ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 

อ่าน อรรถกถาหน้าต่างที่ [หน้าสารบัญ] [๑] [๒] [๓] [๔] [๕] [๖] [๗] [๘] [๙] [๑๐] [๑๑] [๑๒]อ่านอรรถกถา 20 / 1อ่านอรรถกถา 20 / 148อรรถกถา เล่มที่ 20 ข้อ 149อ่านอรรถกถา 20 / 150อ่านอรรถกถา 20 / 596
อรรถกถา อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต เอตทัคคบาลี
วรรคที่ ๔

หน้าต่างที่ ๓ / ๑๒.

               อรรถกถาสูตรที่ ๓               
               ประวัติพระกาฬุทายีเถระ               
               ในสูตรที่ ๓ พึงทราบวินิจฉัยดังต่อไปนี้.
               บทว่า กุลปฺปสาทกานํ ได้แก่ ผู้ทำสกุลให้เลื่อมใส.
               แท้จริง พระเถระนี้ทำราชนิเวศน์ของพระเจ้าสุทโธทนมหาราชผู้ยังไม่พบพระพุทธเจ้าเท่านั้นให้เลื่อมใส เพราะเหตุนั้น ท่านจึงเป็นยอดของภิกษุสาวกผู้ทำสกุลให้เลื่อมใส.
               ในปัญหากรรมของท่าน มีเรื่องที่จะกล่าวตามลำดับ ดังนี้.
               ครั้งพระพุทธเจ้าพระนามว่าปทุมุตตระ พระเถระนี้บังเกิดในเรือนสกุล ณ กรุงหงสวดี กำลังฟังธรรมเทศนาของพระศาสดา เห็นพระศาสดาทรงสถาปนาภิกษุรูปหนึ่งไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะ เป็นยอดของภิกษุสาวกผู้ทำสกุลให้เลื่อมใส จึงกระทำกุศลกรรมให้ยิ่งยวดขึ้นไปแล้ว ปรารถนาตำแหน่งนั้น ท่านกระทำกุศลตลอดชีวิต เวียนว่ายอยู่ในเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย ถือปฏิสนธิในเรือนของอมาตย์ ณ กรุงกบิลพัสดุ ในวันที่พระโพธิสัตว์ของเราทรงถือปฏิสนธิในครรภ์ของพระมารดา ในวันเกิดก็เกิดพร้อมกับพระโพธิสัตว์แล ในวันนั้น ญาติทั้งหลายก็ให้นอนบนเครื่องรองรับคือผ้าแล้วนำไปถวายตัวเพื่อรับใช้พระโพธิสัตว์.
               ต้นโพธิพฤกษ์ พระมารดาของพระราหุล ขุมทรัพย์ทั้ง ๔ ช้างทรง ม้ากัณฐกะ นายฉันนะ อมาตย์กาฬุทายี รวมเป็น ๗ นี้ ชื่อว่าสัตตสหชาต เพราะเกิดวันเดียวกับพระโพธิสัตว์.
               ในวันขนานนามทารกนั้น เหล่าญาติตั้งชื่อว่าอุทายี เพราะเกิดในวันที่ชาวนครทั่วไปมีจิตใจฟูขึ้น (สูง). แต่เพราะเขาเป็นคนดำนิดหน่อย จึงเกิดชื่อว่า กาฬุทายี. กาฬุทายีนั้นเล่นของเล่นสำหรับเด็กชายกับพระโพธิสัตว์จนเจริญวัย. ต่อมา พระโพธิสัตว์เสด็จออกมหาภิเนษกรมณ์ บรรลุพระสัพพัญญุตญาณตามลำดับ ทรงประกาศธรรมจักรอันประเสริฐ ทรงกระทำการอนุเคราะห์โลก ทรงอาศัยกรุงราชคฤห์ประทับอยู่.
               สมัยนั้น พระเจ้าสุทโธทนมหาราชทรงสดับว่า สิทธัตถกุมารบรรลุอภิสัมโพธิญาณ อาศัยกรุงราชคฤห์ประทับอยู่ ณ พระเวฬุวันวิหาร จึงทรงส่งอำมาตย์ผู้หนึ่งมีบุรุษพันคนเป็นบริวารไปด้วยพระดำรัสสั่งว่า เจ้าจงนำโอรสของเรามาในที่นี้. อำมาตย์นั้นเดินไป ๖๐ โยชน์เข้าไปยังพระวิหาร ในเวลาที่พระทศพลประทับนั่งกลางบริษัท ๔ ทรงแสดงธรรม. อำมาตย์นั้นคิดว่า ข่าวสาส์นที่พระราชาทรงส่งไปพักไว้ก่อน แล้วยืนท้ายบริษัทฟังพระธรรมเทศนาของพระศาสดา ก็บรรลุพระอรหัตพร้อมกับบุรุษพันคน ตรงที่ยืนอยู่นั่นแหละ
               ครั้งพระศาสดาทรงเหยียดพระหัตถ์แก่อำมาตย์และบุรุษพันคนนั้น ด้วยพระดำรัสว่า พวกเธอจงเป็นภิกษุเถิด. ทันใดนั้นเอง ทุกคนก็ทรงบาตรและจีวรสำเร็จมาแต่ฤทธิ์ ได้เป็นเหมือนพระเถระร้อยพรรษา นับแต่เวลาบรรลุพระอรหัตกันแล้ว ธรรมดาว่าพระอริยะทั้งหลายย่อมเป็นผู้วางเฉย เพราะฉะนั้น อำมาตย์นั้นจึงไม่ได้ทูลข่าวสาส์นที่พระราชาทรงส่งไปแด่พระทศพล.
               พระราชาทรงพระดำริว่า อำมาตย์ยังไม่กลับมาจากที่นั้น ข่าวคราวก็ไม่ได้ยิน จึงทรงส่งอำมาตย์คนอื่นๆ ไปโดยทำนองนั้นนั่นแล. อำมาตย์แม้นั้นไปแล้วก็บรรลุพระอรหัตพร้อมกับบริษัทโดยนัยก่อนนั่นแหละ แล้วก็นิ่งเสีย ทรงส่งบุรุษเก้าพันคนพร้อมกับอำมาตย์เก้าคน ด้วยประการฉะนี้ ทุกๆ คนสำเร็จกิจของตนแล้วก็นิ่งเสีย.
               ครั้งนั้น พระราชาทรงพระดำริว่า คนมีจำนวนเท่านี้ไม่บอกอะไรแก่พระทศพล เพื่อเสด็จมาในที่นี้เพราะเขาไม่รักเรา คนอื่นๆ แม้ไปก็คงจักไม่สามารถนำพระทศพลมาได้ แต่อุทายีบุตรของเรา ปีเดียวกับพระทศพล โดยเล่นฝุ่นด้วยกันมา เขาคงรักเราบ้าง จึงโปรดให้เรียกตัวมาแล้วตรัสสั่งว่า ลูกเอ๋ย เจ้ามีบุรุษพันคนเป็นบริวาร จงไปนำพระทศพลมา.
               กาฬุทายีกราบทูลว่า ข้าแต่เทวะ ข้าพระบาทได้บรรพชาเหมือนพวกบุรุษที่ไปกันครั้งแรก จึงจักนำมา พระเจ้าข้า. รับสั่งว่า เจ้าทำกิจอย่างใดอย่างหนึ่งแล้วจงนำลูกของเรามาก็แล้วกัน.
               กาฬุทายีรับราชโองการว่า ดีละ พระเจ้าข้า แล้วถือสาส์นของพระราชาไปกรุงราชคฤห์ ยืนฟังธรรมท้ายบริษัท ในเวลาพระศาสดาทรงแสดงธรรมแล้วบรรลุพระอรหัต ดำรงอยู่โดยเป็นเอหิภิกขุ พร้อมทั้งบริวาร.
               ต่อนั้นก็ดำริว่า ยังไม่เป็นกาละเทศะที่พระทศพลจะเสด็จไปยังนครแห่งสกุล ต่อสมัยวสันตฤดู (ฤดูใบไม้ผลิ) เมื่อไพรสณฑ์มีดอกไม้บานสะพรั่ง แผ่นดินคลุมด้วยหญ้าสด จึงจักเป็นกาละเทศะ จึงรอเวลาอยู่. รู้ว่ากาละเทศะมาถึงแล้ว จึงทูลพรรณนาหนทาง เพื่อพระทศพลเสด็จดำเนินไปยังนครแห่งสกุล ด้วยคาถาประมาณ ๖๐ คาถาเป็นต้นว่า
                         นาติสีตํ นาติอุณฺหํ    นาติทุพฺภิกขฉาตกํ
                         สทฺทสา หริตา ภูมิ    เอส กาโล มหามุนิ
                         ข้าแต่พระมหามุนี สถานที่ไม่เย็นจัด ไม่ร้อนจัด มิใช่
                         สถานที่หาอาหารยากและอดอยาก พื้นแผ่นดินเขียวขจี
                         ชอุ่มด้วยหญ้า นี่เป็นกาลสมควร.

               พระศาสดาทรงทราบว่า อุทายีกล่าวสรรเสริญการเดินไปว่าเป็นกาละเทศะที่จะเสด็จดำเนินไปยังกรุงกบิลพัสดุ์ มีภิกษุสองหมื่นรูปเป็นบริวาร เสด็จออกจาริกด้วยการทรงดำเนินไปแบบไม่รีบด่วน.
               พระอุทายีเถระทราบว่า พระศาสดาเสด็จออกไปแล้ว คิดว่าควรจะถวายความเข้าพระหฤทัยแต่พระมหาราชเจ้าพุทธบิดา จึงเหาะไปปรากฏ ณ พระราชนิเวศน์ของพระราชา พระราชาทอดพระเนตรเห็นพระเถระ ก็มีพระหฤทัยยินดี นิมนต์ให้นั่งบนบัลลังก์ (แท่น) ที่สมควรใหญ่ บรรจุบาตรให้เต็มด้วยโภชนะรสเลิศต่างๆ แล้วถวาย
               พระเถระลุกขึ้นแสดงอากัปปกิริยาว่าจะไป ท้าวเธอจึงตรัสว่า นิมนต์นั่งฉันสิลูกเอ๋ย ท่านทูลว่า มหาบพิตร อาตมภาพจักไปฉัน ณ สำนักพระศาสดา. ตรัสถามว่า ก็พระศาสดาอยู่ไหนล่ะพ่อเอ๋ย. ท่านทูลว่ามหาบพิตร พระศาสดามีภิกษุสองหมื่นเป็นบริวาร เสด็จออกจาริกเพื่อเยือนมหาบพิตรแล้ว ตรัสว่า ลูกฉันบิณฑบาตนี้แล้ว โปรดนำบิณฑบาตนอกจากนี้ไปถวาย จนกว่าลูกของโยมจะมาถึงนครนี้. พระเถระรับอาหารที่จะพึงนำไปถวายพระทศพล แล้วกล่าวธรรมกถา ทำพระราชนิเวศน์ทั้งสิ้นให้ได้ศรัทธา โดยยังไม่ทันเห็นพระทศพลเลย เมื่อทุกคนเห็นอยู่นั่นแล ก็โยนบาตรขึ้นไปในอากาศ แม้ตนเองก็เหาะไปนำบิณฑบาตไปวางไว้ที่พระหัตถ์ของพระศาสดา.
               พระศาสดาก็เสวยบิณฑบาตนั้นทุกๆ วัน พระเถระนำอาหารจากพระราชนิเวศน์มาถวายแต่พระศาสดา ซึ่งกำลังเสด็จดำเนินทาง ๖๐ โยชน์ ตลอดทางโยชน์หนึ่งเป็นอย่างยิ่ง.
               พึงทราบเรื่องดังกล่าวมาฉะนี้
               ต่อมาภายหลัง พระศาสดาทรงดำริว่า อุทายีทำพระราชนิเวศน์ทั้งสิ้นของพระมหาราชบิดาของเราให้เลื่อมใสแล้ว จึงทรงสถาปนาพระเถระไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะเป็นยอดของเหล่าภิกษุสาวกผู้ทำสกุลให้เลื่อมใสแล.

               จบอรรถกถาสูตรที่ ๓               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต เอตทัคคบาลี วรรคที่ ๔
อ่านอรรถกถาหน้าต่างที่ [หน้าสารบัญ] [๑] [๒] [๓] [๔] [๕] [๖] [๗] [๘] [๙] [๑๐] [๑๑] [๑๒]
อ่านอรรถกถา 20 / 1อ่านอรรถกถา 20 / 148อรรถกถา เล่มที่ 20 ข้อ 149อ่านอรรถกถา 20 / 150อ่านอรรถกถา 20 / 596
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=20&A=675&Z=693
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=14&A=6083
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=14&A=6083
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๑  มกราคม  พ.ศ.  ๒๕๕๐
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :