ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 

อ่าน อรรถกถาหน้าต่างที่ [๑] [๒]อ่านอรรถกถา 18 / 1อ่านอรรถกถา 18 / 307อรรถกถา เล่มที่ 18 ข้อ 309อ่านอรรถกถา 18 / 317อ่านอรรถกถา 18 / 803
อรรถกถา สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค สฬายตนสังยุตต์ อาสีวิสวรรคที่ ๔
๑. อาสีวิสสูตร

หน้าต่างที่ ๒ / ๒.

               พึงทราบวินิจฉัยในบทว่า อกตญฺญุตโต ดังต่อไปนี้.
               จริงอยู่ อสรพิษทั้งหลายย่อมไม่รู้อุปการะอันผู้อื่นกระทำแล้ว แม้เมื่อเขาให้ก็ดี ให้บริโภคก็ดี บูชาอยู่ด้วยของหอมและดอกไม้เป็นต้นก็ดี ใส่ในกระโปรงบริหารอยู่ก็ดี แสวงหาแต่โอกาสเท่านั้น ได้โอกาสในที่ใดก็กัดเขาให้ตายในที่นั้นนั่นแล. มหาภูตรูปทั้งหลายต่างหากไม่รู้อุปการะที่ผู้อื่นกระทำแล้วยิ่งกว่าอสรพิษทั้งหลาย.
               จริงอยู่ สิ่งที่ชอบใจอันมหาภูตรูปเหล่านั้นทำแล้ว ไม่มีเลย แม้เขาให้อาบน้ำที่ไม่มีมลทิน ไม่ว่าจะเป็นน้ำเย็นหรือน้ำร้อนก็ดี สักการะอยู่ด้วยธูปของหอมและดอกไม้เป็นต้นก็ดี ประคบประหงมอยู่ด้วยผ้าอันนุ่ม ที่นอนอันนุ่มและที่นั่งอันนุ่มเป็นต้นก็ดี ให้กินอาหารอย่างดีก็ดี ให้ดื่มน้ำอย่างดีก็ดี ก็ยังคอยแสวงหาแต่โอกาสอยู่นั้นเอง ได้โอกาสในที่ใด โกรธขึ้นมาก็ทำให้ถึงความย่อยยับในที่นั้นนั่นเอง เพราะฉะนั้น พึงทราบว่า มหาภูตรูปเสมือนกันโดยไม่รู้คุณคนด้วยประการฉะนี้.
               พึงทราบวินิจฉัยใน บทว่า อวิเสสการิโต ดังต่อไปนี้.
               จริงอยู่ อสรพิษไม่ได้เลือกว่า ผู้นี้เป็นกษัตริย์หรือพราหมณ์ เป็นแพศย์หรือศูทร เป็นคฤหัสถ์หรือเป็นบรรพชิต ย่อมกัดผู้ที่มาประจวบเข้าๆ ให้ตายไปทั้งนั้น.
               แม้มหาภูตรูปก็ย่อมไม่เลือกว่า ผู้นี้เป็นกษัตริย์หรือพราหมณ์ เป็นแพศย์หรือศูทร เป็นคฤหัสถ์หรือเป็นบรรพชิต เป็นเทพหรือมนุษย์ เป็นมารหรือพรหม ไม่มีคุณหรือมีคุณ. ก็ถ้าพวกมันเกิดความอายขึ้นว่า ผู้นี้เป็นผู้มีคุณไซร้ พวกมันก็จะพึงให้เกิดความละอายขึ้นในพระตถาคตผู้เป็นพระอัครบุคคล ในโลกพร้อมทั้งเทวโลก. แม้ถ้าพวกมันเกิดความละอายขึ้นโดยนัยมีอาทิว่า ผู้นี้เป็นผู้มีปัญญามาก ผู้นี้เป็นผู้มีฤทธิ์มากและผู้นี้เป็นผู้ทรงคุณทางธุดงค์ แม้ถ้าพวกมันพึงให้เกิดความละอายขึ้นในพระธรรมเสนาบดีสารีบุตรเถระเป็นต้น. ถ้าเป็นเช่นนั้น พวกมันก็ว่าพึงเกิดความกลัวขึ้นว่า ผู้นี้ไม่มีคุณ เป็นผู้ทารุณ กระด้าง พวกมันก็พึงกลัวต่อพระเทวทัต, ผู้เลิศ หรือต่อศาสดาทั้ง ๖ ผู้ไม่มีคุณ ผู้ทารุณ ผู้กระด้างในโลกพร้อมทั้งเทวโลก ก็จะไม่ละอายและไม่กลัว โกรธขึ้นมาก็ทำให้ถึงความย่อยยับอย่างใดอย่างหนึ่งได้ทั้งนั้น พึงทราบว่า มหาภูตรูปเป็นเหมือนกัน โดยไม่เลือกด้วยประการฉะนี้.
               พึงทราบวินิจฉัย ในบทว่า อนนฺตโทสุปทฺทวโต นี้ดังต่อไปนี้.
               จริงอยู่ โทษและอันตรายที่อาศัยอสรพิษเกิดขึ้นไม่มีประมาณ. จริงอย่างนั้น อสรพิษเหล่านั้นกัดแล้ว ทำให้ตาบอดบ้าง ให้เป็นคนกระจอกบ้าง ให้เป็นคนเปลี้ยบ้าง ให้เป็นคนร่างพิการไปแถบหนึ่งบ้าง เพราะฉะนั้นเหล่าอสรพิษย่อมแสดงความพิการหาประมาณมิได้ ด้วยประการฉะนี้.
               แม้ภูตรูปทั้งหลาย โกรธขึ้นมาแล้วย่อมกระทำความพิการบางอย่าง บรรดาความพิการทั้งหลายมีตาบอดเป็นต้น โทษและอันตรายของภูตรูปเหล่านั้นหาประมาณมิได้ เพราะฉะนั้น พึงทราบว่าภูตรูปเหล่านั้นเสมือนกัน โดยมีโทษและอันตรายหาประมาณมิได้ ด้วยประการฉะนี้
               บัดนี้ ในที่นี้ควรแสดงกรรมฐาน ด้วยอำนาจมหาภูตรูป ๔ จนถึงพระอรหัต กรรมฐานนั้นก็กล่าวไว้แล้วทั้งนั้น ในจตุธาตุววัฏฐานนิทเทศ คัมภีร์วิสุทธิมรรคแล.
               ในคำว่า ปญฺจ วธกา ปจฺจตฺถิกาติ โข ภิกฺขเว ปญฺจนฺเนตํ อุปาทานกฺขนฺธานํ อธิวจนํ ภิกษุทั้งหลาย คำว่า ปญฺจ วธกา ปจฺจตฺถิกา ศัตรูผู้ฆ่า ๕ นี้แลเป็นชื่อของอุปาทานขันธ์ ๕ นี้พึงทราบว่า ขันธ์ทั้งหลายเสมือนกับศัตรูผู้ฆ่าด้วยอาการ ๒ อย่าง.
               จริงอยู่ ขันธ์ทั้งหลายย่อมฆ่าซึ่งกันและกัน เมื่อขันธ์เหล่านั้นมีอยู่ ชื่อว่าผู้ฆ่าก็ย่อมปรากฏอย่างไร.
               อันดับแรก รูปย่อมฆ่าทั้งรูปทั้งอรูป อรูปย่อมฆ่าทั้งอรูปทั้งรูป อย่างไร.
               ปฐวีธาตุแม้นี้ เมื่อแตก ย่อมพาเอาธาตุ ๓ นอกนี้แตกไปด้วย. แม้ในอาโปธาตุเป็นต้นก็นัยนี้เหมือนกัน. รูปชื่อว่าฆ่ารูปนั่นแหละก่อน ด้วยอาการอย่างนี้. ส่วนรูปขันธ์ เมื่อแตกก็พาเอารูปขันธ์ ๔ แตกด้วยไป เพราะฉะนั้น รูปถือว่าฆ่าอรูปด้วยอาการอย่างนี้.
               แม้เวทนาขันธ์ เมื่อแตกก็พาเอาสัญญาขันธ์ สังขารขันธ์และวิญญาณขันธ์ แตกไปด้วย. แม้ในสัญญาขันธ์เป็นต้นก็นัยนี้. อรูปชื่อว่าย่อมฆ่าอรูปอย่างนี้. ส่วนอรูปขันธ์ ๔ ในขณะจุติ เมื่อแตกก็พาวัตถุรูป (หทยวัตถุ) แตกไปด้วย. อรูปชื่อว่าฆ่ารูปด้วยอาการอย่างนี้.
               ที่ชื่อว่า วธกา เพราะฆ่าซึ่งกันและกันก่อนด้วยอาการอย่างนี้.
               ก็ขันธ์มีในที่ใด การตัด การทำลาย การฆ่าและการจองจำเป็นต้นก็มีในที่นั้นนั่นแล ไม่มีในที่อื่น. เมื่อขันธ์มีอยู่ ผู้ฆ่าย่อมปรากฏ แม้เพราะเหตุนั้น ขันธ์จึงชื่อว่าผู้ฆ่า.
               บัดนี้ พึงแสดงกรรมฐานตั้งต้นแต่แยกขันธ์ ๕ ออกเป็น ๒ ส่วน คือส่วนรูปและอรูป (นาม) แล้วแยกนามด้วยอำนาจรูป หรือแยกรูปด้วยอำนาจนามจนถึงพระอรหัตแล. แม้คำนั้นก็กล่าวไว้แล้วในวิสุทธิมรรคเหมือนกัน
               ในคำว่า ฉฏฺโฐ อนฺตรจโร วธโก อุกฺขิตฺตาสิโกติโข ภิกฺขเว นนฺทิราคสฺเสตํ อธิวจนํ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย คำว่า เพชฌฆาต สอดแนม (ลึกลับ) คำรบ ๖ ผู้เงื้อดาบเป็นชื่อของนันทิราคะนี้ พึงทราบว่า ความกำหนัดด้วยอำนาจความยินดี เป็นเสมือนกับเพชฌฆาตผู้เงื้อดาบโดยอาการ ๒ อย่าง คือโดยทำศีรษะคือปัญญาให้ตกไป และโดยทำให้เข้าถึงกำเนิด.
               อย่างไร.
               ความจริง เมื่ออิฏฐารมณ์มาปรากฏทางจักขุทวาร โลภะอาศัยอารมณ์นั้นย่อมเกิดขึ้น ด้วยเหตุเพียงเท่านี้ ศีรษะคือปัญญาเป็นอันชื่อว่าตกไป. แม้ในโสตทวารเป็นต้น ก็นัยนี้เหมือนกัน.
               พึงทราบ นันทิราคะเป็นเสมือนโดยการทำศีรษะคือปัญญาให้ตกไปอย่างนี้ก่อน.
               ก็นันทิราคะนั่นย่อมนำเข้าไปสู่กำเนิด ๔ อย่างด้วยอัณฑชกำเนิดเป็นต้น นันทิราคะนั้นมีมหาภัย ๒๕ อย่างและกรรมกรณ์ ๓๒ อย่าง มีการทำให้เข้าถึงกำเนิดเป็นมูล ๓๒ ก็มาถึงเหมือนกัน เพราะฉะนั้น พึงทราบว่า นันทิราคะนั้นเสมือนเพชฌฆาตเงื้อดาบ แม้โดยการนำเข้าถึงกำเนิด ด้วยอาการอย่างนี้.
               กรรมฐาน เป็นอันพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสแก่ภิกษุรูปหนึ่ง แม้ด้วยอำนาจนันทิราคะ ด้วยประการฉะนี้.
               อย่างไร.
               จริงอยู่ นันทิราคะนี้จัดเป็นสังขารขันธ์.
               พระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้นทรงกำหนด นันทิราคะนั้นว่าเป็นสังขารขันธ์ดังนี้แล้ว จึงทรงกำหนดขันธ์ ๕ อย่างนี้ว่า เวทนาที่สัมปยุตด้วยสังขารขันธ์นั้น จัดเป็นเวทนาขันธ์ สัญญาเป็นสัญญาขันธ์ จิตเป็นวิญญาณขันธ์ อารมณ์ของขันธ์เหล่านั้นจัดเป็นรูปขันธ์. บัดนี้ ภิกษุรูปหนึ่งกำหนดขันธ์ ๕ เหล่านั้นด้วยอำนาจนามและรูป แล้วเจริญวิปัสสนา ตั้งแต่การแสวงหาปัจจัยแห่งขันธ์เหล่านั้น บรรลุอรหัตโดยลำดับ เพราะฉะนั้น เป็นอันพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสกรรมฐาน ด้วยอำนาจนันทิราคะอย่างนี้ ด้วยประการฉะนี้.
               ความที่อายตนะภายใน ๖ เป็นเสมือนบ้านร้าง มาแล้วในพระบาลีนั่นแล.
               ก็ในข้อนี้มีนัยแห่งกรรมฐานดังต่อไปนี้.
               เหมือนอย่างว่า โจรทั้ง ๖ นั้นเข้าไปสู่หมู่บ้านร้างอันมีกะท่อม ๖ หลังเทียวไปเทียวมา ไม่ได้อะไรๆ ก็ไม่ต้องการบ้านฉันใด ภิกษุก็ฉันนั้นเหมือนกัน ยึดมั่นเลือกเฟ้นในอายตนะภายใน ๖ ไม่เห็นอะไรๆ ที่ควรถือเอาว่าเรา ว่าของเรา ก็ไม่มีความต้องการอายตนะภายในเหล่านั้น. ภิกษุนั้นคิดว่าเราจะเริ่มวิปัสสนา จึงกำหนดเอาจักขุปสาทเป็นต้นด้วยอำนาจรูปกรรมฐานที่ยังมีอุปาทาน กำหนดว่านี้เป็นรูปขันธ์ กำหนดมนายตนะว่าอรูปขันธ์. และกำหนดอายตนะทั้งหมดนั้น ด้วยอำนาจนามรูปว่ามีแต่นามกับรูปเท่านั้น แล้วแสวงหาปัจจัยของนามรูปเหล่านั้น เจริญวิปัสสนา พิจารณาสังขารทั้งหลาย ดำรงอยู่ในพระอรหัต โดยลำดับด้วยประการฉะนี้แล.
               นี้เป็นอันตรัสกรรมฐานแก่ภิกษุรูปหนึ่งจนถึงพระอรหัต.
               บัดนี้ เมื่อจะทรงแสดงว่า อายตนะภายนอกเป็นเสมือนพวกโจรผู้ปล้นฆ่าชาวบ้าน จึงตรัสคำอาทิว่า โจรา คามฆาตกา ดังนี้.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า มนาปามนาเปสุ นี้เป็นสัตตมีวิภัตติ ใช้ในอรรถตติยาวิภัตติ. ความว่า มนาปามนาเปหิ ด้วยอารมณ์อันน่าพอใจและไม่พอใจ เมื่อพวกโจรพากันปล้นฆ่าชาวบ้านในที่นั้น ดำเนินกิจ ๕ ประการ คือ พวกโจรยืนล้อมบ้าน ยืนจุดไฟเผา ทำเป็นส่งเสียงทะเลาะกัน แต่นั้น คนทั้งหลายต่างก็จะถือเอาสิ่งของสำคัญติดมือออกไปนอกบ้าน ต่อนั้นมันก็เอามือรวบทรัพย์สิ่งของ พร้อมด้วยผู้คนแม้เหล่านั้น. บางพวกก็ต้องประหารในที่นั้นเอง บางพวกก็ล้มลงในที่ประหาร. ส่วนผู้คนที่ไม่บาดเจ็บนอกนั้นก็พานำไปสู่ที่อยู่ของตน มัดด้วยเครื่องผูกคือเชือกเป็นต้น ใช้สอยเยี่ยงทาส.
               พึงทราบความเร่งร้อนคือกิเลสที่เกิดขึ้น เมื่ออารมณ์มาปรากฏในทวารทั้ง ๖ เหมือนพวกโจรผู้ปล้นฆ่าชาวบ้านในที่นั้น พากันล้อมบ้านจุดไฟเผา เวลาที่ภิกษุต้องอาบัติทุกกฏ ทุพภาสิต ปาจิตตีย์และถุลลัจจัย ก็เหมือนผู้คนถือทรัพย์สิ่งของที่สำคัญติดมือไปนอกบ้าน เหมือนโจรในขณะนั้นที่ละกุศลกรรม ประกอบอกุศลกรรม ใช้มือรวบทรัพย์สิ่งของ. เวลาที่ภิกษุต้องอาบัติสังฆาทิเสส ก็เหมือนเวลาชาวบ้านที่ได้รับประหาร เวลาที่ภิกษุต้องอาบัติปาราชิกแล้ว ไม่เป็นสมณะ ก็เหมือนเวลาที่ชาวบ้านล้มในที่ได้รับการประหาร เวลาที่ภิกษุทั้งปวงผู้อาศัยอารมณ์นั้นนั่นแล ทั้งที่พิจารณาเห็นอยู่นั่นแหละ ทำลายจุลศีล มัชฌิมศีลและมหาศีล แล้วบอกคืนสิกขาถึงความเป็นคฤหัสถ์ เหมือนเวลาที่พวกโจรมัดคนที่เหลือ (ในปัจจุบัน) นำไปสู่ที่อยู่ใช้สอยเยี่ยงทาส.
               ในข้อนั้น พึงทราบทุกขขันธ์ของผู้ทำกาละของผู้เลี้ยงบุตรและภรรยา พึงทราบทุกขขันธ์ในภพหน้าที่เห็นได้เอง (ตาย) แล้วบังเกิดในอบาย.
               อายตนะภายนอกแม้เหล่านี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสแล้วแก่ภิกษุรูปหนึ่งโดยเป็นกรรมฐานเท่านั้น.
               จริงอยู่ ในที่นี้อุปาทายรูป ๔ มีรูปายตนะเป็นต้น, โผฏฐัพพายตนะคือธาตุ ๓, ภูตรูป ๔ เหล่านี้คือธาตุ ๓ เหล่านั้นกับอาโปธาตุในธัมมายตนะจึงเป็น ๔ อากาสธาตุคือปริเฉทรูปแห่งภูตรูปเหล่านั้น วิหารรูป ๕ มีลหุตาเป็นต้น รวมความว่า ภูตรูปและอุปาทายรูปทั้งหมดนี้ จัดเป็นรูปขันธ์.
               ขันธ์ ๔ มีเวทนาเป็นต้นซึ่งมีรูปขันธ์นั้นเป็นอารมณ์ จัดเป็นอรูปขันธ์ สำหรับภิกษุผู้กำหนดนามรูป ในบรรดาขันธ์เหล่านั้นว่า รูปขันธ์จัดเป็นรูป อรูปขันธ์ ๔ จัดเป็นนาม แล้วปฏิบัติตามนัยก่อนนั่นแล เป็นอันชื่อว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสกรรมฐานจนถึงพระอรหัต.
               ความของ โอฆศัพท์ในคำว่า โอฆานํ นี้มีความว่าข้ามได้ยาก.
               จริงอยู่ ภิกษุผู้ตั้งความประสงค์ไว้ว่า เราจักบำเพ็ญศีลสังวรแล้วบรรลุพระอรหัต อาศัยกัลยาณมิตรพยายามชอบพึงข้ามโอฆะเหล่านั้น. ท่านเรียกว่าโอฆะ ก็เพราะอรรถว่าข้ามได้โดยยาก ด้วยเหตุดังกล่าวนี้นี่เอง โอฆะแม้เหล่านั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสด้วยอำนาจกรรมฐานสำหรับภิกษุรูปหนึ่ง.
               จริงอยู่ โอฆะแม้ทั้ง ๔ ก็จัดเป็นสังขารขันธ์อย่างหนึ่งเหมือนกัน เพราะฉะนั้น พึงประกอบความให้พิสดาร โดยนัยที่โอฆะเหล่านั้นก็กล่าวไว้แล้วในนันทิราคะ.
               บทว่า สกฺกายสฺเสตํ อธิวจนํ ความว่า แท้จริง สักกายตรัสว่า น่ารังเกียจและมีภัยเฉพาะหน้า ก็ด้วยมหาภูตรูป ๔ เป็นต้น เหมือนฝั่งนี้ของห้วงน้ำน่ารังเกียจและมีภัยเฉพาะหน้า ก็ด้วยภัยมีอสรพิษเป็นต้น สักกายะแม้นั้น ก็ตรัสด้วยอำนาจกรรมฐานเท่านั้นสำหรับภิกษุรูปหนึ่ง.
               จริงอยู่ สักกายะก็คือปัญจขันธ์ที่เป็นไปในภูมิ ๓ และปัญจขันธ์เหล่านั้น โดยย่อก็คือนามรูปนั่นเอง. เพราะฉะนั้น ในข้อนี้พึงกล่าวกรรมฐานให้พิสดาร ตั้งต้นแต่กำหนดนามรูปเป็นอารมณ์ จนถึงพระอรหัตด้วยประการฉะนี้.
               บทว่า นิพฺพานสฺเสตํ อธิวจนํ ความว่า ความจริง พระนิพพานชื่อว่าเป็นแดนเกษม ไม่มีภัยเฉพาะหน้าจากมหาภูตรูป ๔ เหมือนฝั่งโน้นของห้วงน้ำ.
               ในคำว่า วิริยารมฺภสฺเสตํ อธิวจนํ นี้ เพื่อแสดงถึงการทำความเพียรทางจิต จึงทรงยึดเฉพาะความพยายามที่ได้รู้ไว้ในหนหลังแสดงว่า วิริยะ ดังนี้.
               บทว่า ติณฺโณ ปารคโต แปลว่า ข้ามถึงฝั่ง.
               ในข้อนั้น พึงทราบวินิจฉัยดังต่อไปนี้.
               ผู้ยืนอยู่ฝั่งนี้อันน่ารังเกียจ ประสงค์จะข้ามห้วงน้ำพักอยู่ ๒-๓ วัน ค่อยๆ ตระเตรียมเรือแล้วขึ้นเรือ เป็นเหมือนเล่นน้ำ แม้เมื่อเขาทำอย่างนั้น ก็ยังขึ้นเรือไม่ได้ย่อมถึงความพินาศฉันใด ภิกษุผู้ใคร่จะข้ามห้วงน้ำคือกิเลสก็ฉันนั้นเหมือนกัน ไม่ควรทำความเนิ่นช้าว่า เรายังเป็นหนุ่มอยู่ จักผูกแพคือมรรคมีองค์ ๘ ต่อเวลาเราแก่เสียก่อน.
               จริงอยู่ ภิกษุเมื่อทำอยู่อย่างนี้ แม้เวลาแก่ก็ยังไม่ถึง ก็ถึงความพินาศ แม้แก่ก็ยังไม่ถึง ก็ไม่อาจทำได้. แต่ควรระลึกถึงภัทเทกรัตตสูตรเป็นต้น แล้วรีบเร่งผูกแพคืออริยมรรคนี้ทันที.
               ก็บุคคลจะผูกแพ ควรมีมือเท้าบริบูรณ์.
               จริงอยู่ คนมีเท้าเป็นโรคพุพอง หรือมีเท้าหงิกง่อย ไม่สามารถจะยืนได้ บุคคลผู้มีมือเป็นแผลเป็นต้น ไม่อาจจับใบหญ้าใบไม้เป็นต้นได้ฉันใด ภิกษุผู้จะผูกแพคืออริยมรรคนี้ก็ฉันนั้น พึงปรารถนาความบริบูรณ์ ด้วยเท้าคือศีล และด้วยมือคือศรัทธา.
               จริงอยู่ บุคคลผู้ทุศีลผู้ไม่มีศรัทธา ไม่ตั้งมั่นในพระศาสนา ไม่เชื่อข้อปฏิบัติ ไม่อาจจะผูกแพคืออริยมรรคได้.
               อนึ่ง แม้บุคคลผู้มือเท้าบริบูรณ์ แต่ไม่มีเรี่ยวแรง ถูกพยาธิเบียดเบียน ก็ไม่สามารถจะผูกแพได้ ต่อสมบูรณ์ด้วยกำลังเท่านั้นจึงสามารถฉันใด แม้คนมีศีลมีศรัทธาก็ฉันนั้น แต่เป็นคนเกียจคร้าน นั่งจมน่าเกลียด ก็ไม่สามารถจะผูกแพคือมรรคนี้ได้ ผู้ปรารภความเพียรเท่านั้นจึงสามารถ ฉะนั้น ผู้ประสงค์จะผูกแพคือมรรคนี้ จึงควรปรารภความเพียร.
               อนึ่ง บุรุษนั้นผูกแพยืนอยู่ที่ริมฝั่ง เมื่อจะข้ามห้วงน้ำ ซึ่งกว้างประมาณโยชน์หนึ่ง จึงผูกใจว่า เราต้องอาศัยความเพียรของลูกผู้ชาย พึงข้ามห้วงน้ำนี้ได้ฉันใด แม้พระโยคีก็ฉันนั้น ลงจงกรมพึงผูกใจว่าวันนี้ เราข้ามห้วงน้ำคือกิเลส ที่มรรคทั้ง ๔ พึงฆ่าได้แล้วก็พึงดำรงอยู่ในพระอรหัต.
               อนึ่ง บุรุษอาศัยแพ เมื่อจะข้ามห้วงน้ำ เดินทางได้คาวุตหนึ่ง กลับเหลียวดู ย่อมรู้ว่าเราข้ามส่วนหนึ่งได้แล้วยังเหลืออยู่อีก ๓ ส่วน เดินทางไปอีกคาวุตหนึ่งกลับเหลียวดู ก็รู้ว่าข้ามได้ ๒ ส่วนแล้วยังเหลืออยู่ ๒ ส่วน เดินทางไปอีกคาวุตหนึ่ง ต่อนั้นก็กลับเหลียวดู รู้ว่าเราข้ามได้ ๓ ส่วนแล้วยังเหลืออยู่ส่วนเดียว แม้ล่วงส่วนนั้นไปแล้ว กลับเหลียวดูก็รู้ว่า เราข้ามได้ ๔ ส่วนแล้วและใช้เท้าถีบแพนั้นทิ้งไป มุ่งตรงไปตามกระแสน้ำข้ามได้แล้ว ยืนอยู่ที่ฝั่งฉันใด
               ภิกษุแม้นี้ก็ฉันนั้น อาศัยแพคืออริยมรรค เมื่อจะข้ามห้วงน้ำคือกิเลส ข้ามกิเลสอันปฐมมรรคคือโสดาปัตติมรรคจะพึงฆ่า ดำรงอยู่ในผลจิตในลำดับต่อจากมรรคจิต กลับตรวจดูด้วยปัจจเวกขณญาณย่อมรู้ว่า บรรดากิเลสทั้งหลายที่มรรคทั้ง ๔ พึงฆ่า ส่วนหนึ่งเราละได้แล้ว ยังเหลืออยู่อีก ๓ ส่วน.
               เมื่อประชุมอินทรีย์ พละและโพชฌงค์เหมือนอย่างนั้นนั่นแลอีก พิจารณาสังขาร ข้ามกิเลสอันมรรคจิตที่ ๒ คือสกทาคามิมรรคจะพึงฆ่า แล้วดำรงอยู่ในผลจิตในลำดับต่อจากมรรคจิต แล้วกลับตรวจดูด้วยปัจจเวกขณญาณย่อมรู้ว่า บรรดากิเลสทั้งหลายที่มรรคจิตทั้ง ๔ พึงฆ่า เราละได้แล้ว ๒ ส่วนยังเหลืออยู่อีก ๒ ส่วน.
               เมื่อประชุม อินทรีย์ พละและโพชฌงค์ เหมือนอย่างนั้นนั่นแลอีกพิจารณาสังขาร ข้ามกิเลสทั้งหลายที่มรรคจิตที่ ๓ คืออนาคามิมรรคจะพึงฆ่า แล้วดำรงอยู่ในผลจิต ในลำดับต่อจากมรรคจิต กลับตรวจดูด้วยปัจจเวกขณญาณย่อมรู้ว่า บรรดากิเลสทั้งหลายที่มรรคจิตทั้ง ๔ พึงฆ่าเราละได้แล้ว ๓ ส่วนยังเหลืออยู่ส่วนเดียว.
               เมื่อประชุม อินทรีย์ พละและโพชฌงค์ เหมือนอย่างนั้นนั่นแลอีก พิจารณาสังขาร ข้ามกิเลสทั้งหลายที่มรรคจิตที่ ๔ คืออรหัตตมรรคจิตจะพึงฆ่า ดำรงอยู่ในผลจิต ในลำดับต่อจากมรรคจิต กลับตรวจดูด้วยปัจจเวกขณญาณย่อมรู้ว่า กิเลสทั้งหมดเราละได้แล้ว.
               ลำดับนั้น ภิกษุนั้นนั่งบนอาสนะนั่นแล หรือในที่อื่น มีที่สถานที่พักกลางวันและที่พักกลางคืนแห่งใดแห่งหนึ่ง แล้วคิดว่า เราพ้นแล้วจากอนัตถะภาวะที่ไม่น่าปรารถนามีประมาณเท่านี้หนอ แล้วแนบสนิทผลสมาบัติ อันมีพระนิพพานเป็นอารมณ์ เป็นผู้มีจิตมีอารมณ์เป็นหนึ่งมีใจร่าเริงนั่งอยู่ เปรียบเหมือนบุรุษนั้นลอยแพไปในกระแสน้ำ ขึ้นน้ำยืนอยู่บนบก หรือเข้าไปยังพระนคร ไปปราสาทชั้นบนอันประเสริฐ คิดว่าเราพ้นแล้วจากอนัตถะภาวะที่ไม่น่าปรารถนามีประมาณเท่านี้หนอ มีจิตมีอารมณ์เป็นหนึ่ง มีใจร่าเริงยินดี นั่งอยู่ ฉะนั้น
               พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงหมายเอาข้อนี้จึงตรัสไว้ว่า ติณฺโณ ปารคโต ถเล ติฏฺฐติ พฺราหฺมโณติ โข ภิกฺขเว อรหโต เอตํ อธิวจนํ.
               ก็ในคำว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย คำว่า ข้ามถึงฝั่งอยู่บนบก คือพราหมณ์นี้เป็นชื่อของพระอรหันต์ที่นี้ ตรัสกรรมฐานต่างๆ ไว้อย่างนี้ก่อน.
               แต่พึงรวบรวมพระสูตรทั้งหมด แสดงรวมกัน อนึ่ง เมื่อแสดงรวมกัน ควรอธิบายโดยอำนาจปัญจขันธ์ เท่านั้น.
               อย่างไร.
               ความจริงในข้อนี้ มหาภูตรูป ๔ อายตนะภายใน ๕ อายตนะภายนอก ๕ สุขุมรูป ๑๕ ในธรรมายตนะเป็นส่วนหนึ่งแห่งสักกายะ๑- ดังกล่าวมานี้ชื่อว่ารูปขันธ์ มนายตนะ วิญญาณขันธ์ ส่วนหนึ่งแห่งธรรมายตนะ โอฆะ ๔ เป็นส่วนหนึ่งแห่งสักกายะ ดังกล่าวมานี้ จัดเป็นอรูปขันธ์ ๔.
____________________________
๑- จูฬเวทัลลสูตร ว่าได้แก่อุปทานขันธ์

               ใน ๒ อย่างนั้น รูปขันธ์คงเป็นรูป อรูปขันธ์จัดเป็นนาม ดังกล่าวมานี้จัดเป็นนามรูป. นันทิราคะ กาโมฆะ ภโวฆะ ส่วนหนึ่งแห่งธรรมายตนะ เป็นส่วนหนึ่งแห่งสักกายะ ดังกล่าวมานี้ธรรมเหล่านี้เป็นปัจจัยแก่นามรูปนั้น ภิกษุนั้นกำหนดนามรูปพร้อมทั้งปัจจัยดังว่ามานี้ ยกขึ้นสู่ไตรลักษณะ เจริญวิปัสสนา พิจารณาสังขารย่อมบรรลุพระอรหัต นี้เป็นมุขคือข้อปฏิบัตินำออกจากทุกข์สำหรับภิกษุรูปหนึ่ง.
               ในธรรมเหล่านั้น มหาภูตรูป ๔ อุปาทานขันธ์ ๕ อายตนะ ๑๑ ทั้งที่เป็นภายในและภายนอก เป็นส่วนหนึ่งแห่งธรรมายตนะ ทิฏโฐฆะ อวิชโชฆะ เป็นส่วนหนึ่งแห่งสักกายะ ดังว่านี้จัดเป็นทุกขสัจ,
               ส่วนนันทิราคะเป็นส่วนหนึ่งแห่งธรรมายตนะ กาโมฆะ ภโวฆะ เป็นส่วนหนึ่งแห่งสักกายะ ดังกล่าวนี้จัดเป็นสมุทยสัจ,
               นิพพานกล่าวคือฝั่งโน้น จัดเป็นนิโรธสัจ, อริยมรรคจัดเป็นมรรคสัจ.
               ในสัจจะ ๔ นั้น สัจจะ ๒ (ข้างต้น) เป็นวัฏฏะ สัจจะ ๒ (ข้างหลัง) เป็นวิวัฏฏะ.
               สัจจะ ๒ (ข้างต้น) จัดเป็นโลกิยะ สัจจะ ๒ (ข้างหลัง) จัดเป็นโลกุตตระ,
               สัจจะ ๔ ดังกล่าวมานี้ พึงแสดงจำแนกด้วยอาการ ๑๖ หกหมื่นนัยแล.
               ในเวลาจบเทศนา ภิกษุ ๕๐๐ รูปผู้เป็นวิปจิตัญญู ดำรงอยู่ในพระอรหัต. แต่พระสูตรทรงแสดงด้วยอำนาจทุกขลักขณะ.


               อรรถกถาอาสีวิสสูตรที่ ๑               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค สฬายตนสังยุตต์ อาสีวิสวรรคที่ ๔ ๑. อาสีวิสสูตร จบ.
อ่านอรรถกถาหน้าต่างที่ [๑] [๒]
อ่านอรรถกถา 18 / 1อ่านอรรถกถา 18 / 307อรรถกถา เล่มที่ 18 ข้อ 309อ่านอรรถกถา 18 / 317อ่านอรรถกถา 18 / 803
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=18&A=4774&Z=4833
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=13&A=1308
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=13&A=1308
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๔  ธันวาคม  พ.ศ.  ๒๕๔๙
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :