ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 15 / 1อ่านอรรถกถา 15 / 44อรรถกถา เล่มที่ 15 ข้อ 56อ่านอรรถกถา 15 / 58อ่านอรรถกถา 15 / 956
อรรถกถา สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เทวตาสังยุต สัตติวรรคที่ ๓
สัตติสูตรที่ ๑

               สัตติวรรคที่ ๓               
               อรรถกถาสัตติสูตรที่ ๑               
               พึงทราบวินิจฉัยในสัตติสูตรที่ ๑ แห่งสัตติวรรคที่ ๓ ต่อไป :-
               บทว่า สตฺติยา นี้เป็นหัวข้อแห่งเทศนา. อธิบายว่า ด้วยศัสตรามีคมข้างเดียวเป็นต้น.
               บทว่า โอมฏฺโฐ แปลว่า ถูกประหารแล้ว.
               จริงอยู่ เครื่องประหารนี้มี ๔ อย่าง คือ ชื่อว่าโอมัฏฐะ อุมัฏฐะ มัฏฐะและวิมัฏฐะ.
               ในบรรดาเครื่องประหาร ๔ เหล่านั้น เครื่องประหารที่เขาวางไว้ข้างบนให้มีหน้าลงเบื้องต่ำ ชื่อว่าโอมัฏฐะ. เครื่องประหารที่เขาวางไว้เบื้องต่ำให้มีหน้าขึ้นข้างบน ชื่อว่าอุมัฏฐะ. เครื่องประหารที่เขาใช้แทงทะลุไปราวกะว่าลิ่มกลอนประตู ชื่อว่ามัฏฐะ. เครื่องประหารแม้ทั้งหมดที่เหลือ ชื่อว่าวิมัฏฐะ.
               ก็ในที่นี้ ท่านมุ่งเอาเครื่องประหารที่ชื่อว่าโอมัฏฐะ เพราะเครื่องประหารชนิดนี้ทารุณกว่าเครื่องประหารทั้งหมด ดุจถูกหอกที่มีคมไม่ดีแทงแล้ว เยียวยาลำบาก มีโทษภายใน คือมีน้ำเหลืองและเลือดคั่งอยู่ที่ปากแผล ไม่มีน้ำเหลืองและเลือดไหลออกจึงทำให้สั่งสมอยู่ภายใน. ผู้ต้องการจะนำปุพโพโลหิตออกต้องผูกผู้ป่วยไว้กับเตียงแล้วทำให้ศีรษะห้อยลง. เขาย่อมถึงการตาย หรือทุกข์ปางตาย.
               คำว่า ปริพฺพชฺเช แก้เป็น วิหเรยฺย แปลว่า พึงอยู่.
               ถามว่า ในคาถานี้ เทวดากล่าวอย่างไร.
               ตอบว่า เทวดากล่าวว่า บุรุษถูกแทงด้วยหอกรีบพยายามทำความเพียรมุ่งมั่นเพื่อจะรักษาแผลโดยการดึงหอกออก และบุรุษที่ถูกไฟไหม้ที่ศีรษะ รีบพยายามทำความเพียรมุ่งเพื่อดับไฟฉันใด ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า ภิกษุก็ฉันนั้นนั่นแหละ พึงมีสติไม่ประมาทอยู่ เพื่อละกามราคะ ดังนี้.
               ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงดำริว่า คาถาที่เทวดานี้นำมาตั้งไว้ทำอุปมาไว้มั่นคง แต่ถือเอาประโยชน์ได้นิดหน่อย แม้จะกล่าวซ้ำซาก เพราะเขากล่าวถึงการละโดยการข่มกามราคะอย่างเดียว ก็กามราคะอันมรรคยังไม่ถอนขึ้นตราบใด ตราบนั้นก็ยังมีการตามผูกพันเรื่อยไป เพราะฉะนั้น เมื่อจะทรงถือเอาคำอุปมานั้นนั่นแหละแล้วทรงเปลี่ยนแสดงด้วยสามารถแห่งมรรค จึงตรัสพระคาถาที่ ๒ (ข้อที่ ๕๗).
               เนื้อความแห่งคาถานั้น พึงทราบโดยทำนองที่กล่าวแล้วนั่นแหละ.

               จบอรรถกถาสัตติสูตรที่ ๑               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เทวตาสังยุต สัตติวรรคที่ ๓ สัตติสูตรที่ ๑ จบ.
อ่านอรรถกถา 15 / 1อ่านอรรถกถา 15 / 44อรรถกถา เล่มที่ 15 ข้อ 56อ่านอรรถกถา 15 / 58อ่านอรรถกถา 15 / 956
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=15&A=375&Z=384
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=11&A=1259
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=11&A=1259
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๒๘  กันยายน  พ.ศ.  ๒๕๔๙
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :