ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 14 / 1อ่านอรรถกถา 14 / 234อรรถกถา เล่มที่ 14 ข้อ 247อ่านอรรถกถา 14 / 252อ่านอรรถกถา 14 / 853
อรรถกถา มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ อนุปทวรรค
อิสิคิลิสูตร

               ๖. อรรถกถาอิสิคิลิสูตร               
               อิสิคิลิสูตรมีคำเริ่มต้นว่า ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้.

               ประวัติภูเขาอิสิคิลิ               
               พึงทราบอธิบายในอิสิคิลิสูตรนั้นดังต่อไปนี้.
               บทว่า อญฺญาว สมญฺญา อโหสิ ความว่า (ก่อน) ที่ภูเขาอิสิคิลิจะได้ชื่อว่า อิสิคิลิ (นั้น) ได้มีชื่ออีกอย่างหนึ่งว่า เวภาระ.
               บทว่า อญฺญา ปญฺญตฺติ นี้เป็นไวพจน์ของบทแรกเท่านั้น. แม้ในบทที่เหลือก็มีนัยนี้เหมือนกัน.
               ได้ยินว่า คราวครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงออกจากนิโรธสมาบัติ ในเวลาเย็นแล้วเสด็จออกจากพระคันธกุฎี มีหมู่ภิกษุแวดล้อมประทับนั่ง ณ ที่ที่เมื่อคนทั้งหลายนั่งแล้วเห็นภูเขา ๕ ลูกปรากฏชัด แล้วตรัสบอกภูเขา ๕ ลูกเหล่านี้โดยลำดับ.
               ในการตรัสบอกนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้ามิได้มีความต้องการด้วยเรื่องภูเขา. แต่เมื่อตรัสบอกภูเขาเหล่านี้โดยลำดับๆ ก็ย่อมเป็นอันจะต้องตรัสบอกภาวะที่ภูเขาอิสิคิลิเป็นภูเขา (มีชื่อว่า) อิสิคิลิ (ด้วย) เมื่อตรัสบอกเรื่องภูเขาอิสิคิลินั้น ก็จักต้องตรัสบอกชื่อของพระปัจเจกพุทธเจ้า ๕๐๐ องค์ผู้เป็นบุตรของนางปทุมวดี และความปรารถนาของนางปทุมวดี เพราะเหตุดังกล่าวนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสลำดับของภูเขานี้.
               บทว่า วิสนฺตา ทิสฺสนฺติ ปวิฏฺฐา น ทิสฺสนฺติ ความว่า พระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลายเสด็จเที่ยวบิณฑบาตในสถานที่ตามสะดวก กระทำภัตกิจแล้ว เข้าไปข้างในโดยกระทำภูเขานั้นให้เป็น ๒ ซีก เหมือนเปิดบานประตูคู่ใหญ่ในห้องพระเจดีย์ สร้างที่พักกลางคืนและที่พักกลางวันแล้วอยู่ ณ ที่นั้น. เพราะฉะนั้น จึงตรัสอย่างนั้น.
               บทว่า อิเม อิสี ได้แก่ พระปัจเจกพุทธฤาษีเหล่านี้.
               ก็พระปัจเจกพุทธฤาษีเหล่านั้นได้อยู่ในภูเขานั้นตั้งแต่เมื่อไร?
               ได้ยินว่า ในอดีตกาล เมื่อพระตถาคตยังไม่อุบัติขึ้น กุลธิดาผู้หนึ่งในหมู่บ้านแห่งหนึ่งชานเมืองพาราณสี เฝ้านาอยู่ ได้ถวายดอกบัวดอกหนึ่งกับข้าวตอก ๕๐๐ ดอกแก่พระปัจเจกพุทธเจ้าองค์หนึ่ง ตั้งความปรารถนาให้ได้บุตร ๕๐๐ คน. ก็พอดีขณะนั้น พรานล่าเนื้อ ๕๐๐ คนได้ถวายเนื้อ (ย่าง) อันอร่อยแล้วตั้งความปรารถนาว่า ขอให้พวกเราได้เป็นบุตรของนาง.
               นางดำรงตลอดกาลกำหนดชั่วอายุแล้วไปเกิดในเทวโลก จุติจากเทวโลกมาเกิดในกลีบดอกบัวในชาตสระ (สระที่มีอยู่เองโดยธรรมชาติ). พระดาบสองค์หนึ่งไปพบเข้าก็เลี้ยงไว้. เมื่อนางกำลังเที่ยวเล่นนั่นแหละ ดอกบัวทั้งหลายผุดขึ้นจากพื้นดินทุกๆ ย่างเท้า. พรานป่าคนหนึ่งพบเข้า จึงกราบทูลแด่พระเจ้าพาราณสี. พระราชาทรงนำนางนั้นมาแต่งตั้งให้เป็นอัครมเหสี.
               พระนางทรงครรภ์. มหาปทุมกุมารอยู่ในพระครรภ์พระมารดา ส่วนกุมารนอกนั้นอาศัยครรภ์มลทินอุบัติขึ้น. กุมารเหล่านั้นเจริญวัย ได้เล่นในสระบัวในอุทยาน นั่งที่ดอกบัวคนละดอก เริ่มตั้งความสิ้นและความเสื่อม ทำปัจเจกโพธิญาณให้เกิดขึ้น.
               คาถาพยากรณ์ของท่านได้มีดังนี้ว่า
                         ดอกบัวในกอบัวเกิดขึ้นในสระบานแล้ว
                         ถูกหมู่แมลงภู่เคล้าคลึง ก็เข้าถึงความ
                         ร่วงโรย บุคคลรู้แจ้งข้อนี้แล้ว พึงเป็นผู้
                         เดียว เที่ยวไปเหมือนนอแรด
               พระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลายเหล่านั้นได้อยู่ในภูเขานั้นมาแต่กาลครั้งนั้น. และแต่ครั้งนั้นมา ภูเขานั้นจึงได้เกิดชื่อว่า อิสิคิลิ.

               พระนามของพระปัจเจกพุทธเจ้า               
               บทว่า เย สตฺตสารา ความว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสชื่อของพระปัจเจกพุทธเจ้า ๑๓ พระองค์ คือ พระอริฏฐะ พระอุปริฏฐะ พระตัคครสิขี พระยสัสสี พระสุทัสสนะ พระปิยทัสสี พระคันธาระ พระปิณโฑละ พระอุปาสภะ พระนิถะ พระตถะ พระสุตวา พระภาวิตัตตะ.
               บัดนี้ เมื่อจะตรัสบอกชื่อของพระปัจเจกพุทธเจ้าเหล่านั้นกับชื่อของพระปัจเจกพุทธเจ้าองค์อื่น ด้วยการผูกเป็นคาถา จึงตรัสคำเป็นต้นว่า เย สตฺตสารา ดังนี้.
               ในพระนามเหล่านั้น พระนามว่า สตฺตสารา แปลว่า เป็นหลักของสัตว์ทั้งหลาย. พระนามว่า อนีฆา แปลว่า ไม่มีทุกข์. พระนามว่า นิราสา แปลว่า ไม่มีความอยาก.
               พระนามว่า เทฺว ชาลิโน ความว่า พระนามว่า ชาลีมี ๒ องค์ คือ จุลลชาลี มหาชาลี.
               แม้คำว่า สันตจิตตะ ก็เป็นพระนามของพระปัจเจกพุทธเจ้าองค์หนึ่ง.
               ข้อว่า ปสฺสี ชหิ อุปธึ ทุกขมูลํ นี้เป็นคำสรรเสริญพระปัจเจกพุทธเจ้าองค์นั้นว่า พระปัจเจกพุทธเจ้าองค์นั้นทรงพระนามว่า ปัสสี ก็เพราะพระองค์ทรงละอุปธิอันเป็นรากเหง้าแห่งทุกข์ได้แล้ว.
               แม้คำว่า อปราชิตะ ก็เป็นชื่อของพระปัจเจกพุทธเจ้าองค์หนึ่งเหมือนกัน. ท่านทั้ง ๕ เหล่านี้ คือ พระสัตถา พระปวัตตา พระสรภังคะ พระโลมหังสะ พระอุจจังคมายะ. ท่านทั้ง ๓ แม้เหล่านี้ คือ พระอสิตะ พระอนาสวะ พระอโนมยะ.
               บทว่า พนฺธุมา ความว่า พระปัจเจกพุทธเจ้าพระองค์หนึ่งทรงพระนามว่าพันธุมา เรียกกันว่าพระมานัจฉิทะ เพราะท่านตัดมานะได้เด็ดขาด.
               แม้บทว่า ตทาธิมุตตะ ก็เป็นพระนามพระปัจเจกพุทธเจ้าเหมือนกัน. ท่านทั้ง ๓ เหล่านี้ คือ พระเกตุมภราคะ พระมาตังคะ พระอริยะ.
               บทว่า อถจฺจุโต แยกบทออกเป็น อถ อจฺจุโต (แปลว่า อนึ่ง พระอัจจุตะ). ท่านทั้งสองเหล่านี้ คือ พระอัจจุตะ พระอัจจุตคามพยามกะ. ทั้งสองท่านเหล่านี้ คือ พระเขมาภิรตะ พระโสรตะ.
               บทว่า สยฺโห อโนมนิกฺกโม ความว่า พระปัจเจกพุทธเจ้าพระองค์นั้นชื่อสัยหะ แต่เขาเรียกกันว่า อโนมนิกกมะ เพราะมีความเพียรไม่ต่ำต้อย.
               บทว่า อานนฺทนนฺโท อุปนนฺโท ทฺวาทส ความว่า พระปัจเจกพุทธเจ้า ๑๒ องค์อย่างนี้ คือ พระอานันทะ ๔ องค์ พระนันทะ ๔ องค์ พระอุปนันทะ ๔ องค์
               บทว่า ภารทฺวาโช อนฺติเทหธารี เป็นคำสรรเสริญว่า พระปัจเจกพุทธเจ้าพระองค์นั้นชื่อภารทวาชะ ผู้ทรงพระสรีระเป็นครั้งสุดท้าย.
               บทว่า ตณฺหจฺฉิโท ได้แก่ นี้เป็นคำสรรเสริญพระปสีทรี. แม้บทว่า วีตราโค ก็เป็นคำสรรเสริญพระมังคละ.
               บทว่า อุสภจฺฉิทา ชาลินึ ทุกฺขมูลํ ความว่า พระปัจเจกพุทธเจ้าพระองค์นั้นชื่ออุสภะ ได้ตัดตัณหาเพียงดังข่ายอันเป็นรากเหง้าแห่งทุกข์ได้แล้ว.
               บทว่า สนฺตํ ปทํ อชฺฌคมูปนีโต ความว่า พระปัจเจกพุทธเจ้าพระองค์นั้นชื่ออุปนียะ ได้บรรลุสันตบทแล้ว. แม้บทว่า วีตราคะ ก็เป็นพระนามของพระปัจเจกพุทธเจ้าพระองค์หนึ่งเหมือนกัน.
               บทว่า สุวิมุตฺตจิตฺโต ได้แก่ นี้เป็นคำสรรเสริญพระกัณหะ.
               บทว่า เอเต จ อญฺเญ จ ความว่า พระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลายเหล่านี้ ทั้งที่มาในพระบาลีและไม่ได้มาในพระบาลี กับพระปัจเจกพุทธเจ้าเหล่าอื่น พระปัจเจกพุทธเจ้าเหล่านี้มีพระนามอย่างเดียวเท่านั้น.
               ก็บรรดาพระปัจเจกพุทธเจ้า ๕๐๐ เหล่านี้ พระปัจเจกพุทธเจ้า ๒ องค์ก็ดี ๓ องค์ก็ดี ๑๐ องค์ก็ดี ๑๒ องค์ก็ดีได้มีพระนามอย่างเดียวกัน เหมือนพระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลายมีพระอานันทะเป็นต้น.
               ด้วยประการดังกล่าวมานี้ ย่อมเป็นอันระบุพระนามของพระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลายโดยพระนามอันมาในพระบาลีเท่านั้น เพราะเหตุนั้นต่อแต่นี้ไป ไม่ตรัสแยกเป็นรายองค์ ตรัส (รวม) ว่า เหล่านี้และเหล่าอื่นดังนี้.
               คำที่เหลือในที่ทุกแห่งง่ายทั้งนั้นแล.

               จบอรรถกถาอิสิคิลิสูตรที่ ๖               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ อนุปทวรรค อิสิคิลิสูตร จบ.
อ่านอรรถกถา 14 / 1อ่านอรรถกถา 14 / 234อรรถกถา เล่มที่ 14 ข้อ 247อ่านอรรถกถา 14 / 252อ่านอรรถกถา 14 / 853
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=14&A=3647&Z=3723
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=10&A=2296
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=10&A=2296
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๑๙  กันยายน  พ.ศ.  ๒๕๔๙
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :