ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 14 / 1อ่านอรรถกถา 14 / 638อรรถกถา เล่มที่ 14 ข้อ 653อ่านอรรถกถา 14 / 673อ่านอรรถกถา 14 / 853
อรรถกถา มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ วิภังควรรค
อรณวิภังคสูตร

               ๙. อรรถกถาอรณวิภังคสูตร               
               อรณวิภังคสูตร มีคำเริ่มต้นว่า ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้ :-
               ในบทเหล่านั้น บทว่า เนวุสฺสาเทยฺย น อปสาเทยฺย ความว่า ไม่ยกยอ ไม่พึงตำหนิบุคคลใด ด้วยอำนาจอาศัยเรือน.
               บทว่า ธมฺมเมว เทเสยฺย คือ พึงพูดแต่ความจริงเท่านั้น.
               บทว่า สุขวินิจฺฉยํ ได้แก่ สุขที่ตัดสินแล้ว.
               บทว่า รโห วาทํ ได้แก่ กล่าวโทษลับหลัง. อธิบายว่า กล่าวคำส่อเสียด.
               บทว่า สมฺมุขา นาติขีณํ ความว่า ไม่พึงกล่าวคำล่วงเกิน คำฟุ่มเฟือย คำสกปรกต่อหน้า.
               บทว่า นาภินิเวเสยฺย ความว่า ไม่พึงพูดรีบด่วนเอาแต่ได้.
               บทว่า สมญฺญํ ได้แก่ โลกสมัญญา คือโลกบัญญัติ.
               บทว่า นาติธาเวยฺยํ คือ ไม่พึงล่วงละเมิด.
               บทว่า กามปฏิสนฺธิสุขิโน ความว่า ผู้มีความสุขด้วยความสุขโดยสืบต่อกาม คือประกอบด้วยกาม.
               บทว่า สทุกฺโข ได้แก่ มีทุกข์ด้วยวิบากทุกข์บ้าง ด้วยกิเลสทุกข์บ้าง.
               บทว่า สอุปฆาโฏ ได้แก่ มีความคับใจด้วยความคับใจในวิบากและความคับใจในกิเลสนั้นเทียว มีความเร่าร้อนเหมือนอย่างนั้น.
               บทว่า มิจฺฉาปฏิปทา ได้แก่ ความปฏิบัติไม่เป็นความจริง คือความปฏิบัติอันเป็นอกุศล.
               บทว่า อิตฺเถเก อปสาเทติ ความว่า ตำหนิบุคคลบางพวกด้วยอำนาจอาศัยเรือนอย่างนี้.
               แม้ในการยกยอก็มีนัยนี้เช่นกัน.
               บทว่า ภวสํโยชนํ ได้แก่ ผูกพันในภพ. นั่นเป็นชื่อของตัณหา.
               ได้ยินว่า พระสุภูติเถระอาศัยจตุกะนี้ ดำรงอยู่ในตำแหน่งเอตทัคคะ.
               จริงอยู่ เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงธรรมอยู่ ความยกยอและการตำหนิย่อมปรากฏแก่บุคคลทั้งหลาย. เมื่อพระเถระทั้งหลายมีพระสารีบุตรเถระเป็นต้นแสดงธรรม ความยกยอและการตำหนิก็ปรากฏอย่างนั้น. แต่ธรรมเทศนาของสุภูติเถระไม่มีว่า บุคคลนี้ไม่ปฏิบัติ ปฏิบัติผิด หรือว่าบุคคลนี้มีศีล มีคุณ มียางอาย มีศีลเป็นที่รัก ถึงพร้อมด้วยมรรยาท ดังนี้.
               ก็ธรรมเทศนาของพระสุภูติเถระนั้นย่อมปรากฏว่า นี้เป็นการปฏิบัติผิด นี้เป็นการปฏิบัติชอบดังนี้เท่านั้น. เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สุภูติเป็นเลิศแห่งภิกษุทั้งหลายผู้สาวกของเรา ผู้มีปกติอยู่ด้วยความสงบ.
               บทว่า กาลญฺญู อสฺส ความว่า ไม่กล่าวในกาลที่ยังไม่ถึงและที่ล่วงแล้ว และกล่าวถึงกาลที่ควรประกอบความเพียร อันควรกล่าวในบัดนี้ว่า มหาชนจักถือเอา ไม่พึงกล่าววาทะลับหลัง.
               แม้ในขีณาวาทะก็มีนัยเช่นเดียวกัน.
               บทว่า อุปหญฺญติ ได้แก่ กระทบกระทั่ง.
               บทว่า สโร อุปหญฺญติ คือ แม้เสียงย่อมแตกพร่า.
               บทว่า อาตุริยติ ได้แก่ เป็นผู้เดือดร้อน. ถึงความเป็นผู้เจ็บไข้ ได้อาพาธ.
               บทว่า อวิสฏฺฐํ ได้แก่ คำไม่สละสลวย คือคลุมเคลือ.
               บทว่า ตเทว ได้แก่ ภาชนะนั้นเทียว.
               บทว่า อภินิวิสฺส โวหรติ ความว่า ปุถุชนคนโง่ไปสู่ชนบทที่รู้จำว่า ปัตตะ ฟังว่า พวกเจ้าจงนำมา จงล้างปัตตะ รีบพูดว่า นี้ไม่ใช่ปัตตะ นั้นชื่อว่าปาตี เจ้าจงพูดอย่างนี้.
               พึงประกอบด้วยบททั้งหลายในที่ทั้งปวงอย่างนี้.
               บทว่า อติสาโร ได้แก่ อภิวาทนะ.
               บทว่า ตถา ตถา โวหรติ อปราปรํ ความว่า ภาชนะในชนบทของพวกเราเรียกว่าปาตี. ส่วนชนเหล่านี้กล่าวภาชนะนั้นว่าปัตตะ. จำเดิมแต่นั้น แก้คำพูดของชนบทกล่าวเนืองๆ ว่า ปัตตะ ปัตตะ ดังนี้เทียว.
               แม้ในบทที่เหลือก็มีนัยนี้เช่นกัน.
               บัดนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าเมื่อจะทรงกระทำบทมริยาทภาชนียะ จึงตรัสว่า ตตฺร ภิกฺขเว ดังนี้เป็นต้น.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า สรโณ ได้แก่ มีธุลี มีกิเลส.
               บทว่า อรโณ ได้แก่ ไม่มีธุลีปราศจากกิเลส.
               บทว่า สุภูติ จ ปน ภิกฺขเว ความว่า พระเถระนี้ขึ้นสู่ตำแหน่งเอตทัคคะ ๒ อย่าง คือ สุภูติเลิศในทางอรณวิหารีและเลิศในทางทักขิไณย.
               ได้ยินว่า พระธรรมเสนาบดียังวัตถุให้บริสุทธิ์ สุภูติเถระยังทักขิณาให้บริสุทธิ์.
               จริงอย่างนั้น พระธรรมเสนาบดีเที่ยวบิณฑบาต ยืนอยู่ใกล้ประตูเรือน กำหนดในบุพภาคแล้ว เข้านิโรธจนกว่าบุคคลทั้งหลายนำภิกษามาถวาย ออกจากนิโรธแล้ว รับไทยธรรม. พระสุภูติเถระเข้าเมตตาฌานเหมือนอย่างนั้น ออกจากเมตตาฌานแล้วรับไทยธรรม.
               ถามว่า ก็พระเถระอาจทำอย่างนี้หรือ.
               ตอบว่า เออ อาจ.
               การที่พระสาวกทั้งหลายผู้ถึงมหาภิญญา พึงทำอย่างนี้ นั้นไม่น่าอัศจรรย์เลย.
               จริงอยู่ ในกาลแห่งโบราณกราชในตัมพปัณณิทวีปนั้น พระเถระชื่อปิงคลพุทธรักขิต อยู่อาศัยอุตตรคาม. ในอุตตรคามนั้นมีตระกูล ๗๐๐ ตระกูล. พระเถระไม่เคยเข้าสมาบัติที่ประตูตระกูลใด ประตูตระกูลนั้นแม้หนึ่งก็ไม่มี.
               บทที่เหลือในที่ทั้งปวงง่ายทั้งนั้นแล.

               จบอรรถกถาอรณวิภังคสูตรที่ ๙               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ วิภังควรรค อรณวิภังคสูตร จบ.
อ่านอรรถกถา 14 / 1อ่านอรรถกถา 14 / 638อรรถกถา เล่มที่ 14 ข้อ 653อ่านอรรถกถา 14 / 673อ่านอรรถกถา 14 / 853
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=14&A=8511&Z=8747
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=10&A=4996
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=10&A=4996
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๑๙  กันยายน  พ.ศ.  ๒๕๔๙
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :