ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 14 / 1อ่านอรรถกถา 14 / 598อรรถกถา เล่มที่ 14 ข้อ 617อ่านอรรถกถา 14 / 638อ่านอรรถกถา 14 / 853
อรรถกถา มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ วิภังควรรค
สฬายตนวิภังคสูตร

               ๗. อรรถกถาสฬายตนวิภังคสูตร               
               สฬายตนวิภังคสูตร มีคำเริ่มต้นว่า ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้ :-
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า เวทิตพฺพานิ ความว่า พึงรู้ด้วยมรรคอันมีวิปัสสนา.
               บทว่า มโนปวิจารา ได้แก่ วิตกและวิจาร. จริงมนะที่ยังวิตกให้เกิดขึ้น ท่านประสงค์ว่า มนะ ในที่นี้. ชื่อว่า มโนปวิจารา เพราะอรรถว่าเป็นความนึกหน่วงของใจ.
               บทว่า สตฺตปทา ได้แก่ ทางดำเนินของสัตว์ทั้งหลาย ที่อาศัยวัฏฎะและวิวัฏฏะ. ก็ในที่นี้ ทางดำเนินสู่วัฏฏะมี ๑๘ ประการ ทางดำเนินสู่วิวัฏฏะมี ๑๘ ประการ. ทางดำเนินแม้เหล่านั้น พึงทราบด้วยมรรคอันมีวิปัสสนานั้นแล.
               บทว่า โยคาจริยานํ ความว่า ผู้ให้ศึกษาอาจาระมีหัตถิโยคะเป็นต้น ได้แก่ผู้ฝึกบุคคลที่ควรฝึก.
               บทที่เหลือจักแจ่มแจ้งในวิภังค์นั้นเทียว.
               บทว่า อยมุทฺเทโส นี้ เป็นบทตั้งมาติกา.
               อายตนะทั้งหลายมีจักขุอายตนะเป็นต้น ให้พิสดารแล้วในวิสุทธิมรรค.
               บทว่า จกฺขุวิญฺญาณํ ได้แก่ จักขุวิญญาณทั้งสอง โดยวิบากของกรรมที่เป็นกุศลและอกุศล. แม้ในปสาทวิญญาณที่เหลือทั้งหลายก็มีนัยนี้เหมือนกัน. ก็วิญญาณที่เหลือเว้นวิญญาณ ๕ ประการนี้ ชื่อว่ามโนวิญญาณในที่นี้.
               บทว่า จกฺขุสมฺผสฺโส ได้แก่ สัมผัสในจักษุ. นั่นเป็นชื่อของสัมผัสที่ประกอบด้วยจักขุวิญญาณ. ในสัมผัสทั้งหลายแม้ที่เหลือก็นัยนี้เหมือนกัน.
               บทว่า จกฺขุนา รูปํ ทิสฺวา ความว่า เพราะเห็นรูปด้วยจักขุวิญญาณ.
               ในบททั้งปวงก็นัยนี้เหมือนกัน.
               บทว่า โสมนสฺสฏฺฐานียํ ได้แก่ เป็นเหตุด้วยอำนาจแห่งอารมณ์ของโสมนัส.
               บทว่า อุปวิจรติ ความว่า ใจย่อมนึกหน่วง ด้วยความเป็นไปของวิตก ในความนึกหน่วงของใจนั้น. พึงทราบความนึกหน่วงของใจ กล่าวคือวิตกวิจาร ๑๘ ประการ โดยนัยนี้ว่า วิตกฺโก ตํ สมฺปยุตฺโต จ. ก็ชื่อว่าโสมนัสสูปวิจาร เพราะอรรถว่านึกหน่วงพร้อมกับโสมนัสในบทว่า ฉ โสมนสฺสูปวิจารา นี้.
               แม้ในบททั้งสองที่เหลือก็นัยนี้เหมือนกัน.
               บทว่า เคหสิตานิ ได้แก่ อาศัยกามคุณ.
               บทว่า เนกฺขมฺมสิตานิ ได้แก่ อาศัยวิปัสสนา.
               บทว่า อิฏฺฐานํ ได้แก่ อันแสวงหาแล้ว.
               บทว่า กนฺตานํ ได้แก่ ให้ความใคร่.
               บทว่า มโนรมานํ ความว่า ใจย่อมยินดีในธรรมารมณ์เหล่านั้น เพราะฉะนั้น ธรรมารมณ์เหล่านั้น จึงชื่อว่าเป็นที่มายินดีของใจ ธรรมารมณ์เหล่านั้นเป็นที่รื่นรมย์แห่งใจ.
               บทว่า โลกามิสปฏิสํยุตฺตานํ คือ ประกอบด้วยตัณหา.
               บทว่า อตีตํ คือ อันได้เฉพาะแล้ว.
               ถามว่า โสมนัสปรารภปัจจุบันเกิดขึ้นก่อน จะเกิดขึ้นในอดีตอย่างไร.
               ตอบว่า โสมนัสอันมีกำลัง ย่อมเกิดแก่บุคคลผู้หวนระลึก แม้ในอดีตว่า เราเสวยอิฏฐารมณ์ในบัดนี้ฉันใด เราเสวยแล้วแม้ในกาลก่อนฉันนั้น.
               บทว่า อนิจฺจตํ ได้แก่ อาการอันไม่เที่ยง.
               บทว่า วิปริณามวิราคนิโรธํ ความว่า ชื่อว่าความแปรปรวน เพราะละปกติ ชื่อว่าความคลายไป เพราะไปปราศจาก ชื่อว่าความดับ เพราะดับไป.
               บทว่า สมฺมปฺปญฺญาย ได้แก่ วิปัสสนาปัญญา.
               บทว่า อิทํ วุจฺจติ เนกฺขมฺมสิตโสมนสฺสํ ความว่า โสมนัสนี้เกิดขึ้นแล้วแก่บุคคลผู้นั่งเจริญวิปัสสนา เห็นความแตกดับของสังขารทั้งหลาย เหมือนพระราชาทรงเห็นศิริสมบัติของพระองค์ฉะนั้น ในเมื่อวิปัสสนาญาณอันแข็งกล้า ถึงสังขารนำไปอยู่ เราเรียกว่าโสมนัสอาศัยเนกขัมมะ.
               สมดังคาถาประพันธ์ที่ตรัสไว้ดังนี้ว่า
                         ความยินดีอันไม่ใช่มนุษย์ ย่อมมีแก่ภิกษุผู้เข้าสู่เรือนว่างเปล่า
                         มีจิตสงบแล้ว เห็นแจ้งธรรมโดยชอบอยู่ ภิกษุเห็นความเกิด
                         และความดับของขันธ์ทั้งหลาย ในกาลใดๆ ย่อมได้ความปิติ
                         และปราโมทย์ในกาลนั้นๆ อมตะนั้นอันภิกษุรู้แล้ว.
               บทว่า อิมานิ ความว่า เหล่านี้ โสมนัสอาศัยเนกขัมมะ ๖ อย่างเกิดแล้วแก่บุคคลผู้นั่งเจริญวิปัสสนา ด้วยอำนาจแห่งความไม่เที่ยงเป็นต้น ในเมื่ออิฏฐารมณ์ไปสู่คลองในทวาร ๖.
               บทว่า อตีตํ ความว่า โทมนัสจงเกิดแก่บุคคลผู้ปรารถนาไม่ได้อิฏฐารมณ์ปัจจุบันก่อน จะเกิดในอดีตอย่างไร. โทมนัสอันมีกำลัง ย่อมเกิดแก่บุคคลผู้หวนระลึก แม้ในอดีตว่า เราปรารถนาแล้วไม่ได้อิฏฐารมณ์ในบัดนี้ฉันใด เราปรารถนาแล้ว ไม่ได้แม้ในกาลก่อนก็ฉันนั้น.
               บทว่า อนุตฺตเรสุ วิโมกฺเขสุ คือ อรหัต ชื่อว่าอนุตตรวิโมกข์. อธิบายว่า ตั้งความปรารถนาในอรหัต.
               บทว่า อายตนํ ได้แก่ อายตนะคือ อรหัต.
               บทว่า ปิหํ อุปฏฺฐาปยโต ความว่า ตั้งความปรารถนา. ก็อายตนะนั้นย่อมเกิดแก่บุคคลผู้ตั้งความปรารถนานั้น. อธิบายว่า ผู้เข้าไปตั้งความปรารถนา เพราะความที่อายตนะเป็นมูลรากของความปรารถนา ด้วยประการฉะนี้.
               บทว่า อิมานิ ฉ เนกฺขมฺมสิตานิ โทมนสฺสานิ ความว่า โทมนัสอันเกิดแก่บุคคลผู้ตั้งความปรารถนาในอรหัต ในเมื่ออิฏฐารมณ์ไปสู่คลองในทวาร ๖ อย่างนี้ ไม่อาจเพื่อจะตั้งวิปัสสนาให้เจริญขึ้นด้วยอำนาจแห่งความไม่เที่ยงเป็นต้น เพื่อบรรลุอรหัตนั้น ดุจพระมหาสิวเถระผู้อยู่ในเงื้อมใกล้บ้าน เศร้าโศกว่า เราไม่อาจแล้วเพื่อบรรลุอรหัต ตลอดปักษ์นี้บ้าง ตลอดเดือนนี้บ้าง ตลอดปีนี้บ้าง ด้วยอำนาจความเป็นไปแห่งสายน้ำตาเหล่านี้ พึงทราบว่า โทมนัสอาศัยเนกขัมมะ ๖.
               ก็เรื่องราวได้ให้พิสดารแล้วในสักกปัญหวัณณนา ในอรรถกถาทีฆนิกาย ชื่อสุมังคลวิลาสินี. ผู้ประสงค์พึงถือเอาจากอรรถกถานั้นเถิด.
               อุเบกขาในอัญญาณ ชื่อว่า อุเบกขา ในบทนี้ว่า อุเปกฺขา.
               บทว่า อโนธิชินสฺส ความว่า ขีณาสพ ชื่อว่าโอธิชินะ เพราะความที่พระขีณาสพชนะข้าศึกคือกิเลสแล้วดำรงอยู่ เพราะฉะนั้น บทนี้ได้แก่ปุถุชนผู้ไม่สิ้นอาสวะ. ขีณาสพแล ชื่อว่าวิปากชินะ เพราะความที่พระขีณาสพชนะวิบากต่อไปดำรงอยู่ แม้ในบทนี้ว่า อวิปากชินสฺส เพราะฉะนั้น ผู้ไม่สิ้นอาสวะนั้นเทียว.
               บทว่า อนาทีนวทสฺสาวิโน ได้แก่ ผู้ไม่เห็นโดยความเป็นโทษ.
               บทว่า อิมา ฉ เคหสิตา อุเปกฺขา ความว่า อุเบกขาที่ไม่กลับสู่รูปเป็นต้น ดุจแมลงวันที่จับงบน้ำอ้อย เมื่ออิฏฐารมณ์ไปสู่คลองในทวาร ๖ อย่างนี้ ติดอยู่ในรูปเป็นต้นนั้น เกิดขึ้นนี้ พึงทราบว่า อุเบกขาอาศัยเรือน ๖.
               บทว่า รูปํ สา นาติวตฺตติ ความว่า อุเบกขานั้นไม่ล่วงเลยรูป. ไม่ตั้งอยู่ด้วยอำนาจความเบื่อหน่ายในรูปนั้น.
               บทว่า อิมา ฉ เนกฺขมฺมสิตา อุเปกฺขา ความว่า อุเบกขาเกิดขึ้นแก่บุคคลผู้ไม่ยินดีในอิฏฐารมณ์ ไม่ยินร้ายในอนิฏฐารมณ์ เมื่ออารมณ์ที่น่าปรารถนาเป็นต้น ไปสู่คลองในทวาร ๖ อย่างนี้ ไม่ลุ่มหลง ด้วยการพิจารณาไม่รอบคอบ ประกอบด้วยอุเบกขาญาณเหล่านี้ พึงทราบว่า อุเบกขาอาศัยเนกขัมมะ ๖.
               บทว่า ตตฺถ อิทํ นิสฺสาย อิทํ ปชหถ ความว่า ในทางดำเนินของสัตว์ ๓๖ ประการนั้น พวกเธอจงอาศัยทางดำเนิน ๑๘ ประการ ละทางดำเนิน ๑๘ ประการ. ด้วยเหตุนั้นแล พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า ตตฺร ภิกฺขเว ยานิ ฉ เนกฺขมฺมสิตานิ ดังนี้เป็นต้น.
               บทว่า นิสฺสาย อาคมฺม ได้แก่ อาศัยและอิงด้วยอำนาจความเป็นไป.
               บทว่า เอวเมเตสํ สมติกฺกโม โหติ ความว่า ชื่อว่าล่วงเลยอุเบกขาอาศัยเรือน เพราะความเป็นไปแห่งอุเบกขาอาศัยเนกขัมมะอย่างนี้.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงให้ละธรรมที่คล้ายกัน ด้วยธรรมที่คล้ายกันอย่างนี้แล้ว บัดนี้ ทรงให้ละธรรมที่ไม่มีกำลัง ด้วยธรรมที่มีกำลัง จึงตรัสอีกว่า ตฺตร ภิกฺขเว ยานิ ฉ เนกฺขมฺมสิตานิ โสมนสฺสานิ ดังนี้เป็นต้น.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงให้ละโทมนัสอาศัยเนกขัมมะ ด้วยโสมนัสอาศัยเนกขัมมะ และโสมนัสอาศัยเนกขัมมะ ด้วยอุเบกขาอาศัยเนกขัมมะอย่างนี้. จึงตรัสการละธรรมที่ไม่มีกำลัง ด้วยธรรมที่มีกำลัง. ก็บัณฑิตตั้งอยู่ในการละนั้น พึงกล่าวอุเบกขา.
               ก็บุพภาควิปัสสนาของภิกษุ ๔ รูป ผู้ปรารภวิปัสสนา ทำฌาน ๓ มีปฐมฌานเป็นต้นในสมาบัติ ๘ และสังขารบริสุทธิ์ทั้งหลายให้เป็นบาท ย่อมสหรคตด้วยโสมนัสหรือสหรคตด้วยอุเบกขา. ส่วนวุฏฐานคามินี สหรคตด้วยโสมนัสเทียว.
               บุพภาควิปัสสนาของภิกษุ ๕ รูป ผู้ปรารภวิปัสสนาทำฌานทั้งหลายมีจตุตถฌานเป็นต้นให้เป็นบาท ก็เป็นอันเดียวกับนัยก่อน. ก็วุฏฐานคามินีเป็นอันสหรคตด้วยอุเบกขา. ทรงหมายถึงบทนี้ จึงตรัสว่า อุเบกขาอาศัยเนกขัมมะ ๖ ใด พวกเธออาศัยอุเบกขาเหล่านั้น อิงอุเบกขาเหล่านั้น จงละโสมนัสอาศัยเนกขัมมะ ๖ ดังนี้.
               ก็ภิกษุผู้ปฏิบัติอย่างนี้ย่อมมีคุณวิเศษด้วยอำนาจแห่งเวทนา ด้วยวิปัสสนานี้อย่างเดียวก็หามิได้. คุณวิเศษแม้แห่งองค์ของฌาน โพชฌงค์ และองค์ของมรรคย่อมมีแม้ในอริยมรรค.
               ก็อะไรกำหนดคุณวิเศษนั้น.
               เถระบางพวกกล่าวก่อนว่า ฌานซึ่งมีวิปัสสนาเป็นบาท ย่อมกำหนด. บางพวกกล่าวว่า ขันธ์ทั้งหลายอันเป็นอารมณ์ของวิปัสสนา ย่อมกำหนด. บางพวกว่า อัธยาศัยของบุคคลย่อมกำหนด. ในวาทะของเถระแม้เหล่านั้น วิปัสสนาอันเป็นวุฏฐานคามินี ในบุพภาคนี้เทียว พึงทราบว่าย่อมกำหนด.
               ส่วนวินิจฉัยกถาในข้อนี้ ได้กล่าวแล้วในสังขารูเปกขานิเทศในวิสุทธิมรรคเทียว.
               บทว่า นานตฺตา ได้แก่ ต่างๆ มาก มีประมาณมิใช่หนึ่ง.
               บทว่า นานตฺตสิตา ได้แก่ อาศัยอารมณ์ต่างๆ.
               บทว่า เอกตฺตา ได้แก่ หนึ่ง.
               บทว่า เอกตฺตสิตา ได้แก่ อาศัยอารมณ์หนึ่ง.
               ถามว่า ก็อุเบกขานี้เป็นไฉน.
               ตอบว่า ได้ตรัสอัญญาณูเบกขาไว้ในหนก่อน. จะตรัสฉฬังคุเบกขาในข้างหน้า. ทรงถือเอาอุเบกขา ๒ อย่างคือ สมถอุเบกขา วิปัสสนูเบกขา แม้ในที่นี้.
               ในอุเบกขา ๒ อย่างนั้นเพราะอุเบกขาในรูปเป็นอย่างหนึ่ง อุเบกขาในเสียงเป็นต้นอย่างหนึ่ง. ก็อุเบกขาในรูปย่อมไม่มีในเสียงเป็นต้น. อุเบกขาในรูปเท่านั้น ทำรูปเท่านั้นให้เป็นอารมณ์. เสียงเป็นต้นย่อมไม่ทำรูปและความเป็นอุเบกขาให้เป็นอารมณ์. สมถอุเบกขาอื่นๆ ก็คือ อุเบกขาที่ทำปฐวีกสิณให้เป็นอารมณ์เกิดขึ้น. อุเบกขาอื่นๆ คือ อุเบกขาที่เกิดขึ้นเพราะทำอาโปกสิณเป็นต้นให้เป็นอารมณ์. เพราะฉะนั้น เมื่อจะทรงจำแนกความเป็นต่างๆ และอาศัยอารมณ์ต่างๆ จึงตรัสว่า อตฺถิ ภิกฺขเว อุเปกฺขา รูเป เป็นต้น ก็เพราะอากาสานัญจายตนะ หรือวิญญาณัญจายตนะ เป็นต้น ไม่มีสอง หรือสาม. เพราะฉะนั้น เมื่อทรงจำแนกอาศัยอารมณ์หนึ่ง จึงตรัสว่า อตฺถิ ภิกฺขเว อุเปกขา อากาสานญฺจายตนนิสฺสิตา ดังนี้เป็นต้น.
               บรรดาอุเบกขาเหล่านั้น อากาสานัญจายตนูเบกขาอาศัยอากาสานัญจายตนะด้วยอำนาจที่เป็นสัมปยุต. วิปัสสนูเบกขาของภิกษุผู้เห็นแจ้งอากาสานัญจายตนขันธ์อาศัยอากาสานัญจายตนะ ด้วยอำนาจแห่งอารมณ์. ในอุเบกขาแม้ที่เหลือก็นัยนี้เหมือนกัน. ทรงให้ละรูปาวจรกุศลสมาบัติอุเบกขาด้วยอรูปาวจรสมาบัติอุเบกขา ทรงให้ละรูปาวจรวิปัสสนูเบกขาด้วยอรูปาวจรวิปัสสนูเบกขา ในบทนี้ว่า ตํ ปชหถ ดังนี้.
               ตัณหาชื่อว่า ตมฺมยตา ในบทนี้ว่า อตมฺมยตํ. วิปัสสนาอันให้ถึงการออกจากการกลุ้มรุมของตัณหานั้น เรียกว่า อตมฺมยตา. ย่อมละอรูปาวจรสมาบัติ อุเบกขาและวิปัสสนูเบกขา ด้วยวุฏฐานคามินีวิปัสสนา ในบทนี้ว่า ตํ ปชหถ.
               บทว่า ยทริโย ความว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้เป็นอริยเจ้าย่อมทรงเสพสติปัฏฐานเหล่าใด. ทรงตั้งพระสติในฐานะ ๓ อย่างนั้น พึงทราบว่า ทรงเสพสติปัฏฐาน.
               บทว่า น สุสฺสุสนฺติ ความว่า ไม่ปรารถนาเพื่อเชื่อฟัง.
               บทว่า น อญฺญา ความว่า ไม่ตั้งจิตเพื่อประโยชน์แก่การรู้.
               บทว่า โวกมฺม ได้แก่ ก้าวล่วง.
               บทว่า สตฺถุ สาสนํ ความว่า ไม่สำคัญซึ่งโอวาทของพระศาสดาที่ควรถือเอา ควรให้เต็ม.
               บทว่า เนว อตฺตมโน คือ ไม่มีใจเป็นของตน.
               แต่ในที่นี้ ไม่ควรเห็นเนื้อความอย่างนี้ว่า ไม่ระคายเคือง ด้วยอำนาจโทมนัสอาศัยเรือน. แต่ตรัสบทนั้นเพราะไม่มีเหตุแห่งความชื่นชม ในเหล่าสาวกผู้ไม่ปฏิบัติ.
               บทว่า อนวสฺสุโต คือ ไม่ขวนขวายด้วยอำนาจขวนขวายความแค้นเคือง.
               บทว่า สโต สมฺปชาโน ความว่า ถึงพร้อมด้วยสติและญาณ.
               บทว่า อุเปกฺโข ความว่า วางเฉยด้วยฉฬังคูเบกขา.
               ไม่พึงทราบเนื้อความอย่างนี้ว่า มีความดีใจด้วยอำนาจโสมนัสอาศัยเรือน ในบทแม้นี้ว่า อตฺตมโน. บทนั้น ตรัสแล้วด้วยความมีเหตุแห่งความชื่นชมในเหล่าสาวกผู้ปฏิบัติ.
               บทว่า อนวสฺสุโต ได้แก่ ไม่ขวนขวาย ด้วยอำนาจขวนขวายด้วยราคะ.
               บทว่า สาริโต ได้แก่ ฝึกแล้ว.
               บทว่า เอกํเยว ทิสํ ธาวติ ความว่า เมื่อไม่ให้กลับวิ่งไป ชื่อว่าวิ่งไปสู่ทิศเดียวเท่านั้น. แต่ย่อมอาจเพื่อให้กลับวิ่งไปสู่ทิศอื่น.
               บทว่า อฏฺฐทิสา วิธาวติ ความว่า นั่งโดยบัลลังก์หนึ่ง ไม่กลับด้วยกาย วิ่งทั่วทั้ง ๘ ทิศด้วยครั้งเดียวเท่านั้น ด้วยอำนาจแห่งวิโมกข์. อธิบายว่า ทรงมุ่งพระพักตร์ไปทางทิศตะวันออก หรือทิศใต้เป็นต้น ทิศใดทิศหนึ่ง ประทับนั่งเข้าสมาบัติทั้ง ๘ นั้นเทียว.
               บทที่เหลือในที่ทั้งปวง ง่ายทั้งนั้นแล.

               จบอรรถกถาสฬายตนวิภังคสูตรที่ ๗               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ วิภังควรรค สฬายตนวิภังคสูตร จบ.
อ่านอรรถกถา 14 / 1อ่านอรรถกถา 14 / 598อรรถกถา เล่มที่ 14 ข้อ 617อ่านอรรถกถา 14 / 638อ่านอรรถกถา 14 / 853
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=14&A=8028&Z=8266
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=10&A=4813
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=10&A=4813
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๑๙  กันยายน  พ.ศ.  ๒๕๔๙
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :