ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 2 / 1อ่านอรรถกถา 2 / 658อรรถกถา เล่มที่ 2 ข้อ 662อ่านอรรถกถา 2 / 669อ่านอรรถกถา 2 / 881
อรรถกถา ปาจิตติยกัณฑ์
ปาจิตติย์ สัปปาณกวรรคที่ ๗ สิกขาบทที่ ๘

               สัปปาณกวรรค อริฏฐสิกขาบทที่ ๘               
               ในสิกขาบทที่ ๘ มีวินิจฉัยดังนี้ :-
               พวกชนที่ชื่อว่า พรานแร้ง เพราะอรรถว่า ได้ฆ่าแร้งทั้งหลาย.
               พระอริฏฐะชื่อว่า ผู้เคยเป็นพรานแร้งเพราะอรรถว่า ท่านมีบรรพบุรุษเป็นพรานแร้ง. ได้ความว่า เป็นบุตรของตระกูลเคยเป็นพรานแร้ง คือเกิดจากตระกูลพรานแร้งนั้น.

               [ว่าด้วยธรรมกระทำอันตรายแก่ผู้เสพ]               
               ธรรมเหล่าใด ย่อมทำอันตรายแก่สวรรค์และนิพพาน เพราะเหตุนั้น ธรรมเหล่านั้นชื่อว่า อันตรายิกธรรม. อันตรายิกธรรมเหล่านั้นมี ๕ อย่าง ด้วยอำนาจกรรม กิเลส วิบาก อุปวาทและอาณาวีติกกมะ.
               บรรดาอันตรายิกธรรมมีกรรมเป็นต้นนั้น ธรรมคืออนันตริยกรรม ๕ อย่าง ชื่อว่าอันตรายิกธรรม คือกรรม. ภิกขุนีทูสกกรรม ก็อย่างนั้น. แต่ภิกขุนีทูสกกรรมนั้น ย่อมทำอันตรายแก่พระนิพพานเท่านั้น หาทำอันตรายแก่สวรรค์ไม่. ธรรมคือนิยตมิจฉาทิฏฐิ ชื่อว่าอันตรายิกธรรมคือกิเลส. ธรรมคือปฏิสนธิของพวกบัณเฑาะก์ ดิรัจฉานและอุภโตพยัญชนก ชื่อว่าอันตรายิกธรรมคือวิบาก. การเข้าไปว่าร้ายพระอริยเจ้า ชื่อว่าอันตรายิกธรรมคืออุปวาทะ. แต่อุปวาทันตรายิกธรรมเหล่านั้น เป็นอันตรายตลอดเวลาที่ยังไม่ให้พระอริยเจ้าทั้งหลายอดโทษเท่านั้น, หลังจากให้ท่านอดโทษไป หาเป็นอันตรายไม่. อาบัติที่แกล้งต้อง ชื่อว่าอันตรายิกธรรมคืออาณาวีติกกมะ. อาบัติแม้เหล่านั้น ก็เป็นอันตรายตลอดเวลาที่ภิกษุผู้ต้องยังปฏิญญาความเป็นภิกษุหรือยังไม่ออก หรือยังไม่แสดงเท่านั้น ต่อจากทำคืนตามกรณีนั้นๆ แล้วหาเป็นอันตรายไม่.
               บรรดาอันตรายิกธรรมตามที่กล่าวแล้วนั้น ภิกษุนี้เป็นพหูสูต เป็นธรรมกถึก รู้จักอันตรายิกธรรมที่เหลือได้ แต่เพราะไม่ฉลาดในพระวินัย จึงไม่รู้อันตรายิกธรรม คือ การล่วงละเมิดพระบัญญัติ. เพราะฉะนั้น เธอไปอยู่ในที่ลับได้คิดอย่างนี้ว่า บุคคลผู้ครองเรือนเหล่านี้ยังบริโภคกามคุณ ๕ เป็นพระโสดาบันก็มี เป็นพระสกทาคามีก็มี เป็นพระอนาคามีก็มี แม้ภิกษุทั้งหลายก็เห็นรูปที่ชอบใจ พึงรู้ได้ทางจักษุ ฯลฯ ย่อมถูกต้องโผฏฐัพพะอันน่าชอบใจ พึงรู้ได้ทางกาย บริโภคเครื่องลาดและเครื่องนุ่งห่มเป็นต้นแม้อันอ่อนนุ่ม ข้อุนั้นควรทุกอย่าง เพราะเหตุไร รูปสตรีทั้งหลาย ฯลฯ โผฏฐัพพะ คือสตรีทั้งหลายจึงไม่ควรอย่างนี้เล่า? แม้สตรีเป็นต้นเหล่านี้ ก็ควร.
               เธอเทียบเคียงรสกับรสอย่างนี้แล้ว ทำการบริโภคกามคุณที่เป็นไปกับด้วยฉันทราคะ กับการบริโภคกามคุณที่ไม่มีฉันทราคะ ให้เป็นอันเดียวกัน ยังทิฏฐิอันลามกให้เกิดขึ้น ดุจบุคคลต่อด้ายละเอียดยิ่งกับเส้นปออันหยาบ ดุจเอาเขาสิเนรุเทียบกับเมล็ดผักกาด ฉะนั้น จึงขัดแย้งกับสรรเพชุดาญาณว่า ไฉน พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงบัญญัติปฐมปาราชิกด้วยความอุตสาหะมาก ดุจทรงกั้นมหาสมุทร โทษในกามเหล่านี้ ไม่มี ดังนี้ ตัดความหวังของพวกภัพบุคคล ได้ให้การประหารในอาณาจักรแห่งพระชินเจ้า. เพราะเหตุนั้น อริฏฐภิกษุจึงกล่าวว่า ตถาหํ ภควตา ธมฺมํ เทสิตํ อาชานามิ เป็นอาทิ.
               ในคำว่า อฏฺฐิกงฺกลูปมา เป็นต้น มีวินิฉัยว่า
               กามทั้งหลายเปรียบเหมือนโครงกระดูก ด้วยอรรถว่า มีรสอร่อยน้อย (มีความยินดีน้อย). เปรียบเหมือนชิ้นเนื้อ ด้วยอรรถว่า เป็นกายทั่วไปแก่สัตว์มาก. เปรียบเหมือนคบหญ้า ด้วยอรรถว่าตามเผาลน. เปรียบเหมือนหลุมถ่านเพลิง ด้วยอรรถว่าเร่าร้อนยิ่งนัก. เปรียบเหมือนความฝันด้วยอรรถว่า ปรากฏชั่วเวลานิดหน่อย. เปรียบเหมือนของขอยืมด้วยอรรถว่า เป็นไปชั่วคราว. เปรียบเหมือนผลไม้ ด้วยอรรถว่าบั่นทอนอวัยวะน้อยใหญ่ทั้งปวง. เปรียบเหมือนเขียงสำหรับสับเนื้อ ด้วยอรรถว่า เป็นที่รองรับการสับโขก. เปรียบเหมือนแหลนหลาว ด้วยอรรถว่าทิ่มแทง. เปรียบเหมือนศีรษะงู ด้วยอรรถว่า น่าระแวงและมีภัยจำเพาะหน้าแล.
               นี้ความย่อในสิกขาบทนี้. ส่วนความพิสดารบัณฑิต พึงค้นเอาในอรรถกถามัชฌิมนิกาย ชื่อปปัญจสูทนี.
               นิบาตสมุหะว่า เอวํ พฺยา โข แปลว่า เหมือนอย่างที่ทรงแสดงอย่างนี้แล.
               บทที่เหลือในนิกขาบทนี้ ตื้นทั้งนั้น เพราะมีนัยดังกล่าวแล้วในเบื้องต้น.
               สิกขาบทนี้มีการสวดสมนุภาสน์เป็นสมุฏฐาน เกิดขึ้นทางกายวาจาและจิต เป็นอกิริยา สัญญาวิโมกข์ สจิตตกะ โลกวัชชะ กายกรรม วจีกรรม อกุศลจิต เป็นทุกข์เวทนา ดังนี้แล.

               อริฏฐสิกขาบทที่ ๘ จบ.               
               ------------------------------------------------------------               

.. อรรถกถา ปาจิตติยกัณฑ์ ปาจิตติย์ สัปปาณกวรรคที่ ๗ สิกขาบทที่ ๘ จบ.
อ่านอรรถกถา 2 / 1อ่านอรรถกถา 2 / 658อรรถกถา เล่มที่ 2 ข้อ 662อ่านอรรถกถา 2 / 669อ่านอรรถกถา 2 / 881
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=2&A=12997&Z=13117
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=2&A=9784
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=2&A=9784
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๑  ธันวาคม  พ.ศ.  ๒๕๕๕
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :