ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 2 / 1อ่านอรรถกถา 2 / 738อรรถกถา เล่มที่ 2 ข้อ 744อ่านอรรถกถา 2 / 751อ่านอรรถกถา 2 / 881
อรรถกถา ปาจิตติยกัณฑ์
ปาจิตติย์ รตนวรรคที่ ๙ สิกขาบทที่ ๓

               รตนวรรค วิกาเลคามัปปเวสนสิกขาบทที่ ๓               
               วินิจฉัยในสิกขาบทที่ ๓ พึงทราบดังนี้ :-

               [ว่าด้วยการบอกลาก่อนเข้าบ้านในเวลาวิกาล]               
               บทว่า ติรจฺฉานกถํ ได้แก่ ถ้อยคำเป็นเหตุขัดขวางต่ออริยมรรค.
               บทว่า ราชกถํ ได้แก่ ถ้อยคำอันเกี่ยวด้วยพระราชา. แม้ในโจรกถาเป็นต้นก็นัยนี้เหมือนกัน. คำที่ควรกล่าวในคำว่า สนฺตํภิกฺขุํ นี้ มีนัยดังกล่าวแล้วในจาริตสิกขาบทนั่นแล.
               ถ้าว่า ภิกษุมากรูปด้วยกัน จะเข้าไปยังบ้านด้วยการงานบางอย่าง, เธอทุกรูปพึงบอกลากันและกันว่า วิกาเล คามปฺปเวสนํ อาปุจฺฉาม แปลว่า พวกเราบอกลาการเข้าบ้านในเวลาวิกาล. การงานนั้นในบ้านนั้นยังไม่สำเร็จ เหตุนั้น ภิกษุจะไปสู่บ้านอื่น แม้ตั้งร้อยบ้านก็ตามที, ไม่มีกิจที่จะต้องบอกลาอีก.
               ก็ถ้าว่า ภิกษุระงับความตั้งใจแล้ว กำลังกลับไปยังวิหาร ใคร่จะไปสู่บ้านอื่นในระหว่างทางต้องบอกลาเหมือนกัน. ทำภัตกิจในเรือนแห่งสกุลก็ดี ที่โรงฉันก็ดี แล้วใคร่จะเที่ยวภิกษาน้ำมัน หรือภิกษาเนยใส. ก็ถ้ามีภิกษุอยู่ใกล้ๆ พึงบอกลาก่อนแล้วจึงไป. เมื่อไม่มี พึงไปด้วยใส่ใจว่า ภิกษุไม่มีย่างลงสู่ทางแล้วจึงเห็นภิกษุ ไม่มีกิจที่จะต้องบอกลา. แม้ไม่บอกลาก็ควรเที่ยวไปได้เหมือนกัน. มีทางผ่านไปท่ามกลางบ้าน เมื่อภิกษุเดินไปตามทางนั้น เกิดความคิดขึ้นว่า เราจักเที่ยวภิกษาน้ำมันเป็นต้น ถ้ามีภิกษุอยู่ใกล้ๆ พึงบอกลาก่อนจึงไป. แต่เมื่อไม่แวะออกจากทางเดินไปไม่มีกิจจำเป็นต้องบอกลา.
               บัณฑิตพึงทราบอุปจารแห่งบ้านที่ไม่ได้ล้อม โดยนัยดังกล่าวแล้วในอทินนาทานสิกขาบทนั่นแล.
               ในคำว่า อนฺตรารามํ เป็นต้น ไม่ใช่แต่ไม่บอกลาอย่างเดียว, แม้ภิกษุไม่คาดประคดเอว ไม่ห่มสังฆาฏิไป ก็ไม่เป็นอาบัติ.
               บทว่า อาปทาสุ มีความว่า สีหะก็ดี เสือก็ดี กำลังมา, เมฆตั้งเค้าขึ้นก็ดี อุปัทวะไรๆ อย่างอื่นเกิดขึ้นก็ดี ไม่เป็นอาบัติ. ในอันตรายเห็นปานนี้ จะไปยังภายในบ้านจากภายนอกบ้าน ควรอยู่.
               คำที่เหลือในสิกขาบทนี้ ตื้นทั้งนั้น.
               สิกขาบทนี้มีสมุฏฐานดุจกฐินสิกขาบท เกิดขึ้นทางกายกับวาจา ๑ ทางกายวาจากับจิต ๑ เป็นทั้งกิริยา ทั้งอกิริยา โนสัญญาวิโมกข์ อจิตตกะ ปัณณัตติวัชชะ กายกรรม วจีกรรม มีจิต ๓ มีเวทนา ๓ ดังนี้แล.

               วิกาเลคามัปปเวสนสิกขาบทที่ ๓ จบ.               
               ------------------------------------------------------------               

.. อรรถกถา ปาจิตติยกัณฑ์ ปาจิตติย์ รตนวรรคที่ ๙ สิกขาบทที่ ๓ จบ.
อ่านอรรถกถา 2 / 1อ่านอรรถกถา 2 / 738อรรถกถา เล่มที่ 2 ข้อ 744อ่านอรรถกถา 2 / 751อ่านอรรถกถา 2 / 881
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=2&A=14317&Z=14426
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=2&A=10207
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=2&A=10207
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๕  ธันวาคม  พ.ศ.  ๒๕๕๕
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :