ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 17 / 1อ่านอรรถกถา 17 / 155อรรถกถา เล่มที่ 17 ข้อ 158อ่านอรรถกถา 17 / 165อ่านอรรถกถา 17 / 594
อรรถกถา สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค ขันธสังยุตต์ มัชฌิมปัณณาสก์ ขัชชนิยวรรคที่ ๓
ขัชชนิยสูตร ว่าด้วยสิ่งที่ถูกขันธ์ ๕ เคี้ยวกิน

               ๗. อรรถกถาขัชชนิยสูตร               
               พึงทราบวินิจฉัยในขัชชนิยสูตรที่ ๗ ดังต่อไปนี้ :-
               บทว่า ปุพฺเพนิวาสํ ความว่า ปุพเพนิวาสานุสสติญาณนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าจะตรัสหมายเอาการระลึกถึงด้วยอำนาจอภิญญาก็หาไม่ แต่ตรัสหมายเอาสมณพราหมณ์ผู้ระลึกถึงขันธ์ที่เคยอาศัยอยู่ในภพก่อนด้วยอำนาจวิปัสสนา.
               ด้วยเหตุนั้นแล พระองค์จึงตรัสว่า สมณะหรือพราหมณ์ย่อมระลึกถึงขันธ์อันเป็นที่ตั้งแห่งอุปาทาน ๕ เหล่านั้นทั้งหมด หรือขันธ์ใดขันธ์หนึ่ง บรรดาขันธ์ซึ่งเป็นที่ตั้งแห่งอุปาทาน ๕ เหล่านั้น.
               อธิบายว่า ขันธ์ก็ดี อุปาทานขันธ์ก็ดี สิ่งที่เนื่องด้วยขันธ์ก็ดี บัญญัติก็ดี จัดเป็นอารมณ์แห่งการระลึกถึงด้วยอำนาจอภิญญาทั้งนั้น.
               บทว่า รูปญฺเญว อนุสฺสรติ ความว่า ภิกษุผู้ระลึกถึงอยู่อย่างนี้ ไม่ใช่ระลึกถึงสัตว์หรือบุคคลอะไรๆ อื่น แต่ว่า เธอได้ระลึกถึงเฉพาะรูปขันธ์ที่ดับแล้วในอดีต.
               แม้ในขันธ์อื่นมีเวทนาเป็นต้นก็มีนัย (ความหมาย) อย่าง (เดียวกัน) นี้เหมือนกันแล.
               บัดนี้เพื่อจะทรงแสดงลักษณะแห่งสุญญตา พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า กิญฺจ ภิกฺขเว รูปํ วเทถ ดังนี้เป็นต้น.
               อธิบายว่า เปรียบเหมือนเมื่อโคฝูง (หนึ่ง) กำลังเที่ยวหากินอยู่ ชาย (คนหนึ่ง) กำลังตามหาโค (ของตน) ที่หายไป พอเห็นโคพลิพัทตัวสีขาว สีแดงหรือสีดำเข้า ก็ยังไม่อาจตกลงใจได้ด้วยเหตุที่เห็นเพียงเท่านี้ว่า นี้คือฝูงโคของเรา เพราะเหตุไร?๑- เพราะโคตัวอื่นๆ ที่มีลักษณะเช่นนั้นก็ยังมีอยู่ แต่ครั้นได้เห็นรอยหอกและรอยหลาวเป็นต้น ตามร่างกาย (ของโค) แล้ว เขาจึงตกลงใจได้ว่านี้คือฝูงโคของเราฉันใด (เรื่องสุญญตา) ก็ฉันนั้นเหมือนกัน พระผู้มีพระภาคเจ้าแม้จะได้ตรัสสุญญตาไว้แล้ว (แต่) ตราบใดที่ยังมิได้ตรัสถึงลักษณะของสุญญตาไว้ด้วย ตราบนั้นสุญญตานั้นก็ยังไม่เป็นอันตรัสไว้เสร็จสิ้นแล้ว ต่อเมื่อได้ตรัสถึงลักษณะของสุญญตาไว้ด้วย (นั้นแล) จึงนับว่าได้ตรัสสุญญตาไว้เสร็จสิ้นแล้ว.
____________________________
๑- ปาฐะว่า ตสฺมา ฉบับพม่าเป็น กสฺมา แปลตามฉบับพม่า.

               เพราะว่า สุญญตาเปรียบเหมือนโค ลักษณะของสุญญตาเปรียบเหมือนลักษณะของโค เมื่อยังมิได้สังเกตถึงลักษณะของโค โคก็ยังไม่นับว่าได้ถูกสังเกตไว้ดี ต่อเมื่อได้สังเกตถึงลักษณะของโคนั้นแล้ว โคนั้นจึงนับว่าได้ถูกสังเกตไว้ดีแล้วฉันใด
               (ลักษณะของสุญญตา) ก็ฉันนั้นเหมือนกัน เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้ายังมิได้ตรัสถึงลักษณะของสุญญตาไว้ด้วย สุญญตาก็ไม่นับว่าได้ตรัสไว้เสร็จสิ้นแล้ว แต่เมื่อได้ตรัสถึงลักษณะของสุญญตานั้นไว้ด้วย สุญญตานั้นจึงเป็นอันตรัสไว้เสร็จสิ้นแล้ว เพื่อจะทรงแสดงลักษณะแห่งสุญญตาดังว่ามานี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสคำว่า กิญฺจ ภิกฺขเว รูปํ วเทถ ดังนี้เป็นต้น.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า กิญฺจ เป็นคำถามถึงเหตุ. อธิบายว่า ด้วยเหตุไร เธอทั้งหลายจึงเรียกว่ารูป คือด้วยเหตุไร รูปนั้นจึงชื่อว่ารูป.
               บทว่า อิติ ในคำว่า รุปฺปตีติ โข นี้ เป็นบทแสดงถึงเหตุ. อธิบายว่า ก็เพราะเหตุที่รูปนั้นย่อยยับ ฉะนั้นจึงเรียกว่า รูป.
               บทว่า รุปฺปติ ความว่า กำเริบ คือถูกกระทบกระทั่ง. อธิบายว่า ถูกบีบคั้นคือแตกสลาย.
               ในคำว่า สีเตนปิ รุปฺปติ เป็นต้น พึงทราบวินิจฉัยดังต่อไปนี้ :-
               ก่อนอื่น ความย่อยยับเพราะความหนาวปรากฏ (ชัด) ในโลกันตริยนรก.
               อธิบายว่า ในระหว่างจักรวาล ๓ จักรวาล แต่ละจักรวาลมีโลกันตริยนรกอยู่จักรวาลละแห่งหนึ่ง ซึ่ง (แต่ละแห่งกว้างใหญ่) ประมาณ ๘,๐๐๐ โยชน์ (และ) เบื้องล่างก็ไม่มีแผ่นดิน เบื้องบนก็ไม่มีแสงเดือนแสงตะวัน (ไม่มี) แสงประทีป (ไม่มี) แสงแก้วมณี มืดมิดตลอดกาล บรรดาสัตว์ที่บังเกิดในโลกันตริยนรกนั้น มีอัตภาพประมาณ ๓ คาวุต สัตว์เหล่านั้นใช้เล็บที่ยาวและหนา เกาะห้อยหัวอยู่ที่เชิงเขา คล้ายค้างคาว เมื่อใดห้อยโหน๒- ไปถึงกันชั่วช่วงแขน เมื่อนั้นสำคัญอยู่ว่า เราได้อาหารแล้ว จะทะยาน๓- เข้าไปในที่นั้น ก็จะหมุนม้วนตกลงไปในน้ำที่ธารโลกไว้ ถูกลมปะทะขาดเป็นท่อน เหมือนผลมะซางตกลงไปในน้ำ พอตกลงไปเท่านั้นก็จะเดือดพล่านแหลกเหลวอยู่ในน้ำกรด เหมือนก้อนแป้งตกลงในน้ำมันที่เดือด ฉะนั้น.
____________________________
๒- ปาฐะว่า สมฺผสฺสนฺตา ฉบับพม่าเป็น สํสปฺปนฺตา แปลตามฉบับพม่า.
๓- ปาฐะว่า ชาวนฺตา ฉบับพม่าเป็น พฺยาวฏา แปลตามฉบับพม่า.

               ความย่อยยับเพราะถูกความหนาวปรากฏ (ชัด) ในโลกันตนรกด้วยประการดังพรรณนามาฉะนี้.
               แม้ในบรรดาประเทศที่หนาวเย็น เพราะหิมะตก มีมหิสรัฐเป็นต้น ความย่อยยับ (แบบ) นั้นก็ปรากฏ (ชัด) แล้วเหมือนกัน. จริงอยู่ สัตว์ทั้งหลายในประเทศเหล่านั้นถึงความสิ้นชีวิตไป เพราะมีสรีระแตกสลายไป เพราะความหนาว.
               ความย่อยยับเพราะถูกความร้อนปรากฏ (ชัด) ในอเวจีมหานรก. ความย่อยยับเพราะความหิวปรากฏ (ชัด) ในเปรตวิสัย และในเวลาเกิดข้าวยากหมากแพง. ความย่อยยับเพราะความระหายปรากฏ (ชัด) ในอบายภูมิมีกาฬกัญชิกาอบายภูมิเป็นต้น.

               กาฬกัญชิกอสูร               
               เล่ากันว่า กาฬกัญชิกอสูรตนหนึ่งไม่สามารถจะทนความระหายได้ จึงลงมายังแม่น้ำมหาคงคา ซึ่งลึกและกว้างประมาณ ๑ โยชน์ (ปรากฏว่า) ในที่ที่อสูรตนนั้นไปถึงน้ำแห้งหมด (มีแต่) ควันพลุ่งขึ้น เวลานั้นคล้ายกับว่าอสูรได้เดินกลับไปกลับมาอยู่บนหินดาดที่ร้อนระอุ. เมื่ออสูรนั้นได้ฟังเสียงน้ำแล้ว วิ่งไปวิ่งมาอยู่ (อย่างนั้น) นั่นแล ราตรีก็สว่าง (พอดี). เวลานั้น พระผู้ถือการเที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตรประมาณ ๓๐ รูป กำลังเดินจะไปบิณฑบาตแต่เช้าตรู่ เห็นเปรตนั้นเข้าจึงถามว่า "โยม โยมเป็นใคร?"
               "กระผมเป็นเปรต ขอรับ" เปรตตอบ.
               "โยมกำลังหาอะไรอยู่เล่า?" พระถาม.
               "น้ำดื่ม ขอรับ"
               "แม่น้ำคงคานี้ (มีน้ำ) เต็มเปี่ยม โยมมองไม่เห็นหรือ?"
               "แม่น้ำไม่สำเร็จ (ประโยชน์) เลย พระคุณเจ้า"
               "ถ้าอย่างนั้น ขอให้โยมนอนลงบนพื้นแม่น้ำคงคาเถิด ปวงอาตมาจะตักน้ำดื่มเทลงไปในปากของโยม"
               เปรตนั้นได้นอนหงายลงบนหาดทราย. พระได้นำบาตรทั้ง ๓๐ ใบ ออกมา (ผลัดกัน) ตักน้ำเทลงไปในปากของเปรตนั้น. เมื่อพระเหล่านั้นทำอยู่อย่างนั้น เวลา (บิณฑบาต) ก็ใกล้เข้ามา. ครั้งนั้น พระทั้งหลายจึงพูดว่า ได้เวลาบิณฑบาตของปวงอาตมาแล้วโยม โยมพอได้ความสบายใจแล้วใช่ไหม?
               เปรตเรียนว่า ข้าแต่พระคุณเจ้าผู้เจริญ ถ้าว่าน้ำประมาณครึ่งฟายมือจากน้ำที่พระคุณเจ้าประมาณ ๓๐ รูปเอาบาตรทั้ง ๓๐ ใบ ตักเทให้โยมไหลเข้าไปในคอของโยมเหมือนอยู่ในคอของคนอื่นไซร้ ขอให้โยมจงอย่าได้พ้นไปจากอัตภาพเปรตเลย.
               ความย่อยยับเพราะความระหายปรากฏ (ชัด) ในเปรตวิสัยด้วยประการดังพรรณนามาฉะนี้.
               ความย่อยยับเพราะเหลือบเป็นต้นปรากฏ (ชัด) ในประเทศทั้งหลายที่มากด้วยเหลือบและแมลงเป็นต้น.
               ก็ในบทเหล่านี้ พึงทราบอธิบายดังต่อไปนี้ :-
               บทว่า ฑํสา ได้แก่ เหลือบ.
               บทว่า มกสา ได้แก่ ยุงนั่นเอง.
               แม้ลมทั้งหลายก็พึงทราบว่ามีลมในท้อง และลมที่สันหลังเป็นต้น. เพราะว่าโรคลมเกิดขึ้นในร่างกายแล้ว ย่อมทำลายมือเท้าและหลังเป็นต้น ย่อมทำให้เป็นคนตาบอด ทำให้เป็นคนค่อม ทำให้เป็นคนง่อยเปลี้ย.
               บทว่า อาตโป แปลว่า แสงแดด. ความย่อยยับเพราะแสงแดดนั้นปรากฏ (ชัด) ในทางกันดารทั้งหลายมีทางกันดารทะเลทรายเป็นต้น.
               มีเรื่องเล่าว่า หญิงคนหนึ่งเหนื่อยล้าจากการเดินทางด้วยกองเกวียนในทางกันดารทะเลทรายตลอดทั้งคืน ครั้นถึงเวลากลางวัน เมื่อพระอาทิตย์อุทัยทรายร้อนระอุ นางไม่สามารถจะวางเท้าลงไปได้ จึงเอาตะกร้า (ที่เทินมา) ลงจากศีรษะแล้วเหยียบไว้ เมื่อตะกร้าร้อนมากเข้าๆ โดยลำดับ นางก็ไม่สามารถ (เหยียบ) ยืนอยู่ได้ จึงวางผ้าลงบนตะกร้านั้นแล้วเหยียบ เมื่อผ้าแม้นั้นร้อน นางจึงจับลูกน้อยที่อุ้มมาให้นอนคว่ำหน้าลงแล้ว (ยืน) เหยียบลูกน้อยซึ่งส่งเสียงร้องไห้จ้าอยู่ (นาง) ถูกความร้อนแผดเผา (ไม่ช้า) ก็ขาดใจตายในที่นั้นเองพร้อมกับลูกน้อย (ของนาง) นั้น.
               บทว่า สิรึสปา ได้แก่ สัตว์ตัวยาวทุกชนิดที่เลื้อยคลานไป ความย่อยยับเพราะสัมผัสของสัตว์ตัวยาวเหล่านั้น พึงทราบด้วยอำนาจแห่งเหตุมีถูกอสรพิษขบกัดเป็นต้น.

               ลักษณะ ๒               
               ธรรมทั้งหลายมีลักษณะอยู่ ๒ ลักษณะ คือ สามัญญลักษณะ (ลักษณะทั่วไป) ๑ ปัจจัตตลักษณะ (ลักษณะเฉพาะตัว) ๑.
               บรรดาลักษณะทั้งสองนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงปัจจัตตลักษณะของรูปขันธ์ไว้เป็นอันดับแรกด้วยประการดังพรรณนามาฉะนี้. ก็ปัจจัตตลักษณะนี้มีแก่รูปขันธ์เหล่านั้น หามีแก่ขันธ์ทั้งหลาย (นอกนี้) มีเวทนาขันธ์เป็นต้นไม่ เพราะฉะนั้นจึงเรียกว่าปัจจัตตลักษณะ. ส่วนอนิจจลักษณะ ทุกขลักษณะและอนัตตลักษณะ ย่อมมีแก่ขันธ์ทั้งหลายมีเวทนาเป็นต้นด้วย เพราะฉะนั้น ลักษณะทั้ง ๓ นั้นจึงเรียกว่าสามัญญลักษณะ.

               เวทนา               
               คำเป็นต้นว่า กิญฺจ ภิกฺขเว เวทนํ วเทถ เป็นเหมือนกับคำที่กล่าวมาก่อน จึงควรทราบตามนัยที่กล่าวมาแล้วนั่นแล. ส่วนคำใดที่ไม่เหมือนกับคำที่กล่าวมาก่อน คำนั้นมีการขยายความให้แจ่มแจ้งดังต่อไปนี้ :-
               บทว่า สุขํปิ เวทยติ ความว่า ย่อมรู้ คือเสวยอารมณ์ที่เป็นสุข. แม้ในสองบทต่อมาก็มีนัย (ความหมายอย่างเดียวกัน) นี้.
               ถามว่า ก็อารมณ์นี้ ชื่อว่าเป็นสุข เป็นทุกข์ ไม่สุขไม่ทุกข์ ได้อย่างไร?
               ตอบว่า เป็นได้เพราะเป็นปัจจัยแห่งสุขเป็นต้น เนื้อความนี้นั้นมาแล้วแลในมหาลิสูตรนี้ว่า ดูก่อนมหาลิ ก็เพราะเหตุที่รูปเป็นเหตุนำมาซึ่งความสุข เป็นเหตุให้ก้าวลงสู่ความสุข.๑-
____________________________
๑- สํ. ข. เล่ม ๑๗/ข้อ ๑๓๑

               ในบทว่า เวทยติ นี้ พึงทราบวินิจฉัยดังต่อไปนี้ :
               เวทนานั่นเองเสวยสุข ไม่ใช่สัตว์หรือบุคคลอื่น เพราะว่า เวทนามีการเสวยอารมณ์เป็นลักษณะ เพราะฉะนั้น เวทนาเสวยได้ก็เพราะอาศัยวัตถุกับอารมณ์ รวมความว่า ในที่นี้พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงจำแนกปัจจัตตลักษณะเท่านั้น แม้ของเวทนาด้วยประการดังพรรณนามาฉะนี้.

               สัญญา               
               บทว่า นีลํปิ สญฺชานาติ ความว่า จำได้หมายรู้โดยทำบริกรรมในดอกไม้สีเขียวหรือในผ้า จนถึงขั้นอุปจารหรืออัปปนา. ก็ชื่อว่าสัญญานี้ควรเป็นทั้งบริกัมมสัญญา ทั้งอุปจารสัญญา ทั้งอัปปนาสัญญา, แม้สัญญาที่เกิดว่า "สีเขียว สีเขียว" ก็ควรเหมือนกัน. แม้ในสิ่งทั้งหลายมีสีเหลืองเป็นต้นก็มีนัย (ความหมายอย่างเดียวกัน) นี้เหมือนกัน. แม้ในที่นี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงจำแนกแสดงเฉพาะปัจจัตตลักษณะของสัญญา ซึ่งมีการจำได้หมายรู้เป็นลักษณะ.

               สังขาร               
               บทว่า รูปํ รูปตฺตาย สงฺขตํ อภิสงฺขโรนฺติ ความว่า แม่ครัวหุงต้มยาคู ก็เพื่อให้เป็นยาคู ปรุงขนมก็เพื่อให้เป็นขนมนั่นเองฉันใด สังขารทั้งหลายก็ฉันนั้น ปรุงแต่งคือประมวลมา ได้แก่รวบรวมไว้.
               อธิบายว่า ให้สำเร็จซึ่งรูปนั้นเอง ที่ได้นามว่าสังขตะ เพราะปัจจัยทั้งหลายมาประชุมกันปรุงแต่งเพื่อความเป็นรูป คือเพื่อความเป็นรูปนั้น โดยประการที่สิ่งที่ถูกปรุงแต่ง จะชื่อว่าเป็นรูปได้.
               แม้ในเวทนาทั้งหลายก็มีนัย (ความหมายอย่างเดียวกัน) นี้แล.
               ก็ในตอนที่ว่าด้วยสังขารนี้ มีความย่อดังนี้ :-
               สังขารทั้งหลายย่อมปรุงแต่ง คือยังรูปที่เกิดพร้อมกับตน หรือธรรมทั้งหลายมีเวทนาเป็นต้นที่สัมปยุตกันให้บังเกิด แม้ในที่นี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าก็ทรงจำแนกแสดงเฉพาะปัจจัตตลักษณะของสังขารซึ่งมีความตั้งใจเป็นลักษณะด้วยประการฉะนี้.

               วิญญาณ               
               บทว่า อมฺพิลมฺปิ วิชานาติ ความว่า ย่อมรู้รสเปรี้ยวของผลมะม่วง ผลมะกอกและผลมะนาวเป็นต้นว่าเป็นรสเปรี้ยว.
               ในบททั้งปวงก็นัยนี้.
               อีกประการหนึ่ง ในบทเหล่านี้ พึงทราบวินิจฉัยดังต่อไปนี้ :-
               บทว่า ติตฺตกํ ได้แก่ รสขมนานัปการ มีรสขมของสะเดา และกระดอม เป็นต้น.
               บทว่า กฏกํ ได้แก่ รสเผ็ดนานัปการ มีรสเผ็ดของดีปลีและพริกเป็นต้น.
               บทว่า มธุรํ ได้แก่ รสหวานนานัปการ มีรสหวานของเนยใสและน้ำอ้อยเป็นต้น.
               บทว่า ขาริกํ ได้แก่ รสเฝื่อนนานัปการ มีรสเฝื่อนของมะเขือ, ของตาล, ของการะเกด, ของหน่อไม้, ของมะพร้าว, ของปอ, และของหน่อหวายเป็นต้น.
               บทว่า อขาริกํ ได้แก่ ผลไม้ชนิดใดชนิดหนึ่ง (และ) ใบไม้ที่มีรสระคนกันมีใบหมากเม่าเป็นต้น
               บทว่า โลณิกํ ได้แก่ รสเค็มประการต่างๆ มีรสเค็มของยาคูใส่เกลือ ปลาใส่เกลือและข้าวสวยใส่เกลือเป็นต้น.
               บทว่า อโลณิกํ ได้แก่ รสจืดประการต่างๆ มีรสข้าวยาคูไม่ใส่เกลือ ปลาไม่ใส่เกลือและข้าวสวยไม่ใส่เกลือเป็นต้น.
               บทว่า ตสฺมา วิญฺญาณนฺติ วุจฺจติ ความว่า เพราะเหตุที่วิญญาณรู้จักรส แยกประเภทเป็นรสเปรี้ยวเป็นต้นนี้ โดยแตกต่างกันออกไป คือโดยความเป็นของเปรี้ยวเป็นต้น ฉะนั้นจึงเรียกว่าวิญญาณ.
               แม้ในที่นี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงจำแนกแสดงเฉพาะปัจจัตตลักษณะของวิญญาณซึ่งมีการรู้แจ้ง (อารมณ์) เป็นลักษณะด้วยประการดังพรรณนามาฉะนี้แล.

               สัญญา-วิญญาณ-ปัญญา               
               ก็เพราะเหตุที่สัญญาปรากฏ โดยกำหนดถึงอาการและสัณฐานของอารมณ์ ฉะนั้น สัญญานั้นจึงทรงจำแนกไว้ในจักษุทวาร. (แต่) เพราะเหตุที่วิญญาณปรากฏโดยกำหนดความแตกต่างเฉพาะอย่างของอารมณ์ เว้น (การกำหนด) อาการและสัณฐาน ฉะนั้น วิญญาณนั้นจึงทรงจำแนกไว้ในชิวหาทวาร.
               อนึ่ง เพื่อกำหนดถึงสภาวะของสัญญาและวิญญาณเหล่านี้โดยไม่งมงาย จึงควรทราบถึงความแปลกกันในบทเหล่านี้ว่า สญฺชานาติ (จำได้) วิชานาติ (รู้แจ้ง) ปชานาติ (รู้ชัด).
               ในบททั้ง ๓ นั้น เพียงแต่อุปสรรค (สํ, วิ, ป) เท่านั้นที่แปลกกัน ส่วนบทว่า ชานาติ ไม่แปลกกันเลย. อนึ่ง เพราะบทว่า ชานาติ นั้นมีความหมายว่า รู้ จึงควรทราบความแปลกกันดังต่อไปนี้ :-
               อธิบายว่า สัญญาเป็นเพียงการจำได้หมายรู้อารมณ์โดยเป็นสีเขียวเป็นต้นเท่านั้น (แต่) ไม่สามารถให้ถึงการแทงตลอด (สามัญญ) ลักษณะคือไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตาได้.
               วิญญาณย่อมรู้อารมณ์โดยเป็นสีเขียวเป็นต้น และให้ถึงการแทงตลอด (สามัญญ) ลักษณะมีไม่เที่ยงเป็นต้น แต่ไม่สามารถให้ก้าวไปถึงมรรคปรากฏ (รู้แจ้งมรรค) ได้.
               ปัญญาย่อมรู้แจ้งอารมณ์โดยเป็นสีเขียวเป็นต้นด้วย ย่อมให้ถึงการแทงตลอด (สามัญญ) ลักษณะ โดยเป็นของไม่เที่ยงเป็นต้นด้วยทั้งให้ก้าวไปถึงความปรากฏแห่งมรรค (รู้แจ้งมรรค) ด้วย.

               เปรียบเทียบ               
               เปรียบเหมือน เมื่อเหรัญญิกนำกหาปณะมาทำเป็นกองไว้บนแผ่นกระดานของเหรัญญิก เมื่อคน ๓ คนคือเด็กไร้เดียงสา ชาวบ้านธรรมดา (และ) เหรัญญิกผู้เชี่ยวชาญ ยืนมองดู เด็กไร้เดียงสารู้แต่เพียงว่า กหาปณะทั้งหลายสวยงาม วิจิตร (มีลักษณะ) สี่เหลี่ยมและกลมเป็นต้น (แต่) หารู้ไม่ว่า นี้เป็นรตนสมมติ ที่ใช้เป็นเครื่องอุปโภคบริโภคของมนุษย์ทั้งหลาย.
               ชาวบ้านธรรมดารู้ว่า กหาปณะทั้งหลายสวยงามเป็นต้น เป็นรตนสมมติที่เป็นเครื่องอุปโภคและบริโภคของมนุษย์ทั้งหลายและรู้ว่าเป็นรตนสมมติที่เป็นเครื่องอุปโภคและบริโภคของมนุษย์ทั้งหลาย. แต่หารู้ไม่ว่า นี้เป็นของปลอม นี้เป็นของแท้ นี้เนื้อไม่ดี นี้เนื้อดี.
               เหรัญญิกผู้เชี่ยวชาญย่อมรู้ว่า กหาปณะทั้งหลายสวยงามเป็นต้น ย่อมรู้ว่า กหาปณะทั้งหลายเรียกว่ารัตนะ ทั้งย่อมรู้ว่าเป็นของปลอมเป็นต้นด้วย. ก็แลเมื่อรู้ พอได้เห็นรูปบ้าง ได้ยินเสียง (เคาะ) บ้าง ได้ดมกลิ่นบ้าง ได้ลิ้มรสบ้าง ใช้มือชั่งดูถึงความหนักเบาบ้าง ก็ทราบได้ (ทันที) ว่าทำที่หมู่บ้านโน้นบ้าง ทราบว่าทำที่นิคมโน้น ที่เมืองโน้น ที่ร่มเงาภูเขาโน้น (และ) ที่ริมฝั่งแม่น้ำโน้นบ้าง ทราบว่าอาจารย์โน้นทำบ้างฉันใด
               (สัญญา วิญญาณ และปัญญา) ก็ฉันนั้นเหมือนกัน (คือ) สัญญาย่อมจำได้หมายรู้แต่เพียงอารมณ์ว่าเป็นสีเขียวเป็นต้นเท่านั้น เปรียบเหมือนเด็กน้อยไร้เดียงสาเห็นกหาปณะฉะนั้น.
               วิญญาณย่อมรู้อารมณ์ว่าเป็นสีเขียวเป็นต้น ทั้งให้ถึงการแทงตลอดลักษณะว่าไม่เที่ยงเป็นต้น เปรียบเหมือนชาวบ้านธรรมดาเห็นกหาปณะฉะนั้น.
               (ส่วน) ปัญญาย่อมรู้อารมณ์ว่า เป็นสีเขียวเป็นต้นด้วย ให้ถึงการแทงตลอดลักษณะว่าไม่เที่ยงเป็นต้นด้วย ทั้งสามารถให้ก้าวไปถึงความปรากฏแห่งมรรคด้วย เปรียบเหมือนเหรัญญิกผู้ชำนาญเห็นกหาปณะฉะนั้น.
               ก็ความแตกต่างกัน (ดังกล่าวมา) นั้นของสัญญา วิญญาณและปัญญาเหล่านั้น แทงตลอด (เข้าใจ) ได้ยาก เพราะเหตุนั้น ท่านพระนาคเสนจึงถวายพระพร (พระยามิลินท์) ว่า ขอถวายพระพรมหาบพิตร พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทำสิ่งที่ทำได้ยาก.
               พระยามิลินท์ตรัสถามว่า ข้าแต่พระนาคเสนผู้เจริญ อะไรคือสิ่งที่ทำได้ยากที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทำไว้แล้ว?
               ท่านพระนาคเสนถวายพระพรว่า ขอถวายพระพรมหาบพิตร สิ่งทำได้ยากที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทำไว้คือ ตรัสบอกถึงการกำหนดอรูปธรรมทั้งหลายคือจิตและเจตสิกที่เป็นไปในอารมณ์เดียวกันว่า นี้คือผัสสะ นี้คือเวทนา นี้คือสัญญา นี้คือเจตนา นี้คือจิต.
               เปรียบเหมือนน้ำมัน ๕ ชนิดนี้คือน้ำมันงา น้ำมันผักกาด น้ำมันมะซาง น้ำมันละหุ่ง น้ำมันเปลวที่ใส่รวมกันไว้ในถาดเดียวกัน การที่จะตักน้ำมันแต่ละชนิดแยกออกจากถาดใบเดียวกันนั้นทีละอย่าง (แล้วบอก) ว่า นี้น้ำมันงานะ นี้น้ำมันผักกาดนะ นับว่าทำได้ยาก (อยู่แล้ว) การกำหนดอรูปธรรมคือจิตและเจตสิก ที่เป็นไปในอารมณ์เดียวกัน (ดังที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสบอกไว้) นี้ทำได้ยากกว่านั้น.
               แต่เพราะทรงแทงตลอดพระสัพพัญญุตญาณมาดีแล้ว พระผู้มีพระภาคเจ้าผู้เป็นธรรมิสสรธรรมราชจึงทรง (สามารถ) ทำการกำหนดอรูปธรรมเหล่านี้ที่เป็นไปในอารมณ์เดียวกันได้.
               แม้ด้วยการตักน้ำตรงที่ที่แม่น้ำใหญ่ ๕ สาย ไหลเข้าสู่ทะเลแล้วแยกออก (บอก) อย่างนี้ว่า นี้เป็นน้ำจากแม่น้ำคงคา นี้เป็นน้ำจากแม่น้ำยุมนา ก็พึงทราบความหมาย (ดังว่ามา) นี้.

               ลักษณะของทุกข์               
               พระผู้มีพระภาคเจ้าครั้นตรัสถึงลักษณะของอนัตตาด้วยหัวข้อ ๒ หัวข้อ คือ หัวข้อที่หนึ่งตรัสถึงสุญญตา หัวข้อที่สองตรัสถึงลักษณะของสุญญตาอย่างนี้แล้ว บัดนี้เพื่อจะทรงแสดงถึงลักษณะของทุกข์ จึงตรัสคำว่า ตตฺร ภิกฺขเว ดังนี้เป็นต้น
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ขชฺชามิ ความว่า รูปหาได้แทะเนื้อคนเรากินเหมือนสุนัขไม่ แต่พึงทราบว่า เปรียบเหมือนคนนุ่งผ้าเนื้อหยาบพูดว่า ผ้ากัด (เนื้อ) เราดังนี้ ก็โดยมุ่งหมายเอาการเสียดสีที่เกิดจากการนุ่งผ้าเนื้อหยาบนั้นฉันใด แม้รูปนี้ก็ฉันนั้น (คือ) ให้เกิดการบีบคั้นขึ้นจึงชื่อว่า กิน.
               บทว่า ปฏิปนฺโน โหติ ความว่า เป็นผู้ปฏิบัติเริ่มต้นตั้งแต่ (รักษา) ศีล (ให้บริสุทธิ์) จนกระทั่งถึง (บรรลุ) อรหัตตมรรค.
               ก็ในบทนี้พึงทราบอธิบาย (เพิ่มเติม) ว่า
               พระโยคาวจรรูปใดมีญาณเป็นกำลัง ยอดเยี่ยมด้วยพุทธญาณอันแก่กล้า บำเพ็ญเพียรอยู่ในภูมิธรรมอันเป็นที่ตั้งแห่งการบำเพ็ญเพียร ถูกตอไม้ตำหรือหนามเกี่ยว ถูกอาวุธประหาร หรือถูกสัตว์ร้ายทั้งหลายมีเสือโคร่งเป็นต้นจับกิน ก็ทำเวทนานั้นให้เป็นอัพโพหาริก (ไม่ให้เวทนาปรากฏ) พิจารณามูลกัมมัฏฐานย่อมยึดพระอรหัตต์ไว้ได้ทีเดียว พระโยคาวจรนี้เรียกว่า ชื่อว่าเป็นผู้ปฏิบัติเพื่อหน่าย เพื่อคลายกำหนัด เพื่อดับเวทนา เหมือนพระมิคิมัลลเถระ เหมือนพระมหาติสสเถระบุตรของกุฏุมพี เหมือนพระรูปหนึ่งในจำนวนพระประมาณ ๓๐ รูป (จำพรรษาอยู่ในดงวัตตนี) ที่ (ถูกเสือโคร่งกัด) นอน (พิจารณากัมมัฏฐานอยู่) ในปากเสือโคร่ง และเปรียบเหมือนพระเถระรูปที่ถูกหนามแทง ฉะนั้น.

               พระถูกหนามแทงพิจารณากัมมัฏฐาน               
               เล่ากันว่า เมื่อพระ ๑๒ รูปเคาะระฆังแล้วบำเพ็ญเพียรอยู่ในป่า พระรูปหนึ่งพอเมื่อพระอาทิตย์อัสดงคตเท่านั้นก็เคาะระฆังลงสู่ที่จงกรม (ท่าน) จงกรมไปพลางเร่งความเพียรไปพลาง (พลาด) ไปเหยียบหนามที่หญ้ากลบไว้. หนามทะลุออกหลังเท้า เวทนาเป็นไปเหมือนเวลาถูกกระเบื้องคมบาดฉะนั้น.
               พระเถระคิดว่า เราจะถอนหนามนี้ออก หรือจะปล่อยหนามให้แทงคาอยู่อย่างเดิม. ท่านได้มีความคิดดังนี้ว่า ชื่อว่าการไปในทุคคติมีนรกเป็นต้น (การตกนรก) เพราะถูกหนามนี้แทง ไม่มีดอก (เราจะปล่อยให้) หนามแทงอยู่อย่างเดิม. ท่านทำเวทนานั้นให้เป็นอัพโพหาริก (ไม่ให้เวทนาปรากฏ) แล้วเดินจงกรมตลอดทั้งคืน เมื่อราตรีสว่าง ได้ส่งสัญญาณให้แก่พระอีกรูปหนึ่ง พระรูปนั้นจึงมา (หาท่าน) แล้วถามว่า "เป็นอะไรไป ขอรับ?"
               "ผมถูกหนามแทง ผู้มีอายุ"
               "เมื่อไร ขอรับ?"
               "ตั้งแต่ตอนเย็นแล้ว ผู้มีอายุ"
               "ก็แล้วทำไม ท่านจึงไม่ร้องเรียกพวกผม พวกผมจะได้มาถอนหนามออก แล้วเอาน้ำมันร้อนๆ หยอด (แผล) ให้?"
               "หนามแทงคาอยู่ ผมพยายามถอนแล้วคุณ"
               "ท่านถอนออกแล้ว หรือยังขอรับ?"
               "คุณ ผมถอนออกได้เพียงบางส่วน"
               เรื่องที่เหลือ ได้อธิบายไว้อย่างพิสดารแล้ว ในนิเทศแห่งสติปัฏฐานสูตร ในอรรถกถาทีฆนิกาย และมัชฌิมนิกาย นั่นแล.

               ลักษณะของอนิจจัง               
               ถามว่า เพราะเหตุไร พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงเริ่มว่า ตํ กึ มญฺญถ ภิกฺขเว (ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พวกเธอสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน?)
               ตอบว่า เมื่อก่อนนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเฉพาะลักษณะของทุกข์ไว้ หาได้ตรัสลักษณะของอนิจจังไว้ไม่ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเริ่มคำว่า ตํ กึ มญฺญถ ภิกฺขเว นี้ไว้ ก็เพื่อแสดงถึงลักษณะของอนิจจังนั้น.
               อนึ่ง เพื่อจะทรงประมวลลักษณะทั้ง ๓ (อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา) มาแสดงไว้ (พร้อมกัน) จึงทรงเริ่มคำนี้ไว้.
               บทว่า อปจินาติ โน อาจินาติ ความว่า ทำวัฏฏะให้พินาศ ไม่สั่งสมวัฏฏะไว้.
               บทว่า ปชหติ น อุปาทิยติ ความว่า ย่อมปล่อยวัฏฏะนั้นนั่นแล คือไม่ยึดถือไว้.
               บทว่า วิสิเนติ น อุสฺสิเนตํ ความว่า ย่อมคลาย (วัฏฏะ) ไม่รวบรวมไว้.
               บทว่า วิธูเปติ น สนฺธูเปติ ความว่า ย่อมทำวัฏฏะให้ดับ ไม่ให้ลุกโพลง.
               ถามว่า เพราะเหตุไร พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงทรงเริ่มคำนี้ไว้ว่า เอวํ ปสฺสํ ภิกฺเว (ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกเห็นอยู่อย่างนี้) ?
               ตอบว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเริ่มไว้ เพราะทรงประสงค์ว่า เราตถาคตจักแสดงมหาขีณาสพที่ทำวัฏฏะให้พินาศแล้วยังดำรงอยู่.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสวิปัสสนาไว้ด้วยฐานะ (เหตุ) เพียงเท่านี้แล บัดนี้เพื่อจะทรงแสดงมรรค ๔ พร้อมทั้งวิปัสสนาจึงทรงเริ่มคำนี้ (เอวํ ปสฺสํ ภิกฺขเว) ไว้.
               อีกประการหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสมรรคที่ ๑ (โสดาปัตติมรรค) ด้วยฐานะ (เหตุ) เพียงเท่านี้ บัดนี้เพื่อจะทรงแสดงมรรค ๓ (สกิทาคามิมรรค, อนาคามิมรรคและอรหัตตมรรค) พร้อมทั้งวิปัสสนา จึงทรงเริ่มคำนี้ (เอวํ ปสฺสํ ภิกฺขเว) ไว้.
               อีกประการหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสมรรค ๓ ด้วยฐานะเพียงเท่านี้ บัดนี้ทรงเริ่มคำนี้ (เอวํ ปสฺสํ ภิกฺขเว) ไว้ แม้เพื่อจะทรงแสดงอรหัตตมรรคพร้อมทั้งวิปัสสนา นั่นแล.
               บทว่า สปชาปติกา ได้แก่ พร้อมทั้งท้าวเทวราชผู้เป็นปชาบดี.
               บทว่า อารกาว นมสฺสนฺติ แปลว่า (เทวดาทั้งหลาย) นมัสการแต่ที่ไกลทีเดียว คือนมัสการภิกษุผู้อยู่แม้ในที่ไกลนั่นแล เหมือนนมัสการท่านพระนิฏเถระฉะนั้น.

               พระนิฏเถระ               
               มีเรื่องเล่าว่า พระเถระออกบวชจากตระกูลคนเทดอกไม้ ได้บรรลุพระอรหัตตผลในเวลาปลงผมเสร็จนั่นเอง แล้วคิดว่า เราเพิ่งบวชวันนี้เอง กิจบรรพชิตของเราก็ถึงที่สุด (สำเร็จ) วันนี้เหมือนกัน เราจักบำเพ็ญมหาอริยวังสปฏิปทาของบัณฑิตที่มีการเจริญความสันโดษในปัจจัย ๔ เป็นที่มายินดี.
               ท่านเข้าไปในกรุงสาวัตถี ต้องการ (แสวงหา) ผ้าบังสุกุลแล้วเที่ยวแสวงหาท่อนผ้าอยู่. ขณะนั้น ท้าวมหาพรหมองค์หนึ่งออกจากสมาบัติแล้วตรวจดูถิ่นมนุษย์อยู่เห็นพระเถระ คิดว่า พระเถระเพิ่งบวชในวันนี้เอง แล้วก็ได้บรรลุพระอรหัตตผลในเวลาปลงผมเสร็จในวันนี้เช่นกัน (บัดนี้) กำลังแสวงหาท่อนผ้าอยู่เพื่อบำเพ็ญมหาอริยวังสปฏิปทาดังนี้แล้ว ได้ยืนประคองอัญชลีนมัสการอยู่.
               ต่อมา ท้าวมหาพรหมอีกท่านหนึ่งเห็นท้าวมหาพรหมองค์แรกยืนประคองอัญชลีนมัสการอยู่อย่างนั้น จึงถามว่า "ท่านนมัสการใคร?"
               "นมัสการพระนิฏเถระ"
               "เพราะเหตุไร?"
               "พระนิฏเถระเพิ่งบวชในวันนี้เอง แล้วได้บรรลุพระอรหัตตผลในเวลาปลงผมเสร็จในวันนี้เช่นกัน (บัดนี้) กำลังแสวงหาท่อนผ้าอยู่ เพื่อบำเพ็ญมหาอริยวังสปฏิปทา"
               ท้าวมหาพรหมแม้นั้นก็ได้ยืนนมัสการพระเถระนั้น (เช่นกัน) ขณะนั้น ท้าวมหาพรหมอื่นๆ (ก็ทยอยกันมา) รวมเป็นท้าวมหาพรหม ๗๐๐ ได้ยืนนมัสการ (พระนิฏเถระ).
               ด้วยเหตุนั้น พระโบราณาจารย์จึงกล่าวบทประพันธ์เป็นคาถาไว้ว่า
                         เทวดาเหล่านั้นจำนวนมากถึง ๗๐๐ ออกจากพรหมวิมาน
                         มีจิตเลื่อมใส นมัสการพระนิฏเถระอยู่ พระเถระเป็นพระ
                         ขีณาสพ รับผ้าบังสุกุล. ฯลฯ เป็นพระขีณาสพทำผ้าบังสุกุล
               ในพระสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงยึดยอดพระอรหัตต์โดยทรงขยายเทศนาออกไปด้วยภพทั้ง ๓ ด้วยประการฉะนี้.
               เวลาจบเทศนา ภิกษุ ๕๐๐ รูปได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์.

               จบอรรถกถาขัชชนิยสูตร               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค ขันธสังยุตต์ มัชฌิมปัณณาสก์ ขัชชนิยวรรคที่ ๓ ขัชชนิยสูตร ว่าด้วยสิ่งที่ถูกขันธ์ ๕ เคี้ยวกิน จบ.
อ่านอรรถกถา 17 / 1อ่านอรรถกถา 17 / 155อรรถกถา เล่มที่ 17 ข้อ 158อ่านอรรถกถา 17 / 165อ่านอรรถกถา 17 / 594
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=17&A=1955&Z=2041
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=12&A=6992
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=12&A=6992
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๒๙  กันยายน  พ.ศ.  ๒๕๔๙
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :