ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 15 / 1อ่านอรรถกถา 15 / 40อรรถกถา เล่มที่ 15 ข้อ 44อ่านอรรถกถา 15 / 56อ่านอรรถกถา 15 / 956
อรรถกถา สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เทวตาสังยุต นันทนวรรคที่ ๒
สมิทธิสูตรที่ ๑๐

               อรรถกถาสมิทธิสูตรที่ ๑๐               
               พึงทราบวินิจฉัยสมิทธิสูตรที่ ๑๐ ต่อไป :-
               บทว่า ตโปทาราม คือพระอารามที่มีชื่ออันได้แล้วอย่างนี้ เพราะห้วงน้ำลึกมีน้ำอันร้อน ชื่อว่า ตโปทา.
               ได้ยินว่า ภพของนาคตั้งอยู่ที่แผ่นดินใต้ภูเขาเวภารบรรพต มีปริมณฑลประมาณ ๕๐๐ โยชน์ เช่นกับเทวโลก ซึ่งมีพื้นอันสำเร็จแล้วด้วยแก้วมณี และประกอบด้วยอุทยานอันเป็นที่รื่นรมย์ ในที่นั้น มีห้วงน้ำใหญ่สำหรับเป็นที่เล่นของพวกนาค. ลำแม่น้ำชื่อตโปทานี้ เป็นน้ำร้อนเดือดพล่านไหลมาจากห้วงน้ำใหญ่นั้น.
               ถามว่า ก็เพราะเหตุไร จึงเป็นเช่นนี้.
               ตอบว่า ได้ยินว่า โลก (หมายโอกาสโลก คือที่อยู่อาศัย) ของเปรตจำนวนมากแวดล้อมเมืองราชคฤห์. ในที่นั้น แม่น้ำตโปทานี้ย่อมมาในระหว่างแห่งนรกชื่อว่า มหาโลหกุมภีทั้ง ๒ เพราะฉะนั้น แม่น้ำตโปทานี้จึงเดือดพล่าน ไหลมาอยู่.
               สมจริงดังที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า๑-
               ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ในที่ใด แม่น้ำตโปทานี้ไหลอยู่ ที่นั้นย่อมเป็นหนองน้ำ (ทะเลสาบ) มีน้ำไหลสะอาด เป็นน้ำที่น่ายินดี เป็นน้ำเย็น เป็นน้ำสีขาว เป็นน้ำตั้งอยู่ดีแล้ว เป็นที่รื่นรมณ์ มีปลาและเต่ามาก และมีดอกปทุมประมาณเท่าจักร บานสะพรั่งอยู่.
               อีกอย่างหนึ่ง แม่น้ำตโปทาของมหานรกทั้งสองนี้ย่อมไหลมาโดยไม่ขาดสาย ด้วยเหตุนี้ ลำแม่น้ำตโปทานี้ จึงเดือดพล่านไหลอยู่ ดังนี้.
____________________________
๑- วินย. มหาวิ. เล่ม ๑/ข้อ ๒๓๑ จตุตฺถปาราชิก วินีตวตฺถุ

               ก็ในที่ข้างหน้าของพระอารามนี้มีห้วงน้ำใหญ่เกิดขึ้นแต่แม่น้ำตโปทานั้น วิหารนี้ ท่านจึงเรียกว่า ตโปทาราม เพราะลำแม่น้ำนั้น.
               บทว่า สมิทฺธิ ความว่า ได้ยินว่า อัตภาพของพระเถระสำเร็จแล้ว (ด้วยผลกรรม) มีรูปงาม น่าเลื่อมใส เพราะฉะนั้น จึงปรากฏนามบัญญัติว่า สมิทธิ นั่นแหละ.
               คำว่า เพื่อจะล้างตัว ความว่า พระเถระผู้บำเพ็ญเพียรนั้นลุกขึ้นในเวลาใกล้รุ่งได้ให้บุคคลถือเอาเสนาสนะออกมาภายนอกแล้วเดิน (จงกรม) ไปๆ มาๆ ในที่จงกรมใหญ่ประมาณ ๖๐ ศอก มีความสำคัญว่า เสนาสนะอันเราบริโภคอยู่ด้วยตัวอันชุ่มด้วยเหงื่อจักเศร้าหมอง จึงเข้าไปที่ลำน้ำตโปทาเพื่อจะล้างตัว.
               คำว่า ยืนอยู่มีจีวรผืนเดียว คือ นุ่งผ้าสบงผูกประคตเอวแล้วถือเอาจีวรยืนอยู่.
               คำว่า รอให้ตัวแห้ง ได้แก่ กระทำให้ตัวมีน้ำออกแล้วเช่นกับครั้งก่อนๆ เพราะว่า จีวรอันตนห่มในเวลาที่ตัวเปียกจักเศร้าหมอง จะมีกลิ่นเหม็น. ก็ข้อที่กล่าวนี้ มิใช่เป็นวัตรในการอาบ แต่เพราะท่านเป็นผู้ถึงพร้อมแล้วด้วยวัตร ฉะนั้น ท่านจึงชื่อว่าเป็นผู้ตั้งอยู่ในวัตร คือกิจที่ควรทำนั่นแหละ คือว่า ครั้นท่านอาบเสร็จแล้วก็ทำกิจที่ควรทำแล้ว กลับขึ้นมายืนอยู่.
               ในข้อนี้นั้นพึงทราบวัตรในการอาบน้ำ ดังนี้.
               อันภิกษุผู้ประสงค์จะอาบน้ำไปสู่ท่าน้ำแล้วพึงวางจีวรทั้งหลายในที่ใดที่หนึ่งแล้วแล้วยืนอยู่ก่อน ไม่ควรรีบลงไปโดยเร็ว พึงเหลียวแลดูทุกๆ ทิศเทียว ครั้นทราบความเป็นผู้สงัดแล้วก็กำหนดวัตถุทั้งหลายมีตอไม้ พุ่มไม้และเถาวัลย์เป็นต้น แล้วย่อกายลงกระแอมขึ้น ๓ ครั้ง แล้วพึงนำผ้าอุตราสงค์ออกผึ่ง แล้วแก้ประคตเอาวางทับจีวรนั่นแหละ. ถ้าผ้าสำหรับอาบน้ำไม่มี ก็จงนั่งกระหย่งที่ริมน้ำ แล้วเปลื้องผ้านุ่งออก. ถ้ามีที่สำหรับนั่งพึงผึ่งผ้านุ่ง ถ้าไม่มี ม้วนแล้วก็วางไว้ แล้วค่อยๆ ก้าวลงน้ำ. ครั้นก้าวลงไปประมาณนาภี (สะดือ) แล้วจึงอาบโดยไม่ทำให้ลูกคลื่นเกิดขึ้น ครั้นจะกลับก็พึงดำลงโดยมุ่งหน้าต่อทิศที่ตนมา. ด้วยอาการอย่างนี้ จีวรชื่อว่าอันตนรักษาแล้ว.
               แม้เมื่อจะโผล่ขึ้นก็ไม่ทำให้เกิดเสียง ค่อยๆ โผล่ขึ้น ในเวลาสิ้นสุดลงแห่งการอาบ พึงนั่งกระหย่งที่ริมน้ำ แล้วเอาผ้ามาปกปิดตนไว้ เมื่อลุกขึ้นยืนแล้วจึงนุ่งให้เรียบร้อยเป็นปริมณฑล เสร็จแล้วผูกประคตเอว ไม่รีบห่มจีวร พึงยืนอยู่ ดังนี้.
               แม้พระเถระก็อาบแล้วเหมือนอย่างนั้น เสร็จแล้วก็กลับขึ้นมายืนแลดู กายซึ่งมีน้ำยังไม่แห้ง. แม้โดยปกติกายของพระเถระก็ผ่องใส เมื่อน้อมกายนำมาโดยชอบ คืออาบน้ำอุ่น สีแห่งหน้าจึงรุ่งโรจน์เกินเปรียบ เป็นผู้สมบูรณ์ด้วยรัศมี ราวกะผลตาลที่หลุดจากขั้ว ราวกะพระจันทร์เต็มดวง ในขณะนั้น หน้าของท่านก็เป็นไปกับด้วยสิริ ดุจดอกปทุมกำลังแย้ม แม้ผิวพรรณแห่งสรีระก็ผ่องใส.
               สมัยนั้น ภุมมเทวดาผู้สิงสถิตอยู่ที่ป่าชัฏแลดูภิกษุสมิทธิผู้น่าเลื่อมใสแล้ว ไม่อาจข่มใจไว้ได้ เป็นผู้น้อมไปในกาม ถูกความโลภครอบงำแล้ว คิดว่าเราจักเล้าโลมพระเถระ จึงประดับอัตภาพด้วยเครื่องประดับอันโอฬาร แล้วทำพระอารามทั้งสิ้นให้สว่างทั่ว (ให้มีแสงสว่างเป็นอันเดียวกัน) ราวกะประทีปโคมไฟมีไส้ตั้งพัน ดุจเอาดวงจันทร์มาตั้งไว้. ครั้นแล้วก็เข้าไปหาพระเถระ มิได้ไหว้ ยืนอยู่ในเวหา (ลอยอยู่ในอากาศ) แล้วกล่าวคาถา.
               คาถานั้นอันท่านพระอานนท์เถระนำมากล่าวแล้วว่า อถ โข อญฺญตรา เทวตา ฯเปฯ อชฺฌภาสิ แปลว่า ครั้งนั้นแล เมื่อราตรีใกล้สว่าง เทวดาองค์หนึ่งมีวรรณะงาม เป็นต้น.
               คำว่า ไม่บริโภคแล้ว คือ ไม่บริโภคกามคุณ ๕.
               คำว่า ยังขออยู่ ได้แก่ การเที่ยวไปบิณฑบาต.
               เวลาที่ยังเป็นหนุ่มแน่นสมควรเสพกามคุณ ๕ ชื่อว่ากาล ในข้อว่า กาลอย่าล่วงท่านไปเสียเลย นี้. เพราะว่า บุคคลแก่คร่ำคร่าเพราะชรา มีกายโน้นลงแล้ว มีไม้เท้ายันไปข้างหน้า สั่นอยู่ เป็นผู้อันโรคไอและโรคหืดครอบงำแล้ว ไม่อาจเพื่อบริโภคกามได้ เพราะเหตุนั้น เทวดาหมายเอากาลนี้ จึงกล่าวคำว่า มา ตํ กาโล อุปชฺฌคา แปลว่า กาลอย่าล่วงท่านไปเสียเลย ดังนี้.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า มา อุปชฺฌคา แปลว่า อย่าก้าวล่วงแล้ว.
               ศัพท์ว่า โว ในบทว่า กาลํ โวหํ น ชานามิ นี้เป็นนิบาต.
               คำว่า เรายังไม่รู้กาล ท่านกล่าวหมายเอามรณกาล. อธิบายว่า ธรรม ๕ เหล่านี้ คือ ชีวิต พยาธิ กาล ที่เป็นที่ทอดทิ้งร่างกายหรือที่ตาย (เทหนิกเขปนะ) และคติ (ที่เกิดต่างๆ มี ๕)๒- ของสัตว์ทั้งหลายไม่มีนิมิต ใครๆ ไม่พึงรู้ในโลกแห่งสัตว์ที่เป็นไปอยู่.
____________________________
๒- คติ ๕ คือ นิรยคติ เปตคติ ดิรัจฉานคติ มนุสสคติ และเทวตาคติ.

               ในบรรดาธรรม ๕ เหล่านั้น ชีวิตก่อน ชื่อว่าไม่มีนิมิต เพราะกำหนดแน่ไม่ได้ว่า ชีวิตนี้มีจำนวนเท่านี้ทีเดียว ไม่เกินจากนี้ไป ดังนี้.
               จริงอยู่ แม้ในกาลที่เริ่มแรก คือเป็นรูปกลละ สัตว์ทั้งหลายก็ย่อมตาย ในเวลาที่เป็นอัพพุทะ (คือรูปที่เกิดมาได้ ๒ อาทิตย์) เป็นเปสิ (คือรูปที่เป็นชิ้นเล็กๆ) เป็นฆนะ (คือรูปที่เป็นก้อนหนา) รูปที่เกิดมาได้ ๑ เดือน ๒ เดือน ๓ เดือน ๔ เดือน ๑๐ เดือนก็ดี ในระหว่างที่ออกจากครรภ์ก็ดี แต่นี้ไปภายในร้อยปีก็ดี มากกว่าร้อยปีก็ดี ย่อมตายนั่นแหละ.
               แม้พยาธิก็ชื่อว่าไม่มีนิมิต เพราะไม่มีการกำหนดแน่ว่า สัตว์ทั้งหลายย่อมตายด้วยพยาธินี้เท่านั้น ไม่ตายด้วยพยาธิอื่นๆ ดังนี้ เพราะว่าสัตว์ทั้งหลายย่อมตายด้วยโรคตาก็มี ด้วยโรคอื่นๆ มีโรคหูเป็นต้นก็มี.
               แม้กาลก็ชื่อว่าไม่มีนิมิต เพราะไม่มีกำหนดแน่อย่างนี้ว่า ในกาลนี้เท่านั้น สัตว์พึงตาย ในกาลอื่นๆ สัตว์ไม่ตาย เพราะว่าสัตว์ทั้งหลายย่อมตายในเวลาเช้าก็มี ในเวลาอื่นๆ คือเวลาเที่ยงเป็นต้นก็มี.
               แม้สถานที่เป็นที่ต้องทอดทิ้งร่างกาย ก็ชื่อว่าไม่มีนิมิต เพราะไม่มีการกำหนดได้อย่างนี้ว่า ร่างกายของสัตว์ผู้จะตายนี้พึงตกไป (พึงตาย) ในที่นี้เท่านั้น ที่อื่นๆ ไม่ตกไป.
               จริงอยู่ เมื่อสัตว์ทั้งหลายเกิดภายในบ้าน อัตภาพของสัตว์เหล่านั้นย่อมตกไปภายนอกบ้านก็ได้ สัตว์ที่เกิดแม้ภายนอกบ้าน อัตภาพย่อมตกไปภายในบ้านก็ได้ สัตว์ที่เกิดบนบก บนถนนเป็นต้นก็เหมือนกัน
               บัณฑิตพึงให้พิสดารโดยประการมิใช่น้อย.
               แม้คติก็ชื่อว่าไม่มีนิมิต เพราะไม่มีการกำหนดได้อย่างนี้ว่า สัตว์จุติจากที่นี้แล้วพึงเกิดขึ้นในที่นี้ ดังนี้ เพราะว่าสัตว์ทั้งหลายจุติจากเทวโลกแล้วเกิดขึ้นในมนุษยโลกก็มี จุติจากมนุษยโลกแล้วเกิดในที่ใดที่หนึ่งแห่งโลกทั้งหลายมีเทวโลกเป็นต้นก็มี สัตว์โลกมีคติ ๕ ย่อมเปลี่ยนแปลงไป ดุจโคยนต์ (โคที่ประกอบด้วยเครื่องยนต์) อย่างนี้ด้วยประการฉะนี้ เพราะการเปลี่ยนไปแห่งคตินั้นนั่นแหละ ด้วยเหตุนี้ พระเถระจึงกล่าวกะเทวดาว่า เรายังไม่รู้กาล คือไม่รู้การตายนี้ว่า การตายจักมีในกาลชื่อนี้ ดังนี้.
               คำว่า กาลยังลับมิได้ปรากฏ ได้แก่ กาลนี้ปกปิดแล้ว ไม่แจ่มแจ้งและยังไม่ปรากฏแก่เรา.
               คำว่า เพราะเหตุนั้น อธิบายว่า กาลอันปกปิดนี้ย่อมไม่ปรากฎ เหตุใด เพราะเหตุนั้น เราจึงไม่บริโภคกามคุณ ๕ แล้วจึงขออยู่.
               ในคำว่า กาลอย่าล่วงเราไปเสียเลย นี้ พระเถระกล่าวว่ากาล ดังนี้ โดยหมายเอากาลกระทำสมณธรรม.
               จริงอยู่ ธรรมดาว่าสมณธรรมนี้อันบุคคลผู้ก้าวล่วงวัยทั้ง ๓ ในวัยสุดท้ายเป็นผู้มีกายอันหักลงแล้ว มีไม้เท้าเป็นที่ยันไปในเบื้องหน้า สั่นอยู่ ผู้อันโรคไอและหืดครอบงำแล้ว ไม่อาจเพื่อกระทำได้ (ปฏิบัติได้) เพราะว่า ในกาลนั้น บุคคลเช่นนั้นไม่อาจเพื่อเรียนพุทธพจน์ตามที่ปรารถนาตามที่ต้องการ หรือว่าไม่อาจเพื่อรักษาซึ่งธุดงค์ หรือว่าไม่อาจเพื่อจะอยู่ป่า หรือว่าไม่อาจเพื่อเข้าสมาบัติได้ตามที่ปรารถนา หรือว่าไม่อาจเพื่อกระทำธรรมกถาและอนุโมทนาด้วยสรภัญญวิธีเป็นต้น. ส่วนในกาลที่ยังเป็นหนุ่มแน่นอาจเพื่อกระทำกิจทั้งปวง เพราะฉะนั้น พระเถระจึงกล่าวว่า กาลเป็นที่กระทำสมณธรรมนี้ อย่าก้าวล่วงเราไปเสียเลย คือว่าเราจักไม่บริโภคกามทั้งหลาย จักกระทำสมณธรรมตราบเท่าที่กาลยังไม่ก้าวล่วงเราไป.
               คำว่า มายืนที่พื้นดิน ความว่า ได้ยินว่า เทวดานั้นคิดว่า ภิกษุนี้ย่อมกล่าวชื่อซึ่งกาลแห่งการทำสมณธรรม ไม่กล่าวซึ่งอกาล ย่อมกล่าวธรรมอันเป็นไปกับด้วยเหตุ เป็นไปกับด้วยอานิสงส์ดังนี้ ด้วยคำเพียงเท่านี้จึงเกิดความละอายในพระเถระ สำคัญพระเถระนั้นดุจมหาพรหม ดุจกองไฟ เป็นผู้อ่อนน้อมเกิดขึ้นแล้ว จึงลงจากอากาศมายืนที่พื้นดิน.
               คำว่า ยืนที่พื้นดิน นั้น ท่านกล่าวหมายเอาคำที่กล่าวแล้วนี้.
               ก็เทวดานั้นมายืนอยู่ที่พื้นดินแล้วแม้ก็จริง ถึงอย่างนั้น เธอมาแล้วด้วยความต้องการอันใด ถือเอาประโยชน์อันนั้นนั่นแหละอีก จึงกล่าวคำว่า ทหโร ตฺวํ เป็นต้น.
               บรรดาคำเหล่านั้น คำว่า ยังหนุ่ม คือมีอายุยังน้อย.
               คำว่า มีผมดำ ได้แก่ เป็นหนุ่มมีผมดำสนิท.
               คำว่า จำเริญ คือ สง่างาม.
               จริงอยู่ บางคนแม้เป็นหนุ่มมีตาบอดข้างหนึ่ง หรือว่าในคนพิการทั้งหลายมีคนกระจอกเป็นต้นเหล่านั้น. คนใดคนหนึ่งถึงเป็นหนุ่มก็ไม่ประกอบไปด้วยความเป็นหนุ่มที่สง่างาม.
               ส่วนบุคคลใดมีรูปงาม น่าดูน่าเลื่อมใส ถึงพร้อมด้วยสมบัติทั้งปวง ปรารถนาจะใช้เครื่องประดับใดๆ ย่อมประดับด้วยเครื่องอลังการนั้นๆ เที่ยวไปเหมือนเทพบุตร บุคคลเช่นนี้ย่อมชื่อว่าผู้ประกอบด้วยความเป็นหนุ่มที่สง่างาม.
               ก็พระเถระถึงพร้อมแล้วด้วยรูปสมบัติอันอุดม ด้วยเหตุนั้น เทวดาจึงกล่าวกะท่านอย่างนี้.
               คำว่า เป็นผู้ไม่เพลิดเพลินในกามทั้งหลายเสียแล้ว ได้แก่ การไม่เพลิดเพลินไม่บริโภคกามทั้งหลาย คือไม่มีความใคร่.
               คำว่า อย่าละกามที่เห็นประจักษ์เสีย อธิบายว่า ก็เทวดาโดยมากไม่เห็นสัจจะ ยังมีราคะ ไม่รู้จิตของผู้อื่น เห็นภิกษุทั้งหลายประพฤติพรหมจรรย์อันบริสุทธิ์ไม่ขาดตลอด ๑๐ ปีบ้าง ๒๐ ปีบ้าง ฯลฯ ๖๐ ปีบ้าง จึงเกิดความสำคัญว่า ภิกษุเหล่านี้ละกามคุณ ๕ อันเป็นของมนุษย์ ปรารถนากามทั้งหลายอันเป็นทิพย์ จึงกระทำสมณธรรมดังนี้ แม้เทวดานี้ก็คิดเหมือนอย่างนั้นนั่นแหละ เพราะฉะนั้น เธอจึงกล่าวถึงกามทั้งหลายอันเป็นของมนุษย์ กระทำให้เป็นกามที่เห็นประจักษ์ และกล่าวกามอันเป็นทิพย์ กระทำให้เป็นกามอันมีโดยกาล.
               พระเถระกล่าวคำว่า น ขฺวาหํ อาวุโส เป็นต้น ความว่า ท่านผู้มีอายุ เราละกามอันเห็นประจักษ์แล้ว ไม่วิ่งเข้าไปหากามอันเป็นทิพย์ซึ่งมีโดยกาลเลย เราไม่ปรารถนากระหยิ่มทิพย์ซึ่งเป็นไปตามเวลาที่กำหนดแล้ว วิ่งเข้าไปหาโลกุตรธรรมอันประจักษ์.
               พระเถระได้กระทำกามทั้ง ๕ แม้เป็นของทิพย์ แม้เป็นของมนุษย์ ให้เป็นเวลาที่เป็นไปตามกำหนด เพราะความที่กามเหล่านั้นอันบุคคลไม่พึงได้ในลำดับแห่งจิต และกระทำโลกุตรธรรมให้เป็นธรรมอันเห็นประจักษ์ เพราะความที่โลกุตรธรรมนั้นเป็นธรรมอันบุคคลพึงได้ในลำดับแห่งจิตด้วยประการฉะนี้.
               ก็ถึงแม้กามคุณ ๕ ประชุมกันแล้ว การเสวยอารมณ์ตามที่ปรารถนาตามที่ต้องการของกาม บุคคลแม้มีกามอันถึงพร้อมแล้ว ก็ไม่สำเร็จ (ไม่ได้) ในลำดับแห่งจิต (อนันตรจิต).
               จริงอยู่ อันบุคคลผู้ใคร่จะเสวยอิฏฐารมณ์ทางจักขุทวาร (ทางตา) จึงเรียกช่างทั้งหลายมีช่างเขียน ช่างทำหนังสือและช่างรูปเป็นต้นมาแล้ว พึงกล่าวว่า พวกท่านจงตกแต่งสิ่งชื่อนี้ดังนี้ จิตทั้งหลายในที่นี้มีประมาณพันโกฏิมิใช่น้อยเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป โดยความแตกต่างกัน ในลำดับนั้นมา จิตจึงบรรลุถึงอารมณ์นั้น (คืออิฏฐารมณ์) ในภายหลัง. แม้ในทวารที่เหลือก็นัยนี้แหละ.
               ส่วนโสดาปัตติผลย่อมเกิดขึ้นในระหว่าง (ลำดับ) แห่งโสดาปัตติมรรคเท่านั้น วาระของจิตอื่นในระหว่างหามีไม่. แม้ในผล ๓ ที่เหลือก็เหมือนกัน.
               พระเถระถือเอาอรรถเหล่านั้นนั่นแหละแล้วกล่าวว่า กาลิกา หิ อาวุโส เป็นต้น.
               ในบรรดาบทเหล่านั้น บทว่า กาลิกา ได้แก่ สิ่งอันเขาถึงพร้อมด้วยประโยชน์เกื้อกูลอันดี ไม่พึงบรรลุได้แม้ในระหว่างแห่งกาล โดยนัยที่กล่าวแล้ว.
               คำว่า มีทุกข์มาก ได้แก่ ชื่อว่ามีทุกข์มาก เพราะความที่ทุกข์นั้นอันตนอาศัยกามทั้งหลายเป็นไปมีมาก. ชื่อว่ามีความคับแค้นมาก เพราะความคับแค้นอันเป็นไปกับด้วยวัตถุแห่งกามนั้นนั่นเองมีมาก.
               คำว่า อย่างยิ่ง ในข้อว่า ในกามทั้งหลายมีโทษอย่างยิ่ง ความว่า โทษเท่านั้น ชื่อว่าอย่างยิ่ง เพราะความสุขอันตนอาศัยกาม ๕ แล้วจึงได้. อธิบายว่า ทุกข์เท่านั้นมีมากกว่า.
               บทว่า สนฺทิฏฺฐิโก อยํ ธมฺโม อธิบายว่า โลกุตรธรรมนี้อันบุคคลใดๆ เข้าถึงแล้ว บุคคลนั้นๆ พึงเห็นเองด้วยปัจเวกขณญาณซึ่งถือเอาโลกุตรธรรมนั้น อันตนอาศัยบุคคลอื่นแล้วพึงถึง เพราะเหตุนั้น โลกุตรธรรมนั้นจึงชื่อว่า สนฺทิฏฺฐิโก แปลว่า อันบุคคลพึงเห็นเอง.
               ธรรมที่ชื่อว่า อกาล เพราะอรรถว่ากาลของธรรมนั้นเกี่ยวข้องกับการให้ผลของตนไม่มี. ธรรมที่เป็นอกาลนั่นแหละ ชื่อว่า อกาลิโก แปลว่า ไม่ประกอบด้วยกาล. อธิบายว่า ในโลกุตรธรรมนี้ ธรรมคืออริยมรรคนั้นย่อมให้ผลใกล้ที่สุดในการเป็นไปของตน.
               คำว่า ควรเรียกร้องผู้อื่นว่า ท่านจงมาดูเถิด อธิบายว่า ธรรมที่ชื่อว่า เอหิ ปสฺสิโก เพราะอรรถว่าควรซึ่งเอหิปัสสวิธีอันเป็นไปแล้วอย่างนี้ ดังนี้. ธรรมที่ชื่อว่า โอปนยิโก เพราะอรรถว่าควรน้อมเข้ามาในจิตของตน แม้จะถูกไฟไหม้ผ้าหรือศีรษะก็ไม่เปลี่ยนแปลง.
               ในข้อว่า ปจฺจตฺตํ เวทิตพฺโพ วิญฺญูหิ นี้ มีความสังเขปว่า
               อันวิญญูชนแม้ทั้งปวงมีอุฆคฏิตัญญูบุคคลเป็นต้น พึงรู้ได้ในตนว่า มรรคอันเราเจริญแล้ว ผลอันเราบรรลุแล้ว นิโรธอันเรากระทำให้แจ้งแล้ว ดังนี้.
               ส่วนความพิสดาร ข้าพเจ้ากล่าวไว้แล้วในปกรณ์วิเศษชื่อวิสุทธิมรรคตอนที่พรรณนาธัมมานุสติ.
               บัดนี้ เทวดานั้นราวกะเป็นผู้บอด ไม่ทราบอยู่ซึ่งอรรถอันมีรูป (เหตุ) แปลกกันแห่งถ้อยคำอันพระเถระกล่าวแล้ว จึงกล่าวคำว่า กถญฺจ ภิกฺขุ เป็นต้น แปลว่า ดูก่อนภิกษุ ก็กามทั้งหลายอันมีโดยกาล พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่ามีทุกข์มาก ... เป็นอย่างไร.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า กถญฺจ ความว่า เทวดากล่าวว่า ดูก่อนภิกษุ กามทั้งหลายอันมีโดยกาลอันพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่าอย่างไร กามทั้งหลาย พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า มีทุกข์มากอย่างไร กามทั้งหลาย พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า มีความคับแค้นมากอย่างไร บัณฑิตพึงทราบความเกี่ยวข้องด้วยบททั้งปวงอย่างนี้ ด้วยประการฉะนี้.
               คำว่า ผู้ใหม่ ได้แก่ ภิกษุผู้มีพรรษาไม่เต็ม ๕ ชื่อว่าผู้ใหม่. ตั้งแต่พรรษา ๕ ไปชื่อว่ามัชฌิมะ. ตั้งแต่พรรษา ๑๐ ไปชื่อว่า เถระ.
               อีกนัยหนึ่ง ผู้มีพรรษา ๑๐ ยังไม่บริบูรณ์ ชื่อว่าผู้ใหม่ ตั้งแต่พรรษา ๑๐ ไปชื่อว่ามัชฌิมะ ตั้งแต่พรรษา ๒๐ ไปชื่อว่าเถระ. ในที่นั้น พระเถระกล่าวว่า เราเป็นผู้ใหม่ ดังนี้.
               แม้บางคนบวชในเวลาที่ตนมีอายุ ๗ ขวบ เมื่อก้าวล่วง ๑๐ พรรษาโดยที่ยังเป็นสามเณรนั่นแหละ ผู้นี้ก็ชื่อว่าผู้ใหม่ บวชไม่นาน ในที่นั้น พระเถระกล่าวว่า ก็เราเป็นผู้บวชไม่นาน ดังนี้.
               คำว่า ธรรมวินัยนี้ ความว่า ธรรมและวินัยแม้ทั้ง ๒ นี้ เป็นชื่อศาสนาเท่านั้น.
               จริงอยู่ ว่าโดยธรรมในข้อนี้ ท่านกล่าวว่าเป็น ๒ ปิฎก (สุตตันตะและอภิธรรม) ว่าโดยวินัยท่านกล่าวว่าเป็นวินัยปิฎก ด้วยเหตุนี้นั้น พระเถระจึงกล่าวว่า เราเพิ่งเป็นผู้มาสู่การปฏิบัติที่พระผู้มีพระภาคเจ้าประกาศแล้ว ด้วยปิฎกทั้งสาม ดังนี้.
               คำว่า มีศักดิ์ใหญ่ ท่านแก้เป็น มีบริวารมาก. เพราะว่า เทวราชองค์หนึ่งๆ มีบริวารตั้งร้อยโกฏิก็มี ตั้งพันโกฏิก็มี. เหตุนั้น เทวดานั้นจึงชี้แจงว่า เทวดาเหล่านั้นดำรงตนอยู่ในที่อันใหญ่ ย่อมสรรเสริญพระตถาคตในที่นั้น พวกเทวดาผู้มีศักดิ์น้อยเช่นกับข้าพเจ้า ซึ่งเกิดในบ้านแห่งมารดา จักมีโอกาสแต่ที่ไหน.
               คำว่า แม้ข้าพเจ้าพึงมาเพื่อฟังธรรม ความว่า เทวดาทราบแล้วว่า แม้ถ้าเทวดาผู้เป็นบริษัทนั่งแล้ว ย่อมยังจักรวาลนี้ให้เต็ม ถ้ากระไร เราพึงได้เพื่ออันไปสู่สำนักแห่งพระพุทธเจ้าด้วยพุทธวิถีอันใหญ่ ดังนี้.
               เทวดากล่าวกับพระสมิทธิว่า ปุจฺฉ ภิกฺขุ ปุจฺฉ ภิกฺขุ แปลว่า ทูลถามเถิด ภิกษุ ทูลถามเถิด ภิกษุ นี้เป็นคำพูดซ้ำเพื่อทำให้มั่นคง.
               ในคำว่า มีความสำคัญในข้อที่รับบอก นี้ ความว่า ขันธ์ ๕ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเรียกว่า ข้อที่ได้รับบอก เพราะความที่ขันธ์ ๕ นั้นเป็นวัตถุแห่งการบอกทั้งปวงแห่งกถาทั้งปวง โดยการบอก โดยนัยเป็นต้นว่า คนนั้นเป็นเทวดา เป็นมนุษย์ เป็นคฤหัสถ์ เป็นบรรพชิต เป็นสัตว์ เป็นคนชื่อติสสะ ชื่อปุสสะเป็นต้น. และมีความสำคัญจำได้อย่างนี้ว่า นั่นเป็นสัตว์ เป็นนระ เป็นสัตว์เลี้ยง เป็นบุคคล เป็นผู้หญิง เป็นผู้ชายดังนี้ มีอยู่แก่ขันธ์เหล่านั้น เพราะเหตุนั้น ขันธ์เหล่านั้นจึงชื่อว่ามีความสำคัญ. ความสำคัญด้วย ข้อที่รับบอกด้วย ชื่อว่าความสำคัญในข้อที่ได้รับบอก.
               อธิบายว่า มีความสำคัญในขันธ์ ๕ ว่า เป็นสัตว์ เป็นบุคคลเป็นต้น.
               คำว่า ติดอยู่ในข้อที่รับบอก ได้แก่ การยึดมั่นในขันธ์ ๕ โดยอาการ ๘ อย่าง.
               จริงอยู่ บุคคลผู้อันราคะย้อมแล้วย่อมติดอยู่ (ยึดมั่น) ด้วยอำนาจแห่งราคะ ผู้อันโทษประทุษร้ายแล้วย่อมติดอยู่ด้วยอำนาจแห่งโทสะ ผู้หลงแล้วย่อมติดอยู่ด้วยอำนาจแห่งโมหะ ผู้ยึดถือผิดย่อมติดอยู่ด้วยอำนาจแห่งทิฐิ ผู้มีกิเลสมีกำลังย่อมติดอยู่ด้วยอำนาจแห่งอนุสัย ผู้มีเครื่องผูกพันไว้ย่อมติดอยู่ด้วยอำนาจแห่งมานะ ผู้ไม่พอใจย่อมติดอยู่ด้วยอำนาจแห่งวิจิกิจฉา ผู้มีจิตฟุ้งซ่านแล้วย่อมติดอยู่ด้วยอำนาจแห่งอุทธัจจะ ดังนี้.
               คำว่า ไม่กำหนดรู้ข้อที่ได้รับบอก คือ ไม่กำหนดรู้ขันธ์ ๕ ด้วยปริญญา ๓.
               คำว่า ย่อมมาสู่อำนาจแห่งมัจจุ อธิบายว่า สัตว์ทั้งหลายย่อมมาสู่กิเลสเป็นเครื่องประกอบ การกระทำของกิเลส การซัดไป การเข้าไปสู่ภายในแห่งมัจจุ คือมาสู่อำนาจแห่งมัจจุ.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสกามทั้งหลายอันเนื่องด้วยกาย ด้วยคาถานี้ด้วยประการฉะนี้.
               คำว่า กำหนดรู้ ได้แก่ การกำหนดรู้ด้วยปริญญา ๓ เหล่านี้ คือ ญาตปริญญา ตีรณปริญญา ปหานปริญญา.
               ในบรรดาปริญญาเหล่านั้น ญาตปริญญาเป็นไฉน บุคคลย่อมกำหนดรู้ขันธ์ ๕ ว่า นี้รูปขันธ์ นี้วิญญาณขันธ์ ธรรมเหล่านี้มีลักษณ์ รส ปัจจุปัฏฐานและปทัฏฐานเป็นต้นของขันธ์เหล่านั้น นี้ชื่อว่าญาตปริญญา.
               ตีรณปริญญาเป็นไฉน บุคคลย่อมพิจารณาขันธ์ ๕ กระทำให้เป็นสิ่งอันตนรู้แล้วอย่างนี้ด้วยอาการ ๔๒ โดยความเป็นของไม่เที่ยง โดยความเป็นทุกข์ โดยความเป็นดังโรค นี้ชื่อว่าตีรณปริญญา.
               ปหานปริญญาเป็นไฉน บุคคลครั้นพิจารณาอย่างนี้แล้ว ย่อมละกามฉันทะในขันธ์ ๕ ด้วยมรรคอันเลิศ นี้ชื่อว่าปหานปริญญา.
               คำว่า ย่อมไม่สำคัญข้อที่ได้รับบอกแล้ว อธิบายว่า ขีณาสวภิกษุกำหนดรู้ขันธ์ ๕ ด้วยปริญญา ๓ อย่างนี้แล้ว ย่อมไม่สำคัญถึงบุคคลผู้บอก.
               คำว่า ข้อที่ได้รับบอกแล้ว ได้แก่ พระขีณาสพพึงรู้ถึงผู้กระทำโดยอำนาจแห่งกรรม. อธิบายว่า พระขีณาสพย่อมไม่สำคัญ คือไม่เห็นข้อที่ได้รับบอกแล้ว ข้อที่เขากล่าวแล้วว่า เป็นบุคคล ดังนี้.
               ถามว่า ข้อที่บอกแล้ว เป็นอย่างไร.
               ตอบว่า ผู้นี้ติสสะหรือปุสสะ ที่บุคคลประกาศโดยชื่อหรือโดยโคตรอย่างใดอย่างหนึ่ง.
               คำว่า เพราะข้อที่ได้รับบอกนั้นย่อมไม่มีแก่ขีณาสวภิกษุนั้น คือ ข้อที่ได้รับบอกว่า ผู้นี้ชื่อติสสะหรือปุสสะนั้น ย่อมไม่มีแก่พระขีณาสพนั้น.
               คำว่า เหตุที่จะพึงพูดถึงข้อที่ได้รับบอกจึงมิได้มีแก่ขีณาสวภิกษุนั้น อธิบายว่า ใครๆ พึงกล่าวถึงข้อที่รับบอกนั้นว่า ผู้นี้กำหนัดแล้วด้วยราคะใด หรือผู้นี้ถูกประทุษร้ายแล้วด้วยโทสะใด หรือว่าผู้นี้หลงแล้วโดยโมหะใด ดังนี้ เหตุเหล่านั้นแหละ ย่อมไม่มีแก่พระขีณาสพนั้น.
               บทว่า โย มญฺญติ แปลว่า บุคคลใดย่อมสำคัญ. อธิบายว่า บุคคลใดย่อมสำคัญตนว่าเราเป็นผู้เสมอเขา หรือดีกว่าเขา หรือว่าเลวกว่าเขา. ด้วยคำนี้ทรงถือเอามานะ ๓ ซึ่งมีคำว่า เราดีกว่าเขา เป็นต้น. เมื่อมานะ ๓ เหล่านั้นอันพระองค์ทรงถือเอาแล้ว ก็ย่อมชื่อว่าทรงถือเอามานะ ๙ ทีเดียว.
               คำว่า บุคคลนั้น พึงวิวาทกับเขา คือว่า บุคคลนั้นพึงพูดด้วยมานะนั้นนั่นแหละกับคนใดคนหนึ่งอย่างนี้ว่า ท่านตีเสมอเรา ด้วยเหตุอะไร ย่อมเสมอเราโดยชาติหรือ หรือว่าโดยโคตร หรือบางส่วนแห่งตระกูล หรือว่าโดยความเป็นผู้มีผิวพรรณผ่องใส หรือโดยเป็นพหูสูต หรือว่าโดยคุณแห่งธุดงค์ ดังนี้
               พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสกามทั้งหลายอันเป็นไปกับด้วยเวลาเล็กน้อย ด้วยคาถากึ่งหนึ่งแม้นี้ ด้วยประการฉะนี้.
               บทว่า ตีสุ วิธาสุ แปลว่า มานะ ๓.
               จริงอยู่ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสโกฏฐาสว่าเป็น วิธะ เช่นในบทว่า เอกวิเธ รูปสงฺคโห เป็นต้น แปลว่า สงเคราะห์รูปไว้โดยส่วนหนึ่ง.
               ตรัสเรียกอาการ (ลักษณะ) ว่าเป็น วิธะ เช่นในบทว่า กถํวิธํ สีลวนฺตํ วทนฺติ กถํวิธํ ปญฺญวนฺตํ วทนฺติ เป็นต้น แปลว่า ย่อมกล่าวอาการอย่างไรว่าเป็นผู้มีศีล ย่อมกล่าวอาการอย่างไรว่าเป็่นคนมีปัญญา เป็นต้น.
               ในพระบาลีนี้ว่า ติสฺโส อิมา ภิกฺขเว วิธา กตมา ติสฺโส เสยฺโยหมสฺมีติ วิธา หีโนหมสฺมีติ วิธา แปลว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย มานะ ๓ เหล่านี้เป็นไฉน มานะ ๓ เหล่านี้ คือ มานะว่าเราดีกว่าเขา เราเสมอเขา เราเลวกว่าเขา ดังนี้.
               ข้อนี้ ตรัสมานะว่าเป็นวิธะ.
               แม้ในปกรณ์นี้ ก็ตรัสมานะนั่นแหละด้วยคำว่า วิธะ ด้วยเหตุนั้น จึงตรัสว่า ตีสุ วิธาสุ แปลว่า มานะ ๓ ดังนี้.
               คำว่า ผู้ไม่หวั่นไหวอยู่ อธิบายว่า บุคคลใดย่อมไม่หวั่นไหว ไม่เคลื่อนไปในมานะ ๓ โดยย่อ ในมานะ ๙ โดยพิสดาร.
               คำว่า มานะว่าเราเสมอเขา ดีกว่าเขา เลวกว่าเขา นี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงมานะ ๓ เหล่านี้ว่า ไม่มีแก่พระขีณาสพผู้มีมานะอันละได้แล้วนั้น.
               บทสุดท้ายแห่งพระคาถานี้มีนัยตามที่ข้าพเจ้ากล่าวไว้แล้ว. ด้วยพระคาถากึ่งหนึ่งแม้นี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสโลกุตรธรรม ๙ อย่างอันบุคคลพึงเห็นได้เองด้วยประการฉะนี้.
               บทว่า ปหาสิ สงฺขํ แปลว่า ขีณาสพภิกษุละบัญญัติเสียแล้ว.
               อธิบายว่า ปัญญา ชื่อว่าสังขา อันมีมาในบาลีว่า ปฏิสงฺขา โยนิโส เป็นต้น แปลว่า พิจารณาโดยอุบายอันแยบคาย.
               สังขามีอรรถเท่ากับคณนา การคำนวณหรือการนับ เช่นในพระบาลีว่า อตฺถิ ปน โกจิ คณโก วา มุทฺธิโก วา สงฺขายิโก วา โย ปโหติ คงฺคาย วาลิกํ คเณตุํ แปลว่า ก็ใครๆ เป็นโหรก็ตาม เป็นผู้สุขุมก็ตาม เป็นผู้นักนับก็ตาม สามารถเพื่อจะคำนวณเม็ดทรายในแม่น้ำคงคา ดังนี้.
               สังขามีอรรถเท่ากับโกฏฐาส คือส่วนหรือภาค เช่นในบทว่า สญฺญานิทานา หิ ปปญฺจสงฺขา เป็นต้น แปลว่า จริงอยู่ ธรรมที่เป็นส่วนแห่งความเนิ่นช้าเป็นเหตุแห่งสัญญา.
               และบัญญัติมาในคำว่า สังขา เช่นบทว่า ยา เตสํ ธมฺมานํ สงฺขา สมญฺญา นี้แปลว่า บัญญัติ คือชื่อแห่งธรรมเหล่านั้น. แม้ในที่นี้ ท่านก็ประสงค์เอาบัญญัติเท่านั้น.
               จริงอยู่ เนื้อความแห่งบทว่า ปหาสิ สงฺขํ นี้ อธิบายว่า พระขีณาสพละแล้ว ทอดทิ้งแล้ว สละคืนแล้ว ซึ่งบัญญัตินี้ว่า บุคคลผู้อันราคะย้อมแล้ว ผู้อันโทษประทุษร้ายแล้ว ผู้หลงแล้ว.
               บทว่า น วิมานมาคา แปลว่า บรรลุธรรมที่ปราศจากมานะแล้ว คือไม่เข้าถึงมานะ ๓ อย่างซึ่งมีประเภท ๙.
               อีกอย่างหนึ่ง ท้องแห่งมารดา ท่านเรียกว่าวิมานะ เพราะอรรถว่าเป็นที่อาศัย พระขีณาสพย่อมไม่เข้าไปสู่ที่อาศัย (คือท้องแห่งมารดา) นั้นต่อไป ด้วยอำนาจแห่งปฏิสนธิ.
               บทว่า วิมานมาคา นี้เป็นถ้อยคำกล่าวถึงอดีต แต่ใช้ในความหมายแห่งอนาคต.
               บทว่า อจฺเฉชฺชิ แปลว่า ตัดแล้ว.
               บทว่า ฉินฺนคนฺถํ แปลว่า ตัดเครื่องผูก ๔ (คันถะ ๔) แล้วอยู่.
               บทว่า อนิฆํ แปลว่า ไม่คับแค้นใจ คือไม่มีทุกข์.
               บทว่า ปริเยสมานา แปลว่า เที่ยวค้นหา คือตรวจดูอยู่.
               บทว่า นาชฺฌคมุํ แปลว่า ไม่พบ คือไม่ถึงไม่ประสบ ไม่เห็น.
               ข้อนี้มีอรรถแห่งอดีต แต่มีความหมายถึงปัจจุบัน.
               บทว่า อิธ วา หุรํ วา แปลว่า ในโลกนี้ หรือในโลกหน้า.
               บทว่า สพฺพนิเวสเนสุ แปลว่า ในสถานที่อาศัยของสัตว์ทั้งปวง ได้แก่ในภพ ๓ กำเนิด ๔ คติ ๕ วิญญาณฐิติ ๗ สัตตาวาส ๙. อธิบายว่า ย่อมไม่เห็นพระขีณาสพผู้เห็นปานนี้ คือผู้มีเครื่องผูกอันตัดเสียแล้ว ซึ่งกำลังเกิด หรือเกิดขึ้นแล้ว เพราะการแตกแห่งกายทำลายขันธ์ในสถานที่อาศัยของสัตว์แม้ทั้งปวงเหล่านี้ด้วยประการฉะนี้.
               ด้วยพระคาถานี้นั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสโลกุตรธรรมอันบุคคลพึงเห็นได้นั่นแหละ.
               เทวดาแม้นั้น ครั้นฟังพระคาถานี้แล้ว จึงกำหนดเนื้อความได้ ด้วยเหตุนั้นนั่นแหละ จึงกราบทูลว่า อิมสฺส ขฺวาหํ ภนฺเต เป็นต้น แปลว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ข้าพระองค์ทราบเนื้อความแห่งธรรมที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสโดยย่อให้พิสดารอย่างนี้.
               บทว่า ปาปํ น กยิรา แปลว่า ไม่ควรทำบาปนั้น สมควรที่จะกล่าวแม้ด้วยสามารถแห่งกุศลกรรมบถ ๑๐ แม้ด้วยสามารถแห่งมรรคประกอบด้วยองค์ ๘.
               ว่าโดยกุศลกรรมบถ ๑๐ ก่อน คือในบรรดาบทเหล่านั้น บทว่า วจสา แปลว่า ด้วยวาจา ได้แก่ วจีสุจริต ๔ อย่าง.
               บทว่า มนสา แปลว่า ด้วยใจ ได้แก่มโนสุจริต ๓ อย่าง.
               บทว่า กาเยน วา กิญฺจนํ สพฺพโลเก แปลว่า ด้วยกายอย่างไหนๆ ในโลกทั้งปวง ได้แก่กายสุจริต ๓ อย่าง. กุศลกรรมบถ ๑๐ เหล่านี้ย่อมมีก่อนด้วยประการฉะนี้.
               ว่าด้วยมรรคประกอบด้วยองค์ ๘ ก็ด้วยบทว่า กาเม ปหาย แปลว่า ละกามทั้งหลายเสียแล้ว ได้แก่ ห้ามกามสุขัลลิกานุโยค.
               ด้วยบทว่า สติมา สมฺปชาโน (มีสติ มีสัมปชัญญะ) นี้ ได้แก่ ถือเอาสติและสัมปชัญญะ เป็นผู้ทำกุศลกรรมบถ ๑๐.
               ด้วยบทว่า ทุกขํ น เสเวถ อนตฺถสญฺหิตํ แปลว่า ไม่ควรเสพทุกข์อันประกอบด้วยโทษนี้ ได้แก่ ปฏิเสธอัตตกิลมถานุโยค.
               เทวดาเว้นทางที่สุดทั้ง ๒ นี้ได้แล้ว จึงกราบทูลว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า ข้าพระองค์ทราบกุศลกรรมบถ ๑๐ กับด้วยสติสัมปชัญญะซึ่งเป็นผู้กระทำที่พระองค์ตรัสแล้ว ด้วยอาการอย่างนี้ ก็นัยนี้แหละว่าด้วยอำนาจแห่งมรรคประกอบด้วยองค์ ๘.
               ได้ยินว่า พระธรรมเทศนามีประโยชน์ใหญ่ได้มีแล้วในที่นั้นแล.
               ในเวลาจบเทศนา เทวดานั้นกำลังยืนอยู่อย่างไรนั่นแหละ ส่งญาณไปตามกระแสแห่งเทศนา เห็นอยู่ซึ่งมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ ที่ตนบรรลุแล้ว เพราะความตั้งมั่นในโสดาปัตติผล จึงกราบทูลความนั้นแก่พระผู้มีพระภาคเจ้า.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า วจสา ได้แก่ สัมมาวาจา.
               แต่มโนไม่ใช่องค์มรรค เพราะฉะนั้น จิตที่สัมปยุตด้วยมรรค จึงได้แก่มโนสุจริต ๓.
               บทว่า กาเยน วา กิญฺจนํ ได้แก่ สัมมากัมมันตะ.
               ส่วนสัมมาอาชีวะ ท่านถือเอาสัมมาวาจาและสัมมากัมมันตะรวมกันนั่นแหละ.
               ด้วยบทว่า สติมา ได้แก่ สัมมาวายามะ สัมมาสติและสัมมาสมาธิ.
               ด้วยบทว่า สมฺปชาโน ได้แก่ สัมมาทิฏฐิและสัมมาสังกัปปะ.
               การเว้นส่วนสุดทั้ง ๒ ท่านถือเอาด้วยบททั้ง ๒ คือ กาเม ปหาย และ ทุกฺขํ น เสเวถ ดังนี้.
               เทวดานั้น ครั้นกราบทูลว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า ข้าพระองค์ย่อมทราบมัชฌิมาปฏิปทาอันไม่อาศัยส่วนสุด ๒ เหล่านี้ ตามที่พระองค์ตรัสแล้วด้วยประการฉะนี้ ดังนี้ แล้วทำการบูชาพระตถาคตเจ้าด้วยเครื่องสักการะทั้งหลายมีของหอมและดอกไม้เป็นต้น กระทำประทักษิณเสร็จแล้ว ก็หลีกไปดังนี้แล.

               จบอรรถกถาสมิทธิสูตรที่ ๑๐               
               จบนันทนวรรคที่ ๒               
               -----------------------------------------------------               

               รวมพระสูตรในนันทนวรรคที่ ๒
                         ๑. นันทนสูตร
                         ๒. นันทิสูตร
                         ๓. นัตถิปุตตสมสูตร
                         ๔. ขัตติยสูตร
                         ๕. สกมานสูตร
                         ๖. นิททาตันทิสูตร
                         ๗. ทุกกรสูตร
                         ๘. หิริสูตร
                         ๙. กุฏิกาสูตร
                         ๑๐. สมิทธิสูตร
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เทวตาสังยุต นันทนวรรคที่ ๒ สมิทธิสูตรที่ ๑๐ จบ.
อ่านอรรถกถา 15 / 1อ่านอรรถกถา 15 / 40อรรถกถา เล่มที่ 15 ข้อ 44อ่านอรรถกถา 15 / 56อ่านอรรถกถา 15 / 956
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=15&A=248&Z=374
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=11&A=1000
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=11&A=1000
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๒๘  กันยายน  พ.ศ.  ๒๕๔๙
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :