ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 18 / 1อ่านอรรถกถา 18 / 560อรรถกถา เล่มที่ 18 ข้อ 571อ่านอรรถกถา 18 / 577อ่านอรรถกถา 18 / 803
อรรถกถา สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค จิตตคหปติปุจฉาสังยุตต์
๗. โคทัตตสูตร

               อรรถกถาโคทัตตสูตรที่ ๗               
               พึงทราบวินิจฉัยในโคทัตตสูตรที่ ๗ ดังต่อไปนี้.
               บทว่า นานตฺถา เจว นานาพฺยญฺชนา จ คือ แม้พยัญชนะแห่งธรรมเหล่านั้นต่างกัน แม้อรรถก็ต่างกัน.
               บรรดาบทเหล่านั้น ธรรมชื่อว่าปรากฏ เพราะพยัญชนะต่างกัน. ส่วนอรรถ อัปปมาณาเจโตวิมุตติ โดยภูมิเป็นมหัคคตะ เป็นรูปาวจร โดยอารมณ์มีสัตวบัญญัติเป็นอารมณ์ อากิญจัญญาเจโตวิมุตติโดยภูมิเป็นมหัคคตะเป็นอรูปาวจร โดยอารมณ์มีอารมณ์ไม่พึงกล่าว (คือบัญญัติ) สุญญตาเจโตวิมุตติโดยภูมิเป็นกามาวจร โดยอารมณ์มีสังขารเป็นอารมณ์. ส่วนวิปัสสนา ท่านประสงค์ว่า สุญญตา ในที่นี้. อนิมิตตาเจโตวิมุตติ โดยภูมิเป็นโลกุตตระ โดยอารมณ์มีนิพพานเป็นอารมณ์.
               ในบทเป็นอาทิว่า ราโค โข ภนฺเต ปมาณกรโณ ชื่อว่าน้ำในเกวียนมีใบไม้เน่ามีสีดำอยู่ที่เชิงเขา เมื่อมองดูย่อมปรากฏ เหมือนน้ำลึกร้อยวา เมื่อถือเอาไม้หรือเชือกวัด น้ำเพียงท่วมหลังเท้าก็ไม่ได้ฉันใด. ตลอดเวลาที่ราคะเป็นต้นยังไม่เกิดขึ้นใครๆ ย่อมไม่สามารถจะรู้จักบุคคลได้ เขาย่อมปรากฏคล้ายโสดาบัน คล้ายสกทาคามี คล้ายอนาคามี แต่เมื่อใดราคะเป็นต้นเกิดขึ้นแก่เขา เมื่อนั้น เขาปรากฏว่ากำหนัด ขัดเคือง ลุ่มหลงฉันนั้นเหมือนกัน.
               ชื่อว่าการทำประมาณเหล่านั้น ท่านกล่าวว่า เมื่อแสดงประมาณแก่บุคคลว่าบุคคลนี้มีประมาณเท่านี้ ย่อมเกิดขึ้น.
               บทว่า ยาวตา โข ภนฺเต อปฺปมาณา เจโตวิมุตฺติโย ความว่า อัปปมาณาเจโตวิมุตติมีประมาณเท่าใด.
               ถามว่า ก็อัปปมาณาเจโตวิมุตติเหล่านั้นมีเท่าไร.
               ตอบว่า มี ๑๒ คือพรหมวิหาร ๔ มรรค ๔ ผล ๔.
               ใน ๑๒ อย่างนั้น พรหมวิหารชื่อว่าอัปปมาณา เพราะแผ่ไปหาประมาณมิได้. ธรรมที่เหลือ (มรรคและผล) พึงทราบดังนี้ แม้นิพพานก็ชื่อว่าอัปปมาณาเหมือนกัน เพราะความที่แห่งกิเลสทั้งหลายตัวทำประมาณไม่มี. แต่ไม่ชื่อว่าเจโตวิมุตติ เพราะฉะนั้น จึงไม่ถือเอา บทว่า อกุปฺปา คือ อรหัตตผลเจโตวิมุตติ.
               ก็อรหัตตผลเจโตวิมุตตินั้น เป็นหัวหน้าธรรมทั้งหมดแห่งอัปปมาณาเจโตวิมุตติเหล่านั้น เพราะฉะนั้น ท่านจึงกล่าวว่า อคฺคมกฺขายติ.
               บทว่า ราโค โขภนฺเต กิญฺจนํ ความว่า ราคะเกิดขึ้นแล้วย่อมกังวล ย่ำยี ย่อมผูกพันบุคคลไว้ เพราะฉะนั้น ท่านจึงเรียกว่า กิญฺจนํ กิเลสเครื่องกังวล.
               ได้ยินว่า พวกมนุษย์ให้โคทั้งหลายย่ำเหยียบลานจะพูดว่า แดงวนไป ดำวนไป พึงทราบว่าราคะมีอรรถว่าย่ำยี มีอรรถว่ากังวล. แม้ในโทสะและโมหะก็มีนัยนี้เหมือนกัน.
               ธรรม ๙ คือ อากิญจัญญายตนะ ๑ มรรค ๔ ผล ๔ ชื่อว่าอากิญจัญญาเจโตวิมุตติ.
               ในธรรมเหล่านั้น อากิญจัญญายตนะ ชื่อว่าอากิญจัญญะ เพราะไม่มีกิเลสเครื่องกังวลเป็นอารมณ์. มรรคและผล ชื่อว่าอากิญจัญญะ เพราะกิเลสเครื่องกังวลคือกิเลสเป็นเครื่องย่ำยีและเป็นเครื่องผูกไม่มี นิพพานก็เป็นอากิญจัญญะ แต่ไม่ใช่เจโตวิมุตติ เพราะฉะนั้นท่านจึงไม่ถือเอา.
               บทเป็นอาทิว่า ราโค โข ภนฺเต นิมิตฺตกรโณ ความว่า สองตระกูลมีลูกโคสองคู่เหมือนๆ กัน บุคคลย่อมไม่สามารถจะรู้ได้ว่า นี้ลูกโคของตระกูลโน้น นี้ลูกโคของตระกูลโน้น ตลอดเวลาที่เขายังไม่ทำเครื่องหมายไว้ที่ลูกโคเหล่านั้น แต่เมื่อใดเขาทำเครื่องหมายอย่างใดอย่างหนึ่งมีหลาว ๓ แฉกเป็นต้นที่ลูกโคเหล่านั้น เมื่อนั้นบุคคลย่อมสามารถรู้ได้ฉันใด
               ตลอดเวลาที่ราคะยังไม่เกิดขึ้นแก่บุคคล บุคคลย่อมไม่สามารถเพื่อจะรู้ได้ว่า เขาเป็นพระอริยะหรือปุถุชน ต่อเมื่อราคะเกิดขึ้นแก่เขา ย่อมเกิดขึ้นเหมือนทำเครื่องหมายอัน.ให้รู้ได้ว่า บุคคลนี้ชื่อว่ายังมีราคะอยู่ เพราะฉะนั้น ท่านจึงกล่าวราคะว่าเป็นตัวทำนิมิต.
               แม้ในโทสะและโมหะก็มีนัยนี้เหมือนกัน.
               ธรรม ๑๓ คือวิปัสสนา ๑ อรูป ๔ มรรค ๔ ผล ๔ ชื่อว่าอนิมิตตาเจโตวิมุตติ.
               ในธรรม ๑๓ นั้น วิปัสสนาชื่อว่าอนิมิตตะ เพราะอรรถว่าเพิกถอนนิมิตว่าเที่ยงเป็นสุข เป็นตนเสียได้. อรูป ๔ ชื่อว่าอนิมิต เพราะไม่มีรูปนิมิต. มรรคและผล ชื่อว่าอนิมิต เพราะไม่มีกิเลสเป็นตัวกระทำนิมิต. แม้นิพพานก็เป็นอนิมิตเท่านั้น. แต่ท่านไม่ถือเอานิพพานนั้น เพราะไม่ใช่เจโตวิมุตติ.
               ถามว่า เมื่อเป็นเช่นนั้น เพราะเหตุไร ท่านจึงไม่ถือเอา สุญญตาเจโตวิมุตติ.
               ตอบว่า สุญญาตาเจโตวิมุตตินั้นไม่จัดเข้าในธรรมทั้งปวง เพราะฉะนั้น ท่านแยกไว้ไม่ถือเอา เพราะบาลีว่า สุญฺญา ราเคน เป็นอาทิ.
               บทว่า เอกตฺถา ความว่า มีอรรถอย่างเดียวกันด้วยสามารถแห่งอารมณ์.
               ก็บทเหล่านั้น คือ อัปปมาณะ อากิญจัญญะ สุญญตะ อนิมิตตะ ทั้งหมดเป็นชื่อของนิพพานนั่นเอง. โดยปริยายอย่างนี้ จึงมีอรรถเป็นอันเดียวกัน. แต่พยัญชนะต่างกัน โดยปริยายนี้ว่า ก็ในที่แห่งหนึ่งเป็นอัปปมาณา ในที่แห่งหนึ่งเป็นอากิญจัญญา ในที่แห่งหนึ่งเป็นสุญญตา ในที่แห่งหนึ่งเป็นอนิมิตตา.

               จบอรรถกถาโคทัตตสูตรที่ ๗               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค จิตตคหปติปุจฉาสังยุตต์ ๗. โคทัตตสูตร จบ.
อ่านอรรถกถา 18 / 1อ่านอรรถกถา 18 / 560อรรถกถา เล่มที่ 18 ข้อ 571อ่านอรรถกถา 18 / 577อ่านอรรถกถา 18 / 803
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=18&A=7525&Z=7578
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=13&A=3487
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=13&A=3487
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๔  ธันวาคม  พ.ศ.  ๒๕๔๙
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :