ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 

อ่าน อรรถกถาหน้าต่างที่ [หน้าสารบัญ] [๑] [๒] [๓] [๔] [๕] [๖] [๗] [๘] [๙]อ่านอรรถกถา 20 / 1อ่านอรรถกถา 20 / 146อรรถกถา เล่มที่ 20 ข้อ 147อ่านอรรถกถา 20 / 148อ่านอรรถกถา 20 / 596
อรรถกถา อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต เอตทัคคบาลี
วรรคที่ ๒

หน้าต่างที่ ๗ / ๙.

               อรรถกถาสูตรที่ ๘               
               ประวัติพระโสณกุฏิกัณณเถระ               
               พึงทราบวินิจฉัยในพระสูตรที่ ๘ ดังต่อไปนี้.
               ถ้อยคำท่านเรียกว่า วากฺกรณ ในบทว่า กลฺยาณวากฺกรณานํ อธิบายว่า ถ้อยคำอันงามคือถ้อยคำอันไพเราะ.
               จริงอยู่ พระเถระนี้กล่าวธรรมกถาด้วยเสียงอันไพเราะแด่พระตถาคตในพระคันธกุฎีเดียวกันกับพระทศพล. ครั้งนั้น พระศาสดาได้ประทานสาธุการแก่ท่าน เพราะฉะนั้น พระเถระนั้นจึงชื่อว่า เป็นยอดของเหล่าภิกษุผู้มีวาจาไพเราะ.
               คำว่า โสณะ เป็นชื่อของท่าน แต่ท่านทรงเครื่องประดับหู (ตุ้มหู) มีค่าถึงโกฏิหนึ่ง เพราะฉะนั้น เขาจึงเรียกว่า กุฏิกัณณะ หมายความว่า พระโสณะผู้มีตุ้มหูราคาโกฏิหนึ่ง.
               ในปัญหากรรมของท่านมีสิ่งที่จะพึงกล่าวตามลำดับดังต่อไปนี้ :-
               แม้พระเถระนี้ ครั้งพระพุทธเจ้าพระนามว่าปทุมุตตระ ไปวิหารกับมหาชนโดยนัยก่อนนั้นแล ยืนฟังธรรมอยู่ท้ายบริษัท เห็นพระศาสดาทรงสถาปนาภิกษุรูปหนึ่งไว้ในตำแหน่งผู้เป็นยอดของเหล่าภิกษุผู้มีวาจาไพเราะ จึงคิดว่า แม้เราก็ควรเป็นยอดของเหล่าภิกษุผู้มีวาจาไพเราะในศาสนาของพระพุทธเจ้าพระองค์หนึ่งในอนาคต.
               จึงนิมนต์พระทศพลถวายทาน ๗ วัน ได้กระทำความปรารถนาว่า พระเจ้าข้า พระองค์ทรงตั้งภิกษุใดไว้ในตำแหน่งภิกษุผู้มีวาจาไพเราะ วันสุดท้ายใน ๗ วันนับแต่วันนี้ แม้ข้าพระองค์พึงเป็นเหมือนอย่างภิกษุนั้นในศาสนาของพระพุทธเจ้าพระองค์หนึ่งในอนาคต ด้วยผลแห่งกุศลกรรมนี้.
               พระศาสดาทรงเห็นว่าไม่มีอันตรายสำหรับเธอ จึงทรงพยากรณ์ว่า ท่านจักเป็นยอดของเหล่าภิกษุผู้มีวาจาไพเราะในศาสนาของพระโคดมพุทธเจ้า ในอนาคตกาล แล้วเสด็จกลับไป.
               ฝ่ายท่านก็กระทำกุศลกรรมจนตลอดชีวิต เวียนว่ายในเทวดาและมนุษย์แสนกัป จุติจากเทวโลกมาถือปฏิสนธิในท้องแห่งอุบาสิกาผู้เป็นแม่บ้านของครอบครัวชื่อว่า กาฬี ก่อนพระทศพลของเราทรงอุบัติ นางมีครรภ์ครบแล้วมายังนิเวศน์แห่งครอบครัวของตนในกรุงราชคฤห์.
               สมัยนั้น พระศาสดาของเราทรงบรรลุพระสัพพัญญุตญาณแล้ว ทรงประกาศธรรมจักรในราวป่าอิสิปตนะแล้ว เทวดาในหมื่นจักรวาลมาประชุมกันแล้ว ในที่ประชุมนั้น ยักษ์ตนหนึ่งชื่อว่า สาตาคิรยักษ์ ในระหว่างยักษ์เสนาบดี (แม่ทัพยักษ์) ๒๘ ตน ฟังธรรมกถาของพระทศพลตั้งอยู่ในโสดาปัตติผลแล้ว ดำริว่า ธรรมกถาอันไพเราะนี้ เหมวตยักษ์สหายของเราได้ฟังหรือมิได้ฟังหนอ ยักษ์นั้นมองหาในระหว่างหมู่เทพก็ไม่เห็นยักษ์นั้น จึงคิดว่า สหายของเราไม่ทราบว่ารัตนะทั้ง ๓ เกิดขึ้นแล้วแน่แท้ จำเราจักไปกล่าวคุณแห่งพระทศพลแก่เขาและจะบอกถึงธรรมที่เราบรรลุแก่เขาด้วย จึงไปหาเหมวตยักษ์นั้นโดยทางเบื้องบนแห่งกรุงราชคฤห์ กับบริษัทของตน.
               ฝ่ายเหมวตยักษ์เห็นป่าหิมพานต์อันกว้างยาวถึง ๓ พันโยชน์ มีดอกไม้บานในเวลามิใช่ฤดู คิดว่าเราจักเล่นการละเล่นในป่าหิมพานต์กับสหายของเรา จึงไปกับบริษัทของตนโดยเบื้องบนกรุงราชคฤห์เหมือนกัน
               แม้ยักษ์เหล่านั้นก็มาพบกันเบื้องบนนิเวศน์ของอุบาสิกาในขณะนั้น ต่างก็ถามกันว่า พวกท่านเป็นบริษัทของใคร พวกเราเป็นบริษัทของสาตาคิรยักษ์ พวกท่านล่ะเป็นบริษัทของใคร พวกเราเป็นบริษัทของเหมวตยักษ์ดังนี้ พวกยักษ์เหล่านั้นต่างยินดีแล้วร่าเริงแล้ว ไปแจ้งแก่ยักษ์เสนาบดีเหล่านั้น.
               สาตาคิรยักษ์กล่าวกะเหมวตยักษ์ว่า สหาย ท่านจะไปไหน?
               เหมวตยักษ์ตอบว่า สหาย เราจะไปสำนักท่าน.
               สา. เพราะเหตุไร
               เห. เราเห็นป่าหิมพานต์มีดอกไม้สะพรั่ง เราจักไปเล่นในป่าหิมพานต์นั้นกับท่าน.
               สา. สหาย ก็ท่านจะไปได้อย่างไร? ท่านรู้ว่าป่าหิมพานต์มีดอกไม้บานสะพรั่งด้วยเหตุไร.
               เห. ไม่รู้ สหาย.
               สา. สิทธัตถกุมาร โอรสพระเจ้าสุทโธทนมหาราช ยังหมื่นโลกธาตุให้ไหวแล้ว ทรงบรรลุพระสัพพัญญุตญาณ ทรงประกาศธรรมจักรอันยอดเยี่ยม ในท่ามกลางเทวดาในหมื่นจักรวาล ท่านไม่รู้ว่าพระธรรมจักรนั้น พระองค์ทรงประกาศแล้วหรือ.
               เห. ไม่รู้ดอก สหาย.
               สา.ท่านสำคัญว่าที่มีประมาณเท่านั้นนั่นเทียวมีดอกไม้บานสะพรั่ง แต่ทั่วหมื่นจักรวาลเป็นเสมือนดอกไม้กลุ่มเดียวกันในวันนี้ เพื่อสักการะบุรุษนั้นนะสหาย.
               เห. ดอกไม้บานอยู่ก่อน พระศาสดานั้นท่านเห็นเต็มนัยตาแล้วหรือ.
               สา. เออ สหายเหมวตะ เราเห็นพระศาสดาแล้ว เราฟังธรรมแล้ว เราดื่มอมตะแล้ว เราจักทำท่านให้รู้อมตธรรมนั้นบ้าง เราจึงมายังสำนักของท่านสหาย.
               เมื่อยักษ์เหล่านั้นกำลังเจรจากันอยู่นั่นแล อุบาสิกาลุกขึ้นจากที่นอนอันมีสิริ นั่งฟังการเจรจาปราศรัยนั้น ถือเอานิมิตในเสียงกำหนดว่า เสียงนี้เป็นเสียงในเบื้องบน ไม่ใช่ในภาย ใต้เป็นเสียงอมนุษย์พูด มิใช่เสียงมนุษย์พูด เงี่ยโสตประคองใจ.
               แต่นั้นสาตาคิรยักษ์พูดว่า
                                   อชฺช ปณฺณรโส อุโปสโถ (อิติ สาตาคิโร ยกฺโข)
                                   ทิพฺพา รตฺติ อุปฏฺฐิตา
                                   อโนมนามํ สตฺถารํ
                                   หนฺท ปสฺสาม โคตมนฺติ

                         วันนี้เป็นวันอุโบสถ ๑๕ ค่ำ ราตรีอันเป็นทิพย์
                         ปรากฏแล้ว มาเราทั้งสองจงไปเฝ้าพระโคดม
                         ผู้มีพระนามอันไม่ทรามเถิด.

               สาตาคิรยักษ์กล่าวดังนี้แล้ว เหมวตยักษ์กล่าวว่า
                                   กจฺจิ มโน สุปณิหิโต (อิติ เหมวโต ยกฺโข)
                                   สพฺพภูเตสุ ตาทิโน
                                   กจฺจิ อิฏฺเฐ อนิฏฺเฐ จ
                                   สงฺกปฺปสฺส วสีคตาติ.

                         พระโคดมผู้คงที่ ทรงตั้งพระทัยไว้ดีแล้วในสัตว์
                         ทั้งปวงหรือ พระโคดมทรงกระทำความดำริใน
                         อิฏฐารมณ์แลอนิฏฐารมณ์ให้อยู่ในอำนาจแลหรือ.

               เหมวตยักษ์ถามถึงกายสมาจาร อาชีพและมโนสมาจารของพระศาสดาอย่างนี้แล้ว สาตาคิรยักษ์วิสัชชนาข้อที่เหมวตยักษ์ถามแล้วๆ เมื่อจบเหมวตสูตรแล้วตามความชอบใจด้วยการกล่าวคุณแห่งสรีรวรรณะของพระศาสดาอย่างนี้แล้ว เหมวตยักษ์ส่งญาณไปตามกระแสแห่งพระธรรมเทศนาของสหาย ตั้งอยู่ในโสดาปัตติผลแล้ว.
               คราวนั้น นางกาฬีอุบาสิกายังไม่เคยเห็นพระตถาคตเลยก็เกิดความเลื่อมใสที่ได้ฟังในธรรมที่เขาแสดงแก่บุคคลอื่น ตั้งอยู่ในโสดาปัตติผลแล้ว ประดุจบริโภคโภชนะที่เขาจัดสำหรับคนอื่นฉะนั้น.
               อุบาสิกานั้นเป็นพระโสดาบันคนแรกในระหว่างหญิงทั้งหมดและเป็นหัวหน้าหญิงทั้งหมด. ในคืนนั้น นางก็คลอดบุตรพร้อมกับการบรรลุโสดาปัตติผล ในวันขนานนามทารกที่ได้มาแล้ว ตั้งชื่อว่าโสณะ. อุบาสิกานั้นอยู่ในเรือนแห่งครอบครัวตามความพอใจแล้วได้ไปยังกุลฆรนคร.
               สมัยนั้น พระมหากัจจายนเถระอาศัยเมืองนั้น อยู่ที่ภูเขาอุปวัตตะ อุบาสิกาอุปัฏฐากพระเถระ พระเถระไปนิเวศน์ของนางเป็นประจำ แม้เด็กโสณก็เที่ยวเล่นในสำนักของพระเถระเป็นประจำ จึงคุ้นเคยกัน.
               ต่อมาเด็กนั้นบรรพชาในสำนักของพระเถระ พระเถระประสงค์จะให้ท่านอุปสมบท แสวงหาภิกษุอยู่ ๓ ปีครบคณะจึงให้อุปสมบทได้. ท่านอุปสมบทแล้วให้พระเถระบอกกัมมัฏฐานเจริญวิปัสสนา บรรลุพระอรหัตแล้ว เรียนคัมภีร์สุตตนิบาตในสำนักของพระเถระ ออกพรรษาปวารณาแล้ว ประสงค์จะเฝ้าพระศาสดา จึงลาพระอุปัชฌาย์.
               พระเถระกล่าวว่า โสณะเมื่อท่านไปแล้ว พระศาสดาจะให้ท่านอยู่ในพระคันธกุฎีเดียวกัน จักเชิญให้ท่านกล่าวธรรม พระศาสดาจะทรงเลื่อมใสในธรรมกถาของท่าน จักประทานพรแก่ท่าน เมื่อท่านจะรับพร จงรับเอาพรอย่างนี้ จงไหว้พระบาทของพระทศพลตามคำของเรา.
               พระโสณะนั้นอันพระอุปัชฌาย์อนุญาตแล้วจึงไปบอกแก่โยมอุบาสิกา แม้อุบาสิกานั้นก็กล่าวว่า ดีละพ่อ ท่านเมื่อไปเฝ้าพระทศพล จงเอาผ้ากัมพลผืนนี้ไป จงลาดกระทำให้เป็นผ้ารองพื้นในพระคันธกุฎีที่ประทับของพระศาสดา แล้วถวายผ้ากัมพลผืนใหญ่ไป. พระโสณเถระรับผ้านั้นไปแล้ว เก็บงำเสนาสนะไปถึงที่ประทับของพระศาสดาโดยลำดับ เข้าไปเฝ้าในเวลาที่พระทศพลประทับนั่งบนพุทธอาสน์ ถวายบังคมแล้ว ได้ยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง.
               พระศาสดาทรงกระทำปฏิสัณฐารกับพระเถระนั้นแล้ว ตรัสเรียกพระอานนทเถระมาตรัสว่า อานนท์จงจัดเสนาสนะสำหรับภิกษุรูปนี้ พระเถระทราบพระประสงค์ของพระศาสดา ได้ลาดผ้าแล้วประดุจยกผ้าลาดพื้นไว้ตรงกลางในภายในพระคันธกุฎี.
               ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงยับยั้งกลางแจ้งตลอดราตรีเป็นอันมาก จึงเสด็จเข้าพระวิหาร แม้ท่านพระโสณะก็ยับยั้งกลางแจ้งตลอดราตรีเป็นอันมากเหมือนกัน จึงเข้าพระวิหาร พระศาสดาเสด็จสีหยาสน์ในมัชฌิมยาม เสด็จลุกขึ้นประทับนั่งในสมัยใกล้รุ่ง ทรงทราบว่า ความลำบากกายของพระโสณะจักสงบระงับด้วยเหตุเพียงเท่านี้ แล้วเชื้อเชิญให้กล่าวธรรม.
               พระโสณเถระได้กล่าวพระสูตรที่เนื่องด้วยอัฏฐกวัคค์ พยัญชนะตัวหนึ่งก็ไม่เสียด้วยเสียงอันไพเราะ เมื่อจบคาถา พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงประทานสาธุการ ประกาศถึงความเลื่อมใสว่า ภิกษุ ธรรมเธอเรียนไว้ดีแล้ว เทศนาในเวลาที่เราแสดงแล้วก็ดีในวันนี้ก็ดี เป็นอย่างเดียวกันเทียว ไม่ขาดไม่เกินเลย. ฝ่ายพระโสณกำหนดว่านี้เป็นโอกาส แล้วถวายบังคมพระทศพล ตามคำของพระอุปัชฌาย์ ทูลขอพรทุกอย่างตั้งต้นแต่การอุปสมบทด้วยคณะมีพระวินัยธรครบ ๕.
               พระศาสดาทรงประทานแล้ว.
               ต่อมา พระเถระถวายบังคมตามคำของอุบาสิกามารดาว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ อุบาสิกาส่งผ้ากัมพลผืนนี้มาเพื่อปูลาดพื้นในพระคันธกุฎีที่ประทับของพระองค์ แล้วถวายผ้ากัมพล ลุกขึ้นจากอาสนะ ถวายบังคมพระศาสดากระทำประทักษิณ หลีกไปแล้ว.
               ในเรื่องนี้มีความสังเขปเท่านี้. แต่โดยพิสดารเรื่องตั้งแต่การบรรพชาของพระเถระเป็นต้นทั้งหมด มาในพระสูตรแล้ว.
               ดังกล่าวมานี้ พระเถระได้พร ๘ ประการจากสำนักพระศาสดาแล้วกลับไปยังสำนักพระอุปัชฌาย์ เล่าประพฤติเหตุทั้งปวงนั้นแล้ว.
               วันรุ่งขึ้นไปยังประตูนิเวศน์ของโยมอุบาสิกา ยืนคอยอาหาร. อุบาสิกาฟังข่าวว่า บุตรของเรามายืนที่ประตู จึงรีบมาอภิวาทแล้วรับบาตรจากมือ นิมนต์ให้นั่งในนิเวศน์ของตน ถวายโภชนะแล้ว.
               ทีนั้นเมื่อฉันเสร็จ อุบาสิกากล่าวกะท่านว่า พ่อท่านได้พบพระทศพลแล้วหรือ.
               พบแล้ว อุบาสิกา.
               อุ. ท่านได้ไหว้ตามคำของโยมแล้วหรือ
               ส. จ้ะ ไหว้แล้ว และผ้ากัมพลของเรานั้น ได้ลาดไว้ให้เป็นผ้าลาดพื้นในที่ประทับของพระตถาคตแล้ว.
               อุ.พ่อ ได้ยินว่า ท่านกล่าวธรรมกถาถวายพระศาสดาและพระศาสดาได้ทรงประทานสาธุการแก่ท่านหรือ.
               พระย้อนถามว่า โยมทราบได้อย่างไร อุบาสิกา.
               อุบาสิกากล่าวว่า พ่อเทวดาที่สถิตอยู่ในเรือนของโยมบอกว่า เทวดาในหมื่นจักรวาลได้ถวายสาธุการเมื่อพระศาสดาประทานสาธุการแก่ท่าน แล้วกล่าวว่า พ่อ โยมหวังว่า ท่านควรกล่าวธรรมเหมือนอย่างที่ท่านกล่าวแล้วแก่โยมบ้าง โดยทำนองที่ได้กล่าวแด่พระพุทธเจ้า.
               พระเถระรับคำของโยมแล้ว.
               นางทราบว่าพระเถระรับคำแล้ว จึงให้ทำมณฑป ใกล้ประตู นิมนต์ให้กล่าวธรรมแก่ตนโดยทำนองที่กล่าวแก่พระทศพลแล้ว.
               เรื่องตั้งขึ้นแล้ในที่นี้.
               ต่อมา พระศาสดาประทับนั่ง ณ ท่ามกลางหมู่พระอริยะ ทรงสถาปนาพระเถระไว้ในตำแหน่งเป็นยอดของเหล่าภิกษุผู้มีวาจาไพเราะแล้ว.

               จบอรรถกถาสูตรที่ ๘               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต เอตทัคคบาลี วรรคที่ ๒
อ่านอรรถกถาหน้าต่างที่ [หน้าสารบัญ] [๑] [๒] [๓] [๔] [๕] [๖] [๗] [๘] [๙]
อ่านอรรถกถา 20 / 1อ่านอรรถกถา 20 / 146อรรถกถา เล่มที่ 20 ข้อ 147อ่านอรรถกถา 20 / 148อ่านอรรถกถา 20 / 596
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=20&A=644&Z=659
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=14&A=4479
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=14&A=4479
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๒๖  ธันวาคม  พ.ศ.  ๒๕๔๙
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :