่อต้องการตัดความสงสัย. นี้ชื่อว่าวิมติเฉทนาปุจฉา.
               อนุมติปุจฉา เป็นไฉน?
               จริงอยู่ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสถามปัญหาตามความเห็นชอบของภิกษุทั้งหลายว่า
               ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน? รูปเที่ยงหรือไม่เที่ยง. ไม่เที่ยงพระเจ้าข้า.
               ก็รูปใดไม่เที่ยง รูปนั้นเป็นทุกข์หรือเป็นสุขเล่า. เป็นทุกข์ พระเจ้าข้า.
               ก็รูปใดไม่เที่ยงเป็นทุกข์ มีความแปรปรวนไปเป็นธรรมดา ควรหรือที่จะตามเห็นรูปนั่นว่า นั่นเป็นของเรา เราเป็นนั่น นั่นเป็นอัตตาของเรา. ก็ข้อนั้นไม่เป็นอย่างนั้น พระเจ้าข้า.
               นี้ชื่อว่า อนุมติปุจฉา.
               กเถตุกัมยตาปุจฉา เป็นไฉน?
               พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสถามปัญหาโดยที่พระองค์ทรงมีพระประสงค์จะตรัสตอบเสียเองแก่ภิกษุทั้งหลายว่า ภิกษุทั้งหลาย สติปัฏฐาน ๔ เหล่านี้ สติปัฏฐาน ๔ เป็นไฉน? นี้ชื่อว่า กเถตุกัมยตาปุจฉา.
               ในปุจฉาทั้ง ๕ เหล่านั้น ปุจฉา ๓ ข้างต้นไม่มีแก่พระพุทธเจ้าทั้งหลาย.
               เพราะเหตุไร?
               เพราะว่า สิ่งไรๆ ในกาลอันยืดยาวทั้ง ๓ กาลที่ปัจจัยปรุงแต่ง หรือพ้นจากกาลอันยืดยาว ที่ปัจจัยปรุงแต่งไม่ได้ ชื่อว่าไม่ทรงเห็น ไม่ทรงทราบ ไม่ทรงชั่ง ไม่ทรงไตร่ตรอง ไม่ปรากฏชัด ไม่แจ่มแจ้ง ย่อมไม่มีแก่พระพุทธเจ้าทั้งหลาย เพราะฉะนั้น อทิฏฐโชตนาปุจฉาจึงไม่มีแก่พระพุทธเจ้าเหล่านั้น
               ก็สิ่งใดที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงรู้แล้วด้วยพระญาณของพระองค์ กิจคือการเทียบเคียงสิ่งนั้นกับด้วยผู้อื่น ไม่ว่าจะเป็นสมณะ พราหมณ์ เทวดา มารหรือพรหม ย่อมไม่มี ด้วยเหตุนั้น ทิฏฐสังสันทนาปุจฉาย่อมไม่มีแก่พระองค์.
               ก็เพราะเหตุที่พระองค์ไม่มีความสงสัย เป็นเหตุให้กล่าวว่าอย่างไร เป็นผู้ข้ามพ้นความเคลือบแคลงเสียได้ ขจัดความสงสัยในธรรมทั้งปวงได้แล้ว ด้วยเหตุนั้น วิมติเฉทนาปุจฉาจึงไม่มีแก่พระองค์.
               ส่วนปุจฉา ๒ ข้อนอกนี้ย่อมมีแก่พระผู้มีพระภาคเจ้า.
               ในปุจฉาเหล่านั้น ปุจฉานี้ พึงทราบว่า กเถตุกัมยตาปุจฉา.
               บัดนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อจะทรงชี้บุคคลเอกที่เขาถามด้วยคำถามนั้น ให้แจ่มแจ้ง จึงตรัสว่า พระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ดังนี้.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ตถาคโต ความว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพระนามว่า ตถาคต เพราะเหตุ ๘ ประการ คือ
                         ทรงพระนามว่า ตถาคต เพราะเสด็จมาอย่างนั้น.
                         ทรงพระนามว่า ตถาคต เพราะเสด็จไปอย่างนั้น.
                         ทรงพระนามว่า ตถาคต เพราะเสด็จมาสู่ลักษณะที่แท้.
                         ทรงพระนามว่า ตถาคต เพราะตรัสรู้ธรรมที่แท้จริงตามที่เป็นจริง.
                         ทรงพระนามว่า พระตถาคต เพราะทรงเห็นอารมณ์ที่แท้จริง.
                         ทรงพระนามว่า ตถาคต เพราะมีพระวาจาที่แท้จริง.
                         ทรงพระนามว่า ตถาคต เพราะทรงกระทำเองและให้ผู้อื่นกระทำ.
                         ทรงพระนามว่า ตถาคต เพราะอรรถว่าทรงครอบงำได้ (คือเป็นใหญ่).
               พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพระนามว่า ตถาคต เพราะเสด็จมาอย่างนั้นเป็นอย่างไร?
               เหมือนอย่างพระสัมมาสัมพุทธเจ้าองค์ก่อนๆ ทรงขวนขวายเพื่อประโยชน์เกื้อกูลแก่โลกทั้งปวงเสด็จมาแล้ว เหมือนอย่างพระผู้มีพระภาคพระวิปัสสีเสด็จมา เหมือนอย่างพระผู้มีพระภาคพระสิขีเสด็จมา เหมือนอย่างพระผู้มีพระภาคพระเวสสภูเสด็จมา เหมือนอย่างพระผู้มีพระภาคพระกกุสันธะเสด็จมา เหมือนอย่างพระผู้มีพระภาคพระโกนาคมน์เสด็จมา เหมือนอย่างพระผู้มีพระภาคพระกัสสปะเสด็จมา
               ข้อนี้มีอธิบายอย่างไร?
               มีอธิบายว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าเหล่านั้นเสด็จมาด้วยอภินิหารใด พระผู้มีพระภาคเจ้าแม้ของเราทั้งหลาย ก็เสด็จมาด้วยอภินิหารนั้นเหมือนกัน
               อีกอย่างหนึ่ง พระผู้มีพระภาคพระวิปัสสี ฯลฯ พระผู้มีพระภาคพระกัสสปะทรงบำเพ็ญทานบารมี ทรงบำเพ็ญศีลบารมี เนกขัมมบารมี ปัญญาบารมี วิริยบารมี ขันติบารมี สัจจบารมี อธิษฐานบารมี เมตตาบารมีและอุเบกขาบารมี ทรงบำเพ็ญบารมี ๓๐ ทัศเหล่านี้ คือบารมี ๑๐ อุปบารมี ๑๐ ปรมัตถบารมี ๑๐ ทรงบริจาคมหาบริจาค ๕ ประการ คือบริจาคอวัยวะ บริจาคทรัพย์ บริจาคลูก บริจาคเมีย บริจาคชีวิต ทรงบำเพ็ญบุพประโยค บุพจริยา การแสดงธรรมและญาตัตถจริยาเป็นต้น ทรงถึงที่สุดแห่งพุทธจริยา เสด็จมาแล้วอย่างใด พระผู้มีพระภาคเจ้าแม้ของเราทั้งหลายก็เสด็จมาเหมือนอย่างนั้น
               อีกนัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคพระวิปัสสี ฯลฯ พระผู้มีพระภาคพระกัสสปะทรงเจริญเพิ่มพูนสติปัฏฐาน ๔ สัมมัปปธาน ๔ อิทธิบาท ๔ อินทรีย์ ๕ พละ ๕ โพชฌงค์ ๗ อริยมรรคมีองค์ ๘ เสด็จมาแล้วอย่างใด พระผู้มีพระภาคเจ้าแม้ของเราทั้งหลาย ก็เสด็จมาเหมือนอย่างนั้น
               พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพระนามว่า ตถาคต เพราะเสด็จมาอย่างนั้น เป็นอย่างนี้
                         พระมุนีทั้งหลายมีพระวิปัสสีเป็นต้น เสด็จมา
                         สู่ความเป็นพระสัพพัญญูในโลกนี้อย่างใด แม้
                         พระศากยมุนีนี้ ก็เสด็จมาเหมือนอย่างนั้น ด้วย
                         เหตุนั้น พระผู้มีจักษุจึงทรงพระนามว่า ตถาคต
                         ดังนี้.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพระนามว่า ตถาคต เพราะเสด็จมาอย่างนั้น เป็นอย่างนี้.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพระนามว่า ตถาคต เพราะเสด็จไปอย่างนั้น เป็นอย่างไร?
               เหมือนอย่างพระผู้มีพระภาคพระวิปัสสี ประสูติในบัดเดี๋ยวนั้นก็เสด็จไป ฯลฯ เหมือนอย่างพระผู้มีพระภาคพระกัสสปะ ประสูติในบัดเดี๋ยวนั้นก็เสด็จไป ก็พระผู้มีพระภาคเจ้านั้นเสด็จไปอย่างไร?
               จริงอยู่ พระผู้มีพระภาคเจ้านั้น ประสูติในบัดเดี๋ยวนั้นเอง ประทับยืนบนปฐพีด้วยพระยุคลบาทอันเสมอกัน บ่ายพระพักตร์ไปเบื้องทิศอุดร เสด็จไปโดยย่างพระบาท ๗ ก้าว.
               ดังพระบาลีที่ตรัสไว้ว่า
               ดูก่อนอานนท์ พระโพธิสัตว์ประสูติบัดเดี๋ยวนั้น ก็ประทับยืนด้วยพระยุคลบาทอันเสมอกัน บ่ายพระพักตร์ไปเบื้องทิศอุดร เสด็จไปโดยย่างพระบาท ๗ ก้าว เมื่อท้าวมหาพรหมกั้นพระเศวตฉัตร ทรงเหลียวดูทั่วทิศ ทรงเปล่งอาสภิวาจาว่า เราเป็นผู้เลิศในโลก เราเป็นผู้เจริญที่สุดในโลก เราเป็นผู้ประเสริฐที่สุดในโลก การเกิดครั้งนี้เป็นการเกิดครั้งสุดท้าย บัดนี้ ภพใหม่ไม่มีต่อไป ดังนี้.
               และการเสด็จไปของพระผู้มีพระภาคเจ้านั้นก็ได้เป็นอาการอันแท้ ไม่แปรผัน ด้วยความเป็นบุพนิมิตแห่งการบรรลุคุณวิเศษหลายประการ
               คือ ข้อที่พระองค์ประสูติในบัดเดี๋ยวนั้นเองก็ได้ประทับยืนด้วยพระยุคลบาทอันเสมอกันนี้เป็นบุพนิมิตแห่งการได้อิทธิบาท ๔ ของพระองค์.
               อนึ่ง ความที่พระองค์บ่ายพระพักตร์ไปเบื้องทิศอุดรเป็นบุพนิมิตแห่งความเป็นโลกุตตรธรรมทั้งปวง. การย่างพระบาท ๗ ก้าวเป็นบุพนิมิตแห่งการได้รัตนะคือโพชฌงค์ ๗ ประการ การกั้นพระเศวตฉัตรเป็นบุพนิมิตแห่งการได้เศวตฉัตรอันบริสุทธิ์ประเสริฐ คือพระอรหัตตผลวิมุตติธรรม. การทอดพระเนตรเหลียวดูทั่วทิศเป็นบุพนิมิตแห่งการได้พระอนาวรณญาณคือความเป็นพระสัพพัญญู. การเปล่งอาสภิวาจาเป็นบุพนิมิตแห่งการประกาศพระธรรมจักรอันประเสริฐอันใครๆ เปลี่ยนแปลงไม่ได้.
               แม้พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นี้ก็เสด็จไปเหมือนอย่างนั้น และการเสด็จไปของพระองค์นั้น ก็ได้เป็นอาการอันแท้ ไม่แปรผัน ด้วยความเป็นบุพนิมิตแห่งการบรรลุคุณวิเศษเหล่านั้นแล.
               ด้วยเหตุนั้น พระโบราณาจารย์ทั้งหลายจึงกล่าวว่า
                         พระควัมบดีโคดมนั้นประสูติแล้วในบัดเดี๋ยวนั้น
                         ก็ทรงสัมผัสพื้นดินด้วยพระยุคลบาทสม่ำเสมอ
                         เสด็จย่างพระบาทไปได้ ๗ ก้าว และฝูงเทพยดา
                         เจ้าก็กางกั้นเศวตฉัตร พระโคดมนั้นครั้นเสด็จ
                         ไปได้ ๗ ก้าว ก็ทอดพระเนตรไปรอบทิศเสมอกัน
                         ทรงเปล่งพระสุรเสียงประกอบด้วยองค์ ๘ ประ
                         การ ปานดังราชสีห์ยืนอยู่บนยอดบรรพตฉะนั้น
                         ดังนี้.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพระนามว่า ตถาคต เพราะเสด็จไปอย่างนั้น เป็นอย่างนี้.
               อีกนัยหนึ่ง เหมือนอย่างพระผู้มีพระภาคพระวิปัสสีเสด็จไปแล้ว ฯลฯ พระผู้มีพระภาคพระกัสสปะเสด็จไปแล้วฉันใด พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นี้ก็เหมือนฉันนั้นทีเดียว ทรงละกามฉันทะด้วยเนกขัมมะเสด็จไปแล้ว ทรงละพยาบาทด้วยความไม่พยาบาท ทรงละถีนมิทธะด้วยอาโลกสัญญา ทรงละอุทธัจจกุกกุจจะด้วยความไม่ฟุ้งซ่าน ทรงละวิจิกิจฉาด้วยการกำหนดธรรม เสด็จไปแล้ว ทรงทำลายอวิชชาด้วยพระปรีชาญาณ ทรงบรรเทาความไม่ยินดีด้วยความปราโมทย์ ทรงเปิดบานประตูคือนิวรณ์ด้วยปฐมฌาน ทรงสงบวิตกวิจารด้วยทุติยฌาน ทรงหน่ายปีติด้วยตติยฌาน ทรงละสุขทุกข์ด้วยจตุตถฌาน ทรงก้าวล่วงรูปสัญญา ปฏิฆสัญญา และนานัตตสัญญา ด้วยอากาสานัญจายตนสมาบัติ ทรงก้าวล่วงอากาสานัญจายตนสัญญาด้วยวิญญาณัญจายตนสมาบัติ ทรงก้าวล่วงวิญญาณัญจายตนสัญญาด้วยอากิญจัญญายตนสมาบัติ ทรงก้าวล่วงอากิญจัญญายตนสัญญาด้วยเนวสัญญานาสัญญายตนสมาบัติ เสด็จไปแล้ว.
               ทรงละนิจจสัญญาด้วยอนิจจานุปัสสนา ทรงละสุขสัญญาด้วยทุกขานุปัสสนา ทรงละอัตตสัญญาด้วยอนัตตานุปัสสนา ทรงละนันทิ (ความเพลิดเพลิน) ด้วยนิพพิทานุปัสสนา ทรงละราคะด้วยวิราคานุปัสสนา ทรงละสมุทัยด้วยนิโรธานุปัสสนา ละความยึดมั่นด้วยอุปสมานุปัสสนา ทรงละฆนสัญญา (สำคัญว่าเป็นก้อน) ด้วยขยานุปัสสนา ทรงละอายูหนา (การประมวลมา) ด้วยวยานุปัสสนา ทรงละธุวสัญญา (สำคัญว่ายั่งยืน) ด้วยวิปริณามานุปัสสนา ทรงละนิมิตตสัญญาด้วยอนิมิตตานุปัสสนา ทรงละการตั้งมั่นแห่งกิเลสด้วยอัปปณิหิตานุปัสสนา ทรงละอภินิเวส (ยึดมั่น) ด้วยสุญญุตานุปัสสนา ทรงละสาราทานาภินิเวสะ (ยึดมั่นด้วยยึดถือว่าเป็นสาระ) ด้วยอธิปัญญาธรรมวิปัสสนา (การเห็นแจ้งธรรมด้วยปัญญาอันยิ่ง) ทรงละสัมโมหาภินิเวส (ยึดมั่นด้วยความลุ่มหลง) ด้วยยถาภูตญาณทัสสนะ ทรงละอาลยาภินิเวส (ยึดมั่นในอาลัย) ด้วยอาทีนวานุปัสสนา ละอัปปฏิสังขา (ไม่พิจารณา) ด้วยปฏิสังขานุปัสสนา ละสังโยคาภินิเวสะ (ยึดมั่นในการประกอบกิเลส) ด้วยวิวัฏฏานุปัสสนา ทรงละกิเลสอันตั้งอยู่ในฐานเดียวกับทิฏฐิด้วยโสดาปัตติมรรค ทรงละกิเลสหยาบด้วยสกทาคามิมรรค ทรงถอนกิเลสอย่างละเอียดด้วยอนาคามิมรรค ทรงตัดกิเลสทั้งปวงได้เด็ดขาดด้วยอรหัตตมรรค เสด็จไปแล้ว.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพระนามว่า ตถาคต เพราะเสด็จไปอย่างนั้น เป็นอย่างนี้.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพระนาม ตถาคต เพราะเสด็จมาถึงลักษณะที่แท้เป็นอย่างไร?
               ปฐวีธาตุมีลักษณะแข้นแข็งเป็นลักษณะแท้ ไม่แปรผัน อาโปธาตุมีลักษณะไหลเอิบอาบ เตโชธาตุมีลักษณะร้อน วาโยธาตุมีลักษณะเคลื่อนไปมา อากาศธาตุมีลักษณะที่สัมผัสถูกต้องไม่ได้ วิญญาณธาตุมีลักษณะรู้แจ้ง รูปมีลักษณะสลาย เวทนามีลักษณะเสวยอารมณ์ สัญญามีลักษณะจำอารมณ์ สังขารมีลักษณะปรุงแต่งอารมณ์ วิญญาณมีลักษณะรู้อารมณ์ วิตกมีลักษณะยกจิตขึ้นสู่อารมณ์ วิจารมีลักษณะตามเคล้าอารมณ์ ปีติมีลักษณะแผ่ไป สุขมีลักษณะสำราญ เอกัคคตาจิตมีลักษณะไม่ฟุ้งซ่าน ผัสสะมีลักษณะถูกต้องอารมณ์ สัทธินทรีย์มีลักษณะน้อมใจเชื่อ วิริยินทรีย์มีลักษณะประคองไว้ สตินทรีย์มีลักษณะบำรุง สมาธินทรีย์มีลักษณะไม่ฟุ้งซ่าน ปัญญินทรีย์มีลักษณะรู้ชัด
               สัทธาพละมีลักษณะไม่หวั่นไหวในความเชื่อ วิริยพละมีลักษณะไม่หวั่นไหวในความเกียจคร้าน สติพละมีลักษณะไม่หวั่นไหวในความเป็นผู้มีสติหลงลืม สมาธิพละมีลักษณะไม่หวั่นไหวในความฟุ้งซ่าน ปัญญาพละมีลักษณะไม่หวั่นไหวในอวิชชา สติสัมโพชฌงค์มีลักษณะบำรุง ธัมมวิจยสัมโพชฌงค์มีลักษณะเลือกเฟ้น วิริยสัมโพชฌงค์มีลักษณะประคอง ปีติสัมโพชฌงค์มีลักษณะแผ่ไป ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์มีลักษณะเข้าไปสงบ สมาธิสัมโพชฌงค์มีลักษณะไม่ฟุ้งซ่าน อุเบกขาสัมโพชฌงค์มีลักษณะพิจารณา
               สัมมาทิฏฐิมีลักษณะเห็น สัมมาสังกัปปะมีลักษณะยกจิตขึ้นสู่อารมณ์ สัมมาวาจามีลักษณะกำหนดถือเอา สัมมากัมมันตะมีลักษณะลุกขึ้นพร้อม สัมมาอาชีวะมีลักษณะผ่องแผ้ว สัมมาวายามะมีลักษณะประคอง สัมมาสติมีลักษณะบำรุง สัมมาสมาธิมีลักษณะไม่ฟุ้งซ่าน อวิชชามีลักษณะไม่รู้ สังขารมีลักษณะคิดนึก วิญญาณมีลักษณะรู้อารมณ์ นามมีลักษณะน้อมไป รูปมีลักษณะสลาย สฬายตนะมีลักษณะต่อกัน ผัสสะมีลักษณะถูกต้องอารมณ์ เวทนามีลักษณะเสวยอารมณ์ ตัณหามีลักษณะเป็นเหตุ อุปาทานมีลักษณะยึดถือ ภพมีลักษณะประมวลมา
               ชาติมีลักษณะบังเกิด ชรามีลักษณะทรุดโทรม มรณะมีลักษณะจุติไป ธาตุมีลักษณะว่าง อายตนะมีลักษณะต่อกัน สติปัฏฐานมีลักษณะบำรุง สัมมัปปธานมีลักษณะเริ่มตั้ง อิทธิบาทมีลักษณะสำเร็จ อินทรีย์มีลักษณะเป็นใหญ่ พละมีลักษณะไม่หวั่นไหว โพชฌงค์มีลักษณะนำออกจากทุกข์ มรรคมีลักษณะเป็นตัวเหตุ สัจจะมีลักษณะเป็นของแท้ สมถะมีลักษณะไม่ฟุ้งซ่าน วิปัสสนามีลักษณะตามเห็น สมถและวิปัสสนามีลักษณะแห่งกิจอันเดียวกัน ธรรมที่ขนานคู่กันมีลักษณะไม่กลับกลาย
               สีลวิสุทธิมีลักษณะสำรวม จิตตวิสุทธิมีลักษณะไม่ฟุ้งซ่าน ทิฏฐิวิสุทธิมีลักษณะเห็น ขยญาณ (ความรู้ในความสิ้นไป) มีลักษณะตัดขาด อนุปปาทญาณ (ความรู้ในความไม่เกิดขึ้น) มีลักษณะระงับ ฉันทะมีลักษณะเป็นมูลเค้า มนสิการมีลักษณะเป็นสมุฏฐานที่เกิดขึ้น ผัสสะมีลักษณะเป็นที่รวมกัน เวทนามีลักษณะประชุมลง สมาธิมีลักษณะเป็นประมุข สติมีลักษณะเป็นอธิปไตย ปัญญามีลักษณะยิ่งยวดกว่านั้น วิมุตติมีลักษณะเป็นสาระ นิพพพานที่หยั่งลงสู่อมตะมีลักษณะเป็นที่สุดสิ้น เป็นของแท้ ไม่แปรผัน ชื่อว่า ตถาคต เพราะเสด็จมาถึงลักษณะที่แท้ด้วยญาณคติ คือบรรลุไม่ผิดพลาด ด้วยประการอย่างนี้.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพระนามว่า ตถาคต เพราะเสด็จมาถึงลักษณะที่แท้เป็นอย่างนี้.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพระนามว่า ตถาคต เพราะตรัสรู้ธรรมที่แท้จริงตามความเป็นจริงอย่างไร?
               ชื่อว่าธรรมที่แท้จริง ได้แก่ อริยสัจ ๔. อย่างที่ตรัสไว้ว่า
               ภิกษุทั้งหลาย อริยสัจ ๔ เหล่านี้เป็นของแท้ ไม่ผิด ไม่กลายเป็นอย่างอื่น
               อริยสัจ ๔ อะไรบ้าง?
               ภิกษุทั้งหลาย ข้อนี้ว่า นี้ทุกข์ นั่นเป็นของแท้ นั่นไม่ผิด นั่นไม่กลายเป็นอย่างอื่น.
               พึงทราบความพิสดารต่อไป.
               ก็พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสรู้ยิ่งเอง ซึ่งอริยสัจ ๔ เหล่านั้น เพราะฉะนั้นจึงได้รับพระนามว่า ตถาคต เพราะตรัสรู้ธรรมที่แท้.
               ก็ คต ศัพท์ในที่นี้ มีตรัสรู้ยิ่งเองเป็นอรรถ.
               อีกอย่างหนึ่ง สภาวะชราและมรณะอันเกิดและประชุมขึ้นเพราะชาติเป็นปัจจัย เป็นความแท้ไม่แปรผัน ไม่เป็นอย่างอื่น ฯลฯ สภาวะสังขารทั้งหลายเกิดและประชุมขึ้นเพราะอวิชชาเป็นปัจจัย เป็นความแท้ไม่แปรผันไม่เป็นอย่างอื่น. สภาวะอวิชชาเป็นปัจจัยแก่สังขารทั้งหลายก็เหมือนกัน สภาวะที่สังขารเป็นปัจจัยแก่วิญญาณ ฯลฯ สภาวะชาติเป็นปัจจัยแก่ ชราและมรณะ, เป็นความแท้ไม่แปรผัน ไม่เป็นอย่างอื่น.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสรู้ธรรมที่แท้นั้นทั้งหมด แม้เพราะเหตุนั้นจึงเรียกว่า ตถาคต เพราะตรัสรู้ยิ่งเองซึ่งธรรมอันถ่องแท้.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพระนามว่า ตถาคต เพราะตรัสรู้ธรรมอันถ่องแท้ตามความเป็นจริง เป็นอย่างนี้.
               ชื่อว่า ตถาคต เพราะทรงเห็นอารมณ์ที่แท้จริง เป็นอย่างไร?
               พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงรู้ทรงเห็นรูปารมณ์ โดยอาการทุกอย่างที่มาปรากฏทางจักขุทวาร ของเหล่าสัตว์หาประมาณมิได้ ในโลกธาตุอันหาประมาณมิได้ ในโลกพร้อมด้วยเทวโลก ในหมู่สัตว์พร้อมด้วยเทวดาและมนุษย์.
               รูปารมณ์นั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงรู้เห็นอย่างนี้ ทรงจำแนกด้วยอำนาจอิฏฐารมณ์และอนิฏฐารมณ์เป็นต้นก็ดีด้วยอำนาจร่องรอย, ที่ได้ในการเห็น ได้ยิน ทราบและรู้แจ้งก็ดี โดยชื่อมิใช่น้อย โดยวาระ ๑๓ โดยนัย ๕๒ ตามนัยมีอาทิว่า รูปใด เพราะอาศัยมหาภูตรูป ๔ มีสีและแสง เห็นได้ กระทบได้ เป็นสีเขียว สีเหลือง รูปนั้นคือรูปายตนะ เป็นไฉน ดังนี้ เป็นของแท้ทั้งนั้น ไม่แท้ไม่มี.
               แม้ในสัททารมณ์เป็นต้นที่มาปรากฏ แม้ในโสตทวารเป็นต้นก็นัยนี้.
               สมจริงดังคำที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า
               ภิกษุทั้งหลาย อารมณ์ใดอันชาวโลกพร้อมด้วยเทวโลก ฯลฯ อันหมู่สัตว์พร้อมด้วยเทวดาและมนุษย์เห็นแล้ว ได้ฟังแล้ว ทราบแล้ว รู้แจ้งแล้ว ถึงแล้ว แสวงหาแล้ว พิจารณาแล้ว ย่อมรู้อารมณ์นั้น เรารู้ยิ่งอารมณ์นั้นแล้วด้วยใจ อารมณ์นั้น ตถาคตรู้แจ้งแล้ว อารมณ์นั้นปรากฏแก่ตถาคตแล้ว. ชื่อว่า ตถาคต เพราะทรงเห็นอารมณ์ที่แท้จริงด้วยประการฉะนี้.
               พึงทราบการเกิดแห่งบทว่า ตถาคต (ผู้ทรงเห็นอารมณ์ที่แท้จริง)
               ชื่อว่า ตถาคต เพราะมีพระวาจาที่แท้จริง เป็นอย่างไร?
               ราตรีใด พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับนั่งอปราชิตบัลลังก์ ณ โพธิมัณฑสถาน ทรงย่ำยีกระหม่อมของมารทั้ง ๓ ตรัสรู้ยิ่งเองซึ่งพระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ และราตรีใดเสด็จปรินิพพานด้วยอนุปาทิเสสนิพพานธาตุ ระหว่างต้นสาละทั้งคู่ ในระหว่างราตรีนั้น ในเวลาที่พระองค์มีพรรษาประมาณ ๔๕ พรรษา พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสพุทธพจน์อันใด ในปฐมโพธิกาลบ้าง มัชฌิมโพธิกาลบ้าง ปัจฉิมโพธิกาลบ้าง คือ สุตตะ เคยยะ ฯลฯ เวทัลละ.
               พระพุทธพจน์ทั้งหมดนั้น ใครๆ ตำหนิไม่ได้ ทั้งโดยอรรถและโดยพยัญชนะ ไม่ขาดไม่เกิน บริบูรณ์ด้วยอาการทั้งปวง เป็นเครื่องย่ำยีราคะ ในพระพุทธพจน์นั้นไม่มีความผิดพลาดแม้เพียงปลายขนทราย. พระพุทธพจน์ทั้งหมดนั้นเหมือนประทับไว้ด้วยตราอันเดียวกัน เหมือนตวงด้วยทะนานเดียวกัน และเหมือนชั่งด้วยตาชั่งอันเดียวกัน จึงเป็นของแท้แน่นอนทั้งนั้น ไม่มีที่ไม่แท้.
               ด้วยเหตุนั้น พระองค์จึงตรัสว่า
               ดูก่อนจุนทะ ตถาคตตรัสรู้ยิ่งเองซึ่งอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณในราตรีใด และปรินิพพานด้วยอนุปาทิเสสนิพพานธาตุในราตรีใด ระหว่างราตรีนั้น ได้ภาษิต ได้กล่าว ชี้แจงคำพูดอันใด อันนั้นเป็นของแท้อย่างเดียว ไม่กลายเป็นอย่างอื่น เพราะฉะนั้นจึงเรียกว่า ตถาคต.
               จริงอยู่ คตศัพท์ ในบทว่า ตถาคโต นี้ มีคทเป็นอรรถ.
               ชื่อว่า ตถาคต เพราะมีพระวาจาที่แท้จริง ด้วยประการอย่างนี้.
               อีกอย่างหนึ่ง การพูด อธิบายว่า การกล่าว ชื่อว่า อาคทะ. การตรัสของพระองค์เป็นจริง ไม่วิปริต เพราะเหตุนั้น จึงชื่อว่า ตถาคต เพราะแปลง เป็น . พึงทราบการเชื่อมบทในอรรถนั้น ด้วยประการฉะนี้แล.
               ชื่อว่า ตถาคต เพราะเป็นผู้มีปกติกระทำอย่างที่ตรัสนั้นเป็นอย่างไร?
               เพราะว่า พระกายของพระผู้มีพระภาคเจ้าย่อมอนุโลมแก่พระวาจา แม้พระวาจาก็อนุโลมแก่พระกาย เพราะเหตุนั้น พระองค์ตรัสอย่างใดก็ทรงกระทำอย่างนั้น และทรงกระทำอย่างใดก็ตรัสอย่างนั้น. ก็พระวาจาของพระองค์ผู้เป็นอย่างนั้นตรัสอย่างใด แม้พระกายก็ไปอย่างนั้น. อธิบายว่า ดำเนินไปอย่างนั้น.
               อนึ่ง พระกายทรงกระทำอย่างใด แม้พระวาจาก็ตรัสอย่างนั้น เพราะเหตุนั้น จึงชื่อว่า ตถาคต. ด้วยเหตุนั้นนั่นแล พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า ภิกษุทั้งหลาย ตถาคตพูดอย่างใด กระทำอย่างนั้น กระทำอย่างใดก็พูดอย่างนั้น เพราะฉะนั้น จึงเรียกว่า ตถาคต.
               ชื่อว่า ตถาคต เพราะเป็นผู้มีปกติกระทำอย่างที่ตรัสนั้น ด้วยประการฉะนี้.
               ชื่อว่า ตถาคต เพราะอรรถครอบงำได้เป็นอย่างไร?
               เพราะพระองค์ทรงครอบงำสัตว์ทั้งปวงในโลกธาตุหาประมาณมิได้ เบื้องบนถึงภวัคคพรหม เบื้องต่ำถึงอเวจีมหานรก เบื้องขวางกำหนดที่สุดรอบๆ ด้วยศีลบ้าง สมาธิบ้าง ปัญญาบ้าง วิมุตติบ้าง พระองค์ไม่มีการชั่งหรือการนับ พระองค์ชั่งไม่ได้ นับไม่ได้ เป็นผู้ยอดเยี่ยมเป็นพระราชาแห่งพระราชา เป็นเทพแห่งเทพ เป็นสักกะยอดแห่งเหล่าสักกะ เป็นพรหมยอดแห่งเหล่าพรหม ด้วยเหตุนั้น พระองค์จึงตรัสว่า ภิกษุทั้งหลาย ตถาคตเป็นผู้ครอบงำหมู่สัตว์ในโลก พร้อมด้วยเทวโลก ฯลฯ พร้อมด้วยเทวดาและมนุษย์ อันใครๆ ครอบงำมิได้ เป็นผู้เห็นโดยแท้ ทำให้ผู้อื่นอยู่ในอำนาจ เพราะฉะนั้น จึงเรียกว่า ตถาคต.
               พึงทราบบทสนธิ ในคำว่า ตถาคโต นั้นอย่างนี้ :-
               การตรัส (พึงเห็น) เหมือนยาอันประเสริฐ.
               ก็การตรัสนั้นคืออะไร? คือความงดงามแห่งเทศนา และความพอกพูนขึ้นแห่งบุญ. เพราะเหตุนั้นนั่นแล พระองค์จึงทรงครอบงำคนผู้เป็นปรัปปวาททั้งหมด และสัตวโลกพร้อมด้วยเทวโลก เหมือนหมอผู้มีอำนาจมากครอบงำงูทั้งหลายด้วยยาทิพย์ ฉะนั้น. ดังนั้น พระองค์มีการตรัสคือความงดงามแห่งเทศนา และความพอกพูนขึ้นแห่งบุญ อันเป็นจริง ไม่วิปริต เพราะทรงครอบงำสัตวโลกได้ เพราะเหตุนั้น พึงทราบว่า ตถาคต เพราะแปลง . อักษร เป็น . อักษร.
               ชื่อว่า ตถาคต เพราะอรรถว่าทรงครอบงำด้วยประการฉะนี้.
               อีกอย่างหนึ่ง ชื่อว่า ตถาคต เพราะเสด็จไปด้วยความจริง. เพราะทรงถึงซึ่งความจริง ดังนี้ก็มี. อธิบายว่า ตรัสรู้ ทรงล่วงแล้ว ทรงบรรลุ ทรงดำเนินไป.
               ในบรรดาคำเหล่านั้น ชื่อว่า ตถาคต เพราะเสด็จไป คือตรัสรู้โลกทั้งสิ้นด้วยความจริง คือตีรณปริญญา. ชื่อว่า ตถาคต เพราะเสด็จไป คือทรงล่วงโลกสมุทัยด้วยความจริง คือปหานปริญญา. ชื่อว่า ตถาคต เพราะเสด็จไป คือบรรลุการดับสนิทแห่งโลกด้วยความจริง คือสัจฉิกิริยา. ชื่อว่า ตถาคต เพราะเสด็จไปคือดำเนินไปสู่ความจริง คือปฏิปทาอันยังสัตว์ให้ถึงความดับโลก.
               ด้วยเหตุนั้น จึงตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย โลกอันตถาคตตรัสรู้ยิ่งแล้ว ตถาคตไม่ประกอบแล้วในโลก ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย โลกสมุทัย ตถาคตตรัสรู้ยิ่งแล้ว โลกสมุทัยอันตถาคต ละได้แล้ว ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย โลกนิโรธอันตถาคตตรัสรู้ยิ่งแล้ว โลกนิโรธอันตถาคตกระทำให้แจ้งแล้ว ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย โลกนิโรธคามินีปฏิปทาอันตถาคตตรัสรู้ยิ่งแล้ว เจริญแล้ว ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สัจจะใดแห่งโลก พร้อมทั้งเทวโลก ฯลฯ สัจจะทั้งหมดอันตถาคตตรัสรู้ยิ่งแล้ว เพราะฉะนั้น จึงเรียกว่า ตถาคต.
               อรรถแห่งคำว่า ตถาคตนั้น บัณฑิตพึงทราบแม้ด้วยประการอย่างนี้.
               แม้คำนี้ก็เป็นเพียงแนวทางในการแสดงความที่ตถาคตเป็นตถาคต. พระตถาคตเท่านั้นจึงจะพรรณนาความที่ตถาคตเป็นตถาคตได้ ครบถ้วนทุกประการ.
               ก็ใน ๒ บทว่า อรหํ สมฺมาสมฺพุทโธ อันดับแรก พึงทราบว่า อรหํ ด้วยเหตุเหล่านี้ คือเพราะเป็นผู้ไกลข้าศึกคือกิเลส เพราะเป็นผู้หักกำกงแห่งสังสารจักรเสียได้ เพราะควรแก่สักการะมีปัจจัยเป็นต้น และเพราะไม่มีความลับในการทำชั่ว.
               ส่วนที่ชื่อว่าสัมมาสัมพุทธะ เพราะตรัสรู้ธรรมทั้งปวงโดยชอบและด้วยพระองค์เอง.
               ความสังเขปในข้อนี้มีเท่านี้.
               ทั้ง ๒ บทนี้ กล่าวไว้โดยพิสดารในการพรรณนาพุทธานุสสติ ในคัมภีร์วิสุทธิมรรคแล.
               จบอรรถกถาสูตรที่ ๑               

.. อรรถกถา อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต เอกบุคคลบาลี
อ่านอรรถกถาหน้าต่างที่ [๑] [๒]
อ่านอรรถกถา 20 / 1อ่านอรรถกถา 20 / 135อรรถกถา เล่มที่ 20 ข้อ 139อ่านอรรถกถา 20 / 146อ่านอรรถกถา 20 / 596
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=20&A=585&Z=627
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=14&A=2013
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=14&A=2013
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๒๒  ธันวาคม  พ.ศ.  ๒๕๔๙
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :