ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 15 / 1อ่านอรรถกถา 15 / 402อรรถกถา เล่มที่ 15 ข้อ 405อ่านอรรถกถา 15 / 411อ่านอรรถกถา 15 / 956
อรรถกถา สังยุตตนิกาย สคาถวรรค โกสลสังยุตต์ ตติยวรรคที่ ๓
อิสสัตถสูตรที่ ๔

               อรรถกถาอิสสัตถสูตรที่ ๔               
               การตั้งขึ้นแห่งอิสสัตถสูตรที่ ๔ มีอัตถุปปัตติ เหตุเกิดเรื่องดังนี้ :-
               ได้ยินว่า ในปฐมโพธิกาล พระผู้มีพระภาคเจ้าและภิกษุสงฆ์มีลาภสักการะเกิดขึ้นเป็นอันมาก. เหล่าเดียรถีย์เสื่อมลาภสักการะ ก็เที่ยวพูดไปในตระกูลทั้งหลายอย่างนี้ว่า พระสมณโคดมกล่าวอย่างนี้ว่า พึงให้ทานแก่เราเท่านั้น ไม่พึงให้ทานแก่พวกอื่น พึงให้ทานแก่สาวกของเราเท่านั้น ไม่พึงให้ทานแก่เหล่าสาวกของพวกอื่น ทานที่ให้แก่เราเท่านั้นมีผลมาก ทานที่ให้แก่พวกอื่นไม่มีผลมาก ทานที่ให้แก่สาวกของเราเท่านั้นมีผลมาก ทานที่ให้แก่เหล่าสาวกของพวกอื่นไม่มีผลมาก. แม้ทั้งที่ตนเองก็ยังอาศัยภิกขาจาร ควรละหรือที่มาทำอันตรายแก่ปัจจัย ๔ ของพวกอื่นซึ่งก็อาศัยภิกขาจารเหมือนกัน พระสมณโคดมทำไม่ถูก ไม่สมควรเลย ถ้อยคำนั้นก็แผ่กระจายไปถึงราชสกุล.
               พระราชาทรงสดับแล้ว ทรงพระดำริว่า มิใช่ฐานะเลย (เป็นไปไม่ได้) ที่พระตถาคตจะพึงทรงทำอันตรายแก่สาวกของคนพวกอื่น มีแต่คนอื่นเหล่านั้นกระเสือกกระสน เพื่อไม่ให้มีลาภ เพื่อไม่ให้มียศแก่พระตถาคต ถ้าเรายังอยู่ในที่นี้แหละ ก็จะพึงพูดว่า พวกท่านอย่าพูดอย่างนี้ พระศาสดาย่อมไม่ตรัสอย่างนั้น ถ้อยคำนั้นไม่พึงถึงความไม่มีมลทินโทษ เราจักทำถ้อยคำนั้นให้หมดมลทิน ในเวลาที่มหาชนนี้ชุมนุมกัน จึงทรงนิ่งรอคอยวันมหรสพวันหนึ่งอยู่.
               สมัยต่อมา เมื่อมหาชนชุมนุมกัน พระราชาทรงพระดำริว่า เวลานี้เป็นกาลแห่งมหรสพนี้ แล้วโปรดให้ตีกลองประกาศไปในพระนครว่า คนทั้งหลายไม่ว่ามีศรัทธาหรือไม่มีศรัทธา เป็นสัมมาทิฏฐิ หรือมิจฉาทิฏฐิ ยกเว้นเด็กหรือสตรีเฝ้าเรือน ต้องไปยังพระวิหาร ผู้ใดไม่ไปจะต้องถูกปรับไหม ๕๐ กหาปณะ.
               แม้พระองค์เองก็ทรงสรงสนานแต่เช้าตรู่ เสวยพระกระยาหารเช้าแล้ว ทรงประดับพระองค์ด้วยเครื่องประดับทุกอย่าง แล้วได้เสด็จไปยังพระวิหาร พร้อมด้วยหมู่ทหารหมู่ใหญ่ เมื่อกำลังเสด็จ ทรงพระดำริว่า เราจักทูลถามปัญหาที่ไม่ควรจะถามอย่างนี้ว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า เขาว่าพระองค์ตรัสว่า พึงให้ทานแก่เราเท่านั้น ฯลฯ ทานที่ให้แก่เหล่าสาวกของคนพวกอื่น ไม่มีผลมาก ดังนี้ ก็พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสตอบปัญหาของเรา ก็จักทรงทำลายวาทะของเหล่าเดียรถีย์ได้ในที่สุด ท้าวเธอเมื่อทรงทูลถามปัญหา จึงตรัสว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ บุคคลควรให้ทานในที่ไหนหนอ.
               บทว่า ยตฺถ ความว่า จิตเลื่อมใสในบุคคลใด พึงให้ทานในบุคคลนั้น หรือพึงให้แก่บุคคลนั้น.
               เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสอย่างนี้ พระราชาก็ทอดพระเนตรดูเหล่าผู้คนที่บอกกล่าวคำของเหล่าเดียรถีย์. ผู้คนเหล่านั้นพอสบพระเนตรพระราชา ก็เก้อเขิน ก้มหน้ายืนเอาหัวนิ้วเท้าขุดพื้นดิน. พระราชาเมื่อจะทรงประกาศแก่มหาชน ก็ได้ตรัสด้วยพระสุรเสียงอันดัง บทเดียวเท่านั้นว่า พวกเดียรถีย์ถูกขจัดแล้ว. ครั้นตรัสพระดำรัสอย่างนี้แล้ว จึงทูลถามว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า ขึ้นชื่อว่าจิตย่อมเลื่อมใสในเหล่านิครนถ์อเจลกและปริพาชกเป็นต้นเหล่าใดเหล่าหนึ่ง ก็ทานที่ให้แล้วในคนพวกไหนเล่ามีผลมาก.
               บทว่า อญฺญํ โข เอตํ ความว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ถวายพระพร มหาบพิตรตรัสถามครั้งแรกอย่างหนึ่ง ครั้งหลังก็ทรงกำหนดอีกอย่างหนึ่ง แม้การตอบปัญหานี้ ก็เป็นภาระหน้าที่ของอาตมภาพ จึงตรัสว่า สีลวโต โข เป็นต้น.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อิธ ตฺยสฺส แยกเป็น อิธ เต อสฺส การยุทธ์พึงปรากฏต่อมหาบพิตรในที่นี้.
               บทว่า สมุปพฺยุฬฺโห แปลว่า ปะทะกันเป็นกลุ่มๆ.
               บทว่า อสิกฺขิโต ได้แก่ ไม่ศึกษาในธนูศิลป์.
               บทว่า อกตหตฺโถ ได้แก่ มีมือยังไม่พร้อม โดยการพันมือเป็นต้น.
               บทว่า อกตโยคฺโค ได้แก่ ยังฝึกไม่ชำนาญ ในการกองหญ้ากองดินเป็นต้น.
               บทว่า อกตุปาสโน ได้แก่ ฝีมือยิงธนูยังมิได้แสดง [ประลอง] ต่อพระราชาและมหาอมาตย์ของพระราชา.
               บทว่า ฉมฺภี ได้แก่ มีกายสั่นเทา.
               ในบทว่า กามฉนฺโท ปหีโน เป็นต้น กามฉันทะเป็นอันละได้ด้วยพระอรหัตมรรค. พยาบาทละได้ด้วยอนาคามิมรรค. ถีนมิทธะและอุทธัจจะก็ละได้ด้วยอรหัตมรรคเหมือนกัน กุกกุจจะละได้ด้วยมรรคที่ ๓ เหมือนกัน วิจิกิจฉาเป็นอันละได้ด้วยมรรคแรก.
               บทว่า อเสกฺเขน สีลกฺขนฺเธน ความว่า สีลขันธ์ของพระอเสกขะ ชื่อว่าสีลขันธ์ฝ่ายอเสกขะ.
               ในบททุกบท ก็นัยนี้.
               ก็บรรดาบทเหล่านั้น สีลสมาธิปัญญาและวิมุตติ ทั้งโลกิยะและโลกุตระ ท่านกล่าวด้วย ๔ บทต้น วิมุตติญาณทัสสนะย่อมเป็นปัจจเวกขณญาณ ปัจจเวกขณญาณนั้นเป็นโลกิยะเท่านั้น.
               บทว่า อิสฺสตฺถํ ได้แก่ ธนูศิลป์.
               ในบทว่า พลวิริยํ นี้ วาโยธาตุ ชื่อว่าพละ วิริยะก็คือความเพียรทางกายทางจิต.
               บทว่า ภเร แปลว่า พึงเลี้ยง.
               บทว่า นาสูรํ ชาติปจฺจยา ความว่า ไม่พึงเลี้ยงคนไม่กล้า เพราะถือชาติเป็นเหตุ อย่างนี้ว่า ผู้นี้สมบูรณ์ด้วยชาติ.
               อธิวาสนขันติ ชื่อว่าขันติ ในคำว่า ขนฺติโสรจฺจํ นี้.
               บทว่า โสรจฺจํ ได้แก่ พระอรหัต.
               บทว่า ธมฺมา ได้แก่ ธรรมทั้งสองนี้.
               บทว่า อสฺสเม แปลว่า ที่อยู่.
               บทว่า วิวเน แปลว่า ที่เป็นป่า. อธิบายว่า พึงสร้างสระโบกขรณี ๔ เหลี่ยมเป็นต้นในป่าที่ไม่มีน้ำ.
               บทว่า ทุคฺเค ได้แก่ ในที่ขลุขละ.
               บทว่า สงฺกมนานิ ความว่า พึงทำทางเดินมีทรายสะอาดเกลี่ยเรียบ ๕๐-๖๐ ศอก.
               บัดนี้ เมื่อจะตรัสบอกธรรมเนียมภิกขาจารของเหล่าภิกษุผู้อยู่ในเสนาสนะป่าเหล่านั้น จึงตรัสว่า อนฺนปานํ เป็นต้น.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า เสนาสนานิ ได้แก่ เตียงและตั่งเป็นต้น.
               บทว่า วิปฺปสนฺเนน ความว่า แม้เมื่อจะถวายแก่พระขีณาสพ ไม่ถวายด้วยจิตมีความสงสัย มีมลทินคือกิเลส พึงถวายด้วยจิตที่ผ่องใสเท่านั้น.
               บทว่า ถนยํ ได้แก่ คำราม.
               บทว่าสตกฺกุกฺกุ ได้แก่ มีปลายร้อยหนึ่ง. อธิบายว่า มียอดเป็นอันมาก.
               บทว่า อภิสงฺขจฺจ ได้แก่ ปรุงแต่ง คือรวบรวมทำเป็นอาหาร.
               บทว่า อนุโมทมาโน ได้แก่ เป็นผู้มีใจยินดี.
               บทว่า ปกิเรติ ได้แก่ เที่ยวในโรงทาน หรือประหนึ่งโปรยให้ทาน.
               บทว่า ปุญฺญธรา ได้แก่ ธารแห่งบุญที่สำเร็จมาแต่ทานเจตนามิใช่น้อย.
               บทว่า ทาตารํ อภิวสฺสติ ความว่า สายน้ำที่หลั่งออกจากเมฆซึ่งตั้งขึ้นในอากาศ ย่อมตกรดแผ่นดินเปียกชุ่ม ฉันใด ธารแห่งบุญที่เกิดในภายในทายกแม้นี้ ก็หลั่งรดภายในทายกนั้นให้ชุ่มเต็มเปี่ยม ฉันนั้นเหมือนกัน ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า ทาตารํ อภิวสฺสติ.

               จบอรรถกถาอิสสัตถสูตรที่ ๔               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา สังยุตตนิกาย สคาถวรรค โกสลสังยุตต์ ตติยวรรคที่ ๓ อิสสัตถสูตรที่ ๔ จบ.
อ่านอรรถกถา 15 / 1อ่านอรรถกถา 15 / 402อรรถกถา เล่มที่ 15 ข้อ 405อ่านอรรถกถา 15 / 411อ่านอรรถกถา 15 / 956
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=15&A=3146&Z=3218
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=11&A=4085
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=11&A=4085
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๒๘  กันยายน  พ.ศ.  ๒๕๔๙
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :