ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 18 / 1อ่านอรรถกถา 18 / 29อรรถกถา เล่มที่ 18 ข้อ 31อ่านอรรถกถา 18 / 32อ่านอรรถกถา 18 / 803
อรรถกถา สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค สฬายตนสังยุตต์ สัพพวรรคที่ ๓
๖. อาทิตตปริยายสูตร

               อรรถกถาอาทิตตปริยายสูตรที่ ๖               
               ในอาทิตตปริยายสูตรที่ ๖ มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้.
               บทว่า คยาสีเส ความว่า จริงอยู่ สระโบกขรณีแห่งหนึ่งชื่อคยาก็มี แม่น้ำชื่อว่าคยาสีสะก็มี ศิลาดาดเช่นกับหม้อน้ำก็มี ในที่ไม่ไกลหมู่บ้านคยา. พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ในที่ที่ภิกษุพันรูปอยู่กันพอ เหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า คยาสีเส ดังนี้.
               บทว่า ภิกฺขู อามนฺเตสิ ความว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเลือกพระธรรมเทศนาที่เป็นสัปปายะแก่ภิกษุเหล่านั้น ตรัสเรียกว่า เราจักแสดงอาทิตตปริยายสูตรนั้น.
               ในข้อนั้นมีอนุปุพพิกถาดังต่อไปนี้ :-
               เล่ากันมาว่า จากภัททกัปนี้ไป ๙๒ กัป ได้มีพระราชาพระองค์หนึ่งพระนามว่า มหินทะ. ท้าวเธอมีพระเชฏฐโอรสพระนามว่า ปุสสะ.
               ปุสสะเชฏฐโอรสนั้นเปี่ยมด้วยบารมี เป็นสัตว์เกิดในภพสุดท้าย เมื่อญาณแก่กล้า เสด็จขึ้นสู่โพธิมัณฑสถานแทงตลอดพระสัพพัญญุตญาณ. พระกนิฏฐโอรสเป็นอัครสาวกของพระองค์ บุตรปุโรหิตเป็นทุติยสาวก. พระราชามีพระดำริว่า ลูกชายคนโตของเราออกบวชเป็นพระพุทธเจ้า ลูกคนเล็กเป็นอัครสาวก ลูกปุโรหิตเป็นทุติยสาวก. พระองค์ให้สร้างวิหารด้วยพระดำริว่า พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ของพวกเราทั้งนั้น ทรงล้อมสองข้างทางด้วยไม้ไผ่ จากพระทวารตำหนักของพระองค์จนถึงซุ้มประตูวิหาร เบื้องบนรับสั่งให้ผูกพวงของหอมพวงมาลัยที่หอมฟุ้งเป็นเพดาน เสมือนประดับด้วยดาวทอง เบื้องล่างรับสั่งให้เกลี่ยทรายสีเหมือนเงินแล้วโปรยดอกไม้ ให้พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จมาตามมรรคานั้น.
               พระศาสดาประทับยืนในพระวิหารนั่นแล ทรงห่มจีวรเสด็จมายังพระราชมณเฑียร พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์ภายในม่านทีเดียว เสร็จภัตกิจแล้วเสด็จกลับภายในม่านนั่นเอง. ไม่มีใครได้ถวายภัตตาหารสักทัพพี.
               ลำดับนั้น ชาวพระนครพากันโพนทะนาว่า พระพุทธเจ้าเกิดขึ้นแล้วในโลก แต่พวกเราไม่ได้ทำบุญกันเลย ธรรมดาพระพุทธเจ้าทั้งหลายย่อมเกิดขึ้นเพื่อประโยชน์เกื้อกูลแก่คนทั้งหลาย เหมือนพระจันทร์พระอาทิตย์ส่องแสงสว่างแก่คนทั้งปวง แต่พระราชาพระองค์นี้แย่งบุญของคนทั้งหมด.
               ก็พระราชานั้นมีพระโอรสอื่นๆ ๓ พระองค์. ชาวพระนครร่วมปรึกษากับพระโอรสเหล่านั้นว่า ขึ้นชื่อว่าภายในกับราชตระกูลไม่มี พวกเราจะทำอุบายอย่างหนึ่ง. ชาวพระนครเหล่านั้นได้แต่งโจรชายแดนขึ้น ส่งข่าวสาส์นกราบทูลพระราชาว่า หมู่บ้าน ๒-๓ ตำบลถูกปล้น.
               พระราชารับสั่งให้เรียกพระโอรสทั้ง ๓ มารับสั่งว่า ลูกๆ ทั้งหลาย พ่อแก่แล้ว พวกเจ้าจงไปปราบโจร แล้วส่งไป. พวกโจรที่แต่งขึ้น กระจายกันไปทางโน้นทางนี้แล้วมายังสำนักของพระโอรสเหล่านั้น พระโอรสเหล่านั้นให้ชาวบ้านที่ไม่มีที่อยู่อาศัยพักอยู่ กล่าวว่า โจรสงบแล้ว ได้พากันมายืนถวายบังคมพระราชา.
               พระราชาทรงพอพระทัย ตรัสว่า ลูกๆ พ่อจะให้พรแก่พวกเจ้า. พระโอรสเหล่านั้นรับพระดำรัสแล้ว ได้ไปปรึกษากับชาวพระนครว่า พระราชาพระราชทานพรแก่พวกเรา พวกเราจะเอาอะไร.
               ชาวพระนครกล่าวว่า ข้าแต่พระลูกเจ้า ช้างม้าเป็นต้นพวกเราได้ไม่ยาก แต่พระพุทธรัตนะหาได้ยาก ไม่เกิดขึ้นทุกกาล ขอท่านทั้งหลายจงรับพร คือการปฏิบัติพระปุสสพุทธเจ้าผู้เป็นเชฏฐภาดาของท่านทั้งหลาย.
               พระโอรสเหล่านั้นรับคำชาวพระนครว่า จักกระทำอย่างนั้น จึงโกนพระมัสสุ สนานพระองค์ตกแต่งพระองค์ ไปเฝ้าพระราชา กราบทูลขอว่า ข้าแต่พระองค์ ขอพระองค์โปรดพระราชทานพรแก่พวกข้าพระองค์เถิด. พระราชาตรัสถามว่า จักเอาอะไรเล่าลูก. พระโอรสกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ พวกข้าพระองค์ไม่ต้องการช้างเป็นต้น ขอพระองค์ได้โปรดพระราชทานพร คือการปฏิบัติพระปุสสพุทธเจ้าผู้เป็นเชฏฐภาดาของพวกข้าพระองค์เถิด. พระราชากระซิบที่หูทั้งสองว่า เราเมื่อยังมีชีวิตอยู่ไม่สามารถจะให้พรนี้ได้.
               พระโอรสกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ พวกข้าพระองค์มิได้บังคับให้พระองค์พระราชทานพร พระองค์มีความยินดีพระราชทานตามความพอพระทัยของพระองค์ ข้าแต่พระองค์ ควรหรือที่ราชตระกูลจะมีคำพูดเป็นสอง ดังนี้ได้ถือเอาด้วยความเป็นผู้กล่าววาจาสัตย์.
               พระราชาเมื่อกลับคำพูดไม่ได้จึงตรัสว่าลูกๆ พ่อจักให้พวกเจ้าบำรุงตลอด ๗ ปี ๗ เดือน ๗ วัน. พระโอรสกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ ขอพระองค์โปรดประทานสิ่งที่ดีไว้เป็นประกัน. มีรับสั่งถามว่า ประกันใครเล่าลูก. พระโอรสกราบทูลว่า ขอพระองค์โปรดประทานสิ่งที่ไม่ตายไว้เป็นประกันตลอดกาลเท่านี้. ตรัสว่า ลูกๆ พวกเจ้าให้ประกันที่ไม่สมควร เราไม่อาจให้ประกันอย่างนี้ ชีวิตของสัตว์ทั้งหลายเช่นกับหยาดน้ำค้างที่ปลายหญ้า.
               พระโอรสกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ ถ้าพระองค์ไม่ประทานประกัน พวกข้าพระองค์ตายเสียในระหว่าง จักกระทำกุศลได้อย่างไร.
               พระราชาตรัสว่า ลูกๆ ถ้าเช่นนั้น พวกเจ้าจงให้ตลอด ๖ ปี. ไม่สามารถพระเจ้าข้า. ถ้าเช่นนั้น จงให้ ๕ ปี ๔ ปี ๓ ปี ๒ ปี ๑ ปี ๖ เดือน ฯลฯ เพียงเดือนเดียว. ไม่สามารถพระเจ้าข้า. ถ้าอย่างนั้น จงให้เพียง ๗ วัน. พระโอรสรับพระดำรัส ๗ วัน.
               พระราชาได้ทรงกระทำสักการะที่ควรจะทำตลอด ๗ ปี ๗ เดือน ๗ วัน ใน ๗ วันเท่านั้น.
               ต่อแต่นั้น พระราชามีรับสั่งให้ตกแต่งมรรคากว้าง ๘ อุสภะ เพื่อส่งพระศาสดาไปยังที่อยู่ของพระโอรสทั้งหลาย. ตรงกลางทรงใช้ช้างย่ำที่ประมาณ ๔ อุสภะ ทำเหมือนวงกสิณเกลี่ยทรายแล้วโปรยดอกไม้. ในที่นั้นๆ ตั้งต้นกล้วยและหม้อน้ำมีน้ำเต็มให้ยกธงชายธงประฏาก. ทุกๆ อุสภะให้ขุดสระโบกขรณีไว้. กาลต่อมา ให้ปลูกร้านของหอมมาลัยและดอกไม้ไว้สองข้างทาง. ตรงกลางสองข้างทางของมรรคาซึ่งตกแต่งแล้วกว้าง ๔ อุสภะ ให้นำตอและหนามออกแล้วติดโคมไฟไว้ตามทางซึ่งกว้างชั่วสองอุสภะ.
               แม้พระราชโอรสก็ให้ตกแต่งทาง ๑๖ อุสภะในที่ที่ตนมีอำนาจ อย่างนั้นเหมือนกัน. พระราชาเสด็จไปเขตคันนาของสถานที่พระองค์มีอำนาจถวายบังคมพระศาสดาพลางรำพันตรัสว่า ลูกๆ พวกเจ้าเหมือนควักตาขวาของเราไป แต่พวกเจ้ารับอย่างนี้ไปแล้ว พึงกระทำให้สมควรแก่พระพุทธเจ้าทั้งหลาย อย่าเที่ยวประมาทเหมือนนักเลงสุรา. พระราชโอรสเหล่านั้นกราบทูลว่า ข้าพระองค์จักทราบพระเจ้าข้า แล้วพาพระศาสดาไป ให้สร้างวิหารมอบถวายแด่พระศาสดา ปรนนิบัติพระศาสดาในที่นั้น ตั้งอยู่ในอาสนะของภิกษุผู้เถระโดยกาล ในอาสนะของภิกษุผู้เป็นมัชฌิมโดยกาล ในอาสนะของภิกษุผู้เป็นสังฆนวกะ ทานของชนทั้ง ๓ สำรวจทานแล้วก็เป็นทานอันเดียวกันนั่นแล. พระราชโอรสเหล่านั้น เมื่อจวนเข้าพรรษาจึงคิดกันว่า พวกเราจะถือเอาอัธยาศัยของพระศาสดาอย่างไรหนอ.
               ลำดับนั้น พระราชโอรสเหล่านั้นได้มีพระดำริอย่างนี้ว่า ขึ้นชื่อว่าพระพุทธเจ้าทั้งหลายเป็นผู้หนักในธรรม ไม่หนักในอามิส พวกเราตั้งอยู่ในศีลแล้วจักอาจยึดอัธยาศัยของพระศาสดาได้ พวกเขาให้เรียกพวกมนุษย์ผู้จำแนกทานมากล่าวว่า พ่อทั้งหลาย พวกท่านจงจัดข้าวยาคูภัตรและของเคี้ยวเป็นต้น ถวายทานโดยทำนองนี้แหละ แล้วตัดกังวลในการจำแนกทาน.
               ลำดับนั้น บรรดาราชกุมารเหล่านั้น เชฏฐภาดาพาบุรุษ ๕๐๐ คนตั้งอยู่ในศีล ๑๐ ครองผ้ากาสายะ ๒ ผืน บริโภคน้ำที่สมควร ครองชีพอยู่. ราชโอรสองค์กลางเป็นคฤหัสถ์ ราชโอรสองค์สุดท้องปฏิบัติเหมือนอย่างนั้น พร้อมกับบุรุษ ๒๐๐ คน. เขาบำรุงพระศาสดาตลอดชีวิต.
               พระศาสดาเสด็จปรินิพพานในสำนักของเขาเหล่านั้นเอง.
               ราชโอรสแม้เหล่านั้นทิวงคตแล้ว ตั้งแต่นั้นไป ๙๒ กัป ท่องเที่ยวไปจากมนุษย์โลกสู่เทวโลก จากเทวโลกสู่มนุษย์โลก ในสมัยพระศาสดาของพวกเรา จุติจากเทวโลกบังเกิดในมนุษยโลก. มหาอำมาตย์เป็นโฆสกในโรงทานของเขาเหล่านั้น บังเกิดเป็นพระเจ้าพิมพิสาร ราชาแห่งชนชาวอังคะและมคธ. ชนเหล่านั้นบังเกิดในตระกูลพราหมณ์มหาศาล ในแคว้นของพระเจ้าพิมพิสารนั่นเอง. เชฏฐภาดาเกิดเป็นคนพี่ ราชโอรสองค์กลางและองค์สุดท้องเกิดเป็นคนกลางและคนสุดท้องนั่นเอง
               ฝ่ายมนุษย์ผู้เป็นบริวารของราชโอรสเหล่านั้นเกิดเป็นมนุษย์บริวารนั่นเอง. ชนทั้ง ๓ นั้น ครั้นเจริญวัยแล้ว พาบุรุษ ๑,๐๐๐ คน ออกบวชเป็นดาบส อยู่ริมฝั่งแม่น้ำแขวงอุรุเวลาประเทศ. ชาวอังคะและมคธนำสักการะเป็นอันมาก ถวายแก่ดาบสเหล่านั้นทุกๆ เดือน.
               ลำดับนั้น พระโพธิสัตว์ของเราทั้งหลายเสด็จออกอภิเนษกรมณ์ บรรลุสัพพัญญุตญาณโดยลำดับ แล้วทรงประกาศพระธรรมจักรอันประเสริฐ ทรงแนะนำกุลบุตรมียสะเป็นต้น ทรงส่งพระอรหันต์ ๖๐ รูปไปในทิศทั้งหลายเพื่อแสดงธรรม ทรงถือบาตรและจีวรด้วยพระองค์เองแล้วเสด็จไปยังอุรุเวลาประเทศด้วยตั้งพระทัยว่า จักทรมานชฏิล ๓ พี่น้องชายเหล่านั้น ทรงทำลายทิฏฐิของชฏิลเหล่านั้น ด้วยปาฏิหาริย์หลายร้อยแล้วให้เขาเหล่านั้นบรรพชา
               พระองค์ทรงพาสมณะ ๑,๐๐๐ ผู้ทรงบาตรและจีวรอันสำเร็จด้วยฤทธิ์ ไปยังคยาสีสประเทศ อันสมณะเหล่านั้นแวดล้อมแล้วประทับนั่ง พลางทรงพระดำริว่า ธรรมกถาอะไรหนอจักเป็นที่สบายแก่ชนเหล่านี้ จึงตกลงพระทัยว่า ชนเหล่านี้บำเรอไฟทั้งเวลาเย็นและค่ำ เราจักแสดงอายตนะ ๑๒ แก่พวกเขา ทำให้เป็นดุจไฟไหม้ลุกโชน ชนเหล่านี้จักสามารถบรรลุพระอรหัตด้วยอาการอย่างนี้.
               ลำดับนั้น พระองค์ได้ตรัสอาทิตตปริยายสูตรนี้ เพื่อแสดงธรรมแก่ชนเหล่านั้น โดยปาฏิหาริย์หลายร้อย. ด้วยเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า ภิกฺขู อามนฺเตสิ อธิบายว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเลือกพระธรรมเทศนาอันเป็นสัปปายะของชน (ชฏิล) เหล่านั้น จึงตรัสเรียก ด้วยหมายจะทรงแสดงอาทิตตปริยายสูตรนั้น.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อาทิตฺตํ แปลว่า อันไฟติดแล้ว ลุกโชนแล้ว.
               คำที่เหลือ มีนัยดังกล่าวแล้วนั่นแล.
               ตรัสทุกขลักษณะไว้ในพระสูตรนี้ ด้วยประการฉะนี้.

               จบอรรถกถาอาทิตตปริยายสูตรที่ ๖               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค สฬายตนสังยุตต์ สัพพวรรคที่ ๓ ๖. อาทิตตปริยายสูตร จบ.
อ่านอรรถกถา 18 / 1อ่านอรรถกถา 18 / 29อรรถกถา เล่มที่ 18 ข้อ 31อ่านอรรถกถา 18 / 32อ่านอรรถกถา 18 / 803
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=18&A=378&Z=403
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=13&A=140
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=13&A=140
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๔  ธันวาคม  พ.ศ.  ๒๕๔๙
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :