ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 19 / 1อ่านอรรถกถา 19 / 962อรรถกถา เล่มที่ 19 ข้อ 966อ่านอรรถกถา 19 / 975อ่านอรรถกถา 19 / 1786
อรรถกถา สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค อินทริยสังยุตต์ ชราวรรคที่ ๕
๒. อุณณาภพราหมณสูตร

               อรรถกถาอุณณาภพราหมณสูตรที่ ๒               
               อุณณาภพราหมณสูตรที่ ๒. คำว่า โคจรวิสยํ ได้แก่ อารมณ์อันเป็นที่เที่ยวไป (ของจิต).
               คำว่า ของกันและกัน คือ อินทรีย์อย่างหนึ่งย่อมไม่เสวยอารมณ์อีกอย่างหนึ่ง เช่นตาจะเสวยอารมณ์แทนหูไม่ได้ หรือหูจะเสวยอารมณ์แทนตา (ก็ไม่ได้).
               จริงอยู่ หากจะเอาอารมณ์คือรูปที่แตกต่างกันด้วยสีเขียวเป็นต้น มารวมกันแล้วก็ป้อนเข้าไปให้โสตินทรีย์ว่า เอาสิ แกลองชี้แจงมันมาให้แจ่มแจ้งทีว่า นี่มันชื่ออารมณ์อะไรกัน? จักษุวิญญาณ แม้จะยกเอาปากออกแล้ว ก็จะต้องพูดโดยธรรมดาของตนอย่างนี้ว่า เฮ้ย! ไอ้บอดโง่ ต่อให้แกวิ่งวุ่นต้องร้อยปี พันปีก็ตาม นอกจากข้าแล้ว แกจะได้ผู้รู้อารมณ์นี้ที่ไหน แกลองนำเอามันมาป้อนเข้าไปที่จักษุประสาทสิ ข้าจะรู้จักอารมณ์ ไม่ว่ามันเป็นสีเขียวหรือสีแดง เพราะนี่มันมิใช่วิสัยของผู้อื่น แต่มันเป็นวิสัยของข้าเองเท่านั้น.
               แม้ในทวารที่เหลือก็ทำนองนี้แหละ อินทรีย์เหล่านี้ชื่อว่าไม่เสวยอารมณ์ของกันและกันดังที่ว่ามานี้.
               คำว่า กึ ปฏิสรณํ คือ ท่านถามว่า อะไรเป็นที่พึ่งอาศัยของอินทรีย์เหล่านี้ คืออินทรีย์เหล่านี้พึ่งอะไร.
               คำว่า มโน ปฏิสรณํ คือ ใจที่เป็นชวนะ (แล่นไปเสพอารมณ์) เป็นที่พึ่งอาศัย.
               คำว่า มโน จ เนสํ ความว่า ใจนั่นแล ที่แล่นไปตามมโนทวารนั่นแหละ ย่อมเสวยอารมณ์ของอินทรีย์เหล่านั้น ด้วยอำนาจความรักเป็นต้น.
               จริงอยู่ จักษุวิญญาณเห็นแต่รูปเท่านั้นเอง ความรักความโกรธหรือความหลงในความรู้แจ้งเห็นทางตานี้หามีอยู่ไม่ แต่ชวนะในทวารหนึ่งย่อมรัก โกรธหรือหลง.
               แม้ในโสตวิญญาณเป็นต้นก็นัยนี้แหละ.
               ในเรื่องนั้นมีข้อเปรียบเทียบดังนี้.
               เล่ากันว่า มีกำนันทุรพล ๕ คน ด้วยความยากลำบาก คบพระราชาได้ส่วยเล็กน้อยในหมู่บ้าน ๕ ตระกูลแห่งหนึ่ง ในหมู่บ้านนั้น พวกเขาได้รับของเพียงเท่านี้เอง คือส่วนปลา ส่วนเนื้อ กหาปณะพอซื้อเชือกได้กหาปณะกึ่งเดียว กหาปณะมีค่าหนึ่งมาสก กหาปณะแปดเหรียญ กหาปณะ ๑๖ เหรียญ กหาปณะ ๖๔ เหรียญและการปรับ (หรือลงโทษสถานเบาๆ).
               พระราชาเท่านั้นทรงรับเอาส่วยใหญ่โต มีวัตถุตั้งร้อยอย่าง ห้าร้อยอย่าง พันอย่าง.
               ในเรื่องเปรียบเทียบนั้น พึงเห็นประสาททั้ง ๕ เหมือนหมู่บ้านของ ๕ ตระกูล วิญญาณทั้ง ๕ เหมือนกำนันทุรพล ๕ คน ชวนะเหมือนพระราชา หน้าที่สักว่าเห็นรูปเป็นต้นของจักขุวิญญาณเป็นต้น เหมือนการรับส่วยเล็กน้อยของพวกกำนันทุรพล แต่ความกำหนัดเป็นต้นไม่มีจักษุวิญญาณเป็นต้นนี้ พึงทราบว่าความกำหนัดเป็นต้นเป็นเรื่องของชวนะในทวารเหล่านั้น เหมือนการทรงรับเอาส่วยใหญ่โตของพระราชา.
               ชวนะทั้งที่เป็นกุศลและอกุศล ท่านเรียกว่า ใจ ในที่นี้ ดังที่ว่ามานี้.
               คำว่า สติ ปฏิสรณํ ได้แก่ ความระลึกในมรรค เป็นที่พึ่งอาศัย.
               จริงอยู่ ใจที่เป็นชวนะ ย่อมพึ่งอาศัยความระลึกในมรรค.
               คำว่า วิมุตติ คือ ความหลุดพ้นด้วยอำนาจผล.
               คำว่า นิพพาน คือ นิพพานเป็นที่พึ่งอาศัยของความหลุดพ้นด้วยอำนาจผล เพราะความหลุดพ้นนั้นย่อมอาศัยนิพพานนั้น.
               คำว่า ไม่อาจถือเอาที่สุดของปัญหาได้ คือ ไม่สามารถถือเอาประมาณอันเป็นขั้นตอนของปัญหาได้ ท่านถามสิ่งซึ่งหาที่พึ่งพาอาศัยมิได้ว่า มีที่พึ่งพาอาศัย ธรรมดาว่านิพพานนี้ไม่เป็นที่พึ่งพาอาศัย คือไม่พึ่งพาอาศัยอะไรๆ ด้วยประการฉะนี้.
               คำว่า นิพฺพาโนคธํ คือ หยั่งลงไปภายในนิพพาน เข้าไปตามนิพพาน.
               คำว่า พรหมจรรย์ หมายถึง มรรคพรหมจรรย์.
               คำว่า มีนิพพานเป็นเบื้องหน้า คือ นิพพานเป็นที่ไปข้างหน้า คือเป็นคติเบื้องหน้าของพรหมจรรย์นั้น หมายความว่า นอกจากนิพพานนั้น พรหมจรรย์นั้นไม่ไปที่อื่น (อีกแล้ว). ที่ชื่อว่ามีนิพพานเป็นที่สุด ก็เพราะนิพพานเป็นที่ลงท้ายคือเป็นที่สุดของพรหมจรรย์นั้น.
               ท่านเรียกความเชื่อที่มาด้วยกันกับมรรคว่า รากตั้งมั่นแล้ว พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงหมายเอาอะไร จึงตรัสว่า ภิกษุทั้งหลาย หากในสมัยนี้ ทรงหมายเอาความเป็นอนาคามีที่ประกอบด้วยฌาน.
               จริงอย่างนั้น ในสมัยนั้น จิตที่เป็นอกุศลทั้ง ๕ ดวงเป็นสภาพที่พราหมณ์ละได้แล้ว ด้วยมรรคแรก นิวรณ์ทั้ง ๕ ก็ละได้แล้วด้วยฌานที่ ๑ เพราะฉะนั้น พราหมณ์นั้นตั้งอยู่ในตำแหน่งอนาคามีที่ประกอบด้วยฌาน ไม่เสื่อมจากฌาน ตายไปก็ต้องปรินิพพานในที่นั้นนั่นแหละ แต่ถ้าเมื่อพราหมณ์ปกครองลูกเมีย จัดการจัดงานอยู่ ฌานหายไป เมื่อฌานหายไปแล้ว คติก็ไม่เกี่ยวเนื่องกัน แต่เมื่อฌานไม่หาย คติจึงจะเกี่ยวเนื่องกัน เพราะฉะนั้น จึงตรัสหมายเอาความเป็นอนาคามีที่ประกอบด้วยฌานนี้ อย่างนี้.

               จบอรรถกถาอุณณาภพราหมณสูตรที่ ๒               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค อินทริยสังยุตต์ ชราวรรคที่ ๕ ๒. อุณณาภพราหมณสูตร จบ.
อ่านอรรถกถา 19 / 1อ่านอรรถกถา 19 / 962อรรถกถา เล่มที่ 19 ข้อ 966อ่านอรรถกถา 19 / 975อ่านอรรถกถา 19 / 1786
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=19&A=5693&Z=5729
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=13&A=7018
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=13&A=7018
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๑๕  ธันวาคม  พ.ศ.  ๒๕๔๙
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :