ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 15 / 1อ่านอรรถกถา 15 / 838อรรถกถา เล่มที่ 15 ข้อ 847อ่านอรรถกถา 15 / 855อ่านอรรถกถา 15 / 956
อรรถกถา สังยุตตนิกาย สคาถวรรค สักกสังยุต ปฐมวรรคที่ ๑
สุวีรสูตรที่ ๑

               สักกสังยุตตวัณณนา               
               ปฐมวรรคที่ ๑               
               อรรถกถาสุวีรสูตรที่ ๑               
               พึงทราบวินิจฉัยในสุวีรสูตรที่ ๑ แห่งวรรคที่ ๑ ต่อไปนี้ :-
               บทว่า อภิยํสุ คือ เตรียมไปต่อสู้. มีกำลังเมื่อใด.
               ในสูตรนั้นมีอนุบุพพิกถาดังนี้
               ได้ยินว่า ท้าวสักกะเป็นมาณพชื่อมฆะ ในอจลคาม ในแคว้นมคธ พาบุรุษ ๓๐ คนทำกัลยาณกรรมบำเพ็ญวัตรบท ๗ ทำกาละในที่นั้นแล้วไปเกิดในเทวโลก. เทวดาพวกเก่าเจ้าถิ่นเห็นมฆมาณพนั้นพร้อมด้วยบริษัท ประกอบไปด้วยฐานะ ๑๐ ด้วยอานุภาพแห่งกรรมอันแรงกล้า คิดว่า เทวบุตรผู้เป็นอาคันตุกะมาแล้ว จึงเตรียมน้ำคันธบานเพื่อดื่ม.
               ท้าวสักกะได้ให้คำเตือนแก่บริษัทบริวารของตนว่า ดูก่อนผู้นิรทุกข์ อย่าดื่มน้ำคันธบาน จงแสดงเพียงอาการดื่มเท่านั้น. พวกเขาได้ทำอย่างนั้น. เทวบุตรเจ้าถิ่นดื่มน้ำคันธบานที่เขานำเข้าไปให้ด้วยจอกทองตามต้องการ เมาล้มลงนอนอยู่บนแผ่นดินทองนั้นๆ.
               ท้าวสักกะกล่าวว่า จงจับพร้อมทั้งแม่ทั้งลูกไปดังนี้แล้ว จับที่เท้าขว้างไปที่เชิงภูเขาสิเนรุ. เทวบุตรทั้งปวงแม้ยังเป็นอยู่อย่างนั้น ก็ไปตกลงในที่นั้น ด้วยเดชแห่งบุญของท้าวสักกะ. เทวบุตรเหล่านั้นได้ความรู้สึกตัวในเวลาที่อยู่กลางภูเขาสิเนรุ จึงกล่าวว่า พวกเราไม่ดื่มสุราละพ่อ. จำเดิมแต่นั้น จึงได้ชื่อว่า อสูร. ภายหลังแดนอสุรมีประมาณหมื่นโยชน์ ซึ่งตั้งขึ้นตามฤดู เพราะปัจจัยแห่งกรรมของพวกเขา ก็เกิดขึ้นในพื้นภายใต้แห่งภูเขาสิเนรุ. ท้าวสักกะตั้งอารักขาเพื่อต้องการไม่ให้เทวบุตรเหล่านั้นกลับมา.
               ท่านกล่าวหมายความว่า
                         การคุ้มครองรักษา ๕ อย่าง ตั้งอยู่ในระหว่างเมือง
                         ที่ไม่มีใครรบได้ทั้งสอง คือ นาค ครุฑ กุมภัณฑ์
                         ยักษ์และมหาราชทั้ง ๔.
               จริงอยู่ เมืองทั้งสองคือ เทวนครและอสุรนคร ชื่อว่า เป็นเมืองที่ไม่มีใครรบได้ ก็เพราะเป็นเมืองที่ไม่อาจถูกยึดเอาด้วยการรบ ก็แล คราวใดพวกอสูรมีกำลัง คราวนั้นเมื่อประตูถูกพวกเทวดาหนีเข้าไปสู่เมืองและปิดเสียแล้ว แม้พวกอสูรตั้งแสนก็ไม่อาจจะทำอะไรได้. คราวใดพวกเทวดามีกำลัง คราวนั้นเมื่อประตูถูกพวกอสูรหนีเข้าไป ปิดเสียแล้ว แม้พวกท้าวสักกะตั้งแสนก็ไม่อาจจะทำอะไรได้. เมืองทั้ง ๒ นี้ จึงชื่อว่ากรุงอยุธยา ด้วยประการฉะนี้.
               ท้าวสักกะตั้งอารักขาไว้ในที่ ๕ แห่งมีนาคเป็นต้นนี้ ระหว่างเมืองทั้ง ๒ นั้น ในสถานที่ ๕ แห่ง. ในที่นั้น พวกนาค ท่านถือเอาด้วยศัพท์ว่า น้ำ. จริงอยู่ พวกนาคนั้นมีกำลังอยู่ในน้ำ. การป้องกันของพวกนาคนั้นอยู่ที่แนวที่ ๑ แห่งภูเขาสิเนรุนั้น.
               พวกครุฑถือเอาด้วยศัพท์ว่า กโรฏิ. ได้ยินว่า น้ำและข้าวของพวกครุฑนั้นชื่อ กโรฏิ. พวกครุฑได้ชื่อตามน้ำและข้าวนั้น. การป้องกันของพวกครุฑนั้นอยู่ที่แนวที่ ๒.
               พวกกุมภัณฑ์ถือเอาด้วยศัพท์ว่า ปยสฺสุกริ. ได้ยินว่า พวกกุมภัณฑ์นั้นเป็นพวกทานพและรากษส. การป้องกันของพวกนี้อยู่ที่แนวที่ ๓.
               พวกยักษ์ถือเอาด้วยศัพท์ว่า ทมนยุทธ์. ได้ยินว่า พวกยักษ์นั้นเป็นนักรบกองโจร. การป้องกันของพวกยักษ์นี้อยู่ที่แนวที่ ๔.
               บทว่า จตุโร จ มหตฺถา คือ มหาราชทั้ง ๔ ที่กล่าวแล้ว.
               การป้องกันของมหาราชเหล่านี้อยู่ที่แนวที่ ๕. เพราะฉะนั้น ถ้าพวกอสูรโกรธ มีใจขุ่นมัว เข้าไปบุกรุกเมืองของพวกเทวดา ในการรบ. ที่ใดเป็นขอบเขตแรกแห่งภูเขา พวกนาคย่อมป้องกันที่นั้น. พวกอื่นที่ยังเหลือก็ป้องกันที่อื่นที่ยังเหลือ.
               ก็แล พวกอสูรนั้นเช่นเดียวกับเทวดาชั้นดาวดึงส์ ด้วยสมบัติคืออายุ ผิวพรรณ เกียรติยศและความเป็นใหญ่. เพราะฉะนั้น พวกเขาจึงไม่รู้ตัว ในระหว่างเมื่อดอกแคฝอยบานจึงรู้ว่า นี่ไม่ใช่เมืองของเทวดา ดอกปาริฉัตรบานในเมืองของเทวดานั้น แต่ในที่นี้มีต้นแคฝอย พวกเราถูกพวกสักกะแก่หลอกลวงให้ดื่มสุรา ก็แลเราจะไปยังเทวนคร พวกเราจักยึดไว้ เราจักรบกับเทวนครนั้น ดังนี้แล้ว ขึ้นช้างม้าและรถ จัดทองเงินแก้วมณีและแก้วผลึก เตรียมรบ ลั่นกลองอสูร แยกน้ำในมหาสมุทรออกเป็น ๒ ส่วน เตรียมพร้อมอยู่. พวกอสูรนั้นเริ่มขึ้นภูเขาสิเนรุ คล้ายแมลงเม่าขึ้นจอมปลวกเมื่อฝนตก.
               ในเวลานั้น พวกอสูรนั้นรบกับพวกนาคเป็นครั้งแรก. ก็ในการรบนั้น ผิวหรือหนังของใครๆ ไม่ขาด เลือดก็ไม่ออก เป็นเพียงยังกันและกันให้ร้อน เหมือนพวกเด็กเอาแพะไม้ชนกันอย่างเดียวเท่านั้น. พวกนาคตั้งร้อยโกฏิ พันโกฏิรบกับพวกอสูรนั้น ขับไล่พวกอสูรนั้นไปสู่เมืองอสูรแล้วกลับมา.
               ก็เมื่อใดพวกอสูรมีกำลัง เมื่อนั้นพวกนาคก็ล่าถอยไปร่วมกับพวกครุฑ รบในแนวที่ ๒. แม้ในครุฑเป็นต้นก็นัยอย่างนี้. แต่เมื่อใดพวกอสูรเหยียบย่ำที่ทั้ง ๕ แห่งนั้นได้ เมื่อนั้น ๕ กองพลล่าถอยลงมารวมเป็นอันเดียวกัน.
               ทีนั้น มหาราชทั้ง ๔ จึงไปกราบทูลความเป็นไปแก่ท้าวสักกะ. ท้าวสักกะฟังคำกราบทูลของมหาราชนั้นแล้ว จึงเสด็จขึ้นเวชยันตรถ ๑๕๐ โยชน์ออกไปเอง หรือส่งพระโอรสองค์หนึ่งไป.
               ก็แลในเวลานั้น ท้าวสักกะผู้ต้องการจะส่งพระโอรสไป จึงกล่าวคำเป็นต้นว่า ดูก่อนพ่อสุวีระ ดังนี้.
               บทว่า เอวํ ภทฺทนฺตวาติ โข ความว่า (สุวีรเทวบุตรกล่าวว่า) ได้ พระเจ้าข้า ดังนี้แล.
               บทว่า ปมาทํ อาปาเทสิ แปลว่า ได้ทำความประมาท. อธิบายว่า สุวีรเทวบุตรมีนางอัปสรพันหนึ่งแวดล้อม ลงสู่ถนนใหญ่สำเร็จด้วยทองยาว ๖๐ โยชน์ เที่ยวเล่นนักษัตรอยู่ในสวนนันทนวันเป็นต้น.
               บทว่า อนุฏฺฐหํ แปลว่า ไม่ขยัน.
               บทว่า อวายามํ แปลว่า ไม่พยายาม.
               บทว่า อลสฺวายํ ตัดบทว่า อลโส อยํ แปลว่า นี้ เกียจคร้าน.
               บทว่า น จ กิจฺจานิ การเย แปลว่า ไม่กระทำกิจอะไรๆ.
               บทว่า สพฺพกามสมิทฺธสฺส แปลว่า พึงเป็นผู้สำเร็จด้วยกามคุณทั้งปวง.
               บทว่า ตมฺเม สกฺก วรํ ทิส ความว่า สุวีรเทวบุตรกล่าวว่า ข้าแต่ท้าวสักกะผู้ประเสริฐสุดของพวกเทวะ โปรดแจ้ง คือบอกกล่าวซึ่งสิ่งประเสริฐ คือฐานะอันสูงสุด โอกาสนั้นแก่ข้าพเจ้า.
               บทว่า นิพฺพานสฺส หิ โส มคฺโค ความว่า ทางแห่งนิพพาน ชื่อว่าฐานะที่ไม่ทำกรรมเป็นอยู่.

               จบอรรถกถาสุวีรสูตรที่ ๑               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา สังยุตตนิกาย สคาถวรรค สักกสังยุต ปฐมวรรคที่ ๑ สุวีรสูตรที่ ๑ จบ.
อ่านอรรถกถา 15 / 1อ่านอรรถกถา 15 / 838อรรถกถา เล่มที่ 15 ข้อ 847อ่านอรรถกถา 15 / 855อ่านอรรถกถา 15 / 956
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=15&A=6944&Z=6998
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=11&A=8281
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=11&A=8281
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๒๘  กันยายน  พ.ศ.  ๒๕๔๙
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :