ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 

อ่าน อรรถกถาหน้าต่างที่ [หน้าสารบัญ] [๑] [๒] [๓] [๔] [๕] [๖] [๗] [๘] [๙] [๑๐]อ่านอรรถกถา 20 / 1อ่านอรรถกถา 20 / 147อรรถกถา เล่มที่ 20 ข้อ 148อ่านอรรถกถา 20 / 149อ่านอรรถกถา 20 / 596
อรรถกถา อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต เอตทัคคบาลี
วรรคที่ ๓

หน้าต่างที่ ๓ / ๑๐.

               อรรถกถาสูตรที่ ๓               
               ประวัติพระโกณฑธานเถระ               
               พึงทราบวินิจฉัยในสูตรที่ ๓ (เรื่องพระโกณฑธานะ) ดังต่อไปนี้.
               ด้วยบทว่า ปฐมสลากํ คณฺหนฺตานํ พระศาสดาทรงแสดงว่า พระโกณฑธานเถระเป็นยอดของเหล่าภิกษุผู้จับสลากได้ก่อนภิกษุอื่นทั้งหมด.
               ได้ยินมาว่า พระเถระนั้นเมื่อพระตถาคตเสด็จไปอุคคนคร ในวันที่นางมหาสุภัททานิมนต์ เมื่อภิกษุบอกกล่าวว่า วันนี้ พระศาสดาจักเสด็จภิกขาจารไกล ภิกษุปุถุชนอย่าจับสลาก พระขีณาสพ ๕๐๐ รูปจงจับ, ก็บันลือสีหนาทจับสลากได้ที่ ๑ ทีเดียว. เมื่อพระตถาคตเสด็จไปเมืองสาเกตในวันที่นางจุลลสุภัททานิมนต์ ก็จับสลากได้เป็นที่ ๑ เหมือนกัน ในระหว่างภิกษุ ๕๐๐ รูป. แม้ในคราวเสด็จไปยังชนบทสุนาปรันตปะก็เหมือนกัน ด้วยเหตุเหล่านี้ พระเถระจึงชื่อว่าเป็นยอดของเหล่าภิกษุผู้จับสลากได้ที่ ๑.
               อนึ่ง คำว่า กุณฑธาน เป็นชื่อของท่าน
               ในปัญหากรรมของท่านมีเรื่องที่จะกล่าวตามลำดับดังต่อไปนี้:-
               ได้ยินว่า ครั้งพระปทุมุตตรพุทธเจ้า พระเถระนี้บังเกิดในเรือนของครอบครัวกรุงหงสวดี ไปวิหารฟังธรรมโดยนัยดังกล่าวแล้วนั่นแหละ เห็นพระศาสดาทรงสถาปนาภิกษุรูปหนึ่งไว้ในตำแหน่งเป็นยอดของเหล่าภิกษุผู้จักสลากได้ที่ ๑ จึงกระทำกุศลกรรมแด่พระพุทธเจ้าปรารถนาตำแหน่งนั้น ผู้อันพระศาสดาทรงเห็นว่าหาอันตรายมิได้จึงพยากรณ์แล้วบำเพ็ญกุศลตลอดชีพ เวียนว่ายอยู่ในเทวดาและมนุษย์ ครั้งพระกัสสปพุทธเจ้า ก็บังเกิดเป็นภุมมเทวดา.
               ก็ธรรมดาว่าพระพุทธเจ้าผู้มีพระชนมายุยืน มิได้ทำอุโบสถทุกกึ่งเดือน. คือพระวิปัสสีทศพล ในระหว่าง ๖ ปีจึงมีอุโบสถครั้งหนึ่ง ส่วนพระกัสสปทศพลทรงให้สวดพระปาฏิโมกข์ทุกๆ ๖ เดือน.
               ในวันสวดปาฏิโมกข์นั้น ภิกษุ ๒ รูปผู้อยู่ในทิศมาด้วยตั้งใจว่าจะกระทำอุโบสถ. ภุมมเทวดานี้คิดว่าความมีไมตรีของภิกษุ ๒ รูปนี้มั่นคงเหลือเกิน เมื่อมีคนทำให้แตกแยกกัน ท่านจะแตกกันหรือไม่แตกกันหนอ จึงคอยหาโอกาสของภิกษุทั้งสองนั้น เดินไปใกล้ๆ ภิกษุทั้งสองนั้น.
               ครั้งนั้น พระเถระรูปหนึ่งฝากบาตรและจีวรไว้กับพระเถระอีกรูปหนึ่ง ไปยังที่ๆ มีความผาสุกด้วยน้ำเพื่อชำระล้างสรีระ ครั้งล้างมือล้างเท้าแล้วก็ออกมาจากร่มไม้ที่ถูกใจ. ภุมมเทวดาแปลงเป็นหญิงมีรูปร่างงามอยู่ข้างหลังพระเถระนั้น จึงทำให้เสมือนผมยุ่งแล้วจัดผมเสียใหม่ ทำเป็นปัดฝุ่นข้างหลัง แล้วจัดผ้านุ่งเสียใหม่ เดินสะกดรอยพระเถระออกจากพุ่มไม้มายืนอยู่ ณ ที่สมควรส่วนหนึ่ง.
               พระเถระผู้เป็นสหายเห็นเหตุการณ์นี้จึงเกิดความโทมนัสคิดว่า ความเยื่อใยที่ติดตามกันมาเป็นเวลานานภิกษุนี้ของเรามาฉิบหายเสียแล้วในบัดนี้ ถ้าหากเรารู้เช่นเห็นชาติอย่างนี้ เราจะไม่ทำความคุ้นเคยกับภิกษุนี้ให้เนิ่นนานถึงเพียงนี้. พอพระเถระนั้นมาถึงเท่านั้นก็พูดว่า เชิญเถอะอาวุโส นี่บาตรจีวรของท่าน เราไม่เดินทางเดียวกันกับสหายเช่นท่าน.
               ครั้นได้ฟังถ้อยคำนั้น หทัยของภิกษุผู้มีความละอายนั้น เหมือนกับถูกหอกคมทิ่มแทงเอาแล้วฉะนั้น แต่นั้นท่านจึงกล่าวกะพระเถระนั้นว่า อาวุโส ท่านพูดอะไรอย่างนี้ ผมไม่รู้อาบัติแม้เพียงทุกกฏมาตลอดกาลเพียงนี้ ก็ท่านพูดว่าข้าพเจ้าเป็นคนชั่วในวันนี้ ท่านเห็นอะไรหรือ?
               พระเถระนั้นกล่าวว่า จะประโยชน์อะไรด้วยกรรมอื่นที่เราเห็นแล้ว ท่านออกมาอยู่ในที่เดียวกับผู้หญิงที่แต่งตัวอย่างนี้ๆ เพราะเหตุไร. พระเถระนั้นจึงตอบว่า อาวุโส กรรมนั้นของข้าพเจ้าไม่มี ข้าพเจ้ามิได้เห็นผู้หญิงเห็นปานนี้. แม้ท่านจะกล่าวอยู่ถึง ๓ ครั้ง พระเถระอีกรูปหนึ่งก็มิได้เชื่อถ้อยคำ ถือเอาเหตุที่ตนเห็นแล้วเท่านั้นเป็นสำคัญ ไม่เดินทางเดียวกับพระเถระนั้น ไปเฝ้าพระศาสดาโดยทางอื่น. แม้ภิกษุอีกรูปหนึ่งก็ไปเฝ้าพระศาสดาโดยทางอื่นเหมือนกัน.
               แต่นั้นเวลาภิกษุสงฆ์ลงอุโบสถ ภิกษุนั้นจำภิกษุนั้นได้ในโรงอุโบสถจึงกล่าวว่า ในโรงอุโบสถนี้มีภิกษุลามกชื่อนี้ เราไม่กระทำอุโบสถร่วมกับภิกษุนั้น จึงออกไปยืนอยู่ข้างนอก.
               ภุมมเทวดาคิดว่าเราทำกรรมหนักแล้ว จึงแปลงเป็นอุบาสกแก่ไปหาภิกษุนั้น กล่าวว่า เหตุไร ท่านจึงมายืนอยู่ในที่นี้. พระเถระกล่าวว่า อุบาสก ก็ภิกษุลามกเข้ามายังโรงอุโบสถนี้ อาตมาจะไม่ทำอุโบสถร่วมกับภิกษุลามกนั้นจึงออกมายืนอยู่ข้างนอก.
               อุบาสกแก่นั้นกล่าวว่า ท่านเจ้าข้า อย่าถืออย่างนั้นเลย ภิกษุนี้เป็นผู้มีศีลบริสุทธิ์ ผมคือผู้หญิงที่ท่านเห็นนั้น ผมแลเห็นความดีความละอายและความไม่ละอายกระทำกรรมแล้วด้วยคิดว่า ความไมตรีของพระเถระนี้มั่นคงหรือไม่มั่นคง ก็เพื่อทดลองท่านทั้งหลายดู.
               ภิกษุนั้นถามว่า สัปบุรุษ ก็ท่านเป็นใคร. อุบาสกแก่ตอบว่า ผมเป็นภุมมเทวดาเจ้าข้า.
               เทวบุตร ทั้งที่ยืนกล่าวอยู่ด้วยอานุภาพอันเป็นทิพย์หมอบลงแทบเท้าของพระเถระกล่าวว่า ขอจงอดโทษนั้นแก่ข้าพเจ้า พระเถระไม่รู้เรื่อง โปรดทำอุโบสถเถิด วิงวอนให้พระเถระเข้าไปสู่โรงอุโบสถแล้ว
               พระเถระนั้นกระทำอุโบสถในที่เดียวกันก่อน แล้วก็อยู่ในที่เดียวกันกับพระเถระนั้น ด้วยอำนาจแห่งการผูกไมตรีอีกด้วยแล. กรรมของพระเถระนี้ท่านมิได้กล่าวไว้ ส่วนภิกษุผู้ถูกโจทย์บำเพ็ญวิปัสสนาต่อๆ มาได้บรรลุพระอรหัตแล้ว.
               ภุมมเทวดาก็ไม่พ้นภัยในอบายตลอดพุทธันดรหนึ่ง เพราะผลของกรรมนั้น แต่ถ้ามาเกิดเป็นมนุษย์ตามสมควรแต่กาล โทษที่คนอื่นจะเป็นผู้ใดก็ตามกระทำ ก็ตกอยู่แก่เขาเท่านั้น ท่านบังเกิดในครอบครัวพราหมณ์ในกรุงสาวัตถี ครั้งพระผู้มีพระภาคเจ้าของเรา พวกของท่านตั้งชื่อท่านว่า ธานมาณพ.
               ธานมาณพนั้นเจริญวัยแล้วเรียนไตรเพท ในเวลาแก่ฟังธรรมของพระศาสดาได้ศรัทธาแล้วบวช ตั้งแต่วันที่ท่านบวชแล้ว หญิงผู้แต่งตัวคนหนึ่ง เมื่อท่านเข้าบ้านก็เข้าไปกับท่านด้วย เมื่อออกก็ออกด้วย แม้เมื่อเข้าวิหารก็เข้าด้วย แม้เมื่อยืนก็ยืนอยู่ด้วยดังนั้นย่อมปรากฏว่าติดพันอยู่เป็นนิตย์อย่างนี้. พระเถระก็ไม่เห็น แต่ด้วยผลของกรรมเก่าของพระเถระนั้น หญิงนั้นจึงปรากฏแก่คนอื่นๆ
               หญิงทั้งหลายที่ถวายข้าวยาคู และภิกษาในบ้านก็ทำการเย้ยหยันว่า ท่านเจ้าขา ข้าวยาคูกระบวยหนึ่งนี้ สำหรับท่าน อีกกระบวยหนึ่งนี้สำหรับเพื่อนหญิงของท่าน. พระเถระจึงมีความเดือดร้อนรำคาญอย่างใหญ่ สามเณรและภิกษุหนุ่มต่างแวดล้อมท่าน แม้ไปวิหารก็ทำการหัวเราะเยาะว่า พระธานะเป็นคนชั่ว. (ธาโน โกณฺโฑ ชาโต)
               ภายหลังท่านมีชื่อว่า โกณฑธานเถระ เพราะเหตุนั้นนั่นแล พระเถระพยายามแล้วพยายามเล่า เมื่อไม่อาจอดกลั้นความเย้ยหยันที่พวกสามเณรและภิกษุหนุ่มเหล่านั้นกระทำได้ ก็เกิดความบุ่มบ่ามขึ้นกล่าวว่า อุปัชฌาย์ของท่านซิชั่ว อาจารย์ของท่านซิชั่ว.
               ครั้งนั้น ภิกษุทั้งหลายจึงกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระศาสดาว่า พระกุณฑธานะกล่าวหยาบอย่างนี้ๆ กับภิกษุหนุ่มและสามเณรทั้งหลาย.
               พระศาสดาให้เรียกภิกษุนั้นมา ตรัสถามว่า “จริงหรือ ภิกษุ” เมื่อทูลว่าจริง พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า เหตุไร ท่านจึงกล่าวอย่างนั้น พระเถระทูลว่า พระเจ้าข้า ข้าพระองค์ก็ไม่อาจอดกลั้นการเสียดสีอยู่เป็นประจำ จึงกล่าวอย่างนั้น.
               พระศาสดาตรัสว่า ตัวท่านไม่อาจใช้กรรมที่ทำไว้ในปางก่อนให้หมดไปจนถึงทุกวันนี้ ต่อไปนี้ ท่านอย่ากล่าวคำหยาบ เห็นปานนั้นน่ะภิกษุ ดังนี้ แล้วตรัสว่า
                         มาโวจ ผรุสํ กญฺจิ        วุตฺตา ปฎิวเทยฺยุ ตํ
                         ทุกฺขา หิ สารมฺกถา     ปฏิทณฺฑา ผุเสยฺยุ ตํ
                         สเจ น เทสิ อตฺตานํ      กํโส อุปหโต ยถา
                         เอส ปตฺโตสิ นิพฺพานํ    สารมฺโภเต น วิชฺชตีติ
                         ท่านอย่ากล่าวคำหยาบกะใครๆ ผู้ที่ท่านกล่าว
               แล้ว ก็จะโต้ตอบท่าน ด้วยว่า ถ้อยคำที่แข่งดีกันนำทุกข์
               มาให้ ผู้ทำตอบก็พึงประสบทุกข์นั้น
                         ท่านไม่ยังตนให้หวั่นไหว ดุจกังสดาลถูกเลาะ
               ขอบออกแล้ว ท่านนั้นก็จะเป็นผู้ถึงพระนิพพาน ความ
               แข่งดีก็จะไม่มีแก่ท่าน ดังนี้.

               ก็และบุคคลทั้งหลาย กราบทูลความที่พระเถระนั้นเที่ยวไปกับมาตุคามนี้แด่พระเจ้าโกศล. พระราชาส่งอำมาตย์ไปว่า พนาย จงไปสืบสวนดู แม้พระองค์เองก็เสด็จไปยังที่อยู่ของพระเถระนั้น พร้อมด้วยราชบริพารเป็นอันมาก ประทับยืนดูอยู่ ณ ที่สมควรข้างหนึ่ง.
               ขณะนั้น พระเถระกำลังนั่งเย็บผ้าอยู่ หญิงแม้นั้นก็ปรากฏเหมือนยืนอยู่ในที่ไม่ไกลพระเถระนั้น. พระราชาเห็นแล้วทรงดำริว่ามีเหตุนี้หรือ จึงเสด็จไปยังที่ๆ หญิงนั้นยืนอยู่แล้ว เมื่อพระราชามาถึง หญิงนั้นก็เป็นเหมือนเข้าไปยังบรรณศาลาอันเป็นที่อยู่ของพระเถระ แม้พระราชาก็เสด็จเข้าไปบรรณศาลาพร้อมกับหญิงนั้นทีเดียว ตรวจดูทุกแห่งก็ไม่เห็น จึงทำความเข้าพระทัยว่า นี้มิใช่มาตุคาม เป็นวิบากกรรมอย่างหนึ่งของพระเถระ.
               ทีแรกแม้มาถึงใกล้พระเถระ ก็ไม่ทรงไหว้พระเถระ ครั้นทรงทราบว่าเหตุนั้นไม่เป็นจริง จึงเสด็จมาไหว้พระเถระ ประทับนั่ง ณ ที่สมควรส่วนหนึ่ง ตรัสถามว่า พระคุณเจ้าไม่ลำบากด้วยบิณฑบาตบ้างหรือ
               พระเถระทูลว่า เป็นไปได้ ขอถวายพระพร.
               พระราชาตรัสว่า ท่านผู้เจริญ โยมรู้เรื่องราวของพระคุณเจ้า เมื่อพระคุณเจ้าเที่ยวไปกับสิ่งที่ทำให้เศร้าหมองเห็นปานนี้ ชื่อว่าใครเล่าจักเลื่อมใส ตั้งแต่นี้ไป พระคุณเจ้าไม่จำต้องไปในที่ไหนๆ โยมจักบำรุงด้วยปัจจัย ๔ พระคุณเจ้าอย่าประมาทด้วยโยนิโสมนสิการเถิด. แล้วส่งภิกษาไปถวายเป็นประจำ พระเถระได้พระราชูปถัมภ์ เป็นผู้มีจิตมีอารมณ์เดียว เพราะมีโภชนะสบาย เจริญวิปัสสนาบรรลุ พระอรหัตตผลแล้ว ตั้งแต่นั้นไป หญิงนั้นก็หายไป.
               นางมหาสุภัททาอยู่ในครอบครัวมิจฉาทิฏฐิในอุคคนคร คิดว่าพระศาสดาจงทรงอนุเคราะห์เรา จึงอธิษฐานอุโบสถ เป็นผู้ไม่มีกลิ่นคาว อยู่ปราสาทชั้นบน กระทำสัจจกิริยาว่า ดอกไม้เหล่านี้จงอย่าอยู่ในระหว่างทางเสีย จงกางกั้นเป็นเพดานในเบื้องบนแห่งพระทศพลเถิด ขอพระทศพลจงรับภิกษาของเราพร้อมกับภิกษุ ๕๐๐ รูป ด้วยสัญญานี้เถิด แล้วโยนดอกไม้ ๘ กำไป ดอกไม้ก็ไปกางกั้นเป็นเพดานอยู่เบื้องบนของพระศาสดาในเวลาแสดงธรรม.
               พระศาสดาทอดพระเนตรเห็น เพดานดอกมะลินั้น ทรงรับภิกษาของนางสุภัททาด้วยจิตนั้นแหละ.
               วันรุ่งขึ้นเมื่ออรุณขึ้น จึงตรัสสั่งพระอานนท์ว่า อานนท์ วันนี้เราจะไปภิกษาจาร ณ ที่ไกล จงอย่าให้สลากแก่พระปุถุชน จงให้แก่พระอริยะเท่านั้น.
               พระเถระบอกแก่ภิกษุทั้งหลายว่า ผู้มีอายุ วันนี้พระศาสดาจักเสด็จภิกษาจาร ณ ที่ไกล พระภิกษุปุถุชนจงอย่าจับสลาก พระอริยะเท่านั้นจงจับ.
               พระโกณฑธานเถระกล่าวว่า ผู้มีอายุจงนำสลากมา แล้วเหยียดมือออกไปก่อน เมื่อพระอานนท์เถระกล่าวว่า ท่านพระศาสดาไม่ให้ประทานสลากแก่ภิกษุเช่นท่าน สั่งให้ประทานเฉพาะภิกษุผู้เป็นอริยะเท่านั้น เกิดความวิตกขึ้น จึงไปกราบทูลพระศาสดา.
               พระศาสดาตรัสว่า เธอจงไปให้สลากแก่ภิกษุผู้บอกให้นำสลากมาเถิด.
               พระเถระจึงคิดว่า ถ้าไม่ควรให้สลากแก่พระกุณฑธานะ พระศาสดาจะพึงห้ามเธอ จักมีเหตุอย่างหนึ่งเป็นแท้ จึงรีบนำมาด้วยคิดว่า จักให้สลากแก่พระกุณฑธานะ.
               พระกุณฑธานะเถระ ก่อนที่พระอานนท์เถระมา เข้าจตุตถฌานอันเป็นบาทแห่งอภิญญา ยืนอยู่ในอากาศด้วยฤทธิ์กล่าวว่า ท่านอานนท์จงนำสลากมา พระศาสดาทรงรู้จักเรา พระศาสดาไม่ตรัสห้ามภิกษุเช่นเราผู้จับสลากได้ก่อน แล้วเหยียดมือไปจับสลากแล้ว.
               พระศาสดาทรงทำเรื่องนั้นให้เป็นอรรถอุบัติเหตุเกิดเรื่อง จึงทรงสถาปนาพระเถระไว้ในตำแหน่งเป็นยอดของเหล่าภิกษุผู้จับสลากได้ที่ ๑ ในศาสนาแล.

               จบอรรถกถาสูตรที่ ๓               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต เอตทัคคบาลี วรรคที่ ๓
อ่านอรรถกถาหน้าต่างที่ [หน้าสารบัญ] [๑] [๒] [๓] [๔] [๕] [๖] [๗] [๘] [๙] [๑๐]
อ่านอรรถกถา 20 / 1อ่านอรรถกถา 20 / 147อรรถกถา เล่มที่ 20 ข้อ 148อ่านอรรถกถา 20 / 149อ่านอรรถกถา 20 / 596
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=20&A=660&Z=674
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=14&A=5351
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=14&A=5351
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๒๖  ธันวาคม  พ.ศ.  ๒๕๔๙
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :