ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 14 / 1อ่านอรรถกถา 14 / 42อรรถกถา เล่มที่ 14 ข้อ 51อ่านอรรถกถา 14 / 67อ่านอรรถกถา 14 / 853
อรรถกถา มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ เทวทหวรรค
สามคามสูตร

               ๔. อรรถกถาสามคามสูตร               
               สามคามสูตร มีคำเริ่มต้นว่า ข้าพเจ้าได้ฟังมาแล้วอย่างนี้ ดังนี้.
               ในสามคามสูตรนั้น มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้.
               บทว่า สามคามเก ได้แก่ ในบ้านอันได้ชื่ออย่างนี้ เพราะชาวบ้านสามกะมีหนาแน่น.
               บทว่า อธุนา กาลกโต คือ กระทำกาละบัดเดี๋ยวนี้เอง.
               บทว่า เทฺวฬฺหกชาตา เกิดเป็นสองพวก คือ เกิด (แตกกัน) เป็นสองฝ่าย.
               บรรดาการขัดใจกันเป็นต้น การทะเลาะกันในเบื้องต้น ชื่อว่า ภัณฑนะ การบาดหมาง การทะเลาะกันที่ขยายออกไปด้วยการถือไม้เป็นต้น และด้วยอำนาจการละเมิดพระบัญญัติ ชื่อว่า กลหะ การทะเลาะ. การพูดขัดแย้งกันเป็นต้นว่า ท่านไม่รู้ธรรมวินัยข้อนี้ ดังนี้ ชื่อว่าวิวาทโต้เถียงกัน.
               บทว่า วิตุทนฺตา คือ ทิ่มแทงกัน (ด้วยปาก).
               บทว่า สหิตมฺเม คือ คำของเราประกอบด้วยประโยชน์.
               คำว่า อธิจิณฺณํ เต วิปราวตฺตํ ความว่า ข้อปฏิบัติที่เคยชินยิ่งของท่าน ซึ่งเป็นของคล่องแคล่วโดยเป็นระยะกาลนานนั้น มาถึงวาทะของเราเข้าก็เปลี่ยนแปลงไป.
               คำว่า อาโรปิโต เต วาโท ความว่า เรายกโทษขึ้นเหนือท่านแล้ว.
               บทว่า จร วาทปฺปโมกฺขาย ความว่า ท่านจงถือห่อข้าวเข้าไปหาคนนั้นๆ เที่ยวหาให้ยิ่งขึ้น เพื่อต้องการแก้วาทะนั้น.
               บทว่า นิพฺเพเธหิ ความว่า จงปลดเปลื้องตนเสียจากวาทะที่เรายกขึ้น.
               บทว่า สเจ ปโหสิ แปลว่า ถ้าท่านอาจ.
               บทว่า วโธเยว คือ ความตายเท่านั้น.
               บทว่า นาฏปุตฺติเยสุ ได้แก่ ในพวกอันเตวาสิกของนาฏบุตร.
               บทว่า นิพฺพินฺนรูปา คือ มีความระอาเป็นสภาวะ ไม่กระทำแม้แต่การกราบไหว้เป็นต้น.
               บทว่า วิรตฺตรูปา คือ เป็นผู้ปราศจากความรัก.
               บทว่า ปฏิวานรูปา คือ มีสภาวะหวนกลับจากการกระทำนบนอบพวกนิครนถ์เหล่านั้น.
               บทว่า ยถาตํ ได้แก่ พึงเป็นดุจเบื่อหน่าย คลายยินดี มีใจท้อถอยในธรรมวินัยอันมีสภาวะที่กล่าวไว้ไม่ดีเป็นต้น.
               บทว่า ทุรกฺขาเต แปลว่า กล่าวชั่ว.
               บทว่า ทุปฺปเวทิเต แปลว่า ให้เข้าใจผิด.
               บทว่า อนุปสมสํวตฺตนิเก คือ ไม่สามารถกระทำความสงบระงับกิเลสมีราคะเป็นต้น.
               บทว่า ภินฺนถูเป คือ เป็นที่พึ่งที่แตก. เพราะในลัทธินี้ นาฏบุตรเท่านั้นเป็นดุจสถูป เพราะเป็นที่พึ่งอาศัยของนิครนถ์เหล่านั้น ก็นาฏบุตรนั้นแตก ตายแล้ว. เพราะเหตุนั้นจึงกล่าวว่า เป็นสถูปที่แตก.
               บทว่า อปฺปฏิสฺสรเณ คือ ปราศจากที่พึ่งพาอาศัย เพราะไม่มีนาฏบุตรนั้นนั่นเอง.
               ถามว่า ก็นาฏบุตรนี้เป็นชาวนาลันทามิใช่หรือ เพราะเหตุไร เขาจึงไปตายที่ปาวา.
               ตอบว่า ได้ยินว่า เขาได้ฟังอุบาลีคฤหบดีผู้แทงตลอดสัจจะ กล่าวพระพุทธคุณ ๑๐ คาถา ถึงสำรอกโลหิตอุ่นๆ (รากเลือด). ครั้งนั้น พวกศิษย์ได้นำเขาผู้กำลังไม่สบาย ไปยังเมืองปาวา. เขาได้ตาย ณ เมืองปาวานั้น
               แต่เมื่อจะตายเขาคิดตกลงใจว่า ลัทธิของเราไม่เป็นนิยยานิกธรรมไร้สาระ เราฉิบหายก่อน คนที่เหลืออย่าได้แออัดในอบายเลย ก็หากเราจักบอกว่า คำสอนของเราไม่มีนิยยานิกธรรม (นำออกจากทุกข์ไม่ได้) พวกเขาจักไม่เชื่อ ถ้ากระไรเราจะไม่ให้คนแม้ ๒ คนเรียนลัทธิโดยวิธีเดียวกัน ต่อเราล่วงลับไป พวกเขาจักวิวาทกัน พระศาสดาจักทรงอาศัยวาทะนั้นแล้ว จักตรัสธรรมกถาเรื่องหนึ่ง จากนั้น พวกเขาจักรู้ความที่ศาสนาเป็นเรื่องใหญ่ ดังนี้.
               ครั้งนั้น ศิษย์คนหนึ่งเข้าไปหานาฏบุตรนั้นแล้วกล่าวว่า ท่านผู้เจริญ ท่านมีกำลังอ่อนเปลี้ย ขอโปรดบอกสาระในธรรมนี้แก่ข้าพเจ้าเท่าๆ กับท่านอาจารย์เถิด. ผู้มีอายุ ต่อเมื่อเราล่วงลับไปแล้ว เธอจงถือว่า “เที่ยง” (ยั่งยืน) (สัสสตทิฏฐิ) ศิษย์อีกคนก็เข้าไปหา เขาก็ให้ศิษย์คนนั้นถือเอาการขาดสูญ (อุจเฉททิฏฐิ).
               เขาไม่กระทำศิษย์แม้ทั้งสองคนให้มีลัทธิอย่างเดียวกัน ได้ให้เรียนเอามากวิธีด้วยอาการอย่างนี้ แล้วก็ตายไป. ศิษย์เหล่านั้นกระทำฌาปนกิจอาจารย์แล้วประชุมกัน ต่างถามกันว่า ผู้มีอายุ อาจารย์บอกสาระแก่ใคร. ศิษย์คนหนึ่งลุกขึ้นพูดว่า บอกแก่ข้าพเจ้า. บอกอย่างไร? บอกว่า เที่ยงยั่งยืน. ศิษย์อีกคนหนึ่งห้ามศิษย์คนนั้น แล้วกล่าวว่า บอกสาระแก่ข้าพเจ้า. เมื่อเป็นอย่างนั้น ศิษย์ทั้งหมดก็ขยายการวิวาทกันและกัน โดยกล่าวว่า อาจารย์บอกสาระแก่ข้าพเจ้า ข้าพเจ้าเป็นหัวหน้า ดังนี้ แล้วก็ลุกลามเป็นการด่า การบริภาษและการประหารกันด้วยมือและเท้าเป็นต้น ๒ คนมา (ด้วยกัน) ตามทางสายเดียวกัน (ต่างก็) แยกกันไปคนละทิศ ศิษย์บางพวกก็เป็นคฤหัสถ์ไป.
               ก็แม้ในเวลาที่พระผู้มีพระภาคเจ้ายังทรงพระชนม์อยู่ การวิวาทยังไม่เกิดขึ้นในหมู่ภิกษุ. เพราะพระศาสดา เมื่อกรณีวิวาทกัน พอเกิดขึ้นแก่ภิกษุเหล่านั้นเท่านั้น ก็เสด็จไปเอง ตรัสเรียกภิกษุเหล่านั้นแหละมา ตรัสเหตุอย่างหนึ่งในธรรม คือขันติ เมตตา การพิจารณา การไม่เบียดเบียนและธรรมที่ให้ระลึกถึงกัน ทรงระงับการวิวาทเสีย. เมื่อเป็นอย่างนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้า แม้ทรงพระชนม์อยู่ ก็ได้ทรงเป็นที่พึ่งอาศัยของพระสงฆ์ แม้เมื่อจะเสด็จปรินิพพานก็ทรงกระทำเหตุแห่งการไม่วิวาทกันไว้ เสด็จปรินิพพาน.
               เป็นความจริง มหาปเทส ๔ ที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงไว้ในพระสูตร เป็นที่พึ่งและเป็นที่อาศัยแก่ภิกษุทั้งหลายมาจนตราบเท่าทุกวันนี้. มหาปเทส ๔ ที่ทรงแสดงไว้ในขันธกะและปัญหาพยากรณ์ ๔ ข้อที่ตรัสไว้ในพระสูตร เป็นที่พึ่งอาศัยของภิกษุทั้งหลายได้เหมือนอย่างนั้น เพราะเหตุนั้นแหละ จึงตรัสว่า “อานนท์ ธรรมและวินัยอันใดที่เราตถาคตแสดงแล้ว บัญญัติแล้วแก่เธอทั้งหลาย เมื่อเราตถาคตล่วงไป ธรรมและวินัยอันนั้นจะเป็นศาสดาของพวกเธอ” ดังนี้.
               บทว่า อถ โข จุนฺโท สมณุทฺเทโส ความว่า พระเถระรูปนี้เป็นน้องชายคนเล็กของพระธรรมเสนาบดี. ในเวลายังเป็นอนุปสัมบัน (สามเณร) ภิกษุทั้งหลายเรียกท่านว่า จุนทะ สมณฺเทส แม้ในเวลาท่านเป็นพระเถระก็ยังคงเรียกอย่างนั้นอยู่. เพราะเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า จุนทะ สมณุเทส ดังนี้.
               บทว่า อุปสงฺกมิ ถามว่า เข้าไปหาเพราะเหตุไร.
               ได้ยินว่า เมื่อนาฏบุตรตายแล้ว พวกมนุษย์ในชมพูทวีปก็ยังประกาศถ้อยคำในที่นั้นๆ ว่า นิครนถ์นาฏบุตรปรากฏว่าเป็นศาสดาเอก. เพราะท่านกระทำกาละ เหล่าสาวกก็เกิดการโต้แย้งกัน เห็นปานนี้ ส่วนพระสมณโคดมปรากฏว่าเป็นดุจพระจันทร์และพระอาทิตย์ในชมพูทวีป เมื่อพระสมณโคดมปรินิพพานแล้ว เหล่าสาวกจักวิวาทโต้แย้งกันเช่นไรหนอ ดังนี้.
               พระเถระได้สดับถ้อยคำนั้นแล้วคิดว่า เราจักถือเอาถ้อยคำนี้ไปกราบทูลแก่พระทศพล พระศาสดาจักทรงกระทำเรื่องนั้นให้เป็นอัตถุปปัตติ เหตุเกิดขึ้นแห่งเรื่องราวแล้วจักตรัสเทศนาอย่างหนึ่ง. ท่านจึงออกไปแล้วเข้าไปหาท่านพระอานนท์ที่สามคาม ท่านยังไม่ไปสำนักของพระผู้มีพระภาคเจ้าโดยตรง เข้าไปหาท่านพระอานนท์ผู้เป็นอุปัชฌาย์. ได้ยินว่า ท่านมีความคิดอย่างนี้ อุปัชฌาย์ของเรามีปัญญามาก ท่านจักกราบทูลข่าวนี้แด่พระศาสดา ทีนั้น พระศาสดาจักทรงแสดงธรรมอันเหมาะสมกับวาทะ (ที่เกิดขึ้น).
               บทว่า กถาปาภฏํ แปลว่า ถ้อยคำอันเป็นต้นเรื่อง.
               จริงอยู่ ต้นทุน ท่านเรียกว่า ปาภฏะ. สมดังที่ตรัสไว้ว่า
                              อปฺปเกนปิ เมธาวี    ปาภเฏน วิจกฺขโณ
                              สมุฏฺฐาเปติ อตฺตานํ     อณุํ อคฺคึว สนฺธมํ.
                         ผู้มีปัญญาเห็นประจักษ์ ย่อมตั้งตนได้ด้วยทรัพย์
                         อันเป็นต้นทุน แม้มีประมาณน้อย เหมือนคนก่อ
                         กองไฟกองน้อยให้เป็นกองใหญ่ฉะนั้น ดังนี้.


               บทว่า ทสฺสนาย คือ เพื่อประโยชน์แก่การเข้าเฝ้า.
               ถามว่า ก็พระจุนทะไม่เคยเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าหรือ?
               ตอบว่า ไม่ใช่ไม่เคยเฝ้า.
               ก็ท่านผู้นี้ไปเฉพาะที่ปรนนิบัติวันหนึ่ง ๑๘ ครั้ง คือกลางวัน ๙ ครั้ง กลางคืน ๙ ครั้ง. แต่วันหนึ่งประสงค์จะไปร้อยพันครั้งก็ได้ (ท่าน) จะไปเพราะไม่มีเหตุก็หามิได้ ท่านถือเอาปัญหาสำคัญอย่างหนึ่งเท่านั้นจึงจะไป. วันนั้น ท่านประสงค์จะไปด้วยเรื่องนั้น จึงกล่าวอย่างนั้น.
               บทว่า อหิตาย ทุกฺขาย เทวมนุสฺสานํ ความว่า ความวิวาทเกิดขึ้นท่ามกลางสงฆ์ในวิหารแห่งหนึ่ง ย่อมเป็นไปเพื่อไม่เกื้อกูล เพื่อทุกข์ แก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลายอย่างไร.
               ก็เมื่อภิกษุสองรูปวิวาทกัน ศิษย์ของภิกษุเหล่านั้นในวิหารนั้นก็ย่อมวิวาทกัน เหมือนในโกสัมพิกขันธกะ ภิกษุณีสงฆ์ผู้รับโอวาทของภิกษุเหล่านั้น ก็วิวาทกัน. แต่นั้น อุปัฏฐากของภิกษุเหล่านั้นก็วิวาทกัน.
               ลำดับนั้น อารักขเทวดาของพวกมนุษย์ย่อมเป็นสองฝ่าย. ในสองฝ่ายนั้น อารักขเทวดาของพวกที่เป็นธรรมวาที ย่อมเป็นธรรมวาที. ของพวกที่เป็นอธรรมวาที ก็เป็นอธรรมวาที.
               ต่อจากนั้น ภุมมเทวดาผู้เป็นมิตรของอารักขเทวดาย่อมแตกกัน. เทวดาและมนุษย์ทั้งหมด ยกเว้นพระอริยสาวกย่อมเป็นสองพวก ต่อๆ กันไปอย่างนี้จนถึงพรหมโลก. ก็พวกอธรรมวาทีย่อมมากกว่าพวกธรรมวาที. ต่อแต่นั้นย่อมถือเอาสิ่งที่คนมากถือ พวกที่มากกว่านั่นแล สละธรรมเสีย ถือเอาแต่อธรรม พวกที่ถืออธรรมเหล่านั้น ก็ทำอธรรมให้บริบูรณ์อยู่ ก็จะพากันไปบังเกิดในอบาย.
               ความวิวาทกันเกิดขึ้นท่ามกลางสงฆ์ในวิหารหนึ่ง ย่อมมีเพื่อสิ่งไม่เกื้อกูล เพื่อทุกข์แก่ชนเป็นอันมาก ด้วยประการฉะนี้.
               บทว่า อภิญฺญา เทสิตา ความว่า (เรา) นั่งที่โคนไม้มหาโพธิ์ กระทำให้ประจักษ์แล้วประกาศให้รู้.
               บทว่า ปฏิสฺสยมานรูปา วิหรนฺติ คือ เข้าไปอาศัยอยู่. ด้วยคำว่า ภควโต อจฺจเยน ดังนี้ ท่านพระอานนท์กล่าวว่า บัดนี้ ภิกษุทั้งหลายกระทำพระผู้มีพระภาคเจ้าให้เป็นเชษฐบุคคล มีความเคารพอยู่. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เพราะพระองค์เป็นผู้มีพระเดชกล้า เพราะทรงเป็นผู้ที่ใครๆ เข้าเฝ้าได้ยาก ภิกษุทั้งหลายย่อมไม่อาจก่อความวิวาทให้เกิดขึ้น แต่เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าล่วงไปแล้ว พึงก่อวิวาทนั้นให้เกิดขึ้น.
               เมื่อจะทรงแสดงเหตุที่ทำความวิวาทนั้นให้เกิด จึงตรัสว่า อชฺฌาชีเว วา อธิปาฏิโมกฺเข วา.
               ในบทเหล่านั้น บทว่า อชฺฌาชีเว ได้แก่ เพราะเหตุแห่งอาชีวะ หรือเพราะเหตุแห่งการเลี้ยงชีพ. สิกขาบท ๖ ที่ทรงบัญญัติไว้ในคัมภีร์ปริวารโดยนัยมีอาทิว่า ภิกษุกล่าวอวดอุตตริมนุสสธรรม ต้องอาบัติปาราชิก ดังนี้ เว้นสิกขาบท ๖ เหล่านั้นเสีย สิกขาบททั้งมวลที่เหลือชื่อว่าปาติโมกข์อันยิ่ง.
               บทว่า อปฺปมตฺตโก โส อานนฺท ความว่า ธรรมดาว่า ความวิวาทที่เกิดขึ้นเพราะปรารภอาชีวะอันยิ่ง และปาติโมกข์อันยิ่ง ก็เพราะเหตุที่เป็นของละได้ง่าย เพราะกำหนดด้วยถ้อยคำของคนอื่นบ้าง ด้วยธรรมดาของตนบ้าง ฉะนั้นจึงตรัสว่า เล็กน้อย.
               ในบทว่า เล็กน้อยนั้น มีนัยดังต่อไปนี้.
               ภิกษุบางรูปในพระศาสนานี้คิดเป็นต้นว่า ผู้ไม่อวดอุตตริมนุสสธรรมไม่อาจได้อะไรๆ ดังนี้ เพราะเหตุอาชีวะ เพราะการเลี้ยงชีพ จึงพูดอวดอุตตริมนุสสธรรมบ้าง เที่ยวชักสื่อบ้าง ทำการพูดเลียบเคียงโดยนัยเป็นต้นว่า ภิกษุใดอยู่ในวิหารของท่าน ภิกษุนั้นเป็นพระอรหันต์ ดังนี้บ้าง ไม่เป็นไข้ ขอบิณฑบาตอันประณีต เพื่อประโยชน์ตนมาบริโภคบ้าง. ก็หรือว่า ภิกษุณีขอบิณฑบาตอันประณีตเหล่านั้น ย่อมต้องอาบัติปาฏิเทสนียะ ภิกษุรูปใดรูปหนึ่งทำการขอแกงและข้าวสุกอย่างใดอย่างหนึ่ง อันเป็นวัตถุแห่งอาบัติทุกกฏบ้าง ก็หรือว่าทำการล่วงละเมิดพระบัญญัติอย่างใดอย่างหนึ่ง เพื่อนร่วมพรหมจรรย์จำเธอได้อย่างนี้ว่า ประโยชน์อะไรของภิกษุนี้ด้วยลาภที่ได้นี้ ผู้ใดบวชในพระศาสนาแล้วเลี้ยงชีพด้วยมิจฉาอาชีวะ ผู้นั้นชื่อว่ากระทำการล่วงละเมิดพระบัญญัติ. เธอย่อมมีความคิดอย่างนี้ แม้โดยธรรมดาของตน.
               ภิกษุกำหนดว่า ประโยชน์อะไรของเราด้วยลาภนี้ เราบวชในธรรมวินัยที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ดีแล้วอย่างนี้ เลี้ยงชีพด้วยมิจฉาชีพนั้น ย่อมกระทำการล่วงละเมิดพระบัญญัติ ดังนี้ แล้วงดเว้นจากการกระทำนั้น. ความวิวาทย่อมเป็นอันละได้ง่าย เพราะกำหนดได้ด้วยถ้อยคำของคนอื่นบ้าง ด้วยประการอย่างนี้ เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสกะพระอานนท์นั้นว่าเล็กน้อย ดังนี้.
               คำว่า มคฺเค วา หิ อานนฺท ปฏิปทาย วา ความว่า ชื่อว่าความวิวาท พอถึงโลกุตรมรรคย่อมระงับไป โดยประการทั้งปวง ความวิวาทย่อมไม่มีแก่ท่านผู้บรรลุมรรคทั้งหลาย คำนี้ตรัสหมายถึงมรรคอันเป็นส่วนเบื้องต้น และปฏิปทาอันเป็นส่วนเบื้องต้น.
               ในคำนั้นมีนัยดังต่อไปนี้.
               คนทั้งหลายย่อมยกย่องภิกษุรูปนั้นไว้ในโลกุตรธรรม. ภิกษุนั้นถามสัทธิวิหาริกเป็นต้นผู้มาไหว้แล้วยืนอยู่ว่า พวกเธอมาทำไม. มาเพื่อจะถามกรรมฐานที่ควรทำไว้ในใจ ขอรับ. ภิกษุนั้นกล่าวว่า พวกเธอจงนั่งลง ฉันจักบอกกรรมฐานที่สามารถให้บรรลุพระอรหัตทันทีทันใดได้อย่างไร แล้วกล่าวว่า ภิกษุในพระศาสนานี้เข้าไปในที่อยู่ของตน แล้วนั่งกระทำไว้ในใจถึงมูลกรรมฐาน เมื่อเธอทำไว้ในใจถึงซึ่งกรรมฐานนั้น โอภาสย่อมเกิดขึ้น นี้ชื่อว่าปฐมมรรค. เธอทำญาณในโอภาสที่สองให้เกิดขึ้น. ทุติยมรรคย่อมเป็นอันบรรลุแล้ว ทำญาณในโอภาสที่สามและที่สี่ให้เกิดขึ้นด้วยวิธีอย่างนี้ ย่อมเป็นอันบรรลุมรรคและผล ด้วยเหตุเพียงเท่านี้ ดังนี้.
               ทีนั้น ภิกษุเหล่านั้นตกลงใจว่า ธรรมดาผู้มิใช่พระขีณาสพย่อมไม่อาจบอกกรรมฐานข้อหนึ่งได้ ท่านผู้นี้เป็นพระขีณาสพแน่ ดังนี้. สมัยต่อมาท่านบอกกรรมฐานแล้ว มรณภาพ. มนุษย์ทั้งหลายในบ้านที่เที่ยวภิกขาจารโดยรอบมาถามว่า ท่านขอรับ ใครๆ ได้ถามปัญหากะพระเถระหรือเปล่า.
               ภิกษุทั้งหลายกล่าวว่า อุบาสกอุบาสิกาทั้งหลาย ก็ในกาลก่อนพระเถระได้บอกปัญหาแก่พวกอาตมาไว้. พวกเขาจัดแจงมณฑป ดอกไม้ เรือนยอดไม้ สร้างเครื่องปิดตาและเครื่องปิดหน้าด้วยทองคำ บูชาด้วยเครื่องหอมและระเบียบดอกไม้เป็นต้น เล่นสาธุกีฬาตลอด ๗ วัน แล้วทำฌาปนกิจ ถือเอาอัฐิไปทำเจดีย์ (บรรจุไว้).
               พระอื่นที่จรมา มายังวิหาร ล้างเท้าแล้ว คิดว่าจักเยี่ยมพระมหาเถระ จึงไปถามว่า ท่านผู้มีอายุ พระมหาเถระไปไหน. ปรินิพพานนานแล้วขอรับ. ท่านผู้มีอายุ พระเถระผู้ทำมรรคและผลให้เกิด กระทำสิ่งที่ทำได้ยาก ท่านผู้มีอายุ พวกท่านได้ถามปัญหาไว้หรือ. ท่านผู้เจริญ พระเถระเมื่อบอกกรรมฐานแก่ภิกษุทั้งหลาย บอกแล้วโดยทำนองนี้. ผู้มีอายุ นั่นไม่ใช่มรรค นั่นชื่อว่าวิปัสสนูปกิเลส พวกท่านไม่รู้ ท่านผู้มีอายุ พระเถระเป็นปุถุชน.
               ภิกษุเหล่านั้นทำการทะเลาะกัน ลุกลามขึ้นว่า ภิกษุทั้งหลายในวิหารทั้งสิ้น และมนุษย์ทั้งหลายในบ้านที่เที่ยวภิกขาจาร ย่อมไม่รู้ พวกท่านเท่านั้นรู้ พวกท่านมาโดยหนทางไหน พวกท่านไม่เห็นเจดีย์ที่ประตูวิหารหรือ. ก็ภิกษุผู้มีวาทะอย่างนี้ จะเป็นร้อยรูปพันรูปก็ตาม ตราบใดยังไม่ละลัทธินั้น สวรรค์ก็ดี มรรคก็ดี ก็ถูกห้ามอยู่ตราบนั้น. คนอื่นๆ เป็นเช่นนั้นเหมือนกัน เมื่อจะบอกกรรมฐานย่อมบอกอย่างนี้ว่า พึงเอาจิตนั่นแหละ ยกกระเบื้อง ๓ แผ่นขึ้นวางบนเตา ๓ เตา แล้วก่อไฟข้างใต้ เอาจิตนั่นแหละ เบิกอาการ ๓๒ ของตนใส่ลงบนกระเบื้อง พึงเอาจิตนั่นแหละใช้ท่อนไม้ให้พลิกไปพลิกมา แล้วพึงย่าง๑- เมื่ออาการ ๓๒ ถูกไฟเผา เถ้าที่มี (เหลือ) อยู่นั้น พึงใช้ลมปากเป่าให้ปลิวไป ด้วยวิธีการเท่านี้ สมณะนี้ย่อมชื่อว่ามีบาปอันขจัดแล้ว.
____________________________
๑- ม. ภชชิตพพํ

               คำที่เหลือพึงให้พิสดารโดยนัยก่อนนั่นแล.
               อาจารย์อื่นอีกย่อมบอกอย่างนี้ว่า เอาจิตนั่นแหละวางภาชนะใหญ่แล้วประกอบเนยเหลว เอาจิตนั่นแหละเบิกอาการ ๓๒ ของตนใส่ลงในภาชนะใหญ่นั้น ใส่เนยเหลวลงแล้วกวน อาการ ๓๒ ที่ถูกกวนย่อมเหลว. เมื่อเหลว ฟองก็ย่อมผุดขึ้นข้างบน. ฟองนั้นพึงบริโภคได้. ด้วยการทำเพียงเท่านี้ อมตะจักชื่อว่าเป็นอันท่านทั้งหลายบริโภคแล้ว.
               เบื้องหน้าแต่นี้ไป คำทั้งหมดมีคำว่า ครั้งนั้น ภิกษุเหล่านั้น ดังนี้เป็นต้น พึงให้พิสดารโดยนัยก่อนเหมือนกัน.
               บัดนี้เมื่อทรงแสดงมูลแห่งวิวาทที่จะพึงเกิดขึ้นอย่างนั้น จึงตรัสคำว่า ฉยิมานิ ดังนี้เป็นต้น.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อคารโว ได้แก่ เว้นจากความเคารพ.
               บทว่า อปฺปติสฺโส คือ ไม่ยำเกรง ได้แก่ ไม่ประพฤติถ่อมตน.
               ก็ในอธิการนี้พึงทราบความดังนี้
               ภิกษุใด เมื่อพระศาสดายังทรงพระชนม์อยู่ไม่ไปปรนนิบัติ ๓ เวลา. เมื่อพระศาสดาไม่มีฉลองพระบาท เสด็จจงกรม สวมรองเท้าจงกรม. เมื่อเสด็จจงกรมอยู่ในที่จงกรมต่ำ (ตัว) อยู่ในที่สูง. ในที่ที่แลเห็นพระศาสดา คลุมไหล่ทั้งสองข้าง กั้นร่ม สวมรองเท้า ถ่ายอุจจาระปัสสาวะ ณ ที่ท่าอาบน้ำ. หรือว่า เมื่อพระศาสดาเสด็จปรินิพพานแล้ว ไม่ไปไหว้พระเจดีย์ กระทำกิจทั้งปวงดังกล่าว ในที่ที่พระเจดีย์ปรากฏและในที่ที่แลเห็นพระศาสดา. และเมื่อภิกษุทั้งหลายอื่นกล่าวว่า เพราะเหตุไร ท่านจึงทำอย่างนี้ การกระทำนี้ไม่ควร ธรรมดาละอายพระสัมมาสัมพุทธเจ้าย่อมควร ดังนี้ กลับกล่าวว่า ท่านจงนิ่งเสียเถิด ท่านพูดอะไรว่า พระพุทธเจ้าๆ ดังนี้ นี้ชื่อว่า ไม่มีความเคารพในพระศาสดา.
               ส่วนภิกษุใด เมื่อเขาป่าวร้องการฟังธรรม ไม่ไปโดยเคารพ ไม่ฟังธรรมโดยเคารพ หลับเสีย หรือนั่งเจรจาอยู่ ไม่เรียน ไม่สอนโดยเคารพ. เมื่อกล่าวว่า ทำไมท่านไม่ทำความเคารพในพระธรรม ก็กล่าวว่า ท่านจงเป็นผู้นิ่งเสีย ท่านร้องว่า ธรรมๆ อะไรชื่อว่าธรรม นี้ชื่อว่า ไม่เคารพในพระธรรม.
               ส่วนภิกษุใดอันพระเถระไม่เชื้อเชิญแสดงธรรม กล่าวถามปัญหา เดิน ยืน นั่ง เบียดเสียดพระผู้ใหญ่ เอาผ้ารัดเข่า หรือเอามือรัดเข่า คลุมไหล่ทั้งสองข้าง ท่ามกลางสงฆ์ กั้นร่ม สวมรองเท้า. เมื่อภิกษุทั้งหลายแม้จะพูดว่าควรละอายภิกษุสงฆ์ ก็กล่าวคำเป็นต้นว่า ท่านจงนิ่งเสียเถิด ท่านร้องว่าสงฆ์ๆ อะไรเป็นสงฆ์ เนื้อสงฆ์ แพะสงฆ์หรือ นี้ชื่อว่าไม่เคารพในพระสงฆ์.
               ก็เมื่อทำความไม่เคารพแม้ในภิกษุรูปหนึ่ง ย่อมเป็นอันทำความไม่เคารพในสงฆ์ด้วย.
               ก็เมื่อไม่ทำสิกขา ๓ ให้บริบูรณ์นั่นแล ชื่อว่าไม่เคารพในสิกขา.
               บทว่า อชฺฌตฺตํ วา คือ ในตนและบริษัทของตน.
               บทว่า พหิทฺธา วา คือ ในคนอื่น หรือในบริษัทของคนอื่น.
               บัดนี้ วิวาทที่เกิดขึ้นเพราะอาศัยฐานะ ๖ ประการนี้ ขยายตัว ย่อมต้องอธิกรณ์ใด เพื่อจะทรงแสดงอธิกรณ์นั้น จึงตรัสว่า จตฺตารีมานิ ดังนี้เป็นต้น. ก็ในพระดำรัสนั้น ชื่อว่า อธิกรณ์ เพราะต้องกระทำให้ยิ่งด้วยสมถะทั้งหลายที่ดำเนินอยู่ เพื่อต้องการระงับ. วิวาทด้วย อธิกรณ์นั้นด้วย ชื่อว่าวิวาทาธิกรณ์. แม้ในอธิกรณ์นอกนี้ ก็นัยนี้แหละ. บัดนี้ วิวาท แม้นั้นเมื่อเป็นอธิกรณ์ ๔ แม้เหล่านี้แล้วก็ยังขยายเพิ่มขึ้น ย่อมระงับได้ด้วยสมถะทั้งหลายเหล่าใด เพื่อจะทรงแสดงสมถะเหล่านั้น จึงตรัสคำว่า สตฺต โข ปนีเม ดังนี้เป็นต้น.
               ในพระดำรัสนั้น ที่ชื่อว่า อธิกรณสมถะ เพราะอธิกรณ์สงบระงับ.
               บทว่า อุปฺปนฺนุปฺปนฺนานํ แปลว่า เกิดขึ้นแล้วเกิดขึ้นเล่า.
               บทว่า อธิกรณานํ ได้แก่ อธิกรณ์ ๔ มีวิวาทาธิกรณ์เป็นต้นเหล่านั้น.
               บทว่า สมถาย วูปสมาย แปลว่า เพื่อสงบและเพื่อระงับ.
               พึงให้อธิกรณสมถะ ๗ ประการเหล่านี้ คือ พึงให้สัมมุขาวินัย ฯลฯ ติณวัตถารกะ.
               ในอธิกรณสมถะนั้น มีวินิจฉัยกถาดังต่อไปนี้.
               พึงทราบวินิจฉัยในอธิกรณ์ก่อน วิวาทอันใดของภิกษุทั้งหลายผู้วิวาทกันอยู่ด้วยเรื่อง ๑๘ เรื่อง (มีเรื่อง) ว่าธรรมหรือไม่ใช่ธรรม นี้ชื่อว่า วิวาทาธิกรณ์.
               การโจท คือการว่ากล่าวและการทักท้วงของภิกษุทั้งหลายผู้โจทด้วยความวิบัติแห่งศีล หรือความวิบัติแห่งอาจาระ ทิฏฐิ และอาชีวะ นี้ชื่อว่าอนุวาทาธิกรณ์.
               กองอาบัติ ๗ กอง คือ ที่มาในมาติกา ๕ กอง ในวิภังค์ ๒ กอง ชื่อว่าอาปัตตาธิกรณ์.
               การทำสังฆกรรม ๔ อย่าง มีอปโลกนกรรมเป็นต้น นี้ชื่อว่า กิจจาธิกรณ์.
               ในอธิกรณ์ ๔ นั้น วิวาทาธิกรณ์ ย่อมระงับได้ด้วยสมถะ ๒ คือ สัมมุขาวินัยและเยภุยยสิกา. อธิกรณ์ที่สงบระงับด้วยสัมมุขาวินัยนั่นแหละ เกิดขึ้นในวิหารใด มอบให้สงฆ์ในวิหารนั้นนั่นแหละ หรือไปในที่ใด มอบให้แก่สงฆ์ในที่นั้นนั่นแหละหรือในระหว่างทาง สำหรับพวกภิกษุผู้ไปเพื่อระงับ (อธิกรณ์) ในที่อื่น สงฆ์หรือคณะในที่นั้นไม่อาจระงับได้ ก็สมมติด้วยอุพพาหิกาญัตติ ยกเลิกเสีย หรืออันบุคคลทั้งหลายตัดสินในที่นั้น ย่อมระงับได้.
               ก็ความพร้อมหน้าสงฆ์ ความพร้อมหน้าธรรม ความพร้อมหน้าวินัย ความพร้อมหน้าบุคคล ในอธิกรณ์ที่ระงับด้วยอาการอย่างนี้ นี้ชื่อว่า สัมมุขาวินัย.
               ก็บรรดาความพร้อมหน้านั้น ความที่การกสงฆ์พร้อมหน้าด้วยอำนาจสังฆสามัคคี ชื่อว่าความพร้อมหน้าสงฆ์. ความที่เรื่องอันจะพึงระงับมี ชื่อว่าความพร้อมหน้าธรรม. การระงับโดยวิธีที่อธิกรณ์จะพึงระงับได้ ชื่อว่าความพร้อมหน้าวินัย. การที่มีผู้วิวาทกับมีเรื่องวิวาทเกิดพร้อมหน้าคู่วิวาท ผู้มีประโยชน์ขัดกัน ชื่อว่าความพร้อมหน้าบุคคล.
               แต่เพราะอธิกรณ์ระงับด้วยอุพพาหิกาญัตติ ความพร้อมหน้าสงฆ์ในที่นี้ก็ย่อมเสียไป. ก่อนอื่น อธิกรณ์ย่อมระงับด้วยสัมมุขาวินัยเท่านั้นอย่างนี้ ก็หากว่า แม้อย่างนั้น อธิกรณ์ก็ไม่ระงับ เมื่อเป็นเช่นนั้น ภิกษุที่สมมติด้วยอุพพาหิกาญัตติ พึงมอบอธิกรณ์นั้นแก่สงฆ์เท่านั้นว่า พวกกระผมไม่อาจระงับได้. แต่นั้น สงฆ์สมมติภิกษุผู้ประกอบด้วยองค์ ๕ ให้เป็นผู้แจกสลาก.
               ภิกษุผู้ได้รับสมมตินั้น ให้จับสลากด้วยอำนาจการจับสลากอย่างใดอย่างหนึ่ง ในบรรดาการจับสลาก ๓ อย่าง มีอย่างลับ อย่างเปิดเผย และอย่างกระซิบที่หูของตน. เพราะธรรมวาทีบุคคลในบริษัทที่มาประชุมกันมีมากกว่า ธรรมวาทีบุคคลย่อมกล่าวโดยประการใด อธิกรณ์ที่ระงับโดยประการนั้น ย่อมเป็นอันสงบระงับด้วยสัมมุขาวินัยและเยภุยยสิกา. บรรดาอธิกรณสมถะเหล่านั้น สัมมุขาวินัยมีนัยดังกล่าวแล้วนั่นแล. ก็การกระทำกรรมใดโดยมีพวกมากอย่างนี้ ชื่อว่าเยภุยยสิกา.
               วิวาทาธิกรณ์ย่อมระงับด้วยสมถะ ๒ อย่าง อนุวาทาธิกรณ์ย่อมระงับด้วยสมถะ ๔ อย่าง คือด้วยสัมมุขาวินัย สติวินัย อมูฬหวินัยและตัสสปาปิยสิกา. เมื่อระงับด้วยสัมมุขาวินัยนั่นแล วินัยธรฟังคำของผู้เป็นโจทก์และจำเลยเหล่านั้นแล้ว วินิจฉัยอย่างนี้ว่า ถ้าอาบัติไรๆ ไม่มี ให้ทั้งสองฝ่ายขอขมาโทษ ถ้ามี ในเรื่องนี้ก็เป็นอาบัติชื่อนี้ ดังนี้ (อธิกรณ์) ย่อมระงับ. ในอธิกรณสมถะเหล่านั้น ลักษณะของสัมมุขาวินัย มีนัยดังกล่าวแล้วนั่นแล.
               ก็ในกาลใด ภิกษุขีณาสพถูกกำจัดด้วยศีลวิบัติอันไม่มีมูลของสติวินัย สงฆ์ให้สติวินัยด้วยญัตติจตุตถกรรม ในกาลนั้นอธิกรณ์ย่อมเป็นอันระงับด้วยสัมมุขาวินัยและสติวินัย. ก็เมื่อให้สติวินัยแล้ว ใครๆ ย่อมโจทไม่ขึ้นในบุคคลนั้นอีก.
               ในกาลใด ภิกษุเป็นบ้า เมื่อกระทำอัชฌาจารอันมิใช่ของสมณะ ด้วยอำนาจของความเป็นบ้า ถูกภิกษุทั้งหลายกล่าวว่า ท่านผู้มีอายุจงระลึกอาบัติเห็นปานนี้ ดังนี้ แม้กล่าวว่า ท่านผู้มีอายุ ผมเป็นบ้า กระทำกรรมนั้น ผมระลึกข้อนั้นไม่ได้ จึงถูกภิกษุทั้งหลายโจทเอา ย่อมขออมูฬหวินัย เพื่อต้องการมิให้โจทอีก แม้สงฆ์ก็ย่อมให้อมูฬหวินัยแก่เธอด้วยญัตติจตุตถกรรม ในกาลนั้นอธิกรณ์ย่อมเป็นอันระงับด้วยสัมมุขาวินัยและอมูฬหวินัย. แต่เมื่อให้อมูฬหวินัยแล้ว แต่เพราะความบ้านั้นเป็นปัจจัย ใครๆ ก็โจทไม่ขึ้นในบุคคลนั้นอีก.
               ก็ในกาลใด เมื่อบุคคลถูกโจทด้วยปาราชิกหรือเฉียด (ฉายา) ปาราชิก ให้การกลับไปกลับมา เป็นคนเลวเพราะเป็นผู้มีความชั่วมาก สงฆ์สำคัญอยู่ว่า ถ้าผู้นี้จักไม่เป็นมูลเฉท (คือขาดจากพระ) ประพฤติชอบแล้ว จักได้การเรียกเข้าหมู่ ถ้าเป็นมูลเฉท ก็จักมีแต่นาสนะ (คือการกำจัดออกไป) แก่เธอนี้เท่านั้น ดังนี้ กระทำตัสสปาปิยสิกาด้วยญัตติจตุตถกรรม. ในกาลนั้น อธิกรณ์ย่อมเป็นอันระงับด้วยสัมมุขาวินัยและตัสสปาปิยสิกา.
               อนุวาทาธิกรณ์ย่อมระงับด้วยสมถะ ๔ ประการอย่างนี้ ด้วยประการฉะนี้.
               อาปัตตาธิกรณ์ย่อมระงับด้วยสมถะ ๓ คือ สัมมุขาวินัย ปฏิญญาตกรณะและติณวัตถารกะ. อาปัตตาธิกรณ์นั้นย่อมไม่มีการระงับด้วยสัมมุขาวินัยอย่างเดียว. ก็ในกาลใด ภิกษุแสดงอาบัติเบาในสำนักภิกษุรูปหนึ่ง หรือในท่ามกลางสงฆ์ ในกาลนั้น อาปัตตาธิกรณ์ย่อมระงับด้วยสัมมุขาวินัยและปฏิญญาตกรณะ. ในสมถะ ๒ อย่างนั้น จะว่าโดยสัมมุขาวินัยก่อน ความพร้อมหน้าของผู้แสดงและผู้รับแสดงนั้น ชื่อว่าความพร้อมหน้าบุคคล. ที่เหลือมีนัยดังกล่าวนั่นแล.
               ในเวลาแสดงแก่บุคคล และแก่คณะ ความพร้อมหน้าสงฆ์ย่อมเสียไป ก็ในที่นี้ การกระทำ (แสดงอาบัติ) ว่า ท่านพึงสำรวมต่อไป ดังนี้. ตามการปฏิญญาว่า ท่านขอรับ ผมต้องอาบัติชื่อนี้ ดังนี้ และว่า ขอรับ ผมเห็นดังนี้ ชื่อว่าปฏิญญาตกรณะ. การขออยู่ปริวาสเป็นต้น ในอาบัติสังฆาทิเสส และการให้ปริวาสเป็นต้น ตามปฏิญญา ชื่อว่าปฏิญญาตกรณะ. ส่วนภิกษุผู้กระทำความบาดหมางกันเกิดเป็นสองฝ่าย ประพฤติล่วงอัชฌาจารอันมิใช่ของสมณะเป็นอันมาก เมื่อกลับเกิดลัชชีธรรมขึ้นใหม่ เห็นโทษในการที่จะให้กันและกันกระทำ (คืน) อาบัติว่า ถ้าพวกเราจักให้กันและกันกระทำ (คืน) จากอาบัติเหล่านี้ บางทีอธิกรณ์นั้นก็จะพึงเป็นไปเพื่อความเป็นอธิกรณ์ที่รุนแรงดังนี้ แล้วกระทำติณวัตถารกะ การประนีประนอมดังกลบด้วยหญ้าในกาลใด ในกาลนั้น อธิกรณ์ย่อมระงับด้วยสัมมุขาวินัยและด้วยติณวัตถารกะ.
               ก็ในเรื่องติณวัตถารกะนั้น ภิกษุผู้อยู่ในหัตถบาสมีประมาณเท่าไร ไม่ทำความเห็นแย้งออกไปอย่างนี้ว่า กรรมนั้นไม่ชอบใจข้าพเจ้าแล้ว ไม่รื้อฟื้นว่า กรรมทำไม่ดี กรรมต้องทำใหม่ เป็นผู้กลับอาบัติทั้งปวง แม้ของภิกษุทั้งปวง ยกเว้นอาบัติมีโทษหยาบและอาบัติที่เกี่ยวกับคฤหัสถ์ ย่อมออกไป.
               อาปัตตาธิกรณ์ย่อมระงับด้วยสมถะ ๓ ด้วยประการอย่างนี้.
               กิจจาธิกรณ์ระงับด้วยสมถะเดียว คือสัมมุขาวินัยเท่านั้น. อธิกรณ์ ๔ นี้ย่อมระงับด้วยสมถะ ๗ อย่างนี้ตามควร. เพราะเหตุนั้น จึงตรัสว่า พึงให้สัมมุขาวินัย ฯลฯ ติณวัตถารกะ เพื่อสงบ เพื่อระงับอธิกรณ์ทั้งหลายที่เกิดขึ้นแล้วเกิดขึ้นเล่าดังนี้.
               นัยแห่งการวินิจฉัยในเรื่องอธิกรณสมถะนี้ เพียงเท่านี้. ส่วนความพิสดารมาในสมถขันธกะนั้นแล. แม้การวินิจฉัยอธิกรณ์นั้น ก็ได้กล่าวไว้แล้วในสมันตปาสาทิกา.
               ก็ในพระสูตรนี้ ความพิสดารมีเป็นต้นว่า อิธานนฺท ภิกฺขู วิวทนฺติ ดังนี้ ซึ่งได้กล่าวไว้แล้วนั้น พึงทราบว่า ตรัสไว้โดยนัยนั้น โดยสังเขปแท้.
               พึงทราบวินิจฉัยในคำว่า ธรรม เป็นต้น ในพระบาลีนั้นโดยปริยายแห่งพระสูตรก่อน. กุศลกรรมบถ ๑๐ ชื่อว่าธรรม อกุศลกรรมบถ ๑๐ ชื่อว่าอธรรม. โพธิปักขิยธรรม ๓๗ ประการ ซึ่งมาในหนหลังว่า สติปัฏฐาน ๔ เป็นต้นก็ชื่อว่าธรรมเหมือนกัน. สภาวธรรมนี้คือ สติปัฏฐาน ๓ สัมมัปปธาน ๓ อิทธิบาท ๓ อินทรีย์ ๖ พละ ๖ โพชฌงค์ ๘ และมรรคมีองค์ ๙ และสังกิลิฏฐธรรม มีอาทิว่า อุปาทาน ๔ นิวรณ์ ๕ ดังนี้ ชื่อว่าอธรรม.
               ในบรรดาธรรมและอธรรมนั้น ภิกษุถือเอาส่วนแห่งอธรรมส่วนหนึ่งอย่างใดอย่างหนึ่งแล้วปรึกษากันว่า พวกเราจักกระทำอธรรมนี้ว่าธรรม เมื่อเป็นอย่างนี้ ตระกูลอาจารย์ของพวกเราจักเป็นตระกูลนำออก (จากทุกข์) และพวกเราจักเป็นผู้ปรากฏในโลกดังนี้ แล้วกล่าวอธรรมนั้นว่า นี้เป็นธรรม ดังนี้ ย่อมโต้แย้งกันว่า ธรรม. ถือเอาส่วนแห่งธรรมส่วนหนึ่งในบรรดาส่วนแห่งธรรมทั้งหลาย เหมือนอย่างนั้นแหละ แล้วกล่าวว่า นี้เป็นอธรรม โต้แย้งกันว่า อธรรม. แต่เมื่อว่าโดยปริยายพระวินัย กรรมที่ทักท้วงให้ระลึกด้วยเรื่องที่เป็นจริง แล้วกระทำตามปฏิญญา ชื่อว่าธรรม.
               ส่วนกรรมที่ทักท้วงให้ระลึกด้วยเรื่องที่ไม่เป็นจริงแล้วทำตามปฏิญญา ชื่อว่าอธรรม. แม้ในธรรมและอธรรมนั้น กล่าวอธรรมว่า นี้ธรรม ชื่อว่าวิวาทกันเรื่องธรรม. กล่าวธรรมว่า นี้อธรรม ชื่อว่าวิวาทกันเรื่องอธรรม.
               แต่เมื่อว่าโดยปริยายพระสูตร สภาวะนี้ คือการกำจัดราคะ โทสะและโมหะให้พินาศ การสำรวมการละ การพิจารณา ชื่อว่าวินัย. สภาวะอันนี้ คือการไม่กำจัดราคะเป็นต้นให้พินาศ การไม่สำรวม การไม่ละ การไม่พิจารณา ชื่อว่าอวินัย.
               ว่าโดยปริยายพระวินัย สภาวะนี้ คือ วัตถุสมบัติ ญัตติสมบัติ อนุสาวนสมบัติ สีมาสมบัติ ปริสสมบัติ ชื่อว่าวินัย. สภาวะนี้คือ วัตถุวิบัติ ฯลฯ ปริสวิบัติ ชื่อว่าอวินัย. แม้ในวินัยและอวินัยเหล่านั้น กล่าวอวินัยอย่างใดอย่างหนึ่งว่า นี้วินัย ชื่อว่าวิวาทกันเรื่องวินัย. กล่าววินัยว่า อวินัย ชื่อว่าวิวาทกันเรื่องอวินัย.
               บทว่า ธมฺมเนตฺติ สมนุมชฺชิตพฺพา ความว่า สายเชือกคือธรรม พึงพิจารณา คือพึงขัดสีสอบสวนด้วยญาณ ก็แบบธรรมนี้นั้น ท่านกล่าวว่า มาแล้วในมหาวัจฉโคตตสูตรอย่างนี้ว่า วัจฉะ ดังนั้นแล ธรรม ๑๐ ประการนี้เป็นอกุศล ธรรม ๑๐ ประการนี้เป็นกุศล ดังนี้. แบบธรรมนั้นจะเป็นอย่าง (ที่ตรัสไว้ในพระสูตร) นี้ หรือเป็นธรรมและวินัยที่ตรัสไว้ในที่นี้ก็ได้.
               บทว่า ยถา ตตฺถ สเมติ ความว่า ย่อมลงกันในแบบแห่งธรรมนั้นด้วยประการใด คือธรรมย่อมเป็นธรรม อธรรมย่อมเป็นอธรรม วินัยย่อมเป็นวินัย และอวินัยย่อมเป็นอวินัย.
               ในบทว่า ตถา ตํ นี้ ความว่า อธิกรณ์นั้นพึงระงับโดยประการนั้น.
               ในบทว่า เอกจฺจานํ อธิกรณานํ ดังนี้ ในที่นี้ทรงแสดงเฉพาะวิวาทาธิกรณ์ไว้อย่างเดียว. ส่วนสัมมุขาวินัย ย่อมไม่ได้ในอธิกรณ์ไรๆ หามิได้.
               ก็วิวาทาธิกรณ์นี้นั้น เพราะเหตุที่ระงับด้วยสมถะ ๒ อย่าง คือสัมมุขาวินัยและเยภุยยสิกา ฉะนั้น ในบัดนี้ แม้เมื่อถึงวาระของสติวินัย ตามลำดับหัวข้อที่วางไว้ในหนหลัง พระผู้มีพระภาคเจ้าก็จะไม่ตรัสถึงสติวินัยนั้น เมื่อจะทรงแสดงสมถะที่สองของวิวาทาธิกรณ์นั้นแหละก่อน จึงตรัสว่า กถญฺจานนฺท เยภฺยฺยสิกา ดังนี้เป็นต้น.
               ในพระดำรัสนั้น บทว่า พหุตรา คือ อย่างต่ำเกินกว่า ๒, ๓ สมถะ.
               คำที่เหลือในที่นี้ พึงทราบโดยนัยดังกล่าวแล้วในหนหลัง.
               บัดนี้ เพื่อจะตรัสสมถะที่เหลือจากสมถะที่พิสดารแล้ว ให้พิสดารไปตามลำดับ ตั้งแต่สติวินัยที่ยังมิได้ตรัสให้พิสดารเป็นต้นไป จึงตรัสพระดำรัสว่า กถญฺจานนฺท สติวินโย ดังนี้เป็นต้น.
               บรรดาบทเหล่านั้น ในบทว่า ปาราชิกสามนฺเตน ความว่า ใกล้เคียงมี ๒ คือ ใกล้เคียงขันธะ (กองอาบัติ) ใกล้เคียงตัวอาบัติ ๑ บรรดาใกล้เคียง ๒ อย่างนั้น ใกล้เคียงส่วนหลังของกองอาบัติส่วนหน้าอย่างนี้ คือ ปาราชิกาปัตติขันธ์ สังฆาทิเสสาปัตติขันธ์ ถุลลัจจัย ปาจิตตีย์ ปาฏิเทสนียะ ทุกกฎและทุพภาสิตาปัตติขันธ์ ชื่อว่าใกล้เคียงขันธ์. ใกล้เคียงอันนี้ คือในส่วนเบื้องแรกของปฐมปาราชิก เป็นทุกกฎ สำหรับที่เหลือเป็นถุลลัจจัย ชื่อว่าใกล้เคียงอาบัติ. ในบรรดาใกล้เคียงนั้น ชื่อว่า ครุกาบัติ ย่อมมีในใกล้เคียงขันธ์ หรือในใกล้เคียงปาราชิก.
               บทว่า สรตายสฺมา ตัดบทเป็น สรตุ อายสฺมา (แปลว่าท่านผู้มีอายุจงระลึก).
               ในบทว่า เอกจฺจานํ อธิกรณานํ ทรงแสดงเฉพาะอนุวาทาธิกรณ์เท่านั้น.
               บทว่า ภาสิตปริกนฺตํ ได้แก่ พูดด้วยวาจาและพยายามด้วยกาย. อธิบายว่า ทำรอบด้าน.
               ในบทว่า เอกจฺจานํ นี้ก็ทรงประสงค์เอาเฉพาะอนุวาทาธิกรณ์เท่านั้น.
               ในปฏิญญาตกรณะ ทรงแสดงอาปัตตาธิกรณ์ด้วยคำว่า “เอกจฺจานํ”
               บทว่า ทวา แปลว่า ผลุนผลัน.
               บทว่า รวา (พลั้งพลาด) ได้แก่ ต้องการพูดอย่างหนึ่ง แต่กลับพูดไปเสียอีกอย่างหนึ่ง.
               คำว่า เอวํ โข อานนฺท ตสฺสปาปิยสิกา โหติ ความว่า ความที่บุคคลนั้นเป็นผู้มีบาปหนา ทรงแสดงวัตถุแห่งกรรมด้วยความเป็นคนมีบาปหนานี้. เพราะต้องทำกรรม (คือสมถะ) อันนั้น แก่บุคคลเห็นปานนั้น. เพราะอธิกรณ์ย่อมระงับด้วยกรรม มิใช่ระงับด้วยความเป็นบาปหนาของบุคคล.
               อีกอย่างหนึ่ง อนุวาทาธิกรณ์นั่นแหละ พึงทราบว่า อธิกรณ์ ในที่นี้.
               ในคำว่า กถญฺจานนฺท ติณวตฺถารโก ดังนี้ ท่านกล่าวกรรมนี้ว่า ชื่อว่าติณวัตถารกะ เพราะเป็นเสมือนกลบไว้ด้วยหญ้า. เปรียบเทียบเหมือนคูถหรือมูตร บุคคลกระทบเข้าย่อมโชยกลิ่น เพราะเป็นของเหม็น แต่เมื่อมันถูกปกปิดกลบไว้ด้วยหญ้า กลิ่นนั้นย่อมไม่โชยไปฉันใด อธิกรณ์ที่ถึงมูลเหตุน้อยใหญ่อันชั่วหยาบ ยังไม่สงบ ย่อมเป็นไปเพื่อความแตกสามัคคี เพราะหยาบร้าย เมื่อสงบระงับด้วยกรรมนี้ ย่อมเป็นอันระงับดุจคูถที่ถูกกลบปิดไว้ด้วยหญ้าฉันนั้นเหมือนกันแล.
               ด้วยคำว่า อิธานนฺท ภิกฺขูนํ ภณฺฑนชาตานํ ดังนี้เป็นต้น ทรงแสดงเพียงอาการอธิกรณ์นั้นเท่านั้น. ส่วนกรรมวาจาที่มาในขันธกะเท่านั้น เป็นประมาณในที่นี้.
               ก็ในคำนี้ว่า ฐเปตฺวา ถุลฺลวชฺชํ ฐเปตฺวา คิหิปฏิยุตฺตํ ดังนี้ อาบัติปาราชิกและอาบัติสังฆาทิเสสอันมีโทษชั่วหยาบ ชื่อว่ามีโทษชั่วหยาบ. อาบัติที่ต้องเพราะขู่ ตะเพิด และรับคำอันชอบธรรมด้วยถ้อยคำอันเลวต่อคฤหัสถ์ทั้งหลาย ชื่อว่าอาบัติที่เกี่ยวข้องกับคฤหัสถ์.
               ในบทว่า อธิกรณํ นี้ พึงทราบเฉพาะอาปัตตาธิกรณ์เท่านั้น. ก็ในที่นี้ ไม่ตรัสคำอะไรๆ ด้วยอำนาจกิจจาธิกรณ์. แม้ไม่ตรัสไว้ก็จริง ถึงอย่างนั้น พึงทราบการระงับกิจจาธิกรณ์นั้นก็ด้วยสัมมุขาวินัยเท่านั้น.
               ในคำว่า ฉยิเม อานนฺท ธมฺมา สาราณียา ดังนี้ ทรงเริ่มพระสูตรเนื่องด้วยการทะเลาะกันในหนหลัง สาราณียธรรมก็มาแล้วข้างหน้า ดังนั้น เทศนาย่อมเป็นอันมาแล้วตามอนุสนธิ ก็ในโกสัมพิยสูตรหนหลัง ตรัสสัมมาทิฏฐิในโสดาปัตติมรรค ในพระสูตรนี้พึงทราบว่า ตรัสสัมมาทิฏฐิในโสดาปัตติผล.
               บทว่า อณุํ คือ มีโทษน้อย. บทว่า ถูลํ คือมีโทษมาก.
               คำที่เหลือในที่ทุกแห่งมีเนื้อความง่ายทั้งนั้นแล.

               จบอรรถกถาสามคามสูตรที่ ๔               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ เทวทหวรรค สามคามสูตร จบ.
อ่านอรรถกถา 14 / 1อ่านอรรถกถา 14 / 42อรรถกถา เล่มที่ 14 ข้อ 51อ่านอรรถกถา 14 / 67อ่านอรรถกถา 14 / 853
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=14&A=940&Z=1184
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=10&A=536
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=10&A=536
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๑๙  กันยายน  พ.ศ.  ๒๕๔๙
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :