ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 2 / 1อ่านอรรถกถา 2 / 255อรรถกถา เล่มที่ 2 ข้อ 284อ่านอรรถกถา 2 / 289อ่านอรรถกถา 2 / 881
อรรถกถา ปาจิตติยกัณฑ์
ปาจิตติย์ มุสาวาทวรรคที่ ๑ สิกขาบทที่ ๔

               มุสาวาทวรรค ปทโสธัมมสิกขาบทที่ ๔               
               พึงทราบวินิจฉัยในสิกขาบทที่ ๔ ดังต่อไปนี้ :-

               [แก้อรรถบางปาฐะว่าด้วยการสอนธรรมโดยบท]               
               บทว่า อปฺปติสฺสา ได้แก่ ไม่ยำเกรง.
               อธิบายว่า เมื่อพวกภิกษุฉัพพัคคีย์กล่าวว่า ดูก่อนอุบาสกทั้งหลาย! แม้ถ้อยคำก็ไม่อยากฟัง คือไม่เอื้อเฟื้อ.
               อีกอย่างหนึ่ง ความว่า ไม่มีความยำเกรง ไม่ประพฤติอ่อนน้อม.
               บทว่า อสภาควุตฺติกา ได้แก่ ผู้มีความเป็นอยู่ไม่ถูกส่วนกัน.
               อธิบายว่า ผู้มีความประพฤติไม่ดำเนินไปเหมือนอย่างที่พวกอุบาสกควรประพฤติในหมู่ภิกษุ.
               คำว่า ปทโส ธมฺมํ วาเจยฺย ความว่า ให้กล่าวธรรมเป็นบทๆ รวมกัน (กับอนุปสัมบัน). อธิบายว่า ให้กล่าว (ธรรม) เป็นโกฏฐาสๆ (เป็นส่วนๆ). ก็เพราะบทที่มีชื่อว่าโกฏฐาสนั้นมีอยู่ ๔ อย่าง ฉะนั้น เพื่อแสดงบททั้ง ๔ อย่างนั้น พระอุบาลีเถระจึงกล่าวไว้ในบทภาชนะว่า บท อนุบท อนุอักขระ อนุพยัญชนะ.
               บรรดาบทเป็นต้นนั้น บท หมายเอาคาถาบาทหนึ่ง. อนุบท หมายเอาบาทที่สอง. อนุอักขระ หมายเอาอักขระตัวหนึ่งๆ (หมายเอาอักขระแต่ละตัว). อนุพยัญชนะ หมายเอาพยัญชนะตัวท้ายคล้ายกับพยัญชนะตัวต้น.
               ผู้ศึกษาพึงทราบความต่างกันในบทเป็นต้นนั่นอย่างนี้ คือ อักขระแต่ละตัวชนิดใดชนิดหนึ่ง ชื่อว่า อนุอักขระ, ประชุมอักขระ ชื่อว่า อนุพยัญชนะ, ประชุมอักขระและอนุพยัญชนะ ชื่อว่า บท, บทแรก ชื่อว่า บทเหมือนกัน, บทที่สอง ชื่อว่า อนุบท.
               บัดนี้ บัณฑิตพึงทราบวินิจฉัยในคำว่า ปทํ นาม เอกโต ปฏฺฐเปตฺวา เอกโต โอสาเปนฺติ ต่อไป :-
               เมื่อภิกษุให้กล่าวธรรม เนื่องด้วยคาถา เริ่มบทแต่ละบทนี้ว่า มโนปุพฺพงฺคมา ธมฺมา พร้อมกันกับอนุปสัมบัน แล้วให้จบลงก็พร้อมกัน. แม้สำหรับภิกษุผู้ให้กล่าวอย่างนี้ ก็พึงปรับปาจิตตีย์หลายตัวตามจำนวนบท.
               พึงทราบวินิจฉัยในคำว่า อนุปทํ นาม ปาเฏกฺกํ ปฏฺฐเปตฺวา เอกโต โอสาเปนฺติ ต่อไป :-
               เมื่อพระเถระกล่าวว่า มโนปุพฺพงฺคมา ธมฺมา ดังนี้ สามเณรกล่าวบทนั้นไม่ทัน จึงกล่าวบทที่สองพร้อมกันว่า มโนเสฏฺฐา มโนมยา. ภิกษุและสามเณรทั้งสองรูปนี้ ชื่อว่าขึ้นต้นต่างกัน ให้จบลงพร้อมกัน. แม้สำหรับภิกษุผู้ให้กล่าวอย่างนี้ ก็พึงปรับปาจิตตีย์หลายตัวตามจำนวนอนุบท.
               พึงทราบวินิจฉัยในคำว่า อนฺวกฺขรํ นาม รูปํ อนิจฺจนฺติ วุจฺจมาโน รูติ โอปาเตติ ต่อไป :-
               ภิกษุสอนสามเณรว่า แน่ะสามเณร! เธอจงว่า รูปํ อนิจฺจํ กล่าวพร้อมกันเพียงรู-อักษรเท่านั้น แล้วหยุดอยู่. แม้สำหรับภิกษุผู้ให้กล่าวอย่างนี้ ก็พึงปรับปาจิตตีย์หลายตัวตามจำนวนอนุอักขระ. และแม้ในคาถาพันธ์ บัณฑิตก็ย่อมได้นัยเช่นนี้เหมือนกันแท้ทีเดียว.
               พึงทราบวินิจฉัยในคำว่า อนุพฺยญฺชนํ นาม รูปํ อนิจฺจนฺติ วุจฺจมาโน เวทนา อนิจฺจาติ สทฺทํ นิจฺฉาเรติ ต่อไป :-
               สามเณรให้บอกสูตรนี้ว่า รูปํ ภิกฺขเว อนิจฺจํ เวทนา อนิจฺจา เป็นต้น พระเถระบอกว่า รูปํ อนิจฺจํ ดังนี้ เปล่งวาจากล่าวอนิจจบทนี้ว่า เวทนา อนิจฺจา พร้อมกับอนิจจบทของพระเถระว่า รูปํ อนิจฺจํ นี้ เพราะเป็นผู้มีปัญญาว่องไว. แม้สำหรับภิกษุผู้ให้กล่าวอย่างนี้ พระวินัยธรก็พึงปรับปาจิตตีย์หลายตัวตามจำนวนอนุพยัญชนะ.
               ส่วนความสังเขปในบทเหล่านี้มีดังนี้ว่า บรรดาบทเป็นต้นนี้ ภิกษุกล่าวบทใดๆ พร้อมกันย่อมต้องอาบัติด้วยบทนั้นๆ.

               [ว่าด้วยภาษิต ๔ มีพุทธภาษิตเป็นต้น]               
               วินัยปิฎกทั้งสิ้น อภิธรรมปิฎก ธรรมบท จริยาปิฎก อุทาน อิติวุตตกะ ชาตกะ สุตตนิบาต วิมานวัตถุ เปตวัตถุและพระสูตรทั้งหลายมีพรหมชาลสูตรเป็นต้น ชื่อว่าพุทธภาษิต.
               ธรรมที่พวกสาวกผู้นับเนื่องในบริษัท ๔ ภาษิตไว้ มีอนังคณสูตร สัมมาทิฏฐิสูตร อนุมานสูตร จูฬเวทัลลสูตร มหาเวทัลลสูตรเป็นต้น ชื่อว่าสาวกภาษิต.
               ธรรมที่พวกปริพาชกภายนอกกล่าวไว้ มีอาทิอย่างนี้ คือ ปริพาชกวรรคทั้งสิ้น คำปุจฉาของพราหมณ์ ๑๖ คน ผู้เป็นอันเตวาสิกของพราหมณ์ ชื่อพาวรี ชื่อว่าอิสิภาษิต.
               ธรรมที่พวกเทวดากล่าวไว้ ชื่อว่า เทวตาภาษิต.
               เทวตาภาษิตธรรมนั้น บัณฑิตพึงทราบด้วยอำนาจแห่งเรื่องมีเทวตาสังยุตต์ เทวปุตตสังยุตต์ มารสังยุตต์ พรหมสังยุตต์ และสักกสังยุตต์เป็นต้น.
               บทว่า อตฺถูปสญฺหิโต ได้แก่ ธรรมที่อาศัยอรรถกถา.
               บทว่า ธมฺมูปสญฺหิโต ได้แก่ ธรรมที่อาศัยพระบาลี.
               แม้ด้วยบททั้งสองนี้ พระอุบาลีเถระกล่าวธรรมที่อาศัยนิพพานซึ่งปราศจากวัฏฏะนั่นเอง. จะกล่าวถึงธรรมที่อาศัยนิพพานซึ่งปราศจากวัฏฏะ แม้ก็จริง, ถึงกระนั้น ก็เป็นอาบัติแก่ภิกษุผู้ให้กล่าวธรรมที่ขึ้นสู่สังคีติทั้ง ๓ คราว โดยบทเหมือนกัน. ไม่เป็นอาบัติแม้ในคำที่อาศัยพระนิพพาน ซึ่งท่านรจนาไว้โดยผูกเป็นคาถาโศลกเป็นต้น ด้วยอำนาจภาษาต่างๆ.
               แม้ในสูตรที่ไม่ได้ยกขึ้นสู่สังคีติ ๓ คราว เช่นนี้ คือ กุลุมพสูตร ราโชวาทสูตร ติกขินทริยสูตร จตุปริวัตตสูตรและนันโทปนันทสูตร ก็เป็นอาบัติเหมือนกัน ถึงการทรมานพญานาค ชื่อว่าอปลาละ อาจารย์ก็กล่าวไว้ (ด้วยอำนาจก่อให้เกิดอาบัติ), แต่ในมหาปัจจรีท่านปฏิเสธ (อธิบายว่าไม่เป็นอาบัติ).
               ในปฏิภาณส่วนตัวของพระเถระ ในเมณฑกมิลินทปัญหา ไม่เป็นอาบัติ. (แต่) เป็นอาบัติในถ้อยคำที่พระเถระนำมากล่าว เพื่อให้พระราชาทรงยินยอม.
               อาจารย์ทั้งหลายกล่าวว่า ก็ปกรณ์ทั้งหลายมีอาทิ คือ วัณณปิฎก อังคุลิมาลปิฎก รัฐปาลครรชิต อาลวกครรชิต คุฬหอุมมังคะ คุฬหเวสสันดร คุฬหวินัย เวทัลลปิฎก๑- เป็นต้น ไม่เป็นพุทธพจน์แท้.
               อาจารย์บางพวกกล่าวว่า ธรรมชื่อว่า สีลูปเทส พระธรรมเสนาบดีกล่าวไว้, ในธรรมนั้น เป็นอาบัติเหมือนกัน ยังมีปกรณ์แม้อื่น เช่น มัคคกถา อารัมมณกถา วุฑฒิกรัณฑกญาณวัตถุ และอสุภกถาเป็นต้น, ในปกรณ์เหล่านั้น ท่านจำแนกโพธิปักขิยธรรม ๓๗ ไว้. ในธุดงคปัญหา ท่านจำแนกปฏิปทาไว้, เพราะเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า เป็นอาบัติในปกรณ์เหล่านั้น.
               แต่ในอรรถกถามหาปัจจรีเป็นต้นท่านกล่าวอนาบัติไว้ ในจำพวกราโชวาทสูตร ติกขินทริยสูตร จตุปริวัตตสูตร นันโทปนันทสูตร กุลุมพสูตร๑- นั่นแล ซึ่งไม่ขึ้นสู่สังคีติ แล้วกำหนดอรรถไว้ดังนี้ว่า บรรดาคำที่เหลือ เฉพาะคำที่ท่านนำมาจากพุทธพจน์กล่าวไว้เท่านั้น เป็นวัตถุแห่งอาบัติ นอกจากนี้ หาเป็นไม่.
               คำว่า เอกโต อุทฺทิสาเปนฺโต มีความว่า ภิกษุแม้เรียนบาลีร่วมกับอนุปสัมบันกล่าวพร้อมกัน ไม่เป็นอาบัติ.
               ในคำนั้น มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้ :-
               อุปสัมบันกับอนุปสัมบันนั่นแล้ว ขอให้อาจารย์สวด, อาจารย์คิดว่า เราจะสวดแก่อุปสัมบันและอนุปสัมบัน ทั้งสองผู้นั่งแล้ว จึงสวดพร้อมกันกับเธอเหล่านั้น. เป็นอาบัติแก่อาจารย์ เป็นอนาบัติแก่ภิกษุผู้เรียนเอาพร้อมกับอนุปสัมบัน. แม้อุปสัมบันกับอนุปสัมบันทั้งสองยืนเรียนอยู่ ก็มีนัยอย่างนี้เหมือนกัน, ภิกษุหนุ่มนั่ง สามเณรยืน, ไม่เป็นอาบัติแก่อาจารย์ผู้บอก ด้วยคิดว่า เราจะกล่าวแก่ภิกษุผู้นั่ง. ถ้าภิกษุหนุ่มยืน ฝ่ายสามเณรนั่ง ไม่เป็นอาบัติแม้แก่อาจารย์ผู้กล่าวอยู่ ด้วยคิดว่า เราจะกล่าวแก่ภิกษุผู้ยืน.
               ถ้าสามเณรรูปหนึ่งนั่งอยู่ในระหว่างภิกษุมากรูป เป็นอจิตตกาบัติแก่อาจารย์ผู้ให้กล่าวธรรมโดยบทในเพราะสามเณรนั่งอยู่ด้วย.
               ถ้าสามเณรยืนหรือนั่งละอุปจารเสีย เพราะสามเณรไม่นับเนื่องอยู่ในพวกภิกษุที่อาจารย์ให้กล่าว (ธรรมโดยบท) เธอจึงถึงการนับว่า เรียนเอาคัมภีร์เล็ดลอดออกไปโดยทิศาภาคหนึ่ง เพราะฉะนั้น จึงไม่เป็นอาบัติ (แก่อาจารย์)
____________________________
๑- เป็นพระสูตรฝ่ายมหายาน ของเราไม่มี. - ผู้ชำระ.

               คำว่า เอกโต สชฺฌายํ กโรนฺโต มีความว่า อุปสัมบันเมื่อกระทำการสาธยายร่วมกันกับอนุปสัมบัน สวดพร้อมกันกับอนุปสัมบันนั้นแล ไม่เป็นอาบัติ. แม้ภิกษุเรียนอุเทศในสำนักแห่งอนุปสัมบัน สวดร่วมกับอนุปสัมบันนั้น ก็ไม่เป็นอาบัติ. เพราะว่า แม้อุปสัมบันนี้ก็ถึงอันนับว่า กระทำสาธยายพร้อมกันแท้.
               คำว่า เยภุยฺเยน ปคุณํ คณฺฐํ ภณนฺตํ โอปาเตติ มีความว่า ถ้าในคาถาเดียวกัน บาทหนึ่งๆ ยังจำไม่ได้ ที่เหลือจำได้ นี้ชื่อว่าคัมภีร์ที่คล่องแคล่ว โดยมาก. แม้ในพระสูตร ผู้ศึกษาก็พึงทราบโดยนัยนี้. ไม่เป็นอาบัติแก่ภิกษุผู้ทักให้คัณฐะนั้นค้างอยู่ จึงสวดแม้พร้อมกันด้วยกล่าวว่า เธอจงสวดอย่างนี้.
               สองบทว่า โอสาเรนฺตํ โอปาเตติ มีความว่า ไม่เป็นอาบัติแก่ภิกษุผู้กล่าวกะอนุปสัมบันผู้สวดสูตรวกวนอยู่ ในท่ามกลางบริษัทว่า เธอจงสวดอย่างนี้ แล้วสวดแม้พร้อมกันกับอนุปสัมบันนั้น. ก็คำใดที่ท่านกล่าวไว้ในอรรถกถามหาปัจจรีเป็นต้นว่า ภิกษุผู้อันอนุปสัมบันกล่าวว่า ท่านอย่าสวดกับผม ถ้าสวดเป็นอนาบัติ ดังนี้. คำนั้นไม่มีในมหาอรรถกถา. ก็ภาวะแห่งคำที่ท่านกล่าวไว้ในอรรถกถามหาปัจจรีเป็นต้นนั้นไม่มีเลย ถูกแล้ว (ก็ความที่อาบัติไม่มีแก่ภิกษุนั้นเลย ถูกแล้ว). เพราะเหตุไร? เพราะอาบัติเกิดจากการกระทำ. แต่เมื่อมีการถือเอาอรรถนอกนี้ สิกขาบทนี้จะพึงเป็นทั้งกิริยาทั้งอกิริยา.
               บทที่เหลือในสิกขาบทนี้ มีอรรถตื้นทั้งนั้น.
               สิกขาบทนี้มีธรรมโดยบทเป็นสมุฏฐาน เกิดขึ้นทางวาจา ๑ วาจากับจิต ๑ เป็นกิริยา โนสัญญาวิโมกข์ อจิตตกะ ปัณณัตติวัชชะ วจีกรรม มีจิต ๓ มีเวทนา ๓ ดังนี้แล.

               ปทโสธัมมสิกขาบทที่ ๔ จบ.               
               ------------------------------------------------------------               

.. อรรถกถา ปาจิตติยกัณฑ์ ปาจิตติย์ มุสาวาทวรรคที่ ๑ สิกขาบทที่ ๔ จบ.
อ่านอรรถกถา 2 / 1อ่านอรรถกถา 2 / 255อรรถกถา เล่มที่ 2 ข้อ 284อ่านอรรถกถา 2 / 289อ่านอรรถกถา 2 / 881
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=2&A=7108&Z=7165
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=2&A=6112
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=2&A=6112
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๒๐  พฤศจิกายน  พ.ศ.  ๒๕๕๕
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :