ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 15 / 1อ่านอรรถกถา 15 / 26อรรถกถา เล่มที่ 15 ข้อ 28อ่านอรรถกถา 15 / 30อ่านอรรถกถา 15 / 956
อรรถกถา สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เทวตาสังยุต นันทนวรรคที่ ๒
นัตถิปุตตสมสูตรที่ ๓

               อรรถกถานัตถิปุตตสมสูตรที่ ๓               
               พึงทราบวินิจฉัยในสูตรที่ ๓ ต่อไป :-
               บาทคาถาว่า นตฺถิ ปุตฺตสมํ เปมํ ความว่า บุตรทั้งหลายของตนแม้พิการ มารดาหรือบิดาก็ยังสำคัญดุจแท่งทองคำ มีการกระทำการหยอกล้อที่ศีรษะเป็นต้น ราวกะว่าพวงดอกไม้ บุตรเหล่านั้นแม้อันมารดาบิดาชำระร่างกายแล้วก็นำมาห่อหุ้มไว้แล้วก็เกิดโสมนัส เหมือนบุคคลห่ออยู่ซึ่งของหอมและเครื่องลูบไล้ฉะนั้น.
               ด้วยเหตุนั้นแหละ เทวดาจึงกล่าวว่า นตฺถิ ปุตฺตสมํ เปมํ ความรักเสมอด้วยบุตรย่อมไม่มี คือ ขึ้นชื่อว่าความรักอื่นเสมอด้วยความรักบุตรหามีไม่ ดังนี้.
               บทว่า โคสมิกํ แปลว่า เสมอด้วยโคทั้งหลาย. เทวดากราบทูลว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า ธรรมดาว่าทรัพย์อื่นเช่นกับโคย่อมไม่มี ดังนี้.
               บทว่า สุริยสมา อาภา นี้ เทวดากราบทูลว่า ชื่อว่าแสงสว่างอื่นที่เสมอด้วยแสงพระอาทิตย์ย่อมไม่มี ดังนี้.
               บทว่า สมุทฺทปรมา ความว่า ชื่อว่าสระทั้งหลายเหล่าอื่นอย่างใดอย่างหนึ่ง สระทั้งหมดเหล่านั้นมีสมุทร (ทะเล) เป็นอย่างยิ่ง คือสมุทรประเสริฐกว่าสระทั้งหมดเหล่านั้น. เทวดาทูลว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า ชื่อว่าที่เป็นที่เกิดแหล่งน้ำอื่นเช่นกับด้วยสมุทร หามีไม่ดังนี้.
               ก็ที่ชื่อว่าความรักเสมอด้วยตนไม่มีนั้น มีอธิบายว่า สัตว์ทั้งหลายละทิ้งปิยชนทั้งหลายมีมารดาบิดาเป็นต้นก็มี ละทิ้งบุตรธิดาเป็นต้นให้พำนักอยู่ย่อมหาเลี้ยงชีวิตตนนั่นแหละก็มี.
               ก็ชื่อว่าทรัพย์เสมอด้วยข้าวเปลือก ย่อมไม่มี.
               อธิบายว่า ชนทั้งหลายย่อมไปสู่สำนักของเจ้าของทรัพย์ แล้วจึงถือเอาวัตถุทั้งหลายมีเงินและทองเป็นต้นบ้าง และถือเอาโคและกระบือเป็นต้นบ้าง ก็เพื่อถือเอาข้าวเปลือกนั่นแหละ.
               ชื่อว่าแสงสว่างเสมอด้วยปัญญาย่อมไม่มี ถึงแม้จะเป็นดวงอาทิตย์เป็นต้น ก็ย่อมส่องแสงเพียงอย่างเดียวเท่านั้น คือย่อมกำจัดความมืดอันเป็นปัจจุบันเท่านั้น.
               ส่วนปัญญาย่อมสามารถเพื่อทำโลกธาตุตั้งหมื่นให้เป็นแสงสว่างอันประเสริฐ หาสิ่งอื่นเสมอมิได้ ทั้งย่อมกำจัดความมืดอันปกปิดในกาลอันเป็นส่วนแห่งอดีตเป็นต้นได้ด้วย.
               ชื่อว่าสระเสมอด้วยเมฆฝนย่อมไม่มี. แม้แม่น้ำหรือหนองน้ำ หรือทะเลสาบเป็นต้นก็ตาม ที่ขึ้นชื่อว่าสระแล้วที่จะเสมอด้วยฝน ย่อมไม่มี เพราะเมื่อเมฆฝนตัดขาดแล้ว น้ำแม้เพียงสักว่าข้อองคุลีหนึ่งให้เปียกในมหาสมุทรย่อมไม่มี. แต่เมื่อฝนตกแล้วเป็นไปอยู่ น้ำเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ย่อมมีถึงพิภพแห่งพรหมชั้นอาภัสสรา
               เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าเมื่อจะตรัสตอบถ้อยคำของเทวดา จึงตรัสพระคาถาว่า
                         นตฺถิ อตฺตสมํ เปมํ    นตฺถิ ธญฺญสมํ ธนํ
                         นตฺถิ ปญฺญาสมา อาภา   วุฏฺฐิ เว ปรมา สรา.
                                   ความรักเสมอด้วยตนไม่มี
                                   ทรัพย์เสมอด้วยข้าวเปลือกไม่มี
                                   แสงสว่างเสมอด้วยปัญญาไม่มี
                                   ฝนเท่านั้นเป็นสระอันยอดเยี่ยม ดังนี้.

               จบอรรถกถานัตถิปุตตสมสูตรที่ ๓               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เทวตาสังยุต นันทนวรรคที่ ๒ นัตถิปุตตสมสูตรที่ ๓ จบ.
อ่านอรรถกถา 15 / 1อ่านอรรถกถา 15 / 26อรรถกถา เล่มที่ 15 ข้อ 28อ่านอรรถกถา 15 / 30อ่านอรรถกถา 15 / 956
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=15&A=170&Z=179
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=11&A=831
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=11&A=831
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๒๘  กันยายน  พ.ศ.  ๒๕๔๙
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :