ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 2 / 1อ่านอรรถกถา 2 / 447อรรถกถา เล่มที่ 2 ข้อ 451อ่านอรรถกถา 2 / 456อ่านอรรถกถา 2 / 881
อรรถกถา ปาจิตติยกัณฑ์
ปาจิตติย์ โอวาทวรรคที่ ๓ สิกขาบทที่ ๗

               ภิกขุนีวรรค สังวิธานสิกขาบทที่ ๗               
____________________________
#- บาลี เป็นโอวาทวรรค

               พึงทราบวินิจฉัยในสิกขาบทที่ ๗ ดังต่อไปนี้ :-
               คำว่า ปจฺฉา คจฺฉนฺตีนํ โจรา อจฺฉินฺทึสุ มีความว่า เมื่อพวกภิกษุณีไปทีหลัง พวกโจรได้ชิงเอาบาตรและจีวรไป.
               บทว่า ทูเสสุํ ได้แก่ พวกโจรประทุษร้ายพวกภิกษุณีเหล่านั้น.
               อธิบายว่า ให้ถึงความเสียศีล.
               บทว่า สํวิธาย คือ ชักชวนกัน, อธิบายว่า ทำการนัดหมายกันในเวลาจะไป.

               [อธิบายบ้านชั่วระยไก่บินถึงเป็นต้น]               
               ไก่ออกจากบ้านใด แล้วเดินไปยังบ้านอื่น, บ้านนี้ท่านเรียกว่า ชั่วไก่ไปถึง ในบทว่า กุกฺกุฏสมฺปาเท นี้.
               ในบทนั้น มีอรรถเฉพาะคำดังต่อไปนี้ :-
               ไก่ทั้งหลายย่อมเที่ยวไปถึงที่บ้านนี้ เหตุนั้น บ้านนี้จึงชื่อว่า เป็นที่ไปถึง. พวกไหนไปถึง? พวกไก่. การเที่ยวไปถึงของพวกไก่ ชื่อว่ากุกกุฏสัมปาทะ.
               อีกอย่างหนึ่ง การไปถึง ชื่อว่าสัมปาทะ. การไปถึงของพวกไก่ มีอยู่ที่บ้านนี้ เพราะเหตุนั้น บ้านนี้จึงชื่อว่ากุกกุฏสัมปาทะ. ปาฐะว่า กุกฺกุฏสมฺปาเต ก็มี. ไก่บินโผขึ้นจากหลังคาเรือนแห่งบ้านใด แล้วไปตกลงที่หลังคาเรือนแห่งบ้านอื่น, บ้านนี้ท่านเรียกว่า ชั่วไก่บินถึง ในปาฐะว่า กุกฺกุฏสมฺปาเต นั้น. ส่วนอรรถเฉพาะคำในบทนี้ บัณฑิตพึงทราบโดยนัยดังกล่าวแล้วนั่นแหละ.
               ก็บ้านแม้มีประการดังกล่าวแล้ว ๒ อย่างนี้ ใกล้ชิดกันนัก ย่อมไม่ได้อุปจาร. ในอรรถกถาท่านกล่าวไว้ว่า ก็เสียงไก่ที่ขันอยู่ในเวลาใกล้รุ่งในบ้านใด ได้ยินไปถึงในบ้านที่ถัดไป, ต้องปาจิตตีย์ทุกๆ ละแวกบ้าน ในรัฐที่คับคั่งด้วยหมู่บ้านเช่นนั้น. ท่านได้กล่าวคำนั้นไว้แล้ว แม้ก็จริง, ถึงอย่างนั้น ก็เป็นอาบัติเหมือนกัน แก่ภิกษุผู้ก้าวลงสู่อุปจารแห่งบ้าน ซึ่งถ้าแม้นมีระยะห่างกัน ประมาณศอกกำที่พวกชาวบ้านเว้นไว้ เพราะพระบาลีว่า ต้องอาบัติปาจิตตีย์ทุกๆ ละแวกบ้าน ดังนี้. คำนั้นไม่สมด้วยพระบาลี. ถ้าว่า บ้านแม้เห็นปานนี้ โดยโวหารที่ได้แล้วอย่างนั้น เพราะไม่ใกล้ชิดกัน ย่อมได้โวหารว่า ชั่วไก่บินถึง ดังนี้ก็ดี ว่า ชั่วไก่บินไม่ถึง ดังนี้ก็ดี เพราะเป็นบ้านใกล้ชิดกัน เพราะฉะนั้น จึงไม่สมกันกับบาลี ฉะนี้แล. ส่วนในบ้านนอกนี้ การเดินเลยอุปจารบ้านนี้ไป และก้าวลงสู่อุปจารบ้านอื่นเท่านั้นไม่ปรากฏ. เพราะฉะนั้น ที่ยกอาบัติขึ้นปรับ จึงไม่ปรากฏเหมือนกัน.

               [ว่าด้วยการชักชวนกันเดินทางร่วมกัน]               
               วินิจฉัยอาบัติในคำว่า คามนฺตเร คามนฺตเร อาปตฺติ ปาจิตฺติยสฺส นั้น ดังต่อไปนี้ :-
               จริงอยู่ ในเวลาชักชวนกัน ถ้าว่าภิกษุและภิกษุณีแม้ทั้ง ๒ ยืนชักชวนกัน ในสำนักภิกษุณีก็ดี ในระหว่างวัดก็ดี ในโรงฉันก็ดี ในที่อยู่แห่งเดียรถีย์ก็ดี ไม่เป็นอาบัติ.
               ได้ยินว่า ภูมินี้ เป็นกัปปิยภูมิ. เพราะเหตุนั้น ท่านอาจารย์ทั้งหลายจึงไม่ปรับอาบัติทุกกฏ เพราะการชักชวนเป็นปัจจัย ในสำนักแห่งภิกษุณีเป็นต้นนี้ เป็นปาจิตตีย์ตามวัตถุทีเดียว แก่ภิกษุผู้เดินไป.
               แต่ถ้าว่า ภิกษุกับภิกษุณีชักชวนกัน ภายในบ้าน ที่ถนนใกล้ประตู สำนักของภิกษุณีก็ดี ในที่เหล่าอื่น มีทาง ๔ แยก ๓ แยก และโรงช้างเป็นต้นก็ดี, ภิกษุต้องอาบัติทุกกฏ. ครั้นชักชวนกันอย่างนี้แล้ว จึงออกจากบ้านไป ไม่เป็นอาบัติเพราะการออกจากบ้าน. แต่ในเพราะย่างลงสู่อุปจารแห่งบ้านที่ถัดไป เป็นปาจิตตีย์แก่ภิกษุ. ท่านกล่าวไว้ในมหาปัจจรีว่า แม้ในการย่างลงสู่อุปจารนั้น เป็นทุกกฏในย่างเท้าที่ ๑ เป็นปาจิตตีย์ในย่างเท้าที่ ๒.
               ก็ภิกษุออกจากบ้านแล้ว แต่ยังไม่ย่างลงสู่อุปจารแห่งบ้านถัดไปเพียงใด, แม้เมื่อชักชวนกันในระหว่างนี้ ก็เป็นทุกกฏแก่ภิกษุเพียงนั้น. ในการย่างลงสู่อุปจารแห่งบ้านถัดไป ไม่เป็นอาบัติโดยนัยก่อนเหมือนกัน. ถ้าภิกษุกับภิกษุณีมีความประสงค์จะไปสู่บ้านไกลมาก, เป็นอาบัติทุกๆ ครั้งที่ย่างลง (สู่อุปจารแห่งบ้าน) โดยนับอุปจารแห่งบ้าน.
               ท่านกล่าวไว้ในมหาปัจจรีว่า แต่ไม่เป็นอาบัติในเพราะการเดินเลยบ้านนั้นๆ ไป. แต่ถ้าภิกษุณีคิดว่า เราจักไปยังบ้านชื่อโน้น แล้วเดินออกจากสำนักไป, ฝ่ายภิกษุก็คิดว่า เราจักไปยังบ้านโน้น แล้วเดินออกจากวิหาร มุ่งหน้าไปยังบ้านนั้นนั่นแล, ถ้าภิกษุกับภิกษุณีแม้ทั้ง ๒ ไปพบกันที่ประตูบ้านแล้ว ถามกันว่า ท่านจะไปไหน? จะไปบ้านโน้น, ท่านจะไปไหน? กล่าวว่า แม้เราก็จะไปที่บ้านนั้นเหมือนกัน จึงชักชวนกันว่า มาเถิดท่าน พวกเราจะไปกันเดี๋ยวนี้ แล้วเดินไป, ไม่เป็นอาบัติ. เพราะเหตุไร? เพราะเหตุว่า ภิกษุกับภิกษุณีต่างออกไปด้วยใส่ใจว่า เราจักไปตั้งแต่แรกนั่นเอง. คำที่กล่าวในมหาปัจจรีนั้น ไม่สมด้วยบาลี และไม่สมด้วยอรรถกถาที่เหลือ.
               สองบทว่า อฑฺฒโยชเน อฑฺฒโยชเน มีความว่า ภิกษุเดินเลยกึ่งโยชน์หนึ่งๆ ไปในขณะที่คิดว่า บัดนี้ เราจักเดินเลยไป เป็นทุกกฏในย่างเท้าที่ ๑ เป็นปาจิตตีย์ในย่างเท้าที่ ๒. แท้จริง นัยนี้เป็นอาบัติในขณะที่เดินเลยไป ไม่เป็นอาบัติในขณะย่างลง.
               สองบทว่า ภิกฺขุ สํวิทหติ มีความว่า ภิกษุเห็นภิกษุณีที่ประตูเมืองหรือที่ถนน กล่าวว่า ท่านเคยไปสู่บ้านชื่อโน้นไหม? ภิกษุณีตอบว่า ดิฉันยังไม่เคยไป พระผู้เป็นเจ้า! ภิกษุกล่าวว่า มาเถิด เราจักไปด้วยกัน หรือว่า ฉันจักไปพรุ่งนี้ แม้เธอก็พึงมาด้วย ดังนี้ก็ดี.
               สองบทว่า ภิกฺขุนี สํวิทหติ มีความว่า ภิกษุณีเห็นภิกษุออกจากบ้าน เพื่อจะไหว้พระเจดีย์ในบ้านอื่น จึงกล่าวว่า พระผู้เป็นเจ้า! ท่านจะไปไหน? ภิกษุตอบว่า ฉันจะไปยังบ้านโน้น เพื่อไหว้พระเจดีย์ ดังนี้. ภิกษุณีนั่นแล ชักชวนแม้อย่างนี้ว่า พระผู้เป็นเจ้า! แม้ดิฉันก็จักไปด้วย, ภิกษุไม่ได้ชักชวน.
               วินิจฉัยในคำว่า วิสงฺเกเตน นี้ พึงทราบดังนี้ :-
               ภิกษุกับภิกษุณีกล่าวว่า เราจักไปกันก่อนฉัน แล้วไปภายหลังฉัน, กล่าวว่า เราจะมากันในวันนี้ แล้วไปเสียวันพรุ่งนี้, อย่างนี้ไม่เป็นอาบัติ เพราะผิดนัดเวลาแล. แต่แม้เมื่อมีการผิดนัดหมายประตู หรือผิดนัดหมายหนทาง เป็นอาบัติแท้.
               บทว่า อาปทาสุ มีความว่า ในเพราะรัฐถูกปล้น ชาวชนบททั้งหลายพากันขึ้นสู่ล้อทางเดินหรือล้อเกวียนอพยพไป, ไม่เป็นอาบัติ ในอันตรายมีรูปเห็นปานนี้.
               คำที่เหลือตื้นทั้งนั้นแล.
               สิกขาบทนี้มีสมุฏฐาน ๔ เกิดขึ้นทางกาย ๑ ทางกายกับวาจา ๑ ทางกายกับจิต ๑ ทางกายวาจากับจิต ๑ เป็นกิริยา โนสัญญาวิโมกข์ อจิตตกะ ปัณณัตติวัชชะ กายกรรม วจีกรรม มีจิต ๓ มีเวทนา ๓ ดังนี้แล.

               สังวิธานสิกขาบทที่ ๗ จบ.               
               ------------------------------------------------------------               

.. อรรถกถา ปาจิตติยกัณฑ์ ปาจิตติย์ โอวาทวรรคที่ ๓ สิกขาบทที่ ๗ จบ.
อ่านอรรถกถา 2 / 1อ่านอรรถกถา 2 / 447อรรถกถา เล่มที่ 2 ข้อ 451อ่านอรรถกถา 2 / 456อ่านอรรถกถา 2 / 881
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=2&A=9871&Z=9955
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=2&A=7949
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=2&A=7949
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๒๕  พฤศจิกายน  พ.ศ.  ๒๕๕๕
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :