ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 15 / 1อ่านอรรถกถา 15 / 354อรรถกถา เล่มที่ 15 ข้อ 359อ่านอรรถกถา 15 / 364อ่านอรรถกถา 15 / 956
อรรถกถา สังยุตตนิกาย สคาถวรรค โกสลสังยุตต์ ทุติยวรรคที่ ๒
ปัญจราชสูตรที่ ๒

               อรรถกถาปัญจราชสูตรที่ ๒               
               พึงทราบวินิจฉัยในปัญจราชสูตรที่ ๒ ต่อไป :-
               บทว่า รูปา ได้แก่ อารมณ์คือรูป ต่างโดยรูปสีเขียวสีเหลืองเป็นต้น.
               บทว่า กามานํ อคฺคํ ความว่า ผู้หนักในรูป ก็กล่าวรูปนั้นว่าสูงสุด ประเสริฐสุดแห่งกามทั้งหลาย.
               แม้ในอารมณ์ที่เหลือก็นัยนี้เหมือนกัน.
               บทว่า ยโต แปลว่า ในกาลใด.
               บทว่า มนาปปริยนฺตํ ได้แก่ ทำอารมณ์ที่น่าพอใจให้เสร็จ ชื่อว่าเป็นยอดอารมณ์ที่น่าพอใจ.
               ในคำว่า มนาปปริยนฺตํ นั้น อารมณ์ที่น่าพอใจมี ๒ คือ อารมณ์ที่น่าพอใจของบุคคล อารมณ์ที่น่าพอใจโดยสมมติ
               สิ่งใดเป็นของที่น่าปรารถนา น่าใคร่ของบุคคลคนหนึ่ง สิ่งนั้นนั่นแหละไม่น่าปรารถนาไม่น่าใคร่ของบุคคลอื่น ชื่อว่าสิ่งที่น่าพอใจของบุคคล.
               เป็นความจริง ไส้เดือนย่อมเป็นของที่น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจของชาวปัจจันตประเทศ แต่ชาวมัชฌิมประเทศเกลียดนัก. ส่วนเนื้อนกยูงเป็นต้นเป็นที่น่าปรารถนาของชาวมัชฌิมประเทศเหล่านั้น แต่สำหรับชาวปัจจันตประเทศนอกนี้เกลียดนัก. นี้คือสิ่งที่น่าพอใจของบุคคล.
               สิ่งที่น่าพอใจโดยสมมติเป็นอย่างไร.
               ชื่อว่า อิฏฐารมณ์ (น่าปรารถนา) และอนิฏฐารมณ์ (ที่ไม่น่าปรารถนา) ที่แยกกันในโลกไม่มีเลย แต่ก็พึงจำแนกแสดง. แต่เมื่อจะจำแนกก็จำต้องยกพระเจ้ามหาสมมตปฐมกษัตริย์ พระเจ้ามหาสุทัสสนะและพระเจ้าธรรมาโศกราชเป็นต้นจำแนกแยกแยะ.
               จริงอยู่ อารมณ์แม้สำเร็จจากทิพย์ ก็ปรากฏว่าไม่สมพระทัยของกษัตริย์เหล่านั้น แต่ไม่พึงจำแนกโดยยกเอาข้าวน้ำที่หายาก สำหรับคนเข็ญใจอย่างยิ่ง.
               จริงอยู่ คนเข็ญใจอย่างยิ่งเหล่านั้น เมล็ดข้าวสวยปลายเกวียนก็ดี รสเนื้อเน่าก็ดี ก็มีรสอร่อยเหลือเกิน เสมือนอมฤตรส. แต่พึงจำแนกโดยยกคนปานกลาง เช่นหัวหน้าหมู่ มหาอำมาตย์ เศรษฐี กุฏุมพีและพาณิชเป็นต้น ซึ่งบางคราวก็ได้สิ่งที่น่าปรารถนา บางคราวก็ได้สิ่งที่ไม่น่าปรารถนา. ก็แต่ว่า สิ่งที่น่าปรารถนาและสิ่งที่ไม่น่าปรารถนานั้น ก็ไม่อาจกำหนดชวนจิตในอารมณ์ได้.
               จริงอยู่ ชวนจิตย่อมยินดีในสิ่งที่น่าปรารถนาก็มี ในสิ่งที่ไม่น่าปรารถนาก็มี ยินร้ายในสิ่งที่น่าปรารถนาก็มี ในสิ่งที่ไม่น่าปรารถนาก็มี. ด้วยว่า วิบากจิตย่อมกำหนดอารมณ์ที่น่าปรารถนาและไม่น่าปรารถนา โดยอารมณ์อันเดียวกัน.
               จริงอยู่ พวกมิจฉาทิฏฐิเห็นพระพุทธเจ้าก็ดี พระสงฆ์ก็ดี อารมณ์อันโอฬารมีมหาเจดีย์เป็นต้นก็ดี ย่อมปิดตา ประสบความเสียใจ ได้ยินเสียงแสดงธรรมก็ปิดหูทั้งสอง แต่จักขุวิญญาณและโสตวิญญาณก็เป็นกุศลวิบากของพวกเขา.
               สุกรกินคูถเป็นต้น ได้กลิ่นคูถก็เกิดความดีใจว่าเราจักกินคูถดังนี้ ก็จริงอยู่ ถึงกระนั้น จักขุวิญญาณของมันในการเห็นคูถ ฆานวิญญาณในการดมกลิ่นคูถนั้น และชิวหาวิญญาณในการลิ้มรส ย่อมเป็นอกุศลวิบากโดยแท้.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงหมายเอาความเป็นสิ่งที่น่าพอใจของบุคคล จึงตรัสว่า เต จ มหาราช รูปา เป็นต้น.
               คำว่า จนฺทนงฺคลิโย (บาลีเป็น จนฺทนงฺคลิโก) นี้ เป็นชื่อของอุบาสกนั้น.
               บทว่า ปฏิภาติ มํ ภควา ความว่า เหตุอย่างหนึ่ง ย่อมปรากฏแจ่มแจ้งแก่ข้าพระองค์.
               จันทนังคลิกอุบาสกนั้นเห็นพระราชาทั้ง ๕ พระองค์ทรงสวมกุณฑลมณี แม้เสด็จมาด้วยพระอิสริยยศและสมบัติอย่างเยี่ยม ด้วยราชานุภาพอย่างใหญ่ โดยประทับนั่งรวมกัน ณ พื้นที่สำหรับดื่มซึ่งจัดไว้ ต่างก็สิ้นสง่าสิ้นความงาม ตั้งแต่ประทับยืน ณ สำนักของพระทศพลเหมือนดวงประทีปเวลากลางวัน เหมือนถ่านไฟที่เอาน้ำรด และเหมือนหิ่งห้อย เวลาพระอาทิตย์ขึ้น จึงเกิดปฏิภาณขึ้นว่า ท่านผู้เจริญ ธรรมดาว่าพระพุทธะทั้งหลายใหญ่หนอ เพราะฉะนั้น เขาจึงกล่าวอย่างนี้.
               คำว่า โกกนทํ นี้ เป็นไวพจน์ของปทุมนั่นเอง.
               บทว่า ปาโต ได้แก่ ต่อกาลเที่ยว.
               บทว่า สิยา แปลว่า พึงมี.
               บทว่า อวีตคนฺธํ ได้แก่ ไม่ปราศจากกลิ่น.
               บทว่า องฺคีรสํ ได้แก่ พระสัมมาสัมพุทธเจ้า.
               จริงอยู่ พระรัศมีทั้งหลายย่อมซ่านออกจากพระวรกายของพระผู้มีพระภาคเจ้า เพราะฉะนั้น จึงเรียกว่า องฺคีรโส พระอังคีรส.
               ความย่อในคำนี้ มีดังนี้ว่า
               ดอกปทุมกล่าวคือดอกโกกนุท บานแต่เช้าตรู่ ยังไม่ปราศจากกลิ่น หอมระรื่นฉันใด ท่านจงดูพระผู้มีพระภาคเจ้าพระนามว่า อังคีรส ทรงรุ่งโรจน์ ดุจดวงอาทิตย์ส่องแสงจ้ากลางนภากาศฉันนั้นเหมือนกัน.
               บทว่า ภควนฺตํ อจฺฉาเทสิ ความว่า ได้ถวายแด่พระผู้มีพระภาคเจ้า.
               แต่ว่าโดยโวหารโลก ในข้อนี้ คำก็มีเช่นนี้.
               ได้ยินว่า อุบาสกนั้นคิดว่า พระราชาเหล่านี้ทรงเลื่อมใสในพระคุณทั้งหลายของพระตถาคต พระราชทานผ้าห่มแก่เราถึง ๕ ผืน จำเราจักถวายผ้าห่มเหล่านั้นแด่พระผู้มีพระภาคเจ้าแต่พระองค์เดียว ดังนี้ จึงได้ถวาย.

               จบอรรถกถาปัญจราชสูตรที่ ๒               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา สังยุตตนิกาย สคาถวรรค โกสลสังยุตต์ ทุติยวรรคที่ ๒ ปัญจราชสูตรที่ ๒ จบ.
อ่านอรรถกถา 15 / 1อ่านอรรถกถา 15 / 354อรรถกถา เล่มที่ 15 ข้อ 359อ่านอรรถกถา 15 / 364อ่านอรรถกถา 15 / 956
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=15&A=2575&Z=2630
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=11&A=3744
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=11&A=3744
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๒๘  กันยายน  พ.ศ.  ๒๕๔๙
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :