ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 19 / 1อ่านอรรถกถา 19 / 503อรรถกถา เล่มที่ 19 ข้อ 505อ่านอรรถกถา 19 / 507อ่านอรรถกถา 19 / 1786
อรรถกถา สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค โพชฌงคสังยุตต์ จักกวัตติวรรคที่ ๕
๒. จักกวัตติสูตร

               อรรถกถาจักกวัตติสูตรที่ ๒               
               พึงทราบวินิจฉัยในจักกวัตติสูตรที่ ๒
               ในบทว่า รญฺโญ ภิกฺขเว จกฺกวตฺติสฺส นี้ ชื่อว่าพระราชา เพราะอรรถว่าทรงยินดีในสิริสมบัติของพระองค์ หรือทรงให้พสกนิกรยินดีด้วยสังคหวัตถุ ๔.
               ชื่อว่าเจ้าจักรพรรดิ เพราะอรรถว่าสั่งการอยู่ด้วยวาจาคล่องแคล่ว ยังจักรให้เป็นไปด้วยบุญญานุภาพว่า ขอจักรรัตนะจงแล่นไปตลอดภพ ดังนี้.
               บทว่า ปาตุภาวา แปลว่า เพราะปรากฏ.
               บทว่า สตฺตนฺนํ แปลว่า กำหนดการถือเอา.
               บทว่า รตนานํ ได้แก่ แสดงเรื่องที่กำหนด.
               ส่วนความหมายของคำในบทนี้ ชื่อว่ารัตนะ เพราะอรรถว่าให้เกิดความยินดี.
               อีกอย่างหนึ่งว่า
                         ที่เรียกว่า รัตนะ เพราะทำความเคารพ
                         มีค่ามาก ชั่งไม่ได้ เห็นได้ยาก เป็นของ
                         ใช้ของสัตว์ผู้ไม่ทราม ดังนี้.

               จำเดิมแต่จักรรัตนะบังเกิด ชื่อว่าเทวสถานอื่น ย่อมไม่มี. คนทั้งปวงกระทำการบูชาและอภิวาทเป็นต้น ซึ่งรัตนะนั้นอย่างเดียว ด้วยของหอมและดอกไม้เป็นต้น ดังนั้น จึงชื่อว่ารัตนะ เพราะอรรถว่าทำความเคารพ. ส่วนจักรรัตนะมีค่าหามิได้ เพราะทรัพย์ยังมีค่าประมาณเท่านี้ ดังนั้นจึงชื่อว่ารัตนะ แม้เพราะอรรถว่ามีค่ามาก. จักรรัตนะไม่เหมือนกับรัตนะที่มีอยู่ในโลกอย่างอื่น ดังนั้นจึงชื่อว่ารัตนะ เพราะอรรถว่าชั่งไม่ได้.
               ก็เพราะในกัปที่พระพุทธเจ้าทั้งหลายไม่อุบัติ พระเจ้าจักรพรรดิและพระปัจเจกพุทธเจ้าย่อมเกิดในกาลบางครั้งบางคราวเท่านั้น ฉะนั้น จึงชื่อว่ารัตนะ เพราะอรรถว่าเห็นได้ยาก.
               รัตนะนี้นั้นย่อมเกิดขึ้นแก่สัตว์อันโอฬาร ไม่ต่ำ โดยชาติ รูป ตระกูลและความเป็นใหญ่เป็นต้น หาเกิดขึ้นแก่สัตว์อื่นไม่ ดังนั้น จึงชื่อว่ารัตนะ เพราะอรรถว่าเป็นเครื่องใช้สอยของสัตว์ที่ไม่ทราม.
               รัตนะแม้ที่เหลือก็เหมือนจักรรัตนะฉะนั้น ด้วยประการฉะนี้.
               เพราะเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า
                                   เรียกว่า รัตนะ เพราะทำความเคารพ
                                   มีค่ามาก ชั่งไม่ได้ เห็นได้ยาก เป็นของ
                                   ใช้ของสัตว์ผู้ไม่ทราม ดังนี้.

               บทว่า ปาตุภาโว โหติ ได้แก่ ความบังเกิด.
               ในข้อนี้มีวาจาประกอบความดังนี้ ข้อว่า พระเจ้าจักรพรรดิปรากฏ รัตนะ ๗ จึงปรากฏ ดังนี้ก็ควร. ข้อว่า ชื่อว่าพระเจ้าจักรพรรดินั้น ย่อมยังจักรอันเกิดแล้วให้หมุนไปดังนี้ก็ควร.
               ถามว่า เพราะเหตุไร.
               ตอบว่า เพราะมุ่งถึงความนิยมของพระเจ้าจักรพรรดิ.
               ก็ผู้ใดจักยังจักรให้หมุนไปตามความนิยม ผู้นั้นตั้งแต่ปฏิสนธิย่อมถึงความเป็นผู้ควรกล่าวว่า พระเจ้าจักรพรรดิปรากฏ ดังนี้. คำนั้นก็ควรเหมือนกัน เพราะพูดถึงความเกิดแห่งมูลของบุรุษที่ได้ชื่อแล้ว ก็ผู้ใดเป็นสัตว์วิเศษ ได้ชื่อว่าพระเจ้าจักรพรรดิ ความปรากฏกล่าวคือปฏิสนธิของผู้นั้นมีอยู่ดังนี้ เป็นอธิบายในข้อนี้. ก็เพราะพระเจ้าจักรพรรดิปรากฏ รัตนะทั้งหลายย่อมปรากฏ. พระเจ้าจักรพรรดินั้นย่อมประกอบอยู่ในบุญสมภารแก่เต็มที่พร้อมกับรัตนะเหล่านั้น ที่ปรากฏ.
               ในกาลนั้น ชาวโลกเกิดความคิดปรากฏในรัตนะเหล่านั้น. ข้อนั้นก็ควร เพราะพูดถึงกันมาก. ก็เมื่อใด สัญญามีความปรากฏในรัตนะเหล่านั้นเกิดขึ้นแก่ชาวโลก เมื่อนั้นก็เป็นอย่างเดียวเท่านั้นก่อน ภายหลังปรากฏรัตนะนอกนี้ ๖ อย่าง เพราะฉะนั้น จึงถึงรัตนะนั้นอย่างนี้ เพราะพูดถึงกันมาก แม้โดยความต่างเนื้อความแห่งความปรากฏ ข้อนั้นก็ควรแล้ว
               ความปรากฏมิใช่ปรากฏเพียงอย่างเดียว ชื่อว่าปาตุภาวะ เพราะยังความปรากฏให้เกิดขึ้น นี้เป็นประเภทแห่งความของความปรากฏ เพราะการสั่งสมบุญอันใด ยังพระเจ้าจักรพรรดิให้ปรากฏด้วยอำนาจปฏิสนธิ ชื่อว่าปาตุภาวะ นี้เป็นประเภทแห่งความของความปรากฏ เพราะการสั่งสมบุญใดยังพระเจ้าจักรพรรดิให้ปรากฏด้วยอำนาจปฏิสนธิ ฉะนั้น ความปรากฏแห่งพระเจ้าจักรพรรดิ ไม่เป็นจักรพรรดิอย่างเดียว แต่แม้รัตนะ ๗ เหล่านี้ก็ปรากฏด้วย เพราะฉะนั้น นี้เป็นอธิบายในข้อนี้.
               เหมือนอย่างว่า การสั่งสมบุญนั้นเป็นเหตุให้เกิดพระราชาฉันใด การสั่งสมบุญเป็นเหตุอุปนิสัย แม้แห่งรัตนะโดยปริยายฉันนั้น เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เพราะความปรากฏแห่งพระเจ้าจักรพรรดิจึงเป็นความปรากฏแห่งรัตนะ ๗ ด้วยดังนี้.
               บัดนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสคำเป็นต้นว่า กตเมสํ สตฺตนฺนํ จกฺกรตนสฺส ดังนี้ เพื่อทรงแสดงรัตนะเหล่านั้น โดยอำนาจสรุป.
               ในบทเหล่านั้น ในบทเป็นต้นว่า จกฺกรตนสฺส มีอธิบายโดยย่อดังนี้
               จักรแก้วสามารถเพื่อยึดสิริสมบัติของทวีปใหญ่ ๔ มีทวีปสองพันเป็นบริวารมาให้ปรากฏอยู่. ช้างแก้วไปสู่เวหาส อันสามารถติดตามไปสู่แผ่นดินมีสาครเป็นที่สุดมาให้ได้ก่อนภัตรอย่างนั้น ม้าแก้วก็เช่นนั้นเหมือนกัน. แก้วมณีอันสามารถกำจัดความมืดประมาณโยชน์ในที่มืด แม้ประกอบด้วยองค์สี่ มองเห็นแสงสว่างได้. นางแก้วมีปกติเว้นโทษ ๖ อย่างแล้วเที่ยวไปได้ตามชอบใจ. คฤหบดีแก้วอันสามารถเห็นขุมทรัพย์อยู่ภายในแผ่นดินในประเทศประมาณโยชน์. ปริณายกแก้วกล่าวคือบุตรคนหัวปี ผู้เกิดในท้องของอัครมเหสีแล้ว เป็นผู้สามารถปกครองสมบัติทั้งสิ้นได้ปรากฏอยู่ ดังนั้น
               นี้เป็นอธิบายย่อในข้อนี้.
               ส่วนวิธีปรากฏแห่งจักรแก้วเป็นต้นเหล่านั้นมาแล้วในสูตรมีมหาสุทัสสนะเป็นต้นโดยพิสดารแล แม้อธิบายวิธีปรากฏของจักรแก้วนั้น ท่านพรรณนาไว้ในอรรถกถาแห่งสูตรเหล่านั้นแล.
               ในบทว่า สติสมฺโพชฺฌงฺครตนสฺส เป็นต้น พึงทราบแม้ความที่มีลักษณะคล้ายกันอย่างนี้.
               จักรแก้วของพระเจ้าจักรพรรดิ เที่ยวไปก่อนกว่ารัตนะทั้งปวงฉันใด สติสัมโพชฌังครัตนะเที่ยวไปก่อนกว่าธรรมที่เป็นไปในภูมิ ๔ ทั้งปวงฉันนั้น
               คือเปรียบด้วยจักรแก้วของพระเจ้าจักรพรรดิ เพราะอรรถว่าเที่ยวไปก่อน.
               บรรดารัตนะทั้งหลาย ช้างแก้วของพระเจ้าจักรพรรดิ เกิดร่างใหญ่สูง ไพบูลย์ใหญ่ ธัมมวิจยสัมโพชฌังครัตนะเข้าถึงหมู่ธรรมเป็นอันมาก สูงแผ่ไป กว้างใหญ่ ดังนั้น จึงเปรียบด้วยช้างแก้ว.
               ม้าแก้วของพระเจ้าจักรพรรดิมีฝีเท้าเร็ว วิริยสัมโพชฌังครัตนะแม้นี้มีกำลังฉับพลัน ดังนั้น จึงเปรียบด้วยม้าแก้ว เหตุมีกำลังฉับพลันนี้.
               แก้วมณีของพระเจ้าจักรพรรดิ กำจัดความมืดให้สว่างได้ ปีติสัมโพชฌังครัตนะแม้นี้อยู่ในหมู่ธรรมเป็นอันมาก กำจัดความมืดคือกิเลสให้สว่างด้วยญาณ ด้วยอำนาจสหชาตปัจจัยเป็นต้น เพราะเป็นกุศลโดยส่วนเดียว ดังนั้น จึงเปรียบด้วยแก้วมณี เหตุกำจัดความมืดในสว่างนี้.
               นางแก้วของพระเจ้าจักรพรรดิ ระงับความกระวนกระวายทางกายและทางจิต ให้ความร้อนสงบ ปัสสัทธิสัมโพชฌังครัตนะแม้นี้ ระงับความกระวนกระวายทางกายและทางจิต ให้ความร้อนสงบ ดังนั้นจึงเปรียบด้วยนางแก้ว.
               คฤหบดีแก้วของพระเจ้าจักรพรรดิ กำหนดความฟุ้งซ่าน ทำให้จิตมีอารมณ์เดียวด้วยการให้ทรัพย์ ในขณะที่ตนปรารถนาแล้วและปรารถนาแล้ว สมาธิสัมโพชฌังครัตนะแม้นี้ ยังอัปปนาให้ถึงพร้อมด้วยอำนาจความที่ตนปรารถนาเป็นต้น ตัดขาดแล้วซึ่งความฟุ้งซ่าน ทำจิตให้มีอารมณ์เดียว ดังนั้น จึงเปรียบด้วยคฤหบดีแก้ว.
               ส่วนปริณายกแก้วของพระเจ้าจักรพรรดิ ทำความขวนขวายน้อยให้ ด้วยการทำกิจในที่ทั้งปวงให้สำเร็จ อุเบกขาสัมโพชฌังครัตนะแม้นี้ เปลื้องจิตตุปบาทจากความหดหู่และความฟุ้งซ่าน ทำความขวนขวายน้อย วางตนไว้ในท่ามกลางประกอบความเพียร ดังนั้น จึงเปรียบด้วยปริณายกแก้ว.
               พึงทราบว่า การกำหนดธรรมที่รวมไว้ทั้งหมดเป็น ๔ ภูมิ ได้กล่าวไว้ในสูตรนี้ด้วยประการฉะนี้.

               จบอรรถกถาจักกวัตติสูตรที่ ๒               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค โพชฌงคสังยุตต์ จักกวัตติวรรคที่ ๕ ๒. จักกวัตติสูตร จบ.
อ่านอรรถกถา 19 / 1อ่านอรรถกถา 19 / 503อรรถกถา เล่มที่ 19 ข้อ 505อ่านอรรถกถา 19 / 507อ่านอรรถกถา 19 / 1786
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=19&A=2984&Z=2994
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=13&A=4780
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=13&A=4780
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๑๐  ธันวาคม  พ.ศ.  ๒๕๔๙
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :