ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 

อ่าน อรรถกถาหน้าต่างที่ [๑] [๒]อ่านอรรถกถา 19 / 1อ่านอรรถกถา 19 / 678อรรถกถา เล่มที่ 19 ข้อ 682อ่านอรรถกถา 19 / 685อ่านอรรถกถา 19 / 1786
อรรถกถา สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค สติปัฏฐานสังยุตต์ อัมพปาลีวรรคที่ ๑
๒. สติสูตร

หน้าต่างที่ ๒ / ๒.

               ก็ในบทว่า อาโลกิเต วิโลกิเต นี้ การเพ่งไปข้างหน้าชื่อว่าโอโลกิตะ (การแล) การเพ่งไปตามทิศ ชื่อว่าวิโลกิตะ (การเหลียว) แม้การเพ่งอย่างอื่น ชื่อว่ามองลง มองขึ้น เหลียวมองด้วยการเพ่งตามข้างล่าง ข้างบน ข้างหลัง. ในที่นี้ไม่ถือเอาการเพ่งอย่างอื่นนั้น. แต่โดยความเหมาะสม ถือเอาการเพ่งสองอย่างเหล่านี้. หรือท่านถือเอาการเพ่งแม้ทั้งหมดเหล่านั้นด้วยมุขนี้.
               ในสัมปชัญญะเหล่านั้น เมื่อจิตเกิดขึ้นว่า เราจักแลดู การไม่แลดูด้วยอำนาจจิตเท่านั้น แล้วกำหนดเอาประโยชน์ ชื่อว่าสาตถกสัมปชัญญะ.
               สาตถกสัมปชัญญะนี้ พึงทำท่านนันทะให้เป็นกายสักขีแล้วทราบเถิด.
               สมดังที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า
               ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย หากนันทะแลดูทิศเบื้องหน้า นันทะประมวลสิ่งทั้งหมดด้วยจิตแล้วแลดู ทิศเบื้องหน้าว่า เมื่อเราแลดูทิศเบื้องหน้าอย่างนี้ อกุศลธรรมอันลามกคืออภิชฌาและโทมนัส จักไม่ครอบงำเรา ดังนี้ ชื่อว่าเป็นผู้มีสัมปชัญญะในสิ่งนั้น.
               ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย หากนันทะจะพึงเป็นผู้แลดูทิศเบื้องหลัง ทิศเหนือ ทิศใต้ ตามทิศเบื้องบน เบื้องล่าง. นันทะประมวลสิ่งทั้งปวงด้วยจิต แลดูตามลำดับทิศว่า เมื่อเราแลดูตามลำดับทิศอย่างนี้ ฯลฯ ชื่อว่าเป็นผู้มีสัมปชัญญะ ดังนี้.
               ก็แลแม้ในที่นี้ พึงทราบความมีประโยชน์และความสบายด้วยการเห็นเจดีย์ดังที่กล่าวแล้วในตอนต้นนั้นแล.
               ก็การไม่ละกรรมฐาน ชื่อว่าโคจรสัมปชัญญะ เพราะฉะนั้น ผู้บำเพ็ญกรรมฐานมีขันธ์ธาตุอายตนะเป็นอารมณ์ก็ดี ผู้บำเพ็ญกรรมฐานมีกสิณเป็นต้นเป็นอารมณ์ก็ดี ด้วยอำนาจกรรมฐานของตนพึงทำการแลดู การเหลียวดูด้วยหัวข้อกรรมฐานทีเดียว.
               ชื่อว่าอัตตาในภายใน ไม่มี การแลหรือการเหลียว ก็เมื่อจิตเกิดขึ้นว่าเราจักแลดูดังนี้ วาโยธาตุมีจิตเป็นสมุฏฐานกับจิตนั้นแล เกิดความไหว ย่อมเกิดขึ้น กลีบตาล่างจมเบื้องล่าง กลีบตาบนหนีไปในเบื้องบนด้วยการซ่านไปแห่งวาโยธาตุ อันเป็นกิริยาของจิต ไม่มีใครๆ ชื่อว่าเปิดได้โดยสะดวก. จากนั้น จักขุวิญญาณให้สำเร็จกิจคือความเห็นได้เกิดขึ้น ก็ความรู้อย่างนี้ ชื่อว่าอสัมโมหสัมปชัญญะในที่นี้.
               ก็แลพึงทราบอสัมโมหสัมปชัญญะในที่นี้ ด้วยสามารถความเป็นมูล ปริญญา อาคันตุกะและตาวกาลิก.
               พึงทราบด้วยสามารถมูลปริญญา (ความรู้พื้นฐาน) ก่อน.
                         ภวังคะ อาวัชชนะ ทัสสนะ สัมปฏิจฉนะ
                         สันติรณะ โวฏฐัพพนะ ชวนะเป็นที่ ๗.

               ในดวงจิตเหล่านั้น ภวังคะยังกิจอันเป็นองค์แห่งอุบัติภพให้สำเร็จเป็นไป. กิริยามโนธาตุ คำนึงถึงภวังคะนั้นยังอาวัชชนะกิจให้สำเร็จ เพราะอาวัชชนกิจนั้นดับ จักขุวิญญาณยังทัสสนกิจให้สำเร็จเป็นไป. เพราะดับทัสสนกิจนั้น วิปากมโนธาตุยังสัมปฏิจฉนกิจให้สำเร็จเป็นไป. เพราะดับสัมปฏิจฉนกิจนั้น วิปากมโนวิญญาณธาตุยังสันติรณกิจให้สำเร็จ. เพราะดับสันติรณกิจนั้น กิริยามโนวิญญาณธาตุยังโวฏฐัพพนกิจให้สำเร็จ. เพราะดับโวฏฐัพพนกิจนั้น ชวนะแล่นไป ๗ ครั้ง.
               ในชวนะเหล่านั้น แม้ในปฐมชวนะก็ไม่มีการแลและการเหลียวด้วยอำนาจความกำหนัด ความโกรธและความหลงว่า นี้หญิง นี้ชาย ดังนี้.
               แม้ในทุติยชวนะ แม้ในสัตตมชวนะก็ไม่มี. เมื่อชวนะเหล่านั้นถูกทำลายตกไปด้วยอำนาจกิเลสอันมีในเบื้องล่างเบื้องบน ดุจทหารถูกทำลายพ่ายไปในสนามรบ การแลและการเหลียวย่อมมีด้วยสามารถความกำหนัดเป็นต้นว่า นี้เป็นหญิง นี้เป็นชาย ดังนี้.
               พึงทราบอสัมโมหสัมปชัญญะด้วยสามารถมูลปริญญาในที่นี้ก่อนด้วยประการฉะนี้.
               ก็เมื่อรูปในจักขุทวารไปสู่คลอง เมื่ออาวัชชนะเป็นต้นเกิดแล้วดับไป ด้วยสามารถทำกิจของตนให้สำเร็จเบื้องบนจากภวังคจลนะในที่สุด ชวนะย่อมเกิดขึ้น. ชวนะนั้นย่อมเป็นเหมือนอาคันตุกบุรุษในจักขุทวารอันเป็นเรือนของอาวัชชนะเป็นต้นที่เกิดขึ้นในครั้งก่อน. เมื่ออาคันตุกบุรุษนั้นเข้าไปในเรือนของคนอื่นเพื่อขออะไรๆ แม้เมื่อเจ้าของบ้านนั่งนิ่งก็ไม่ควรบังคับฉันใด แม้เมื่ออาวัชชนะเป็นต้นในจักขุทวารอันเป็นเรือนของอาวัชชนะเป็นต้นไม่กำหนัด ไม่โกรธและไม่หลง ก็ไม่ควรกำหนัด โกรธและหลงฉันนั้น.
               พึงทราบอสัมโมหสัมปชัญญะด้วยสามารถความเป็นอาคันตุกะ (ผู้จรมา) อย่างนี้ด้วยประการฉะนี้.
               ก็จิตเหล่านี้ใดอันมีโวฏฐัพพนะเป็นที่สุด เกิดขึ้นในจักขุทวาร. จิตเหล่านั้นย่อมแตกทำลายไปในที่นั้นๆ นั่นเอง พร้อมกับสัมปยุตธรรม ย่อมไม่เห็นกันและกัน จิตนอกนี้ย่อมเป็นไปชั่วคราว.
               ในข้อนั้น อุปมาเหมือนในเรือนหลังหนึ่ง เมื่อคนตายกันหมด คนหนึ่งที่เหลือไม่ควรยินดีในการฟ้อนการขับเป็นต้นของผู้มีมรณธรรมในขณะนั้นฉันใด เมื่ออาวัชชนะเป็นต้นสัมยุตในทวารหนึ่งตายไปในที่นั้นๆ แม้ชวนะแห่งมรณธรรมในขณะนั้นที่เหลือก็ไม่ควรยินดีด้วยสามารถ ความกำหนัด ความโกรธและความหลง.
               พึงทราบอสัมโมหสัมปชัญญะด้วยสามารถความเป็นตาวกาลิก (เป็นไปชั่วคราว) อย่างนี้ด้วยประการฉะนี้.
               อีกอย่างหนึ่ง พึงทราบอสัมโมหสัมปชัญญะด้วยสามารถการพิจารณาขันธ์ธาตุอายตนะและปัจจัย. ในข้อนี้มีอธิบายดังนี้
               จักษุและรูปเป็นรูปขันธ์ เวทนาสัมปยุตด้วยรูปขันธ์นั้นเป็นเวทนาขันธ์ สัญญาสัมปยุตด้วยเวทนานั้นเป็นสัญญาขันธ์ สังขารมีผัสสะเป็นต้นเป็นสังขารขันธ์. การแลและการเหลียวย่อมปรากฏในการพร้อมเพรียงแห่งขันธ์ทั้งหลาย ๕ เหล่านี้ด้วยประการฉะนี้.
               ในข้อนั้น ใครคนหนึ่งย่อมแล ใครคนหนึ่งย่อมเหลียวมีหรือ.
               อนึ่ง จักษุเป็นจักขวายตนะ รูปเป็นรูปายตนะ การเห็นเป็นมนายตนะ. สัมปยุตตธรรมทั้งหลายมีเวทนาเป็นต้นเป็นธัมมายตนะ. การแลและการเหลียวย่อมปรากฏในความพร้อมเพรียงแห่งอายตนะ ๔ เหล่านี้ด้วยประการฉะนี้
               ในข้อนั้น ใครคนหนึ่งย่อมแล ใครย่อมเหลียวหรือ.
               อนึ่ง จักษุเป็นจักขุธาตุ รูปเป็นรูปธาตุ ความเห็นเป็นจักขุวิญญาณธาตุ ธรรมมีเวทนาเป็นต้นสัมปยุตด้วยจักขุวิญญาณธาตุนั้นเป็นธรรมธาตุ. การแลและการเหลียวย่อมปรากฏในความพร้อมเพรียงของธาตุ ๔ เหล่านี้ด้วยประการฉะนี้.
               ในข้อนั้น ใครคนหนึ่งย่อมแล ใครย่อมเหลียวหรือ.
               อนึ่ง จักษุเป็นนิสสยปัจจัย รูปเป็นอารัมมณปัจจัย อาวัชชนะเป็นอนันตรปัจจัย สมนันตรปัจจัย อนัตตรูปนิสสยปัจจัย นัตถิปัจจัย วิคตปัจจัย อาโลกะ (แสงสว่าง) เป็นอุปนิสยยปัจจัย เวทนาเป็นต้นเป็นสหชาตาทิปัจจัย. การแลและการเหลียว ย่อมปรากฏในความพร้อมเพรียงแห่งปัจจัยเหล่านี้ด้วยประการฉะนี้.
               ในข้อนั้น ใครคนหนึ่งย่อมแล ใครย่อมเหลียวหรือ.
               พึงทราบอสัมโมหสัมปชัญญะ แม้ด้วยสามารถการพิจารณาเป็นขันธ์ อายตนะ ธาตุและปัจจัย ในข้อนี้อย่างนี้ด้วยประการฉะนี้.
               บทว่า สมฺมิญฺชิเต ปริสาริเต ได้แก่ ในการงอและเหยียดของข้อทั้งหลาย.
               ในบทนั้น มีอธิบายว่า การไม่ทำการงอและเหยียดด้วยอำนาจจิต แล้วกำหนดสิ่งที่เป็นประโยชน์และไม่เป็นประโยชน์ เพราะปัจจัยคือการงอและการเหยียดมือและเท้า แล้วกำหนดสิ่งที่เป็นประโยชน์ ชื่อว่าสาตสัมปชัญญะ.
               ในบทนั้น เมื่อผู้ที่งอหรือเหยียดมือและเท้านานเกินไป เวทนาย่อมเกิดขึ้นได้. จิตย่อมไม่ได้อารมณ์เดียว กรรมฐานย่อมตกไป ย่อมไม่บรรลุคุณวิเศษ ดังนี้. ก็เมื่องอในเวลาและเหยียดในเวลาอันควรเวทนาเหล่านั้นย่อมไม่เกิด. จิตย่อมเป็นอารมณ์เดียว กรรมฐานย่อมถึงการทรงไว้ ย่อมบรรลุคุณวิเศษ. พึงทราบการกำหนดสิ่งที่เป็นประโยชน์ และไม่เป็นประโยชน์อย่างนี้ ด้วยประการฉะนี้.
               ก็แม้เมื่อมีประโยชน์ การกำหนดสิ่งอันเป็นสัปปายะและอสัปปายะแล้วกำหนดเอาสิ่งอันเป็นสัปปายะ ชื่อสัปปายสัมปชัญญะ.
               ในข้อนั้นมีนัยดังต่อไปนี้.
               ได้ยินว่า ที่ลานมหาเจดีย์ พวกภิกษุหนุ่มท่องมนต์อยู่. พวกภิกษุณีสาวฟังธรรมอยู่ข้างหลังภิกษุหนุ่มเหล่านั้น.
               ในภิกษุเหล่านั้น ภิกษุหนุ่มรูปหนึ่งเหยียดมือไปต้องกายสังสัคคะ จึงเป็นคฤหัสถ์ด้วยเหตุนั่นเอง. ภิกษุอีกรูปหนึ่งเมื่อเหยียดเท้า ได้เหยียดไปที่ไฟ ไฟไหม้จดถึงกระดูก. อีกรูปหนึ่งเหยียดไปที่ไม้ปักกรด ถูกอสรพิษขบ. อีกรูปหนึ่งเหยียดไปที่ไม้ปักกรด งูปี่แก้วขบภิกษุนั้น.
               เพราะฉะนั้น ไม่ควรเหยียดไปในที่เป็นอสัปปายะเห็นปานนี้ ควรเหยียดไปในที่เป็นสัปปายะ. นี้ชื่อว่าสัปปายสัมปชัญญะในที่นี้.
               ก็พึงแสดงโคจรสัมปชัญญะด้วยเรื่องพระมหาเถระ.
               ได้ยินว่า พระมหาเถระนั่งในที่พักกลางวัน เมื่อพูดกับอันเตวาสิกทั้งหลาย งอมือทันทีแล้ว วางไว้ในที่เดิมอีก ค่อยๆ งอ. พวกอันเตวาสิกถามท่านว่า ท่านขอรับ เพราะเหตุไร ท่านจึงงอมือทันที แล้ววางไว้ในที่เดิม แล้วค่อยๆ งอเล่า.
               พระมหาเถระกล่าวว่า ดูก่อนผู้มีอายุทั้งหลาย ก็เพราะเราเริ่มมนสิการกรรมฐาน เราไม่เคยปล่อยกรรมฐานแล้วงอมือเลย ก็บัดนี้ เราพูดกับพวกท่าน จึงปล่อยกรรมฐานงอมือ ฉะนั้น เราจึงวางไว้ในที่เดิมอีก แล้วงอมือ. พวกอันเตวาสิกกล่าวว่า ท่านขอรับ ดีแล้ว ธรรมดาภิกษุควรเป็นเห็นปานนั้น. การไม่ละกรรมฐานแม้ในบทนี้ พึงทราบว่าเป็นโคจรสัมปชัญญะด้วยประการฉะนี้.
               ชื่อว่าอัตตาในภายในไม่มี ใครงอหรือเหยียด. ก็การงอและเหยียดย่อมมีได้ด้วยการซ่านไปแห่งวาโยธาตุอันเป็นกิริยาของจิตดังกล่าวแล้ว ดุจการชักมือและเท้าของช่างหูกด้วยสามารถการชักด้าย เพราะฉะนั้น การกำหนดรู้ พึงทราบว่าเป็นอสัมโมหสัมปชัญญะในที่นี้.
               ในบทว่า สํฆาฏิปตฺตจีวรธารเณ นี้มีอธิบายว่า
               การใช้สอยชื่อว่าทรงไว้ ด้วยสามารถการนุ่งและการห่มสังฆาฏิและจีวรด้วยสามารถการรับภิกษาเป็นต้นแห่งบาตร. ในการทรงสังฆาฏิและจีวรนั้น ประโยชน์มีประการดังที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้โดยนัยมีอาทิว่า ผู้ได้อามิส นุ่งห่มก่อนแล้วจึงเที่ยวไปเพื่อบิณฑบาต เพื่อกำจัดความหนาว ดังนี้ชื่อว่าประโยชน์ พึงทราบสาตถกสัมปชัญญะด้วยสามารถประโยชน์นั้น.
               ก็จีวรเนื้อละเอียดเป็นที่สบายของผู้มีความร้อนเป็นปกติและผู้ทุพพลภาพ จีวรเนื้อหนาสองชั้นเป็นที่สบายของผู้มีความหนาวเป็นปกติ ผิดไปจากนั้นไม่เป็นที่สบายเลย จีวรชำรุดไม่เป็นที่สบายแก่ใครๆ เลย.
               ด้วยว่า จีวรชำรุดนั้นทำความกังวลให้แก่เขาด้วยการให้ผ้าปะเป็นต้น. จีวรที่ควรได้มีประเภทเป็นผ้าขนแกะสองชั้นเป็นต้นก็อย่างนั้น. ด้วยว่าจีวรเช่นนั้นย่อมเป็นการทำอันตรายแก่การนุ่งและทำอันตรายแก่ชีวิตของภิกษุรูปหนึ่งในป่าได้. ก็โดยไม่อ้อมค้อมจีวรได้เกิดด้วยอำนาจมิจฉาชีพ มีนิมิตตกรรมเป็นต้น (เป็นหมอดู) และอกุศลธรรมย่อมเจริญยิ่งแก่ผู้เสพ กุศลธรรมย่อมเสื่อมไป จีวรนั้นไม่เป็นที่สบาย ผิดไปจากนั้นเป็นที่สบาย. พึงทราบสัปปายสัมปชัญญะในข้อนี้ด้วยสามารถสัปปายะนั้น และโคจรสัมปชัญญะด้วย สามารถการไม่ละกรรมฐาน.
               ชื่อว่าอัตตาในภายใน ไม่มีใครๆ ห่มจีวร. แต่การห่มจีวรย่อมมีได้ด้วยการซ่านไปแห่งวาโยธาตุ อันเป็นกิริยาของจิตดังที่กล่าวแล้ว ในการห่มจีวรนั้น แม้จีวรก็ไม่มีเจตนา แม้กายก็ไม่มีเจตนา จีวรย่อมไม่รู้ว่าเราห่มกาย แม้กายก็ไม่รู้ว่าเราห่มจีวร ธาตุเท่านั้นปกปิดหมู่ธาตุ ดุจในการปกปิดผ้าป่านด้วยผ้าขี้ริ้ว เพราะฉะนั้น ได้จีวรดีก็ไม่ควรดีใจ ได้จีวรไม่ดีก็ไม่ควรเสียใจ.
               จริงอยู่ คนบางพวกกระทำสักการะด้วยดอกไม้ของหอมธูปและผ้าเป็นต้น ในไม้กะทิง จอมปลวก เจดีย์และต้นไม้เป็นต้น บางพวกกระทำอสักการะด้วยคูถ มูตร เปือกตมและเครื่องประหารคือท่อนไม้และศัสตราเป็นต้น จอมปลวกและต้นไม้เป็นต้นไม่ทำความดีใจด้วยเหตุนั้น อย่างนี้แหละได้จีวรดีแล้วก็ไม่ควรดีใจ ได้จีวรไม่ดีก็ไม่ควรเสียใจ. พึงทราบอสัมโมหสัมปชัญญะในที่นี้ ด้วยสามารถการพิจารณาอันเป็นไปแล้วอย่างนี้ด้วยประการฉะนี้.
               แม้ในการทรงบาตรก็พึงทราบสาตถกสัมปชัญญะ ด้วยสามารถประโยชน์ที่พึงได้ เพราะการถือบาตรเป็นปัจจัยอย่างนี้ว่า เราจักไม่ถือบาตรทันที ถือบาตรนี้แล้ว เที่ยวไปเพื่อบิณฑบาต จักได้ภิกษา. ก็บาตรหนักไม่เป็นที่สบายแก่ร่างกายอันผอมและทุพพลภาพ. บาตรที่ล้างไม่ดีจะกระทบตุ่มสี่ห้าตุ่ม ไม่เป็นที่สบายแก่ใครๆ บาตรที่ล้างไม่ดี ไม่ควร ความกังวลย่อมมีแก่ผู้ล้างบาตรนั้น. แต่บาตรสีแก้วมณี ที่ควรได้ไม่เป็นที่สบาย โดยนัยที่กล่าวแล้วในจีวรนั้นแล.
               ก็บาตรใดที่ได้แล้วด้วยสามารถนิมิตตกรรมเป็นต้น อกุศลธรรมย่อมเจริญยิ่งแก่ผู้เสพนั้น กุศลธรรมย่อมเสื่อม บาตรนี้ไม่เป็นที่สบายโดยส่วนเดียว ผิดไปจากนี้เป็นที่สบาย.
               พึงทราบสัปปายสัมปชัญญะในข้อนี้ด้วยอำนาจสัปปายะนั้นและโคจรสัปปชัญญะด้วยอำนาจการไม่ละกรรมฐาน.
               ชื่อว่า อัตตาในภายใน ไม่มีใครถือบาตร. ชื่อว่าการถือบาตร ย่อมมีด้วยการซ่านไปแห่งวาโยธาตุอันเป็นกิริยาของจิตดังกล่าวแล้ว. ในการถือบาตรนั้น แม้บาตรก็ไม่มีเจตนา แม้มือก็ไม่มีเจตนา บาตรย่อมไม่รู้ว่าเราถูกมือจับ แม้มือก็ไม่รู้ว่าเราจับบาตร ธาตุเท่านั้นถือเอาหมู่ธาตุ ดุจในการถือบาตรอันมีสีดุจไฟด้วยคีม. พึงทราบอสัมโมหสัมปชัญะในที่นี้ด้วยสามารถการพิจารณาอันเป็นไปแล้วอย่างนี้ด้วยประการฉะนี้.
               อีกอย่างหนึ่ง เหมือนมนุษย์ทั้งหลายผู้มีความเอ็นดูเห็นมนุษย์อนาถาที่อนาถศาลา มีมือและเท้าด้วนมีหนองเลือดและเหล่าหนอนไหลออกจากปากแผล มีแมลงหัวเขียวตอม นำผ้าพันแผลและยาด้วยกระเบื้องเป็นต้นให้แก่พวกเขา. ในข้อนั้น ผ้าเนื้อละเอียดถึงแก่บางคน เนื้อหยาบถึงแก่บางคน ก็กระเบื้องใส่ยามีสัณฐานดีถึงแก่บางคน มีสัณฐานไม่ดีถึงแก่บางคน. พวกมนุษย์อนาถาเหล่านั้นไม่ดีใจหรือไม่เสียใจในข้อนั้นเลย.
               ด้วยว่า ความต้องการของพวกเขาด้วยผ้าเพียงพันแผลเท่านั้น และด้วยกระเบื้องเพียงใส่ยาเท่านั้นฉันใด ภิกษุสำคัญจีวรดุจผ้าพันแผล บาตรดุจกระเบื้องใส่ยา ภิกษาที่ได้ในบาตรดุจยาในกระเบื้องฉันนั้น. พึงทราบว่า ภิกษุนี้เป็นผู้กระทำสัมปชัญญะอันสูงสุด ด้วยอสัมโมหสัมปชัญญะในการทรงสังฆาฏิ บาตรและจีวร.
               พึงทราบในบทว่า อสิต เป็นต้น. บทว่า อสิเต ได้แก่ ในการฉันอาหาร.
               บทว่า ปิเต ได้แก่ ในการดื่มมีข้าวยาคูเป็นต้น.
               บทว่า ขายิเต ได้แก่ ในการเคี้ยวมีแป้งและของเคี้ยวเป็นต้น.
               บทว่า สายิเต ได้แก่ ในการลิ้มมีน้ำผึ้งน้ำอ้อยเป็นต้น.
               ในบทเหล่านั้น ประโยชน์แม้ ๘ อย่าง ท่านกล่าวไว้โดยเป็นต้นว่า เนว ทวาย ดังนี้ ชื่อว่าประโยชน์. พึงทราบสาตถกสัมปชัญญะด้วยสามารถประโยชน์นั้น.
               ความไม่สำราญมีแก่ผู้ใดด้วยโภชนะอันใด ในบรรดาโภชนะที่เศร้าหมองประณีต ขมและหวานเป็นต้น โภชนะอันนั้นไม่เป็นที่สบายแก่ผู้นั้น. แต่โภชนะอันใดอันได้มาด้วยนิมิตตกรรมเป็นต้นและอกุศลธรรมทั้งหลาย ย่อมเจริญยิ่ง กุศลธรรมทั้งหลายย่อมเสื่อมแก่เขาผู้บริโภคโภชนะชนิดใด โภชนะนั้นไม่เป็นที่สบายโดยส่วนเดียว ผิดไปจากนั้นเป็นที่สบาย. พึงทราบสัปปายสัมปชัญญะในที่นี้ด้วยสามารถสัปปายะนั้น และโคจรสัมปชัญญะด้วยสามารถการไม่ละกรรมฐานนั้นแล.
               ชื่อว่าอัตตาในภายในไม่มีใครเป็นผู้บริโภค. ก็ธรรมดาการรับบาตรย่อมมีด้วยสามารถการซ่านไปแห่งวาโยธาตุอันเป็นกิริยาของจิตมีประการดังกล่าวแล้ว. ธรรมดาการหยั่งมือลงในบาตรย่อมมีด้วยการซ่านไปแห่งวาโยธาตุอันเป็นกิริยาของจิต. การปั้นก้อนข้าว การยกก้อนข้าวและการอ้าปากย่อมมีด้วยการซ่านไปแห่งวาโยธาตุอันเป็นกิริยาของจิต. ใครๆ ย่อมไม่เปิดประตูกว้างด้วยกุญแจ ไม่ง้างด้วยเครื่องยนต์ได้. การวางคำข้าวไว้ในปาก ฟันข้างบนทำหน้าที่เป็นสาก ฟันข้างล่างทำหน้าที่เป็นครกและลิ้นทำหน้าที่เป็นมือ ย่อมมีได้ด้วยการซ่านไปแห่งวาโยธาตุอันเป็นกิริยาของจิต. น้ำลายน้อยย่อมเปื้อนโภชนะนั้นที่ปลายลิ้นนั้น น้ำลายมากย่อมเปื้อนที่โคนลิ้น.
               โภชนะนั้นกลิ้งกลอกไปมาด้วยมือคือลิ้น ในครกคือฟัน คือฟันเบื้องล่างชุ่มด้วยน้ำคือน้ำลาย บดด้วยสากคือฟันเบื้องบน ไม่มีใครๆ เอากระจ่า หรือทัพพีสอดเข้าไปในภายในได้ ย่อมเข้าไปด้วยวาโยธาตุเทียว เข้าไปแล้วๆ ก็ไม่มีใครปูฟางรองรับไว้ได้ ตั้งอยู่ด้วยวาโยธาตุเทียว ตั้งอยู่แล้วๆ ก็ไม่มีใครตั้งเตาหุงต้มได้ หุงต้มด้วยธาตุไฟเทียว หุงต้มแล้วๆ ก็ไม่มีใครนำออกข้างนอกได้ ด้วยกระบองหรือไม้เท้าได้ ออกด้วยวาโยธาตุเทียว.
               ด้วยประการฉะนี้ วาโยธาตุย่อมนำไปยิ่ง นำไปล่วงวิเศษทรงไว้เปลี่ยนแปลง บดแห้งและนำออก ปฐวีธาตุทรงไว้ เปลี่ยนแปลง บดและแห้ง. อาโปธาตุย่อมชุ่มฉ่ำ รักษาความสด. เตโชธาตุเผาสิ่งที่เข้าไปในภายใน. อากาศธาตุเป็นทางไป วิญญาณธาตุอาศัยการประกอบชอบในธาตุนั้น ย่อมผูกใจไว้.
               พึงทราบอสัมโมหสัมปชัญญะในที่นี้ด้วยสามารถการพิจารณาอันเป็นไปแล้วอย่างนี้ด้วยประการฉะนี้.
               อีกอย่างหนึ่ง พึงทราบอสัมโมหสัมปชัญญะในที่นี้ เพราะการพิจารณาความเป็นของปฏิกูล ๑๐ อย่างนี้ คือ เพราะการไป เพราะการแสวงหา เพราะการบริโภค เพราะที่อาศัย เพราะการฝัง เพราะไม่ย่อย เพราะย่อมแล้ว เพราะผล เพราะความไหลออก เพราะความเปื้อน.
               บทว่า อุจฺจารปสฺสาวกมฺเม ได้แก่ในการถ่ายอุจจาระปัสสาวะ. เหงื่อย่อมไหลจากทั่วตัวของผู้ไม่ถ่ายอุจจาระปัสสาวะเมื่อถึงเวลา ตาทั้งสองย่อมหมุน จิตไม่แน่วแน่ โรคอื่นย่อมเกิด แต่ทั้งหมดนั้นย่อมไม่มีแก่ผู้ถ่าย.
               นี้เป็นอธิบายในบทนี้.
               พึงทราบสาตถกสัมปชัญญะด้วยสามารถแห่งความนั้น.
               ก็เมื่อภิกษุถ่ายอุจจาระปัสสาวะไม่เป็นที่ย่อมเป็นอาบัติ เสื่อมยศ แม้อันตรายถึงชีวิตย่อมมี เมื่อถ่ายในที่สมควรทั้งหมดนั้นย่อมไม่มี นี้เป็นที่สบายในข้อนี้ด้วยประการฉะนี้. พึงทราบสัปปายสัมชัญญะด้วยสามารถแห่งสัปปายะนั้น.และโคจรสัมปชัญญะด้วยสามารถการไม่ละกรรมฐานนั้นแล.
               ชื่อว่าอัตตาในภายในไม่มีถ่ายอุจจาระปัสสาวะ. ก็การถ่ายอุจจาระปัสสาวะย่อมมีด้วยการซ่านไปแห่งวาโยธาตุอันเป็นกิริยาของจิตเท่านั้น. เหมือนอย่างว่า เมื่อฝีหัวแก่เพราะหัวฝีแตกหนองและเลือดย่อมไหลออกโดยไม่ต้องการฉันใด และเหมือนอย่างว่า น้ำไหลออกจากภาชนะน้ำเต็มเปี่ยมโดยไม่ต้องการฉันใด อุจจาระปัสสาวะที่สั่งสมไว้ในกะเพาะอาหารและกะเพาะปัสสาวะถูกแรงลมบีบคั้นย่อมไหลทั้งๆ ที่ไม่ปรารถนา.
               ส่วนอุจจาระปัสสาวะนี้นั้น เมื่อออกไปอย่างนี้มิได้เป็นของตน มิได้เป็นของชนเหล่าอื่น [มิได้เป็น]ของภิกษุนั้น เป็นแต่เพียงการไหลออกจากสรีระอย่างเดียว.
               ถามว่า เหมือนอะไร.
               ตอบว่า เหมือนเมื่อคนทิ้งน้ำเก่าจากหม้อน้ำ น้ำนั้นมิได้เป็นของตน มิได้เป็นของชนเหล่าอื่น เป็นแต่เพียงสำหรับใช้สอยอย่างเดียวเท่านั้น
               อสัมโมหสัมปชัญญะในข้อนี้ พึงทราบด้วยสามารถแห่งการพิจารณาอันเป็นไปแล้ว ด้วยประการฉะนี้.
               พึงทราบอธิบายในบทว่า คต ศัพท์เป็นต้น.
               บทว่า คเต คือ ในการเดิน. บทว่า ฐิเต คือ ในการยืน. บทว่า นิสินฺเน คือ ในการนั่ง.
               บทว่า สุตฺเต คือ ในการนอน. บทว่า ชาคริเต คือ ในการตื่น.
               บทว่า ภาสิเต คือ ในการพูด. บทว่า ตุณฺหีภาเว คือ ในการไม่พูด.
               ก็ในอิริยาบถนี้ ภิกษุรูปใดเดินหรือจงกรมนานแล้ว ในกาลต่อมา ยืนพิจารณาเห็นอยู่อย่างนี้ว่า รูปธรรมและอรูปธรรมอันเป็นไปแล้วในเวลาจงกรมก็ดับในที่นี้แล้ว ดังนี้. นี้ชื่อว่าทำความรู้สึกตัวในการเดิน.
               ภิกษุรูปใด เมื่อทำการสาธยาย ตอบปัญหา หรือมนสิการถึงกัมมัฏฐาน ยืนนานแล้ว ในกาลต่อมานั่งพิจารณาเห็นอยู่อย่างนี้ว่า รูปธรรมและอรูปธรรมอันเป็นไปแล้วในเวลายืนก็ดับในที่นี้แล้ว ดังนี้. นี้ชื่อว่าทำความรู้สึกตัวในการยืน.
               ภิกษุรูปใดนั่งนานด้วยสามารถแห่งการทำสาธยายเป็นต้น ในกาลต่อมา นั่งพิจารณาเห็นอยู่อย่างนี้ว่า รูปธรรมและอรูปธรรมอันเป็นไปแล้วในเวลานั่งก็ดับในที่นี้แล้ว ดังนี้. นี้ชื่อว่าทำความรู้สึกตัวในการนั่ง.
               ส่วนภิกษุรูปใด เมื่อนอนทำการสาธยาย หรือมนสิการถึงกัมมัฏฐานหลับไป ในกาลต่อมา ลุกขึ้นพิจารณาเห็นอยู่อย่างนี้ว่า รูปธรรมและอรูปธรรมอันเป็นไปแล้ว ในเวลานอนก็ดับในที่นี้แล้ว ดังนี้ นี้ชื่อว่าทำความรู้สึกตัวในการหลับและการตื่น. ด้วยว่า ความไม่เป็นไปแห่งจิตที่สำเร็จด้วยกิริยา ชื่อว่าหลับ ที่เป็นไปชื่อว่าตื่น ด้วยประการฉะนี้.
               ส่วนภิกษุรูปใด เมื่อพูด ย่อมพูดมีสติสัมปชัญญะว่า ชื่อว่าเสียงนี้ ย่อมเกิดเพราะอาศัยริมฝีปาก เพราะอาศัยฟัน ลิ้นและเพดาน และเพราะอาศัยความประกอบแห่งจิตอันสมควรแก่เสียงนั้น ก็หรือทำการสาธยายหรือกล่าวธรรม ให้เปลี่ยนกัมมัฏฐานหรือตอบปัญหาตลอดกาลนานแล้ว ในกาลต่อมาก็นิ่งพิจารณาเห็นอยู่อย่างนี้ว่า รูปธรรมและอรูปธรรมอันเกิดขึ้นแล้วในเวลาพูดก็ดับในที่นี้แล้ว ดังนี้. นี้ชื่อว่าทำความรู้สึกตัวในการพูด.
               ภิกษุรูปใดนิ่งทำในใจถึงธรรม หรือกัมมัฏฐานแล้วตลอดกาลนาน ในกาลต่อมาย่อมพิจารณาเห็นอย่างนี้ว่า รูปธรรมและอรูปธรรมอันเป็นไปแล้ว ในเวลานิ่งก็ดับในที่นี้แล้ว ดังนี้. เมื่อความเป็นไปแห่งอุปาทารูปมีอยู่ ชื่อว่าพูด. เมื่อไม่มีอยู่ ชื่อว่าเป็นผู้นิ่ง ดังนี้. นี้ชื่อว่าทำความรู้สึกตัวในความนิ่งด้วยประการฉะนี้. ในข้อนี้เป็นอสัมโมหสัมปชัญญะ ความรู้สึกตัว พึงทราบด้วยสามารถแห่งอสัมโมหสัมปชัญญะนั้นแล.
               ในพระสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสสัมปชัญญะคลุกเคล้าด้วยสติปัฏฐานว่า เป็นบุพภาค ดังนี้.


               จบอรรถกถาสติสูตรที่ ๒               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค สติปัฏฐานสังยุตต์ อัมพปาลีวรรคที่ ๑ ๒. สติสูตร จบ.
อ่านอรรถกถาหน้าต่างที่ [๑] [๒]
อ่านอรรถกถา 19 / 1อ่านอรรถกถา 19 / 678อรรถกถา เล่มที่ 19 ข้อ 682อ่านอรรถกถา 19 / 685อ่านอรรถกถา 19 / 1786
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=19&A=3882&Z=3899
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=13&A=5487
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=13&A=5487
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๑๕  ธันวาคม  พ.ศ.  ๒๕๔๙
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :