ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 

อ่าน อรรถกถาหน้าต่างที่ [๑] [๒]อ่านอรรถกถา 16 / 1อ่านอรรถกถา 16 / 512อรรถกถา เล่มที่ 16 ข้อ 518อ่านอรรถกถา 16 / 528อ่านอรรถกถา 16 / 725
อรรถกถา สังยุตตนิกาย นิทานวรรค กัสสปสังยุตต์
จีวรสูตร

หน้าต่างที่ ๒ / ๒.

               พระกุมารทรงนุ่งผ้าทิพย์ผืนหนึ่ง ทรงห่มผืนหนึ่ง ตรัสว่า พวกท่านจงเที่ยวตีกลองประกาศในแคว้นของพระเจ้านันทะว่า พวกหญิงปั่นด้าย อย่าปั่นด้าย แล้วให้ยกฉัตร ทรงช้างตัวประเสริฐ ที่ประดับตกแต่งแล้ว เสด็จเข้าสู่พระนคร ทรงขึ้นสู่ปราสาทเสวยมหาสมบัติ.
               เมื่อกาลผ่านไปด้วยประการฉะนี้ วันหนึ่ง พระเทวีทรงเห็นสมบัติของพระราชา ทรงแสดงอาการของความเป็นผู้กรุณาว่า โอ ผู้มีตปะ. ตรัสถามว่า อะไร พระเทวี.
               ทูลว่า สมบัติใหญ่ยิ่งนักเพคะ ในอดีตพระองค์เชื่อพระพุทธเจ้า ไปกระทำความดี บัดนี้ พระองค์ไม่กระทำกุศลอันเป็นปัจจัยแห่งอนาคต. ตรัสถามว่า เราจักให้แก่ใคร ผู้มีศีลก็ไม่มี. ทูลว่า พระองค์ ชมพูทวีปไม่ว่างเปล่าจากพระอรหันต์. ขอพระองค์จงทรงเตรียมทานไว้ หม่อมฉันจักได้ (นิมนต์) พระอรหันต์มา.
               ในวันรุ่งขึ้น พระราชารับสั่งให้เตรียมทานทางทวารด้านปราจีน. พระเทวีทรงอธิษฐานองค์อุโบสถแต่เช้าตรู่ บ่ายหน้าไปทางทิศตะวันออก ณ เบื้องบนปราสาท หมอบลงกล่าวว่า หากพระอรหันต์มีอยู่ในทิศนี้ ขอพระอรหันต์ทั้งหลายจงมารับภิกษาของพวกข้าพเจ้าในวันพรุ่งนี้เถิด. ในทิศนั้นไม่มีพระอรหันต์ ได้ให้สักการะนั้นแก่คนกำพร้าและยาจก.
               ในวันรุ่งขึ้น พระเทวีได้เตรียมทานด้านประตูด้านทักษิณ แล้วกระทำเหมือนอย่างนั้น. ในวันรุ่งขึ้นได้เตรียมทานด้านประตูทิศปัจฉิม แล้วกระทำเหมือนอย่างนั้น.
               ก็ในวันที่พระนางเตรียมทาน ณ ประตูด้านทิศอุดร พระปัจเจกพุทธเจ้าชื่อมหาปทุม ผู้เป็นใหญ่กว่าพระปัจเจกพุทธเจ้า ๕๐๐ บุตรของนางปทุมวดี ซึ่งอยู่ในหิมวันต์ อันพระเทวีนิมนต์แล้วเหมือนอย่างนั้น ได้เรียกพระปัจเจกพุทธเจ้าผู้เป็นน้องมากล่าวว่า ท่านผู้นิรทุกข์ทั้งหลาย พระราชานันทะทรงนิมนต์พวกท่าน ขอพวกท่านจงรับนิมนต์พระองค์เถิด.
               พระปัจเจกพุทธเจ้าเหล่านั้นรับนิมนต์แล้ว วันรุ่งขึ้นล้างหน้าที่สระอโนดาต เหาะมาลง ณ ประตูด้านทิศอุดร. พวกมนุษย์พากันไปกราบทูลพระราชาว่า ข้าแต่พระองค์ผู้ประเสริฐ พระปัจเจกพุทธเจ้า ๕๐๐ มาแล้ว พระเจ้าข้า.
               พระราชาพร้อมกับพระเทวีเสด็จไปทรงไหว้แล้วรับบาตรนิมนต์พระปัจเจกพุทธเจ้าให้ขึ้นบนปราสาท แล้วทรงถวายทานแก่พระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลายบนปราสาทนั้น.
               ครั้นเสร็จภัตกิจแล้ว พระราชาทรงหมอบ ณ บาทมูลของพระสังฆเถระ พระเทวีทรงหมอบ ณ บาทมูลของพระสังฆนวกะ ทรงให้ทำปฏิญญาว่า พระคุณเจ้าทั้งหลายจักไม่ลำบากด้วยปัจจัย ข้าพเจ้าทั้งหลายจักไม่เสื่อมจากบุญ ขอพระคุณเจ้าทั้งหลายจงให้ปฏิญญาเพื่ออยู่ ณ ที่นี้ตลอดชีวิตของพวกข้าพเจ้าทั้งหลายเถิด แล้วทรงสร้างที่อยู่ โดยอาการทั้งปวง คือ บรรณศาลา ๕๐๐ ที่ จงกรม ๕๐๐ ที่ ในพระอุทยาน. แล้วอาราธนาให้พระปัจเจกพุทธเจ้าอยู่ ณ ที่นั้น.
               เมื่อกาลผ่านไปอย่างนี้ ชายแดนของพระราชากำเริบ. พระราชารับสั่งกะพระเทวีว่า ฉันจะไปทำชายแดนให้สงบ เธออย่าประมาทในพระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลาย แล้วเสด็จไป. เมื่อพระราชายังไม่เสด็จมา อายุสังขารของพระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลายสิ้นแล้ว.
               พระปัจเจกพุทธเจ้าชื่อมหาปทุม เข้าฌานตลอด ๓ ยามในราตรี เมื่ออรุณขึ้น ยืนพิงกระดานปรินิพพานด้วยปรินิพพานธาตุ อันเป็นอนุปาทิเสส. แม้ที่เหลือทั้งหมดก็ปรินิพพานด้วยอุบายนี้.
               ในวันรุ่งขึ้น พระเทวีรับสั่งให้ทำที่นั่งของพระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลาย ฉาบด้วยของเขียว เกลี่ยดอกไม้ทำการบูชา นั่งแลดูพระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลายมา เมื่อไม่เห็นมา จึงทรงส่งราชบุรุษไปว่า เธอจงไป จงทราบว่า พระผู้เป็นเจ้าทั้งหลายไม่สบายหรืออย่างไร.
               ราชบุรุษไปเปิดประตูบรรณศาลาของพระปัจเจกพุทธเจ้ามหาปทุม เมื่อไม่เห็น ณ ที่นั้น จึงไปยังที่จงกรม เห็นท่านยืนพิงกระดาน ไหว้แล้วกล่าวว่า ถึงเวลาแล้วพระคุณเจ้า. ร่างกายดับแล้ว จักพูดได้อย่างไร.
               ราชบุรุษคิดว่า เห็นจะหลับ จึงไปลูบคลำที่หลังเท้า รู้ว่าท่านปรินิพพานเสียแล้ว เพราะเท้าเย็นและกระด้าง จึงไปหาท่านที่ ๒ ท่านที่ ๓ ก็อย่างนั้น รู้ว่าท่านทั้งหมดปรินิพพานแล้ว จึงไปราชตระกูล เมื่อรับสั่งถามว่า พระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลายไปไหน. กราบทูลว่า ข้าแต่พระเทวี พระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลายปรินิพพานเสียแล้ว.
               พระเทวีทรงคร่ำครวญกันแสง เสด็จออกพร้อมกับชาวเมือง ไปถึงที่นั้น ให้เล่นสาธุกีฬา กระทำฌาปนกิจพระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลาย แล้วถือเอาธาตุก่อเจดีย์บรรจุ.
               พระราชาครั้นทำให้ชายแดนสงบ เสด็จกลับ ตรัสถามพระเทวีซึ่งเสด็จมาต้อนรับว่า น้องหญิง เธอไม่ประมาทในพระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลายหรือ. พระผู้เป็นเจ้าทั้งหลายสบายดีหรือ. ทูลว่า พระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลายปรินิพพานเสียแล้วเพคะ.
               พระราชาทรงดำริว่า ความตายยังเกิดแก่บัณฑิตเห็นปานนี้ได้ พวกเราจะพ้นความตายได้แต่ไหน. พระราชาไม่เสด็จกลับพระนคร เสด็จเข้าไปยังพระอุทยานนั้นแล รับสั่งให้เรียกเชษฐโอรสมา ทรงมอบราชสมบัติแก่โอรสนั้น พระองค์เองเสด็จผนวชเป็นสมณเพศ.
               แม้พระเทวีเมื่อพระสวามีผนวช ทรงดำริว่าเราจักทำอะไรได้ จึงทรงผนวชในพระอุทยานนั้นเอง.
               แม้ทั้งสองพระองค์ยังฌานให้เกิด จุติจากที่นั้น แล้วก็บังเกิดในพรหมโลก.
               เมื่อทั้งสองอยู่ในพรหมโลกนั้นเอง พระศาสดาของเราทั้งหลายทรงอุบัติขึ้นในโลก ทรงธรรมจักรอันบวรให้เป็นไปแล้ว เสด็จถึงกรุงราชคฤห์โดยลำดับ.
               ปิปผลิมาณพนี้เกิดในท้องของอัครมเหสีของกบิลพราหมณ์ในบ้านพราหมณ์มหาดิตถ์ แคว้นมคธ. นางภัททกาปิลานีเกิดในท้องของอัครมเหสีของพราหมณ์โกสิยโคตร ในสาคลนคร แคว้นมคธ. เมื่อเขาเจริญวัยโดยลำดับ ปิปผลิมามาณพอายุ ๒๐ นางภัททาอายุ ๑๖ มารดาบิดาแลดูบุตร คาดคั้นเหลือเกินว่า ลูกเอ๋ย ลูกเติบโตแล้ว ควรดำรงวงศ์ตระกูล.
               มาณพกล่าวว่า คุณพ่อ คุณแม่ อย่าพูดถ้อยคำเช่นนี้ให้เข้าหูลูกเลย. ลูกจะปรนนิบัติตราบเท่าที่คุณพ่อคุณแม่ดำรงอยู่. ลูกจักออกบวช ภายหลังคุณพ่อคุณแม่. ล่วงไปอีกเล็กน้อย มารดาบิดาก็พูดอีก. แม้มาณพก็ปฏิเสธเหมือนอย่างเดิม. ตั้งแต่นั้นมา มารดาก็ยังพูดอยู่ไม่ขาดเลย. มาณพคิดว่า เราจักให้มารดายินยอมเรา. จึงให้ทองสีแดงพันลิ่ม ให้ช่างทองหล่อรูปหญิงคนหนึ่ง เมื่อเสร็จทำการขัดสีรูปหญิงนั้น จึงให้นุ่งผ้าแดง ให้ประดับด้วยดอกไม้สมบูรณ์ด้วยสี และด้วยเครื่องประทับต่างๆ แล้วเรียกมารดามาบอกว่า แม่จ๋า ลูกเมื่อได้อารมณ์เห็นปานนี้ จักดำรงอยู่ในเรือน เมื่อไม่ได้จักไม่ดำรงอยู่.
               พราหมณีเป็นหญิงฉลาด คิดว่า บุตรของเรามีบุญ ให้ทาน สร้างสมความดี เมื่อทำบุญมิได้ทำเพียงผู้เดียวเท่านั้น จักมีหญิงที่ทำบุญไว้มาก มีรูปเปรียบรูปทองเช่นรูปหญิงนี้แน่นอน. จึงเรียกพราหมณ์ ๘ คนมาสั่งว่า พวกท่านจงให้อิ่มหนำสำราญด้วยความใคร่ทุกชนิด ยกรูปทองขึ้นสู่รถไปเถิด พวกท่านจงค้นหาทาริกาเห็นปานนี้ ในตระกูลที่เสมอด้วยชาติ โคตรและโภคะของเรา. พวกท่านจงประทับตราไว้ แล้วให้รูปทองนี้.
               พราหมณ์เหล่านั้นออกไปด้วยคิดว่า นี้เป็นกรรมของพวกเรา แล้วคิดต่อไปว่า เราจักไปที่ไหน รู้ว่า แหล่งของหญิงมีอยู่ในมัททรัฐ เราจักไปมัททรัฐ จึงพากันไปสาคลนคร ในมัททรัฐ. พวกพราหมณ์ตั้งรูปทองนั้นไว้ที่ท่าน้ำ แล้วพากันไปนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง.
               ครั้งนั้น พี่เลี้ยงของนางภัททา ให้นางภัททาอาบน้ำแต่งตัวแล้ว ให้นั่งในห้องอันเป็นสิริแล้วมาอาบน้ำ ครั้นเห็นรูปนั้น จึงคุกคามด้วยสำคัญว่า ลูกสาวนายเรามาอยู่ในที่นี้ กล่าวว่า คนหัวดื้อ เจ้ามาที่นี้ทำไม เงื้อหอกคือฝ่ามือตบนางภัททาที่สีข้าง กล่าวว่า จงรีบไปเสีย. มือสั่นเหมือนกระทบที่หิน. พี่เลี้ยงหลีกไป เกิดความรู้สึกว่า ลูกสาวนายของเราแต่งตัว กระด้างถึงอย่างนี้. พี่เลี้ยงกล่าวว่า จริงอยู่ แม้ผู้ถือเอาผ้านุ่งนี้ ไม่สมควรแก่ลูกสาวนายของเรา.
               ลำดับนั้น พวกคนแวดล้อมพี่เลี้ยงนั้น พากันถามว่า ลูกสาวนายของท่านมีรูปอย่างนี้หรือ. นางกล่าวว่าอะไรกัน นายของเรามีรูปงามกว่าหญิงนี้ตั้งร้อยเท่าพันเท่า. เมื่อนางนั่งอยู่ในห้องประมาณ ๑๒ ศอก ไม่ต้องตามประทีป เพราะแสงสว่างของร่างกายเท่านั้นกำจัดความมืดได้.
               พวกมนุษย์กล่าวว่า ถ้าเช่นนั้น ท่านจงมา พาหญิงค่อมนั้นไป ให้ยกรูปทองไว้ในรถ ตั้งไว้ที่ประตูเรือนของพราหมณ์โกสิยโคตร ประกาศให้รู้ว่ามา. พราหมณ์ทำปฏิสันถารแล้วถามว่า พวกท่านมาแต่ไหน. พวกมนุษย์กล่าวว่า พวกเรามาแต่เรือนของกบิลพราหมณ์ ณ บ้านมหาดิตถ์ ในแคว้นมคธ ด้วยเหตุชื่อนี้. พราหมณ์กล่าวว่า ดีแล้ว พ่อคุณ. พราหมณ์ของพวกเรา มีชาติโคตรและสมบัติเสมอกัน เราจักให้นางทาริกา. แล้วรับบรรณาการไว้. พราหมณ์เหล่านั้น ส่งข่าวให้กบิลพราหมณ์ทราบว่า ได้นางทาริกาแล้ว โปรดทำสิ่งที่ควรทำเถิด.
               มารดาบิดาฟังข่าวนั้นแล้ว จึงบอกแก่ปิปผลิมาณพว่า ข่าวว่า ได้นางทาริกาแล้ว.
               มาณพคิดว่า เราคิดว่าเราจักไม่ได้ ก็มารดาบิดากล่าวว่าได้แล้ว เราไม่ต้องการ จักส่งหนังสือไป จึงไปในที่ลับ เขียนหนังสือว่า แม่ภัททาจงครองเรือนตามสมควรแก่ชาติ โคตรและโภคะของตนเถิด เราจักออกบวช. ท่านอย่าได้มีความร้อนใจในภายหลังเลย.
               แม้นางภัททาก็สดับว่า นัยว่า มารดาบิดาประสงค์จะยกเราให้แก่ผู้โน้น จึงไปในที่ลับ เขียนหนังสือว่า บุตรผู้เจริญ จงครองเรือนตามสมควรแก่ชาติ โคตรและโภคะของตนเถิด เราจักบวช ท่านอย่าได้เดือดร้อนในภายหลังเลย.
               หนังสือแม้ทั้งสองได้มาถึงพร้อมกันในระหว่างทาง.
               ถามว่า นี้หนังสือของใคร. ตอบว่า ปิปผลิมาณพส่งให้นางภัททา.
               ถามว่า นี้ของใคร. ตอบว่า นางภัททาส่งให้ปิปผลิมาณพ.
               คนทั้งสองก็ได้พูดขึ้นว่า พวกท่านจงดูการกระทำของพวกทารกเถิด จึงฉีกทิ้งในป่า เขียนหนังสือมีความเหมือนกันส่งไปทั้งข้างนี้และข้างโน้น เมื่อคนทั้งสองไม่ปรารถนาเหมือนกันนั่นแหละ ก็ได้มีการอยู่ร่วมกัน.
               ก็ในวันนั้นเอง มาณพก็ให้ร้อยพวงดอกไม้พวงหนึ่ง แม้นางภัททาก็ให้ร้อยพวงหนึ่ง. แม้คนทั้งสองบริโภคอาหารในเวลาเย็นแล้ว จึงวางพวงดอกไม้เหล่านั้นไว้กลางที่นอน คิดว่าเราทั้งสองจักเข้านอน มาณพนอนข้างขวา นางภัททานอนข้างซ้าย. คนทั้งสองนั้น เพราะกลัวการถูกต้องร่างกายกันและกัน จึงนอนไม่หลับจนล่วงไปตลอด ๓ ยาม. ก็เพียงหัวเราะกันในเวลากลางวันก็ไม่มี. คนทั้งสองมิได้ร่วมกันด้วยโลกามิส. เขาทั้งสองมิได้สนใจสมบัติตลอดเวลาที่มารดาบิดายังมีชีวิตอยู่ เมื่อมารดาบิดาถึงแก่กรรมแล้วจึงสนใจ.
               มาณพมีสมบัติมาก. ในวันหนึ่ง ควรได้ผงทองคำที่ขัดสีร่างกายแล้วทิ้งไว้ประมาณ ๑๒ ทะนาน โดยทะนานของชาวมคธ. มีสระใหญ่ ๖๐ แห่งติดเครื่องยนต์. มีพื้นที่ทำการงาน ๑๒ โยชน์. มีบ้านทาส ๑๔ แห่งเท่าอนุราธบุรี. มีช้างศึก ๑๔ เชือก รถ ๑๔ คัน.
               วันหนึ่ง มาณพขี่ม้าตกแต่งแล้วมีมหาชนแวดล้อมไปยังพื้นที่การงาน ยืนในที่สุดเขต เห็นนกมีกาเป็นต้นจิกสัตว์มีไส้เดือนเป็นต้นกินจากที่ถูกไถทำลาย จึงถามว่า นกเหล่านี้กินอะไร. ตอบว่า กินไส้เดือนจ้ะนาย.
               ถามว่า บาปที่นกเหล่านี้ทำจะมีแก่ใคร. ตอบว่า แก่พวกท่านจ้ะนาย.
               มาณพคิดว่า บาปที่นกเหล่านี้ทำจะมีแก่เรา. ทรัพย์ ๘๖ โกฏิจักทำอะไรเราได้. พื้นที่การงานประมาณ ๑๒ โยชน์จักทำอะไรได้. สระ ๖๐ สระติดเครื่องยนต์ หมู่บ้าน ๑๔ หมู่ จักทำอะไรได้ เราจักมอบสมบัติทั้งหมดนั้นแก่นางภัททา ออกบวช.
               ในขณะนั้น แม้นางภัททกาปิลานีก็ให้เทหม้องา ๓ หม้อลงในระหว่างพื้นที่ พวกพี่เลี้ยงนั่งล้อม เห็นกากินสัตว์ที่กินงา จึงถามว่า กาเหล่านี้กินอะไรแม่. ตอบว่า กินสัตว์จ้ะ แม่นาย.
               ถามว่า อกุศลจะมีแก่ใคร. ตอบว่า จะมีแก่ท่านจ้ะแม่นาย.
               นางคิดว่า เราควรได้ผ้าประมาณ ๔ ศอกและข้าวสุกประมาณทะนานหนึ่ง. ก็ผิว่า อกุศลที่ชนประมาณเท่านี้ทำจะมีแก่เรา ด้วยว่าเราไม่สามารถจะยกศีรษะขึ้นได้จากวัฏฏะตั้งพันภพ. พอเมื่ออัยยบุตร (มาณพ) มาถึง เราจักมอบสมบัติทั้งหมดแก่เขาแล้วออกบวช.
               มาณพมาอาบน้ำแล้ว ขึ้นสู่ปราสาทนั่ง ณ บัลลังก์มีค่ามาก. ลำดับนั้น ชนทั้งหลายจัดโภชนะอันสมควรแก่จักรพรรดิให้แก่เขา. ทั้งสองบริโภคแล้ว เมื่อบริวารชนออกไปแล้ว จึงพูดกันในที่ลับ นั่งในที่สบาย. แต่นั้นมาณพกล่าวกะนางภัททาว่า ดูก่อนแม่ภัททา ท่านมาสู่เรือนนี้นำทรัพย์มาเท่าไร. นางตอบว่า ๕๕,๐๐๐ เกวียนจ้ะนาย. มาณพกล่าวว่า ทรัพย์ ๘๗ โกฏิและสมบัติมีสระ ๖๐ ติดเครื่องยนต์ มีอยู่ในเรือนนี้ทั้งหมดนั้น เรามอบให้แก่ท่านผู้เดียว. นางถามว่า ก็ท่านเล่านาย. ตอบว่า เราจักบวช. นางกล่าวว่า แม้ฉันนั่งมองดูการมาของท่าน. ฉันก็จักบวชจ้ะนาย.
               ทั้งสองคนกล่าวว่า ภพทั้งสามเหมือนบรรณกุฏีที่ถูกไฟไหม้. เราจักบวชละ จึงให้นำผ้าเหลืองย้อมด้วยน้ำฝาด และบาตรดินเหนียวมาจากภายในตลาด ยังกันและกันให้ปลงผม บวชด้วยตั้งใจว่า บรรพชาของพวกเราอุทิศพระอรหันต์ในโลก เอาบาตรใส่ถลกคล้องบ่า ลงจากปราสาท. บรรดาทาสและกรรมกรในเรือนไม่มีใครรู้เลย.
               ครั้งนั้น ชาวบ้านทาสจำเขาซึ่งออกบ้านพราหมณ์ไปทางประตูบ้านทาสได้ ด้วยสามารถอากัปกิริยา. ชาวบ้านทาสต่างร้องไห้ หมอบลงแทบเท้ากล่าวว่า นายจ๋า นายจะทำให้พวกข้าพเจ้าไร้ที่พึ่งหรือ. ทั้งสองกล่าวว่า เราทั้งสองบวชด้วยคิดว่า ภพทั้งสามเป็นเหมือนบรรณศาลาที่ถูกไฟไหม้เผาผลาญ. หากเราทั้งสองจะทำในพวกท่านคนหนึ่งๆ ให้เป็นไท. แม้ร้อยปีก็ยังไม่หมด. พวกท่านจงชำระศีรษะของพวกท่านแล้วจงเป็นไทเถิด. เมื่อชนเหล่านั้นร้องไห้ เขาพากันหลีกไป.
               พระเถระเดินไปข้างหน้าเหลียวมองดูคิดว่า หญิงผู้มีค่าในสกลชมพูทวีปชื่อ ภัททกาปิลานีนี้เดินมาข้างหลังเรา. ข้อที่ใครๆ พึงคิดอย่างนี้ว่า ท่านทั้งสองนี้แม้บวชแล้วก็ไม่อาจจะพรากจากกันได้ ชื่อว่ากระทำกรรมอันไม่สมควร นี้ไม่เป็นฐานะที่จะมีได้. อีกอย่างหนึ่งใครๆ พึงมีใจประทุษร้ายแล้วจะไปตกคลักในอบาย. พระเถระจึงเกิดคิดขึ้นว่า เราควรละหญิงนี้ไป. พระเถระไปข้างหน้าเห็นทางสองแพร่งจึงได้ยืนในที่สุดทางสองแพร่งนั้น. แม้นางภัททาก็ได้มายืนไหว้. พระเถระกล่าวกะนางว่า แม่มหาจำเริญ มหาชนเห็นหญิงเช่นท่านเดินมาข้างหลังเรา แล้วคิดว่า ท่านทั้งสองนี้แม้บวชแล้วก็ไม่อาจจะพรากจากกันได้ จะพึงมีจิตร้ายในเรา จะไปตกคลักอยู่ในอบาย. เธอจงถือเอาทางหนึ่งในทางสองแพร่งนี้. ฉันจักไปผู้เดียว.
               นางภัททากล่าวว่า ถูกแล้วจ้ะ พระผู้เป็นเจ้า ชื่อว่ามาตุคามเป็นมลทินของพวกบรรพชิต. ชนทั้งหลายจะชี้โทษของเราว่า ท่านทั้งสองแม้บวชแล้ว ก็ยังไม่พรากกัน. ขอเชิญท่านถือเอาทางหนึ่ง. เราทั้งสองจักแยกกัน. นางกระทำประทักษิณ ๓ ครั้ง ไหว้ด้วยเบญจางคประดิษฐ์ในฐานะ ๔ ประคองอัญชลีรุ่งเรืองด้วยทสนขสโมธาน มิตรสันถวะที่ทำมานานประมาณแสนกัป ทำลายลงในวันนี้. พระผู้เป็นเจ้า ชื่อว่าเป็นทักษิณา ทางเบื้องขวาย่อมควรแก่พระผู้เป็นเจ้า. ดิฉันชื่อว่าเป็นมาตุคามเป็นฝ่ายซ้าย ทางเบื้องซ้ายย่อมควรแก่ดิฉัน ดังนี้ ไหว้แล้วเดินไปสู่ทาง. ในเวลาที่คนทั้งสองแยกจากกัน มหาปฐพีนี้คืนครั่นสั่นสะเทือนดุจกล่าวว่า เราแม้สามารถจะทรงเขาในจักรวาลและเขาสิเนรุไว้ได้ ก็ไม่สามารถจะทรงคุณของท่านทั้งสองไว้ได้. ย่อมเป็นไปดุจเสียงสายฟ้าบนอากาศ. ภูเขาจักรวาลบันลือลั่น.
               พระสัมมาสัมพุทธเจ้าประทับนั่ง ณ พระคันธกุฎีใกล้มหาวิหารเวฬุวัน ทรงสดับเสียงแผ่นดินไหว ทรงพระรำพึงว่า แผ่นดินไหวเพื่อใครหนอ ทรงทราบว่า ปิปผลิมาณพและนางภัททกาปิลานี สละสมบัติมากมายอุทิศเรา. การไหวของแผ่นดินนี้ เกิดด้วยกำลังคุณของคนทั้งสองในที่ที่เขาจากกัน แม้เราก็ควรทำการสงเคราะห์แก่เขาทั้งสอง จึงเสด็จออกจากพระคันธกุฎี ทรงถือบาตรและจีวรด้วยพระองค์เอง ไม่ทรงปรึกษาใครๆ ในบรรดามหาเถระ ๘๐ ทรงกระทำการต้อนรับประมาณ ๓ คาวุต ประทับนั่งขัดสมาธิ ณ โคนต้นพหุปุตตกนิโครธ ในระหว่างกรุงราชคฤห์และกรุงนาลันทา.
               ก็เมื่อประทับนั่ง มิได้ประทับนั่งเหมือนภิกษุผู้ถือผ้าบังสุกุลเป็นวัตรรูปใดรูปหนึ่ง ทรงถือเพศแห่งพระพุทธเจ้าประทับนั่งเปล่งพระพุทธรัศมีเป็นลำสู่ที่ประมาณ ๘๐ ศอก. ในขณะนั้น พระพุทธรัศมีประมาณเท่าใบไม้ ร่ม ล้อเกวียนและเรือนยอดเป็นต้น แผ่ซ่านส่ายไปข้างโน้นข้างนี้ ปรากฏการณ์ดุจเวลาพระจันทร์และพระอาทิตย์ขึ้นพันดวง ได้กระทำบริเวณป่าใหญ่ให้มีแสงสว่างเป็นอันเดียวกันด้วยประการฉะนี้.
               บริเวณป่ารุ่งเรืองด้วยสิริแห่งมหาปุริสลักษณะ ๓๒ ดุจท้องฟ้ารุ่งโรจน์ด้วยหมู่ดาว ดุจน้ำที่มีกลุ่มดอกบัวบานสะพรั่ง. ลำต้นนิโครธมีสีขาว ใบสีเขียว ใบแก่สีแดง. แต่ในวันนั้นต้นนิโครธพร้อมลำต้นและกิ่งมีสีเหมือนทอง.
               พึงทราบอนุปุพพิกถาที่ท่านกล่าวความแห่งบทว่า อทฺธานมคฺคํ ปฏิปนฺโน แล้วกล่าวว่า บัดนี้ ผู้นี้บวชแล้วด้วยประการใด และเดินทางไกลด้วยประการใด เพื่อให้เนื้อความนี้แจ่มแจ้งพึงกล่าวอนุปุพพิกถานี้ตั้งแต่อภิหารอย่างนี้.
               บทว่า อนฺตรา จ ราชคหํ อนฺตรา จ นาฬนฺทํ ความว่า ในระหว่างกรุงราชคฤห์และกรุงนาลันทา.
               บทว่า สตฺถารญฺจ วตาหํ ปสฺเสยฺยํ ภควนฺตเมว ปสฺเสยฺยํ ความว่า หากว่า เราพึงเห็นพระศาสดาไซร้. เราพึงเห็นพระผู้มีพระภาคเจ้าผู้เป็นพุทธะนี้แล. เพราะศาสดาอื่นจากนี้ไม่สามารถจะเป็นของเราได้เลย.
               บทว่า สุคตญฺจ วตาหํ ปสฺเสยฺยํ ภควนฺตเมว ปสฺเสยฺยํ ความว่า หากเราพึงเห็นท่านผู้ชื่อว่าสุคต เพราะความที่แห่งสัมมาปฏิบัติอันท่านถึงแล้วด้วยดีไซร้ เราพึงเห็นพระผู้มีพระภาคเจ้าผู้เป็นพุทธะนี้แล. เพราะพระสุคตอื่นจากนี้ไม่สามารถจะเป็นของเราได้.
               บทว่า สมฺมาสมฺพุทฺธญฺจ วตาหํ ปสฺเสยฺยํ ภควนฺตเมว ปสฺเสยฺยํ ความว่า หากเราพึงเห็นท่านผู้ชื่อว่าสัมมาสัมพุทธะ เพราะเป็นผู้ตรัสรู้เองโดยชอบไซร้. เราพึงเห็นพระผู้มีพระภาคเจ้าองค์นี้แล. เพราะพระสัมมาสัมพุทธะอื่นจากนี้ไม่สามารถจะมีแก่เราได้ นี้เป็นความประสงค์ในข้อนี้ ด้วยประการฉะนี้.
               เกจิอาจารย์แสดงว่า ดูก่อนผู้มีอายุ เรามิได้มีความสงสัยในพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า นี้พระศาสดา นี้พระสุคต นี้พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ด้วยการเห็นเท่านั้น ด้วยประการฉะนี้.
               บทว่า สตฺถา เม ภนฺเต นี้ มาแล้ว ๒ ครั้งก็จริง แต่พึงทราบว่า ท่านกล่าวแล้ว ๓ ครั้ง.
               เกจิอาจารย์แสดงว่า ด้วยบทนี้ ดูก่อนผู้มีอายุ เราประกาศความเป็นสาวก ๓ ครั้งอย่างนี้.
               บทว่า อชานญฺเญว แปลว่า ไม่รู้อยู่.
               แม้ในบทที่ ๒ ก็มีนัยนี้เหมือนกัน.
               บทว่า มุทฺธาปิ ตสฺส วิปเตยฺย ความว่า สาวกผู้มีจิตเลื่อมใสทุ่มเทจิตใจทั้งหมดอย่างนี้ พึงทำความเคารพอย่างยิ่งเห็นปานนี้ ต่อศาสดาภายนอกอื่นผู้ไม่รู้ปฏิญญาว่า เรารู้ ศีรษะของศาสดานั้นพึงหลุดจากคอ ดุจตาลสุกหล่นฉะนั้น. อธิบายว่า ก็ศีรษะพึงแยกออก ๗ เสี่ยง. หรือด้วยเรื่องนี้มีเปรียบเทียบไว้อย่างไร.
               หากพระมหากัสสปเถระพึงความเคารพอย่างยิ่งนี้ ด้วยจิตเลื่อมใสต่อมหาสมุทร. มหาสมุทรจะต้องถึงความเหือดแห้ง ดุจหยาดน้ำที่ใส่ในกระเบื้องร้อน. หากพึงทำความเคารพต่อจักรวาล. จักรวาลต้องกระจัดกระจายดุจกำแกลบ. หากพึงทำความเคารพต่อเขาสิเนรุ. เขาสิเนรุต้องย่อยยับดุจก้อนแป้งที่ถูกกาจิก หากพึงทำความเคารพต่อแผ่นดิน แผ่นดินต้องกระจัดกระจายดุจผุยผงที่ถูกลมหอบมา. ก็การทำความเคารพของพระเถระเห็นปานนี้ ไม่สามารถแม้เพียงทำขุมขน ณ เบื้องหลังพระบาทสีดุจทองของพระศาสดาให้กำเริบได้.
               อนึ่ง พระมหากัสสปยกไว้เถิด ภิกษุเช่นพระมหากัสสปตั้งพันตั้งแสน ก็ไม่สามารถแม้เพียงทำขุมขนเบื้องหลังพระบาทของพระทศพลให้กำเริบได้ หรือแม้เพียงผ้าบังสุกุลจีวรให้ไหวได้ ด้วยการแสดงความเคารพ. จริงอยู่ พระศาสดามีอานุภาพมากด้วยประการฉะนี้.
               บทว่า ตสฺมาติห เต กสฺสป ความว่า เพราะเราเมื่อรู้ เราก็กล่าวว่า เรารู้ และเมื่อเห็น เราก็กล่าวว่า เราเห็น ฉะนั้น ดูก่อนกัสสป เธอพึงศึกษาอย่างนี้.
               บทว่า ติพฺพํ แปลว่า หนา คือใหญ่.
               บทว่า หิโรตฺตปฺปํ ได้แก่ หิริและโอตตัปปะ.
               บทว่า ปจฺจุปฏฺฐิตํ ภวิสฺสติ ได้แก่ จักเข้าไปตั้งไว้ก่อน. อธิบายว่า จริงอยู่ ผู้ใดยังหิริและโอตตัปปะให้เข้าไปตั้งไว้ในพระเถระเป็นต้นแล้วเข้าไปหา. แม้พระเถระเป็นต้นก็เป็นผู้มีหิริและโอตตัปปะเข้าไปหาผู้นั้น นี้เป็นอานิสงส์ในข้อนี้ ด้วยประการฉะนี้.
               บทว่า กุสลูปสญฺหิตํ คือ อาศัยธรรมเป็นกุศล.
               บทว่า อฏฺฐิกตฺวา ความว่า ทำตนให้เป็นประโยชน์ด้วยธรรมนั้น หรือทำธรรมนั้นให้เป็นประโยชน์ว่า นี้ประโยชน์ของเรา ดังนี้.
               บทว่า มนสิกตฺวา คือ ตั้งไว้ในใจ.
               บทว่า สพฺพเจตโส สมนฺนาหริตฺวา ความว่า ไม่ให้จิตไปภายนอกได้แม้แต่น้อย รวบรวมไว้ด้วยประมวลมาทั้งหมด.
               บทว่า โอหิตโสโต แปลว่า เงี่ยหู. อธิบายว่า เธอพึงศึกษาอย่างนี้ว่า เราจักตั้งญาณโสตและปสาทโสตแล้วัฟังธรรมที่เราแสดงแล้วโดยเคารพ.
               บทว่า สาตสหคตา จ เม กายคตาสติ ความว่า กายคตาสติสัมปยุตด้วยสุข ด้วยสามารถปฐมฌานในอสุภกรมฐานและในอานาปานกรรมฐาน.
               ก็โอวาทนี้มี ๓ อย่าง บรรพชาและอุปสมบทนี้แลได้มีแก่พระเถระ.
               บทว่า สาโณ ได้แก่ เป็นผู้มีกิเลสคือเป็นหนี้.
               บทว่า รฏฺฐปิณฺฑํ ภุญฺชึ ได้แก่ บริโภคอาหารที่เขาให้ด้วยศรัทธา.
               จริงอยู่ การบริโภคมี ๔ อย่าง คือ
                         ไถยบริโภค ๑
                         อิณบริโภค ๑
                         ทายัชชบริโภค ๑
                         สามิบริโภค ๑.
               ในบริโภคเหล่านั้น ภิกษุเป็นผู้ทุศีล แม้นั่งบริโภคในท่ามกลางสงฆ์ ก็ชื่อว่าไถยบริโภค. เพราะเหตุไร. เพราะไม่เป็นอิสระในปัจจัย ๔. ผู้มีศีล ไม่พิจารณาบริโภค ชื่อว่าบริโภคอย่างเป็นหนี้ ด้วยประการฉะนี้ เพราะเหตุนั้น พระเถระเมื่อทำการบริโภคซึ่งตนเป็นปุถุชนบริโภค ให้เป็นอิณบริโภค จึงกล่าวอย่างนี้.
               บทว่า อฏฺฐมิยา อญญา อุทปาทิ ได้แก่ พระอรหัตผลเกิดขึ้นแล้วในวันที่ ๘.
               บทว่า อถโข ภควา มคฺคา โอกฺกมฺม ความว่า การหลีกจากหนทางไปก่อน ได้มีแล้วในวันนั้น ภายหลังจึงได้บรรลุพระอรหัต. ก็ท่านแสดงการบรรลุพระอรหัตก่อน เพราะเทศนาวาระมาแล้วอย่างนี้.
               ถามว่า ก็เพราะเหตุไร พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงทรงหลีกจากหนทาง.
               ตอบว่า ได้ยินว่า พระองค์ได้ทรงดำริอย่างนี้ว่า เราจักทำภิกษุนี้ให้เป็นผู้อยู่ป่าเป็นวัตร ทรงผ้าบังสุกุลเป็นวัตร มีอาสนะเดียวเป็นวัตร เพราะฉะนั้น พระองค์จึงหลีกไป.
               บทว่า มุทุกา โข ตยายํ ได้แก่ ผ้าสังฆาฏินี้แล ของท่านอ่อนนุ่ม. ก็แล พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อลูบคลำจีวรนั้นด้วยปลายพระหัตถ์ มีสีดังดอกปทุม จึงตรัสพระวาจานี้.
               ถามว่า พระองค์ตรัสอย่างนี้ เพราะเหตุไร.
               ตอบว่า เพราะทรงประสงค์จะเปลี่ยนจีวรกับพระเถระ.
               ถามว่า พระองค์ทรงประสงค์จะเปลี่ยนเพราะเหตุไร.
               ตอบว่า เพราะทรงประสงค์จะตั้งพระเถระไว้ในตำแหน่งของพระองค์. ก็เพราะเมื่อท่านกล่าวคุณของจีวรหรือบาตร พระเถระจึงกราบทูลว่า ขอพระองค์จงทรงรับจีวรนี้เพื่อพระองค์เถิด นี้เป็นจารีต ฉะนั้น จึงกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระผู้มีพระภาคเจ้าจงทรงรับของข้าพระองค์เถิด. พระองค์จึงตรัสว่า ก็กัสสป เธอจักครองผ้าบังสุกุลทำด้วยผ้าป่านของเราได้ไหม เธอจักอาจเพื่อห่มได้ไหม ดังนี้. ก็แล พระองค์ทรงหมายถึงกำลังกาย จึงตรัสแล้วอย่างนี้ ก็หามิได้ แต่ทรงหมายถึงการปฏิบัติให้บริบูรณ์ จึงตรัสอย่างนี้.
               ในข้อนี้มีอธิบายดังนี้ :-
               จีวรนี้ที่เขาห่ม ทาสีชื่อปุณณะทิ้งไว้ในป่าช้าผีดิบ เราเข้าไปสู่ป่าช้านั้นอันมีตัวสัตว์กระจายอยู่ ประมาณทะนานหนึ่ง กำจัดตัวสัตว์เหล่านั้นแล้ว ตั้งอยู่ในมหาอริยวงศ์ ถือเอา. ในวันที่เราถือเอาจีวรนี้ มหาปฐพีในหมื่นจักรวาลส่งเสียงสั่นสะเทือน อากาศนั้นส่งเสียง ตฏะ ตฏะ เทวดาในจักรวาลได้ให้สาธุการว่า ภิกษุผู้ถือเอาจีวรนี้ ควรเป็นผู้ทรงผ้าบังสุกุลเป็นวัตรตามธรรมชาติ นั่งอาสนะเดียวเป็นวัตรตามธรรมชาติ เที่ยวไปตามลำดับตรอกเป็นวัตรตามธรรมชาติ ท่านจักอาจทำให้สมควรแก่จีวรนี้ได้ ดังนี้. แม้พระเถระตนเองทรงไว้ซึ่งกำลังช้าง ๕ เชือก. ท่านจึงไม่ตรึกถึงข้อนั้น ใคร่จะทำให้สมควรแก่สุคตจีวร ด้วยความอุตสาหะว่า เราจักยังการปฏิบัตินั้นให้บริบูรณ์ ดังนี้ จึงกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์จักครอง ดังนี้.
               บทว่า ปฏิปชฺชึ ได้แก่ เราได้ปฏิบัติแล้ว ก็พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทำการเปลี่ยนจีวรกันอย่างนี้แล้ว ทรงครองจีวรที่พระเถระครอง พระเถระครองจีวรของพระศาสดา. สมัยนั้น มหาปฐพีสั่นสะเทือนจนถึงน้ำรองแผ่นดิน.
               ในบทว่า ภควโต ปุตฺโต เป็นต้น ความว่า พระเถระอาศัยพระผู้มีพระภาคเจ้าเกิดแล้วโดยอริยชาติ ดังนั้น บุตรของพระผู้มีพระภาคเจ้า ชื่อว่าผู้เกิดแต่อก เกิดแต่พระโอษฐ์ เพราะอยู่ในอก ตั้งอยู่ในบรรพชาและอุปสมบทด้วยอำนาจพระโอวาทออกจากพระโอษฐ์ ชื่อว่าผู้เกิดแต่พระธรรมอันธรรมนิรมิตแล้ว เพราะเกิดแต่พระโอวาทธรรม และเพราะทรงนิรมิตด้วยพระโอวาทธรรม. ชื่อว่าธรรมทายาท เพราะควรซึ่งทายาทคือพระธรรมโอวาท หรือทายาทคือโลกุตรธรรม ๙.
               บทว่า ปฏิคฺคหิตานิ สาณานิ ปํสุกูลานิ ความว่า รับผ้าบังสุกุลจีวรอันพระศาสดาทรงครองแล้ว เพื่อประโยชน์แก่การครอง.
               บทว่า สมฺมา วทมาโน วเทยฺย ความว่า เมื่อบุคคลจะพูดให้ถูก พึงพูดถึงบุคคลใดด้วยคุณเป็นต้นว่า บุตรของพระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อพูดถึงบุคคลนั้นให้ถูกพึงพูดถึงเราว่า เรามีรูปเห็นปานนี้ ดังนี้. บรรพชาอันพระเถระให้บริสุทธิ์แล้วด้วยคำมีประมาณเท่านี้.
               ในข้อนี้มีอธิบายว่า
               ท่านผู้มีอายุ อุปัชฌาย์อาจารย์ของผู้ใดไม่ปรากฏ ผู้นั้นอุปัชฌาย์ไม่มี อาจารย์ไม่มี โกนหัวโล้นถือเอาผ้ากาสายะเอง ถึงการนับว่าเข้ารีตเดียรถีย์หรือ ได้การต้อนรับตลอดหนทาง ๓ คาวุตอย่างนี้ ได้บรรพชาหรืออุปสมบทด้วยโอวาท ๓ ได้เปลี่ยนจีวรด้วยกาย ท่านเห็นคำแม้ทุพภาษิตเพียงไรของถุลลนันทาภิกษุณีไหม.
               พระเถระให้บรรพชาบริสุทธิ์อย่างนี้แล้ว บัดนี้ เพื่อบันลือสีหนาทด้วยอภิญญา ๖ จึงกล่าวคำเป็นต้นว่า อหํ โข อาวุโส.
               คำที่เหลือพึงทราบโดยนัยก่อนนั่นแล.


               จบอรรถกถาจีวรสูตรที่ ๑๑               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา สังยุตตนิกาย นิทานวรรค กัสสปสังยุตต์ จีวรสูตร จบ.
อ่านอรรถกถาหน้าต่างที่ [๑] [๒]
อ่านอรรถกถา 16 / 1อ่านอรรถกถา 16 / 512อรรถกถา เล่มที่ 16 ข้อ 518อ่านอรรถกถา 16 / 528อ่านอรรถกถา 16 / 725
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=16&A=5721&Z=5816
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=12&A=4415
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=12&A=4415
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๒๙  กันยายน  พ.ศ.  ๒๕๔๙
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :