ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 2 / 1อ่านอรรถกถา 2 / 516อรรถกถา เล่มที่ 2 ข้อ 522อ่านอรรถกถา 2 / 527อ่านอรรถกถา 2 / 881
อรรถกถา ปาจิตติยกัณฑ์
ปาจิตติย์ โภชนวรรคที่ ๔ สิกขาบทที่ ๑๐

               โภชนวรรค ทันตโปณสิกขาบทที่ ๑๐               
               ในสิกขาบทที่ ๑๐ มีวินิจฉัยดังนี้ :-

               [แก้อรรถด้วยภิกษุถือบังสุกุลทุกอย่าง]               
               ภิกษุนั้น ชื่อว่า สรรพบังสุกูลิกะ (ผู้มีปกติถือบังสุกุลทุกอย่าง) เพราะอรรถว่า ภิกษุนั้นมีบรรดาปัจจัย ๔ ทุกอย่าง โดยที่สุด แม้ไม้ชำระฟันก็เป็นบังสุกุลทั้งนั้น.
               ได้ยินว่า ภิกษุนั้นทำภาชนะที่เขาทิ้งในป่าช้านั้นนั่นเองให้เป็นบาตร ทำจีวรด้วยท่อนผ้าที่เขาทิ้งในป่าช้านั้นนั่นแหละ ถือเอาเตียงและตั่งที่เขาทิ้งในป่าช้านั้นเหมือนกันใช้สอย.
               ปู่และตาของบิดาผู้ล่วงลับไปแล้ว เรียกว่า อัยยะ ในคำว่า อยฺยโวสาฏิตกานิ นี้. ขาทนียะและโภชนียะที่เขาเซ่นทิ้งไว้ในป่าช้าเป็นต้น เพื่อประโยชน์แก่บรรพบุรุษเหล่านั้น เรียกว่า โวสาฏิตกะ (เครื่องเซ่น).
               ได้ยินว่า พวกมนุษย์ได้ทำของอันเป็นที่รักแห่งพวกญาติเหล่านั้น ในเวลาที่ยังมีชีวิตอยู่ ให้เป็นก้อนข้าวบิณฑ์อุทิศพวกญาติผู้ล่วงลับไปแล้ว เซ่นวางไว้ในที่ทั้งหลาย มีป่าช้าเป็นต้นนั่นด้วยตั้งใจว่า ขอเหล่าญาติของพวกเรา จงบริโภคเถิด.
               ภิกษุนั้นเอาข้าวบิณฑ์นั้นมาฉัน, ไม่ปรารถนาของอื่นแม้ประณีตที่เขาถวาย. ด้วยเหตุนั้น พระธรรมสังคาหกาจารย์ทั้งหลายจึงได้กล่าวว่า ถือเอาอาหารเครื่องเซ่นเจ้าที่ป่าช้าบ้าง ที่โคนไม้บ้าง ที่ธรณีประตูบ้าง มาฉันเอง ดังนี้.
               บทว่า เถโร แปลว่า แข็งแรง คือล่ำสัน.
               บทว่า วทฺธโร แปลว่า อ้วนล่ำ.
               มีคำอธิบายว่า ภิกษุนี้ทั้งอ้วนทั้งมีร่างกายล่ำสัน.
               สามบทว่า มนุสฺสมํสํมญฺเญ ขาทติ มีความว่า พวกเราเข้าใจภิกษุนั้นว่า บางทีจะฉันเนื้อมนุษย์. ประชาชนเหล่านั้นมีความเข้าใจดังนี้ว่า ความจริง พวกคนกินเนื้อมนุษย์ ย่อมเป็นผู้เช่นนี้.
               ในคำว่า อุทกทนฺตโปเณ กุกฺกุจฺจายนฺติ นี้ มีวินิจฉัยดังนี้ :-
               พวกภิกษุเหล่านั้นไม่ได้สังเกตอรรถแห่งบทว่า พึงกลืนกินอาหารที่เขาไม่ได้ให้ผ่านทวารปากเข้าไปให้ถูกต้อง จึงได้พากันรังเกียจ. ฝ่ายพระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อจะทรงยังภิกษุเหล่านั้นให้ยอมตกลง ด้วยอำนาจแห่งเรื่องตามที่เกิดขึ้นแล้ว ดุจบิดาชี้แจงให้พวกลูกๆ ยินยอม ฉะนั้น จึงได้ทรงตั้งอนุบัญญัติไว้.
               บทว่า อทินฺนํ มีความว่า เขาไม่ได้ให้ด้วยกาย ของเนื่องด้วยกายและการโยนให้อย่างใดอย่างหนึ่ง แก่ภิกษุผู้รับด้วยกายหรือด้วยของเนื่องด้วยกาย.
               จริงอยู่ พระอุบาลีเถระหมายเอาของที่เขาไม่ได้ให้นี้แหละ จึงกล่าวไว้ในบทภาชนะว่า ชื่อว่าของที่เขายังไม่ได้ให้ ท่านเรียกของที่ยังไม่ได้รับประเคน. แต่ในทุติยปาราชิกตรัสว่า ชื่อว่า ของที่เขาไม่ได้ให้ ท่านเรียกทรัพย์ที่ผู้อื่นหวงแหน. ส่วนบทว่า ของที่เขาให้ นี้ ท่านยกขึ้นไว้ เพื่อแสดงลักษณะแห่งของที่เขาไม่ได้ให้นั้นนั่นแหละ ด้วยอำนาจแห่งนัยที่ตรงกันข้าม.

               [ว่าด้วยการประเคนและการรับประเคน]               
               ก็ในนิเทศแห่งบทว่า ทินฺนํ นั้น มีวินิจฉัยดังนี้ :-
               ข้อว่า กาเยน วา กายปฏิพทฺเธน วา นิสฺสคฺคิเยน วา เทนฺเต ได้แก่ เมื่อคนอื่นเขาให้อยู่อย่างนี้ (คือให้อยู่ด้วยกายหรือด้วยของเนื่องด้วยกายหรือด้วยการโยนให้).
               ข้อว่า หตฺถปาเสฐิโต กาเยน วา กายปฏิพทฺเธน วา ปฏิคฺคณฺหาติ มีความว่า ถ้าภิกษุอยู่ในหัตถบาสมีลักษณะดังกล่าวแล้วในก่อน รับประเคนของนั้นที่เขาให้อยู่อย่างนั้น ชั้นที่สุดแม้ละอองรถด้วยกาย หรือด้วยของเนื่องด้วยกาย. วัตถุนั่นที่รับประเคนแล้ว อย่างนี้ท่านเรียกชื่อว่า ของที่เขาให้. ของที่เขาเสียสละด้วยคำว่า ท่านจงถือเอาของนี้, ของนี้จงเป็นของท่านเป็นต้น ท่านไม่เรียกชื่อว่าของที่เขาให้.
               บรรดานิเทศเหล่านั้น บทว่า กาเยน มีความว่า ที่เขาให้ด้วยบรรดาสรีราวัยวะมีมือเป็นต้นอย่างใดอย่างหนึ่ง ชั้นที่สุดแม้ด้วยนิ้วเท้า ก็เป็นอันชื่อว่า เขาให้แล้วด้วยกาย. แม้ในการรับประเคน ก็นัยนี้นั่นแล. แท้จริง ของที่ภิกษุรับประเคนด้วยสรีราวัยวะ (ส่วนแห่งร่างกาย) ส่วนใดส่วนหนึ่งจัดว่า รับประเคนแล้วด้วยกายเหมือนกัน. ถ้าแม้นเขาให้ของที่ต้องทำการนัตถุ์ ภิกษุอาพาธไม่อาจนัตถุ์เข้าทางช่องจมูกได้เลย รับเข้าทางปากได้ (รับประเคนทางปากได้). ความจริง เพียงความใส่ใจเท่านั้น เป็นประมาณในการรับประเคนนี้. นัยนี้ท่านกล่าวไว้ในมหาปัจจรี.
               บทว่า กายปฏิพทฺเธน มีความว่า ของที่เขาให้ด้วยอุปกรณ์อย่างใดอย่างหนึ่ง บรรดาอุปกรณ์มีทัพพีเป็นต้น เป็นอันชื่อว่าเขาให้ด้วยของเนื่องด้วยกาย. แม้ในการรับประเคนก็นัยนี้เหมือนกัน. ของที่ภิกษุรับด้วยวัตถุอย่างใดอย่างหนึ่งที่เนื่องด้วยร่างกาย มีบาตรและถาดเป็นต้น จัดว่ารับประเคนด้วยของเนื่องด้วยกายเหมือนกัน.
               บทว่า นิสฺสคฺคิเยน มีความว่า ก็ของที่เขาโยนถวายให้พ้นจากกาย และจากของเนื่องด้วยกายแก่ภิกษุผู้อยู่ในหัตถบาส ด้วยกายหรือของเนื่องด้วยกาย เป็นอันชื่อว่าเขาถวายด้วยประโยคที่โยนให้. นี้เป็นการพรรณนาตามพระบาลีก่อน.

               [บาลีมุตตกวินิจฉัย]               
               ก็ในสิกขาบทนี้ พึงทราบบาลีมุตตกวินิจฉัยดังต่อไปนี้ :-

               [การรับประเคนมีองค์ ๕ อย่าง]               
               การรับประเคนย่อมขึ้นด้วยองค์ ๕ คือ ของพอบุรุษมีกำลังปานกลางยกได้ ๑ หัตถบาสปรากฏ (เขาอยู่ในหัตถบาส) ๑ การน้อมถวายปรากฏ (เขาน้อมถวาย) ๑ เทวดาก็ตาม มนุษย์ก็ตาม ดิรัจฉานก็ตาม ถวาย (ประเคน) ๑ และภิกษุรับประเคนของนั้นด้วยกาย หรือด้วยของเนื่องด้วยกาย ๑.
               การรับประเคนย่อมขึ้นด้วยองค์ ๕ ด้วยประการอย่างนี้.
               ในองค์ ๕ นั้น หัตถบาสแห่งภิกษุผู้ยืนนั่งและนอน บัณฑิตพึงทราบโดยนัยดังกล่าวแล้วในปวารณาสิกขาบท.
               ก็ถ้าบรรดาผู้ให้และผู้รับประเคน ฝ่ายหนึ่งอยู่บนอากาศ ฝ่ายหนึ่งอยู่บนพื้น, พึงกำหนดประมาณหัตถบาสทางศีรษะของผู้ยืนอยู่บนพื้น และทางริมด้านในแห่งอวัยวะที่ใกล้กว่า ของผู้ยืนอยู่บนอากาศ ยกเว้นมือที่เหยียดออก เพื่อให้หรือเพื่อรับเสีย. ถ้าแม้นฝ่ายหนึ่งอยู่ในหลุม (บ่อ) อีกฝ่ายหนึ่งอยู่ริมหลุม หรือฝ่ายหนึ่งอยู่บนต้นไม้ อีกฝ่ายหนึ่งอยู่บนแผ่นดิน ก็พึงกำหนดประมาณหัตถบาส โดยนัยดังกล่าวแล้วนั่นแหละ.
               ถ้าแม้นนกเอาจะงอยปากคาบดอกไม้ หรือผลไม้ถวาย หรือช้างเอางวงจับดอกไม้ หรือผลไม้ถวายอยู่ในหัสถบาสเห็นปานนี้, การรับประเคนย่อมขึ้น (ใช้ได้). ก็ถ้าภิกษุนั่งอยู่บนคอช้างแม้สูง ๗ ศอกคืบ จะรับของที่ช้างนั้นถวายด้วยงวงก็ควรเหมือนกัน. ทายกคนหนึ่งทูนภาชนะข้าวสวยและกับข้าวเป็นอันมากไว้บนศีรษะ มายังสำนักของภิกษุพูดทั้งยืนว่า นิมนต์ท่านรับเถิด การน้อมถวายยังไม่ปรากฏก่อน เพราะฉะนั้น จึงไม่ควรรับ. แต่ถ้าเขาน้อมลงมาแม้เพียงเล็กน้อย, ภิกษุพึงเหยียดแขนออกรับภาชนะอันล่าง แม้โดยเอกเทศ. ด้วยการรับเพียงเท่านี้ ภาชนะทั้งหมดเป็นอันรับประเคนแล้ว. ตั้งแต่รับประเคนนั้นไป จะยกลง หรือเลื่อนออก แล้วหยิบเอาของที่ตนต้องการ สมควรอยู่. ส่วนในภาชนะเดียวกันมีกระบุงซึ่งมีข้าวสวยเป็นต้น ไม่มีคำที่จะพึงกล่าวเลย.
               แม้ทายกผู้หาบภัตตาหารไป ถ้าน้อมหาบลงถวาย สมควรอยู่. ถ้าแม้นมีไม้ไผ่ยาว ๓๐ ศอก, ที่ปลายข้างหนึ่งผูกหม้อน้ำอ้อยแขวนไว้ ที่ปลายข้างหนึ่งผูกหม้อเนยใสแขวนไว้, ถ้าภิกษุรับประเคนลำไม้ไผ่นั้น เป็นอันรับประเคนของทั้งหมดเหมือนกัน.
               ถ้าทายกกล่าวว่า นิมนต์ท่านรับน้ำอ้อยสดซึ่งกำลังไหลออกจากรางหีบอ้อย การน้อมเข้ามาถวาย ยังไม่ปรากฏ เพราะฉะนั้น จึงไม่สมควรรับ. แต่ถ้าเขาเอากากทิ้งแล้วเอามือวักขึ้นถวายๆ ควรอยู่.
               บาตรมากใบ เขาวางไว้บนเตียงก็ดี บนตั่งก็ดี บนเสื่อลำแพนก็ดี บนรางไม้ก็ดี บนแผ่นกระดานก็ดี. ทายก (ผู้ให้) อยู่ในหัตถบาสแห่งภิกษุผู้อยู่ในที่ใด, ของที่เขาให้ในบาตรเหล่านั้น อันภิกษุผู้อยู่ในที่นั้น แม้เอานิ้วแตะเตียงเป็นต้น ด้วยความหมายว่ารับประเคนจะยืนอยู่ก็ตาม นั่งอยู่ก็ตาม นอนอยู่ก็ตาม เป็นอันรับประเคนแล้วทั้งหมด. ถ้าแม้นภิกษุขึ้นนั่งเตียงเป็นต้น ด้วยหมายใจว่า เราจักรับประเคน ก็ควรเหมือนกัน.
               ก็ถ้าแม้นเขาวางบาตรทั้งหลายไว้บนแผ่นดิน เอากระพุ้งกับกระพุ้งจดกัน, ของที่เขาถวายในบาตรใบที่ภิกษุนั่ง เอานิ้วมือหรือเข็มแตะไว้เท่านั้น เป็นอันรับประเคนแล้ว. ท่านกล่าวไว้ในที่บางแห่งว่า การรับประเคนในบาตรที่เขาตั้งไว้บนเสื่อลำแพนผืนใหญ่ และเครื่องลาดหลังช้างเป็นต้น ย่อมไม่ขึ้น. คำนั้นพึงทราบว่า ท่านกล่าวหมายเอาการล่วงเลยหัตถบาสไป. แต่เมื่อมีหัตถบาสในที่ใดที่หนึ่งก็ควร นอกจากของซึ่งเกิดอยู่กับที่นั้น.
               ก็การรับประเคนบนใบปทุม หรือบนใบทองกวาวเป็นต้น ซึ่งเกิดอยู่กับที่นั้น ย่อมไม่ควร. เพราะใบปทุมเป็นต้นนั้น ไม่ถึงการนับว่าของเนื่องด้วยกาย. เหมือนอย่างว่าในของเกิดกับที่นั้น การรับประเคนไม่ขึ้น ฉันใด, ในเตียงที่ตั้งตรึงไว้ที่ตอเป็นต้นในแผ่นกระดาน หรือในหินที่เป็นอสังหาริมะ การรับประเคนก็ไม่ขึ้นเหมือนกัน ฉันนั้น.
               จริงอยู่ เตียงที่ตั้งตรึงไว้ที่ตอเป็นต้นแม้นั้นเป็นของควรสงเคราะห์เข้ากับของที่เกิดอยู่กับที่นั้น.
               แม้บนใบมะขามเป็นต้นซึ่งเป็นใบเล็กๆ ดาดไว้บนพื้น การรับประเคนก็ไม่ขึ้น. เพราะว่า ใบมะขามเป็นต้นเหล่านั้น ไม่สามารถจะตั้งไว้ได้ด้วยดี. แต่บนใบที่ใหญ่มีใบปทุมเป็นต้น (รับประเคน) ขึ้น.
               ถ้าทายก (ผู้ให้) ยืนเลยหัตถบาสในที่นั้น เอากระบวยคันยาวตักถวาย, ภิกษุพึงบอกเขาว่า เข้ามาถวายใกล้ๆ. เขาไม่ได้ยินคำพูด หรือไม่เอื้อเฟื้อเทลงไปในบาตรทีเดียว, ภิกษุพึงรับประเคนใหม่. แม้ในบุคคลผู้ยืนอยู่ห่าง โยนก้อนข้าวไปถวาย ก็นัยนี้เหมือนกัน. ถ้าในบาตรที่นำออกมาจากถุงบาตรมีผงน้ำย้อม, เมื่อมีน้ำพึงล้างเสียก่อน. เมื่อไม่มี พึงเช็ดผงน้ำย้อม หรือรับประเคนแล้ว จึงเที่ยวไปบิณฑบาต. ถ้าเมื่อเที่ยวไปบิณฑบาตผงตกลง (ในบาตร) พึงรับประเคนก่อนจึงรับภิกษา. แต่เมื่อไม่รับประเคน รับ (ภิกษา) เป็นวินัยทุกกฏ. แต่ไม่เป็นอาบัติแก่ภิกษุผู้รับประเคนธุลีที่ตกนั้นใหม่แล้วฉัน. ก็ถ้าเมื่อภิกษุกล่าวว่า รับประเคนก่อนจงถวาย พวกเขาไม่ได้ยินคำพูด หรือไม่เอื้อเฟื้อถวายภิกษุเลยทีเดียว, ไม่เป็นวินัยทุกกฏ. ภิกษุรับประเคนใหม่แล้วพึงรับภิกษาอื่นเถิด.

               [วิธีปฏิบัติเมื่อมีของตกลงในบาตรในเวลาต่างๆ]               
               ถ้าลมแรงพัดธุลีให้ลอยไปตกจากที่นั้นๆ, ภิกษุไม่อาจรับภิกษาได้, จะผูกใจรับด้วยจิตบริสุทธิ์ว่า เราจักให้แก่อนุปสัมบัน ควรอยู่. เที่ยวไปบิณฑบาตอย่างนั้นแล้วกลับไปยังวิหารหรืออาสนศาลา ให้ภิกษานั้นแก่อนุปสัมบันแล้ว จะรับเอาภิกษาที่อนุปสัมบันนั้นถวายใหม่ หรือจะถือเอาของอนุปสัมบันนั้นด้วยวิสาสะฉัน ก็ได้.
               ถ้าภิกษุให้บาตรที่มีธุลีแก่ภิกษุในเวลาเที่ยวภิกษาจาร, พึงบอกภิกษุเจ้าของบาตรนั้นว่า ท่านรับประเคนบาตรนี้แล้ว พึงรับภิกษาหรือพึงฉัน. ภิกษุเจ้าของบาตรนั้น พึงทำอย่างนั้น. ถ้าธุลีลอยอยู่ข้างบน, พึงรินน้ำข้าวออกแล้วฉันส่วนที่เหลือเถิด. ถ้าธุลีจมแทรกลงข้างใน พึงประเคนใหม่. เมื่อไม่มีอนุปสัมบันอย่าปล่อย (บาตร) จากมือเลย พึงนำไปในที่ซึ่งมีอนุปสัมบัน แล้วรับประเคนใหม่. จะนำธุลีที่ตกลงในข้าวแห้งออกแล้วฉัน ก็ควร. แต่ถ้าเป็นธุลีละเอียดมาก พึงนำออกพร้อมกับข้าวสวยส่วนข้างบน หรือพึงรับประเคนใหม่ แล้วฉันเถิด.
               เมื่อชาวบ้านวางข้าวยาคูหรือแกงไว้ข้างหน้าแล้วคน หยดแกงกระเซ็นขึ้นจากภาชนะตกลงในบาตร, ภิกษุพึงรับประเคนบาตรใหม่. เมื่อพวกเขาเอากระบวยตักมาถวาย หยาดสูปะเป็นต้น หยดออกจากกระบวยตกลงไปในบาตรก่อน, เป็นอันตกลงไปด้วยดี ไม่มีโทษ เพราะเขาน้อมเข้ามาถวาย.
               ถ้าแม้นเมื่อเขาเอาจอกน้ำเกลี่ยข้าวสุกลงอยู่ เขม่าหรือเถ้าตกลงไปจากจอกน้ำ ไม่มีโทษเหมือนกัน เพราะเขาน้อมถวายของที่เขากำลังถวายแก่ภิกษุรูปถัดไป กระเด็นออกจากบาตรไปตกในบาตรของภิกษุอีกรูปหนึ่ง เป็นอันตกไปดี จัดว่ารับประเคนแล้วเหมือนกัน.
               เมื่อเขาจัดผักปลัง (ผักไห่) ดองเป็นต้น ถวายแก่ภิกษุรูปหนึ่งหยดน้ำ (ผักดอง) จากผักดองตกลงไปในบาตรของภิกษุอื่น, เธอพึงรับประเคนบาตรใหม่. พวกเขากำลังจับข้างบนบาตรของภิกษุใด, เมื่อหยดน้ำผักดองตกลงไปในบาตรของภิกษุนั้น ไม่มีโทษ เพราะเขาน้อมเข้ามาด้วยความเป็นผู้ประสงค์จะถวาย.
               พวกชาวบ้านถวายบาตรเต็มด้วยข้าวปายาส, ภิกษุไม่อาจจับข้างล่างได้ เพราะมันร้อน, จะจับแม้ที่ขอบปาก ก็ควรเหมือนกัน. ถ้าแม้นอย่างนั้นก็ไม่อาจ (จับได้) พึงรับด้วยเชิงรองบาตร (ตีนบาตร).
               ภิกษุผู้นั่งถือบาตรหลับอยู่ที่หอฉัน. เธอไม่รู้ว่าเขากำลังนำโภชนะมาเลย เขาถวายอยู่ก็ไม่รู้, โภชนะจัดว่ายังไม่ได้รับประเคน. แต่ถ้าเธอเป็นผู้นั่งใส่ใจไว้ (แต่ต้น) ควรอยู่. ถ้าแม้นเธอวางมือจากเชิงบาตรแล้วเอาเท้าหนีบไว้ม่อยหลับไป สมควรเหมือนกัน. แต่เมื่อเธอเอาเท้าเหยียบเชิงบาตรไว้รับประเคน ถึงจะตื่นอยู่ ก็เป็นการรับประเคนโดยไม่เอื้อเฟื้อ, เพราะฉะนั้น จึงไม่ควรทำ.
               อาจารย์บางพวกกล่าวว่า การรับประเคนด้วยเชิงรองบาตรอย่างนี้ ชื่อว่า เป็นการรับประเคนด้วยของเนื่องกับบาตรซึ่งเนื่องด้วยกาย เพราะฉะนั้น จึงไม่ควร. คำนั้นเป็นแต่เพียงคำพูดเท่านั้น. แต่โดยอรรถทั้งหมดนั่นก็เป็นของเนื่องด้วยกายทั้งนั้น. และแม้ในกายสังสัคคสิกขาบท ก็ได้แสดงนัยนี้ไว้แล้ว. ถึงจะหยิบแม้ของตกที่เขากำลังถวายแก่ภิกษุ ขึ้นมาฉันเอง ก็ควร.
               ในการหยิบเอาของตกฉันนั้น มีพระสูตรเป็นเครื่องสาธกดังต่อไปนี้ว่า๑-
               ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ภิกษุหยิบเอาของตกที่เขากำลังถวายฉันเองได้, ข้อนั้นเป็นเพราะเหตุไร? ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เพราะของนั้น พวกทายกเขาสละถวายแล้ว.
               ก็แล พระสูตรนี้มีอรรถควรอธิบาย เพราะฉะนั้น ในพระสูตรนี้พึงทราบอธิบายอย่างนี้ :-
               ของใดที่เขากำลังถวาย พลัดหลุดจากมือของผู้ถวาย ตกลงไปบนพื้นที่สะอาด หรือบนใบบัว ผ้า เสื่อลำแพนเป็นต้น, ของนั้นจะหยิบขึ้นมาฉันเองก็ควร. แต่ของใดตกลงไปบนพื้นที่มีฝุ่นละออง, ของนั้นพึงเช็ด หรือล้างฝุ่นละอองออกแล้ว หรือรับประเคนแล้วฉันเถิด. ถ้าของกลิ้งไปยังสำนักของภิกษุอื่น, แม้ภิกษุเจ้าของๆ นั้นจะให้นำคืนมาก็ควร. ถ้าเธอกล่าวกะภิกษุนั้นว่า นิมนต์ท่านนั่นแหละฉันเถิด แม้ภิกษุนั้นจะฉัน ก็ควร. แต่ภิกษุนั้นอันภิกษุเจ้าของสิ่งของไม่ได้สั่ง ไม่ควรรับ.
               ในกุรุนทีกล่าวว่า แม้จะไม่ได้รับคำสั่ง จะรับด้วยตั้งใจว่า จักถวายภิกษุเจ้าของสิ่งของนอกนี้ ก็ควร.
               ถามว่า ก็เพราะเหตุไร ของนั่นจึงไม่ควรที่ภิกษุนอกนี้จะรับ?
               แก้ว่า เพราะพระผู้มีพระภาคเจ้ามิได้ทรงอนุญาตไว้.
               จริงอยู่ พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อตรัสว่า เราอนุญาตให้ภิกษุหยิบของฉันเองได้ ดังนี้ ก็ทรงอนุญาตแก่ภิกษุผู้ซึ่งเขากำลังถวายของที่พลัดตกไปนั้นเท่านั้น ให้หยิบเอาของนั้น แม้ไม่ได้รับประเคนฉันได้. แต่ด้วยคำว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เพราะของนั้นพวกทายกสละให้แล้ว จึงเป็นอันทรงแสดงความไม่เป็นของคนอื่นในพระดำรัสนี้ เพราะฉะนั้น ภิกษุอื่นหยิบฉันเอง จึงไม่ควร, แต่สมควร เพราะการสั่งของภิกษุผู้เป็นเจ้าของแห่งสิ่งของนั้น.
               นัยว่า นี้เป็นอธิบายในคำว่า อนุชานามิ ภิกฺขเว เป็นต้นนี้.
               ก็เพราะของที่พลัดตกนั้น ทรงอนุญาตไว้ เพราะเป็นของยังไม่ได้รับประเคนฉะนั้น ภิกษุไม่จับต้องของตามที่ตั้งอยู่นั่นแหละเอาของบางอย่างปิดไว้ แล้วฉันแม้ในวันรุ่งขึ้น ก็ควร, ไม่เป็นอาบัติ เพราะสันนิธิเป็นปัจจัย. แต่ควรรับประเคนก่อนแล้ว จึงฉัน.
               จริงอยู่ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงอนุญาตการหยิบฉันเองแก่ภิกษุนั้นเฉพาะในวันนั้น นอกจากวันนั้นไปไม่ทรงอนุญาต ทราบว่า อรรถแม้นี้ก็เป็นอธิบายในพระดำรัสว่า อนุชานามิ ภิกฺขเว เป็นต้นนี้.
____________________________
๑- วิ. จุลฺ. เล่ม ๗/ข้อ ๑๔๕/หน้า ๕๘

               [ว่าด้วยอัพโพหาริกนัยโดยทั่วๆ ไป]               
               บัดนี้ ข้าพเจ้าจะกล่าวอัพโพหาริกนัยต่อไป :-
               จริงอยู่ เมื่อภิกษุทั้งหลายฉันอยู่ ฟันทั้งหลายย่อมสึกหรอ, เล็บทั้งหลายย่อมสึกกร่อน สี (ผิว) บาตรย่อมลอก, ทั้งหมดเป็นอัพโพหาริก. เมื่อภิกษุปอกอ้อยเป็นต้นด้วยมีดสนิมย่อมปรากฏ. สนิมนั้น ธรรมดาเป็นของเกิดขึ้นใหม่ ควรรับประเคนก่อนจึงฉัน. เมื่อภิกษุล้างมีดแล้วจึงปอก สนิมไม่ปรากฏ, มีแต่สักว่ากลิ่นโลหะ, เพียงกลิ่นโลหะนั้น เป็นอัพโพหาริก. ถึงแม้ในจำพวกของที่ผ่าด้วยมีดเล็กที่พวกภิกษุเก็บรักรักษาไว้ ก็นัยนี้นั่นแล. จริงอยู่ ภิกษุทั้งหลายจะเก็บมีดนั้นไว้เพื่อต้องการใช้สอย ก็หามิได้แล.
               เมื่อภิกษุทั้งหลายบดหรือตำอยู่ซึ่งเครื่องยามีรากยาเป็นต้น ตัวหินบด ลูกหินบด ครกและสากเป็นต้น ย่อมสึกกร่อนไป. ภิกษุทั้งหลายจะเผามีดที่เก็บรักษาไว้ แล้วใส่ลงในเปรียง หรือนมสดเพื่อประโยชน์เป็นยาสีเขียวย่อมปรากฏในเปรียง หรือนมสดนั้น. มีวินิจฉัยเช่นเดียวกับที่กล่าวแล้ว ในมีดเล็กนั่นแหละ. ส่วนในเปรียงดิบเป็นต้น ไม่ควรจุ่มมีดที่เก็บไว้ลงไปด้วยตนเอง. หากว่า ภิกษุจุ่มลงไป ย่อมไม่พ้นสามปักกะ.
               เมื่อภิกษุเที่ยวบิณฑบาตในเมื่อฝนตก น้ำสกปรกหยดจากตัวหรือจากจีวรลงในบาตร พึงรับประเคนบาตรนั้นใหม่. แม้ในหยาดน้ำที่ตกลง เมื่อภิกษุกำลังฉันอยู่ที่โคนต้นไม้เป็นต้น ก็นัยนี้เหมือนกัน. ก็ถ้าว่า เมื่อฝนตกตลอด ๗ วัน เป็นน้ำบริสุทธิ์ หรือน้ำฝนที่ตกกลางแจ้งควรอยู่.
               ภิกษุเมื่อจะให้ข้าวสุกแก่สามเณร พึงให้อย่าถูกต้องข้าวสุกที่อยู่ในบาตรของสามเณรนั้นเลย, หรือว่า พึงรับประเคนบาตรของสามเณรนั้น. เมื่อภิกษุถูกต้องข้าวสุกในบาตรที่ไม่ได้รับประเคน แล้วจับข้าวสุกในบาตรของตนอีก ข้าวสุกเป็นอุคคหิตก์.๑- แต่ถ้าว่าภิกษุเป็นผู้มีความประสงค์จะให้ กล่าวว่า แน่ะสามเณร! เธอจงนำบาตรมา, จงรับเอาข้าวสุก ดังนี้, แต่สามเณรนั้นปฏิเสธว่า กระผมพอแล้ว, และแม้เมื่อภิกษุกล่าวอีกว่า ข้าวสุกนั่นเราสละแก่เธอแล้ว สามเณรยังกล่าวว่า กระผมไม่ต้องการข้าวสุกนั่น ดังนี้, ถึงจะสละตั้งร้อยครั้งก็ตามที ตลอดเวลาที่ข้าวสุกยังอยู่ในมือของตนจัดว่าเป็นของรับประเคนแล้วแล.
               แต่ถ้าว่า ข้าวสุกตั้งอยู่แม้บนเชิงรองบาตร ภิกษุไม่มีความเสียดายกล่าวว่า เธอจงรับเอาไป, ต้องรับประเคนใหม่ ถ้าภิกษุยังมีความเสียดายอยู่ วางบาตรไว้บนเชิงรองบาตร แล้วกล่าวกะสามเณรว่า เธอจงรับเอาขนมหรือข้าวสวยจากบาตรนี้ ดังนี้, สามเณรล้างมือแล้ว ถ้าแม้นว่าถือเอาไปตั้งร้อยครั้ง ไม่ถูกต้องของที่อยู่ในบาตรของตนเลยใส่ลงในบาตรของตนเอง, ไม่มีกิจที่จะต้องรับประเคนใหม่. แต่ถ้าสามเณรถูกต้องของที่อยู่ในบาตรของตนหยิบเอาออกจากบาตรนั้น, ของนั้นย่อมระคนกับของๆ สามเณรพึงรับประเคนใหม่.
               แต่เกจิอาจารย์ทั้งหลายกล่าวว่า ถ้าแม้นว่า ของที่สามเณรหยิบเอาอยู่ ขาดตกลงในบาตรนั้น พึงรับประเคนใหม่. คำนั้นบัณฑิตพึงทราบในก้อนข้าวสุกเป็นต้น ที่ภิกษุกล่าวจำกัดไว้อย่างนี้ว่า เธอจงหยิบเอาก้อนข้าวก้อนหนึ่ง, จงหยิบขนมชิ้นหนึ่ง, จงหยิบเอาส่วนเท่านี้แห่งก้อนน้ำอ้อยนี้.
               ส่วนในคำนี้ว่า เธอจงหยิบเอาขนมหรือข้าวสวยจากบาตรนี้ ไม่มีการจำกัด เพราะฉะนั้น ของที่ตกลงในบาตรของสามเณรเท่านั้น จึงจะขาดประเคน. ส่วนข้าวสวยที่อยู่ในมือ (ของสามเณร) ยังเป็นของภิกษุนั้นเองตลอดเวลาที่สามเณรยังไม่บอกงด หรือภิกษุยังไม่ห้ามว่า พอละ, เพราะฉะนั้น จึงยังไม่ขาดประเคน.
               ถ้าภิกษุใส่ข้าวสวยลงในภาชนะสำหรับต้มข้าวต้มของตน หรือของภิกษุทั้งหลาย เพื่อประโยชน์แก่ภิกษุสามเณรบางพวก พึงกล่าวว่า แน่ะสามเณร! เธอจงวางมือไว้ข้างบนภาชนะ แล้วตักลงที่มือของสามเณรนั้น. ของตกจากมือของสามเณรลงในภาชนะ. ของที่ตกนั้น ย่อมไม่ทำให้ภาชนะเป็นอกัปปิยะในวันรุ่งขึ้น เพราะข้าวสุกนั้น ภิกษุสละแล้ว. ถ้าว่าภิกษุไม่ทำอย่างนั้นตักลงไป, พึงทำภาชนะให้ปราศจากอามิสเหมือนบาตรแล้วฉันเถิด.
               พวกทายกวางหม้อข้าวต้มไว้แล้วไปเสีย. สามเณรเล็กไม่อาจให้ภิกษุรับประเคนหม้อข้าวต้มนั้นได้, ภิกษุเอียงบาตรเข้าไป. สามเณรวางคอหม้อบนขอบปากบาตรแล้ว เอียงลง. ข้าวต้มที่ไหลไปในบาตรเป็นอันประเคนแล้วแล.
               อีกอย่างหนึ่ง ภิกษุวางมือลงบนพื้น. สามเณรหมุนไปวางลงบนมือของภิกษุนั้น ควรอยู่. แม้ในกระเช้าขนมกระเช้าข้าวสวย (กระบุงขนมและกระบุงข้าวสวย) และมัดอ้อยเป็นต้น ก็นัยนี้เหมือนกัน. ถ้าสามเณร ๒-๓ รูปจะช่วยกันถวายภาระ (ของหนัก) ที่ควรประเคนได้, หรือภิกษุ ๒-๓ รูปจะช่วยกันรับของที่คนมีกำลังแข็งแรงคนเดียวยกขึ้นถวาย ควรอยู่.
____________________________
๑- ของฉันทุกอย่างที่ยังไม่ได้รับประเคน ภิกษุจับต้องเรียกว่า ของเป็นอุคคหิตก์. -ผู้ชำระ.

               [ว่าด้วยของเป็นอุคคหิตก์และไม่เป็น]               
               ชนทั้งหลายแขวนหม้อน้ำมัน หรือหม้อน้ำอ้อยไว้ที่เท้าเตียงหรือตั่ง, ภิกษุจะนั่งบนเตียงก็ดี บนตั่งก็ดี ควรอยู่. น้ำมันเป็นต้นนั้น จะชื่อว่าเป็นอุคคหิตถ์หามิได้. หม้อน้ำมัน ๒ หม้อเป็นของที่เขาแขวนไว้บนไม้ฟันนาคหรือบนขอ. หม้อบนรับประเคนแล้ว, หม้อล่างยังไม่ได้รับประเคน จะจับหม้อบน ควรอยู่. หม้อล่างรับประเคนแล้ว, หม้อบนยังไม่ได้รับประเคน. เมื่อภิกษุจับหม้อบนแล้ว จับหม้อล่าง หม้อบนเป็นอุคคหิตก์. ภายใต้เตียงมีถ้วยน้ำมันยังไม่ได้รับประเคน. ถ้าภิกษุกวาดเอาไม้กวาดกระทบถ้วยน้ำมัน, น้ำมันนั้นยังไม่เป็นอุคคหิตก์.
               ภิกษุตั้งใจว่า เราจะหยิบของที่รับประเคนไว้แล้ว ไพล่ไปหยิบของที่ไม่ได้รับประเคน รู้แล้วกลับวางไว้ในที่ที่ตนหยิบมา, ของนั้นไม่เป็นอุคคหิตก์. นำออกมาภายนอกแล้วจึงรู้. อย่าตั้งไว้ข้างนอกพึงนำกลับเข้าไปตั้งในที่เดิมนั่นเอง, ไม่มีโทษ. ก็ถ้าว่าถ้วยน้ำมันนั้นเมื่อก่อน วางเปิดไว้, ไม่ควรปิด พึงวางไว้ตามเคยเหมือนที่วางอยู่ก่อน. ถ้าวางไว้ข้างนอก, อย่าไปแตะต้องอีก. ถ้าภิกษุกำลังลงมายังปราสาทชั้นล่าง รู้เอาในท่ามกลางบันได เพราะไม่มีโอกาส พึงนำไปวางไว้ข้างบน หรือข้างล่างก็ได้.
               ราขึ้นในน้ำมันที่รับประเคนแล้ว, ผงราขึ้นที่แง่งขิงเป็นต้น. ราหรือผงรานั่น ธรรมดาเกิดในน้ำมันและขิงนั้นนั่นเอง, ไม่มีกิจที่จะต้องรับประเคนใหม่. คนขึ้นต้นตาลหรือต้นมะพร้าว เอาเชือกโรยทะลายผลตาลลงมา ยังคงอยู่ข้างบน กล่าวว่า นิมนต์ท่านรับเถิด อย่าพึงรับ. ถ้าคนอื่นยืนอยู่บนพื้นดินจับที่ห่วงเชือกยกถวาย จะรับควรอยู่. ภิกษุให้ทำกิ่งไม้ใหญ่ที่มีผลให้เป็นกัปปิยะแล้วรับประเคน. ผลทั้งหลายเป็นอันภิกษุรับประเคนแล้วเหมือนกัน. ควรบริโภคได้ตามสบาย.
               ชนทั้งหลายยืนอยู่ภายในรั้วแหวกรั้ว (ลอดรั้ว) ถวายอ้อยลำ หรือผลมะพลับ เมื่อได้หัตถบาส ควรรับ. เมื่อภิกษุรับอ้อยลำ หรือผลมะพลับนั้นที่ลอดออกมา ไม่ถูกบนคร่าวรั้ว (ไม่พาดบนคร่าวรั้ว) จึงควร. ในอ้อยลำและผลมะพลับที่ลอดออกมาถูก (บนคร่าวรั้ว) ท่านไม่ได้แสดงโทษไว้ในอรรถกถาทั้งหลาย. แต่พวกเราเข้าใจว่า จากฐานที่ลำอ้อยเป็นต้นถูก เป็นเหมือนหยิบของตกขึ้นเอง. แม้คำนั้นย่อมใช้ได้ในเมื่อของออกไปไม่หยุด เหมือนภัณฑะที่โยนให้ตกกลิ้งไปภายนอกด่านภาษี ฉะนั้น.
               พวกชนโยนของข้ามรั้วหรือกำแพงถวาย. แต่ถ้ากำแพงไม่หนา หัตถบาสย่อมเพียงพอแก่ผู้ยืนอยู่ภายในกำแพงและภายนอกกำแพง, ภิกษุจะรับของที่สะท้อนขึ้นสูงแม้ตั้งร้อยศอกแล้วลอยมาถึงควรอยู่.
               ภิกษุเอาคอแบกสามเณรอาพาธไป (ให้สามเณรอาพาธขี่คอไป). เธอเห็นผลไม้น้อยใหญ่เก็บถวาย ทั้งที่นั่งอยู่บนคอ, ภิกษุควรจะรับ. บุคคลอื่นแบกภิกษุไป ถวายผลไม้แก่ภิกษุผู้นั่งอยู่บนคอ, สมควรรับเหมือนกัน. ภิกษุถือกิ่งไม้มีผล เพื่อต้องการร่มเดินไป. เมื่อเกิดความคิดอยากจะฉันผลขึ้นมา จะให้อนุปสัมบันประเคนแล้ว ควรอยู่. ภิกษุให้ทำกับปิยะกิ่งไม้เพื่อไล่แมลงหวี่ (แมลงวัน) แล้วรับประเคนไว้. หากว่า มีความประสงค์จะฉัน, การรับประเคนไว้เดิมนั่นแหละยังใช้ได้อยู่, ไม่มีโทษแก่ภิกษุผู้ขบฉัน.
               ภิกษุวางภัณฑะที่ควรรับประเคนไว้บนยานของพวกชาวบ้านเดินทางไป. ยานติดหล่ม. ภิกษุหนุ่มจับล้อดันขึ้น ควรอยู่. สิ่งของไม่ชื่อว่า เป็นอุคคหิตก์. ภิกษุวางของที่ควรประเคนไว้ในเรือ เอาแจวๆ เรือไป หรือเอามือพุ้ยไป ควรอยู่. แม้ในพ่วง (แพ) ก็นัยนี้เหมือนกัน. ภิกษุแม้วางภัณฑะไว้ในถาดก็ดี ในคนโท (ตุ่ม) ก็ดี ในหม้อก็ดี แล้วใช้ให้อนุปสัมบันถือภัณฑะนั้นจับแขนอนุปสัมบันข้าม (น้ำ) ไปควรอยู่. แม้เมื่อถาดเป็นต้นไม่มี ให้อนุปสัมบันถือแล้ว จับอนุปสัมบันนั้นที่แขนข้ามไป ก็ควร.
               พวกอุบาสกถวายข้าวสารเป็นเสบียงทางแก่พวกภิกษุผู้เตรียมตัวจะเดินทาง. พวกสามเณรช่วยถือข้าวสารภิกษุทั้งหลายแล้วไม่อาจเพื่อจะถือข้าวสารส่วนของตนเอง. พวกภิกษุจึงช่วยถือข้าวสารของสามเณรเหล่านั้น. สามเณรทั้งหลาย เมื่อข้าวสารที่ตนถือหมดแล้วเอาข้าวสารนอกนี้ต้มข้าวต้ม ตั้งบาตรของภิกษุสามเณรทั้งหมดไว้ตามลำดับแล้ว เทข้าวต้มลง. สามเณรผู้ฉลาดเอาบาตรของตนถวายแก่พระเถระ ถวายบาตรของพระเถระแก่พระเถระรูปที่ ๒ เปลี่ยนบาตรกันทั้งหมด อย่างนี้เป็นต้นจนทั่วถึงกัน. เป็นอันภิกษุทั้งหมดฉันข้าวต้มของสามเณร ควรอยู่. ถ้าแม้นว่าสามเณรเป็นผู้ไม่ฉลาด เริ่มจะดื่มข้าวต้มในบาตรของตน ด้วยตัวเองเท่านั้น, พวกพระเถระควรจะขอดื่มไปตามลำดับอย่างนี้ว่า ผู้มีอายุ! จงให้ข้าวต้มของเธอแก่เรา ดังนี้. เป็นอันภิกษุทั้งหมดไม่ต้องโทษเพราะอุคคตหิตก์เป็นปัจจัย ไม่ต้องโทษเพราะสันนิธิเป็นปัจจัย.
               แต่ในการเปลี่ยนบาตรกันนี้ ความแปลกกันแห่งภิกษุทั้งหลายผู้นำน้ำมันเป็นต้นไป เพื่อมารดาบิดา และนำกิ่งไม้เป็นต้นไปเพื่อต้องการร่มเป็นต้น กับภิกษุผู้แลกเปลี่ยนบาตรกันเหล่านี้ ไม่ปรากฏ เพราะฉะนั้น บัณฑิตพึงใคร่ครวญหาเหตุ.
               สามเณรประสงค์จะหุงข้าว ไม่อาจจะซาวข้าวสารให้หมดกรวด๑- ทรายได้. ภิกษุพึงรับประเคนข้าวสารและภาชนะ ซาวข้าวสารให้หมดกรวดทรายแล้ว ยกภาชนะขึ้นสู่เตาเถิด. อย่าพึงก่อไฟ. ในเวลาหุงจะต้องเปิดดูจึงจะรู้ความที่ข้าวเป็นของสุกได้.
               ถ้าข้าวสุกไม่ดี จะปิดเพื่อต้องการให้สุก ไม่ควร. จะปิด เพื่อต้องการไม่ให้ผง หรือขี้เถ้าตกลงไป ควรอยู่. เมื่อเวลาสุกแล้ว จะปลงลงก็ดี จะฉันก็ดี ควรอยู่. จำเดิมแต่นั้นไป ไม่มีกิจที่จะต้องรับประเคนใหม่.
               สามเณรสามารถจะหุงได้, แต่เธอไม่มีเวลา, เธอประสงค์จะไปในที่บางแห่ง, ภิกษุรับประเคนภาชนะพร้อมทั้งข้าวสาร และน้ำแล้วยกขึ้นสู่เตา พึงกล่าวว่า เธอจงก่อไฟให้ติดแล้วไปเถิด. ต่อจากไฟติดโพลงนั้นแล้ว จะทำกิจทุกอย่าง สมควร โดยนัยก่อนเหมือนกัน. ภิกษุตั้งภาชนะสะอาดต้มน้ำเดือดไว้ เพื่อประโยชน์แก่ข้าวต้ม ควรอยู่. เมื่อน้ำเดือดแล้ว สามเณรกรอกข้าวสารลง. ก็จำเดิมแต่นั้นไป ภิกษุอย่าพึงเร่งไฟ. จะรับประเคนข้าวต้มที่สุกแล้วดื่มควรอยู่.
               สามเณรต้มข้าวต้มอยู่. ภิกษุคะนองมือเล่นอยู่ จับภาชนะ, จับฝาละมี, ปาดฟองที่พลุ่งขึ้นทิ้งไป. เฉพาะภิกษุนั้นไม่ควรจะดื่ม, เป็นทุกกฏ ชื่อทุรุปจิณณะ. ก็ถ้าว่า ภิกษุจับทัพพีหรือกระบวยแล้ว คนไม่ยกขึ้น. ข้าวต้มนั้นไม่ควรแก่ภิกษุทั้งหมด, ย่อมเป็นทั้งสามปักกะ ทั้งทุรุปจิณณะ. ถ้ายกขึ้น เป็นทั้งอุคคหิตก์.
               ภิกษุเที่ยวบิณฑบาตวางบาตรไว้บนเชิงรอง. ถ้าภิกษุโลเลรูปอื่นเล่นอยู่ในที่นั้น จับต้องบาตร, จับต้องฝาบาตร. ภัตที่ได้จากบาตรนั้นไม่ควร เฉพาะแก่ภิกษุโลเลนั้น. แต่ถ้าเธอยกบาตรขึ้นแล้ววางไว้ ไม่ควรแก่ภิกษุทุกๆ รูป. ภิกษุจับกิ่งไม้หรือเถาวัลย์ เขย่าผลไม้ที่เกิดอยู่บนต้นไม้เป็นต้นนั้น. ผลที่ได้จากกิ่งไม้หรือเถาวัลย์นั้น ไม่ควรแก่ภิกษุผู้เขย่านั้นเหมือนกัน. และเธอย่อมต้องทุรุปจิณณทุกกฏด้วย. ท่านกล่าวไว้ในมหาปัจจรีว่า ภิกษุจะค้ำต้นไม้มีผล หรือผูกหนามไว้ที่ต้นไม้นั้น ควรอยู่ ไม่เป็นทุรุปจิณณทุกกฏ.
               ฝ่ายภิกษุเห็นผลไม้ มีผลมะม่วงเป็นต้นที่หล่นในป่า ตั้งใจว่า เราจักให้แก่สามเณร แล้วนำมาให้ ควรอยู่. ภิกษุเห็นเนื้อเดนแห่งสีหะเป็นต้น คิดว่า เราจักให้แก่สามเณร รับประเคนก็ตาม ไม่ได้รับประเคนก็ตาม นำมาให้ควรอยู่. ก็ถ้าอาจจะชำระวิตกให้หมดจดได้ แม้จะขบฉันอาหารที่ได้มาจากเนื้อเป็นเดนสีหะเป็นต้นนั้น ก็ควร. ไม่ต้องโทษเพราะรับประเคนเนื้อดิบเป็นปัจจัยและไม่ต้องโทษเพราะของอุคคหิตก์เป็นปัจจัยเลย.
               เมื่อภิกษุถือน้ำมันเป็นต้นเดินไป เพื่อประโยชน์แก่มารดาและบิดา เกิดพยาธิขึ้นในระหว่างทาง จะรับประเคนสิ่งที่ตนปรารถนาจากน้ำมันเป็นต้นนั้นแล้วฉัน ควรอยู่. แต่ถ้าเป็นของภิกษุรับประเคนไว้ แม้ในครั้งแรก, ไม่มีกิจที่จะต้องรับประเคนใหม่.
               ภิกษุนำข้าวสารมาให้เพื่อประโยชน์แก่มารดา และบิดา. มารดาและบิดานั้น จัดปรุงข้าวต้มเป็นต้น จากข้าวสารนั้นนั่นเอง ถวายแก่ภิกษุนั้น ควรอยู่. ไม่มีโทษเพราะสันนิธิเป็นปัจจัย หรือเพราะของอุคคหิตก์เป็นปัจจัย. ภิกษุปิดฝาต้มน้ำร้อนให้เดือด, ควรบริโภคได้จนกว่าจะหมด. แต่ถ้าเถ้าตกลงในน้ำร้อนนี้ พึงรับประเคน. เมื่อภิกษุเอาปากคีมด้ามยาวจับถ้วยหุงน้ำมันเถ้าตกลงไป, อย่าปล่อยมือเสีย เคี่ยวไปจนได้ที่ปลงลงแล้ว พึงรับประเคนใหม่. ถ้าแม้ถ่านก็ดี ฟืนก็ดี ภิกษุรับประเคนวางไว้, การรับประเคนเดิมนั่นแหละยังใช้ได้.
               ภิกษุเคี้ยว (ฉัน) อ้อยอยู่. สามเณรกล่าวว่า ท่านให้ผมบ้าง. ภิกษุบอกเธอว่า จงตัดเอาจากส่วนนี้ไป แล้วถือเอา, ก็ในส่วนที่ยังเหลือ ไม่มีกิจที่จะต้องรับประเคนใหม่. แม้สำหรับภิกษุผู้ฉันงบน้ำอ้อย ก็นัยนี้เหมือนกัน. จริงอยู่ อ้อยส่วนที่เหลือจากที่สามเณรตัดเอาจากโอกาสที่ภิกษุบอกไว้ ยังไม่ละ (ไม่ขาด) การรับประเคนไปเลย.
               ภิกษุเมื่อจะแจกงบน้ำอ้อย รับประเคนแล้วจัดไว้เป็นส่วนๆ. พวกภิกษุก็ดี พวกสามเณรก็ดี มาแล้วจะถือเอาคนละส่วนๆ โดยการหยิบครั้งเดียวเท่านั้น. ส่วนที่เหลือจากที่ภิกษุสามเณรหยิบเอาไปแล้ว ยังเป็นของประเคนอยู่อย่างเดิม. ถ้าสามเณรซุกซนจับๆ วางๆ, ส่วนที่เหลือจากสามเณรนั้นถือเอาไป เป็นของไม่ได้รับประเคน.
               ภิกษุรับประเคนกล้องยาสูบ แล้วสูบยา. ปากและคอเป็นเหมือนทาด้วยมโนศิลา. จะฉันยาวกาลิก ได้อยู่. ไม่มีโทษเนื่องด้วยยาวชีวิกกับยาวกาลิกระคนกัน. เมื่อภิกษุระบมบาตร หรือต้มกรัก ควันเข้าไปทางช่องหู จมูกและปาก, จะสูดดมดอกไม้หรือผลไม้ เพราะความเจ็บไข้เป็นปัจจัย, ควรอยู่ เพราะเป็นอัพโพหาริก.
               การเรออ้วกอาหารที่ฉันแล้วออกมากระทบเพดาน กลับเข้าไปในภายในอีก ควรอยู่ เพราะเป็นเหตุสุดวิสัย. ที่เรออ้วกออกมาถึงปากแล้วกลืนเข้าไปอีก เป็นอาบัติ เพราะวิกาลโภชนสิกขาบท. รสของอามิสที่ติดอยู่ในซอกฟัน เข้าไป (ในลำคอ) เป็นอาบัติเหมือนกัน. ถ้าอามิสละเอียด รสไม่ปรากฏ, จัดเข้าฝักฝ่ายแห่งอัพโพหาริก.
               เมื่อเวลาจวนแจ ภิกษุฉันอาหารในที่ไม่มีน้ำ ขากบ้วนน้ำลายทิ้งไป ๒-๓ ก้อน แล้วพึงไปยังที่มีน้ำบ้วนปากเถิด. หน่อขิงที่รับประเคนเก็บไว้เป็นต้นงอกออก, ไม่มีกิจที่จะต้องรับประเคนใหม่. ไม่มีเกลือจะทำเกลือด้วยน้ำทะเล ควรอยู่. น้ำเค็มที่ภิกษุรับประเคนเก็บไว้กลายเป็นเกลือ หรือเกลือกลายเป็นน้ำ, น้ำอ้อยสดกลายเป็นน้ำอ้อยแข้นหรือน้ำอ้อยแข้นกลายเป็นน้ำอ้อยเหลวไป การรับประเคนเดิมนั่นแหละยังใช้ได้อยู่. หิมะและลูกเห็บ มีคติอย่างน้ำนั่นแล.
               พวกภิกษุกวน (แกว่ง) น้ำให้ใสด้วยเมล็ดผลไม้ที่ทำน้ำให้ใส (เมล็ดตุมกาก็ว่า) ซึ่งเก็บรักษาไว้, น้ำมีน้ำที่กวนให้ใสเป็นต้นนั้น เป็นอัพโพหาริก ระคนกับอามิส ก็ควร. น้ำที่กวนให้ใสด้วยผลมะขวิดเป็นต้น ที่มีคติเหมือนอามิส ควรแต่ในเวลาก่อนฉันเท่านั้น. น้ำในสระโบกขรณีเป็นต้น ขุ่นข้นก็ควร แต่ถ้าว่า น้ำขุ่นข้นนั้น ติดปากและมือ ไม่ควร. น้ำนั้นควรรับประเคนแล้วจึงบริโภค. น้ำขุ่นข้นในสถานที่ถูกไถในนาทั้งหลาย พึงรับประเคน. ถ้าน้ำไหลลงสู่ลำธารเป็นต้น แล้วเต็มแม่น้ำ ควรอยู่.
               ชลาลัยมีบึงซึ่งมีต้นกุ่มเป็นต้น มีน้ำอันดาดาษไปด้วยดอกไม้ที่หล่นจากต้น. ถ้ารสดอกไม้ไม่ปรากฏ, ไม่มีกิจที่จะต้องรับประเคน. ถ้าน้ำน้อย มีรสปรากฏ พึงรับประเคน. แม้ในน้ำที่ปกคลุมด้วยใบไม้สีดำในลำธารทั้งหลายมีซอกเขาเป็นต้น ก็นัยนี้เหมือนกัน. ดอกไม้ทั้งหลายมีเกสรก็ดี มีน้ำต้อยที่ขั้วก็ดี (มีขั้วและน้ำนมก็ดี) เขาใส่ลงในหม้อน้ำดื่ม, พึงรับประเคน. หรือว่า ดอกไม้ทั้งหลายภิกษุรับประเคนแล้วพึงใส่ลงไปเถิด. ดอกแคฝอยและดอกมะลิเป็นของที่เขาใส่แช่ไว้, น้ำคงอยู่เพียงถูกอบกลิ่น. น้ำนั้นเป็นอัพโพหาริก ควรกับอามิสแม้ในวันรุ่งขึ้น.
               สามเณรตักน้ำดื่มจากน้ำดื่มอบดอกไม้ที่ภิกษุเก็บไว้ แล้วเทน้ำที่เหลือจากที่ตนดื่มแล้วลงในน้ำดื่มนั้นอีก, พึงรับประเคนใหม่. ภิกษุจะเอาหม้อน้ำแกว่งแหวกเกสรดอกไม้ที่แผ่คลุมน้ำอยู่ในสระบัวเป็นต้น ออกไปแล้ว ตักเอาแต่น้ำ ควรอยู่.
               ไม้สีฟันที่ภิกษุให้ทำเป็นกัปปิยะแล้วรับประเคนเก็บไว้. ถ้าภิกษุประสงค์จะดูดรสแห่งไม้สีฟันนั้น, การรับประเคนเดิมนั่นแหละสมควรอยู่. ที่ไม่ได้รับประเคนไว้ ต้องรับประเคน. แม้เมื่อรสเข้าไปในลำคอ ก็เป็นอาบัติแก่ภิกษุผู้ไม่รู้เหมือนกัน.
               จริงอยู่ สิกขาบทนี้เป็นอจิตตกะ.
               ถามว่า บรรดามหาภูตรูป อะไรควร อะไรไม่ควร?
               แก้ว่า นมสด สมควรก่อน. จะเป็นนมสดแห่งสัตว์ที่มีมังสะเป็นกัปปิยะ หรือนมสดแห่งสัตว์ที่มีมังสะเป็นอกัปปิยะ ก็ตามที, ภิกษุดื่ม ไม่เป็นอาบัติ. วัตถุนี้ คือน้ำตา น้ำลาย น้ำมูก มูตร กรีส เศลษม์ มูลฟัน คูถตา คูถหู ส่าเกลือ (เหงื่อไหล) เกิดในร่างกาย ควรทุกอย่าง.
               แต่บรรดาสิ่งเหล่านี้ สิ่งใดเคลื่อนจากแหล่ง (ของมัน) แล้วตกลงในบาตรก็ดี ที่มือก็ดี สิ่งนั้นต้องรับประเคน. สิ่งที่ยังติดอยู่ในอวัยวะเป็นอันรับประเคนแล้วแท้. เมื่อภิกษุฉันข้าวปายาสร้อนเหงื่อที่ติดตามนิ้วมือแล้ว ติดอยู่ที่ข้าวปายาส หรือว่าเมื่อภิกษุเที่ยวบิณฑบาตเหงื่อไหลจากมือถึงขอบปากบาตรลงสู่ก้นบาตร. ในบาตรนี้ไม่มีกิจที่จะต้องรับประเคน, ในมหาภูตที่เผาแล้ว ไม่มีคำว่า ส่วนชื่อนี้ ไม่ควร. แต่ที่เผาไม่ดี (ไหม้ไม่สนิท) ไม่ควร. ก็ภิกษุจะบดแม้กระดูกมนุษย์ ที่เผาดีแล้วให้เป็นผง แล้วโรยลงในของลิ้ม ควรอยู่.
               เมื่อไม่มีกัปปิยการก จะถือเอายามหาวิกัติ ๔ ฉันแม้เอง ก็ควร. ก็ในอธิการแห่งยามหาวิกัตินี้ กัปปิยการกเป็นคนว่ายากก็ดี เป็นผู้ไม่สามารถก็ดี ย่อมตั้งอยู่ในฝักฝ่ายไม่มีเหมือนกัน. เมื่อเถ้าไม่มี ภิกษุพึงเผาไม้แห้งเอาเถ้า เมื่อไม้ฟืนแห้งไม่มี แม้จะตัดฟืนสดจากต้นไม้ทำเถ้าก็ควร. ก็ยามหาวิกัติทั้ง ๔ อย่างนี้ ชื่อว่าอนุญาตเฉพาะกาล ควรแต่ในเวลาถูกงูกัดเท่านั้น.
               บทที่เหลือในสิกขาบทนี้ ตื้นทั้งนั้น.
               สิกขาบทนี้มีสมุฏฐานดุจเอฬกโลมสิกขาบท เกิดจากทางกาย ๑ ทางกายกับจิต ๑ เป็นกิริยา เป็นโนสัญญาวิโมกข์ อจิตตกะ ปัณณัตติวัชชะ กายกรรม มีจิต ๓ มีเวทนา ๓ ดังนี้แล.
____________________________
๑- สารตฺถทีปนิ ๓/๓๔๕ นิจฺจาเลตุํ น สกฺโกตีติ นิจฺจาเลตฺวา สกฺขรา อปเนตุํ น สกฺโกติ.

               ทันตโปณสิกขาบทที่ ๑๐ จบ               
               โภชนวรรคที่ ๔ จบบริบูรณ์               
               ตามวรรณนานุกรม.               
               ------------------------------------------------------------               

               หัวข้อประจำเรื่อง               
               ๑. อาวสถปิณฑสิกขาบท ว่าด้วยฉันอาหารในโรงทาน.
               ๒. คณโภชนสิกขาบท ว่าด้วยฉันอาหารเป็นหมู่.
               ๓. ปรัมปรโภชนสิกขาบท ว่าด้วยฉันอาหารทีหลัง.
               ๔. กาณมาตาสิกขาบท ว่าด้วยอุบายสิกากาณมาตา.
               ๕. ปฐมปวารณาสิกขาบท ว่าด้วยห้ามภัตแล้วฉันอีก.
               ๖. ทุติยปวารณาสิกขาบท ว่าด้วยห้ามภัตแล้วถูกแค่นให้ฉัน.
               ๗. วิกาลโภชนสิกขาบท ว่าด้วยฉันอาหารในเวลาวิกาล.
               ๘. สันนิธิการกสิกขาบท ว่าด้วยรับประเคนเว้นน้ำและไม้ชำระฟัน.
               ๙. ปณีตโภชนสิกขาบท ว่าด้วยขอโภชนะอันประณีต.
               ๑๐. ทันตไปณสิกขาบท ว่าด้วยฉันอาหารที่ทำการสั่งสม.

               ------------------------------------------------------------               

.. อรรถกถา ปาจิตติยกัณฑ์ ปาจิตติย์ โภชนวรรคที่ ๔ สิกขาบทที่ ๑๐ จบ.
อ่านอรรถกถา 2 / 1อ่านอรรถกถา 2 / 516อรรถกถา เล่มที่ 2 ข้อ 522อ่านอรรถกถา 2 / 527อ่านอรรถกถา 2 / 881
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=2&A=11073&Z=11151
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=2&A=8993
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=2&A=8993
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๒๗  พฤศจิกายน  พ.ศ.  ๒๕๕๕
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :