ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 15 / 1อ่านอรรถกถา 15 / 778อรรถกถา เล่มที่ 15 ข้อ 780อ่านอรรถกถา 15 / 783อ่านอรรถกถา 15 / 956
อรรถกถา สังยุตตนิกาย สคาถวรรค วนสังยุต
กุลฆรณีสูตรที่ ๘

               อรรถกถากุลฆรณีสูตรที่ ๘               
               พึงทราบวินิจฉัยในกุลฆรณีสูตรที่ ๘ ต่อไปนี้ :-
               บทว่า อชฺโฌคาฬฺหปฺปตฺโต แปลว่า ถึงความคลุกคลี.
               ได้ยินว่า ภิกษุนั้นเรียนกัมมัฏฐานในสำนักพระศาสดาแล้วเข้าไปสู่ราวป่า เข้าไปบิณฑบาตยังหมู่บ้านในวันที่ ๒ ด้วยมรรยาทที่น่าเลื่อมใสงดงาม บางตระกูลเลื่อมใสในอิริยาบถของท่าน กราบไหว้ด้วยเบญจางคประดิษฐ์แล้ว ถวายบิณฑบาต.
               ก็แล เขาได้ฟังภัตตานุโมทนาแล้วก็เลื่อมใสยิ่งขึ้น นิมนต์ว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ นิมนต์รับภิกษาในที่นี้ตลอดเวลาเป็นนิตย์เถิด. พระเถระนั้นรับแล้ว เมื่อบริโภคอาหารของเขาก็ประคองความเพียร พากเพียรจนบรรลุพระอรหัตแล้ว คิดว่า ตระกูลนี้มีอุปการะแก่เรามาก เราจะไปในที่อื่นทำไม ดังนี้ จึงเสวยความสุขแห่งผลสมาบัติอยู่ในที่นั้น.
               บทว่า อชฺฌภาสิ ความว่า ได้ยินว่า เทพธิดานั้นไม่รู้ว่าพระเถระเป็นพระขีณาสพ จึงคิดว่า พระเถระนี้ไม่ไปบ้านอื่น ไม่ไปเรือนอื่น ไม่นั่งในที่อื่นมีโคนต้นไม้และหอฉันเป็นต้น เข้าไปนั่งยังเรือนเดียวตลอดกาลเป็นนิตย์ ก็แลทั้ง ๒ ท่านนี้ถึงความคลุกคลี บางทีภิกษุนี้จะพึงประทุษร้ายตระกูลนี้ เราจักเตือนภิกษุนั้น ดังนี้ เพราะฉะนั้นจึงกล่าว.
               บทว่า สณฺฐาเน ความว่า ในที่ใกล้ประตูเมืองซึ่งคนทิ้งสิ่งของไว้ระเกะระกะ.
               บทว่า สงฺคมฺม แปลว่า มาประชุมกัน.
               บทว่า มนฺเตนฺติ แปลว่า พูดกัน.
               บทว่า มญฺจ ตญฺจ แปลว่า กล่าวกะเราด้วย กล่าวกะเขาด้วย.
               บทว่า กิมนฺตรํ แปลว่า เพราะเหตุไร.
               บทว่า พหู หิ สทฺทา ปจฺจูหา ความว่า เสียงที่เป็นข้าศึกเหล่านี้มีมากในโลก.
               บทว่า น เตน แปลว่า เพราะเหตุนั้น หรืออันผู้มีตบะนั้นไม่พึงเก้อเขิน.
               บทว่า น หิ เตน ความว่า ก็สัตว์จักเศร้าหมองเพราะคำที่คนอื่นกล่าวแล้วนั้นก็หาไม่. เทวดานั้นแสดงว่า ก็จักเศร้าหมองด้วยบาปกรรมที่ตนเห็นแล้วเอง.
               บทว่า วาตมิโค ยถา ความว่า เนื้อสมันในป่าย่อมสะดุ้งด้วยเสียงแห่งใบไม้เป็นต้นที่ถูกลมพัดฉันใด เขาชื่อว่าเป็นผู้สะดุ้งด้วยเสียงนั้นฉันนั้น.
               บทว่า นาสฺส สมฺปชฺชเต ความว่า วัตรของผู้มีจิตเบานั้น ย่อมไม่สมบูรณ์.
               ก็แล พึงทราบว่า พระเถระมีวัตรบริบูรณ์แล้ว เพราะเป็นพระขีณาสพ.

               จบอรรถกถากุลฆรณีสูตรที่ ๘               
               -----------------------------------------------------               

               ๘. กุลฆรณีสุตตวัณณนา [ฉบับมหาจุฬาฯ]               
               พรรณนาพระสูตรว่าด้วยหญิงแม่เรือนในตระกูล               
               [๒๒๘] ในพระสูตรที่ ๘ บัณฑิตพึงทราบวินิจฉัยดังต่อไปนี้
               คำว่า ไปคลุกคลี (อชฺโฌคาฬฺหปฺปตฺโต) ได้แก่ ถึงความคลุกคลี
               ได้ยินว่า ภิกษุนั้นเรียนกัมมัฏฐานในสำนักพระศาสดาแล้วเข้าไปสู่ราวป่า เข้าไปบิณฑบาตยังหมู่บ้านในวันที่ ๒ ด้วยอาการทั้งหลายมีความงดงามเป็นต้นอันน่าเลื่อมใส บางตระกูลเลื่อมใสในอิริยาบถของท่าน กราบไหว้ด้วยเบญจางคประดิษฐ์แล้วถวายบิณฑบาต ก็แลเขาได้ฟังภัตตานุโมทนาแล้ว ก็เลื่อมใสยิ่งขึ้น จึงนิมนต์ว่า "ข้าแต่ท่านผู้เจริญ นิมนต์รับภิกษาในที่นี้ตลอดกาลเป็นนิตย์เถิด"
               พระเถระนั้นรับแล้ว เมื่อบริโภคอาหารของเขาก็ประคองความเพียร พากเพียรจนบรรลุอรหัตตผล แล้วคิดว่า "ตระกูลนี้มีอุปการะแก่เรามาก เราจะไปในที่อื่นทำไม" จึงเสวยความสุขแห่งผลสมาบัติอยู่ในที่นั้น
               คำว่า ได้กล่าว (อชฺฌภาสิ) ความว่า ได้ยินว่า เทวดานั้นไม่รู้ว่า พระเถระเป็นพระขีณาสพ จึงคิดว่า "พระเถระนี้ไม่ไปบ้านอื่น ไม่ไปเรือนอื่น ไม่นั่งในที่อื่นมีโคนต้นไม้และหอฉันเป็นต้น เข้าไปนั่งยังเรือนเดียวตลอดกาลเป็นนิตย์ ก็แลทั้ง ๒ ท่านนี้ ถึงความคลุกคลี ต่างคนต่างก็มีความคุ้นเคยกันเป็นการเฉพาะ บางทีภิกษุนี้จะพึงประทุษร้ายตระกูลนี้ เราจักเตือนภิกษุนั้น" ดังนี้ เพราะฉะนั้น จึงได้กล่าวแล้ว
               คำว่า ในศาลาที่พัก (สณฺฐาเน) ความว่า ในที่ใกล้ประตูเมืองซึ่งคนทิ้งสิ่งของไว้ระเกะระกะ
               คำว่า ต่างประชุมกัน (สงฺคมฺม) ได้แก่ มาประชุมกัน
               คำว่า สนทนากัน (มนฺเตนฺติ) ได้แก่ พูดกัน
               คำว่า ถึงดิฉันและท่าน (มญฺจ ตญฺจ) ได้แก่ ต่างพูดถึงดิฉันและต่างพูดถึงท่าน
               คำว่า อย่างไรหนอ (กิมนฺตรํ) ได้แก่ เพราะเหตุไร
               คำว่า เสียงที่เป็นข้าศึกมีมาก (พหู หิ สทฺทา ปจฺจูหา) ความว่า เสียงที่เป็นข้าศึกเหล่านี้มีมากในโลก
               คำว่า ไม่ ... ด้วยเหตุนั้น (น เตน) ได้แก่ เพราะเหตุนั้น หรือผู้มีตบะไม่พึงเก้อเขินเพราะหตุนั้น
               คำว่า เพราะว่า สัตว์หาได้ ... ด้วยเหตุนั้นไม่ (น หิ เตน) ความว่า ก็สัตว์จักเศร้าหมองเพราะคำที่คนอื่นกล่าวแล้วนั้นก็หาไม่ เทวดานั้นแสดงว่า "ก็จักเศร้าหมองด้วยบาปกรรมที่ตนทำแล้วเอง"
               คำว่า ประดุจเนื้อทราย (วาตมิโค ยถา) ความว่า เนื้อสมันในป่าย่อมสะดุ้งด้วยเสียงแห่งใบไม้เป็นตันที่ถูกลมพัด ฉันใด เขาชื่อว่าเป็นผู้สะดุ้งด้วยเสียงนั้น ฉันนั้น
               คำว่า วัตรของเขาย่อมไม่สมบูรณ์ (นาสฺส สมฺปชฺชเต วตํ) ความว่า วัตรของผู้มีจิตเบานั้น ย่อมไม่สมบูรณ์
               ก็แล พึงทราบว่า "พระเถระมีวัตรบริบูรณ์แล้ว เพราะเป็นพระขีณาสพ"
               พระสูตรที่ ๘ จบ               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา สังยุตตนิกาย สคาถวรรค วนสังยุต กุลฆรณีสูตรที่ ๘ จบ.
อ่านอรรถกถา 15 / 1อ่านอรรถกถา 15 / 778อรรถกถา เล่มที่ 15 ข้อ 780อ่านอรรถกถา 15 / 783อ่านอรรถกถา 15 / 956
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=15&A=6503&Z=6514
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=11&A=7216
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=11&A=7216
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๒๘  กันยายน  พ.ศ.  ๒๕๔๙
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :