ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 2 / 1อ่านอรรถกถา 2 / 46อรรถกถา เล่มที่ 2 ข้อ 53อ่านอรรถกถา 2 / 58อ่านอรรถกถา 2 / 881
อรรถกถา นิสสัคคิยกัณฑ์
นิสสัคคิยปาจิตตีย์ จีวรวรรคที่ ๑ สิกขาบทที่ ๖

               จีวรวรรคที่ ๑ สิกขาบทที่ ๖               
               พรรณนาอัญญาตกวิญญัตติสิกขาบท               
               อัญญาตกวิญญัตติสิกขาบทว่า เตน สมเยน เป็นต้น
               ข้าพเจ้าจะกล่าวต่อไป :-
               ในอัญญาตกวิญญัตติสิกขาบทนั้น มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้ :-

               [แก้อรรถปฐมบัญญัติเรื่องพระอุปนันทศากยบุตร]               
               สองบทว่า อุปนนฺโท สกฺยปุตฺโต ได้แก่ บรรดาภิกษุผู้บวชจากศากยตระกูลประมาณแปดหมื่นรูป พระอุปนันทศากยบุตรเป็นภิกษุเลวทราม มีชาติโลเล.
               บทว่า ปฏฺโฐ ได้แก่ เป็นผู้ฉลาด สามารถ เฉียบแหลมถึงพร้อมด้วยเสียง คือประกอบด้วยความเป็นผู้มีลูกคอไพเราะ.
               บทว่า กิสฺมึ วิย มีความว่า ดูเหมือนกระไรอยู่ ดูเป็นผู้มีความเศร้าหมอง คือเป็นดุจจะสะทกสะท้าน ดุจจะหวาดสะดุ้งด้วยอำนาจหิริและโอตัปปะ.
               บทว่า อทฺธานมคฺคํ มีความว่า ทางยาว กล่าวคือทางไกลไม่ใช่ทางถนนในเมือง.
               คำว่า เต ภิกฺขู อจฺฉินฺทึสุ มีความว่า ได้ปล้น คือได้แย่งชิงเอาบาตรและจีวรของภิกษุเหล่านั้นไป.
               บทว่า อนุยุญฺชาหิ ความว่า ท่านโปรดสอบถาม เพื่อต้องการทราบความเป็นภิกษุ.
               บทว่า อนุยุญฺชิยมานา ความว่า ภิกษุเหล่านั้นถูกท่านพระอุบาลีสอบสวนถึงการบรรพชา อุปสมบท การอธิษฐานบาตรและจีวรเป็นต้นอยู่.
               ข้อว่า เอตมตฺถํอาโรเจสุํ มีความว่า ทูลให้ทราบว่าเป็นภิกษุแล้ว ได้กราบทูลเรื่องที่ภิกษุเหล่านั้นกล่าว โดยนัยเป็นต้นว่า เป็นผู้เดินทางไกลจากเมืองสาเกตสู่พระนครสาวัตถี.

               [เมื่อถูกโจรชิงเอาจีวรไปห้ามเปลือยกายเดินทาง]               
               ในคำว่า อญฺญาตกํ คหปตึ วา เป็นต้น ผู้ศึกษาพึงทราบอนุปุพพีกถา ตั้งต้นแต่คำที่ตรัสไว้ข้างหน้าว่า ปกปิดแล้วด้วยหญ้าหรือด้วยใบไม้เป็นต้น โดยนัยดังจะกล่าวต่อไปอย่างนี้ :-
               ถ้าพวกภิกษุหนุ่มเห็นพวกโจรแล้วถือเอาบาตรและจีวรหนีไป, พวกโจรชิงเอาเพียงผ้านุ่งและผ้าห่มของพระเถระทั้งหลายเท่านั้นไป, พระเถระทั้งหลายยังไม่ควรให้ขอจีวรทีเดียวก่อน, ยังไม่ควรจะหักกิ่งไม้และเด็ดใบไม้. ถ้าพวกภิกษุหนุ่มทิ้งห่อของทั้งหมดหนีไป, พวกโจรชิงเอาผ้านุ่งและผ้าห่มของพระเถระและห่อสิ่งของนั้นไป, พวกภิกษุหนุ่มมาแล้ว ยังไม่ควรให้ผ้านุ่งและผ้าห่มของตนแก่พระเถระทั้งหลายก่อน.
               เพราะว่าพวกภิกษุผู้มิได้ถูกโจรชิงเอาจีวรไปย่อมไม่ได้เพื่อจะหักกิ่งไม้และใบไม้เพื่อประโยชน์แก่ตน, แต่ย่อมได้ (เพื่อจะหักกิ่งไม้และใบไม้) เพื่อประโยชน์แก่พวกภิกษุผู้ถูกโจรชิงเอาจีวรไป. และพวกภิกษุผู้ถูกโจรชิงเอาจีวรไปย่อมได้ (เพื่อหักกิ่งไม้และใบไม้) เพื่อประโยชน์ทั้งแก่ตนเองทั้งแก่คนอื่น. เพราะฉะนั้น พระเถระทั้งหลายพึงหักกิ่งไม้และใบไม้เอาปอเป็นต้นถักแล้ว พึงให้แก่พวกภิกษุหนุ่ม หรือพวกภิกษุหนุ่มหักเพื่อประโยชน์แก่พระเถระทั้งหลาย ถักแล้วให้แก่พระเถระเหล่านั้นที่มือ หรือไม่ให้ ตนนุ่งเสียเอง แล้วให้ผ้านุ่งและผ้าห่มของตนแก่พระเถระทั้งหลาย. ไม่เป็นปาจิตตีย์ เพราะพรากภูตคามเลย. ไม่เป็นทุกกฏ เพราะทรงผ้าธงชัยของพวกเดียรถีย์นั้น.
               ถ้าในระหว่างทางมีลานของพวกช่างย้อม หรือพบเห็นชาวบ้านเหล่าอื่นผู้เช่นนั้นเข้า พึงให้ขอจีวร. และพวกชาวบ้านที่ถูกขอเหล่านั้น หรือชาวบ้านพวกอื่นเห็นพวกภิกษุนุ่งกิ่งไม้และใบไม้แล้วเกิดความอุตสาหะถวายผ้าเหล่าใดแก่ภิกษุเหล่านั้น. ผ้าเหล่านั้นจะมีชายหรือไม่มีชายก็ตาม มีสีต่างๆ เช่นสีเขียวเป็นต้นก็ตาม เป็นกัปปิยะบ้าง เป็นอกัปปิยะบ้าง, ทั้งหมด ภิกษุเหล่านั้นควรนุ่งและควรห่มได้ทั้งนั้น เพราะพวกเธอตั้งอยู่ในฐานผู้ถูกโจรชิงจีวร.
               จริงอยู่ แม้ในคัมภีร์ปริวาร ท่านก็กล่าวคำนี้ไว้ว่า๑-
                         ผ้าที่ไม่ได้ทำกัปปะ ทั้งไม่ได้ย้อมด้วยน้ำย้อม
               ภิกษุพึงนุ่งห่มไปได้ตามปรารถนา และเธอไม่ต้อง
               อาบัติ, ก็ธรรมนั้น อันพระสุคตเจ้าทรงแสดงแล้ว,
               ปัญหาข้อนี้ ท่านผู้ฉลาดทั้งหลายคิดกันแล้ว.

____________________________
๑- วิ. ปริ. เล่ม ๘/ข้อ ๑๓๓๕/หน้า ๕๓๕

               จริงอยู่ ปัญหาข้อนี้ ท่านกล่าวหมายถึงภิกษุผู้ถูกโจรชิงจีวร. ก็ถ้าว่า ภิกษุทั้งหลายสมาคมกับพวกเดียรถีย์ และพวกเดียรถีย์นั้นถวายจีวรคากรอง เปลือกไม้กรองและผลไม้กรอง, แม้ผ้าเหล่านั้นควรที่ภิกษุจะนุ่งห่มได้ไม่รับเอาลัทธิ คือแม้นุ่งห่มแล้ว ก็ไม่พึงถือลัทธิ (ของเขา).
               บัดนี้ บัณฑิตพึงทราบสันนิษฐาน ในคำว่า ภิกษุเดินไปถึงวัดใดก่อน, ถ้าจีวรสำหรับวิหาร หรือของสงฆ์ในวัดนั้น มีอยู่ เป็นต้นว่า ที่ชื่อว่า จีวรสำหรับวิหาร คือจีวรที่พวกชาวบ้านให้สร้างวัดแล้ว เตรียมจีวรไว้ด้วยกล่าวว่า ปัจจัย ๔ เป็นของส่วนตัวของพวกเราเท่านั้น จงถึงการใช้สอย แล้วตั้งไว้ในวัดที่ตนให้สร้าง จีวรนี้ชื่อว่า จีวรสำหรับวิหาร.
               เครื่องปูลาดบนเตียง ท่านเรียกว่า เครื่องลาดข้างบน.
               เครื่องปูลาดที่ทำด้วยเศษผ้า เพื่อต้องการจะรักษาพื้นที่ทำบริกรรม ท่านเรียกว่า ผ้าลาดพื้น. ภิกษุทั้งหลายลาดเสื่ออ่อนบนเครื่องลาดนั้นแล้ว เดินจงกรม.
               เปลือก (ปลอก) ฟูกรองเตียง หรือฟูกรองตั่ง ชื่อว่า เปลือกฟูก. ถ้าเปลือกฟูกเขายัดไว้เต็ม, แม้จะรื้อออกแล้วถือเอา ก็ควร. บรรดาจีวรสำหรับวิหารเป็นต้นเหล่านี้ ดังกล่าวมาอย่างนี้ จีวรที่มีอยู่ในวัดนั้น พวกภิกษุที่ถูกโจรชิงเอาไป แม้ไม่ขออนุญาตจะถือเอานุ่งหรือห่มก็ได้.
               ก็แลการนุ่งหรือการห่มนั้น ย่อมได้ด้วยความประสงค์ว่า เราได้ (ผ้านุ่งหรือผ้าห่มแล้ว) จักตั้งลงไว้ คือจักเก็บไว้อย่างเดิม, ย่อมไม่ได้ โดยการขาดมูลค่า (การถือเอาเป็นกรรมสิทธิ์ของตน).
               ก็แล ครั้นได้ (ผ้านุ่งหรือผ้าห่ม) จากญาติ หรือจากอุปัฏฐาก หรือแม้จากที่แห่งใดแห่งหนึ่งอื่นแล้ว พึงกระทำให้กลับเป็นปกติเดิมทีเดียว. ภิกษุไปยังต่างถิ่นแล้ว พึงเก็บไว้ในอาวาสของสงฆ์แห่งหนึ่ง เพื่อประโยชน์แก่การใช้สอย โดยการใช้สอยเป็นของสงฆ์. ถ้าจีวรสำหรับวิหารนั้น ชำรุดหรือหายไป โดยการใช้สอยของภิกษุนั้น ไม่เป็นสินใช้.
               แต่ถ้าว่า ภิกษุไม่ได้ผ้าอะไรๆ บรรดาผ้าเหล่านี้มีผ้าของคฤหัสถ์เป็นต้น มีเปลือกฟูกเป็นที่สุดมีประการดังกล่าวแล้ว, เธอพึงเอาหญ้า หรือใบไม้ปกปิดแล้วมาเถิด ฉะนี้แล.
               จีวรแม้ที่อาจารย์และอุปัชฌาย์ ผู้ถูกโจรชิงจีวรไป ขอกะชนเหล่าอื่นว่า นำจีวรมาเถิด อาวุโส! แล้วถือเอาไป หรือถือเอาไปด้วยวิสาสะ ย่อมควรเพื่อจะกล่าวว่า ถึงการสงเคราะห์เข้า ในคำว่า เกหิจิ วา อจฺฉินฺนํ (ถูกใครๆ ชิงเอาไปก็ดี) นี้.
               อนึ่ง แม้จีวรที่พวกนิสิตปกปิดด้วยหญ้า และใบไม้ด้วยตนเองแล้ว ถวายแก่ภิกษุมีอาจารย์และอุปัชฌาย์เป็นต้น ผู้ถูกโจรชิงจีวรย่อมควร เพื่อจะกล่าวว่า ถึงการสงเคราะห์เข้า ในคำว่า ปริโภคชิณฺณํ วา (ใช้สอยเก่าไปก็ดี) นี้.
               จริงอยู่ เมื่อมีเนื้อความที่ควรกล่าวอย่างนั้น ภิกษุเหล่านั้นจักเป็นผู้ตั้งอยู่ในฐานเป็นผู้ถูกชิงจีวร และในฐานเป็นผู้มีจีวรหายแท้. เพราะฉะนั้น อนาบัติในเพราะวิญญัตติ และในเพราะบริโภคอกัปปิยจีวร จักเป็นของสมควรแก่ภิกษุเหล่านั้นแล.
               ในคำว่า ญาตกานํ ปวาริตานํ นี้ บัณฑิตพึงเห็นความอย่างนี้ว่า ไม่เป็นอาบัติแก่ภิกษุผู้ออกปากขอ คือ ผู้อ้อนวอนขอกะญาติและคนปวารณาว่า พวกท่านจงถวายของตน แก่ภิกษุเหล่านี้, แท้จริง ไม่มีอาบัติหรืออนาบัติ แก่ภิกษุทั้งหลายที่พวกญาติปวารณาแล้ว.๒-
____________________________
๒- แปลตามอัตถโยชนา ๑/๕๔๑. ญาตกานํ ปวาริตานนฺติ
๒- ญาตเกหิ ปริวาริตานํ ภิกฺขูนํ - ผู้ชำระ.

               แม้ในคำว่า อตฺตโน ธเนน นี้ บัณฑิตก็พึงเห็นความอย่างนี้ว่า
               ไม่เป็นอาบัติแก่ภิกษุผู้ออกปากขอ คือผู้สั่งให้จ่าย หรือสั่งให้แลกเปลี่ยนด้วยกัปปิยภัณฑ์ของตน โดยกัปปิยโวหารเท่านั้น.
               อนึ่ง ในคำว่า ปวาริตานํ นี้ มีวินิจฉัยดังนี้ :-
               ในปัจจัยทั้งหลายที่เขาปวารณาไว้ด้วยอำนาจแห่งสงฆ์ ควรขอแต่พอประมาณเท่านั้น. ในการปวารณาเฉพาะบุคคล ควรขอแต่เฉพาะสิ่งของที่เขาปวารณาเหมือนกัน. แท้จริง คนใดปวารณาด้วยจตุปัจจัยกำหนดไว้เองทีเดียว แล้วถวายสิ่งของที่ต้องการโดยอาการอย่างนี้ คือย่อมถวายจีวรตามสมควรแก่กาล ย่อมถวายอาหารมีข้าวต้มและข้าวสวยเป็นต้นทุกๆ วัน, กิจที่จะต้องออกปากขอกะคนเช่นนั้น ไม่มี.
               ส่วนบุคคลใดปวารณาแล้ว ย่อมไม่ให้ เพราะเป็นผู้เขลาหรือเพราะหลงลืมสติ, บุคคลนั้น อันภิกษุควรขอ. บุคคลกล่าวว่า ผมปวารณาเรือนของผม, ภิกษุพึงไปสู่เรือนของบุคคลนั้นแล้วพึงนั่ง พึงนอนตามสบาย ไม่พึงรับเอาอะไรๆ. ส่วนบุคคลใดกล่าวว่า ผมขอปวารณาสิ่งของที่มีอยู่ในเรือนของผม ดังนี้, พึงขอสิ่งของที่เป็นกัปปิยะซึ่งมีอยู่ในเรือนของบุคคลนั้น. ในกุรุนทีกล่าวว่า แต่ภิกษุจะนั่งหรือจะนอนในเรือน ไม่ได้.
               ในคำว่า อญฺญสฺสตฺถาย นี้มีอรรถอย่างหนึ่ง ดังนี้ว่า ไม่เป็นอาบัติแก่ภิกษุผู้ขอกะญาติและคนปวารณาของตน เพื่อประโยชน์แก่ตนเองอย่างเดียวหามิได้ โดยที่แท้ ขอเพื่อประโยชน์แก่ภิกษุอื่น ก็ไม่เป็นอาบัติ.
               ส่วนอรรถอย่างที่สองในบทว่า อญฺญสฺส นี้ ดังต่อไปนี้ว่า
               ไม่เป็นอาบัติแก่ภิกษุผู้ออกปากขอกะญาติและคนปวารณาของภิกษุอื่น เพื่อประโยชน์แก่ภิกษุนั้นนั่นเอง คือพระพุทธรักขิต ซึ่งได้โวหารว่า ผู้อื่น.๓-
               คำที่เหลือมีอรรถตื้นทั้งนั้น.
               บรรดาปกิณกะมีสมุฏฐานเป็นต้น สิกขาบทแม้นี้ก็มีสมุฏฐาน ๖ เป็นกิริยา โนสัญญาวิโมกข์ อจิตตกะ ปัณณัตติวัชชะ กายกรรม วจีกรรม มีจิต ๓ มีเวทนา ๓ ฉะนี้แล.
____________________________
๓- อตฺถโยชนา ๑/๕๔๒/ กำหนดให้แปลว่า ไม่เป็นอาบัติแก่ภิกษุผู้ขอปัจจัยทั้งหลายที่พวกญาติของพวกภิกษุอื่นปวารณาไว้ เพื่อประโยชน์แก่พระพุทธรักขิต หรือพระธรรมรักขิตนั้นนั่นแล-ผู้ได้โวหารว่า "ภิกษุอื่น" - ผู้ชำระ.

               พรรณนาอัญญาตกวิญญัตติสิกขาบทที่ ๖ จบ.               
               ------------------------------------------------------------               

.. อรรถกถา นิสสัคคิยกัณฑ์ นิสสัคคิยปาจิตตีย์ จีวรวรรคที่ ๑ สิกขาบทที่ ๖ จบ.
อ่านอรรถกถา 2 / 1อ่านอรรถกถา 2 / 46อรรถกถา เล่มที่ 2 ข้อ 53อ่านอรรถกถา 2 / 58อ่านอรรถกถา 2 / 881
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=2&A=911&Z=1088
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=2&A=4049
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=2&A=4049
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๑๕  พฤศจิกายน  พ.ศ.  ๒๕๕๕
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :