ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 16 / 1อ่านอรรถกถา 16 / 245อรรถกถา เล่มที่ 16 ข้อ 250อ่านอรรถกถา 16 / 254อ่านอรรถกถา 16 / 725
อรรถกถา สังยุตตนิกาย นิทานวรรค อภิสมัยสังยุตต์ มหาวรรคที่ ๗
นครสูตร

               อรรถกถานครสูตรที่ ๕               
               ในนครสูตรที่ ๕ มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้.
               ในคำว่า นามรูเป โข สติ วิญฺญาณํ นี้ ควรจะกล่าวว่า สงฺขาเรสุ สติ วิญฺญาณํ และว่า วิชฺชาย สติ สงฺขารา แม้คำทั้งสองนั้นท่านก็ไม่กล่าว.
               เพราะเหตุไร.
               เพราะอวิชชาและสังขารเป็นภพที่ ๓ วิปัสสนานี้ไม่เชื่อมกับอวิชชาและสังขารนั้น.
               จริงอยู่ พระมหาบุรุษทรงถือมั่นอย่างยิ่ง ซึ่งปัจจุบันภพ ด้วยอำนาจปัญจโวการภพ (ภพที่มีขันธ์ ๕) แล.
               ถามว่า เมื่อไม่เห็นอวิชชาและสังขาร ก็ไม่อาจเป็นพระพุทธเจ้าได้มิใช่หรือ.
               แก้ว่า จริง ไม่อาจเป็นได้ แต่พระพุทธเจ้านี้ทรงเห็นอวิชชาและสังขารนั้น ด้วยอำนาจภพ อุปาทานและตัณหานั่นเอง เพราะฉะนั้น จึงเปรียบเหมือนบุรุษติดตามเหี้ย เห็นเหี้ยนั้นลงบ่อ ก็ลงไปขุดตรงที่เหี้ยเข้าไป จับเหี้ยได้ก็หลีกไป ไม่ขุดที่ส่วนอื่น.
               เพราะอะไร.
               เพราะไม่มีอะไร ฉันใด แม้พระมหาบุรุษก็ฉันนั้น ประทับนั่ง ณ โพธิบัลลังก์ แสวงหาตั้งแต่ชราและมรณะว่า นี้เป็นปัจจัยของสิ่งนี้ เหมือนบุรุษติดตามเหี้ย ทรงเห็นปัจจัย จนถึงนามธรรมและรูปธรรม เมื่อแสวงหาปัจจัยของนามรูปแม้นั้น ก็ได้เห็นเฉพาะวิญญาณเท่านั้น. แต่นั้นจึงเปลี่ยนเจริญวิปัสสนาว่า ธรรมประมาณเท่านี้ เป็นการดำเนินการพิจารณาด้วยอำนาจปัญจโวการภพ. ปัจจัยคืออวิชชาและสังขารมีอยู่เหมือนที่ตั้งบ่อเปล่าข้างหน้ายังไม่ถูกทำลาย ไม่ทรงยึดถือเอาปัจจัยคืออวิชชาและสังขารนั่นนั้นว่า ไม่ควรพิจารณาแยกเป็นส่วนๆ เพราะวิปัสสนาท่านถือเอาในหนหลังแล้ว.
               บทว่า ปจฺจุทาวตฺตติ ได้แก่ หวนกลับ.
               ถามว่า ก็ในที่นี้วิญญาณชนิดไหนหวนกลับ.
               แก้ว่า ปฏิสนธิวิญญาณก็มี วิปัสสนาวิญญาณก็มี.
               ใน ๒ อย่างนั้น ปฏิสนธิวิญญาณย่อมหวนกลับเพราะปัจจัย วิปัสสนาวิญญาณย่อมหวนกลับเพราะอารมณ์ แม้วิญญาณทั้งสองก็ไม่ล่วงนามรูปไปได้ คือไม่ไปสู่ที่อื่นจากนามรูป.
               ในคำว่า เอตฺตาวตา ชาเยถ วา เป็นต้น มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้ว่า
               เมื่อวิญญาณเป็นปัจจัยแก่นามรูป เมื่อนามรูปเป็นปัจจัยแก่วิญญาณ แม้เมื่อทั้งสองต่างก็เป็นปัจจัยแก่กันและกัน นามรูปพึงเกิดหรือพึงเข้าถึงด้วยเหตุเพียงเท่านี้. เบื้องหน้าแต่นี้ นามรูปอย่างอื่นอันใดอันหนึ่งจะพึงเกิดหรือพึงเข้าถึงเล่า นามรูปนั้นนั่นแล ย่อมเกิดและย่อมเข้าถึงมิใช่หรือ. ครั้นทรงแสดงบททั้งห้า พร้อมด้วยการจุติและปฏิสนธิแล้วๆ เล่าๆ อย่างนี้แล้ว เมื่อจะทรงย้ำเนื้อความนั้นว่า เอตฺตาวตา อีก จึงตรัสว่า คือวิญญาณมีเพราะนามรูปเป็นปัจจัย นามรูปมีเพราะวิญญาณเป็นปัจจัยนั้น เพื่อจะแสดงชาติชราและมรณะในอนาคตซึ่งมีนามรูปเป็นมูล เพราะวิญญาณเป็นปัจจัย ด้วยอำนาจปัจจยาการโดยอนุโลม จึงตรัสคำมีอาทิว่า นามรูปปจฺจยา สฬายตนํ ดังนี้.
               บทว่า อญฺชสํ เป็นไวพจน์แห่งมรรคนั่นเอง.
               บทว่า อุทาปคตํ ได้แก่ ประกอบด้วยวัตถุคือกำแพง อันได้โวหารว่าอาปคตะเพราะยกขึ้นจากบ่อน้ำ.
               บทว่า รมณียํ ได้แก่ เป็นที่รื่นรมย์ด้วยความพร้อมมูลแห่งประตูทั้ง ๔ โดยรอบ และสิ่งของต่างๆ ในภายใน.
               บทว่า มาเปหิ ความว่า จงส่งมหาชนไปให้อยู่กัน.
               บทว่า มาเปยฺย ความว่า พึงให้ทำการอยู่กัน.
               จริงอยู่ เมื่อสร้างเมืองพึงส่งคน ๑๘ โกฏิไปก่อนแล้วตรัสถามว่าเต็มดีแล้วหรือ เมื่อเขาทูลว่ายังไม่เต็ม จึงส่งตระกูล ๕ ตระกูลอื่นอีกไปแล้ว ครั้นตรัสถามอีก เมื่อเขาทูลว่ายังไม่เต็ม จึงส่งตระกูล ๕๕ ตระกูลอื่นอีกไป ครั้นถามอีก เมื่อเขาทูลว่ายังไม่เต็ม จึงส่งตระกูล ๓๐ ตระกูลอื่นอีกไป ครั้นตรัสถามอีก เมื่อเขาทูลว่ายังไม่เต็ม จึงส่งตระกูล ๑,๐๐๐ ตระกูลอื่นอีกไป ครั้นตรัสถามอีก เมื่อเขาทูลว่ายังไม่เต็ม จึงส่งตระกูล ๑๑ นหุตตระกูลอื่นอีกไป ครั้นตรัสถามอีก เมื่อเขาทูลว่ายังไม่เต็มจึงส่งตระกูล ๘๔,๐๐๐ ตระกูลอื่นอีกไป เมื่อตรัสถามอีกว่าเต็มแล้วหรือ จึงทูลว่า ข้าแต่มหาราชเจ้า ตรัสอะไร นครออกใหญ่ ไม่คับแคบ ไม่ทรงสามารถจะส่งตระกูลไปให้เต็มโดยนัยนี้ได้ พึงรับสั่งให้ตีกลองร้องประกาศว่า นครของเราสมบูรณ์ด้วยสมบัตินี้และนี้ ผู้ที่ปรารถนาจะอยู่ในที่นั้นจงไปตามสบายเถิด และจักได้รับบริหารอย่างนี้และอย่างนี้ พึงสั่งว่า พวกท่านจงให้ป่าวร้องสรรเสริญคุณแห่งนครและการได้รับการบริหารลาภอย่างนี้และอย่างนี้. เขาพึงทำอย่างนั้น.
               ลำดับนั้น คนทั้งหลายได้ยินคุณค่าของนคร และการได้รับการบริหารจากทุกทิศก็มารวมกันทำนครให้เต็ม. สมัยต่อมา นครนั้นอุ่นหนาฝาคั่งแพร่หลาย ท่านหมายเอาข้อนั้น ดังกล่าวไว้ว่า นครของพระองค์นั้น ครั้นสมัยต่อมาอุ่นหนาฝาคั่งแพร่หลาย ดังนี้เป็นต้น.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อิทฺธํ ได้แก่ มั่งคั่ง ข้าวปลาหาได้ง่าย.
               บทว่า ผีตํ ได้แก่ เจริญด้วยสมบัติทุกอย่าง.
               บทว่า พหุชญฺญํ แปลว่า อันบุคคลหมู่มากพึงรู้ หรือเป็นประโยชน์แก่ชนหมู่มาก.
               บทว่า อากิณฺณมนุสฺสํ ได้แก่ มีมนุษย์เกลื่อนกล่น คืออยู่กันยัดเยียด.
               บทว่า วุฑฺฒิเวปุลฺลปฺปตฺตํ ได้แก่ ถึงความเจริญและถึงความไพบูลย์ คือถึงความเป็นนครประเสริฐ และถึงความไพบูลย์. อธิบายว่า เป็นนครเลิศในหมื่นจักรวาล.
               ในบทว่า เอวเมว โข นี้ มีการเปรียบเทียบโดยอุปมาดังต่อไปนี้.
               ก็พระมหาบุรุษผู้บำเพ็ญพระบารมี จำเดิมแต่บาทมูลแห่งพระพุทธเจ้าทีปังกร พึงเห็นเหมือนบุรุษผู้ท่องเที่ยวอยู่ในป่าใหญ่ การเห็นมรรคอันสัมปยุตด้วยวิปัสสนา ประกอบด้วยองค์ ๘ ในส่วนเบื้องต้นแห่งพระมหาสัตว์ผู้ประทับนั่ง ณ โพธิบัลลังก์โดยลำดับ พึงเห็นเหมือนการที่บุรุษเห็นหนทางที่เหล่ามนุษย์แต่ก่อนเดิมกันมาแล้ว การที่พระมหาสัตว์เห็นโลกุตรมรรค ที่สุดแห่งวิปัสสนาเบื้องสูง ที่พระองค์เคยประพฤติมา พึงเห็นเหมือนการที่บุรุษกำลังเดินทางที่เดินไปได้ผู้เดียวนั้น เห็นหนทางใหญ่ภายหลัง, การที่พระตถาคตทรงเห็นนครคือพระนิพพาน พึงเห็นเหมือนบุรุษเดินทางนั้นไปเห็นหนทางข้างหน้า
               แต่ในอุปมาเหล่านี้ นครภายนอกคนอื่นเห็น คนอื่นสร้างให้เป็นที่อยู่ของมนุษย์. พระนครคือพระนิพพาน พระศาสดาทรงเห็นเอง ทรงกระทำให้เป็นที่อยู่ด้วยพระองค์เอง เวลาที่พระตถาคตทรงเห็นมรรค ๔ เหมือนบุรุษนั้นเห็นประตูทั้ง ๔, เวลาที่พระตถาคตเสด็จสู่พระนิพพานโดยมรรค ๔ เหมือนบุรุษนั้นเข้าไปสู่พระนครโดยประตูทั้ง ๔, เวลาที่พระตถาคตทรงกำหนดกุศลธรรมดากว่า ๕๐ ด้วยปัจจเวกขณญาณ เหมือนเวลาที่บุรุษนั้นกำหนดสิ่งของในภายในพระนคร, เวลาที่พระศาสดาเสด็จออกจากผลสมาบัติแล้วตรวจดูเวไนยสัตว์ เหมือนเวลาที่บุรุษนั้นแสวงหาตระกูล เพื่อทำให้เป็นที่อยู่อาศัยของนคร,
               เวลาที่พระผู้มีพระภาคเจ้าอันมหาพรหมทูลอาราธนา ทรงเห็นพระอัญญาโกณฑัญเถระ เหมือนเวลาที่พระราชาผู้อันบุรุษนั้นทูลให้ทรงทราบได้ทรงเห็นกุฏุมพีใหญ่ผู้หนึ่ง, เวลาที่พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จไปสู่ทาง ๑๘ โยชน์ในปัจฉาภัตวันหนึ่ง แล้วเสด็จไปยังป่าอิสิปมฤคทายวัน กรุงพาราณสี แล้วทรงแสดงธรรม ทำพระเถระให้เป็นกายสักขี ในวันอาสาฬหบูรณมี เหมือนเวลาที่พระราชารับสั่งให้เรียกกุฏุมพีผู้ใหญ่มาแล้วส่งไปด้วยพระดำรัสว่า จงสร้างพระนครให้บริบูรณ์ เวลาเมื่อพระตถาคตทรงยังธรรมจักรให้เป็นไป ให้พระเถระดำรงอยู่ในโสดาปัตติผล เหมือนเวลาที่กุฏุมพีผู้ใหญ่พาคน ๑๘ โกฏิเข้าอยู่อาศัยพระนคร พระองค์ตรัสนครนั้นให้เป็นนครคือพระนิพพานอย่างนี้ก่อน.
               ต่อแต่นั้นได้ตรัสถามว่า นครสมบูรณ์หรือ เมื่อบุรุษนั้นกราบทูลว่า ยังไม่สมบูรณ์ก่อน เวลาที่พระตถาคตทรงแสดงอนัตตลักขณสูตรเป็นต้น ตั้งแต่วันที่ ๕ (แรม ๕ ค่ำ เดือน ๘ ปีแรกที่ตรัสรู้) ทรงทำชนประมาณเท่านี้ คือ ตั้งต้นแต่พระปัญจวัคคีย์ กุลบุตร ๕๕ คนมียสกุลบุตรเป็นประมุข ภัททวัคคีย์ ๓๐ ชฏิลเก่า ๑,๐๐๐ ชาวราชคฤห์ ๑๑ นหุตมีพระเจ้าพิมพิสารเป็นประมุข สัตว์ ๘๔,๐๐๐ คราวอนุโมทนาด้วยติโรกุฑฑสูตร ให้หยั่งลงสู่อริยมรรคแล้วทรงส่งเข้านครคือพระนิพพาน เหมือนส่งตระกูล ๕ ตระกูลเป็นต้นจนถึง ๘๔,๐๐๐ ตระกูล.
               เมื่อเป็นเช่นนั้น โดยนัยนั้น การที่พระธรรมกถึกนั่งประกาศคุณของพระนิพพาน และอานิสงส์แห่งการละทิ้งชาติกันดารเป็นต้น ของผู้บรรลุพระนิพพาน ในที่นั้นๆ เดือนละ ๘ วัน เหมือนเมื่อนครยังไม่เต็ม ก็ตีกลองป่าวประกาศคุณของนคร และเหมือนประกาศลาภที่หลั่งไหลมาของตระกูลทั้งหลาย ต่อแต่นั้นพึงเห็นกุลบุตรทั้งหลายหาประมาณมิได้ ฟังธรรมกถาในที่นั้นๆ แล้วออกจากตระกูลนั้น เริ่มต้นบรรพชาปฏิบัติอนุโลมปฏิปทารวมลงที่พระนิพพาน เหมือนมนุษย์ทั้งหลายมาจากทุกทิศ รวมลงที่นคร.
               บทว่า ปุราณมคฺคํ ได้แก่ อริยมรรคมีองค์ ๘.
               จริงอยู่ อริยมรรคนี้ ในปวารณสูตรท่านกล่าวว่า อนุปฺปนฺนมคฺโค ด้วยอรรถว่าไม่เป็นไป ในสูตรนี้ท่านกล่าวว่า ปุราณมคฺโค ด้วยอรรถว่าไม่ใช้สอย.
               บทว่า พฺรหฺมจริยํ ได้แก่ คำสอนทั้งสิ้นซึ่งสงเคราะห์ด้วยสิกขา ๓.
               บทว่า อิทฺธํ ได้แก่ เจริญคือมีภิกษาหาง่าย ด้วยความยินดีในฌาน.
               บทว่า ผีตํ ได้แก่ แพร่หลายด้วยเหตุคืออภิญญา.
               บทว่า วิตฺถาริกํ ได้แก่ กว้างขวาง.
               บทว่า พหุชญฺญํ ได้แก่ ชนส่วนมากรู้แจ้ง.
               บทว่า ยาวเทวมนุสฺสเสหิ สุปกาสิตํ ความว่า พระตถาคตทรงประกาศดีแล้ว คือทรงแสดงดีแล้วในระหว่างนี้ ตลอดถึงพวกเทวดาและมนุษย์ทั้งหลายที่มีกำหนดในหมื่นจักรวาลแล.

               จบอรรถกถานครสูตรที่ ๕               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา สังยุตตนิกาย นิทานวรรค อภิสมัยสังยุตต์ มหาวรรคที่ ๗ นครสูตร จบ.
อ่านอรรถกถา 16 / 1อ่านอรรถกถา 16 / 245อรรถกถา เล่มที่ 16 ข้อ 250อ่านอรรถกถา 16 / 254อ่านอรรถกถา 16 / 725
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=16&A=2780&Z=2854
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=12&A=2916
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=12&A=2916
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๒๙  กันยายน  พ.ศ.  ๒๕๔๙
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :