ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 

อ่าน อรรถกถาหน้าต่างที่ [๑] [๒]อ่านอรรถกถา 14 / 1อ่านอรรถกถา 14 / 343อรรถกถา เล่มที่ 14 ข้อ 357อ่านอรรถกถา 14 / 380อ่านอรรถกถา 14 / 853
อรรถกถา มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ สุญญตวรรค
อัจฉริยัพภูตธัมมสูตร

               อรรถกถาอัจฉริยัพภูตสูตร               
               อัจฉริยัพภูตสูตร๑- มีบทเริ่มต้นว่า ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้ :-
____________________________
๑- พระสูตรเป็น อัจฉริยัพภูตธัมมสูตร

               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ยตฺร หิ นาม เป็นนิบาตลงในอรรถว่าอัศจรรย์. อธิบายว่า พระตถาคตพระองค์ใด.
               ที่ชื่อว่า ปปัญจธรรม ในบทว่า ฉินฺนปปญฺเจ นี้ ได้แก่ กิเลส ๓ อย่าง คือตัณหา มานะและทิฏฐิ.
               กัมมวัฎที่เป็นกุศลและอกุศล ท่านเรียกว่า วัฏฏุมะ ในบทว่า ฉินฺนวฏฺฏุเม นี้.
               บทว่า ปริยาทินฺนวฏฺเฏ เป็นไวพจน์ของบทว่า ฉินฺนวฏฺฏุเม นั้นแหละ.
               บทว่า สพฺพทุกฺขวีสติวฏฺเฏ ความว่า ล่วงทุกข์กล่าวคือวิปากวัฏทั้งปวง.
               บทว่า อนุสฺสริสฺสติ นี้ เป็นคำกล่าวถึงอนาคตกาล โดยใช้นิบาตว่า ยตฺร. แต่ในบทนี้ พึงทราบความว่า ท่านใช้หมายถึงอดีต. แท้จริงพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงระลึกถึงพระพุทธเจ้าเหล่านั้นแล้ว มิใช่จักระลึกถึงในบัดนี้.
               บทว่า เอวํ ชจฺจา ความว่า พระพุทธเจ้าทั้งหลายมีพระวิปัสสีเป็นต้น มีพระชาติเป็นกษัตริย์ พระพุทธเจ้าทั้งหลายมีพระกกุสันธะเป็นต้น มีพระชาติเป็นพราหมณ์.
               บทว่า เอวํโคตฺตา ความว่า พระพุทธเจ้าทั้งหลายมีพระวิปัสสีเป็นต้น เป็นโกณฑัญญโคตร พระพุทธเจ้าทั้งหลายมีพระกกุสันธะเป็นต้น เป็นกัสสปโคตร.
               บทว่า เอวํสีลา ความว่า มีศีลอย่างนี้ คือมีศีลเป็นทั้งโลกิยะและโลกุตตระ.
               ในบทว่า เอวํธมฺมา นี้ ท่านหมายเอาธรรมที่เป็นไปในฝักฝ่ายแห่งสมาธิ. อธิบายว่า มีสมาธิอย่างนี้ คือ มีสมาธิเป็นทั้งโลกิยะและโลกุตตระ.
               บทว่า เอวํปญฺญา ความว่า มีปัญญาอย่างนี้ คือ มีทั้งปัญญาที่เป็นโลกิยะและโลกุตตระ.
               ก็ในบทว่า เอวํวิหารี นี้ ก็เพราะถือธรรมที่เป็นไปในฝ่ายสมาธิไว้ในหนหลังแล้ว ก็เป็นอันถือวิหารธรรมไว้ด้วย หากจะมีผู้ท้วงว่าเหตุไร ท่านจึงถือสิ่งที่ถือแล้วอีกเล่า.
               ตอบว่า ข้อนี้ท่านไม่ถืออย่างนั้นเลย. แท้จริง การที่ท่านถือสิ่งที่ถือแล้วอีกนี้ ก็เพื่อจะแสดงถึงนิโรธสมาบัติ เพราะฉะนั้น ในข้อนี้ได้ความอย่างนี้ว่า มีปกติอยู่ด้วยนิโรธสมาบัติอย่างนี้.
               ในบทว่า เอวํ วิมุตฺตา นี้ ได้แก่ วิมุตติ ๕ อย่างคือ วิกขัมภนวิมุตติ ๑ ตทังควิมุตติ ๑ สมุจเฉทวิมุตติ ๑ ปฏิปัสสัทธิวิมุตติ ๑ นิสสรณวิมุตติ ๑.
               ในวิมุตติ ๕ เหล่านั้น สมาบัตินับเป็นวิกขัมภนวิมุตติ เพราะพ้นแล้วจากกิเลสมีนิวรณ์เป็นต้น ที่ตนข่มไว้แล้วเอง. อนุปัสสนา ๗ มีอนิจจานุปัสนาเป็นต้น นับเป็นตทังควิมุตติ เพราะสลัดพ้นแล้วจากนิจจสัญญาเป็นต้น ที่ตนสละแล้ว ด้วยสามารถแห่งองค์ที่เป็นข้าศึกของมรรคนั้นๆ. อริยมรรค ๔ นับเป็นสมุจเฉทวิมุตติ เพราะหลุดพ้นจากกิเลสทั้งหลายที่ตนถอนขึ้นแล้วเอง. สามัญญผล ๔ นับเป็นปฏิปัสสัทธิวิมุตติ เพราะกิเลสทั้งหลายเกิดขึ้นแล้วในที่สุดแห่งปฏิปัสสัทธิด้วยอานุภาพแห่งมรรค. นิพพานนับเป็นนิสสรณวิมุตติ เพราะเป็นที่สลัดออก ขจัดออก ตั้งอยู่ในที่ไกลกิเลสทั้งปวง.
               ในข้อนี้พึงทราบความอย่างนี้ว่า หลุดพ้นแล้วอย่างนี้ ด้วยสามารถแห่งวิมุตติ ๕ เหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้.
               บทว่า ตสฺมาติห ความว่า เพราะเหตุที่ท่านกล่าวว่า พระตถาคตทั้งหลาย น่าอัศจรรย์ ฉะนั้น อัจฉริยภูตธรรมทั้งหลายของพระตถาคต จึงชัดแจ้งยิ่งกว่าประมาณ.
               ในบทว่า สโต สมฺปชาโน นี้ ได้แก่ สัมปชัญญะ ๒ อย่าง คือ ทั้งในมนุษยโลกและเทวโลก.
               ในสัมปชัญญะ ๒ นั้น ในเวสสันดรชาดก พระเวสสันดรให้พระโอรสทั้งสองแก่พราหมณ์แล้ว ในวันรุ่งขึ้น ถวายพระมเหสีแก่ท้าวสักกะ เมื่อจะถือเอาพร ๘ อย่างที่ท้าวสักกะทรงเลื่อมใสประทานแล้ว ได้เลือกถือเอาพรว่า เราจงถือปฏิสนธิในภพดุสิต อย่างนี้ว่า
                         เมื่อล่วงพ้นจากอัตตภาพนี้ไป ขอจงไปสวรรค์
                         ไปถึงชั้นดุสิตอันเป็นชั้นวิเศษ ไม่พึงกลับจาก
                         นั้น พรนี้เป็นพรที่ ๘.
               จำเดิมแต่นั้นมา ก็รู้ว่าเราจักเกิดในดุสิตพิภพ. นี้จัดเป็นสัมปชัญญะ ในมนุษยโลก.
               ก็แลพระองค์ทรงจุติจากอัตตภาพพระเวสสันดรแล้ว บังเกิดในภพดุสิต ได้รู้ตัวว่า เราเกิดแล้ว ดังนี้ เป็นสัมปชัญญะในเทวโลก.
               ถามว่า ก็เทวดาที่เหลือทั้งหลายไม่รู้หรือ.
               ตอบว่า จะไม่รู้ก็หามิได้ แต่เทวดาเหล่านั้นต้องแลดูต้นกัลปพฤกษ์ใกล้วิมานในอุทยานที่เหล่าเทพอัปสรผู้ฟ้อนรำปลุกให้ตื่นด้วยเสียงทิพยดุริยางค์ ให้ระลึกว่า ท่านผู้นิรทุกข์ นี้เป็นเทวโลก ท่านเกิดในเทวโลกนี้แล้ว ดังนี้ จึงจะรู้. พระโพธิสัตว์ไม่รู้ในปฐมชวนวาร. นับแต่ทุติยชวนวารไปถึงจะรู้. การรู้ของพระองค์ไม่สาธารณะทั่วไป เหมือนคนอื่น ดังพรรณนามาฉะนี้.
               ในบทว่า อฏฺฐาสิ นี้ ความว่า แม้เทวดาเหล่าอื่น ถึงจะดำรงอยู่ในภพนั้น ก็ย่อมรู้ตัวว่า พวกเราดำรงอยู่แล้วก็จริง แต่เทวดาเหล่านั้นถูกอิฏฐารมณ์ที่มีกำลังในทวารทั้ง ๖ ครอบงำอยู่ ขาดสติ ไม่รู้แม้สิ่งที่ตนบริโภคแล้ว ดื่มแล้ว ย่อมทำกาละเพราะขาดอาหาร.
               ถามว่า พระโพธิสัตว์ไม่มีอารมณ์อย่างนั้นหรือ.
               ตอบว่า ไม่มีก็หามิได้. ด้วยว่าพระองค์ย่อมอยู่เหนือเทวดาที่เหลือโดยฐานะ ๑๐. ก็พระองค์ไม่ยอมให้อารมณ์ย่ำยี พระองค์ข่มอารมณ์นั้นตั้งอยู่ได้. เพราะเหตุนั้น จึงตรัสว่า สโต สมฺปชาโน อานนฺท โพธิสตฺโต ตุสิเต กาเย อฏฺฐาสิ.
               บทว่า ยาวตายุกํ นี้ ถามว่า ในอัตตภาพที่เหลือ พระโพธิสัตว์ไม่ดำรงอยู่จนตลอดอายุหรือ.
               ตอบว่า ใช่แล้วไม่ดำรงอยู่ตลอดอายุ. ก็ในกาลอื่นๆ พระโพธิสัตว์บังเกิดในเทวโลกที่เทวดามีอายุยืน ไม่อาจบำเพ็ญบารมีในเทวโลกนั้นได้ ฉะนั้น พระองค์ทรงลืมพระเนตรทั้งสอง กระทำอธิมุตตกาลกิริยา (กลั้นใจตาย) แล้วบังเกิดในมนุษยโลก กาลกิริยาอย่างนี้ไม่มีแก่เทวดาเหล่าอื่น. ก็ในครั้งนั้น ไม่มีการลักทรัพย์ ไม่มีผู้ไม่รักษาศีล พระองค์ดำรงอยู่จนตลอดอายุ เพราะทรงบำเพ็ญบารมีทุกอย่างบริบูรณ์แล้ว. พระองค์มีสติสัมปชัญญะ เคลื่อนจากหมู่เทวดาชั้นดุสิต สถิตอยู่ในพระครรภ์พระมารดา. พระโพธิสัตว์ทรงบำเพ็ญพระบารมีครบทุกอย่างก่อน แล้วได้ดำรงอยู่จนตลอดพระชนม์ชีพในครั้งนั้น ด้วยประการดังพรรณนามาฉะนี้.
               ก็บุพนิมิต ๕ อย่างคือ ดอกไม้เหี่ยว ๑ ผ้าเศร้าหมอง ๑ เหงื่อออกจากรักแร้ ๑ กายเริ่มเศร้าหมอง ๑ เทวดาไม่ดำรงอยู่บนอาสนะของเทวดา ๑ นี้ย่อมบังเกิดแก่เทวดาทั้งหลาย เพื่อจะเตือนให้รู้ว่า บัดนี้ เหลืออีก ๗ วันจักต้องจุติโดยการนับวันอย่างของมนุษย์.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า มาลา ได้แก่ ดอกไม้ประดับ โดยนับวันเริ่มปฏิสนธิเป็นกำหนด.
               ได้ยินว่า ดอกไม้เหล่านั้นจะไม่เหี่ยวแห้ง เป็นเวลาถึง ๕๗ โกฏิกับอีก ๖๐ แสนปี แต่จะเหี่ยวแห้งในครั้งนั้น. แม้ในผ้าทั้งหลายก็นัยนี้เหมือนกัน. ก็เทวดาทั้งหลายย่อมไม่รู้จักหนาว ไม่รู้จักร้อน ตลอดกาลมีประมาณเท่านี้. แต่ในกาลนั้น เหงื่อจะไหลออกจากร่างกายเป็นเม็ดๆ. ก็ตลอดกาลมีประมาณเท่านี้ ร่างกายของเทวดาเหล่านั้นไม่เคยปรากฏว่าเศร้าหมอง เช่นเป็นต้นว่า ฟันหักหรือผมหงอกเลย. เทพธิดาจะปรากฏร่างเหมือนสาววัยรุ่น ๑๖ เทพบุตรจะปรากฏร่างเหมือนหนุ่มวัยรุ่น ๒๐. ในเวลาใกล้จะตายเทพบุตรเหล่านั้น ย่อมมีอัตตภาพเศร้าหมอง.
               อนึ่ง เทพบุตรเหล่านั้นไม่มีความกระสันในเทวโลกตลอดกาลประมาณเท่านี้ แต่ในเวลาใกล้ตาย เทพบุตรย่อมเหนื่อยหน่ายสะดุ้ง หวั่นไหว ไม่ยินดีในอาสนะของตน. เหล่านี้จัดเป็นบุพนิมิต ๕ ประการ.
               นิมิตทั้งหลายมีลูกอุกกาบาตตก แผ่นดินไหวและจันทรคราสเป็นต้น จะปรากฏเฉพาะผู้มีบุญหนักศักดิ์ใหญ่ในโลก เช่นพระราชา อำมาตย์ชั้นผู้ใหญ่เป็นต้นเท่านั้น ไม่ปรากฏแก่สามัญชนทั่วไปฉันใด บุพนิมิต ๕ ก็ฉันนั้นจะปรากฏเฉพาะเหล่าเทพผู้มีศักดิ์ใหญ่เท่านั้น ไม่ปรากฏแก่เทพทั่วไป. ก็ในหมู่มนุษย์ทั้งหลาย โหรเป็นต้นเท่านั้น จึงจะรู้บุพนิมิตทั้งหลาย คนทั่วไปไม่รู้ฉันใด หมู่เทพทั้งหลายก็ฉันนั้น เทพทั่วไปแม้เหล่านั้นย่อมไม่รู้ จะรู้ก็เฉพาะเทพที่ฉลาดเท่านั้น.
               ก็ในบรรดาเทพเหล่านั้น เทพบุตรผู้เกิดด้วยกุศลกรรมเล็กน้อย เมื่อบุพนิมิตเกิดแล้ว ใครจะรู้ว่า บัดนี้ พวกเราจักไปเกิดในที่ไหน จึงกลัว. ฝ่ายเทพบุตรผู้มีบุญมาก คิดว่าพวกเราอาศัยทานที่ให้ ศีลที่รักษา ภาวนาที่เจริญแล้ว จักเสวยสมบัติในเทวโลกชั้นสูงๆ ขึ้นไป จึงไม่กลัว. สำหรับพระโพธิสัตว์ทรงเห็นบุพนิมิตเหล่านั้นแล้ว คิดว่า บัดนี้ เราจักได้เป็นพระพุทธเจ้าในอัตตภาพต่อไป จึงไม่กลัว.
               ครั้งนั้น เมื่อนิมิตเหล่านั้นปรากฏแก่พระโพธิสัตว์แล้ว เทวดาในหมื่นจักรวาลมาประชุมกัน แล้วทูลอาราธนาว่า ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ การที่พระองค์ทรงบำเพ็ญทสบารมี จะหวังสมบัติว่า จะเป็นท้าวสักกะก็หาไม่ จะหวังสมบัติว่า จักเป็นมาร เป็นพรหม เป็นพระเจ้าจักรพรรดิก็หาไม่ แต่ทรงบำเพ็ญด้วยปรารถนาจะเป็นพระพุทธเจ้า เพื่อรื้อถอนสัตวโลก ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ บัดนี้ เป็นกาลอันสมควร เพื่อการตรัสรู้ของพระองค์ ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ บัดนี้เป็นสมัยอันสมควร เพื่อการตรัสรู้ของพระองค์.
               ลำดับนั้น พระมหาสัตว์ยังไม่ทรงให้คำรับรองแก่เทวดาทั้งหลาย ทรงตรวจดูมหาวิโลกนะ ๕ ประการ คือ กาล ทวีป ประเทศ ตระกูลและการกำหนดอายุของพระมารดา. ในมหาวิโลกนะ ๕ ประการนั้น ทรงตรวจดูกาลก่อนว่า เป็นเวลาสมควรหรือยังไม่สมควร. เวลาที่คนทั้งหลายมีอายุยืนกว่าแสนปีขึ้นไป ชื่อว่าเวลาที่ยังไม่สมควร ในมหาวิโลกนะ ๕ ประการนั้น.
               เพราะเหตุไร.
               เพราะในเวลานั้น ชาติ ชราและมรณะ ย่อมไม่ปรากฏแก่สัตว์ทั้งหลาย และขึ้นชื่อว่า การแสดงธรรมของพระพุทธเจ้าทั้งหลายจะพ้นไปจากไตรลักษณ์ย่อมไม่มี เมื่อพระองค์ตรัสว่า อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา คนทั้งหลายจะคิดว่า นี่ พระองค์ตรัสถึงอะไร แล้วไม่สนใจจะฟัง ไม่ยอมรับ นับถือ หรือเชื่อฟัง แต่นั้นย่อมไม่มีการตรัสรู้มรรคผล เมื่อไม่มีการตรัสรู้มรรคผล คำสอนย่อมไม่จัดเป็นนิยยานิกธรรม (คือนำสัตว์ออกจากภพ) ได้ เพราะฉะนั้น เวลานั้นจึงจัดเป็นเวลาที่ไม่สมควร.
               เวลาที่คนทั้งหลายมีอายุน้อยกว่าร้อยปี ก็ยังไม่จัดว่าเป็นกาลอันสมควร.
               เพราะเหตุไร.
               เพราะเวลานั้น คนทั้งหลายยังมีกิเลสหนา และคำสอนที่ให้แก่คนที่มีกิเลสหนา ย่อมไม่ตั้งอยู่ในฐานะแห่งโอวาท ย่อมสลายไปโดยพลัน เหมือนเอาท่อนไม้ขีดลงในน้ำ เพราะฉะนั้น แม้เวลานั้น ก็ยังไม่จัดเป็นกาลอันสมควร. แต่กาลกำหนดอายุนับแต่แสนปีลงมา ตั้งแต่ร้อยปีขึ้นไป จัดเป็นกาลอันสมควร. และในครั้งนั้นเป็นเวลาที่สัตว์มีอายุประมาณ ๑๐๐ ปี.
               ลำดับนั้น พระมหาสัตว์ทรงพิจารณาเห็นแล้วว่า เป็นกาลสมควรที่จะพึงมาเกิด.
               แต่นั้นเมื่อจะทรงตรวจดูทวีป ได้ทรงพิจารณาดูทวีปทั้ง ๔ พร้อมทั้งทวีปที่เป็นบริวาร ทรงเห็นว่า พระพุทธเจ้าทั้งหลายย่อมไม่มาเกิดในทวีปทั้ง ๓ จะเกิดเฉพาะในชมพูทวีปเท่านั้น. แต่นั้นทรงตรวจดูประเทศว่า ขึ้นชื่อว่าชมพูทวีป จัดเป็นทวีปใหญ่ มีประมาณถึงหมื่นโยชน์ พระพุทธเจ้าทั้งหลายย่อมมาเกิดในประเทศไหนหนอแล ทรงพิจารณาเห็นมัชฌิมประเทศแล้ว.
               ที่ชื่อว่า มัชฌิมประเทศ ได้แก่ประเทศที่ท่านกล่าวไว้แล้วในพระวินัย โดยนัยเป็นต้นว่า มีนิคมชื่อกชังคละอยู่ในทิศบูรพา ดังนี้. ก็มัชฌิมประเทศนั้นมีกำหนดว่า ยาว ๓๐๐ โยชน์ กว้าง ๒๕๐ โยชน์ วัดโดยรอบได้ ๙๐๐ โยชน์.
               ก็สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งหลาย ทรงบำเพ็ญบารมี ๔ อสงไขยแสนกัปบ้าง ๘ อสงไขยแสนกัปบ้าง ๑๖ อสงไขยแสนกัปบ้าง แล้วเสด็จอุบัติในประเทศนี้. พระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลายทรงบำเพ็ญบารมี ๒ อสงไขยแสนกัปแล้วมาเกิด. พระมหาสาวกทั้งหลายมีพระสารีบุตรและพระมหาโมคคัลลานะเป็นต้น บำเพ็ญบารมี ๑ อสงไขยแสนกัป แล้วมาเกิด. พระเจ้าจักรพรรดิผู้ปราบดาภิเษกเหนือทวีปใหญ่ทั้งสี่ มีทวีปน้อยสองพันเป็นบริวารย่อมเสด็จมาเกิด. อีกทั้งกษัตริย์ พราหมณ์และคฤหบดีผู้มหาศาล ผู้มีศักดิ์ใหญ่เหล่าอื่นก็มาเกิดในประเทศนี้.
               ก็และในประเทศนี้มีพระนครชื่อว่ากบิลพัสดุ์ เป็นราชธานี พระองค์จึงตกลงพระทัยว่า เราควรเกิดในนครกบิลพัสดุ์นั้น.
               แต่นั้นทรงตรวจดูตระกูล พิจารณาตระกูลว่าธรรมดาพระพุทธเจ้าทั้งหลายย่อมเกิดในตระกูลที่โลกสมมติ ก็บัดนี้ ตระกูลกษัตริย์เป็นตระกูลที่โลกสมมติ เราจักบังเกิดในตระกูลกษัตริย์นั้น พระราชาทรงพระนามว่าสุทโธทนะ จักเป็นพระบิดาของเรา.
               แต่นั้นทรงตรวจดูพระมารดา ทรงพิจารณาว่า ขึ้นชื่อว่าพระพุทธมารดา ย่อมไม่เป็นหญิงเหลาะแหละ ไม่เป็นนักเลงสุรา บำเพ็ญบารมีมาถึงแสนกัป นับแต่เกิด ย่อมมีศีล ๕ ไม่ขาด ก็พระเทวีพระนามว่ามหามายาพระองค์นี้มีลักษณะเป็นเช่นนี้ พระนางจักเป็นพระมารดาของเรา แต่พระนางจักมีอายุเท่าไร แล้วทรงเห็นว่า อายุของพระนาง (หลังทรงพระครรภ์) ๑๐ เดือน (ประสูติแล้ว) จักมี ๗ วัน.
               พระมหาสัตว์ครั้นทรงตรวจดูมหาวิโลกนะ ๕ ประการนี้ ดังกล่าวมานี้แล้ว ตรัสว่า ดูก่อนท่านผู้นิรทุกข์ทั้งหลาย ถึงเวลาที่เราจะเป็นพระพุทธเจ้าแล้ว เมื่อจะทำการสงเคราะห์จึงให้คำรับรองแก่เทวดาทั้งหลาย ส่งเทวดาเหล่านั้นไปด้วยพระดำรัสว่า จงกลับไปเถิดท่านทั้งหลาย แวดล้อมไปด้วยเทวดาชั้นดุสิต เสด็จเข้าไปยังสวนนันทวันในดุสิตบุรี.
               ก็ในเทวโลกทุกชั้นย่อมมีสวนนันทวันทั้งนั้น. แม้ในสวนนันทวันนั้น เทวดาทั้งหลายให้พระโพธิสัตว์ระลึกถึงโอกาสแห่งกุศลกรรมที่เคยทำไว้ในชาติก่อนว่า พระองค์จงจุติจากดุสิตบุรีนี้ไปสู่สุคติ จงจุติจากดุสิตบุรีนี้ไปสู่สุคติ ดังนี้เที่ยวไป. พระโพธิสัตว์แวดล้อมไปด้วยเทวดาผู้ช่วยให้ระลึกถึงกุศลกรรมอย่างนี้ เสด็จเที่ยวไปในนันทวันจุติแล้ว. ครั้นจุติอย่างนี้แล้ว ก็รู้ว่าเรากำลังจุติ ไม่ใช่รู้จุติจิต. แม้ถือปฏิสนธิแล้ว ก็ไม่รู้ปฏิสนธิจิต. พระองค์รู้ชัดอย่างนี้ว่า เราถือปฏิสนธิในที่นี้.
               ก็พระเถระบางพวกกล่าวว่า ควรจะได้อาวัชชนปริยาย พระมหาสัตว์จะรู้ในทุติยจิตตวาร และในตติยจิตตวารเท่านั้น. แต่พระมหาสิวเถระผู้ทรงพระไตรปิฏก กล่าวว่า ปฏิสนธิของพระมหาสัตว์ทั้งหลาย ไม่เหมือนปฏิสนธิของสัตว์อื่น สติสัมปชัญญะของพระมหาสัตว์เหล่านั้นถึงที่สุดแล้ว ก็เพราะไม่อาจจะรู้จิตดวงนั้นด้วยจิตดวงนั้นได้ ฉะนั้น พระมหาสัตว์จึงไม่รู้จุติจิต แม้ในขณะจุติ ย่อมรู้ว่าเรากำลังจุติ ถือปฏิสนธิ ก็ไม่รู้ปฏิสนธิจิต รู้ชัดว่าเราถือปฏิสนธิ ในที่โน้น.
               ในกาลนั้น หมื่นโลกธาตุย่อมหวั่นไหว ดังนี้.
               ก็เมื่อพระมหาสัตว์ก้าวลงสู่พระครรภ์มารดาอย่างนี้ ทรงถือปฏิสนธิด้วยมหาวิบากจิต เหมือนกับอสังขาริกกุศลจิต ที่สหรคตด้วยโสมนัสและสัมปยุตด้วยญาณมีเมตตาเป็นบุพภาค ในบรรดาปฏิสนธิจิต ๑๙ ดวง. ฝ่ายพระมหาสิวเถระกล่าวว่า ด้วยมหาวิบากจิตที่สหรคตด้วยอุเบกขา.
               ก็พระมหาสัตว์ เมื่อทรงถือปฏิสนธิได้ถือปฏิสนธิในวันเพ็ญเดือน ๘ หลัง.
               ดังได้สดับมา ครั้งนั้น พระนางมหามายาทรงพระสำราญด้วยการเล่นนักษัตร อันสมบูรณ์ไปด้วยเครื่องดื่มที่ปราศจากสุรา ระเบียบของหอมและเครื่องประดับ แต่วันที่ ๗ จากวันเพ็ญเดือน ๘ หน้า ครั้นในวันที่ ๗ เสด็จออกแต่เช้า สรงสนานด้วยน้ำหอมประดับพระวรกายด้วยเครื่องอลังการทั้งปวง เสวยพระกระยาหารอันประเสริฐ อธิษฐานองค์อุโบสถ แล้วเสด็จเข้าห้องอันมีสิริ บรรทมบนเตียงอันมีสิริ ทรงหลับไป ได้ทรงพระสุบินดังนี้ว่า ท้าวมหาราชทั้ง ๔ ทรงยกพระนางพร้อมทั้งที่บรรทมนำไปสระอโนดาด แล้ววางไว้ส่วนข้างหนึ่ง.
               ครั้งนั้น พระเทวีของท้าวมหาราชทั้ง ๔ นั้น ได้มาให้พระนางสรงสนานเพื่อชำระล้างมลทินของมนุษย์ แล้วให้นุ่งห่มผ้าทิพย์ลูบไล้ด้วยของหอม ประดับผ้าทิพย์ ให้ทรงบรรทมรักษาศีลอยู่ในวิมานทองซึ่งมีอยู่ภายในภูเขาเงิน อันตั้งอยู่ไม่ห่างจากสระอโนดาดนั้น.
               ครั้งนั้น พระโพธิสัตว์เป็นช้างเผือกเที่ยวไปบนภูเขาทองลูกหนึ่ง ซึ่งตั้งอยู่ไม่ห่างจากสระอโนดาดนั้น ลงจากภูเขาทองนั้นแล้ว ขึ้นสู่ภูเขาเงิน มาจากทิศอุดร เข้าไปยังวิมานทอง กระทำประทักษิณพระมารดา แล้วได้เป็นประดุจแยกพระปรัศว์ขวาออก แล้วเข้าไปสู่พระครรภ์.
               ลำดับนั้น พระนางตื่นพระบรรทมแล้ว ได้กราบทูลพระสุบินนั้นแด่พระราชา. ครั้นรุ่งสว่าง พระราชารับสั่งให้หัวหน้าพราหมณ์ประมาณ ๖๔ คนเข้าเฝ้า จัดปูอาสนะมีค่ามากบนภูมิภาคที่มีติณชาติเขียวขจี ตกแต่งแล้วด้วยเครื่องสักการะอันเป็นมงคลที่กระทำด้วยข้าวตอกเป็นต้น แล้วนำข้าวปายาสอันประเสริฐปรุงด้วยเนยใส น้ำผึ้งและน้ำตาลกรวดใส่หม้อทอง หม้อเงินจนเต็ม แล้วปิดด้วยหม้อทองหม้อเงินเช่นเดียวกัน พระราชทานแก่พราหมณ์ทั้งหลายผู้นั่งบนอาสนะนั้น. ทั้งยังพราหมณ์เหล่านั้นให้เอิบอิ่ม ด้วยผ้าและแม่โคด่างที่คนเหล่าอื่นนำมาให้อีกด้วย.
               ลำดับนั้น พระราชาทรงแจ้งให้พราหมณ์ทั้งหลายผู้อิ่มหนำสำราญแล้ว ทราบถึงพระสุบิน แล้วทรงถามว่า จักมีอะไรเกิดขึ้น. พราหมณ์ทั้งหลายกราบทูลว่า ข้าแต่มหาราช ขอพระองค์อย่าทรงพระวิตกเลย พระเทวีของพระองค์ทรงตั้งพระครรภ์ และพระครรภ์นั้นก็เป็นพระครรภ์พระโอรส มิใช่ครรภ์พระธิดา พระองค์จักมีพระโอรส ถ้าพระโอรสนั้นจักอยู่ครองเรือน จักได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ถ้าออกบวช จักเป็นพระพุทธเจ้าผู้เพิกถอนกิเลสได้แล้วในโลก.
               พระโพธิสัตว์มีสติและสัมปชัญญะ จุติจากหมู่เทวดาชั้นดุสิต เข้าสู่พระครรภ์พระมารดาด้วยประการฉะนี้.
               บรรดาบทเหล่านั้น ด้วยบทว่า สโต สมฺปชาโน นี้ ท่านแสดงว่า พระโพธิสัตว์ทรงก้าวลงโดยวิธีก้าวลงสู่พระครรภ์อย่างที่ ๔. ก็การก้าวลงสู่พระครรภ์มี ๔ อย่างดังพระบาลีว่า พระเจ้าข้า การก้าวลงสู่ครรภ์มี ๔ อย่างดังนี้.
               พระเจ้าข้า สัตว์บางพวกในโลกนี้ ก้าวลงสู่ท้องมารดาก็ไม่รู้ตัว ตั้งอยู่ในท้องมารดาก็ไม่รู้ตัว ออกจากท้องมารดาก็ไม่รู้ตัว นี้เป็นการก้าวลงสู่ครรภ์อย่างที่ ๑.
               ข้ออื่นยังมีอีก พระเจ้าข้า สัตว์บางพวกในโลกนี้ ก้าวลงสู่ท้องมารดารู้ตัว ตั้งอยู่ในท้องมารดาไม่รู้ตัว ออกจากท้องมารดาก็ไม่รู้ตัว นี้เป็นการก้าวลงสู่ครรภ์อย่างที่ ๒.
               ข้ออื่นยังมีอีก พระเจ้าข้า สัตว์บางพวกในโลกนี้ ก้าวลงสู่ท้องมารดารู้ตัว ตั้งอยู่ในท้องมารดาก็รู้ตัว แต่ออกจากท้องมารดาไม่รู้ตัว นี้เป็นการก้าวลงสู่ครรภ์อย่างที่ ๓.
               ข้ออื่นยังมีอีก พระเจ้าข้า สัตว์บางพวกในโลกนี้ ก้าวลงสู่ท้องมารดาก็รู้ตัว ตั้งอยู่ในท้องมารดาก็รู้ตัว ทั้งออกจากท้องมารดาก็รู้ตัว นี้เป็นการก้าวลงสู่ครรภ์อย่างที่ ๔.
               ใน ๔ อย่างเหล่านี้ อย่างที่หนึ่ง เป็นของพวกโลกิยมนุษย์. อย่างที่สอง เป็นของพระอสีติมหาสาวก. อย่างที่สาม เป็นของพระอัครสาวกทั้งสองและพระปัจเจกโพธิสัตว์ทั้งหลาย.
               ได้ยินว่า บุคคล ๓ จำพวกเหล่านั้น เมื่อถูกลมกรรมชวาต พัดเอาเท้าขึ้นบน เอาหัวลงล่าง ออกจากช่องกำเนิดที่คับแคบเหลือเกิน ย่อมถึงทุกข์อย่างยอดยิ่ง อุปมาเหมือนถูกเขาจับเหวี่ยงลงในเหวลึกหลายชั่วร้อยคน หรือเหมือนช้างที่ต้องออกจากช่องลูกดาลฉะนั้น. ด้วยเหตุนั้น ความรู้ตัวว่า เรากำลังออกจึงไม่มีแก่บุคคล ๓ จำพวกนั้น. การก้าวลงสู่ครรภ์อย่างที่ ๔ ย่อมมีเฉพาะพระโพธิสัตว์ผู้สัพพัญญูทั้งหลาย.
               แท้จริง พระโพธิสัตว์ผู้สัพพัญญูทั้งหลายเหล่านั้น เมื่อถือปฏิสนธิในครรภ์พระมารดาก็รู้ แม้เมื่ออยู่ในครรภ์พระมารดาก็รู้. แม้ในเวลาจะประสูติ ลมกรรมชวาตไม่สามารถจะพัดเอาพระบาทของพระโพธิสัตว์ผู้สัพพัญญูเหล่านั้นขึ้นบน เอาพระเศียรลงข้างล่าง ท่านเหล่านั้นทรงเหยียดพระหัตถ์ทั้งสอง ลืมพระเนตรแล้ว ประทับยืนเสด็จออก.
               ในบทว่า มาตุกุจฺฉึ โอกฺกมติ นี้ มีอธิบายว่า ย่อมก้าวลงสู่ครรภ์มารดา. แท้จริงเมื่อพระโพธิสัตว์นั้นก้าวลงสู่ครรภ์พระมารดา ก็ย่อมมีเหตุอัศจรรย์อย่างนี้ เมื่อไม่ก้าวลง ก็ไม่มีเหตุอัศจรรย์.
               บทว่า อปฺปมาโณ แปลว่า มีประมาณอันเจริญ. อธิบายว่า ไพบูลย์.
               บทว่า เทวานํ เทวานุภาวํ นี้ มีอธิบายว่า อานุภาพของเทวดาทั้งหลาย มีดังนี้ คือ รัศมีของผ้าที่นุ่งย่อมแผ่ไปได้ ๑๒ โยชน์ของสรีระก็แผ่ไปได้อย่างนั้น ของเครื่องประดับก็แผ่ไปได้อย่างนั้น ของวิมานก็แผ่ไปได้อย่างนั้น ล่วงซึ่งเทวานุภาพนั้น.
               บทว่า โลกนฺตริกา ความว่า โลกันตริกนรกขุมหนึ่งย่อมมีในระหว่างจักรวาลทั้งสาม. ก็โลกันตรินรกนั้นมีประมาณ ๘,๐๐๐ โยชน์. เหมือนช่องว่างย่อมมีในท่ามกลางของล้อเกวียน ๓ ล้อ หรือบาตร ๓ ลูก ที่ตั้งจดกันและกัน.
               บทว่า อฆา แปลว่า เปิดแล้วเป็นนิตย์.
               บทว่า อสํวุตา ความว่า แม้ในเบื้องล่าง ก็ไม่มีที่พำนัก.
               บทว่า อนฺธการา แปลว่า มืดมิด.
               บทว่า อนฺธการติมิสา ความว่า ประกอบด้วยเมฆหมอกอันกระทำความมืด เพราะห้ามความเกิดขึ้นแห่งจักษุวิญญาณ.
               ได้ยินว่า จักษุวิญญาณย่อมไม่เกิดในโลกันตริกนรกนั้น.
               บทว่า เอวํ มหิทฺธิกา ความว่า มีฤทธิอย่างนี้คือ ได้ยินว่าดวงจันทร์และดวงอาทิตย์ ย่อมปรากฏในทวีปทั้ง ๓ คราวเดียวพร้อมกัน. มีอานุภาพมากอย่างนี้ คือกำจัดความมืดแล้วส่องสว่างไปได้ ทิศละแปดล้านหนึ่งแสนโยชน์.
               บทว่า อาภาย นานุโภนฺติ แปลว่า แสงสว่างของตนไม่พอ.
               ได้ยินว่า ดวงจันทร์และดวงอาทิตย์เหล่านั้นย่อมไม่ส่องแสงไปถึงท่ามกลางขุนเขาจักรวาลได้เลย. และโลกันตริกนรกก็อยู่เลยขุนเขาจักรวาลไป. เพราะฉะนั้น ท่านจึงแสดงว่า ดวงจันทร์และดวงอาทิตย์เหล่านั้นไม่มีแสงสว่างพอส่องไปถึงโลกันตริกนรกนั้น.
               บทว่า เยปิ ตตฺถ สตฺตา ความว่า ถามว่า เหล่าสัตว์ผู้อุบัติในโลกันตริกนรกนั้น กระทำกรรมอะไรไว้ จึงบังเกิดในที่นั้น.
               ตอบว่า ทำกรรมหยาบช้าทารุณต่อมารดาบิดาต่อสมณพราหมณ์ผู้ตั้งอยู่ในธรรมบ้าง ทำความผิดอย่างอื่นที่สูงขึ้นไปอีกบ้าง ทำกรรมสาหัส เช่น ฆ่าสัตว์ตัดชีวิตเป็นต้น เป็นประจำทุกๆ วันบ้าง จึงเกิดในโลกันตริกนรกนั้น ดังเช่น อภยโจรและนาคโจรเป็นต้นในตัมพปัณณิทวีป. อัตตภาพของสัตว์เหล่านั้นมีประมาณ ๓ คาวุต. มีเล็บยาวเหมือนเล็บค้างคาว. สัตว์เหล่านั้นจะใช้เล็บเกาะอยู่ที่เชิงเขาจักรวาล เหมือนพวกค้างคาวเกาะอยู่ที่ต้นไม้ฉะนั้น. แต่เมื่อใดออกเลื้อยคลาน จะถูกช่วงมือของกันและกัน เมื่อนั้นต่างสำคัญว่า เราได้อาหารแล้ว วิ่งหมุนไปรอบๆ ที่เชิงเขาจักรวาลนั้น แล้วตกลงในน้ำหนุนโลก. เมื่อลมพัดจะแตกตกลงในน้ำ เหมือนผลมะทราง. และพอตกลงไป ก็จะละลาย เหมือนก้อนแป้งที่ตกลงไปในน้ำที่เค็มจัด.
               บทว่า อญฺเญปิ กิร โภ สนฺติ สตฺตา ความว่า ย่อมเห็นประจักษ์ ในวันนั้นว่า แม้สัตว์เหล่าอื่นเมื่อเสวยทุกข์นี้ ก็เกิดในโลกันตริกนรกนี้ เหมือนอย่างพวกเราผู้กำลังเสวยทุกข์ใหญ่อยู่ฉะนั้น ก็โอภาสนี้ย่อมไม่ตั้งอยู่แม้เพียงชั่วขณะดื่มข้าวยาคูครั้งเดียว. จะมีเพียงชั่วเวลาที่หลับไปแล้วตื่นขึ้นรับรู้อารมณ์เท่านั้น.
               ส่วนอาจารย์ผู้กล่าวคัมภีร์ทีฆนิกายกล่าวว่า โอภาสนั้นจะปรากฏเฉพาะเพียงชั่วขณะปรบมือแล้วก็หายไป เหมือนแสงของสายฟ้าแลบแล้ว พอคนทักว่า นี้อะไร? ก็แวบหายไป.

.. อรรถกถา มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ สุญญตวรรค อัจฉริยัพภูตธัมมสูตร
อ่านอรรถกถาหน้าต่างที่ [๑] [๒]
อ่านอรรถกถา 14 / 1อ่านอรรถกถา 14 / 343อรรถกถา เล่มที่ 14 ข้อ 357อ่านอรรถกถา 14 / 380อ่านอรรถกถา 14 / 853
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=14&A=5090&Z=5281
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=10&A=3077
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=10&A=3077
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๒๔  มิถุนายน  พ.ศ.  ๒๕๔๙
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :