ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 15 / 1อ่านอรรถกถา 15 / 677อรรถกถา เล่มที่ 15 ข้อ 682อ่านอรรถกถา 15 / 689อ่านอรรถกถา 15 / 956
อรรถกถา สังยุตตนิกาย สคาถวรรค พราหมณสังยุตต์ อุปาสกวรรคที่ ๒
เทวหิตสูตรที่ ๓

               อรรถกถาเทวหิตสูตรที่ ๓               
               ในเทวหิตสูตรที่ ๓ มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้ :-
               บทว่า วาเตหิ ได้แก่ ด้วยลมในท้อง.
               เล่ากันมาว่า เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงกระทำทุกกรกิริยา ๖ พรรษา ทรงนำเอาถั่วเขียวและถั่วพูเป็นต้นอย่างละฟายมือมาเสวย ลมในพระอุทรกำเริบเพราะเสวยไม่ดีและบรรทมลำบาก. สมัยต่อมา ทรงบรรลุพระสัมโพธิญาณแล้ว แม้เสวยโภชนะประณีต อาพาธนั้นก็ยังปรากฏตัวเป็นระยะๆ.
               คำนี้ท่านกล่าวหมายเอาอาพาธนั้น.
               บทว่า อุปฏฺฐาโก โหติ ความว่า เป็นอุปัฏฐากในคราวยังไม่มีอุปัฏฐากประจำตอนปฐมโพธิกาล.
               ได้ยินว่า ในเวลานั้น บรรดาพระอสีติมหาเถระผู้ที่ไม่เคยเป็นอุปัฏฐากของพระศาสดาไม่มี. ก็พระเถระเหล่านี้ คือ พระนาคสุมนะ พระอุปวาณะ พระสุนักขัตตะ พระจุนทะ จุนทสมณุเทส พระสาคตะ พระเมฆิยะ เป็นอุปัฏฐากที่มีชื่อมาในบาลี.
               แต่ในเวลานี้ พระอุปวาณเถระลุกขึ้นแต่เช้าตรู่ ได้อุปัฏฐากพระผู้มีพระภาคเจ้าทุกอย่าง เช่นกวาดบริเวณ ถวายไม้ชำระพระทนต์ จัดถวายน้ำสรง ถือบาตรจีวรตามเสด็จ.
               บทว่า อุปสงฺกมิ ความว่า ได้ยินว่า ตลอดเวลา ๒๐ ปีในปฐมโพธิกาล ป่าปราศจากควันไฟ แม้พระผู้มีพระภาคเจ้าก็ยังมิได้ทรงอนุญาต ที่ต้มน้ำแก่ภิกษุทั้งหลาย ก็พราหมณ์นั้นให้ทำเตาเป็นแถว ยกภาชนะใหญ่ๆ ขึ้นตั้งบนเตา ให้ทำน้ำร้อน แล้วขายน้ำร้อนพร้อมกับผงสำหรับอาบน้ำเป็นต้นเลี้ยงชีพ. ผู้ประสงค์อาบน้ำไปในที่นั้นแล้วให้ราคา (ซื้อ) อาบน้ำลูบไล้ด้วยของหอม ประดับดอกไม้แล้วหลีกไป. เพราะฉะนั้น พระเถระจึงเข้าไปในที่นั้น.
               บทว่า กึ ปตฺถยาโน ได้แก่ ปรารถนาอะไร.
               บทว่า กึ เอสํ ได้แก่ แสวงหาอะไร.
               บทว่า ปูชิโต ปูชเนยฺยานํ ความว่า พระเถระเริ่มกล่าวสดุดีพระทศพลนี้. ท่านกล่าวคำนี้ไว้ว่า ได้ยินว่า พระเถระไปเพื่อคิลานเภสัช กล่าวสรรเสริญภิกษุไข้ ดังนี้.
               จริงอยู่ พวกมนุษย์ได้ฟังคำสรรเสริญแล้ว ย่อมสำคัญเภสัชที่ควรถวายโดยเคารพ. ภิกษุไข้ได้เภสัชอันเป็นสัปปายะแล้ว ย่อมหายไข้ฉับพลันทีเดียว ความจริง เมื่อจะกล่าว ไม่ควรกล่าวพาดพิงไปถึงฌานวิโมกข์สมาบัติและมรรคผล. แต่ควรกล่าวอาคมนียปฏิปทาอย่างนี้ คือผู้มีศีล มีความละอาย มักรังเกียจ พหูสูต ทรงไว้ซึ่งนิกายเป็นที่มาผู้ตามรักษาอริยวงศ์.
               บทว่า ปูชเนยฺยานํ ความว่า พระอสีติมหาเถระ ชื่อว่า ปูชเนยฺยา เพราะโลกพร้อมทั้งเทวโลกควรบูชา. ท่านเหล่านั้นนั่นแล ชื่อว่า สกฺกเรยฺยา เพราะควรสักการะ. ชื่อว่า อปจิเนยฺยา เพราะควรทำความนอบน้อมแก่ท่านเหล่านั้นทีเดียว.
               พระเถระเมื่อประกาศคุณของพระผู้มีพระภาคเจ้านั้นว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นผู้อันเทวดาและมนุษย์เหล่านั้นบูชาสักการะนอบน้อม ดังนี้ จึงกล่าวอย่างนี้.
               บทว่า หาตเว แปลว่า เพื่อนำไป.
               บทว่า ผาณิตสฺส จ ปูฏํ ได้แก่ ก้อนน้ำอ้อยใหญ่ที่ปราศจากขี้เถ้า.
               ได้ยินว่า พราหมณ์นั้นถามว่า พระสมณโคดมทรงไม่สบายเป็นอะไร ได้ทราบว่า ลมในท้อง จึงกล่าวว่า ถ้าเช่นนั้น พวกเรารู้จักยาในเรื่องนี้ ต่อแต่นี้ ขอท่านจงเอาน้ำหน่อยหนึ่งละลายน้ำอ้อยนี้ ถวายให้ทรงดื่มในเวลาสรงเสร็จ พระเสโทจักซึมออกภายนอกพระสรีระด้วยน้ำร้อน ลมในท้องจักหายด้วยยานี้ ด้วยประการฉะนี้ พระสมณโคดมจักทรงสำราญด้วยอาการดังว่ามานี้ ดังนี้แล้วจึงได้ถวายใส่ลงในบาตรพระเถระ.
               บทว่า อุปสงฺกมิ ความว่า ได้ยินว่า เมื่ออาพาธนั้นสงบแล้ว ได้เกิดเรื่องพิสดารว่า เทวหิตพราหมณ์ถวายเภสัชแด่พระตถาคต โรคสงบเพราะเภสัชนั้นนั่นเอง น่าอัศจรรย์ ทานของพราหมณ์เป็นบรมทาน. พราหมณ์ผู้ประสงค์ชื่อเสียง ได้ฟังดังนั้นแล้ว เกิดโสมนัสว่า กิตติศัพท์ของเรานี้ขจรไป แม้ด้วยเหตุเพียงเท่านี้เอง ประสงค์จะให้เขารู้เรื่องที่ตนกระทำแล้ว ในขณะนั้นเอง เข้าไปเฝ้าทำความคุ้นเคยในพระทศพล.
               บทว่า ทชฺชา แปลว่า พึงให้.
               บทว่า กถํ หิ ยชมานสฺส ได้แก่ บูชาด้วยเหตุอะไร.
               บทว่า อิชฺฌติ ได้แก่มีผลมาก.
               บทว่า โย เวทิ ความว่า ได้กระทำผู้ที่รู้ทั่วถึงให้ปรากฏชัด. ปาฐะว่า โย เวติ ดังนี้ก็มี. อธิบายว่า ผู้ใดย่อมรู้ คือรู้ทั่วถึง.
               บทว่า ปสฺสติ ได้แก่ ย่อมเห็นด้วยทิพยจักษุ.
               บทว่า ชาติกฺขยํ ได้แก่ พระอรหัต.
               บทว่า อภิญฺญา โวสิโต ความว่า อยู่จบพรหมจรรย์ คือถึงที่สุดพรหมจรรย์ คือความเป็นผู้ทำกิจเสร็จแล้ว เพราะรู้.
               บทว่า เอวํ หิ ยชมานสฺส ความว่า บูชาอยู่ด้วยอาการนี้ คืออาการบูชาพระขีณาสพ.

               จบอรรถกถาเทวหิตสูตรที่ ๓               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา สังยุตตนิกาย สคาถวรรค พราหมณสังยุตต์ อุปาสกวรรคที่ ๒ เทวหิตสูตรที่ ๓ จบ.
อ่านอรรถกถา 15 / 1อ่านอรรถกถา 15 / 677อรรถกถา เล่มที่ 15 ข้อ 682อ่านอรรถกถา 15 / 689อ่านอรรถกถา 15 / 956
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=15&A=5642&Z=5686
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=11&A=6374
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=11&A=6374
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๒๘  กันยายน  พ.ศ.  ๒๕๔๙
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :