ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 16 / 1อ่านอรรถกถา 16 / 456อรรถกถา เล่มที่ 16 ข้อ 462อ่านอรรถกถา 16 / 464อ่านอรรถกถา 16 / 725
อรรถกถา สังยุตตนิกาย นิทานวรรค กัสสปสังยุตต์
สันตุฏฐสูตร

               กัสสปสังยุตต์               
               อรรถกถาสันตุฏฐสูตรที่ ๑               
               พึงทราบวินิจฉัยในสันตุฏฐสูตรที่ ๑ แห่งกัสสปสังยุต.
               บทว่า สนฺตุฏฺฐายํ ได้แก่ กัสสปะนี้ เป็นผู้สันโดษ.
               บทว่า อิตริตเรน จีวเรน ได้แก่ ด้วยจีวรชนิดใดชนิดหนึ่ง แห่งจีวรเนื้อหยาบ ละเอียด เศร้าหมอง ประณีต ทน ชำรุด. มีอธิบายว่า สันโดษด้วยจีวรชนิดใดชนิดหนึ่ง ตามที่ได้แล้วเป็นต้น.
               ก็ความสันโดษในจีวรมี ๓ อย่าง คือ ยถาลาภสันโดษ ๑ ยถาพลสันโดษ ๑ ยถาสารุปสันโดษ ๑. ถึงความสันโดษในบิณฑบาตเป็นต้น ก็นัยนี้แล.
               การพรรณนาประเภทแห่งสันโดษเหล่านั้น ดังต่อไปนี้.
               ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ได้จีวรดีบ้าง ไม่ดีบ้าง เธอใช้จีวรนั้นอย่างเดียว ไม่ปรารถนาจีวรอื่น ถึงจะได้ก็ไม่รับ. นี้ชื่อว่า ยถาลาภสันโดษในจีวรของเธอ.
               ก็เมื่อเป็นเช่นนั้น ภิกษุเป็นผู้ทุรพลตามปกติบ้าง ถูกอาพาธครอบงำบ้าง เมื่อห่มจีวรหนักย่อมลำบาก. เธอเปลี่ยนจีวรนั้นกับภิกษุผู้ชอบพอกัน ใช้จีวรเบา ก็ชื่อว่าเป็นผู้สันโดษ. นี้ชื่อว่า ยถาพลสันโดษในจีวรของเธอ.
               ภิกษุอีกรูปหนึ่งได้ปัจจัยที่ประณีต. บรรดาบาตรและจีวรเป็นต้น เธอได้จีวรมีค่ามากอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือได้จีวรเป็นต้นเป็นอันมาก ถวายด้วยคิดว่า สิ่งนี้สมควรแก่พระเถระผู้บวชนาน สิ่งนี้สมควรแก่ภิกษุผู้พหูสูต สิ่งนี้สมควรแก่ภิกษุผู้อาพาธ สิ่งนี้จงมีแก่ภิกษุมีลาภน้อย ดังนี้ แล้วเก็บจีวรเก่าของภิกษุเหล่านั้น ก็หรือเก็บผ้าที่เปื้อนจากกองหยากเยื่อเป็นต้น เอาผ้าเหล่านั้นทำสังฆาฏิใช้ ก็ชื่อว่าเป็นผู้สันโดษ. นี้ชื่อว่า ยถาสารุปปสันโดษในจีวรของเธอ.
               ก็ภิกษุในธรรมวินัยนี้ได้บิณฑบาตเศร้าหมองบ้าง ประณีตบ้าง. เธอยังอัตภาพให้เป็นไปด้วยบิณฑบาตนั้นเท่านั้น ไม่ปรารถนาบิณฑบาตอื่น ถึงจะได้ก็ไม่รับ. นี้ชื่อว่า ยถาลาภสันโดษในบิณฑบาตของเธอ.
               ส่วนภิกษุใดได้บิณฑบาตผิดธรรมดา หรือแสลงต่อความเจ็บไข้ของตน. ภิกษุนั้นฉันบิณฑบาตนั้นไม่มีความผาสุก. เธอถวายบิณฑบาตนั้นแก่ภิกษุผู้ชอบพอกันเสีย ฉันโภชนะเป็นที่สบายจากมือของภิกษุนั้น ทำสมณธรรม ก็ชื่อว่าเป็นผู้สันโดษ. นี้ชื่อว่า ยถาพลสันโดษในบิณฑบาตของเธอ.
               ภิกษุอีกรูปหนึ่งได้บิณฑบาตที่ประณีตเป็นอันมาก. เธอถวายแก่ภิกษุผู้บวชนาน ผู้พหูสูต ผู้มีลาภน้อย และผู้อาพาธ เหมือนถวายจีวรนั้น ฉันอาหารที่เหลือของภิกษุเหล่านั้น หรืออาหารที่เที่ยวบิณฑบาตแล้วสำรวม. ก็ชื่อว่าเป็นผู้สันโดษ. นี้ชื่อว่า ยถาสารุปสันโดษในบิณฑบาตของเธอ.
               ก็ภิกษุในธรรมวินัยนี้ได้เสนาสนะ น่าชอบใจบ้าง ไม่น่าชอบใจบ้าง. เธอเกิดความพอใจ ไม่เสียใจด้วยเสนาสนะนั้นแล ยินดีตามที่ได้ โดยที่สุดแม้ลาดด้วยหญ้า. นี้ชื่อว่า ยถาลาภสันโดษในเสนาสนะของเธอ.
               ส่วนภิกษุใดได้เสนาสนะที่ผิด หรือไม่ถูกกับความเจ็บไข้ของตน. เมื่อเธออยู่ก็ไม่มีความผาสุก. ภิกษุนั้นถวายเสนาสนะนั้นแก่ภิกษุผู้ชอบพอกันแล้ว ก็อยู่ในเสนาสนะเป็นที่สบาย อันเป็นของภิกษุนั้น ก็ชื่อว่าเป็นผู้สันโดษ. นี้ชื่อว่า ยถาพลสันโดษในเสนาสนะของเธอ.
               อีกรูปหนึ่งมีบุญมาก ได้เสนาสนะที่ประณีตเป็นอันมากมีถ้ำมณฑปและเรือนยอดเป็นต้น. เธอถวายแก่ภิกษุผู้บวชนาน ผู้พหูสูต ผู้มีลาภน้อยและผู้อาพาธ เหมือนถวายจีวรเป็นต้นเหล่านั้น จึงอยู่ในที่แห่งใดแห่งหนึ่ง ก็ชื่อว่าเป็นผู้สันโดษ. นี้ชื่อว่า ยถาสารุปปสันโดษในเสนาสนะของเธอ.
               แม้ภิกษุสำเหนียกว่า ชื่อว่าเสนาสนะที่อยู่สบายมาก เป็นที่ตั้งแห่งความประมาท เมื่อนั่งในเสนาสนะนั้น ถีนมิทธะครอบงำ อกุศลวิตกย่อมปรากฏแก่เธอผู้ตื่นขึ้น ถูกความหลับครอบงำแล้ว ไม่รับเสนาสนะเช่นนั้นแม้ถึงแก่ตน. เธอห้ามเสนาสนะนั้นแล้ว อยู่ในกลางแจ้งและโคนต้นไม้เป็นต้น ก็ชื่อว่าเป็นผู้สันโดษ. แม้นี้ชื่อว่า ยถาสารุปปสันโดษในเสนาสนะ.
               ส่วนภิกษุในธรรมวินัยนี้ได้เภสัชเศร้าหมองบ้าง ประณีตบ้าง. เธอก็ยินดีด้วยเภสัชซึ่งตนได้เท่านั้น ไม่ปรารถนาเภสัชอื่น ถึงจะได้ก็ไม่รับ. นี้ชื่อว่า ยถาลาภสันโดษในคิลานปัจจัยของเธอ.
               ส่วนภิกษุต้องการน้ำมันได้น้ำอ้อย. เธอถวายน้ำอ้อยนั้นแก่ภิกษุผู้ชอบพอกันแล้ว รับน้ำมันจากมือของภิกษุนั้น หรือแสวงหาน้ำมันอื่นมาทำเภสัช ก็ชื่อว่าเป็นผู้สันโดษ. นี้ชื่อว่า ยถาพลสันโดษในคิลานปัจจัยของเธอ.
               อีกรูปหนึ่งมีบุญมาก ได้เภสัชที่ประณีตมีน้ำมันน้ำผึ้งและน้ำอ้อยเป็นอันมากเป็นต้น. เธอถวายแก่ภิกษุผู้บวชนาน ผู้พหูสูต ผู้มีลาภน้อยและอาพาธ เหมือนถวายจีวร ยังอัตภาพให้เป็นไปด้วยเภสัชอย่างใดอย่างหนึ่งอันตนนำมาสำหรับภิกษุเหล่านั้น ก็ชื่อว่าเป็นผู้สันโดษ.
               ส่วนภิกษุที่วางสมอดองด้วยน้ำมูตรไว้ในภาชนะหนึ่ง วางของหวาน ๔ อย่างไว้ในภาชนะหนึ่ง เมื่อเขาพูดว่า ท่านผู้เจริญ ท่านจงถือเอาตามที่ปรารถนาเถิด หากโรคของเขาระงับได้ด้วยเภสัชเหล่านั้นอย่างใดอย่างหนึ่ง เมื่อเป็นเช่นนั้น จึงห้ามของหวาน ๔ อย่าง ด้วยคิดว่า ชื่อว่าสมอดองน้ำมูตร พระพุทธเจ้าเป็นต้นทรงสรรเสริญ ดังนี้ แล้วทำเภสัชด้วยสมอดองน้ำมูตร ก็ชื่อว่าเป็นผู้สันโดษอย่างยิ่ง. นี้ชื่อว่ายถาสารุปปสันโดษในคิลานปัจจัยของเธอ.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสหมายถึงสันโดษ ๓ เหล่านี้ว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย กัสสปะนี้สันโดษด้วยจีวรตามมีตามได้ คือเป็นผู้สันโดษด้วยจีวรตามที่ได้เป็นต้นอย่างใดอย่างหนึ่ง ด้วยประการฉะนี้.
               บทว่า วณฺณวาที ความว่า ภิกษุรูปหนึ่งเป็นผู้สันโดษ แต่ไม่กล่าวคุณแห่งความสันโดษ. อีกรูปหนึ่งไม่เป็นผู้สันโดษ แต่กล่าวคุณแห่งความสันโดษ. อีกรูปหนึ่ง ทั้งไม่เป็นผู้สันโดษ ทั้งไม่กล่าวคุณแห่งความสันโดษ. อีกรูปหนึ่ง ทั้งเป็นผู้สันโดษ ทั้งกล่าวคุณแห่งความสันโดษ. เพื่อทรงแสดงว่า กัสสปะนี้เป็นผู้เช่นนั้น ดังนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า กัสสปะเป็นผู้มีปกติกล่าวสรรเสริญความสันโดษ ด้วยจีวรตามมีตามได้ ดังนี้.
               บทว่า อเนสนํ ได้แก่ ไม่แสวงหามีประการต่างๆ มีประเภท คือความเป็นทูตส่งข่าว และรับใช้.
               บทว่า อลทฺธา แปลว่า ไม่ได้. อธิบายว่า ภิกษุบางรูปคิดว่า เราจักได้จีวรอย่างไรหนอแล รวมเป็นพวกเดียวกับพวกภิกษุผู้มีบุญ ทำการหลอกลวงอยู่ ย่อมสะดุ้ง หวาดเสียวฉันใด. ภิกษุนี้ไม่ได้จีวรก็สะดุ้งฉะนั้น.
               บทว่า ลทฺธา จ ได้แก่ ได้แล้วโดยธรรม.
               บทว่า อคธิโต ได้แก่ ไม่ติดในความโลภ.
               บทว่า อมุจฺฉิโต ได้แก่ ไม่ถึงความสยบ ด้วยตัณหามีประมาณยิ่ง.
               บทว่า อนชฺฌาปนฺโน ความว่า อันตัณหาท่วมทับไม่ได้ คือโอบรัดไม่ได้.
               บทว่า อาทีนวทสฺสาวี ความว่า เห็นโทษอยู่ในอเนสนาบัติและในการติดการบริโภค.
               บทว่า นิสฺสรณปญฺโญ ท่านกล่าวว่า เพียงเพื่อกำจัดความหนาว. มีอธิบายว่า รู้การสลัดออก จึงใช้สอย.
               แม้ในบทเป็นต้นว่า อิตริตรปิณฺฑปาเตน พึงเห็นเนื้อความอย่างนี้ว่า ด้วยบิณฑบาต เสนาสนะ คิลานปัจจัยเภสัชบริขารอย่างใดอย่างหนึ่งตามที่ได้เป็นต้น.
               ในบทว่า กสฺสเปน วา หิ โว ภิกฺขเว โอวทิสฺสาม นี้ เหมือนพระมหากัสสปเถระ สันโดษด้วยความสันโดษ ๓ ในปัจจัย ๔. ภิกษุเมื่อกล่าวสอนว่า แม้ท่านทั้งหลายจงเป็นอย่างนั้น ชื่อว่ากล่าวสอนตามกัสสป.
               แม้ในบทว่า โย วา ปนสฺส กสฺสปาทิโส นี้ ก็หรือภิกษุใดเช่นกัสสปพึงเป็นผู้สันโดษ ด้วยความสันโดษ ๓ ในปัจจัย ๔ เหมือนพระมหากัสสปเถระ. เมื่อกล่าวสอนว่า แม้ท่านทั้งหลายจงมีรูปอย่างนั้น ชื่อว่าย่อมสอนเช่นกับกัสสป.
               บทว่า ตถตฺตาย ปฏิปชฺชิตพฺพํ ความว่า ชื่อว่าการการกล่าวด้วยความประพฤติและการปฏิบัติขัดเกลา ตามที่กล่าวไว้ในสันตุฏฐิสูตรนี้ เป็นภาระของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า. แต่การบำเพ็ญทำข้อปฏิบัตินี้ให้บริบูรณ์เป็นภาระของพวกเราเหมือนกัน. เธอคิดว่า ก็แล เราควรถือเอาภาระอันมาถึงแล้ว พึงปฏิบัติเพื่อความเป็นอย่างนั้น ตามที่เรากล่าวแล้ว.

               จบอรรถกถาสันตุฏฐสูตรที่ ๑               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา สังยุตตนิกาย นิทานวรรค กัสสปสังยุตต์ สันตุฏฐสูตร จบ.
อ่านอรรถกถา 16 / 1อ่านอรรถกถา 16 / 456อรรถกถา เล่มที่ 16 ข้อ 462อ่านอรรถกถา 16 / 464อ่านอรรถกถา 16 / 725
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=16&A=5112&Z=5150
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=12&A=4044
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=12&A=4044
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๒๙  กันยายน  พ.ศ.  ๒๕๔๙
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :