ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 14 / 1อ่านอรรถกถา 14 / 467อรรถกถา เล่มที่ 14 ข้อ 504อ่านอรรถกถา 14 / 526อ่านอรรถกถา 14 / 853
อรรถกถา มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ สุญญตวรรค
เทวทูตสูตร

               อรรถกถาเทวทูตสูตร               
               เทวทูตสูตร มีบทเริ่มต้นว่า ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้ :-
               ในบทเหล่านั้น คำเป็นต้นว่า เทฺว อคารา ให้พิสดารไว้แล้วในอัสสปุรสูตร.
               บทว่า นิรยํ อุปปนฺนา ความว่า ในบางครั้งพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงยังเทศนาตั้งแต่นรกให้จบลงด้วยเทวโลก. บางครั้งตั้งแต่เทวโลกทรงให้จบลงด้วยนรก. ถ้าประสงค์จะตรัสสวรรค์สมบัติให้พิสดาร ตรัสถึงทุกข์ในนรกโดยเอกเทศ ทุกข์ในกำเนิดสัตว์ดิรัจฉาน ทุกข์ในปิตติวิสัย ตรัสถึงสมบัติในมนุษย์โลกโดยเอกเทศ. ถ้าว่าประสงค์จะตรัสทุกข์ในนรกให้พิสดาร ย่อมตรัสถึงสมบัติในเทวโลกมนุษย์โลกและทุกข์ในกำเนิดสัตว์ดิรัจฉานและปิตติวิสัยโดยเอกเทศ ชื่อว่ายังทุกข์ในนรกให้พิสดาร.
               ในพระสูตรนี้ พระองค์ประสงค์จะทรงยังทุกข์ในนรกให้พิสดาร เพราะฉะนั้น ทรงยังเทศนาตั้งแต่เทวโลกให้จบลงด้วยนรก เพื่อจะตรัสถึงสมบัติในเทวโลกมนุษย์โลก และทุกข์ในกำเนิดสัตว์ดิรัจฉานและในปิตติวิสัยโดยเอกเทศ แล้วตรัสถึงทุกข์ในนรกโดยพิสดาร จึงตรัสคำเป็นต้นว่า ตเมนํ ภิกฺขเว นิรยปาลา.
               ในบทนั้น พระเถระบางพวกกล่าวว่า ชื่อว่านายนิรยบาล ไม่มี กรรมเท่านั้นย่อมก่อเหตุเหมือนหุ่นยนต์. กรรมนั้นถูกปฏิเสธไว้ในอภิธรรม๑- โดยนัยเป็นต้นว่า เออนายนิรยบาลในนรกมีและผู้ก่อเหตุก็มี. เหมือนอย่างว่า ในมนุษย์โลกมีผู้ลงโทษด้วยกรรมกรณ์ฉันใด นายนิรยบาลก็มีอยู่ในนรกฉันนั้น.
____________________________
๑- อภิ. ก. เล่ม ๓๗/ข้อ ๑๘๑๘

               บทว่า ยมสฺส รญฺโญ ได้แก่ พระราชาเวมานิกเปรต ชื่อว่าพญายม ในเวลาหนึ่งเสวยต้นกัลปพฤษทิพย์ อุทยานทิพย์ นักฟ้อนรำทิพย์ สมบัติทิพย์ในวิมานทิพย์ ในเวลาหนึ่งเป็นพระราชาผู้ทรงธรรมเสวยผลกรรม แต่ไม่ใช่เวลาเดียวกัน. ส่วนที่ประตูทั้ง ๔ มีคนอยู่ ๔ คน.
               บทว่า นาทฺทสํ ความว่า ท่านหมายเอาเทวทูตคนใดคนหนึ่งที่ถูกเขาส่งไปไว้ในสำนักของตน จึงกล่าวอย่างนี้. ครั้งนั้น พญายมรู้ว่า ผู้นี้ไม่กำหนดเนื้อความแห่งภาษิต ประสงค์จะให้เขากำหนด จึงกล่าวคำว่า อมฺโภ.
               บทว่า ชาติธมฺโม คือ มีความเกิดเป็นสภาพ ไม่พ้นจากความเกิดไปได้ ชื่อว่าชาติ ย่อมเป็นไปในภายในของเรา.
               แม้ในบทเป็นต้นว่า ปรโต ชราธมฺโม ก็มีนัยนี้เหมือนกัน.
               ในบทว่า ปฐมํ เทวทูตํ สมนุยุญฺชิตฺวา ความว่า กุมารหนุ่มย่อมกล่าวอย่างนี้ โดยเนื้อความว่า ผู้เจริญจงดูเรา แม้เราก็มีมือและเท้าเหมือนพวกท่าน แต่เราเกลือกกลั้วอยู่ในมูตรคูถของตน ไม่อาจเพื่อจะลุกขึ้นอาบน้ำตามธรรมดาของตนได้ เราเป็นผู้มีกายสกปรกแล้ว ไม่อาจเพื่อจะบอกว่าอาบน้ำให้เรา เราชื่อว่าเป็นเช่นนี้ เพราะไม่พ้นจากความเกิด แต่ก็ไม่ใช่เราเท่านั้น แม้ท่านทั้งหลายก็ไม่พ้นจากความเกิด ความเกิดจักมาถึงแม้แก่ท่านทั้งหลายเหมือนเรา ท่านจงทำความดีไว้ตั้งแต่ก่อนเกิดนั้น ด้วยประการฉะนี้. เพราะเหตุนั้นแล กุมารหนุ่มนั้น ชื่อว่าเทวทูต.
               แต่เนื้อความแห่งถ้อยคำ ท่านกล่าวไว้ในมฆเทวสูตร.
               แม้ในบทว่า ทุติยํ เทวทูตํ นี้ ความว่า สัตว์แก่เฒ่า ชื่อว่าย่อมกล่าวอย่างนี้ โดยเนื้อความว่า ผู้เจริญ พวกท่านจงดู แม้เราก็เคยเป็นหนุ่มสมบูรณ์ด้วยกำลังขา กำลังแขนและว่องไวเหมือนท่าน ความถึงพร้อมด้วยกำลังและความว่องไวเหล่านั้นของเรานั้นหมดไปเสียแล้ว แม้มือและเท้าของเรามีอยู่ ทำกิจด้วยมือและเท้าไม่ได้ เราชื่อว่าเป็นเช่นนี้ เพราะไม่พ้นจากชรา ไม่ใช่แต่เราเท่านั้น แม้ท่านทั้งหลายก็ไม่พ้นไปจากชรา ความชราจักมาถึงแม้แก่ท่านทั้งหลายเหมือนเรา ท่านทั้งหลายจงทำความดีไว้ก่อนแต่ชรานั้นจะมาถึง ด้วยประการฉะนี้. เพราะเหตุนั้นแล สัตว์แก่เฒ่านั้น ชื่อว่าเทวทูต.
               แม้ในบทว่า ตติยํ เทวทูตํ นี้ ความว่า สัตว์ผู้เจ็บไข้ ชื่อว่าย่อมกล่าวอย่างนี้ โดยเนื้อความว่า ผู้เจริญ พวกท่านจงดู แม้เราก็เป็นผู้ไม่มีโรคเหมือนท่าน เรานั้นบัดนี้ถูกพยาธิครอบงำเกลือกอยู่ในมูตรและคูถของตน ไม่อาจแม้เพื่อจะลุกขึ้น แม้มือและเท้าของเรามีอยู่ ทำกิจด้วยมือและเท้าไม่ได้ เราเป็นเช่นนี้ เพราะไม่พ้นจากพยาธิ ไม่ใช่แต่เราเท่านั้น แม้ท่านทั้งหลายก็ไม่พ้นจากพยาธิ พยาธิจักมาถึงแม้แก่ท่านทั้งหลายเหมือนเรา ท่านจงทำความดีไว้ก่อนแต่พยาธิจะมาถึง ด้วยประการฉะนี้. เพราะเหตุนั้น สัตว์ผู้เจ็บไข้นั้น ชื่อว่าเทวทูต.
               ก็ในบทว่า จตุตฺถํ เทวทูตํ นี้ กรรมกรณ์หรือผู้ลงโทษว่า เทวทูต.
               ในสองบทนั้น ในฝ่ายกรรมกรณ์ กรรมกรณ์ ๓๒ ก่อนย่อมกล่าวอย่างนี้ โดยอรรถว่า พวกเราเมื่อบังเกิด ย่อมไม่บังเกิดที่ต้นไม้หรือแผ่นหิน ย่อมบังเกิดในสรีระของคนเช่นท่าน ด้วยประการฉะนี้ ท่านจงทำความดีไว้ก่อนเราเกิด เพราะเหตุนั้น กรรมกรณ์เหล่านั้นจึงชื่อว่าเทวทูต.
               แม้ผู้ลงโทษย่อมกล่าวอย่างนี้ โดยอรรถว่า พวกเราเมื่อจะลงกรรมกรณ์ ๓๒ อย่างไม่ได้ลงที่ต้นไม้เป็นต้น ย่อมลงในสัตว์อย่างพวกท่านนั่นแหละ ด้วยประการฉะนี้ พวกท่านจงทำความดีก่อนที่เราจะลงโทษ. เพราะเหตุนั้น แม้ผู้ลงโทษเหล่านั้น ชื่อว่าเทวทูต.
               ในบทว่า ปญฺจมํ เทวทูตํ นี้ ความว่า สัตว์ผู้ตายแล้วย่อมกล่าวอย่างนี้ โดยอรรถว่า ผู้เจริญ พวกท่านจงดูเราที่เขาทิ้งไว้ในป่าช้าผีดิบ ถึงความเป็นผู้ขึ้นอืดเป็นต้น เราก็เป็นเช่นนี้ เพราะไม่พ้นจากความตาย แต่ไม่ใช่เราเท่านั้น แม้พวกท่านก็ไม่พ้นจากความตายเหมือนกัน ความตายจักมาถึงแก่ท่านทั้งหลายเหมือนเรา พวกท่านจงทำความดีก่อนความตายนั้นจะมาถึง. เพราะฉะนั้น สัตว์ผู้ตายนั้น ชื่อว่าเทวทูต.
               ถามว่า ใครจะได้ประโยชน์ของเทวทูตนี้ ใครไม่ได้.
               ตอบว่า ผู้ใดทำกรรมมาก ผู้นั้นไปเกิดในนรก. ผู้ใดทำบาปกรรมนิดหนึ่ง ผู้นั้นย่อมได้. ชนทั้งหลายจับโจรพร้อมด้วยภัณฑะย่อมกระทำสิ่งที่ควรทำ ไม่วินิจฉัย แต่นำโจรที่ถูกสอบสวนจับไว้ไปสู่โรงศาล เขาได้การตัดสินฉันใด ข้อเปรียบเทียบก็ฉันนั้น. ก็ผู้มีบาปกรรมนิดหนึ่ง ย่อมระลึกได้ตามธรรมดาของตน แม้ถูกเขาให้ระลึกก็ระลึกได้. ในข้อนั้น มีทมิฬชื่อ ฑีฆทันตะ ระลึกได้ตามธรรมดาของตน.
               ได้ยินว่า ทมิฬนั้นเอาผ้าสีแดงบูชาอากาศเจดีย์ในสุมนคีริวิหาร. ครั้งนั้น เขาเกิดใกล้อุสสุทนรก ได้ยินเสียงเปลวไฟ ระลึกถึงผ้าที่ตนบูชาไว้ เขาจึงไปเกิดบนสวรรค์.
               อีกคนหนึ่ง ถวายผ้าสาฎกเนื้อหยาบแก่ภิกษุหนุ่มผู้เป็นบุตรวางไว้ใกล้เท้า. ในเวลาใกล้ตาย เขาถือนิมิตในเสียงว่า ปฏะ ปฏะ แม้เขาเกิดใกล้อุสสุทนรก ก็ระลึกถึงผ้านั้น เพราะเสียงเปลวไฟจึงไปเกิดบนสวรรค์.
               เขาระลึกถึงกุศลกรรมตามธรรมดาของตนก่อนอย่างนี้ จึงบังเกิดบนสวรรค์.
               แต่เมื่อระลึกตามธรรมดาของตนไม่ได้ จึงถามเทวทูตทั้ง ๕. ในเทวทูตทั้ง ๕ นั้น บางคนระลึกได้ด้วยเทวทูตที่หนึ่ง. บางคนระลึกได้ด้วยเทวทูตที่สองเป็นต้น.
               ส่วนผู้ใดย่อมระลึกไม่ได้ด้วยเทวทูตทั้ง ๕ พญายมให้ผู้นั้นระลึกได้เอง.
               ได้ยินว่า อำมาตย์คนหนึ่งบูชามหาเจดีย์ด้วยหม้อดอกมะลิ ได้ให้ส่วนบุญแก่พญายม. นายนิรยบาลนำอำมาตย์นั้นผู้เกิดในนรกเพราะอกุศลกรรมไปหาพญายม. เมื่ออำมาตย์นั้นระลึกไม่ได้ ด้วยเทวทูตทั้ง ๕ พญายมตรวจดูเอง เห็นแล้วให้ระลึกว่า ท่านบูชามหาเจดีย์ด้วยหม้อดอกมะลิแล้ว แผ่ส่วนบุญให้เรามิใช่หรือ. เขาระลึกได้ในเวลานั้นแล้ว ไปสู่เทวโลก. ก็แต่ว่า พญายมแม้ตรวจดูเองก็ไม่เห็น ดำริว่า สัตว์ผู้นี้จักเสวยทุกข์ใหญ่ จึงนิ่งเสีย.
               บทว่า มหานิรเย ได้แก่ อเวจีมหานรก.
               ถามว่า อเวจีมหานรกนั้นประมาณภายในเท่าไร.
               ตอบว่า แผ่นดินโลหะหลังคาโลหะโดยยาว และโดยกว้างประมาณ ๙๐๐ โยชน์ ฝาข้างหนึ่งๆ ประมาณ ๘๑ โยชน์. เปลวไฟนั้นตั้งขึ้นในทิศบูรพาจดฝาทิศประฉิมทะลุฝานั้นไปข้างหน้า ๑๐๐ โยชน์. แม้ในทิศที่เหลือก็มีนัยนี้แล. ด้วยประการฉะนี้ โดยส่วนยาวและส่วนกว้าง ด้วยที่สุดของเปลวไฟมีประมาณ ๓๑๘ โยชน์. แต่โดยรอบๆ มีประมาณ ๙๕๔ โยชน์. ส่วนโดยรอบกับอุสสุทประมาณหมื่นโยชน์.
               ในบทว่า อุพฺภตํ ตาทิสเมว โหติ นี้ ความว่า ไม่สามารถจะยกเท้าที่เหยียบจนถึงกระดูกให้มั่นคงได้. ก็ในบทนี้มีอธิบายดังนี้ ถูกเผาไหม้ทั้งข้างล่างข้างบน. ด้วยประการฉะนี้ ในเวลาเหยียบ ปรากฏถูกเปลวไฟเผาไหม้ ในเวลายกขึ้น ก็เป็นเช่นนั้น. เพราะฉะนั้น ท่านจึงกล่าวอย่างนี้.
               บทว่า พหุสมฺปตฺโต คือ ถึงหลายแสนปี.
               ถามว่า เพราะเหตุไร นรกนี้จึงชื่อว่า อเวจี.
               ตอบว่า ท่านเรียกระหว่างว่าคลื่น. ในนรกนั้นไม่มีระหว่างของเปลวไฟของสัตว์หรือของทุกข์ เพราะฉะนั้น นรกนั้นจึงชื่อว่า อเวจี. เปลวไฟตั้งขึ้นแต่ฝาด้านทิศบูรพาของนรกนั้นพลุ่งไป ๑๐๐ โยชน์ ทะลุฝาไปข้างหน้า ๑๐๐ โยชน์. แม้ในทิศที่เหลือก็มีนัยนี้แล.
               เทวทัตเกิดในท่ามกลางแห่งเปลวไฟทั้ง ๖ เหล่านี้. เทวทัตมีอัตภาพประมาณ ๑๐๐ โยชน์. เท้าทั้งสองเข้าไปสู่โลหะแผ่นดินถึงข้อเท้า มือทั้งสองเข้าไปสู่ฝาโลหะถึงข้อมือ. ศีรษะจดหลังคาโลหะถึงกระดูกคิ้ว. หลาวโลหะอันหนึ่งเข้าไปโดยส่วนล่างทะลุกายไปจดหลังคา. หลาวออกจากฝาด้านทิศปราจีนทะลุหัวใจ เข้าไปฝาด้านทิศประฉิม หลาวออกจากฝาด้านทิศอุดร ทะลุซี่โครงไปจดฝาด้านทิศทักษิณ เทวทัตเป็นเช่นนี้ เพราะผลกรรมที่ว่า เทวทัตหมกไหม้อยู่ เพราะผิดในพระตถาคตผู้ไม่หวั่นไหว.
               ด้วยประการฉะนี้ นรกชื่อว่า อเวจี เพราะเปลวไฟไม่หยุดยั้ง.
               ในภายในนรกนั้น ในที่ประมาณ ๑๐๐ โยชน์ สัตว์ยัดเหยียดกันเหมือนแป้งที่เขายัดใส่ไว้ในทะนาน ไม่ควรกล่าวว่า ในที่นี้มีสัตว์ ในที่นี้ไม่มี. สัตว์เดินยืนนั่งและนอนไม่มีที่สุด. สัตว์ทั้งหลายเมื่อเดินยืนนั่งหรือนอน ย่อมไม่เบียดเบียนซึ่งกันและกัน. ชื่อว่าอเวจี เพราะสัตว์ทั้งหลายยัดเหยียดกันอย่างนี้.
               ส่วนในกายทวาร จิตสหรคตด้วยอุเบกขา ๖ ดวงย่อมเกิดขึ้น ดวงหนึ่งสหรคตด้วยทุกข์. แม้เมื่อเป็นอย่างนี้ เมื่อบุคคลวางหยดน้ำหวาน ๖ หยดไว้ที่ปลายลิ้น หยดหนึ่งวางไว้ที่ตัมพโลหะ เพราะถูกเผาผลาญกำลังหยดน้ำนั้นย่อมปรากฏ นอกนี้เป็นอัพโพหาริกฉันใด ทุกข์ในนรกนี้ไม่มีระหว่าง เพราะมีเผาไหม้เป็นกำลัง ทุกข์นอกนี้เป็นอัพโพหาริกฉันนั้น. ชื่อว่าอเวจี เพราะเต็มไปด้วยทุกข์อย่างนี้แล.
               บทว่า มหนฺโต คือ ประมาณ ๑๐๐ โยชน์. บทว่า โส ตตฺถ ปตติ ความว่า เท้าข้างหนึ่งอยู่ในมหานรก ข้างหนึ่งตกไปในคูถนรก. บทว่า สุจิมุขา คือ มีปากคล้ายเข็ม. สัตว์เหล่านั้นมีคอเท่าช้าง และเท่าเรือโกลนลำหนึ่ง.
               บทว่า กุกฺกุลนิรโย ความว่า นรกเถ้าถ่านร้อนเต็มไปด้วยเถ้า ปราศจากไฟขนาดภายในเรือนยอดประมาณ ๑๐๐ โยชน์. สัตว์ที่ตกไปในนรกถึงพื้นล่างเหมือนเมล็ดผักกาดในกองผักกาดที่เขาเหวี่ยงไปในหลุมถ่านเพลิง.
               บทว่า อาโรเปนฺติ ความว่า เอาท่อนเหล็กโบยยกขึ้น. ในเวลายกท่อนเหล็กเหล่านั้นขึ้น หนามเหล็กอยู่ข้างล่าง เวลายกลงหนามเหล็กอยู่ข้างบน.
               บทว่า วาเตริตานิ ได้แก่ เที่ยวไปด้วยกรรม.
               บทว่า หตฺถํปิ ฉินฺทนฺติ ความว่า ได้แก่ทุบเฉือนเหมือนเฉือนเนื้อบนเขียง. ถ้าลุกขึ้นหนีไปได้ กำแพงเหล็กโผล่ขึ้นมาล้อมไว้ คมมีดโกนก็ตั้งขึ้นข้างล่าง.
               บทว่า ขาโรทกา นที ได้แก่ แม่น้ำทองแดงชื่อว่าเวตตรณี ในบทนั้น ทรายหยาบสำเร็จด้วยเหล็ก ใบบัวข้างล่างมีคมมีดโกน ที่ฝั่งสองข้างมีเถาหวายและหญ้าคา.
               บทว่า โส ตตฺถ ทุกฺขา ติปฺปา ขรา ความว่า สัตว์นรกนั้นลอยขึ้นข้างบนและลงไปข้างล่างในนรก ขาดในใบบัว. ถูกหนามทรายหยาบมีสัณฐานเป็นกากบาดถูกผ่าด้วยมีดโกนคม ย่อมขีดด้วยหญ้าคาที่ฝั่งทั้งสองข้าง. คร่ามาด้วยเถาหวาย. ถูกผ่าด้วยศัสตราอันคม.
               บทว่า ตตฺเตน อโยสงฺกุนา ความว่า เมื่อสัตว์นรกกล่าวว่าเราหิว นายนิรยบาลเหล่านั้นเอางบโลหะบรรจุกระเช้าโลหะใหญ่ เอาเข้าไปให้เขา. เขารู้ว่าเป็นงบโลหะแตะที่ฟัน. ครั้งนั้น นายนิรยบาลเอาขอเหล็กร้อนงัดปากของเขา เอาน้ำทองแดงใส่เข้าไปในหม้อทองแดงใหญ่ แล้วกระทำอย่างนั้นแหละ.
               บทว่า ปุน มหานิรเย ความว่า นายนิรยบาลให้ลงโทษตั้งแต่เครื่องจองจำ ๕ ประการตลอดถึงดื่มน้ำทองแดงอย่างนี้ ตั้งแต่ดื่มน้ำทองแดงให้ลงเครื่องจองจำ ๕ ประการเป็นต้นอีก โยนลงไปในมหานรก. ในมหานรกนั้น บางตนพ้นเครื่องจองจำ ๕ ประการ บางตนพ้นครั้งที่สอง บางตนพ้นครั้งที่สาม บางตนพ้นด้วยการดื่มน้ำทองแดง. ก็เมื่อยังไม่สิ้นกรรม นายนิรยบาลก็โยนลงไปในมหานรกอีก.
               ก็ภิกษุหนุ่มรูปหนึ่ง เมื่อเรียนพระสูตรนี้ กล่าวว่า ท่านผู้เจริญ เมื่อสัตว์นรกเสวยทุกข์เท่านี้แล้ว นายนิรยบาลยังโยนเขาไปในมหานรกอีกหรือ.
               ภิกษุกล่าวว่า ท่านผู้เจริญ อุทเทสจงยกไว้ ท่านจงบอกกัมมัฏฐานแก่กระผม ให้พระเถระบอกกัมมัฏฐานแล้ว เป็นพระโสดาบันอาศัยเรียนอุทเทส. ชนแม้เหล่าอื่นเว้นอุทเทสประเทศนี้บรรลุอรหัต ไม่มีจำนวน.
               ก็พระสูตรนี้ พระพุทธเจ้าทุกพระองค์ไม่ทรงเว้นเลย.
               บทว่า หีนกายูปคา ได้แก่ เป็นผู้เข้าถึงพวกเลว.
               บทว่า อุปาทาเน คือ ยึดถือด้วยตัณหาและทิฐิ.
               บทว่า ชาติมรณสมฺภเว ได้แก่ เป็นเหตุแห่งความเกิดและความตาย.
               บทว่า อนุปาทา ได้แก่ ไม่ยึดถือด้วยอุปาทาน ๔.
               บทว่า ชาติมรณสงฺขเย คือ ย่อมพ้นในเพราะนิพพาน กล่าวคือเป็นที่สิ้นชาติและมรณะ.
               บทว่า ทิฏฺฐธมฺมาภินิพฺพุตา ความว่า ดับแล้วด้วยความดับกิเลสทั้งปวงในทิฏฐธรรม คือในอัตภาพนี้เอง.
               บทว่า สพฺพทุกฺขํ อุปจฺจคู คือ ชื่อว่าล่วงทุกข์ทั้งปวงได้.

               จบอรรถกถาเทวทูตสูตรที่ ๑๐               
               จบวรรคที่ ๓.               
               -----------------------------------------------------               

               รวมพระสูตรที่มีในวรรคนี้ คือ
                         ๑. จูฬสุญญตสูตร
                         ๒. มหาสุญญตสูตร
                         ๓. อัจฉริยัพภูตธัมมสูตร
                         ๔. พักกุลัตเถรัจฉริยัพภูตสูตร
                         ๕. ทันตภูมิสูตร
                         ๖. ภูมิชสูตร
                         ๗. อนุรุทธสูตร
                         ๘. อุปักกิเลสสูตร
                         ๙. พาลบัณฑิตสูตร
                         ๑๐. เทวทูตสูตร
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ สุญญตวรรค เทวทูตสูตร จบ.
อ่านอรรถกถา 14 / 1อ่านอรรถกถา 14 / 467อรรถกถา เล่มที่ 14 ข้อ 504อ่านอรรถกถา 14 / 526อ่านอรรถกถา 14 / 853
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=14&A=6750&Z=7030
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=10&A=4252
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=10&A=4252
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๒๔  มิถุนายน  พ.ศ.  ๒๕๔๙
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :