ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 14 / 1อ่านอรรถกถา 14 / 579อรรถกถา เล่มที่ 14 ข้อ 598อ่านอรรถกถา 14 / 617อ่านอรรถกถา 14 / 853
อรรถกถา มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ วิภังควรรค
มหากัมมวิภังคสูตร

               ๖. อรรถกถามหากัมมวิภังคสูตร               
               มหากัมมวิภังคสูตร มีคำเริ่มต้นว่า ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้ :-
               ในสูตรนั้น บทว่า โมฆํ ได้แก่ ว่างเปล่า ไม่มีผล.
               บทว่า สจฺจํ ได้แก่ แท้ มีจริง.
               ก็ข้อนี้อันปริพาชกโปตลิบุตรนั้น ไม่ได้ฟังมาเฉพาะพระพักตร์. แต่มโนกรรมอันมีโทษมากกว่าได้บัญญัติไว้แล้วในอุปาลิสูตร.
               คำนี้ว่า กายกรรมไม่เป็นอย่างนั้น วจีกรรมไม่เป็นอย่างนั้น แห่งการทำกรรมชั่วแห่งความเป็นไปของกรรมชั่ว เป็นอันพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสแล้วมีอยู่. กถานั้นเกิดปรากฏในระหว่างเดียรถีย์ทั้งหลาย. ปริพาชกโปตลิบุตรถือเอากถานั้นกล่าว. กล่าวคำนี้ว่า ก็สมาบัตินั้นมีอยู่ ดังนี้ หมายถึง อภิสัญญานิโรธกถาที่เกิดแล้วในโปฏฐปทสูตรว่า ดูก่อนท่านผู้เจริญ อภิสัญญานิโรธมีอย่างไรหนอแล.
               บทว่า น กิญฺจิ เวทิยติ ความว่า ไม่เสวยแม้เวทนาหนึ่ง.
               บทว่า อตฺถิ จ โข ความว่า พระเถระย่อมรับรู้หมายถึงนิโรธสมาบัติ.
               บทว่า ปริรกฺขิตพฺพํ ความว่า พึงรักษาด้วยการเปลื้องจากคำติเตียน. ความจงใจแห่งกรรมนั้นมีอยู่ เพราะฉะนั้น กรรมนั้นชื่อว่า สญฺเจตนิกํ แปลว่า ประกอบด้วยความจงใจ อันมีความมุ่งหมาย.
               บทว่า ทุกฺขํ ความว่า พระเถระหมายถึงอกุศลเท่านั้น จึงกล่าวอย่างนี้ ด้วยสำคัญว่าปริพาชกจะถาม.
               บทว่า ทสฺสนํปิ โข อหํ ความว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเห็นสังขารแม้เพียงเมล็ดงาในที่ประมาณหนึ่งโยชน์โดยรอบ ในที่มืดแม้มีองค์สี่ ด้วยมังสจักษุเทียว. ก็ปริพาชกนี้อยู่ในที่ไม่ไกล ในภายในประมาณคาวุต.
               ถามว่า เพราะเหตุไร พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสอย่างนั้น.
               ตอบว่า เพราะตรัสมุ่งถึงการเห็นสมาคมเท่านั้น.
               บทว่า อุทายี คือ พระโลลุทายี.
               บทว่า ตํ ทุกฺขสฺมึ ได้แก่ ทุกข์นั้นทั้งหมดเทียว. กล่าวว่า ถ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าพึงมีภาษิตไซร้ ดังนี้ หมายถึง วัฏฏทุกข์ กิเลสทุกข์และสังขารทุกข์นี้ ด้วยประการฉะนี้.
               บทว่า อุมฺมงฺคํ ได้แก่ การปรากฏออกมาของปัญญา.
               บทว่า อุมฺมุชฺชมาโน ได้แก่ ยื่นศีรษะ.
               บทว่า อโยนิโส อุมฺมุชฺชิสฺสติ ได้แก่ โผล่ศีรษะโดยไม่มีอุบาย.
               ก็แล พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงรู้เรื่องนี้ ไม่ใช่ทรงรู้ด้วยทิพยจักษุ เจโตปริยญาณและสัพพัญญุตญาณ. แต่ทรงรู้ด้วยอธิบายเท่านั้น. ก็เมื่อกล่าวธรรมดาอธิบายก็รู้ได้โดยง่าย ผู้ประสงค์จะกล่าวย่อมยืดคอ สั่นคาง ปากของเขาก็ขมุบขมิบ ไม่อาจเพื่อสงบนิ่งได้. พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเห็นอาการนั้นของพระอุทายีนั้นแล้ว ทรงดูแล้วว่า อุทายีนี้ไม่อาจเพื่อจะสงบนิ่งได้จักกล่าวถ้อยคำที่ไม่เป็นจริงนั้นแล ได้ทรงรู้แล้ว.
               บทว่า อาทึเยว คือ ในเบื้องต้นนั้นเทียว.
               บทว่า ติสฺโสว เวทนา ความว่า ปริพาชกโปตลิบุตร เมื่อจะถามว่า บุคคลนั้นจะเสวยอะไรก็กำหนดอย่างนี้ว่า เราจะถามเวทนาสามดังนี้ แล้วจึงถามเวทนาสาม.
               บทว่า สุขเวทนียํ ได้แก่ อันเป็นปัจจัยแห่งสุขเวทนา.
               แม้ในบทที่เหลือก็มีนัยนี้เช่นเดียวกัน.
               ก็ในที่นี้ ชื่อว่า กรรมอันให้ผลเป็นสุข เพราะเกิดสุขเวทนาในปฏิสนธิและประวัติอย่างนี้คือ เจตนาสี่ ซึ่งสัมปยุตด้วยจิตที่สหรคตด้วยโสมนัส โดยกามาวจรกุศล เจตนาในฌานหมวดสามเบื้องต่ำ.
               ก็ในที่นี้ กามาวจรย่อมยังสุขโดยส่วนเดียวให้เกิดขึ้นในปฏิสนธินั้นเทียว. ย่อมยังอทุกขมสุขให้เกิดขึ้นในมัชฌัตตารมณ์อันน่าปรารถนาที่เป็นไปแล้ว. อกุศลเจตนา ชื่อว่าให้ผลเป็นทุกข์ เพราะเกิดทุกข์เท่านั้นในปฏิสนธิและประวัติ. ก็ครั้นกายทวารเป็นไปแล้ว ก็ยังทุกข์โดยส่วนเดียวนั้นให้เกิดขึ้น. ย่อมยังอทุกขมสุขให้เกิดขึ้นในวาระอื่น. ก็เวทนานั้นถึงอันนับว่าทุกข์นั้นเทียว เพราะเกิดขึ้นในอารมณ์ทั้งหลาย อันปานกลางที่ไม่น่าปรารถนา. ก็ชื่อว่ากรรมให้ผลเป็นอทุกขมสุข เพราะเกิดเวทนาที่สามในปฏิสนธิและประวัติอย่างนี้ คือเวทนาสี่ที่สัมปยุตด้วยจิตอันสหรคตด้วยอุเบกขา โดยกามาวจรกุศล เวทนาในจตุตถฌานโดยรูปาวจรกุศล. ก็ยังอทุกขมสุขโดยส่วนเดียวให้เกิดในกามาวจร ปฏิสนธินั้นเทียว. ยังแม้สุขให้เกิดในอิฏฐารมณ์ที่เป็นไปแล้ว. อนึ่ง กรรมที่ให้ผลเป็นสุข ย่อมเป็นไปด้วยอำนาจแห่งความเป็นไปแห่งปฏิสนธิ. กรรมที่ให้ผลเป็นอทุกขมสุขย่อมเป็นไปเหมือนกัน กรรมที่ให้ผลเป็นทุกข์ ย่อมเป็นไปด้วยอำนาจแห่งความเป็นไปเหมือนกัน. ก็ด้วยอำนาจแห่งทุกขเวทนียกรรมนั้น กรรมทั้งหมดย่อมเป็นไปด้วยอำนาจแห่งความเป็นไปนั้นเทียว.
               บทว่า เอตสฺส ภควา ความว่า พระตถาคตทรงแสดงอาลัย เพื่อทรงแสดงมหากัมมวิภังค์ เราทูลขอพระตถาคตแล้ว จักกระทำมหากัมมวิภังคญาณให้ปรากฏแก่พระภิกษุสงฆ์ดังนี้ แล้วกล่าวอย่างนี้ เพราะความที่ตนฉลาดในการเชื่อมความ.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า มหากมฺมวิภงฺคํ ได้แก่ การจำแนกมหากรรม.
               คำว่า บุคคลสี่เป็นไฉน ดูก่อนอานนท์ บุคคลบางคนในโลกนี้ ฯลฯ ย่อมเข้าถึงนรกนี้ เป็นมหากัมมวิภังคญาณภาชนะ แต่ก็เป็นมาติกาฐปนะ เพื่อประโยชน์แก่มหากัมมวิภังคญาณภาชนะ.
               คำว่า ดูก่อนอานนท์ สมณะบางคนในโลกนี้ แต่ละคำเป็นอนุสนธิ.
               จริงอยู่ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงปรารภถึงอนุสนธินี้ เพื่อทรงประกาศว่า สมณะหรือพราหมณ์ทั้งหลายผู้มีจักษุเพียงดังทิพย์ ทำอนุสนธินี้เป็นอารมณ์ได้ ปัจจัยนี้ ถือทัสสนะนี้.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อาตปฺปํ เป็นต้นเป็นชื่อของความเพียร ๕ ประการนั้นเทียว.
               บทว่า เจโต สมาธึ ได้แก่ ทิพยจักขุสมาธิ.
               บทว่า ปสฺสติ ความว่า ย่อมเล็งเห็นว่า สัตว์นั้นเกิดแล้ว แม้ในที่ไหน.
               บทว่า เย อญฺญถา ความว่า ย่อมกล่าวว่า ชนเหล่าใดย่อมรู้ว่า บุคคลนั้นเข้าถึงนรก เพราะความที่กุศลกรรมบถสิบอันตนประพฤติแล้ว ความรู้ของชนเหล่านั้นผิด.
               พึงทราบเนื้อความในวาระทั้งปวงโดยนัยนี้.
               บทว่า วิทิตํ ได้แก่ ปรากฏ. บทว่า ถามสา ได้แก่ ด้วยกำลังทิฐิ. บทว่า ปรามาสา ได้แก่ ลูบคลำด้วยทิฐิ.
               บทว่า อภินิวิสฺส โวหรติ ความว่า พูดปักลงไปยึดถือ.
               ก็บทว่า ตตฺรานนฺท นี้ เป็นบทจำแนกมหากัมมวิภังคญาณ ถึงกระนั้น ก็ยังเป็นบทตั้งมาติกาด้วย.
               ก็ในที่นี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงบทนี้ว่า วาทะมีประมาณเท่านี้ เราอนุมัติวาทะมีประมาณเท่านี้ เราไม่อนุมัติตามคำของสมณะหรือพราหมณ์เหล่านั้นผู้มีจักษุเพียงดังทิพย์.
               บทว่า ตฺตร ตฺตร คือในสมณะหรือพราหมณ์สี่เหล่านี้.
               บทว่า อิทมสฺส ตัดบทเป็น อิทํ วจนํ อสฺส แปลว่า คำนี้จะพึงมี.
               บทว่า อญฺญถา คือ โดยอาการอื่น. พึงทราบวาทะที่ทรงอนุมัติ ไม่ทรงอนุมัติ ในบททั้งปวงอย่างนี้ว่า ทรงอนุมัติในฐานะ ๒ อย่าง ไม่ทรงอนุมัติในฐานะ ๓ อย่าง ในวาทะของสมณะหรือพราหมณ์เหล่านี้ด้วยประการฉะนี้.
               พระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้นทรงแสดงอนุมัติและไม่อนุมัติตามคำของสมณะหรือพราหมณ์ทั้งหลายผู้มีจักษุเพียงดังทิพย์อย่างนี้แล้ว บัดนี้ เมื่อจะทรงจำแนกญาณในมหากัมมวิภังค์ จึงตรัสว่า ตตฺรานนฺท ยฺวายํ ปคฺคโล ดังนี้เป็นต้น.
               บทว่า ปุพฺเพ วสฺสสตํ กตํ โหติ ความว่า บุคคลผู้ทำกรรมใด อันสมณะหรือพราหมณ์นี้ ผู้มีจักษุเพียงดังทิพย์เห็นแล้ว. ก็กรรมอันบุคคลทำแล้วในกาลก่อนแต่นั้น บุคคลย่อมเกิดในนรกด้วยกรรมที่ตนทำแล้ว ในกาลก่อนบ้าง ย่อมเกิดด้วยกรรมที่ตนทำในภายหลังบ้าง. ก็แลในมรณกาลก็ย่อมเกิดเหมือนกัน แม้ด้วยการเห็นผิดเป็นต้นว่า พระขันธ์ประเสริฐที่สุด พระศิวะประเสริฐที่สุด พระพรหมประเสริฐที่สุด หรือโลกประเสริฐพิเศษด้วยอิสระเป็นต้น.
               บทว่า ทิฏฺเฐว ธมฺเม ความว่า กรรมใดพึงให้ผลในปัจจุบันนั้น บุคคลย่อมได้เสวยผลของกรรมนั้นในปัจจุบันเทียว กรรมใดให้ผลเมื่ออุบัติ บุคคลอุบัติแล้วย่อมได้เสวยผลของกรรมนั้น กรรมใดให้ผลในลำดับถัดไป ย่อมได้เสวยผลของกรรมนั้นในลำดับถัดไป. สมณะหรือพราหมณ์นี้ได้เห็นกองแห่งกรรม ๑ อย่างและกองแห่งวิบาก ๑ อย่างด้วยประการฉะนี้. พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเห็นกองแห่งกรรม ๓ อย่างและกองแห่งวิบาก ๒ อย่าง ซึ่งสมณะหรือพราหมณ์นี้ไม่เห็นแล้ว แต่ทรงเห็นกองแห่งกรรม ๔ อย่างและกองแห่งวิบาก ๓ อย่างซึ่งสมณะหรือพราหมณ์นี้เห็นแล้ว. ญาณในการรู้ฐานะทั้ง ๗ อย่างนี้ ชื่อว่าญาณในมหากัมมวิภังค์ของพระตถาคต. สมณะหรือพราหมณ์ผู้มีจักษุเพียงดังทิพย์ไม่เห็นอะไรในวาระที่สอง. ก็ญาณในการรู้ฐานะ ๕ อย่างแม้นี้ คือ กองแห่งกรรม ๓ อย่าง กองแห่งวิบาก ๒ อย่าง อันพระตถาคตทรงเห็นแล้ว ดังนี้ ชื่อว่าญาณในมหากัมมวิภังค์ของพระตคาคต. แม้ในวาระ ๒ อย่างที่เหลือ ก็มีนัยนี้เช่นเดียวกัน.
               บทว่า อภพฺพํ ได้แก่ เว้นจากความจริง คือเป็นอกุศล.
               บทว่า อภพฺพาภาสํ ความว่า กรรมไม่ควรย่อมส่องให้เห็น คือย่อมครอบงำ. อธิบายว่า ย่อมห้าม.
               ก็ครั้นเมื่ออกุศลกรรมมีมาก อันบุคคลทำไว้แล้ว กรรมอันมีกำลังห้ามวิบากของกรรมที่ไม่มี กำลังย่อมทำโอกาสให้แก่วิบากของตน กรรมนี้ ชื่อว่ากรรมไม่ควรส่องให้เห็นว่าไม่ควร.
               ส่วนบุคคลทำกุศลกรรมแล้ว ทำอกุศลกรรมในเวลาใกล้ตาย. อกุศลกรรมนั้นห้ามวิบากของกุศลกรรม ทำโอกาสให้แก่วิบากของตน กรรมนี้ชื่อว่ากรรมไม่ควรส่องให้เห็นว่าควร. ครั้นเมื่อกุศลมากอันบุคคลแม้ทำไว้แล้ว กรรมมีกำลัง ห้ามวิบากของกรรมที่ไม่มีกำลัง ย่อมทำโอกาสแก่วิบากของตน กรรมนี้ ชื่อว่ากรรมควรและส่องให้เห็นว่าควร.
               ส่วนบุคคลทำอกุศลแล้ว ทำกุศลในเวลาใกล้ตาย กุศลกรรมนั้นห้ามวิบากของอกุศลกรรม ทำโอกาสให้แก่วิบากของตน กรรมนี้ ชื่อว่ากรรมควรและส่องให้เห็นว่าไม่ควร.
               อนึ่ง พึงทราบเนื้อความในที่นี้ โดยอาการที่ปรากฏ. ก็มีอธิบาย ดังนี้
               กรรมใดย่อมส่องให้เห็น คือย่อมปรากฏโดยไม่ควร เพราะฉะนั้น กรรมนั้น ชื่อว่าส่องให้เห็นว่าไม่ควร. พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสบุคคลสี่พวก โดยนัยเป็นต้นว่า ในบุคคลสี่พวกนั้น บุคคลนี้ใดในโลกนี้ ผู้มักทำชีวิตสัตว์ให้ตกล่วง ดังนี้. ในบุคคลสี่พวกนั้น กรรมของบุคคลพวกที่หนึ่ง ชื่อว่ากรรมไม่ควรส่องให้เห็นว่าไม่ควร. ก็กรรมนี้ ชื่อว่าไม่ควร เพราะเป็นอกุศล. กรรมที่เป็นเหตุให้เกิดในนรกนั้น ชื่อว่าเป็นอกุศลปรากฏ เพราะความที่บุคคลพวกที่หนึ่งนั้นเกิดในนรก. กรรมของบุคคลพวกที่สอง ชื่อว่ากรรมไม่ควร ส่องให้เห็นว่าควร. ก็กรรมนั้น ชื่อว่าไม่ควร เพราะเป็นอกุศล. ก็กรรมที่เป็นเหตุให้เกิดในสวรรค์ของอัญเดียรถีย์ทั้งหลาย ชื่อว่าเป็นกุศลปรากฏ เพราะความที่บุคคลพวกที่สองเกิดในสวรรค์. กรรม ๒ อย่าง แม้นอกนี้ ก็มีนัยเช่นเดียวกัน.
               บทที่เหลือในที่ทั้งปวงง่ายทั้งนั้นแล.

               จบอรรถกถามหากัมมวิภังคสูตรที่ ๖               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ วิภังควรรค มหากัมมวิภังคสูตร จบ.
อ่านอรรถกถา 14 / 1อ่านอรรถกถา 14 / 579อรรถกถา เล่มที่ 14 ข้อ 598อ่านอรรถกถา 14 / 617อ่านอรรถกถา 14 / 853
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=14&A=7799&Z=8027
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=10&A=4706
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=10&A=4706
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๑๙  กันยายน  พ.ศ.  ๒๕๔๙
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :