ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 16 / 1อ่านอรรถกถา 16 / 64อรรถกถา เล่มที่ 16 ข้อ 65อ่านอรรถกถา 16 / 68อ่านอรรถกถา 16 / 725
อรรถกถา สังยุตตนิกาย นิทานวรรค อภิสมัยสังยุตต์ ทสพลวรรคที่ ๓
ทสพลสูตรที่ ๒

               อรรถกถาทุติยทสพลสูตรที่ ๒               
               สูตรที่ ๒ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสโดยอำนาจพระอัธยาศัยของพระองค์.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ทสพลสมนฺนาคโต แปลว่า ทรงประกอบด้วยพละกำลัง ๑๐.
               ธรรมดาพละนี้มี ๒ คือ กายพละ กำลังพระกาย ๑ ญาณพละ กำลังพระญาณ ๑.
               ในพละทั้ง ๒ นั้น กายพละของพระตถาคต พึงทราบตามแนวตระกูลช้าง ๑๐ ตระกูล ที่พระโบราณาจารย์ทั้งหลายกล่าวไว้ว่า
                              กาฬาวกญฺจ คงฺเคยฺยํ    ปณฺฑรํ ตมฺพปิงฺคลํ
                              คนฺธํ มงฺคลเหมญฺจ       อุโปสถํ ฉทฺทนฺติเม ทส.
                         ช้าง ๑๐ ตระกูลเหล่านี้คือ กาฬาวกะ ๑ คังเคยยะ ๑
                         ปัณฑระ ๑ ตัมพะ ๑ ปิงคละ ๑ คันธะ ๑ มังคละ ๑
                         เหมะ#- ๑ อุโปสถะ ๑ ฉัททันตะ ๑.

               บรรดาช้าง ๑๐ ตระกูลเหล่านั้น พึงเห็นว่า ตระกูลช้างโดยปกติ ชื่อว่ากาฬาวกะ.
               กำลังกายของบุรุษ ๑๐ คน เป็นกำลังช้างตระกูลกาฬาวกะ ๑ เชือก
               กำลังของช้างตระกูลกาฬาวกะ ๑๐ เชือก เป็นกำลังช้างตระกูลคังเคยยะ ๑ เชือก.
               กำลังช้างตระกูลคังเคยยะ ๑๐ เชือก เป็นกำลังช้างตระกูลปัณฑระ ๑ เชือก.
               กำลังช้างตระกูลปัณฑระ ๑๐ เชือก เป็นกำลังช้างตระกูลตัมพะ ๑ เชือก.
               กำลังช้างตระกูลตัมพะ ๑๐ เชือก เป็นกำลังช้างตระกูลปิงคละ ๑ เชือก.
               กำลังช้างกระกูลปิงคละ ๑๐ เชือก เป็นกำลังช้างตระกูลคันธะ ๑ เชือก.
               กำลังช้างตระกูลคันธะ ๑๐ เชือก เป็นกำลังช้างตระกูลมังคละ ๑ เชือก.
               กำลังช้างตระกูลมังคละ ๑๐ เชือก เป็นกำลังช้างตระกูลเหมวตะ#- ๑ เชือก.
               กำลังช้างตระกูลเหมวตะ#- ๑๐ เชือก เป็นกำลังช้างตระกูลอุโปสถะ ๑ เชือก.
               กำลังช้างตระกูลอุโปสถะ ๑๐ เชือก เป็นกำลังช้างตระกูลฉัททันตะ ๑ เชือก.
               กำลังช้างตระกูลฉัททันตะ ๑๐ เชือก เป็นกำลังของพระตถาคตพระองค์เดียว.
____________________________
#- คาถาเป็น เหมะ แก้อรรถเป็น เหมวตะ.

               กำลังพระตถาคตนี้นี่แล ท่านเรียกว่า กำลังที่นับได้ว่า พระนารายณ์ดังนี้ก็มี. กำลังพระนารายณ์นี้นั้น คำนวณโดยกำลังช้างตามปกติก็เท่ากับกำลังช้างหนึ่งพันโกฏิ แต่คำนวณโดยบุรุษก็เท่ากับกำลังบุรุษสิบพันโกฏิ. นี้พึงทราบว่าเป็นกำลังพระกายของพระตถาคตก่อน. แต่กำลังพระกายที่มิได้จัดสงเคราะห์ไว้ ในบทว่า ทสพลสมนฺนาคโต นี้.
               จริงอยู่ การกำหนดรู้ทุกข์ก็ดี การละสมุทัยก็ดี การเจริญมรรคก็ดี การกระทำให้แจ้งผลก็ดี อาศัยกำลังพระกายนี้ ไม่มี แต่มีกำลังอีกอย่างหนึ่ง ชื่อญาณพละ กำลังพระญาณ ๑๐ ประการ โดยอรรถว่าไม่หวั่นไหว และโดยอรรถว่าอุปภัมภ์ในฐานะ ๑๐ ประการ. ทรงหมายถึงทศพลญาณนี้ จึงตรัสว่า ทสพลสมนฺนาคโต ดังนี้.
               ถามว่า ก็ทศพลญาณนั้นเป็นไฉน.
               ตอบว่า ทรงรู้ฐานะและอฐานะเป็นต้นตามเป็นจริง คือทรงรู้ฐานะโดยเป็นฐานะ และอฐานะโดยเป็นอฐานะ ๑ ทรงรู้วิบากของกรรมสมาทาน ทั้งอดีตอนาคตและปัจจุบัน โดยฐานะ โดยเหตุ ตามเป็นจริง ๑ ทรงรู้ข้อปฏิบัติที่ดำเนินไปในฐานะทั้งปวง ๑ ทรงรู้โลกโดยเป็นอเนกธาตุ และนานาธาตุ ๑ ฯลฯ ทรงรู้อธิมุตติอัธยาศัยของสัตว์ทั้งหลาย ๑ ทรงรู้อินทรีย์ของสัตว์เหล่านั้นว่ายิ่งและหย่อน ๑ ทรงรู้ความเศร้าหมองผ่องแผ้วและออกของฌาน วิโมกข์ สมาธิและสมาบัติ ๑ ทรงรู้ขันธ์ที่เคยอาศัยในปางก่อนของสัตว์เหล่านั้น ๑ ทรงรู้จุติและอุปบัติของสัตว์ทั้งหลาย ๑ ทรงรู้ธรรมเป็นที่สิ้นอาสวะ ๑.
               ส่วนในอภิธรรมมาโดยพิสดาร โดยนัยว่า
               ในโลกนี้พระตถาคตทรงทราบชัดตามเป็นจริง ซึ่งฐานะโดยเป็นฐานะ และซึ่งอฐานะโดยเป็นอฐานะ แม้ข้อที่พระตถาคตทรงทราบชัดตามที่เป็นจริงซึ่งฐานะโดยเป็นฐานะ และซึ่งอฐานะโดยเป็นอฐานะ ก็จัดเป็นตถาคตพละของพระตถาคต. พระตถาคตทรงอาศัยพละใด ปฏิญาณฐานะอันประเสริฐสุด บันลือสีหนาทประกาศพรหมจักรในบริษัททั้งหลาย ดังนี้เป็นต้น.
               แม้กถาพรรณนาความ ท่านกล่าวแล้วโดยอาการทุกอย่างของพละเหล่านั้นไว้ในอรรถกถาวิภังค์ และปปัญจสูทนี อรรถถามัชฌิมนิกาย. กถาพรรณนาความนั้น ก็พึงถือเอาตามนัยที่ท่านกล่าวไว้แล้วในอรรถกถาเหล่านั้น.
               ญาณอันเป็นปฏิปักษ์ต่อความขลาดกลัว ชื่อว่า เวสารัชญาณ ในคำว่า จตูหิ จ เวสารชฺเชหิ คำนี้เป็นชื่อของพระญาณที่สำเร็จด้วยโสมนัส ซึ่งเกิดขึ้นแก่พระตถาคตผู้ทรงพิจารณาเห็นความเป็นผู้องอาจในฐานะทั้ง ๔.
               ในฐานะทั้ง ๔ เป็นไฉน. คือในเรื่องทักท้วงมีว่า เมื่อท่านปฏิญาณว่าเป็นพระสัมมาสัมพุทธะ ธรรมเหล่านี้ท่านก็มิได้ตรัสรู้ยิ่งเองแล้ว ดังนี้เป็นต้น.
               ในข้อนั้นมีบาลีดังนี้ว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เวสารัชญาณ ๔ เหล่านี้ ๔ เหล่านี้เป็นไฉน. ๔ เหล่านี้คือ ใครๆ ในโลก ไม่ว่าสมณพราหมณ์ เทวดา มาร พรหม จักทักท้วงเราโดยสหธรรม ในข้อที่ว่า เมื่อท่านปฏิญาณว่าเป็นพระสัมมาสัมพุทธะ ธรรมเหล่านี้ท่านก็มิได้ตรัสรู้ยิ่งเองแล้ว ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราไม่เห็นนิมิตแม้ข้อนี้เลย เราเมื่อไม่เห็นนิมิตนั้น จึงเป็นผู้ถึงความเกษม ถึงความไม่กลัว ถึงความเป็นผู้องอาจอยู่
               ใครๆ ในโลกนี้ ฯลฯ ทักท้วงเราในข้อที่ว่า เมื่อท่านปฏิญาณว่าเป็นขีณาสพ อาสวะเหล่านี้ของท่านก็ยังไม่สิ้นแล้ว ฯลฯ
               ธรรมที่ท่านกล่าวว่า ทำอันตราย ก็ไม่อาจทำอันตรายแก่ผู้เสพได้จริง ฯลฯ
               ธรรมที่ท่านแสดงเพื่อประโยชน์แก่ผู้ใด ก็ไม่นำผู้นั้น ซึ่งปฏิบัติตามธรรมนั้น ให้สิ้นทุกข์โดยชอบได้จริง ฯลฯ
               เราเมื่อไม่เห็นนิมิตนั้น จึงเป็นผู้ถึงความเกษม ถึงความไม่กลัว ถึงความเป็นผู้องอาจอยู่ ดังนี้.
               บทว่า อาสภณฺฐานํ ได้แก่ฐานะอันประเสริฐสุด ฐานะอันสูงสุด หรือฐานะของพระพุทธเจ้าทั้งหลายองค์ก่อนๆ ผู้ประเสริฐ. อธิบายว่า ฐานะของพระพุทธเจ้าเหล่านั้น.
               อีกนัยหนึ่ง จ่าฝูงโค ๑๐๐ ตัว ชื่อว่า อุสภะ จ่าฝูงโค ๑,๐๐๐ ตัว ชื่อว่าวสภะ. หรือว่า หัวหน้าโค ๑๐๐ คอก ชื่อว่าอุสภะ. หัวหน้าโค ๑,๐๐๐ คอก ชื่อว่าวสภะ. โคที่ประเสริฐสุดกว่าโคทุกตัว ทนอันตรายได้ทุกอย่าง สีขาว น่าเลื่อมใส นำภาระของหนักได้มาก พึงไม่สะดุ้งหวั่นไหว แม้เพราะเสียงฟ้าผ่าตั้ง ๑๐๐ ครั้ง ชื่อว่านิสภะ. โคนิสภะนั้น ท่านหมายเอาว่าอุสภะ.
               จริงอยู่ คำนี้ เป็นคำเรียกโคอุสภะนั้นโดยปริยาย ฐานะนี้เป็นของโคอุสภะ เหตุนั้น จึงชื่อว่า อาสภะ.
               บทว่า ฐานํ ได้แก่ กำหนดกระทืบแผ่นดินด้วยเท้าทั้ง ๔ แต่ในที่นี้ เป็นดั่งโคอาสภะ เหตุนั้นจึงชื่อว่าอาสภะ เหมือนอย่างว่า โคอุสภะ กล่าวคือโคนิสภะ ประกอบด้วยอุสภพละ กำลังโคอุสภะ กระทืบแผ่นดินด้วยเท้าทั้ง ๔ ยืนหยัดด้วยฐานะที่ไม่หวั่นไหวฉันใด แม้พระตถาคตทรงประกอบด้วยตถาคตพละ กำลังพระตถาคต ทรงกระทบแผ่นดิน คือบริษัท ๘ ด้วยพระบาท คือเวสารัชญาณ ๔ ไม่ทรงหวั่นไหวด้วยศัตรู หมู่อมิตรไรๆ ในโลก ทั้งเทวโลก ทรงยืนหยัดด้วยฐานะอันไม่หวั่นไหวก็ฉันนั้น
               ก็พระตถาคตเมื่อทรงยืนหยัดอย่างนั้น ก็ทรงปฏิญาณเข้าถึงไม่บอกคืนอาสภฐานะ ฐานะอันประเสริฐสุด ทรงวางอาสภฐานะไว้ในพระองค์. ด้วยเหตุนั้น จึงตรัสว่า อาสภณฺฐานํ ปฏิชานาติ ดังนี้.
               บทว่า ปริสาสุ ได้แก่ บริษัท ๘ เหล่านี้ [มหาสีหนาทสูตร] ว่า ดูก่อนสารีบุตร บริษัท ๘ เหล่านี้คือ ขัตติยบริษัท พราหมบริษัท คหบดีบริษัท สมณบริษัท จาตุมมหาราชิกบริษัท ดาวดึงสบริษัท มารบริษัท พรหมบริษัท.
               บทว่า สีหนาทํ นทติ ได้แก่ ทรงบันลือเสียงประเสริฐสุด เสียงที่ไม่น่ากลัว เสียงที่ไม่ใครเหมือน หรือบันลือเสียงเหมือนเสียงราชสีห์. พึงแสดงความข้อนี้ด้วยมหาสีหนาทสูตร.
               เปรียบเหมือนราชสีห์ เขาเรียกกันว่าสีหะ เพราะอดทนและล่าสัตว์ฉันใด พระตถาคต ท่านเรียกว่าสีหะ ก็เพราะทรงอดทนต่อโลกธรรมทั้งหลาย และแม้เพราะทรงกำจัดปรัปปวาท การกล่าวร้ายของฝ่ายอื่นก็ฉันนั้น. เสียงราชสีห์ที่กล่าวอย่างนี้ ชื่อว่า สีหนาท.
               ในข้อนั้น พระตถาคตทรงประกอบด้วยพระกำลังดังราชสีห์ ทรงองอาจในที่ทั้งปวง ปราศจากขนพองสยองเกล้า ทรงบันลือสีหนาทเหมือนราชสีห์. ราชสีห์คือพระตถาคต ทรงประกอบด้วยพระกำลังของพระตถาคต ทรงองอาจในบริษัททั้ง ๘ ทรงบันลือพระธรรมเทศนาอันงดงาม มีวิธีต่างๆ โดยนัยว่า ดังนี้รูปเป็นต้น คือสีหนาท ที่พร้อมด้วยความสง่างาม. ด้วยเหตุนั้น จึงตรัสว่า ปริสาสุ สีหนาทํ นทติ.
               ในบทว่า พฺรหฺมจกฺกํ ปวตฺเตติ นี้ บทว่า พฺรหฺมํ ได้แก่ ประเสริฐสุด สูงสุด บริสุทธิ์. คำนี้เป็นชื่อของพระธรรมจักร. พระธรรมจักรนั้น มี ๒ คือ ปฏิเวธญาณ ๑ เทศนาญาณ ๑.
               ในญาณ ๒ อย่างนั้น ญาณที่ปัญญาอบรม นำอริยผลมาให้พระองค์ ชื่อว่าปฏิเวธญาณ. ญาณที่กรุณาอบรม นำอริยผลมาให้เหล่าสาวก ชื่อว่าเทศนาญาณ.
               ในญาณ ๒ อย่างนั้น ปฏิเวธญาณ มี ๒ คือ ที่กำลังเกิดขึ้น ที่เกิดขึ้นแล้ว.
               จริงอยู่ ปฏิเวธญาณนั้น นับตั้งแต่เสด็จออกทรงผนวชจนถึงพระอรหัตมรรค ชื่อว่ากำลังเกิดขึ้น. ที่เกิดขึ้นในขณะอรหัตผล ชื่อว่าเกิดขึ้นแล้ว. นับตั้งแต่ภพดุสิตจนถึงอรหัตมรรค ณ มหาโพธิบัลลังก์ ชื่อว่ากำลังเกิดขึ้น. ที่เกิดขึ้นในขณะอรหัตผล ชื่อว่าเกิดขึ้นแล้ว. นับตั้งแต่พระพุทธเจ้าพระนามว่าทีปังกร จนถึงอรหัตมรรค ชื่อว่ากำลังเกิดขึ้น. ที่เกิดขึ้นในขณะอรหัตผล ชื่อว่าเกิดขึ้นแล้ว.
               เทศนาญาณมี ๒ คือ ที่กำลังประกาศ ที่ประกาศแล้ว.
               จริงอยู่ เทศนาญาณนั้นที่ประกาศจนถึงโสดาปัตติมรรคของพระอัญญาโกณฑัญญะ ชื่อว่ากำลังประกาศ. ที่ประกาศในขณะโสดาปัตติผล ชื่อว่าประกาศแล้ว.
               ในญาณทั้ง ๒ นั้น ปฏิเวธญาณเป็นโลกุตระ. เทศนาญาณเป็นโลกิยะ แต่ญาณแม้ทั้ง ๒ นั้นก็ไม่ทั่วไปแก่คนเหล่าอื่น. เป็นโอรสญาณของเหล่าพระพุทธะเท่านั้น
               บัดนี้ เพื่อจะทรงแสดงสีหนาทที่ทรงเป็นผู้ประกอบด้วยพระญาณที่บันลือ จึงตรัสว่า อิติ รูปํ ดังนี้เป็นต้น.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อิติ รูปํ แปลว่า นี้รูป เท่านี้รูป. ตรัสการกำหนดรูปไม่ให้เหลือด้วยอำนาจลักษณะ รส ปัจจุปปัฏฐานและปทัฏฐาน ทำสิ่งที่มีความสลายเป็นสภาวะ และความแตกต่างภูตรูปและอุปาทายรูป เป็นต้นไปว่า เหนือนี่ขึ้นไป รูปไม่มี. ตรัสความเกิดขึ้นแห่งรูป ที่กำหนดไว้ด้วยคำนี้ว่า ดังนี้เป็นความเกิดขึ้นแห่งรูป.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อิติ ความว่า อย่างนี้เป็นความเกิดขึ้น.
               ความพิสดารแห่งรูปสมุทัยนั้น พึงทราบอย่างนี้ว่า๑- เพราะอวิชชาเกิด รูปก็เกิด เพราะตัณหาเกิด รูปก็เกิด เพราะกรรมเกิด รูปก็เกิด เพราะอาหารเกิด รูปก็เกิด. อริยสาวกแม้เมื่อเห็นนิพพัตติลักษณะ ลักษณะเกิด ย่อมเห็นความเกิดแห่งรูป. แม้ในฝ่ายความดับ
____________________________
๑- ขุ. ปฏิ. เล่ม ๓๑/ข้อ ๑๐๖

               ความพิสดารก็มีอย่างนี้ว่า เพราะอวิชชาดับ รูปก็ดับ. อริยสาวกแม้เมื่อเห็นวิปริณามลักษณะ ลักษณะแปรปรวน ย่อมเห็นความดับแห่งรูปขันธ์.
               แม้ในบทว่า อิติ เวทนา เป็นต้น ก็ตรัสการกำหนดเวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ ที่เหลือไว้ ด้วยอำนาจลักษณะ รส ปัจจุปปัฏฐานและปทัฏฐาน ทำความเสวยอารมณ์ ความจำได้ ความปรุงแต่งและความรู้สึกเป็นสภาวะ และความแตกแห่งสุขเวทนาเป็นอาทิ รูปสัญญาเป็นอาทิ ประสาทและจักษุวิญญาณเป็นอาทิ เป็นต้นไปว่า นี้เวทนา เท่านี้เวทนา. เหนือนี้ขึ้นไป เวทนาไม่มี. นี้สัญญา เหล่านี้สังขาร นี้วิญญาณ เท่านี้วิญญาณ. เหนือนี้ขึ้นไป วิญญาณไม่มี ดังนี้. แต่ตรัสความเกิดแห่งเวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ ที่กำหนดอย่างนี้ ด้วยบททั้งหลายมีว่า ดังนี้เป็นความเกิดขึ้นแห่งเวทนา เป็นต้น.
               แม้ในบทเหล่านั้น บทว่า อิติ ความว่า อย่างนี้เป็นความเกิด. ความพิสดาร แม้ของขันธ์เหล่านั้น ก็พึงทราบตามนัยที่กล่าวไว้แล้วในรูปว่า เพราะอวิชชาเกิด เวทนาก็เกิด ดังนี้เป็นต้น.
               ส่วนความต่างกันมีดังนี้ ในขันธ์ ๓ ไม่กล่าวว่า เพราะอาหารเกิด ควรกล่าวว่า เพราะผัสสะเกิด. ในวิญญาณขันธ์ ควรกล่าวว่า เพราะนามรูปเกิด. แม้บทฝ่ายดับ ก็ควรประกอบด้วยอำนาจปัญจขันธ์เหล่านั้นนั่นแล.
               นี้เป็นความสังเขปในข้อนี้. แต่เมื่อว่าโดยพิสดาร การวินิจฉัยความเกิดและความเสื่อม ที่บริบูรณ์ด้วยอาหารทุกอย่าง ก็กล่าวไว้แล้วในคัมภีร์วิสุทธิมรรค. แม้เสียงอย่างนี้ว่า เมื่อสิ่งนี้มี สิ่งนี้ก็มี ดังนี้ ก็เป็นสีหนาทอีกประการหนึ่ง.
               ใจความของสีหนาทนั้นมีว่า
               เมื่อปัจจัยมีอวิชชาเป็นต้นนี้มีอยู่ ผลมีสังขารเป็นต้นนี้ ก็มี.
               บทว่า อิทํ น โหติ ความว่า เมื่อปัจจัยมีอวิชชาเป็นต้นไม่มี ผลมีสังขารเป็นต้นนี้ ก็ไม่มี.
               บทว่า อิมสฺส อุปฺปาทา อิทํ อุปฺปชฺชติ ความว่า เพราะปัจจัยมีอวิชชาเป็นต้นนี้เกิด ผลมีสังขารเป็นต้นนี้ก็เกิด. บทว่า อิมสฺมึ อสติ อิทํ น โหติ ความว่า เมื่อปัจจัยมีอวิชชาเป็นต้นนี้ไม่มี ผลมีสังขารเป็นต้นนี้ ก็ไม่มี. บทว่า อิมสฺส นิโรธา อิทํ นิรุชฺฌติ ความว่า เพราะปัจจัยมีอวิชชาเป็นต้นนี้ดับ ผลมีสังขารเป็นต้นนี้ก็ดับ.
               บัดนี้ เมื่อจะทรงแสดงอาการที่สิ่งนั้น มี [เกิด] และดับ โดยพิสดาร จึงตรัสว่า ยทิทํ อวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา เป็นต้น. บทว่า เอวํ สฺวากฺขาโต ได้แก่ ที่ทรงกล่าวไว้ด้วยดี คือตรัสไว้ดีแล้ว โดยการจำแนกปัญจขันธ์เป็นต้น อย่างนี้. บทว่า ธมฺโม ได้แก่ ธรรม คือปัญจขันธ์และปัจจยาการ.
               บทว่า อุตฺตาโน ได้แก่ ไม่คว่ำแล้ว. บทว่า วิวโฏ ได้แก่ เปิดตั้งไว้.
               บทว่า ปกาสิโต ได้แก่ แสดงแล้ว ส่องให้สว่างแล้ว. ผ้าเก่า ที่ทะลุ ฉีก มีปมเย็บไว้ในที่นั้นๆ เรียกกันว่า ปิโลติกา ในคำว่า ฉินฺนปิโลติโก ผู้ใดไม่มีผ้าเก่านั้น นุ่งห่มแต่ผ้าใหม่ขนาด ๘ ศอกหรือ ๙ ศอก ผู้นั้นชื่อว่า ฉินฺนปิโลติก ขาดผ้าเก่า ธรรมแม้นี้ ก็เป็นเช่นนั้น. ในธรรมนี้มิใช่มีภาวะ คือสมณะดุจผ้าทะลุฉีกและมีปมที่เย็บไว้ด้วยอำนาจหลอกลวงเขาเป็นต้น.
               อีกนัยหนึ่ง แม้ผ้าเล็กๆ ก็เรียก ปิโลติกา [ผ้าเก่า ผ้าขี้ริ้ว] ผู้ใดไม่มี ปิโลติกา นั้น แต่มีแต่ผ้าผืนใหญ่ขนาด ๘-๙ ศอก ผู้นั้นก็ชื่อว่า ฉินนปิโลติกะ ขาดผ้าเก่าผ้าขี้ริ้ว.
               อธิบายว่า ปราศจากผ้าเก่า.
               ธรรมนี้ก็เป็นเช่นนั้น [ปราศจากสมณะ ดุจผ้าเก่าหรือผ้าขี้ริ้ว] เหมือนอย่างว่า บุรุษได้ผ้า ๔ ศอกมา ทำการกำหนด กะ ชักไปทางโน้นทางนี้ ย่อมลำบาก ฉันใด เหล่านักบวชในลัทธิภายนอก [พระพุทธศาสนา] ก็ฉันนั้น จะกำหนดธรรมอันน้อยๆ ของตนไว้ว่า เมื่อสิ่งนี้เป็นอย่างนี้ สิ่งนี้ก็จักเป็นอย่างนี้ เมื่อจะขยายหรือเพิ่มย่อมลำบาก.
               อนึ่ง บุรุษกะกำหนดด้วยผ้าขนาด ๘ ศอก ๙ ศอกย่อมนุ่งห่มได้ตามชอบใจ ไม่ลำบากเลย ไม่มีกิจที่บุรุษจะต้องชักผ้ามาขยายหรือเพิ่มในผ้านั้น ฉันใด ไม่มีกิจที่กุลบุตรผู้บวชด้วยศรัทธาจะต้องกะกำหนดจำแนกธรรมทั้งหลาย แม้ในธรรมนี้ ก็ฉันนั้น. พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงหมายถึงข้อแม้นี้ว่า ธรรมนี้เราจำแนกไว้ดีแล้ว ขยายกว้างดีแล้ว ด้วยเหตุนั้นๆ จึงตรัสว่า ฉินฺนปิโลติโก ธรรมที่ปราศจากสมณะดุจผ้าขี้ริ้ว ดังนี้.
               อนึ่ง แม้หยากเยื่อ ท่านก็เรียกว่า ปิโลติกะ. ขึ้นชื่อว่าสมณะหยากเยื่อ ย่อมจะดำรงอยู่ในพระศาสนานี้ไม่ได้.
               ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า๒-
                                   การณฺฑวํ นิทฺธมถ       กสมฺพุํ อปกสฺสถ
                                   ตโต ปลาเป วาเหถ      อสมเณ สมณมานิเน
                                   นิทฺธมิตฺวาน ปาปิจฺเฉ    ปาปอาจารโคจเร
                                   สุทฺธาสุทฺเธหิ สํวาสํ        กปฺปยวฺโห ปติสฺสตา
                                   ตโต สมคฺคา นิปกา        ทุกฺขสฺสนฺตํ กริสฺสถ.
                         พวกเธอจงกำจัดสมณะหยากเยื่อ ขับไล่สมณะขยะ
                         ลอยสมณะแต่เปลือก ผู้ไม่เป็นสมณะ แต่สำคัญตัว
                         ว่าเป็นสมณะ ครั้นกำจัดสมณะผู้มีความปรารถนา
                         ลามก ผู้มีอาจาระและโคจรลามก จึงชื่อว่าอยู่ร่วม
                         กับสมณะผู้บริสุทธิ์และผู้ไม่บริสุทธิ์ มีสติมั่นคง
                         แต่นั้นพวกเธอมีความพร้อมเพรียงกัน มีปัญญา
                         รักษาตน ก็จักทำที่สุดทุกข์ได้.
____________________________
๒- องฺ. อฏฺฐก. เล่ม ๒๓/ข้อ ๑๐๐

               ธรรมนี้ ชื่อว่า ปราศจากสมณะผ้าขี้ริ้ว แม้เพราะสมณะหยากเยื่อถูกตัดขาดแล้วด้วยประการฉะนี้.
               บทว่า อลเมว แปลว่า สมควรแท้.
               บทว่า สทฺธาปพฺพชิเตน แปลว่า ผู้บวชด้วยศรัทธา.
               ในบทว่า กุลปุตฺเตน กุลบุตรมี ๒ คือ อาจารกุลบุตรและชาติกุลบุตร.
               บรรดากุลบุตรทั้งสองนั้น กุลบุตรผู้ใดออกบวชจากตระกูลใดตระกูลหนึ่ง บำเพ็ญธรรมขันธ์ ๕ มีศีลขันธ์เป็นต้น กุลบุตรผู้นี้ ชื่อว่าอาจารกุลบุตร. ส่วนกุลบุตรผู้ใดออกบวชจากตระกูลที่สมบูรณ์ด้วยชาติ ดั่งเช่นพระยศกุลบุตรเป็นต้น กุลบุตรผู้นี้ ชื่อว่าชาติกุลบุตร. ในกุลบุตรทั้งสองนั้น ในที่นี้ ท่านประสงค์เอาอาจารกุลบุตร. ก็ถ้าชาติกุลบุตรมีอาจาระ ชาติกุลบุตรนี้ก็จัดว่าสูงสุดทีเดียว. อันกุลบุตรเห็นปานนั้น.
               บทว่า วิริยํ อารภิตุํ ได้แก่ เพื่อความเพียรประกอบด้วยองค์ ๔.
               บัดนี้ เมื่อจะทรงแสดงความเพียรมีองค์ ๔ จึงตรัสว่า กามํ ตโจ เป็นต้น.
               ในองค์ทั้ง ๔ นั้น ตโจ เป็นองค์ ๑ นหารุ เป็นองค์ ๑ อฏฺฐิ เป็นองค์ ๑ มํสโลหิตํ เป็นองค์ ๑. ก็แลกุลบุตรผู้อธิษฐานความเพียรประกอบด้วยองค์ ๔ นี้ พึงใช้ในฐานะทั้ง ๙ คือ ก่อนอาหาร หลังอาหาร ยามต้น ยามกลาง ยามสุดท้าย เวลาเดิน เวลายืน เวลานั่ง เวลานอน.
               บทว่า ทุกฺขํ ภิกฺขเว กุสีโต วิหรติ ความว่า ในพระศาสนานี้ บุคคลใดเกียจคร้าน บุคคลนั้นย่อมอยู่เป็นทุกข์ แต่ในลัทธินอกพระพุทธศาสนา ผู้ใดเกียจคร้าน ผู้นั้นย่อมอยู่เป็นสุข.
               บทว่า โวกิณฺโณ แปลว่า คลุกคลี.
               บทว่า สทตฺถํ แปลว่า ประโยชน์ที่ดีหรือประโยชน์ของตน.
               แม้ด้วยบททั้งสอง ท่านก็ประสงค์เอาเฉพาะพระอรหัตอย่างเดียว.
               บทว่า ปริหาเปติ แปลว่า ให้เสื่อมไป ไม่บรรลุ.
               จริงอยู่ กุลบุตรผู้เกียจคร้าน ย่อมเป็นอันไม่คุ้มครองทวารทั้ง ๖. กรรม ๓ ก็ไม่บริสุทธิ์. ศีลมีอาชีวะเป็นที่ ๘ [อาชีวมัฏฐกศีล] ก็ไม่ผ่องแผ้ว. ภิกษุผู้มีอาชีวะอันทำลายเสียแล้ว ย่อมเป็นผู้เข้าไปเป็นพระประจำตระกูล. ภิกษุนั้นเป็นผู้ทำร้ายเพื่อสพรหมจารีทั้งหลาย เหมือนผงที่ตกลงในดวงตา ย่อมอยู่เป็นทุกข์ ทั้งได้ชื่อว่า เป็นคนมา และกินขี้ช้าง. ไม่สามารถจะยึดพระอัธยาศัยของพระศาสดาไว้ได้ ชื่อว่าทำขณะเวลาที่หาได้ยากให้พลาดไป. แม้อาหารของชาวแคว้นที่ภิกษุนั้นบริโภคแล้วย่อมไม่มีผลมาก.
               บทว่า อารทฺธวิริโย จ โข ภิกฺขเว ความว่า บุคคลผู้ปรารภความเพียร ย่อมอยู่เป็นสุขในพระศาสนานี้โดยแท้. ส่วนผู้ที่ประกอบความเพียรอยู่ในลัทธินอกพระพุทธศาสนา ย่อมอยู่เป็นทุกข์.
               บทว่า ปวิวิตฺโต ได้แก่ ผู้พรากแล้ว.
               บทว่า สทตฺถํ ปริปูเรติ ได้แก่ บรรลุพระอรหัต.
               จริงอยู่ ภิกษุผู้ปรารภความเพียร ย่อมเป็นอันคุ้มครองทวารทั้ง ๖ ดีแล้ว. กรรมทั้ง ๓ ก็บริสุทธิ์. ศีลมีอาชีวะเป็นที่ ๘ ก็ผ่องแผ้ว.
               อีกอย่างหนึ่ง ภิกษุนั้นเป็นที่พอใจของเพื่อนสพรหมจารีทั้งหลาย เหมือนยาหยอดตาที่เย็นในดวงตา และเหมือนจันทร์ตามธรรมชาติย่อมอยู่เป็นสุข ย่อมอาจยึดพระอัธยาศัยของพระศาสดาไว้ได้.
               จริงอยู่ พระศาสดาถูกนางโคตมีถวายบังคมด้วยกราบทูลอย่างนี้ว่า
                                   จิรํ ชีว มหาวีร กปฺปํ ติฏฺฐ มหามุนี.
                         ข้าแต่พระมหาวีระ โปรดมีพระชนมายุนานๆ
                         ข้าแต่พระมหามุนี โปรดดำรงอยู่ตลอดกัปเถิด.

               ก็ทรงห้ามเสียว่า ดูก่อนโคตมี เธอไม่พึงไหว้ตถาคตด้วยอาการอย่างนี้เลย ถูกนางโคตมีนั้นทูลอ้อนวอน เมื่อจะทรงบอกอาการที่ควรไหว้ จึงตรัสอย่างนี้ว่า๓-
                         อารทฺธวิริเย ปหิตตฺเต       นิจฺจํ ทฬฺหปรกฺกเม
                         สมคฺเค สาวเก ปสฺส      เอสา พุทฺธาน วนฺทนา.
                                   เธอจงดูเหล่าพระสาวก ผู้ปรารภความเพียร
                         ผู้มีใจเด็ดเดี่ยว บากบั่นมั่นคงอยู่เป็นนิตย์ ผู้พร้อม
                         เพรียงกัน นี้เป็นการไหว้พระพุทธะทั้งหลาย.

____________________________
๓- ขุ. อป. เล่ม ๓๓/ข้อ ๑๕๗

               ภิกษุผู้ปรารภความเพียรอย่างนี้ ย่อมสามารถยึดเหนี่ยวพระอัธยาศัยของพระศาสดาไว้ได้ ย่อมทำขณะเวลาที่หาได้ยากไม่ให้พลาดไป.
               จริงอยู่ พุทธุปบาทกาล สมัยเกิดขึ้นของพระพุทธเจ้า ธรรมเทศนา การแสดงธรรม และสังฆสุปฏิบัติ ความปฏิบัติดีของสงฆ์ ย่อมมีผล มีกำไรสำหรับภิกษุนั้น. แม้อาหารของชาวแคว้นที่ภิกษุนั้นบริโภคแล้ว ย่อมมีผลมาก.
               บทว่า หีเนน อคฺคสฺส ความว่า ไม่ชื่อว่าบรรลุพระอรหัตที่นับว่าเลิศ ด้วยศรัทธาอย่างเลว วิริยะอย่างเลว สติอย่างเลว สมาธิอย่างเลว ปัญญาอย่างเลว.
               บทว่า อคฺเคน จ โข ความว่า ชื่อว่าบรรลุพระอรหัตอันเลิศ ด้วยคุณมีศรัทธาเป็นต้นอย่างเลิศ.
               ในบทว่า มณฺฑเปยฺยํ ชื่อว่ามัณฑะ เพราะอรรถว่าผ่องใส. ชื่อว่าเปยยะ เพราะอรรถว่าควรดื่ม. พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อทรงแสดงว่า จริงอยู่ บุคคลดื่มน้ำดื่มอันใดแล้ว ล้มลงระหว่างถนน ไม่รู้สึกตัว ไม่เป็นเจ้าของแม้แต่ผ้าเป็นต้นของตนเอง น้ำดื่มอันนั้นแม้ใสก็ไม่ควรดื่ม. ส่วนศาสนาของเรา ทั้งผ่องใส ทั้งควรดื่มอย่างนี้ จึงตรัสว่า มณฺฑเปยฺยํ ดังนี้.
               ในคำว่า มณฺฑเปยฺยํ นั้น ผ่องใสมี ๓ อย่าง คือ เทสนามัณฑะ เทศนาผ่องใส ปฏิคคหมัณฑะ ผู้รับผ่องใส พรหมจริยมัณฑะ พรหมจรรย์ผ่องใส.
               เทศนาผ่องใสเป็นไฉน.
               คือการบอก [สอน] แสดงบัญญัติ เปิดเผย จำแนก ทำให้ตื้นซึ่งอริยสัจ ๔. การบอก ฯลฯ ทำให้ตื้นซึ่งอริยมรรคมีองค์ ๘ นี้ชื่อ เทสนามัณฑะ เทศนาผ่องใส.
               ผู้รับผ่องใสเป็นไฉน.
               คือ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา เทวดา มนุษย์ ก็หรือชนแม้เหล่าอื่นพวกใดพวกหนึ่ง ซึ่งเป็นผู้รู้ความ. นี้ชื่อ ปฏิคคหมัณฑะ ผู้รับผ่องใส.
               พรหมจรรย์ผ่องใสเป็นไฉน.
               คือ อริยมรรคมีองค์ ๘ นี้นี่แล คือ สัมมาทิฏฐิ ฯลฯ สัมมาสมาธิ นี้ชื่อ พรหมจริยมัณฑะ พรหมจรรย์ผ่องใส.
               อีกอย่างหนึ่ง พึงทราบความในข้อนี้ โดยนัยเป็นต้นว่า
               สัทธินทรีย์เป็นความผ่องใสโดยอธิโมกข์ ความน้อมใจเชื่อ. อสัทธิยะ ความไม่เชื่อ เป็นกาก. ละอสัทธิยะอันเป็นกากเสีย ดื่มแต่อธิโมกข์ อันเป็นความใสแห่งสัทธินทรีย์ เพราะเหตุนั้น สัทธินทรีย์จึงชื่อว่า มัณฑะ ใส เปยยะ ควรดื่ม.
               คำว่า สตฺถา สมฺมุขีภูโต นี้ เป็นคำกล่าวเหตุในข้อนี้. เพราะเหตุที่พระศาสดาประทับอยู่ต่อหน้า. ฉะนั้น พรหมจรรย์นั้นจึงเป็นของผ่องใส ในอรรถว่าทำประโยความเพียรแล้วดื่มได้. แท้จริงของภายนอก แม้แต่เภสัชยาที่ใส อยู่ลับหลังหมอ ผู้ดื่มก็มีความสงสัยว่า เราไม่รู้ขนาดหรือ หรือว่าการเพิ่มการลด. แต่เมื่ออยู่ต่อหน้าหมอ ผู้ดื่มก็หมดสงสัยดื่ม ด้วยคิดว่า หมอจักรู้. พระศาสดาผู้เป็นเจ้าของธรรมก็ฉันนั้นเหมือนกัน ทรงประกอบสัตว์ไว้ในพรหมจรรย์แม้ที่ใสและควรดื่ม ด้วยตรัสว่า พวกเธอจงพยายามดื่มเสีย เพราะฉะนั้น จึงตรัสว่า ติห ภิกฺขเว.
               บรรดาเหล่านั้น บทว่า สผลา ได้แก่ มีอานิสงส์.
               บทว่า สอุทฺริยา ได้แก่ มีผลเพิ่มคือกำไร.
               บทว่า อตฺตตฺถํ ได้แก่ พระอรหัตอันเป็นประโยชน์แก่ตน.
               บทว่า อปฺปมาเทน สมฺปาเทตุํ ได้แก่ เพื่อทำกิจทุกอย่างด้วยความไม่ประมาท.
               บทว่า ปรตฺถํ ได้แก่ผลเป็นอันมากของผู้ถวายปัจจัย.
               คำที่เหลือในที่ทุกแห่งง่ายทั้งนั้นแล.

               จบอรรถกถาทุติยทสพลสูตรที่ ๒               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา สังยุตตนิกาย นิทานวรรค อภิสมัยสังยุตต์ ทสพลวรรคที่ ๓ ทสพลสูตรที่ ๒ จบ.
อ่านอรรถกถา 16 / 1อ่านอรรถกถา 16 / 64อรรถกถา เล่มที่ 16 ข้อ 65อ่านอรรถกถา 16 / 68อ่านอรรถกถา 16 / 725
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=16&A=662&Z=703
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=12&A=1099
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=12&A=1099
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๒๙  กันยายน  พ.ศ.  ๒๕๔๙
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :