ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 

อ่าน อรรถกถาหน้าต่างที่ [๑] [๒]อ่านอรรถกถา 13 / 1อ่านอรรถกถา 13 / 293อรรถกถา เล่มที่ 13 ข้อ 314อ่านอรรถกถา 13 / 356อ่านอรรถกถา 13 / 734
อรรถกถา มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ ปริพพาชกวรรค
มหาสกุลุทายิสูตร

หน้าต่างที่ ๒ / ๒.

               อนึ่ง ในบทว่า อนุปฺปนฺนานํ ปาปกานํ ความลามกยังไม่เกิดนี้ พึงทราบโดยนัยดังกล่าวแล้วในบทมีอาทิว่า อนุปฺปนฺโน วา กามาสโว น อุปฺปชฺชติ กามาสวะยังไม่เกิดย่อมไม่เกิด.
               อนึ่ง ในบทว่า อุปฺปนฺนานํ ปาปกานํ ความลามกเกิดขึ้นแล้วนี้ มีความดังต่อไปนี้.
               ความลามกเกิดขึ้น ๔ อย่าง คือ เกิดขึ้นในปัจจุบัน ๑ เกิดขึ้นเพราะเสวยผลแล้ว ปราศไป ๑ เกิดขึ้น เพราะทำโอกาส ๑ เกิดขึ้นเพราะได้ภูมิ ๑.
               ใน ๔ อย่างนั้น กิเลสเหล่าใดมีอยู่พร้อมที่จะเกิดเป็นต้น นี้ชื่อว่าเกิดในปัจจุบัน.
               อนึ่ง เมื่อกรรมยังแล่นไปเสวยรสแห่งอารมณ์แล้วดับไป ชื่อว่าเสวยผลแล้วปราศไป. กรรมเกิดขึ้นแล้วดับ ชื่อว่าเสวยผลแล้วปราศไป. แม้ทั้งสองอย่างนั้น ก็ชื่อว่าเกิดขึ้นเพราะเสวยผลแล้วปราศไป.
               กุศลกรรมและอกุศลกรรมห้ามวิบากของกรรมอื่นแล้วทำโอกาสแห่งวิบากของตน. เมื่อทำโอกาสอย่างนี้ วิบากเมื่อเกิดขึ้น ย่อมชื่อว่าเกิดขึ้นแล้วตั้งแต่ทำโอกาส. นี้ชื่อว่าเกิดขึ้นเพราะทำโอกาส.
               อนึ่ง ขันธ์ ๕ ชื่อว่าเป็นภูมิแห่งวิปัสสนา. ขันธ์ ๕ เหล่านั้นย่อมมีประเภทเป็นอดีตเป็นต้น. กิเลสที่นอนเนื่องอยู่ในขันธ์ ๕ เหล่านั้น ไม่ควรกล่าวว่า เป็นอดีตอนาคตหรือปัจจุบัน. เพราะแม้กิเลสที่นอนเนื่องอยู่ในขันธ์ที่เป็นอดีตก็ยังเป็นอันละไม่ได้. แม้กิเลสที่นอนเนื่องในขันธ์เป็นอนาคต ในขันธ์เป็นปัจจุบัน ก็เป็นอันยังละไม่ได้แท้. นี้ชื่อว่าเกิดขึ้นเพราะได้ภูมิ. ด้วยเหตุนั้น ท่านโบราณาจารย์จึงกล่าวว่า กิเลสที่ยังถอนไม่ขึ้นในภูมิเหล่านั้นๆ ย่อมชื่อว่าเกิดขึ้นเพราะได้ภูมิ.
               กรรมลามกเกิดขึ้น ๔ อย่างอย่างอื่นอีก คือเกิดขึ้นเพราะความประพฤติ ๑ เกิดขึ้นเพราะยึดถืออารมณ์ ๑ เกิดขึ้นเพราะไม่ข่ม ๑ เกิดขึ้นเพราะไม่ถอน ๑.
               ใน ๔ อย่างนั้น กรรมที่ยังเป็นไปอยู่ ไม่ชื่อว่าเกิดขึ้นเพราะความประพฤติ.
               เมื่อลืมตาขึ้นคราวเดียวแล้วยึดนิมิตเป็นอารมณ์ กิเลสทั้งหลายในขณะที่ระลึกถึงๆ ไม่ควรกล่าวว่าจักไม่เกิดขึ้น.
               เพราะเหตุไร. เพราะยังยึดถืออารมณ์อยู่.
               เหมือนอะไร. เหมือนน้ำนมแห่งต้นน้ำนมที่ถูกขวานฟันแล้ว เขาไม่ควรกล่าวว่า น้ำนมจักไม่ออก ฉันใด. นี้ก็ฉันนั้นชื่อว่าเกิดขึ้นเพราะยึดถืออารมณ์.
               กิเลสทั้งหลายที่มิได้ข่มไว้ด้วยสมาบัติ ไม่ควรกล่าวว่า จักไม่เกิดในฐานะนี้.
               เพราะเหตุไร. เพราะยังข่มไว้ไม่ได้.
               เหมือนอะไร เหมือนหากว่าชนทั้งหลายพึงนำต้มน้ำนมมาด้วยขวาน ไม่ควรกล่าวว่า น้ำนมไม่พึงออกในที่นี้ ฉันใด. นี้ก็ฉันนั้นชื่อว่า เกิดขึ้นเพราะไม่ข่มไว้.
               อนึ่ง กิเลสทั้งหลายที่ยังถอนออกไม่ได้ด้วยมรรค ย่อมเกิดขึ้นแม้แก่ผู้เกิดในภวัคคพรหม พึงให้พิสดารโดยนัยดังกล่าวแล้วด้วยประการฉะนี้แล. นี้ชื่อว่า เกิดขึ้นเพราะยังถอนไม่ได้.
               ในกรรมลามกที่เกิดขึ้นเหล่านี้ กรรมเกิดขึ้น ๔ อย่างคือ เกิดขึ้นในปัจจุบัน ๑ เกิดขึ้นเพราะเสวยผลแล้วปราศไป ๑ เกิดขึ้นเพราะทำโอกาส ๑ เกิดขึ้นเพราะความประพฤติ ๑ ไม่ถูกทำลายด้วยมรรค.
               กรรมลามก ๔ อย่าง คือ กรรมเกิดขึ้นเพราะได้ภูมิ ๑ เกิดขึ้นเพราะยึดถืออารมณ์ ๑ เกิดขึ้นเพราะข่มไว้ไม่ได้ ๑ เกิดขึ้นเพราะถอนไม่ได้ ๑ ถูกทำลายด้วยมรรค. เพราะมรรคเมื่อเกิดย่อมละกิเลสเหล่านี้ได้. มรรคนั้นย่อมละกิเลสเหล่าใดได้ กิเลสเหล่านั้นไม่ควรกล่าวว่า เป็นอดีตอนาคตหรือปัจจุบัน.
               สมดังที่ท่านกล่าวไว้ว่า
               ก็ถ้าว่า มรรคย่อมละกิเลสอันเป็นอดีตได้ไซร้ ถ้าเช่นนั้นย่อมทำกิเลสที่สิ้นไปแล้วให้สิ้นไปได้ ย่อมทำกิเลสที่ดับแล้วให้ดับไป ที่ปราศไปแล้วให้ปราศไป ที่ตั้งอยู่ไม่ได้ให้ตั้งอยู่ไม่ได้ กิเลสเป็นอดีตใดไม่มี ย่อมละกิเลสที่เป็นอดีตนั้นได้.
               ก็ถ้าว่า มรรคนั้นย่อมละกิเลสในอนาคตได้ไซร้. ถ้าเช่นนั้น มรรคก็ย่อมละกิเลสที่ยังไม่เกิดได้ ย่อมละกิเลสที่ยังไม่บังเกิดไม่เกิดคือไม่ปรากฏได้, กิเลสที่เป็นอนาคตใดไม่มี ย่อมละกิเลสนั้นได้.
               ก็ถ้าว่า มรรคนั้นย่อมละกิเลสอันเป็นปัจจุบันได้ไซร้ ถ้าเช่นนั้น ผู้ถูกย้อมด้วยราคะย่อมละราคะได้ ถูกโทสะประทุษร้ายย่อมละโทสะได้ ลุ่มหลงด้วยโมหะย่อมละโมหะได้ กระด้างด้วยมานะย่อมละมานะได้ ผู้ถูกต้องด้วยทิฏฐิย่อมละทิฏฐิได้ ฟุ้งซ่านด้วยอุทธัจจะย่อมละอุทธัจจะได้ ถึงความไม่ตกลงใจด้วยวิจิกิจฉาย่อมละวิจิกิจฉาได้ ผู้ดำเนินไปด้วยกำลังอนุสัยย่อมละอนุสัยได้. ธรรมดำธรรมขาวย่อมเป็นไปคู่กัน มรรคภาวนาย่อมเศร้าหมอง ถ้าเช่นนั้น มรรคภาวนาย่อมไม่มี การทำให้แจ้งผลก็ไม่มี การละกิเลสก็ไม่มี ธรรมาภิสมัยก็ไม่มี กระนั้นหรือ.
               มรรคภาวนามี ฯลฯ ธรรมาภิสมัยมี.
               เหมือนอย่างอะไร.
               เหมือนต้นไม้อ่อน ฯลฯ สิ่งที่ไม่ปรากฏ ย่อมไม่ปรากฏ. ต้นไม้ยังไม่เกิดผลมาแล้วในบาลี.๑-
____________________________
๑- ขุ. ปฏิ. เล่ม ๓๑/ข้อ ๖๙๙

               แต่พึงแสดงโดยต้นไม้ที่เกิดผล. เหมือนต้นมะม่วงอ่อนมีผล. พวกมนุษย์บริโภคผลของต้นมะม่วงอ่อนนั้น. ทำผลที่เหลือให้หล่นแล้วใส่ตะกร้าจนเต็ม คราวนั้น บุรุษอื่นเอาขวานตัดต้นมะม่วงนั้น. ผลของมะม่วงนั้นในอดีตยังไม่สูญไป. ผลอนาคตปัจจุบันก็ไม่สูญ เป็นอันไม่สูญทั้งนั้น. เพราะมนุษย์ทั้งหลายบริโภคผลในอดีต. ผลในอนาคตยังไม่เกิด จึงไม่อาจทำให้สูญเสียได้.
               แต่สมัยใดต้นมะม่วงนั้นถูกตัด ในตอนนั้นผลนั่นแหละย่อมไม่มี เพราะเหตุนั้น แม้ผลในปัจจุบันก็ยังไม่สูญ. แต่ถ้าต้นไม้ไม่พึงถูกตัดไซร้ ผลของต้นไม้ที่อาศัยรสดินและรสน้ำ พึงเกิดย่อมไม่สูญ.
               เพราะผลเหล่านั้นที่ยังไม่เกิดก็ย่อมไม่เกิด ที่ยังไม่งอกก็ย่อมไม่งอก ที่ยังไม่ปรากฏก็ย่อมไม่ปรากฏ ฉันใด มรรคก็ฉันนั้นเหมือนกัน แม้ยังละกิเลสทั้งหลายอันต่างด้วยอดีตเป็นต้นไม่ได้ แม้ยังละไม่ได้ ก็ละไม่ได้. เพราะเมื่อยังมิได้กำหนดรู้ขันธ์ทั้งหลาย กิเลสเหล่าใดพึงเกิดขึ้น กิเลสเหล่านั้นที่ยังไม่เกิดย่อมไม่เกิด ที่ยังไม่บังเกิดย่อมไม่บังเกิด ที่ยังไม่ปรากฏย่อมไม่ปรากฏ เพราะยังมิได้กำหนดรู้ขันธ์ทั้งหลายด้วยมรรค.
               พึงให้ความนี้แจ่มแจ้งว่าด้วยยาที่ดื่ม เพื่อไม่ให้หญิงที่ลูกยังอ่อนคลอดอีกและเพื่อให้คนเจ็บป่วยหายจากโรค. มรรคละกิเลสเหล่าใดได้อย่างนี้ กิเลสเหล่านั้นไม่พึงกล่าวว่า เป็นอดีตอนาคตหรือปัจจุบัน
               อนึ่ง ไม่ใช่มรรค ย่อมละกิเลสไม่ได้. มรรคย่อมละกิเลสเหล่าใดได้ ท่านกล่าวว่า อุปฺปนฺนานํ ปาปกานํ เป็นอาทิหมายถึงกิเลสเหล่านั้น. มรรคมิใช่จะละกิเลสได้อย่างเดียวเท่านั้น แต่เพราะยังละกิเลสทั้งหลายไม่ได้ อุปาทินนกขันธ์พึงเกิดขึ้น ย่อมละได้ แม้ซึ่งอุปาทินนกขันธ์นั้น.
               สมดังที่ท่านกล่าวไว้ว่า นามและรูป พึงเกิดขึ้นในสังสารวัฏอันมีเบื้องต้นและที่สุดอันบุคคลรู้ไม่ได้ เว้นในภพ ๗ เพราะการดับแห่งอภิสังขารและวิญญาณด้วยโสดาปัตติมรรคญาณ นามและรูปเหล่านั้นย่อมดับไปในที่นั้น.
               พึงทราบความพิสดารดังต่อไปนี้.
               มรรคย่อมออกจากอุปาทินนะและอนุปาทินนะคือวิบากและกรรมด้วยประการฉะนี้.
               แต่เมื่อว่าโดยภพ โสดาปัตติมรรคย่อมออกจากอบายภพ สกทาคามิมรรคย่อมออกจากสุคติภพส่วนเดียว อนาคามิมรรคย่อมออกจากสุคติกามภพ อรหัตมรรคย่อมออกจากรูปภพและอรูปภพ. อาจารย์บางพวกกล่าวว่า อรหัตมรรคออกจากภพทั้งปวง.
               เมื่อเป็นเช่นนั้น การเจริญเพื่อเกิดขึ้นแห่งกุศลธรรมอันยังไม่เกิดขึ้นในขณะแห่งมรรค เป็นอย่างไร. หรือเพื่อความตั้งมั่นแห่งกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้ว เป็นอย่างไร.
               เพื่อความเป็นไปแห่งมรรคนั่นเอง. เพราะมรรคเมื่อเป็นไปอยู่ ท่านกล่าวว่ามรรคยังไม่เกิดแล้วเพราะยังไม่เคยเกิดมาก่อน. เพราะผู้กล่าวมาสู่ฐานะที่ไม่เคยมา หรือเสวยอารมณ์ที่ไม่เคยเสวยย่อมกล่าวว่า เรามาสู่ฐานะอันไม่เคยมาแล้ว. หรือว่าเราเสวยอารมณ์อันไม่เคยเสวยแล้ว ความเป็นไปแห่งมรรคนั้นแหละ ชื่อว่า ฐิติ เพราะเหตุนั้นควรกล่าวว่า ฐิติยา ภาเวติ ให้มรรคเจริญเพื่อความตั้งมั่น.
               ความย่อในอิทธิบาทท่านกล่าวไว้แล้วในเจโตขีลสูตร. ชื่อว่า อุปสมคามี เพราะถึงความสงบระงับหรือถึงเพื่อความสงบกิเลส. ชื่อว่า สมฺโพธคามี เพราะถึงความตรัสรู้หรือถึงเพื่อประโยชน์แก่การตรัสรู้มรรค.
               บทมีอาทิว่า วิเวกนิสฺสิตา อาศัยวิเวกท่านกล่าวไว้แล้วในการสังวรในอาสวะทั้งปวง. นี้เป็นความสังเขปในบทนี้. ส่วนโพธิปักขิยกถานี้ ท่านกล่าวไว้ในวิสุทธิมรรคโดยพิสดารแล้ว.
               พึงทราบวินิจฉัยในวิโมกขกถาดังต่อไปนี้.
               บทว่า วิโมกฺเข ชื่อว่าวิโมกข์ เพราะอรรถว่ากระไร. เพราะอรรถว่าหลุดพ้นดี ก็วิโมกข์นี้คืออะไร. วิโมกข์มีอรรถว่าหลุดพ้นด้วยดีแม้จากธรรมเป็นข้าศึกชื่อว่า อธิมุจฺนฏฺโฐ มีอรรถว่าหลุดพ้นดี. มีอรรถว่าพ้นด้วยดีแม้จากอารมณ์ทั้งหลายด้วยสามารถความไม่ยินดี.
               ท่านอธิบายไว้ว่า วิโมกข์เป็นไปในอารมณ์ เพราะหมดความหวั่นใจ ด้วยความไม่ถูกข่ม ดุจทารกปล่อยอวัยวะนอนบนตักบิดา. แต่ความนี้ไม่มีในวิโมกข์สุดท้าย. มีในวิโมกข์ต้นๆ ทั้งหมด.
               ในบทว่า รูปี รูปานิ ปสฺสติ ผู้ได้รูปฌาน ย่อมเห็นรูปนี้มีอธิบายดังต่อไปนี้.
               รูปฌานอันให้เกิดด้วยอำนาจนีลกสิณเป็นต้นในบรรดากสิณมีผมในภายในเป็นต้น ชื่อว่า รูป. ชื่อว่า รูปี เพราะมีรูปฌานนั้น.
               บทว่า พหิทฺธา รูปานิ ปสฺสติ เห็นรูปภายนอก คือเห็นรูปมีนีลกสิณเป็นต้นแม้ภายนอกด้วยฌานจักษุ. ด้วยบทนี้ ท่านแสดงถึงรูปาวจรฌาน ๔ ของบุคคลผู้มีฌานอันให้เกิดแล้วในกสิณทั้งหลายที่มีวัตถุภายในและภายนอก.
               บทว่า อชฺฌตฺตํ อรูปสญฺญี คือผู้ไม่มีรูปสัญญาในภายใน. อธิบายว่า มีรูปาวจรฌานอันยังไม่เกิดในกสิณมีผมเป็นของตน. ด้วยบทนี้ ท่านแสดงถึงรูปาวจรฌานของผู้มีฌานซึ่งทำบริกรรมอย่างดีในภายนอกแล้วให้เกิดในภายนอก.
               ด้วยบทว่า สุภนฺเตว อธิมุตฺโต โหติ ผู้น้อมใจเชื่อว่ากสิณเป็นของงามอย่างเดียวนี้ ท่านแสดงถึงฌานในวรรณกสิณมีนีลกสิณเป็นต้นอันบริสุทธิ์ ในบทนั้นการผูกใจว่างามไม่มีในอัปปนาภายในก็จริง แต่ถึงดังนั้น พระโยคาวจรใดทำสุภกสิณให้เป็นอารมณ์หมดจดด้วยดีอยู่. เพราะพระโยคาวจรนั้นย่อมถึงความเป็นผู้ควรกล่าวว่า เป็นผู้น้อมใจเชื่อว่างาม. ฉะนั้น ท่านจึงแสดงไว้อย่างนี้.
               แต่ในปฏิสัมภิทามรรค ท่านกล่าวไว้ว่า ชื่อว่าวิโมกข์ เพราะเป็นผู้น้อมใจเชื่อว่างามเป็นอย่างไร. ภิกษุในธรรมวินัยนี้มีจิตสหรคตด้วยเมตตาแผ่ไปยังทิศหนึ่งอยู่. เพราะเป็นผู้เจริญเมตตา สัตว์ทั้งหลายจึงไม่น่าเกลียด. มีจิตสหรคตด้วยกรุณามุทิตาและอุเบกขาแผ่ไปยังทิศหนึ่งอยู่. เพราะเป็นผู้เจริญกรุณามุทิตาและอุเบกขา สัตว์ทั้งหลายจึงไม่น่าเกลียด ชื่อว่าวิโมกข์ เพราะเป็นผู้น้อมใจเชื่อว่างามอย่างนี้.
               ในบทว่า สพฺพโส รูปสญฺญานํ เพราะล่วงรูปสัญญาโดยประการทั้งปวงเป็นอาทิ บทที่ควรกล่าวทั้งหมดท่านกล่าวไว้แล้วในวิสุทธิมรรค.
               บทว่า อยํ อฏฺฐโม วิโมกฺโข นี้เป็นวิโมกข์ข้อที่ ๘ คือ นี้ชื่อว่าวิโมกข์อันสูงสุดข้อที่ ๘ เพราะสละขันธ์ ๔ หลุดพ้นแล้วโดยประการทั้งปวง.
               พึงทราบวินิจฉัยในอภิภายตนกถาดังต่อไปนี้.
               บทว่า อภิภายตนานิ คือ เหตุเครื่องครอบงำ. ครอบงำอะไร. ครอบงำธรรมอันเป็นข้าศึกบ้าง อารมณ์บ้าง. เพราะอภิภายตนะเหล่านั้นย่อมครอบงำธรรมเป็นข้าศึก โดยความเป็นข้าศึก. ครอบงำอารมณ์ เพราะความที่บุคคลเป็นผู้ยิ่งด้วยญาณ.
               อนึ่งในบทมีอาทิว่า อชฺฌตฺตํ รูปสญฺญี ผู้มีความสำคัญในรูปภายใน มีความดังต่อไปนี้. ย่อมชื่อว่ารูปสัญญี ผู้มีความสำคัญในรูปภายใน ด้วยสามารถบริกรรมรูปภายใน. เพราะเมื่อทำบริกรรมนีลบริกรรมในภายใน ย่อมทำที่ผม ที่ดี หรือที่ดวงตา. เมื่อทำปีตบริกรรม ย่อมทำที่มันข้น ที่ผิวที่ฝ่ามือ ที่ฝ่าเท้าหรือที่ความเหลืองของดวงตา. เมื่อทำโลหิตบริกรรม ย่อมกระทำเนื้อ ที่โลหิต ที่ลิ้น ที่มีสีแดงของดวงตา. เมื่อกระทำโอทาตบริกรรมย่อมทำที่กระดูก ที่ฟัน ที่เล็บ หรือที่ความขาวของดวงตา. แต่กสิณนั้นไม่เขียวดี ไม่เหลืองดี ไม่แดงดี ไม่ขาวดี ย่อมเป็นกสิณไม่บริสุทธิ์.
               บทว่า เอโก พหิทฺธา รูปานิ ปสฺสติ ผู้หนึ่งเห็นรูปภายนอก. ความว่า นิมิตภายนอกเกิดขึ้นภายในเพราะทำบริกรรมของผู้ใด ผู้นั้น เราเรียกว่าเป็นผู้หนึ่ง มีความสำคัญรูปภายในเห็นรูปภายนอก ด้วยสามารถแห่งบริกรรมภายใน และแห่งอัปปนาภายนอกอย่างนี้.
               บทว่า ปริตฺตานิ รูปภายนอกเล็ก คือไม่โต.
               บทว่า สุวณฺณทุพฺพณฺณานิ คือ มีผิวพรรณดีหรือมีผิวพรรณทราม. พึงทราบว่า นี้ท่านกล่าวว่าเป็นอภิภายตนะ ด้วยสามารถรูปเล็กนั่นเอง.
               บทว่า ตานิ อภิภุยฺย ครอบงำรูปเหล่านั้น. ความว่า เหมือนคนมีน้ำย่อยอาหารดี ได้อาหารเพียงทัพพีเดียว คิดว่ามีอะไรที่ควรบริโภคในอาหารนี้ จึงหยิบเอามาปั้นเป็นคำเดียวฉันใด. บุคคลผู้ยิ่งด้วยญาณมีญาณเฉียบแหลมคิดว่า มีอะไรที่ควรเข้าถึงในอารมณ์เล็กน้อยนี้. นี้ไม่ใช่ภาระของเราจึงครอบงำรูปเหล่านั้นเข้าถึงสมาบัติ. อธิบายว่า ยังอัปปนาให้ถึงในรูปนี้พร้อมกับการเกิดแห่งนิมิต. ท่านกล่าวถึงความผูกใจรูปนั้นด้วยบทนี้ว่า ชานามิ ปสฺสามิ เรารู้ เราเห็น. ผู้นั้น เมื่อออกจากสมาบัติแล้ว ไม่เข้าสมาบัติในภายใน.
               บทว่า เอวํ สญฺญี โหติ มีความสำคัญอย่างนี้ คือด้วยอาโภคสัญญาบ้าง (ความสำคัญด้วยความผูกใจ) ด้วยฌานสัญญาบ้าง (ความสำคัญด้วยฌาน) อภิภวสัญญา (ความสำคัญด้วยความครอบงำ) ย่อมมีแก่ผู้นั้นแม้ในภายในสมาบัติ. ส่วนอาโภคสัญญา ย่อมมีแก่ผู้ออกจากสมาบัติ.
               บทว่า อปฺปมาณานิ หาประมาณมิได้ คือมีประมาณเจริญได้แก่มาก.
               พึงทราบความในบทว่า อภิภุยฺย ครอบงำ ดังต่อไปนี้.
               เหมือนบุรุษผู้กินจุครั้นได้อาหารมื้อเดียว ก็คิดว่าอาหารแม้อื่นจงมี อาหารแม้อื่นจงมี อาหารมื้อเดียวจักทำอะไรแก่เราได้ จึงไม่เห็นอาหารนั้นมากพอฉันใด. บุคคลผู้ยิ่งด้วยญาณผู้มีญาณเฉียบแหลมคิดว่า จะพึงเข้าถึงญาณนี้ได้อย่างไร. นี้ไม่มีประมาณหามิได้ ภาระในการทำความเป็นผู้มีจิตมีอารมณ์เดียวมีอยู่แก่เรา จึงครอบงำรูปเหล่านั้นแล้วเข้าสมาบัติ.
               อธิบายว่า ยังอัปปนาให้ถึงในจิตนี้พร้อมกับให้เกิดนิมิต.
               บทว่า อชฺฌตฺตํ อรูปสญฺญี มีความสำคัญในอรูปภายใน. ความว่า ไม่มีความสำคัญบริกรรมในรูปภายในเพราะไม่ได้หรือเพราะไม่มีประโยชน์.
               บทว่า เอโก พหิทฺธา รูปานิ ปสฺสติ ผู้หนึ่งเห็นรูปภายนอก ความว่า บริกรรมก็ดี นิมิตก็ดีของผู้ใดเกิดขึ้นในภายนอก. ผู้นั้นมีความสำคัญในอรูปภายในอันเกิดขึ้นด้วยสามารถบริกรรม และอัปปนาภายนอกอย่างนี้ ท่านกล่าวว่าผู้หนึ่งเห็นรูปภายนอก.
               บทที่เหลือในบทนี้มีนัยดังกล่าวแล้วในอภิภายตนะที่ ๔.
               ก็ในอภิภายตนะ ๔ นี้ อภิภายตนะเล็กน้อยมาแล้วด้วยสามารถวิตกจริต. อภิภายตนะหาประมาณมิได้มาแล้วด้วยสามารถโมหจริต. รูปผิวทองมาแล้วด้วยสามารถโทสจริต. ผิวทรามมาแล้วด้วยสามารถราคจริต. รูปเหล่านี้เป็นที่สบายของคนเหล่านั้น.
               อนึ่ง ความที่รูปเป็นที่สบายของคนเหล่านั้น ท่านกล่าวไว้ในจริตนิเทศในวิสุทธิมรรค โดยพิสดารแล้ว.
               พึงทราบวินิจฉัยในอภิภายตนะที่ ๕ เป็นต้นดังต่อไปนี้.
               บทว่า นีลานิ เขียว ท่านกล่าวรวมสีทั้งหมด. บทว่า นีลวณฺณานิ มีวรรณเขียว คือเขียวด้วยสี. บทว่า นีลทสฺสนานิ เขียวล้วน.
               ท่านอธิบายว่า วรรณะไม่มีปน ไม่มีช่องปรากฏด้วยการแสดงให้เห็นเป็นสีเขียวล้วน.
               ส่วนบทว่า นีลนิภาสานิ มีรัศมีเขียวนี้ท่านกล่าวด้วยสามารถแสง. อธิบายว่า มีแสงเขียว ประกอบด้วยรัศมีเขียว. ด้วยบทนี้ ท่านแสดงถึงความที่รูปเหล่านั้นบริสุทธิ์. จริงอยู่ ท่านกล่าวอภิภายตนะ ๔ เหล่านี้ด้วยสามารถวรรณะบริสุทธิ์.
               บทว่า อุมฺมารปุปฺผํ ดอกผักตบ เพราะดอกไม้นี้แม้ปรากฏว่าอ่อนสนิทก็เขียวล้วน. แต่ดอกอัญชันเป็นต้นปรากฏเป็นดอกไม้ตระกูลขาว. เพราะฉะนั้นท่านถือเอาดอกผักตบนี้แหละ ไม่ถือเอาดอกอัญชันเป็นต้นเหล่านั้น.
               พาราณเสยฺยกํ ผ้าที่กำเนิดในเมืองพาราณสี คือทำในกรุงพาราณสี.
               ได้ยินว่า ในกรุงพาราณสีนั้น แม้ฝ้ายก็อ่อนนุ่ม แม้คนปั่นฝ่ายก็ฉลาด แม้น้ำก็สะอาดเย็นสนิท เพราะฉะนั้นผ้าจึงเกลี้ยงทั้งสองข้าง. ในสองข้างปรากฏเกลี้ยงนุ่มสนิท.
               ในบทมีอาทิว่า ปีตานิ พึงทราบโดยนัยนี้เหมือนกัน. เมื่อกำหนดนีลกสิณย่อมถือเอานิมิตในสีเขียว.
               อนึ่ง ในกสิณนี้ การทำกสิณ การบริกรรมและแบบแห่งอัปปนามีอาทิ คือในดอกไม้ ในผ้า หรือในวรรณธาตุทั้งหมด ท่านกล่าวไว้พิสดารแล้วในวิสุทธิมรรค.
               บทว่า อภิญฺญาโวสานปารมิปฺปตฺตา บรรลุบารมีอันเป็นที่สุดแห่งอภิญญา คือสาวกทั้งหลายเจริญธรรมเหล่านั้นในสติปัฏฐานเป็นต้นในก่อนจากนี้ แล้วบรรลุพระอรหัต ชื่อว่าเป็นผู้บรรลุบารมีอันเป็นที่สุดแห่งอภิญญา.
               อนึ่ง สาวกทั้งหลายก็ชื่อว่าเป็นผู้บรรลุบารมีอันเป็นที่สุดแห่งอภิญญา เพราะความเป็นผู้มีความชำนาญอันสะสมมาแล้ว ในอภิภายตนะ ๘ เหล่านี้.
               พึงทราบวินิจฉัยในกสิณกถาดังต่อไปนี้.
               ชื่อว่ากสิณ เพราะอรรถว่าทั้งสิ้น. ชื่อว่าอายตนะ เพราะอรรถว่าเป็นเขตหรือเป็นที่ตั้งมั่นแห่งธรรมทั้งหลายมีกสิณนั้นเป็นอารมณ์.
               บทว่า อุทฺธํ เบื้องบน คือมุ่งหน้าไปสู่ท้องฟ้าเบื้องบน.
               บทว่า อโธ เบื้องต่ำ คือมุ่งหน้าไปสู่พื้นดินเบื้องต่ำ.
               บทว่า ติริยํ เบื้องขวางคือกำหนดโดยรอบดุจบริเวณของพื้นที่. บางคนเจริญกสิณเบื้องบนเท่านั้น บางคนเจริญกสิณเบื้องต่ำ บางคนเจริญกสิณโดยรอบๆ ด้วย เหตุนั้นแหละ ผู้ประสงค์จะเห็นรูปดุจยังความสว่างให้ผ่องใส. ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสบทมีอาทิว่า ปฐวีกสิณเมโก สญฺชานาติ อุทฺธํอโธติริยํ ผู้หนึ่งย่อมรู้ชัดซึ่งปฐวีกสิณทั้งเบื้องบนเบื้องต่ำเบื้องขวาง.
               บทว่า อนฺวยํ คือในทิศน้อยใหญ่.
               ก็บทนี้ ท่านกล่าวเพื่อไปถึงความไม่มีอื่นของทิศหนึ่ง เหมือนผู้เข้าไปสู่แม่น้ำ น้ำเท่านั้นย่อมมีในทิศทั้งหมด มิใช่อย่างอื่นฉันใด. ปฐวีกสิณก็ฉันนั้นเหมือนกัน ย่อมเป็นปฐวีกสิณเท่านั้น. กสิณนั้นไม่มีกสิณอื่นปะปน. ในกสิณทั้งหมดก็มีนัยนี้.
               บทว่า อปฺปมาณํ นี้ ท่านกล่าวด้วยสามารถกสิณนั้นแผ่ไปไม่มีประมาณ. เพราะกสิณนั้น แผ่ไปด้วยใจย่อมแผ่ไปตลอดดวงกสิณเท่านั้น. ย่อมถือเอาประมาณว่านี้เป็นเบื้องต้นของกสิณนั้น นี้เป็นท่ามกลาง.
               อนึ่ง ในบทว่า วิญฺญาณกสิณํ นี้มีความดังต่อไปนี้
               วิญญาณที่เป็นไปแล้วในอากาศที่เพิกกสิณแล้ว. ในบทว่า วิญฺญาณกสิณํ นั้นพึงทราบความที่กสิณนั้นทั้งเบื้องบน เบื้องต่ำและเบื้องขวางในวิญญาณอันเป็นไปแล้วนั้น ด้วยสามารถอากาศอันเพิกกสิณแล้วในอากาศอันเพิกกสิณ ด้วยอำนาจแห่งกสิณ.
               นี้เป็นความย่อในบทนี้. ส่วนปฐวีกสิณเป็นต้นเหล่านี้ ท่านกล่าวไว้แล้วในวิสุทธิมรรค โดยพิสดารตามนัยแห่งการเจริญกรรมฐาน.
               แม้ในที่นี้ก็พึงทราบว่า สาวกทั้งหลายเป็นผู้บรรลุบารมีอันเป็นที่สุดแห่งอภิญญา โดยความเป็นผู้มีความชำนาญอันสะสมไว้แล้ว.
               ในฌาน ๔ อันเป็นลำดับต่อจากนี้ก็อย่างเดียวกัน. ส่วนบทที่ควรกล่าวในที่นี้ ได้กล่าวไว้แล้วในมหาอัสสปุรสูตร. แต่ในวิปัสสนาญาณ ท่านกล่าวความแห่งบทมีอาทิว่า รูปี ผู้ได้รูปฌานไว้แล้ว.
               บทว่า เอตฺถ สิตํ เอตฺถ ปฏิพทฺธํ คือ วิญญาณอาศัยและเนื่องอยู่ในกาย คือมหาภูตรูป ๔ นี้.
               บทว่า สุโภ คืองาม. บทว่า โชติมา คือตั้งอยู่ในอาการอันบริสุทธิ์.
               บทว่า สุปริกมฺมกโต ทำบริกรรมเป็นอย่างดี คือนายช่างเจียระไนดีแล้ว ไม่มีหินและกรวด. บทว่า อจฺโฉ สุกใส คือ สุกใสในตัว ผุดผ่องในตัว. บทว่า วิปฺปสนฺโน คือ แวววาว. บทว่า สพฺพาการสมฺปนฺโน สมส่วนทุกอย่าง คือสมบูรณ์ด้วยอาการทั้งปวงมีขัดและเจาะเป็นต้น. ท่านแสดงถึงสมบัติของสีด้วยบทมีอาทิว่า นีลํ. เพราะด้ายที่ร้อยไว้เช่นนั้นปรากฏ.
               ในบทว่า เอวเมว นี้พึงทราบการเปรียบเทียบอย่างนั้น. เพราะกรชกาย ดุจแก้วมณี. วิปัสสนาญาณดุจด้ายที่ร้อยไว้. ภิกษุผู้ได้วิปัสสนาดุจบุรุษผู้มีจักษุ. กาลที่รู้แจ้งกายอันมีมหาภูตรูป ๔ ของภิกษุผู้นั่งกำหนดวิปัสสนาญาณ ดุจกาลที่รู้แจ้งแก้วมณีของผู้วางแก้วมณีไว้ที่มือแล้วพิจารณาดูว่า นี้แลแก้วมณีฉะนั้น. กาลที่รู้แจ้งอารมณ์ มีผัสสะเป็นที่ ๕ ก็ดี จิตเจตสิกทั้งปวงก็ดี วิปัสสนาญาณก็ดีของภิกษุผู้นั่งกำหนดวิปัสสนาญาณ ดุจกาลที่รู้แจ้งด้ายว่า ด้ายนี้ร้อยอยู่ในแก้วมณีนั้นฉะนั้น. ก็การรู้แจ้งญาณเป็นอย่างไร. เพราะการรู้แจ้งญาณนั้นเป็นการรู้แจ้งบุคคลนั่นแหละ.
               อนึ่ง วิปัสสนาญาณนี้เป็นลำดับของมรรค. เมื่อเป็นอย่างนั้น เพราะเมื่อปรารภวาระแห่งอภิญญา จึงไม่มีวาระในระหว่างแห่งวิปัสสนาญาณนั้น. ฉะนั้นท่านจึงแสดงไว้ในที่นี้นั่นแหละ.
               อนึ่ง เพราะความสะดุ้งต่อภัยย่อมเกิดแก่ผู้ไม่พิจารณาด้วยสามารถความไม่เที่ยงเป็นต้น ผู้ได้ยินเสียงน่ากลัวด้วยหูทิพย์ ผู้ระลึกถึงขันธ์น่ากลัวด้วยระลึกชาติได้ ผู้เห็นรูปน่ากลัวด้วยตาทิพย์. ฉะนั้น ท่านจึงไม่แสดงบทนั้นไว้ในที่นี้ แม้เพื่อตระเตรียมเหตุบรรเทาความกลัวของผู้มิได้ทำการพิจารณา ด้วยสามารถความไม่เที่ยงเป็นต้น[ของ]ผู้บรรลุอภิญญานั้น. แม้ในที่นี้ก็พึงทราบว่า สาวกทั้งหลายบรรลุบารมีอันเป็นที่สุดแห่งอภิญญาด้วยพระอรหัต.
               พึงทราบเพราะความเป็นผู้มีความชำนาญใน มโนมยิทธิ ดังต่อไปนี้.
               ในบทเหล่านั้นบทว่า มโนมยํ คือเกิดแต่ใจ.
               บทว่า สพฺพงฺคปญฺจงฺคํ มีอวัยวะน้อยใหญ่ครบถ้วน คือประกอบด้วยองค์ทั้งหมด และด้วยองค์ ๕.
               บทว่า อหีนินฺทฺริยํ มีอินทรีย์ไม่บกพร่อง คือมีอินทรีย์ไม่วิกลด้วยสัณฐาน. เพราะรูปนิรมิตของผู้มีฤทธิ์เป็นเช่นเดียวกับรูปนั้น ด้วยอาการทุกอย่างอย่างนี้ คือหากผู้มีฤทธิ์ขาว แม้รูปนิรมิตนั้นก็ขาว. หากผู้มีฤทธิ์มีหูมิได้เจาะ แม้รูปนั้นก็มีหูมิได้เจาะ.
               แม้อุปมา ๓ ข้อ มีอาทิว่า มุญฺชมฺหา อีสิกํ พึงชักไส้ออกจากหญ้าปล้อง ท่านกล่าวเพื่อแสดงความเหมือนกัน เพราะไส้ภายในหญ้าปล้องนั้นก็เช่นกับหญ้าปล้องนั่นเอง. เมื่อชักดาบออกจากฝักใส่ดาบที่ชักออก เมื่อชักศัสตราออกจากฝักใส่ศัสตราที่ชักออก ดาบศัสตราก็เช่นกับฝักนั่นเอง.
               แม้บทว่า กรณฺฑา นี้เป็นชื่อของคราบงู มิใช่เป็นชื่อของหีบไม้ไผ่. เพราะคราบงูก็เช่นกับงู. ในบทนั้น ท่านแสดงดุจชักด้วยมือว่าบุรุษพึงชักงูออกจากคราบ ที่แท้พึงทราบว่าชักด้วยจิตของบุรุษนั้นนั่นเอง. เพราะธรรมดางูนี้ย่อมลอกคราบด้วยตนเอง ด้วยเหตุ ๔ เหล่านี้ คือ ตั้งอยู่ในกำเนิดของตน ๑ อาศัยระหว่างไม้หรือระหว่างต้นไม้ ๑ ดุจกินร่างกายด้วยกำลัง คือพยายามฉุดตัวออกจากคราบ ๑ รังเกียจคราบเก่า ๑ ไม่สามารถจะลอกคราบ ด้วยวิธีอื่นจากนั้นได้. เพราะฉะนั้น พึงทราบว่าท่านกล่าวบทนี้หมายถึงการชักด้วยจิต.
               ข้อเปรียบเทียบในบทนี้มีดังนี้ว่า สรีระของภิกษุนี้เช่นกับหญ้าปล้องเป็นต้น รูปนิรมิตเช่นกับไส้เป็นต้น.
               ก็ในที่นี้จะกล่าวถึงวิธีนิรมิต ด้วยว่าการกล่าวถึงอภิญญา ๕ มีอิทธิวิธะเป็นต้น ท่านกล่าวไว้พิสดารแล้วในวิสุทธิมรรคทุกประการ. พึงทราบตามนัยดังกล่าวแล้วในวิสุทธิมรรคนั้นแหละ.
               เพราะในที่นี้ท่านกล่าวเพิ่มเพียงอุปมาเท่านั้น. พึงเห็นภิกษุผู้ได้ญาณคืออิทธิวิธะ ดุจช่างหม้อผู้ฉลาดฉะนั้น. พึงเห็นอิทธิวิธญาณ ดุจดินเหนียวที่ช่างหม้อตกแต่งเป็นอย่างดี ฉะนั้น. พึงเห็นการแสดงฤทธิ์ของภิกษุนั้น ดุจการกระทำให้เป็นภาชนะชนิดต่างๆ ตามที่ตนต้องการแล้วๆ. แม้ในที่นี้ก็พึงทราบว่า พระสาวกทั้งหลายบรรลุบารมีอันเป็นที่สุดแห่งอภิญญา ด้วยสามารถแห่งความเป็นผู้มีความชำนาญอันสะสมไว้แล้วนั่นแล. ในอภิญญา ๔ อื่นจากนี้ก็เหมือนอย่างนั้น.
               พึงทราบวินิจฉัยในอุปมาแห่ง ทิพโสตธาตุ ดังต่อไปนี้.
               บทว่า สงฺขธโม คือ บุรุษเป่าสังข์. บทว่า อปฺปกสิเรเนว คือ โดยไม่ยากนั่นเอง.
               บทว่า วิญฺญาเปยฺย คือให้รู้. พึงเห็นว่ากาลที่พระโยคีรู้แจ้งเสียงของมนุษย์ทั้งใกล้และไกล และนิพพาน ดุจกาลที่เมื่อบุรุษเป่าสังข์ให้รู้แจ้งไปใน ๔ ทิศอย่างนี้นั้น เสียงสังข์นั้นก็ปรากฏชัดแก่สัตว์ทั้งหลายผู้กำหนดว่า นี้เสียงสังข์ฉะนั้น.
               พึงทราบวินิจฉัยในอุปมาแห่ง เจโตปริยญาณ ดังต่อไปนี้.
               บทว่า ทหโร คือ หนุ่ม. บทว่า ยุวา คือ ประกอบด้วยความเป็นหนุ่ม.
               บทว่า มณฺฑนกชาติโก ชอบแต่งตัว คือ แม้ยังหนุ่มสาวก็ไม่เกียจคร้านถึงจะมีผ้าและร่างกายเศร้าหมอง ก็ยังชอบแต่งตัว. อธิบายว่า อาบน้ำวันละ ๒-๓ ครั้งแล้วนุ่งห่มผ้าสะอาด และแต่งตัว.
               บทว่า สกณิกํ หน้ามีไฝ คือหน้ามีโทษด้วยโทษอย่างใดอย่างหนึ่ง มีจุดดำ ตุ่มกลม หูดเป็นต้น. ในบทนั้นพึงทราบว่า เหมือนอย่างว่า เมื่อบุรุษนั้นส่องดูเงาหน้า โทษของใบหน้าย่อมปรากฏฉันใด เมื่อภิกษุนั่งกำหนดจิตด้วยเจโตปริยญาณก็ฉันนั้น จิต ๑๖ อย่างของผู้อื่นย่อมปรากฏ.
               บทที่ควรกล่าวในอุปมาแห่งปุพเพนิวาสญาณเป็นต้นทั้งหมด ท่านกล่าวไว้แล้วในมหาอัสสปุรสูตร.
               บทว่า อยํ โข อุทายิ ปญฺจโม ธมฺโม ดูก่อนอุทายี นี้เป็นธรรมข้อที่ ๕.
               คือ ท่านกล่าวธรรมข้อที่ ๕ ทำ ๑๙ บรรพให้เป็นธรรมข้อเดียวด้วยข้อปฏิบัติ.
               เหมือนอย่างว่าท่านทำ ๑๑ บรรพในอัฏฐกนาครสูตร ให้เป็นธรรมข้อเดียวด้วยสามารถเป็นคำถามฉันใด พึงทราบว่า ๑๙ บรรพในที่นี้ ท่านทำให้เป็นธรรมข้อเดียวด้วยสามารถการปฏิบัติฉันนั้น.
               พึงทราบสาวกทั้งหลายบรรลุบารมีอันเป็นที่สุดแห่งอภิญญา ในส่วนทั้งหลาย ๘ ตามลำดับในบรรดาธรรม ๑๙ บรรพเหล่านี้ ในวิปัสสนาญาณและอาสวักขยญาณด้วยสามารถแห่งพระอรหัต. ในบทที่เหลือทั้งหลาย พึงทราบด้วยสามารถแห่งความเป็นผู้มีความชำนาญอันสะสมมาแล้ว.
               บทที่เหลือในที่ทั้งปวงง่ายทั้งนั้น ด้วยประการฉะนี้.


               จบอรรถกถามหาสกุลุทายิสูตรที่ ๗               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ ปริพพาชกวรรค มหาสกุลุทายิสูตร จบ.
อ่านอรรถกถาหน้าต่างที่ [๑] [๒]
อ่านอรรถกถา 13 / 1อ่านอรรถกถา 13 / 293อรรถกถา เล่มที่ 13 ข้อ 314อ่านอรรถกถา 13 / 356อ่านอรรถกถา 13 / 734
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=13&A=5498&Z=6022
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=9&A=4350
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=9&A=4350
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๓๐  กันยายน  พ.ศ.  ๒๕๔๙
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :