ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 17 / 1อ่านอรรถกถา 17 / 133อรรถกถา เล่มที่ 17 ข้อ 134อ่านอรรถกถา 17 / 138อ่านอรรถกถา 17 / 594
อรรถกถา สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค ขันธสังยุตต์ มัชฌิมปัณณาสก์ อุปายวรรคที่ ๑
นิรุตติปถสูตรที่ ๑๐ ว่าด้วยวิถีทางแห่งนิรุตติ ๓ ประการ

               อรรถกถานิรุตติปถสูตรที่ ๑๐               
               ในนิรุตติปถสูตรที่ ๑๐ มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้ :-
               ภาษานั่นแหละ ชื่อว่าทางภาษา. อีกอย่างหนึ่ง ภาษานั้นๆ ด้วย ชื่อว่าปถะ เพราะเป็นทางแห่งเนื้อความที่พึงรู้แจ้งด้วยอำนาจภาษาด้วย เหตุนั้นจึงชื่อว่า นิรุตติปถะ.
               แม้ในสองบทที่เหลือก็นัยนี้แหละ.
               อนึ่ง บททั้งสามเหล่านี้ พึงทราบว่าเป็นไวพจน์ของกันและกันทั้งนั้น.
               บทว่า อสงฺกิณฺณา ความว่า ไม่ถูกทอดทิ้ง คือไม่ถูกกล่าวว่า จะเป็นประโยชน์อะไรด้วยทางเหล่านี้ แล้วทิ้งเสีย.
               บทว่า อสงฺกิณฺณปุพฺพา ความว่า ไม่เคยถูกทอดทิ้งแม้ในอดีต.
               บทว่า น สงฺกิยนฺติ ความว่า แม้ในบัดนี้ก็ไม่ถูกทอดทิ้งว่า ประโยชน์อะไรด้วยทางเหล่านี้.
               บทว่า น สงฺกิยิสฺสนฺติ ความว่า แม้ในอนาคตก็จักไม่ถูกทอดทิ้ง.
               บทว่า อปฺปฏิกุฏฺฐา ได้แก่ ไม่ห้ามแล้ว.
               บทว่า อตีตํ ได้แก่ ก้าวล่วงสภาวะของตน หรือภวังคจิตนั่นแหละ.
               บทว่า นิรุทฺธํ ความว่า ไม่ล่วงเลยส่วนอื่น ดับคือเข้าไปสงบในที่นั้นเอง.
               บทว่า วิปริณตํ ได้แก่ ถึงความแปรปรวนคือพินาศไป.
               บทว่า อชาตํ แปลว่า ไม่เกิดขึ้น.
               บทว่า อปาตุภูตํ ได้แก่ ไม่ตั้งอยู่โดยปรกติ.
               บทว่า อุกฺกลา ได้แก่ผู้อยู่ในอุกกลชนบท.
               บทว่า วสฺสภญฺญา ได้แก่วัสสโคตรและภัญญโคตร. ชนทั้งสองพวกนั้นยึดถือทิฏฐิเป็นมูล.
               ในบทว่า อเหตุกวาทา เป็นต้น มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้
               ชื่อว่า อเหตุกวาทา เพราะถือว่าเหตุไม่มี ปัจจัยไม่มี. ชื่อว่า อกิริยวาทา เพราะถือว่าเมื่อบุคคลทำ บาปชื่อว่าไม่เป็นอันทำเป็นต้น. ชื่อว่า นัตถิกวาทา เพราะถือว่าทานที่ให้แล้วไม่มีผลเป็นต้น.
               ในข้อนั้น มีชนอยู่ ๒ พวกมีทิฏฐิอยู่ ๓ อย่าง แต่มิใช่พวกหนึ่งๆ มีทิฏฐิพวกละทิฏฐิครึ่ง ในข้อนี้ พวกหนึ่งๆ พึงทราบว่าทำทิฏฐิทั้งสามให้เกิด. เหมือนภิกษุรูปหนึ่งทำฌานทั้ง ๔ ให้เกิดขึ้นตามลำดับ. เมื่อบุคคลรำพึงยินดีเพลิดเพลินอยู่บ่อยๆ ว่า เหตุไม่มี ปัจจัยไม่มี ความเห็นของเขาย่อมเป็นเหมือนยินดีในฌาน เหมือนมรรคทัสสนะ เขาหยั่งลงสู่ความกำหนดว่าเป็นมิจฉาทิฏฐิ เขาถูกเรียกว่าเป็นผู้มีธรรมฝ่ายดำอย่างแท้จริง. ในฐานะแม้เหล่านี้ คือเมื่อบุคคลทำ บาปไม่ชื่อว่าเป็นอันทำ ทานที่ให้แล้วย่อมไม่มีผล มิจฉาทิฏฐิบุคคลย่อมหยั่งลงสู่ความกำหนดว่าเป็นมิจฉาทิฏฐิ เหมือนหยั่งลงในอเหตุกทิฏฐิ ฉะนั้น.
               ในคำว่า น ครหิตพฺพํ น ปฏิกฺโกสิตพฺพํ อมญฺญึสุ นี้มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้
               เมื่อบุคคลกล่าวว่า สิ่งที่ชื่อว่าอดีตก็คงเป็นอดีต สิ่งที่เป็นอดีตนี้ เป็นอนาคตก็ได้ เป็นปัจจุบันก็ได้ ชื่อว่าย่อมติเตียน.
               ครั้นเห็นโทษในทิฏฐินั้นแล้ว เมื่อจะกล่าวว่า ประโยชน์อะไรด้วยสิ่งที่เราติเตียนนี้ ชื่อว่าย่อมคัดค้าน.
               ก็พวกยึดถือทิฏฐิผู้ถูกเรียกว่าเป็นผู้มีธรรมฝ่ายดำอย่างแท้จริงแม้เหล่านั้นสำคัญทางภาษาเหล่านี้ว่าไม่ควรติเตียน ไม่ควรคัดค้าน แต่กล่าวสิ่งที่เป็นอดีตว่าคงเป็นอดีต สิ่งที่เป็นอนาคตว่าคงเป็นอนาคต สิ่งที่เป็นปัจจุบันว่าคงเป็นปัจจุบันอยู่นั่นเอง.
               บทว่า นินฺทาพฺยาโรสอุปารมฺภภยา ความว่า เพราะกลัวแต่การนินทา เพราะกลัวแต่การเสียดสี เพราะกลัวแต่การใส่โทษ และเพราะกลัวแต่การติเตียนจากสำนักของวิญญูชนทั้งหลาย.
               ในพระสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสบัญญัติขันธ์ที่เป็นไปในภูมิ ๔ ด้วยประการฉะนี้แล.

               จบ อรรถกถานิรุตติปถสูตรที่ ๑๐               
               จบ อุปายวรรคที่ ๑               
               -----------------------------------------------------               

               รวมพระสูตรที่มีในวรรคนี้ คือ
                         ๑. อุปายสูตร
                         ๒. พีชสูตร
                         ๓. อุทานสูตร
                         ๔. ปริวัฏฏสูตร
                         ๕. สัตตัฏฐานสูตร
                         ๖. พุทธสูตร
                         ๗. ปัญจวัคคิยสูตร
                         ๘. มหาลิสูตร
                         ๙. อาทิตตสูตร
                         ๑๐. นิรุตติปถสูตร.
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค ขันธสังยุตต์ มัชฌิมปัณณาสก์ อุปายวรรคที่ ๑ นิรุตติปถสูตรที่ ๑๐ ว่าด้วยวิถีทางแห่งนิรุตติ ๓ ประการ จบ.
อ่านอรรถกถา 17 / 1อ่านอรรถกถา 17 / 133อรรถกถา เล่มที่ 17 ข้อ 134อ่านอรรถกถา 17 / 138อ่านอรรถกถา 17 / 594
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=17&A=1586&Z=1637
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=12&A=6744
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=12&A=6744
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๒๙  กันยายน  พ.ศ.  ๒๕๔๙
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :