ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 15 / 1อ่านอรรถกถา 15 / 920อรรถกถา เล่มที่ 15 ข้อ 922อ่านอรรถกถา 15 / 925อ่านอรรถกถา 15 / 956
อรรถกถา สังยุตตนิกาย สคาถวรรค สักกสังยุต ทุติยวรรคที่ ๒
ยชมานสูตรที่ ๖

               อรรถกถายชมานสูตรที่ ๖               
               พึงทราบวินิจฉัยในยชมานสูตรที่ ๖ ต่อไปนี้ :-
               บทว่า ยชมานํ แปลว่า บูชาอยู่.
               มีเรื่องเล่าว่า ในครั้งนั้น พวกชาวอังคะและมคธะ ได้ถือเอาเนยใส น้ำผึ้งและน้ำอ้อยเป็นต้นอย่างเลิศเป็นประจำปี เอาฟืนบรรทุกเกวียนประมาณ ๖๐ เล่ม กองสุมไว้ในที่แห่งหนึ่งแล้วก่อไฟ ขณะที่ไฟลุก ใส่ของเลิศทั้งหมดนั้นด้วยหมายว่า พวกเราจะบูชาท้าวมหาพรหม.
               นัยว่าเป็นความเชื่อถือของพวกเขาว่า ใส่ลงไปครั้งหนึ่งจะให้ผลแสนเท่า.
               ท้าวสักกเทวราชดำริว่า พวกคนทั้งหมดนี้ถือเอาของเลิศทั้งปวงเผาในไฟ ด้วยหมายว่า พวกเราจะบูชาท้าวมหาพรหม ทำสิ่งไร้ผล เมื่อเราเห็นอยู่ พวกเขาอย่าได้พินาศเสียเลย เราจักกระทำโดยที่ให้พวกเขาถวายแด่พระพุทธเจ้าและพระสงฆ์เท่านั้น แล้วจะประสบบุญมากดังนี้.
               เมื่อพวกคนทำกองฟืนให้โชติช่วง แลดูอยู่ จึงทรงแปลงเป็นพรหมในวัน ๑๕ ค่ำ. เมื่อมหาชนแลดูอยู่นั่นเอง ได้ทำเป็นเหมือนแหวกจันทมณฑลออกไป.
               มหาชนครั้นเห็นแล้ว ต่างก็คิดว่า ท้าวมหาพรหมเสด็จมารับเครื่องบูชานี้ จึงคุกเข่าลงกับพื้น ประคองอัญชลี นอบน้อมอยู่. พวกพราหมณ์กล่าวว่า พวกท่านสำคัญว่าเราพูดเล่นหรือ บัดนี้พวกท่านจงดูซิ พระพรหมองค์นี้มารับเครื่องบูชาของพวกเราด้วยมือตนเอง.
               ท้าวสักกะเสด็จมายืนอยู่บนอากาศ เบื้องบนกองฟืน ตรัสถามว่า สักการะนี้เพื่อใครกัน. มีคนทูลว่า ข้าแต่ท้าวมหาพรหมผู้เจริญ เพื่อพระองค์นี้ซิ ขอพระองค์จงทรงรับเครื่องบูชาของพวกข้าพเจ้าเถิด.
               มหาพรหมตรัสว่า ถ้ากระนั้น พวกท่านจงมา อย่าทิ้งเครื่องชั่งเสียแล้วชั่งด้วยมือ พระศาสดาประทับอยู่ที่วิหารใกล้ๆ พวกเราจักทูลถามพระองค์ว่า ให้ทานแก่ใคร จึงจะมีผลมากดังนี้. ท้าวสักกะทรงพาพวกชาวแคว้นทั้งสองไปเฝ้าพระศาสดา เมื่อจะทูลถามจึงตรัสอย่างนี้.
               ในบทเหล่านั้น บทว่า ปุญฺญเปกฺขานํ ได้แก่ ปรารถนาบุญ คือมีความต้องการบุญ.
               บทว่า โอปธิกํ ปุญฺญํ ได้แก่ บุญมีอุปธิเป็นวิบาก.
               บทว่า สํเฆ ทินฺนํ มหปฺผลํ ความว่า ทานที่ถวายในพระอริยสงฆ์ ย่อมมีผลกว้างขวาง.
               เมื่อเทศน์จบ ชนแปดหมื่นสี่พันได้ดื่มน้ำคืออมฤตธรรม. ตั้งแต่นั้นมา พวกคนได้พากันถวายทานอันเลิศทั้งปวงแก่ภิกษุสงฆ์.

               จบอรรถกถายชมานสูตรที่ ๖               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา สังยุตตนิกาย สคาถวรรค สักกสังยุต ทุติยวรรคที่ ๒ ยชมานสูตรที่ ๖ จบ.
อ่านอรรถกถา 15 / 1อ่านอรรถกถา 15 / 920อรรถกถา เล่มที่ 15 ข้อ 922อ่านอรรถกถา 15 / 925อ่านอรรถกถา 15 / 956
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=15&A=7511&Z=7524
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=11&A=8605
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=11&A=8605
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๒๘  กันยายน  พ.ศ.  ๒๕๔๙
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :