ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 

อ่าน อรรถกถาหน้าต่างที่ [๑] [๒]อรรถกถา เล่มที่ 20 ข้อ 1อ่านอรรถกถา 20 / 12อ่านอรรถกถา 20 / 596
อรรถกถา อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต เอกธัมมาทิบาลี
รูปาทิวรรคที่ ๑

               อรรถกถาเอกนิบาต               
               อารัมภกถา               
                                   ข้าพเจ้า (พระพุทธโฆสาจารย์) ขอไหว้
                         พระสุคต ผู้หลุดพ้นจากคติ ผู้มีพระทัยเยือกเย็น
                         ด้วยพระกรุณา ผู้มีมืดคือโมหะ อันแสงสว่างแห่ง
                         ปัญญาขจัดแล้ว ผู้เป็นครูของชาวโลก พร้อมทั้ง
                         มนุษย์และเทวดา.
                                   พระพุทธเจ้าทรงเจริญและทำให้แจ้งคุณ
                         เครื่องเป็นพระพุทธเจ้า เข้าถึงธรรมใดอันปราศ
                         จากมลทิน ข้าพเจ้าขอไหว้ธรรมนั้นอันยอดเยี่ยม.
                                   ข้าพเจ้าขอไหว้ ด้วยเศียรเกล้าซึ่งพระ
                         อริยสงฆ์ทั้ง ๘ ผู้เป็นโอรสของพระตถาคตเจ้า
                         ผู้ย่ำยีเสียซึ่งกองทัพมาร
.
               บุญใดสำเร็จด้วยการไหว้พระรัตนตรัยของข้าพเจ้าผู้มีจิตเลื่อมใสดังกล่าวมาฉะนี้ ข้าพเจ้าเป็นผู้ที่อานุภาพแห่งบุญนั้น ช่วยขจัดอันตรายแล้ว จักถอดภาษาสีหลออกจากคัมภีร์อรรถกถา ซึ่งพระอรหันต์ผู้เชี่ยวชาญ ๕๐๐ องค์สังคายนามาแต่ต้น และสังคายนาต่อๆ มา.
               แม้ภายหลัง ท่านพระมหินทเถระนำมายังเกาะสีหล จัดทำไว้เป็นภาษาสีหล เพื่อให้เป็นประโยชน์แก่ชาวเกาะ แล้วยกขึ้นสู่ภาษาที่น่ารื่นรมย์ ควรแก่นัยแห่งพระบาลี คือทำเป็นภาษามคธ ไม่ให้ขัดแย้งลัทธิสมัยซึ่งปราศจากโทษของเหล่าพระเถระประทีปแห่งเถรวงศ์ผู้อยู่ในมหาวิหาร ซึ่งมีวินิจฉัยละเอียดดี ละเว้นข้อความความที่ซ้ำซากเสียแล้ว ประกาศเนื้อความแห่งคัมภีร์อังคุตนิกายอันประเสริฐ อันประดับด้วยเอกนิบาต ทุกนิบาต ติกนิบาตเป็นต้นเพื่อให้อรรถแจ่มแจ้ง สำหรับให้เกิดปฏิภาณอันวิจิตรแก่เหล่าพระธรรมกถึกที่ดี ซึ่งข้าพเจ้าเมื่อกล่าวเนื้อความแห่งคัมภีร์ทีฆนิกายและคัมภีร์มัชฌิมนิกาย ภายหลังจึงพรรณนาเรื่องราวของพระนครทั้งหลายมีกรุงสาวัตถีเป็นต้น ให้สาธุชนยินดี และเพื่อให้พระธรรมตั้งอยู่ยั่งยืน.
               ได้ยินว่า เรื่องเหล่าใดที่กล่าวไว้ในคัมภีร์ทั้งสองนั้น (ทีฆ, มัชฌิม) พิสดารในคัมภีร์อังคุตนิกายนี้ ข้าพเจ้าจักไม่กล่าวเรื่องเหล่านั้นให้พิสดารยิ่งขึ้นไปอีก แต่สำหรับสูตรทั้งหลาย เนื้อความเหล่าใดเว้นเรื่องราวเสียจะไม่แจ่มแจ้ง ข้าพเจ้าจักกล่าวเรื่องราวทั้งหลายไว้ เพื่อความแจ่มแจ้งแห่งเนื้อความเหล่านั้น.
               พระพุทธวจนะนี้ คือ ศีลกถา ธุดงคธรรม กรรมฐานทั้งหมด ความพิสดารของฌานและสมาบัติที่ประกอบด้วยวิธีปฏิบัติอภิญญาทั้งหมด คำวินิจฉัยทั้งสิ้นอันเกี่ยวด้วยปัญญา ขันธ์ ธาตุ อายตนะ อินทรีย์ อริยสัจ ๔ ปัจจยาการเทศนามีนัยอันหมดจดละเอียด ซึ่งไม่พ้นจากแนวพระบาลีและวิปัสสนาภาวนา แต่เพราะเหตุที่พระพุทธวจนะที่กล่าวมาแล้วทั้งหมด ข้าพเจ้ากล่าวแล้วในวิสุทธิมรรคอย่างหมดจดดี ฉะนั้น ในที่นี้ข้าพเจ้าจักไม่วิจารณ์เรื่องทั้งหมดนี้ให้ยิ่งขึ้นไป เพราะปกรณ์พิเศษชื่อว่าวิสุทธิมรรคนี้ที่ข้าพเจ้ารจนาไว้แล้วนั้น ดำรงอยู่ท่ามกลางแห่งนิกายทั้ง ๔ จักประกาศข้อความตามที่ได้กล่าวไว้ในนิกายทั้ง ๔ นั้น ฉะนั้นขอสาธุชนทั้งหลายจงถือเอาปกรณ์วิเศษชื่อวิสุทธิมรรคนั้น พร้อมด้วยอรรถกถานี้ แล้วจักทราบข้อความตามที่อ้างอิงคัมภีร์อังคุตนิกายแล.

               อรรถกถาสูตรที่ ๑               
               ในคัมภีร์เหล่านั้น คัมภีร์ชื่อว่าอังคุตตรนิกาย มี ๑๑ นิบาต คือเอกนิบาต ทุกนิบาต ติกนิบาต จตุกกนิบาต ปัญจกนิบาต ฉักกนิบาต สัตตกนิบาต อัฏฐกนิบาต นวกนิบาต ทสกนิบาต เอกาทสกนิบาต
               ว่าโดยสูตร อังคุตตรนิกาย มี ๙,๕๕๗ สูตร บรรดานิบาตแห่งอังคุตตรนิกายนั้น เอกนิบาตเป็นนิบาตต้น บรรดาสูตร จิตตปริยายสูตรเป็นสูตรต้น คำนิทานแม้แห่งสูตรนั้นมีว่า เอวมฺเม สุตํ เป็นต้น ท่านพระอานนท์กล่าวไว้ในกาลมหาสังคีติครั้งแรกเป็นต้น ก็มหาสังคีติครั้งแรกนี้นั้นกล่าวไว้พิสดารแล้วในเบื้องต้นแห่งอรรถกถาทีฆนิกาย ชื่อว่าสุมังคลวิลาสินี เพราะฉะนั้น มหาสังคีติครั้งแรกนั้น พึงทราบโดยพิสดารในอรรถกถาทีฆนิกายนั้นนั่นแล.
               ก็บทว่า เอวํ ในคำนิทานวจนะว่า เอวมฺเม สุตํ เป็นต้นเป็นบทนิบาต บทว่า เม เป็นบทนาม. บทว่า วิ ในบทว่า สาวตฺถิยํ วิหรติ นี้เป็นบทอุปสรรค. บทว่า หรติ เป็นบทอาขยาต.
               พึงทราบการจำแนกบทโดยนัยนี้ก่อน.
               แต่เมื่อว่าโดยอรรถ ก่อนอื่น เอวํ ศัพท์มีอรรถหลายประเภท อาทิเช่น อุปมา เปรียบเทียบ, อุปเทส แนะนำ, สัมปหังสนะ ยกย่อง, ครหณะ ติเตียน, วจนสัมปฏิคคหณะ รับคำ, อาการะ อาการ, นิทัสสนะ ตัวอย่าง , และอวธารณะ กันความอื่น.
               จริงอย่างนั้น เอวํศัพท์นั้น มาในอุปมาเปรียบเทียบ ในคำเป็นต้นอย่างนี้ว่า เอวํ ชาเตน มจฺเจน กตฺตพฺพํ กุสลํ พหุํ สัตว์ผู้เกิดมาแล้วควรทำกุศลให้มากฉันนั้น.
               มาใน อุปเทสะ แนะนำในคำเป็นต้นว่า เอวนฺเต อภิกฺกมิตพฺพํ เอวํ ปฏิกฺกมิตพฺพํ ท่านพึงก้าวไปอย่างนี้ พึงถอยกลับอย่างนี้.
               มาใน สัมปหังสนะ ยกย่อง ในคำเป็นต้นว่า เอวเมตํ ภควา เอวเมตํ สุคต ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า ข้อนั้นเป็นอย่างนั้น ข้าแต่พระสุคต ข้อนั้นเป็นอย่างนั้น.
               มาใน ครหณะ ติเตียน ในคำเป็นต้นอย่างนี้ว่า เอวเมว ปนายํ วสลี ยสฺมึ วา ตสฺมึ วา ตสฺส มุณฺฑกสฺส วณฺณํ ภาสติ (ก็หญิงถ่อยนี้ย่อมกล่าวคุณของสมณะโล้น ไม่ว่าในที่ไรๆ อย่างนี้ทีเดียว).
               มาใน วจนสัมปฏิคคหณะ รับคำ ในคำเป็นต้นว่า เอวํ ภนฺเตติ โข เต ภิกฺขู ภควโต ปจฺจสฺโสสุํ ภิกษุเหล่านั้นรับพระดำรัสของพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า อย่างนั้น พระพุทธเจ้าข้า.
               มาใน อาการะ อาการ ในคำเป็นต้นว่า เอวํ พฺยา โข อหํ ภนฺเต ภควตา ธมฺมํ เทสิตํ อาชานามิ ท่านขอรับ กระผมรู้ทั่วถึงธรรมที่พระผู้มีพระภาคเจ้าแสดงแล้วด้วยอาการอย่างนี้.
               มาใน นิทัสสนะ ตัวอย่าง ในคำเป็นต้นว่า
               เอหิ ตฺวํ มาณวก ฯเปฯ เอวญฺจ วเทหิ สาธุ กิร ภวํ อานนฺโท เยน สุภสฺส มาณวสฺส โตเทยฺปุตฺตสฺส นิเวสนํ เตนุปสงฺกมตุ อนุกมฺปํ อุปาทาย
               มาเถิด มาณพ ท่านจงเข้าไปหาพระสมณะอานนท์ ถึงที่อยู่ ครั้นแล้วจงถามความมีอาพาธน้อย ความมีโรคน้อย ความคล่องแคล่ว กำลังวังชา การอยู่ผาสุกกะพระสมณะอานนท์ ตามคำของเราว่า สุภมาณพ โตเทยยบุตรถามถึงความมีอาพาธน้อย ความมีโรคน้อย ความคล่องแคล้ว กำลังวังชา การอยู่ผาสุกกะท่านพระอานนท์ และจงกล่าวอย่างนี้ว่า ดีละ ขอท่านพระอานนท์โปรดอาศัยความกรุณาเข้าไปยังนิเวสน์ของสุภมาณพ โตเทยยบุตร เถิด.
               มาใน อวธารณะ กันความอื่น ในคำเป็นต้นว่า
               ตํ กึ มญฺญถ กาลามา ฯเปฯ เอวํ โน เอตฺถ โหติ
               ดูก่อนชาวกาลามะทั้งหลาย ท่านสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน ธรรมเหล่านี้เป็นกุศล หรืออกุศล? เป็นอกุศล พระเจ้าข้า. มีโทษ หรือไม่มีโทษ? มีโทษ พระเจ้าข้า. วิญญูชนติเตียน หรือสรรเสริญ? วิญญูชนติเตียน พระเจ้าข้า. บุคคลสมาทานให้บริบูรณ์แล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อไม่เป็นประโยชน์ เพื่อทุกข์ หรือไม่เป็นไป หรือในข้อนั้นเป็นอย่างไร? พระเจ้าข้า อันบุคคลสมาทานให้บริบูรณ์แล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อไม่เป็นประโยชน์ เพื่อทุกข์, ในข้อนี้พวกข้าพระองค์เห็นอย่างนี้.
               เอวํ ศัพท์นี้นั้นในที่นี้พึงเห็นว่าใช้ในอรรถว่า อาการะ นิทัสสนะและอวธารณะ
               บรรดาอรรถ ๓ อย่างนั้น ด้วย เอวํศัพท์ มีอาการะเป็นอรรถ พระเถระแสดงถึงอรรถนี้ว่า พระดำรัสของพระผู้มีพระภาคเจ้าละเอียดด้วยนัยต่างๆ มีอัธยาศัยเป็นอันมากเป็นสมุฎฐาน สมบูรณ์ด้วยอรรถและพยัญชนะ มีปาฏิหาริย์ต่างๆ ลึกโดยธรรม, อรรถ, เทศนา, และปฏิเวธ มาปรากฏทางโสตทวารแห่งสรรพสัตว์ ตามสมควรแก่ภาษาของตนๆ ใครเล่าจะสามารถทราบได้โดยอาการทั้งปวง แต่ข้าพเจ้าทำความอยากฟังให้เกิดขึ้นแล้วด้วยเรี่ยวแรงทุกอย่าง ได้ฟังมาแล้วด้วยอาการอย่างนี้ คือ ข้าพเจ้าเองได้ฟังมาแล้วด้วยอาการอย่างหนึ่ง
               ด้วย เอวํ ศัพท์ มีนิทัสสนะเป็นอรรถ พระเถระเมื่อจะเปลื้องตนว่า ข้าพเจ้าไม่ใช่พระสยัมภู พระสูตรนี้ ข้าพเจ้ามิได้ทำให้แจ้ง จึงแสดงสูตรทั้งสิ้นที่จะควรกล่าวในบัดนี้ว่า เอวมฺเม สุตํ แปลว่า แม้ข้าพเจ้าก็ได้สดับแล้วอย่างนี้.
               ด้วย เอวํ ศัพท์อันมีอวธารณะเป็นอรรถ พระเถระเมื่อจะแสดงกำลังแห่งความทรงจำของตนอันสมควรแก่ความเป็นผู้ที่พระผู้มีพระภาคเจ้าสรรเสริญแล้วอย่างนี้ว่า ภิกษุทั้งหลาย บรรดาภิกษุสาวกผู้พหูสูตของเรา อานนท์เป็นเลิศ บรรดาภิกษุสาวกของเราผู้มีสติ ผู้มีคติ ผู้มีธิติ ผู้อุปัฏฐาก อานนท์เป็นเลิศ และเป็นผู้ที่พระธรรมเสนาบดีสารีบุตรสรรเสริญว่า ท่านอานนท์เป็นผู้ฉลาดในอรรถ ฉลาดในธรรม ฉลาดในพยัญชนะ ฉลาดในนิรุกติ ฉลาดในอนุสนธิเบื้องต้นและเบื้องปลาย จึงยังความเป็นผู้ใคร่เพื่อจะฟังของสัตว์ทั้งหลายให้เกิดว่าเราได้ฟังมาแล้วอย่างนี้ ก็สูตรนั้นแล ไม่ขาดไม่เกินโดยอรรถหรือโดยพยัญชนะ พึงเห็นอย่างนี้แหละ ไม่พึงเห็นโดยประการอื่น.
               เม ศัพท์ปรากฎในอรรถ ๓ อย่าง.
               จริงอย่างนั้น เม ศัพท์นั้นมีอรรถว่า มยา (อันเรา) ในคำเป็นต้นว่า คาถาภิคีตํ เม อโภชนียํ โภชนะที่ได้มาเพราะขับคำร้อยกรอง อันเราไม่ควรบริโภค.
               เม ศัพท์มีอรรถว่า มยฺหํ (แก่เรา) ในคำเป็นต้นว่า สาธุ เม ภนฺเต ภควา สงฺขิตฺเตน ธมฺมํ เทเสตุ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ สาธุ! ขอพระผู้มีพระภาคเจ้าโปรดทรงแสดงธรรมโดยย่อแก่ข้าพระองค์เถิด.
               เม ศัพท์มีอรรถว่า มม (ของเรา) ในคำเป็นต้นว่า ธมฺมทายาทา เม ภิกฺขเว ภวถ ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอจงเป็นธรรมทายาทของเรา.
               แต่ในที่นี้ ใช้ในอรรถทั้ง ๒ คือ มยา สุตํ อันข้าพเจ้าฟังมาแล้ว และว่า มม สุตํ การฟังของข้าพเจ้า.
               ศัพท์ว่า สุต ในบทว่า สุตํ นี้ ทั้งที่มีอุปสรรค และทั้งที่ไม่มีอุปสรรค มีประเภทแห่งอรรถเป็นอันมาก เช่น คมนะ ไป, วิสุตะ ปรากฏ, กิลินนะ ชุ่ม, อุปจิตะ สำรวม, อนุยุตฺตะ ขวนขวาย, โสตวิญเญยยะ เสียงที่รู้ด้วยโสต, และโสตทวารานุสสารวิญญาต รู้ทางโสตทวารเป็นต้น
               จริงอย่างนั้น สุตํ ศัพท์นั้นมีอรรถว่า ไป ในคำเป็นต้นว่า เสนาย ปสุโต ไปในกองทัพ. เมื่ออรรถว่า เป็นธรรมปรากฏแล้ว ในคำเป็นต้นว่า สุตธมฺมสฺส ปสฺสโต ผู้มีธรรมปรากฎแล้ว เห็นอยู่. อรรถว่า ภิกษุณีผู้ชุ่มด้วยราคะต่อบุรุษผู้ชุ่มด้วยราคะ ในคำเป็นต้นว่า อวสฺสุตา อวสฺสุตสฺส ภิกษุณีผู้กำหนัดด้วยราคะ ต่อบุรุษผู้กำหนัดด้วยราคะ. อรรถว่า สั่งสม ในคำเป็นต้นว่า ตุมฺเหหิ ปุญฺญํ ปสุตํ อนปฺปกํ ท่านสั่งสมบุญไว้มิใช่น้อย. อรรถว่า ขวนขวายในฌาน ในคำเป็นต้นว่า เย ฌานปสุตา ธีรา นักปราชญ์เหล่าใด ผู้ขวนขวายในฌาน. อรรถว่า เสียงที่รู้ด้วยโสต ในคำเป็นต้นว่า ทิฏฺฐํ สุตํ มุตํ รูปที่เห็น เสียงที่ได้ยิน อารมณ์ที่รู้. อรรถว่า ทรงความรู้ตามกระแสโสตทวาร ในคำเป็นต้นว่า สุตธโร สุตสนฺนิจฺจโย ผู้ทรงความรู้สั่งสมความรู้.
               แต่ในที่นี้ สุตศัพท์มีอรรถว่า อุปธาริตํ ทรงไว้ทางโสตทวาร หรือว่า อุปธารณํ ความทรงจำ.
               จริงอยู่ เมื่อ เมศัพท์มีอรรถว่า มยา ความว่า ข้าพเจ้าได้ฟังมาแล้วอย่างนี้ คือเข้าไปทรงจำตามกระแสแห่งโสตทวารก็ถูก. เมื่อมีอรรถว่า มม ความว่า การฟังของข้าพเจ้าอย่างนี้ คือการทรงจำตามกระแสแห่งโสตทวาร ก็ถูก.
               บรรดาบททั้ง ๓ นั้นดังว่ามานี้ บทว่า เอวํ เป็นบทแสดงกิจคือหน้าที่ของวิญญาณมีโสตวิญญาณเป็นต้น.
               บทว่า เม เป็นบทแสดงบุคคลที่พรั่งพร้อมด้วยวิญญาณดังกล่าวแล้ว. บทว่า สุตํ เป็นบทแสดงถึงการถือเอาไม่ขาดไม่เกิน ไม่วิปริต เพราะปฏิเสธภาวะที่ไม่ได้ยิน.
               อนึ่ง บทว่า เอวํ เป็นบทประกาศว่าวิญญาณวิถีที่เป็นไปแล้วตามกระแสแห่งโสตทวารนั้น เป็นไปในอารมณ์โดยประการต่างๆ.
               บทว่า เม เป็นบทประกาศตน. บทว่า สุตํ เป็นบทประกาศธรรม.
               ก็ในที่นี้ มีความสังเขปดังนี้ว่า ข้าพเจ้าไม่กระทำกิจอย่างอื่น แต่กิจนี้ข้าพเจ้าทำแล้ว ธรรมนี้ ข้าพเจ้าฟังมาแล้วโดยวิญญาณวิถีที่เป็นไปในอารมณ์โดยประการต่างๆ.
               อนึ่ง บทว่า เอวํ เป็นบทประกาศอรรถที่จะพึงชี้แจง. บทว่า เม เป็นบทประกาศบุคคล. บทว่า สุตํ เป็นบทประกาศกิจของบุคคล. ท่านอธิบายไว้ว่า ข้าพเจ้าชี้แจงพระสูตรใด พระสูตรนั้น ข้าพเจ้าฟังมาแล้วอย่างนี้.
               อนึ่ง ศัพท์ว่า เอวํ แสดงอาการต่างๆ ของจิตสันดานที่ถือเอาอรรถและพยัญชนะต่างๆ เพราะจิตสันดานเป็นไปต่างๆ กัน
               จริงอยู่ ศัพท์ว่า เอวํ นี้ แสดงถึงบัญญัติคือการรู้โดยอาการ. ศัพท์ว่า เม แสดงถึงผู้ทำ. ศัพท์ว่า สุตํ แสดงอารมณ์. ด้วยคำเพียงเท่านี้ การตกลงโดยยึดเอาผู้ทำอารมณ์ของท่านผู้พรั่งพร้อมด้วยจิตสันดานนั้น เป็นอันกระทำแล้วด้วยจิตสันดาน อันเป็นไปโดยประการต่างๆ.
               อีกอย่างหนึ่ง เอวํ ศัพท์ แสดงกิจของบุคคล สุตํ ศัพท์ แสดงกิจของวิญญาณ เม ศัพท์แสดงบุคคลผู้ประกอบกิจทั้ง ๒ ก็ในที่นี้มีความสังเขปดังนี้ว่า ข้าพเจ้าเป็นบุคคลผู้พรั่งพร้อมด้วยวิญญาณซึ่งมีกิจคือการฟัง ได้ฟังมาแล้ว โดยโวหารว่า กิจคือการฟังที่ได้มาเนื่องด้วยวิญญาณ.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า เอวํ และบทว่า เม เป็นอวิชชมานบัญญัติ บัญญัติสิ่งที่ไม่มีอยู่ด้วยสามารถแห่งสัจฉิกัฎฐ์และปรมัตถ.
               จริงอยู่ ในที่นี้ คำที่จะพึงได้นิเทศว่า เอวํ หรือว่า เม เมื่อว่าโดยปรมัตถ์จะมีอยู่ด้วยหรือ
               บทว่า สุตํ เป็นวิชชมานบัญญัติ บัญญัติสิ่งที่มีอยู่ คือในที่นี้สิ่งที่ได้มาด้วยโสตวิญญาณนั้นมีอยู่โดยปรมัตถ์.
               บทว่า เอวํ และว่า เม เป็นอุปาทายบัญญัติเพราะอาศัยสิ่งที่ได้มาด้วยโสตะนั้นๆ กล่าวโดยประการนั้น.
               บทว่า สุตํ เป็นอุปนิธายบัญญัติ (บัญญัติในการตั้งไว้) เพราะเก็บเอาสิ่งที่เห็นแล้วเป็นต้นมากล่าว.
               อนึ่ง บรรดาคำทั้ง ๒ นั้น ด้วยคำว่า เอวํ ท่านพระอานนท์แสดงถึงความไม่หลง. จริงอยู่ ผู้หลงย่อมไม่สามารถจะเข้าใจได้โดยประการต่างๆ.
               ด้วยคำว่า สุตํ ท่านพระอานนท์แสดงความไม่ลืมข้อที่ฟังแล้ว. จริงอยู่ ผู้ใดฟังแล้วแต่ลืมเสีย ต่อมาผู้นั้นก็รับรองไม่ได้ว่า ข้าพเจ้าฟังมาแล้ว ดังนั้น พระอานนท์นั้นชื่อว่าสำเร็จด้วยปัญญา เพราะความไม่หลง ชื่อว่าสำเร็จด้วยสติ เพราะความไม่ลืม
               บรรดาปัญญาและสตินั้นความที่สติซึ่งมีปัญญาเป็นตัวนำ สามารถจะทรงจำพยัญชนะได้ ความที่ปัญญาซึ่งมีสติเป็นตัวนำ สามารถเข้าใจอรรถได้ ชื่อว่าสำเร็จด้วยความเป็นธรรมภัณฑาคาริก เพราะสามารถอนุรักษ์คลังธรรม ซึ่งสมบูรณ์ด้วยอรรถและพยัญชนะ เพราะประกอบด้วยความสามารถทั้ง ๒ อย่างนั้น.
               อีกนัยหนึ่ง ก็ด้วยคำว่า เอวํ ท่านพระอานนท์แสดงความใส่ใจโดยแยบคาย เพราะเมื่อใส่ใจโดยไม่แยบคาย ก็ไม่เข้าใจโดยประการต่างๆ ได้
               ก็ด้วยคำว่า สุตํ ท่านพระอานนท์แสดงถึงความไม่ฟุ้งซ่าน. จริงอย่างนั้น บุคคลผู้มีจิตฟุ้งซ่าน แม้เขาจะพูดโดยถูกต้องทุกอย่าง ก็กล่าวว่า ข้าพเจ้าไม่ได้ยิน ท่านจงกล่าวอีก
               ก็ด้วยการใส่ใจโดยแยบคาย ในข้อนี้ ย่อมให้สำเร็จอัตตสัมมาปณิธิ ความตั้งตนไว้ชอบ และปุพเพกตปุญญตา ความเป็นผู้มีบุญอันได้ทำไว้ในปางก่อน เพราะผู้ที่ไม่ตั้งตนไว้ชอบและไม่กระทำบุญไว้ในปางก่อน ก็เป็นอย่างอื่นคือไม่มีโยนิโสมนสิการ ด้วยความไม่ฟุ้งซ่าน ก็ให้สำเร็จสัทธัมมัสสวนะ การฟังพระสัทธรรม และสัปปุริสูปสังสยะ การเข้าไปคบหาสัตบุรุษ. เพราะผู้ที่มีจิตฟุ้งซ่านไม่อาจฟัง และเมื่อไม่เข้าไปหาสัตบุรุษ การฟังก็ไม่มีแล.
               อีกนัยหนึ่ง เพราะเหตุที่กล่าวมาแล้วว่า ศัพท์ว่า เอวํ แสดงอาการต่างๆ ของจิตตสันดานที่ถือเอาอรรถและพยัญชนะต่างๆ เพราะจิตตสันดานเป็นไปต่างๆ กัน และจิตตสันดานนั้น ก็คืออาการอันงามอย่างนี้ ย่อมไม่มีแก่ผู้ไม่ตั้งตนไว้ชอบ หรือแก่ผู้ไม่กระทำบุญไว้ในปางก่อน ฉะนั้น ด้วยคำว่า เอวํ นี้ท่านพระอานนท์แสดงสมบัติ คือจักรธรรม ๒ ข้อหลังของตนด้วยอาการอันงาม แสดงสมบัติคือจักรธรรม ๒ ข้อแรกโดยประกอบการฟังด้วยบทว่า สุตํ.
               เพราะผู้อยู่ในประเทศอันไม่สมควรและผู้เว้นจากการเข้าไปคบหาสัตบุรุษ การฟังก็ไม่มี ดังนั้น ท่านพระอานนท์นั้นจึงสำเร็จอาสยสุทธิ ความหมดจดแห่งอาสยะ เพราะความสำเร็จแห่งจักรธรรม ๒ ข้อหลัง สำเร็จปโยคสุทธิ ความหมดจดแห่งการประกอบ เพราะความสำเร็จแห่งจักรธรรม ๒ ข้อข้างต้น และท่านพระอานนท์สำเร็จความเชี่ยวชาญในอาคม (นิกายทั้ง ๕) ก็เพราะอาสยสุทธิ ความหมดจดแห่งอาสยะนั้น. สำเร็จความเชี่ยวชาญในอธิคม (มรรคผล) ก็เพราะปโยคสุทธิ ความหมดจดแห่งประโยค.
               ดังนั้น คำของพระอานนท์ผู้หมดจดด้วยประโยค การประกอบและอาสยะอัธยาศัย ผู้ถึงพร้อมด้วยอาคมและอธิคม จึงควรจะเป็นเบื้องต้น (ตัวนำ) แห่งพระดำรัสของพระผู้มีพระภาคเจ้า เหมือนอรุณขึ้นเป็นเบื้องต้นของอาทิตย์อุทัยและเหมือนโยนิโสมนสิการ เป็นเบื้องต้นแห่งกุศลกรรมฉะนั้น เพราะฉะนั้น ท่านพระอานนท์เมื่อตั้งนิทานวจนะ คำเริ่มต้นในฐานที่ควรจึงกล่าวคำเป็นต้นว่า เอวมฺเม สุตํ ดังนี้.
               อีกนัยหนึ่ง ท่านพระอานนท์แสดงสภาวะแห่งสมบัติ คืออรรถปฏิสัมภิทาและปฏิภาณปฏิสัมภิทาของตน ด้วยคำอันแสดงถึงความรู้แจ้งด้วยประการต่างๆ ด้วยคำว่า เอวํ นี้. แสดงสภาวะแห่งสมบัติคือ ธรรมปฏิสัมภิทา และนิรุตติปฏิสัมภิทา ด้วยคำอันแสดงความถึงความรู้แจ้งประเภทแห่งธรรมที่ควรฟังด้วยคำว่า สุตํ นี้.
               พระเถระเมื่อกล่าวถึงคำอันแสดงโยนิโสมนสิการนี้ว่า เอวํ ย่อมแสดงว่า ธรรมเหล่านี้ เราเพ่งพินิจแล้วด้วยใจ ขบคิดดีแล้วด้วยทิฏฐิ. พระเถระเมื่อกล่าวถึงคำอันแสดงการประกอบเนืองๆ ซึ่งการฟังนี้ว่า สุตํ ย่อมแสดงว่า ธรรมเป็นอันมาก เราฟังแล้ว ทรงจำแล้ว คล่องปากแล้ว แม้ด้วยคำทั้ง ๒ นั้น
               พระเถระเมื่อแสดงความบริบูรณ์แห่งอรรถและพยัญชนะ จึงทำให้เกิดความเอื้อเฟื้อในการฟัง.
               จริงอยู่ บุคคลเมื่อไม่ฟังธรรมที่บริบูรณ์ด้วยอรรถและพยัญชนะ ด้วยความเอื้อเฟื้อ ย่อมเหินห่างจากประโยชน์เกื้อกูลเป็นอันมาก เพราะฉะนั้น ควรทำความเอื้อเฟื้อให้เกิดแล้ว ฟังธรรมโดยเคารพเถิด.
               อนึ่ง ด้วยคำทั้งสิ้นว่า เอวมฺเม สุตํ นี้ ท่านพระอานนท์เมื่อไม่ตั้งธรรมที่ตถาคตประกาศแล้วไว้กับตน ชื่อว่าก้าวล่วงภูมิอสัตบุรุษ. เมื่อปฎิญญาความเป็นพระสาวก ชื่อว่าหยั่งลงสู่ภูมิสัตบุรุษ.
               อนึ่ง ทำจิตให้ออกจากอสัทธรรม ชื่อว่าตั้งจิตไว้ในสัทธรรม. เมื่อแสดงว่า อ้างอิงพระดำรัสของพระชินเจ้า ชื่อว่าดำรงธรรมเนตติไว้ (เนตติคือชักนำสัตว์ในประโยชน์โลกนี้ ประโยชน์โลกหน้า และปรมัตถประโยชน์ ตามควร)
               อีกนัยหนึ่ง ท่านพระอานนท์เมื่อไม่ปฏิญาณว่าธรรมนั้นตนทำให้เกิดขึ้น จึงไขคำเบื้องต้นว่า เอวมฺเม สุตํ กำจัดความไม่มีศรัทธา ทำสัทธาสมบัติให้เกิดขึ้นในธรรมนี้แก่เทวดาและมนุษย์ทุกเหล่าว่า พระดำรัสนี้เรารับแล้ว ในที่เฉพาะพระพักตร์ของพระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น ผู้แกล้วกล้าด้วยเวสารัชชญาณ ๔ ผู้ทรงไว้ซึ่งพลญาณ ผู้ดำรงอยู่ในฐานะอันประเสริฐ ผู้บันลือสีหนาท ผู้สูงสุดกว่าสัตว์ทั้งปวง ผู้เป็นใหญ่ในธรรม ผู้เป็นพระธรรมราชา เป็นธรรมาธิบดี ผู้มีธรรมเป็นปทีป ผู้มีธรรมเป็นที่พึ่ง ผู้หมุนล้อคือพระสัทธรรมอันประเสริฐ ผู้ตรัสรู้เองโดยชอบ จึงไม่ควรทำความสงสัยหรือความเคลือบแคลงในอรรถ ธรรม บทหรือพยัญชนะ ในคำนี้.
               เพราะเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวคำนี้ไว้ว่า
                         วินาสยติ อสฺสทฺธํ สทฺธํ วฑฺเฒติ สาสเน
                         เอวมฺเม สุตมิจฺเจวํ วทํ โคตมสาวโก

                                   สาวกของพระโคดม เมื่อกล่าวอย่างนี้ว่า
                         เอวมฺเม สุตํ ชื่อว่าทำความไม่มีศรัทธาให้พินาศ
                         ทำศรัทธาในพระศาสนาให้เจริญ

               ศัพท์ว่า เอกํ แสดงการกำหนดจำนวน. ศัพท์ว่า สมยํ แสดงกาลที่กำหนดไว้แล้ว. คำว่า เอกํ สมยํ เป็นคำแสดงเวลาไม่แน่นอน.
               สมยศัพท์ ในคำว่า เอกํ สมยํ นั้น ใช้ในสมวายะ พร้อมเพรียง ๑ ขณะ ๑ กาล ๑ สมุหะ ชุมนุม ๑ เหตุ ๑ ทิฎฐิ ความเห็น ๑ ปฏิลาภะ การได้เฉพาะ ๑ ปหานะ การละ ๑ ปฏิเวธ การแทงตลอด ๑.
               จริงอย่างนั้น สมย ศัพท์ มีอรรถว่า สมวายะ พร้อมเพรียง ในคำมีอาทิอย่างนี้ว่า อปฺเปว นาม เสฺวปิ อุปสงฺกเมยฺยาม กาลญฺจ สมยญฺจ อุปาทาย ถ้ากระไร แม้พรุ่งนี้ เราทั้งหลาย พึงอาศัยกาละและความพร้อมเพรียงกันเข้าไป.
               มีอรรถว่า ขณะ ในคำมีอาทิอย่างนี้ว่า เอโก จ โข ภิกฺขเว ขโณ จ สมโย จ พฺรหฺมจริยวาสาย ภิกษุทั้งหลาย ขณะ และสมัยหนึ่ง มีเพื่ออยู่ประพฤติพรหมจรรย์แล.
               มีอรรถว่า กาล ในคำมีอาทิอย่างนี้ว่า อุณฺหสมโย ปริฬาหสมโย คราวร้อน คราวกระวนกระวาย.
               มีอรรถว่า สมุหะ ประชุม ในคำมีอาทิอย่างนี้ว่า มหาสมโย ปวนสฺมึ ประชุมใหญ่ในป่าใหญ่.
               มีอรรถว่า เหตุ ในคำมีอาทิอย่างนี้ว่า สมโย ปิ โข เต ฯเปฯ อปฺปฏิวิทฺโธ อโหสิ แม้เหตุนี้แล ได้เป็นเหตุที่เธอไม่รู้แจ้งว่า แม้พระผู้มีพระภาคเจ้าแลเสด็จอยู่ในกรุงสาวัตถี. แม้พระองค์จักทรงทราบเราว่า ภิกษุชื่อภัททาลิ มิใช่ผู้มีปกติทำให้บริบูรณ์ด้วยสิกขาในศาสนาของพระศาสดา ดูก่อนภัททาลิ เหตุแม้นี้แลได้เป็นเหตุที่เธอไม่รู้แจ้งแล้ว.
               มีอรรถว่า ลัทธิ ในคำมีอาทิอย่างนี้ว่า เตน โข ปน สมเยน ฯเปฯ สมยปฺปวาทเก ติณฺฑุกาจิเร เอกสาลเก มลฺลิกาย อาราเม ปฏิวสติ ก็สมัยนั้นแล ปริพาชกชื่ออุคคาหมานะ บุตรของสมณมุณฑิกา อาศัยอยู่ในอารามของพระนางมัลลิกา มีศาลาหลังเดียว มีต้นมะพลับเรียงราย อันเป็นที่สอนลัทธิ.
               มีอรรถว่า ได้เฉพาะ ในคำมีอาทิอย่างนี้ว่า
                         ทิฏฺเฐ ธมฺเม จ โย อตฺโถ โย จตฺโถ สมฺปรายิโก
                         อตฺถาภิสมยา ธีโร ปณฺฑิโตติ ปวุจฺจติ

                         ผู้มีปัญญาเป็นเครื่องทรงจำ เราเรียกว่าบัณฑิต
                         เพราะการได้เฉพาะซึ่งประโยชน์ทั้งภพนี้และ
                         ภพหน้า.

               มีอรรถว่า ปหานะ ละ ในคำมีอาทิอย่างนี้ว่า สมฺมามานาภิสมยา อนฺตมกาสิ ทุกฺขสฺ ภิกษุนี้ได้กระทำที่สุดทุกข์ เพราะละมานะโดยชอบ.
               มีอรรถว่า ปฏิเวธ แทงตลอด ในคำมีอาทิอย่างนี้ว่า ทุกฺขสฺส ปีฬนฏฺโฐ ฯลฯ วิปริณามฏฺโฐ อภิสมยฏฺโฐ ทุกข์มีอรรถว่าบีบคั้น ปรุงแต่ง เร่าร้อน แปรปรวน แทงตลอด.
               แต่ในที่นี้ สมยศัพท์นั้น มีอรรถว่า กาล.
               ด้วยคำนั้น พระเถระแสดงว่า สมัยหนึ่ง ในบรรดาสมัยทั้งหลายอันเป็นประเภทแห่งกาลเป็นต้นว่า ปี ฤดู เดือน กึ่งเดือน กลางคืน กลางวัน เช้า เที่ยง เย็น ปฐมยาม มัชฌิมยาม ปัจฉิมยามและครู่.
               ในคำว่า เอกํ สมยํ นั้น บรรดาสมัยมีปีเป็นต้นเหล่านั้น พระสูตรใดๆ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ในปี ฤดู เดือน ปักษ์ ส่วนแห่งราตรี ส่วนแห่งวันไรๆ ทั้งหมดนั้น พระเถระรู้ดีแล้ว กำหนดดีแล้วด้วยปัญญาแม้โดยแท้ ถึงอย่างนั้น เมื่อพระเถระกล่าวไว้อย่างนี้ว่า ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้ว่า ในปีโน้น ฤดูโน้น เดือนโน้น ปักษ์โน้น กาลอันเป็นส่วนแห่งราตรีโน้น ส่วนแห่งวันโน้น ใครๆ ก็ไม่สามารถจะทรงจำได้หรือแสดงได้ หรือให้ผู้อื่นแสดงได้โดยง่าย และเป็นเรื่องที่ต้องกล่าวมาก ฉะนั้นท่านจึงประมวลเนื้อความนั้นไว้ด้วยบทเดียวเท่านั้น แล้วกล่าวว่า เอกํ สมยํ ดังนี้.
               อีกอย่างหนึ่ง ท่านพระอานนท์ย่อมแสดงว่า สมัยของพระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นประเภทของกาลมิใช่น้อยทีเดียว ที่ปรากฏมากมายในหมู่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย มีอาทิอย่างนี้ คือ สมัยเสด็จก้าวลงสู่พระครรภ์ สมัยประสูติ สมัยทรงสลดพระทัย สมัยเสด็จออกผนวช สมัยทรงบำเพ็ญทุกกรกิริยา สมัยทรงชนะมาร สมัยตรัสรู้ สมัยประทับเป็นสุขในทิฏฐธรรม สมัยตรัสเทศนา สมัยเสด็จปรินิพพานเหล่านี้ใด ในบรรดาสมัยเหล่านั้น สมัยหนึ่ง คือสมัยตรัสเทศนา
               อนึ่ง ในบรรดาสมัยแห่งญาณกิจและกรุณากิจ สมัยแห่งกรุณากิจนี้ใด ในบรรดาสมัยทรงบำเพ็ญประโยชน์พระองค์และทรงบำเพ็ญประโยชน์ผู้อื่น สมัยทรงบำเพ็ญประโยชน์ผู้อื่นนี้ใด ในบรรดาสมัยแห่งกรณียะทั้งหลายแก่ผู้ประชุมกัน สมัยตรัสธรรมีกถานี้ใด ในบรรดาสมัยแห่งเทศนาและปฏิบัติ สมัยแห่งเทศนานี้ใด ท่านพระอานนท์กล่าวว่า สมัยหนึ่ง ดังนี้ หมายถึงสมัยใดสมัยหนึ่ง ในบรรดาสมัยทั้งหลายแม้เหล่านั้น.
               ถามว่า ก็เหตุไร ในพระสูตรนี้ท่านจึงทำนิเทศด้วยทุติยาวิภัตติว่า เอกํ สมยํ ไม่กระทำเหมือนอย่างในพระอภิธรรม ซึ่งท่านได้ทำนิเทศด้วยสัตตมีวิภัตติว่า ยสฺมึ สมเย กามาวจรํ และในสุตบทอื่นๆ จากพระอภิธรรมนี้ ก็ทำนิเทศด้วยสัตตมีวิภัตติว่า ยสฺมึ สมเย ภิกฺขเว ภิกฺขุ วิวิจฺเจว กาเมหิ ส่วนในพระวินัยท่านทำนิเทศด้วยตติยาวิภัตติว่า เตน สมเยน พุทฺโธ ภควา ?
               ตอบว่า เพราะในพระอภิธรรมและพระวินัยนั้นมีอรรถเป็นอย่างนั้น. ส่วนในพระสูตรนี้มีอรรถเป็นอย่างอื่น.
               จริงอยู่ บรรดาปิฎกทั้ง ๓ นั้น ในพระอภิธรรมและในสุตตบทอื่นจากพระอภิธรรมนี้ ย่อมสำเร็จอรรถแห่งอธิกรณะและอรรถแห่งการกำหนดภาวะด้วยภาวะ.
               ก็อธิกรณะคือสมัยที่มีกาลเป็นอรรถและมีประชุมเป็นอรรถและภาวะแห่งธรรมมีผัสสะเป็นต้น ท่านกำหนดด้วยภาวะแห่งสมัยกล่าวคือขณะความพร้อมเพรียงและเหตุแห่งธรรมมีผัสสะเป็นต้น ที่ตรัสไว้ในพระอภิธรรมและสุตตบทอื่นนั้นๆ เพราะฉะนั้นเพื่อส่องอรรถนั้น ท่านจึงทำนิเทศด้วยสัตตมีวิภัตติในพระอภิธรรมและในสุตตบทอื่นนั้น.
               ส่วนในพระวินัย ย่อมสำเร็จอรรถแห่งเหตุแลอรรถแห่งกรณะ.
               จริงอยู่ สมัยแห่งการทรงบัญญัติสิกขาบทนั้นใด แม้พระสาวกมีพระสารีบุตรเป็นต้นก็ยังรู้ยาก โดยสมัยนั้นอันเป็นเหตุและเป็นกรณะ พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อทรงบัญญัติสิกขาบททั้งหลายและทรงพิจารณาถึงเหตุแห่งการทรงบัญญัติสิกขาบท ได้ประทับอยู่ในที่นั้นๆ เพราะฉะนั้น เพื่อส่องความข้อนั้น ท่านจึงทำนิเทศด้วยตติยาวิภัตติในพระวินัยนั้น.
               ส่วนในพระสูตรนี้และพระสูตรอื่นที่มีกำเนิดอย่างนี้ ย่อมสำเร็จอรรถแห่งอัจจันตะสังโยคะ.
               จริงอยู่ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงพระสูตรนี้หรือพระสูตรอื่นตลอดสมัยใด เสด็จประทับอยู่ด้วยธรรมเป็นเครื่องอยู่คือกรุณาตลอดสมัยนั้นทีเดียว. เพราะฉะนั้นเพื่อส่องความข้อนั้น ท่านจึงทำนิเทศด้วยทุติยาวิภัตติในพระสูตรนี้.
               เพราะเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวคาถาประพันธ์ไว้ดังนี้ว่า
                         ท่านพิจารณาอรรถนั้นๆ กล่าวสมยศัพท์ในปิฎกอื่น
                         ด้วยสัตตมีวิภัตติและตติยาวิภัตติ แต่ในพระสุตตันต
                         ปิฎกนี้ กล่าวสมยศัพท์นั้นด้วยทุติยาวิภัตติ.

               ก็พระโบราณาจารย์ทั้งหลายพรรณนาไว้ว่า นี้ต่างกันแต่เพียงโวหารว่า ตสฺมึ สมเย บ้าง เตน สมเยน บ้าง ตํ สมยํ บ้าง ในที่ทุกแห่งมีอรรถเป็นสัตตมีวิภัติทั้งนั้น เพราะฉะนั้น แม้ท่านกล่าวว่า เอกํ สมยํ ก็พึงทราบเนื้อความว่า เอกสฺมึ สมเย (ในสมัยหนึ่ง)
               บทว่า ภควา เป็นคำกล่าวด้วยความเคารพ.
               จริงอยู่ คนทั้งหลายเรียกครูในโลกว่า ภควา. ก็พระผู้มีพระภาคเจ้านี้เป็นครูของสัตว์ทั้งปวง เพราะเป็นผู้ประเสริฐพิเศษโดยคุณทั้งปวง เพราะฉะนั้น พึงทราบพระองค์ว่า ภควา.
               แม้พระโบราณาจารย์ทั้งหลายก็กล่าวไว้ว่า
                         คำว่า ภควา เป็นคำประเสริฐ คำว่า ภควา เป็นคำสูงสุด
                         พระผู้มีพระภาคเจ้านั้น ผู้ควรแก่ความเคารพโดยฐาน
                         ครู เพราะเหตุนั้น บัณฑิตจึงขนานพระนามว่า ภควา.

               อีกอย่างหนึ่ง บัณฑิตพึงทราบความแห่งบทนั้น โดยพิสดารด้วยอำนาจแห่งคาถานี้ว่า
                         พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเป็นผู้มีโชค ทรงหักกิเลส
                         ทรงประกอบด้วยภคธรรม ทรงจำแนกแจกธรรม
                         ทรงน่าคบ และทรงคายกิเลสเป็นเครื่องไปในภพ
                         ทั้งหลายเสียได้ เพราะเหตุนั้นทรงพระนามว่า ภควา

               เนื้อความนั้นกล่าวไว้แล้วโดยพิสดารในพุทธานุสสตินิเทศ ในคัมภีร์วิสุทธิมรรคนั้นแล.
               ก็ด้วยคำมีประมาณเท่านี้ พระเถระเมื่อแสดงธรรมตามที่ฟังมา จึงกระทำพระสรีระคือพระธรรมของพระผู้มีพระภาคเจ้าให้ประจักษ์ด้วยคำว่า เอวมฺเม สุตํ ในสูตรนี้.
               ด้วยคำนั้น พระเถระชื่อว่าปลอบโยนคนผู้รันทด เพราะไม่ได้เห็นพระศาสดาว่า ปาพจน์ (ธรรมและวินัย) นี้ ชื่อว่ามีศาสดาล่วงไปแล้วหามิได้ พระธรรมวินัยนี้ เป็นศาสดาของท่านทั้งหลาย.
               ด้วยคำว่า เอกํ สมยํ ภควา พระเถระ เมื่อจะแสดงว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าไม่มีอยู่ในสมัยนั้น ชื่อว่ายกการปรินิพพาน ทางรูปกายให้เห็น ด้วยคำนั้น พระเถระจึงทำผู้มัวเมา เพราะความเมาในชีวิตให้เกิดความสังเวช และทำให้คนนั้นเกิดความอุตสาหะในพระสัทธรรมว่า พระผู้มีพระภาคเจ้านั้นผู้ทรงไว้ซึ่งทศพลญาณ มีพระวรกายเสมอด้วยรางเพชร ผู้ทรงแสดงอริยธรรมชื่ออย่างนี้ ยังปรินิพพาน คนอื่นใครเล่าจะพึงให้เกิดความหวังในชีวิต
               และพระเถระเมื่อกล่าวว่า เอวํ ชื่อว่าชี้เทศนาสมบัติ (สมบัติคือการแสดง). กล่าวว่า เม สุตํ ชื่อว่าชี้ถึงสาวกสมบัติ (สมบัติของสาวก). กล่าวว่า เอกํ สมยํ ชื่อว่าชี้ถึงกาลสมบัติ (สมบัติคือเวลา). กล่าวว่า ภควา ชื่อว่าชี้ถึงเทสกสมบัติ (สมบัติคือผู้แสดง).
               บทว่า สาวตฺถิยํ ได้แก่ ใกล้นครชื่ออย่างนี้. ก็คำว่า สาวตฺถิยํ นี้เป็นสัตตมีวิภัติ ใช้ในอรรถว่าใกล้.
               บทว่า วิหรติ นี้ เป็นบทแสดงความพรั่งพร้อมแห่งการอยู่อย่างใดอย่างหนึ่ง ในบรรดาอิริยาบถวิหาร ทิพวิหาร พรหมวิหารและอริยวิหาร โดยไม่แปลกกัน. แต่ในที่นี้แสดงการประกอบพร้อมด้วยอิริยาบถอย่างใดอย่างหนึ่ง บรรดาอิริยาบถต่างโดยยืน เดิน นั่งและนอน ด้วยบทว่า วิหรติ นั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับยืนก็ดี เดินก็ดี นั่งก็ดี บรรทมก็ดี บัณฑิตพึงทราบว่าประทับอยู่ทั้งนั้น.
               จริงอยู่ พระผู้มีพระภาคเจ้านั้นทรงตัดขาดความลำบากแห่งอิริยาบถหนึ่ง ด้วยอิริยาบถหนึ่ง ทรงนำไปคือทำอัตภาพให้เป็นไป ไม่ให้ทรุดโทรม เพราะเหตุนั้น ท่านพระอานนท์จึงกล่าวว่า วิหรติ (ประทับอยู่).
               บทว่า เชตวเน ได้แก่ ในสวนของพระราชกุมารพระนามว่าเชต. สวนนั้น พระราชกุมารพระนามว่าเชต นั้นได้ปลูกต้นไม้ให้เจริญงอกงาม รักษาไว้อย่างดี และพระองค์ได้เป็นเจ้าของสวนนั้น เพราะฉะนั้น สวนนั้นจึงนับว่า เชตวัน. ในพระเชตวันนั้น.
               บทว่า อนาถปิณฺฑิกสฺส อาราเม ความว่า อารามอันนับว่าของท่านอนาถบิณฑิกะ เพราะเป็นอารามที่คฤหบดีนามว่าอนาถบิณฑิกะ มอบถวายแด่ภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประธาน โดยบริจาคทรัพย์เป็นเงิน ๕๔ โกฏิ. ก็ในที่นี้ ความสังเขปมีเพียงเท่านี้.
               ส่วนความพิสดารกล่าวไว้แล้วในอรรถกถาสัพพาสวสูตร อรรถกถามัชฌิมนิกายชื่อปปัญสูทนี ในข้อนั้น หากมีคำถามสอดเข้ามาว่า ถ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ที่กรุงสาวัตถีก่อน. พระเถระก็ไม่ควรกล่าวว่า พระวิหารชื่อว่า เชตวัน ถ้าพระองค์ประทับอยู่ในพระเชตวันนั้น ก็ไม่ควรกล่าวว่า ใกล้กรุงสาวัตถี. ความจริง ใครๆ ไม่อาจจะอยู่ได้ในที่ ๒ แห่งพร้อมคราวเดียวกัน
               แก้ว่า ข้อนั้นไม่พึงเห็นอย่างนั้น ข้าพเจ้าทั้งหลายได้กล่าวไว้แล้วมิใช่หรือว่า คำว่า สาวตฺถิยํ เป็นสัตตมีวิภัติ ใช้ในอรรถว่าใกล้ เพราะฉะนั้น แม้ในที่นี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ในพระวิหารชื่อว่าเชตวัน ที่อยู่ใกล้กรุงสาวัตถี ท่านพระอานนท์กล่าวว่า ประทับอยู่ในพระวิหารชื่อว่า เชตวัน ใกล้กรุงสาวัตถี เหมือนฝูงโคเที่ยวหากินใกล้แม่น้ำคงคาและแม่น้ำยมุนาเป็นต้น เขาก็เรียกว่า เที่ยวหากินใกล้แม่น้ำคงคา ใกล้แม่น้ำยมุนาฉะนั้น.
               จริงอยู่ การกล่าวถึงกรุงสาวัตถีของท่านพระอานนท์นั้น ก็เพื่อแสดงโคจรคาม การกล่าวถึงสถานที่ที่เหลือ ก็เพื่อแสดงสถานที่เป็นที่อาศัยอันสมควรแก่บรรพชิต.
               ในคำเหล่านั้น ด้วยคำว่า สาวตฺถิยํ ท่านพระอานนท์แสดงการที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงกระทำการอนุเคราะห์แก่คฤหัสถ์. แสดงการกระทำอนุเคราะห์แก่บรรพชิต ด้วยการระบุถึงพระเชตวัน
               อนึ่ง พระเถระแสดงการเว้นอัตตกิลมถานุโยค เพราะการรับปัจจัยด้วยคำต้น แสดงอุบายเป็นเครื่องเว้นกามสุขัลลิกานุโยค เพราะวัตถุกาม ด้วยคำหลัง.
               อนึ่ง แสดงการประกอบพระธรรมเทศนาด้วยคำต้น แสดงการน้อมไปเพื่อวิเวกด้วยคำหลัง. แสดงการมีพระกรุณาด้วยคำต้น แสดงการมีพระปัญญาด้วยคำหลัง. แสดงว่าทรงน้อมไปในอันให้สำเร็จหิตสุขแก่เหล่าสัตว์ด้วยคำต้น แสดงว่าไม่ทรงติดในการทำหิตสุขแก่ผู้อื่นด้วยคำหลัง. แสดงการที่ทรงอยู่ผาสุกด้วยการสละสุขที่ชอบธรรมเป็นนิมิต ด้วยคำต้น แสดงการทรงประกอบเนืองๆ ซึ่งธรรมอันยิ่งของมนุษย์เป็นนิมิต ด้วยคำหลัง. แสดงการที่ทรงเป็นผู้มีอุปการะมากแก่มนุษย์ทั้งหลายด้วยคำต้น แสดงการที่ทรงเป็นผู้มีอุปการะมากแก่เทวดาทั้งหลายด้วยคำหลัง แสดงการที่เสด็จอุบัติขึ้นในโลกแล้วเจริญพร้อมในโลกด้วยคำต้น แสดงการที่ไม่ทรงเข้าไปติดในโลกด้วยคำหลัง.
               แสดงทรงทำประโยชน์ที่เสด็จอุบัติให้สำเร็จเรียบร้อยด้วยคำต้น
               โดยพระบาลีว่า "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บุคคลเอก เมื่ออุบัติขึ้นในโลก ย่อมอุบัติขึ้นเพื่อเกื้อกูลแก่ชนมาก เพื่อความสุขแก่ชนมาก เพื่ออนุเคราะห์สัตว์โลก เพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุขแก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย บุคคลเอกคือบุคคลชนิดไหน คือ พระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า".
               แสดงการที่ทรงอยู่สมควรแก่สถานที่เป็นที่อุบัติด้วยคำหลัง.
               จริงอยู่ พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จอุบัติในป่าทั้งนั้น ด้วยอุบัติทั้งที่เป็นโลกิยะและโลกุตตระ คือครั้งแรกที่ลุมพินีวัน ครั้งที่ ๒ ที่โพธิมัณฑสถาน เพราะเหตุนั้น พระเถระจึงแสดงที่ประทับอยู่ของพระองค์ในป่าทั้งนั้น.
               ในสูตรนี้ พึงทราบการประกอบความโดยนัยดังกล่าวมาแล้วเป็นต้น ฉะนี้.
               บทว่า ตตฺร แสดงเทสะและกาละ. ก็บทว่า ตตฺร นั้น พระเถระแสดงว่า ในสมัยที่พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ และในอารามที่ประทับอยู่ หรือแสดงเทสะและกาละ อันควรจะกล่าวถึง.
               จริงอยู่ พระผู้มีพระภาคเจ้าไม่ตรัสธรรมในประเทศหรือในกาลอันไม่สมควร.๑-
               ก็คำว่า "ดูก่อนพาหิยะ นี้เป็นกาลไม่สมควรก่อน" เป็นข้อสาธกในเรื่องนี้.
____________________________
๑- ปาฐะว่า อยุตฺตเทเส วา ธมฺมํ ภาสติ พม่าเป็น อยุตฺเต เทเสวา กาเลวา ธมฺมํ ภาสติ.

               ศัพท์ว่า โข เป็นอวธารณะ ใช้ในอรรถเพียงทำบทให้เต็มหรือเป็นนิบาต ใช้ในอรรถว่า กาลเบื้องต้น.
               บทว่า ภควา แสดงความที่ทรงเป็นครูของโลก.
               บทว่า ภิกฺขุ เป็นคำแสดงถึงบุคคลผู้ควรฟังพระดำรัส.
               อีกอย่างหนึ่ง ในบทว่า ภิกษุ นี้พึงทราบอรรถแห่งคำมีอาทิว่า ชื่อว่าภิกษุ เพราะเป็นผู้ขอ หรือชื่อว่าภิกษุ เพราะเข้าถึงการเที่ยวขอ.
               บทว่า อามนฺเตสิ แปลว่า เรียก คือกล่าว ได้แก่ปลุกให้ตื่น. ในบทว่า อามนฺเตสิ นี้มีใจความดังนี้. แต่ในที่อื่นใช้ในอรรถว่าให้รู้ก็มี. เหมือนอย่างตรัสไว้ว่า ภิกษุทั้งหลาย เราขอบอกเธอทั้งหลายให้ทราบ ขอเตือนเธอทั้งหลาย. ใช้ในอรรถว่า เรียก ก็มี เหมือนอย่างที่ตรัสไว้ว่า มานี่แน่ะภิกษุ เธอจงเรียกสารีบุตรมาตามคำของเรา.

.. อรรถกถา อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต เอกธัมมาทิบาลี รูปาทิวรรคที่ ๑
อ่านอรรถกถาหน้าต่างที่ [๑] [๒]
อรรถกถา เล่มที่ 20 ข้อ 1อ่านอรรถกถา 20 / 12อ่านอรรถกถา 20 / 596
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=20&A=1&Z=41
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=14&A=1
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=14&A=1
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๒๒  ธันวาคม  พ.ศ.  ๒๕๔๙
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :