ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 13 / 1อ่านอรรถกถา 13 / 604อรรถกถา เล่มที่ 13 ข้อ 613อ่านอรรถกถา 13 / 630อ่านอรรถกถา 13 / 734
อรรถกถา มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ พราหมณวรรค
อัสสลายนสูตร ทรงโปรดอัสสลายนมาณพ

               ๓. อรรถกถาอัสสลายนสูตร               
               อัสสลายนสูตร มีคำเริ่มต้นว่า ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้ :-
               ในพระสูตรนั้น คำว่า นานาเวรชฺชกานํ ได้แก่ ผู้ที่มาจากแคว้นต่างๆ มีอังคะและมคธเป็นต้น โดยประการต่างๆ กัน.
               อีกอย่างหนึ่ง ความว่า ผู้เกิดแล้วเจริญแล้ว ในแคว้นเหล่านั้นก็มี.
               บทว่า เกนจิเทว คือ ด้วยกิจที่มิได้กำหนดมีการบูชายัญเป็นต้น.
               บทว่า จาตุวณฺณึ คือ ทั่วไปแก่วรรณะ ๔. ก็เราทั้งหลายกล่าวว่า พราหมณ์ทั้งหลายย่อมสาธยายมนต์เพื่อชำระล้างให้บริสุทธิ์บ้าง เพื่อความบริสุทธิ์แห่งภาวนาบ้าง จึงสำคัญว่า พระสมณโคดมกระทำแม้สิ่งที่ไม่สมควร จึงคิดกันอย่างนั้น.
               บทว่า วุตฺตสิโร คือ ปลงผม.
               บทว่า ธมฺมวาที ความว่า พูดตามภาวะของตน.
               บทว่า ทุปฺปภิมนฺติยา ความว่า อันผู้กล่าวไม่เป็นธรรมเช่นเราจะพึงโต้ตอบได้โดยยาก. ท่านแสดงว่า ไม่อาจทำให้ผู้กล่าวเป็นธรรมแพ้ได้.
               บทว่า ปริพฺพาชกํ ได้แก่ วิธีบรรพชา. พราหมณ์เหล่านั้นสำคัญอยู่ว่า ผู้ที่เรียนพระเวทสามแล้วบวช ในภายหลังคนอื่นทั้งหมด ย่อมบวชด้วยมนต์ใด ครั้นบวชแล้ว ย่อมบริหารมนต์เหล่าใด ย่อมประพฤติอาจาระใด สิ่งนั้นทั้งหมดเป็นอันท่านผู้เจริญเรียนแล้วศึกษาแล้ว เพราะเหตุนั้นแหละ ท่านจะไม่แพ้ ท่านจักมีแต่ชนะอย่างเดียวดังนี้ จึงกล่าวอย่างนั้น.
               คำว่า ทิสฺสนฺเต โข ปน ดังนี้เป็นต้น ท่านกล่าวเพื่อทำลายลัทธิของพราหมณ์เหล่านั้น. ในบทเหล่านั้น บทว่า พฺราหฺมณิโย ได้แก่ ใครๆ ก็เห็นนางพราหมณีที่นำมาจากตระกูลเพื่อให้บุตรของพราหมณ์ (แต่งงาน) ด้วยการอาวาหะและวิวาหมงคล แต่นางนั้นโดยสมัยอื่นมีระดู หมายความว่า เกิดประจำเดือน.
               บทว่า คพฺภินิโย ได้แก่ เกิดท้องขึ้น.
               บทว่า วิชายมานา ได้แก่ คลอดลูกชายหญิง.
               บทว่า ปายมานา คือ ให้เด็กดื่มน้ำนม.
               คำว่า โยนิชาวสมานา ความว่า เกิดทางช่องคลอดของนางพราหมณี.
               คำว่า เอวมาหํสุ แปลว่า กล่าวอยู่อย่างนี้.
               ถามว่า กล่าวอย่างไร.
               ตอบว่า กล่าวว่า พฺราหฺมโณว เสฏฺโฐ วณฺโณ ฯเปฯ พฺรหฺมทายาทา ดังนี้.
               ก็ถ้าว่าคำของคนเหล่านั้นพึงเป็นคำจริง ท้องนางพราหมณีก็พึงเป็นอกของมหาพรหม. ช่องคลอดของนางพราหมณีก็พึงเป็นปากของมหาพรหม ด้วยเหตุเพียงเท่านี้ เราทั้งหลายอย่าได้กล่าวว่า อยู่ในอกของมหาพรหมออกจากของพรหม ฉะนั้น จึงกล่าวคำตัดเรื่องชาติออกได้เต็มปาก.
               คำว่า เป็นเจ้าแล้วกลับเป็นทาส เป็นทาสแล้วกลับเป็นเจ้า ความว่า พราหมณ์กับภริยาประกอบการค้าขายไปยังแคว้นโยนกหรือแคว้นกัมโพช กระทำกาละ เมื่อบุตรผู้เจริญวัยในเรือน เขาไม่มี นางพราหมณีก็สำเร็จสังวาสกับทาสหรือกรรมกร เกิดเด็กคนหนึ่ง บุรุษนั้นเป็นทาส. เด็กที่เกิดของบุรุษนั้น ก็เป็นเจ้าของมรดก ชื่อว่าบริสุทธิ์ฝ่ายมารดา ไม่บริสุทธิ์ฝ่ายบิดา. บุรุษนั้นประกอบการค้าขายอยู่ ไปยังมัชฌิมประเทศพาลูกสาวของพราหมณ์ไป ได้ลูกชายในท้องของนางนั้น. ถึงลูกชายนั้นก็ย่อมบริสุทธิ์ฝ่ายมารดาตามเดิม ไม่บริสุทธิ์ฝ่ายบิดา ด้วยอาการอย่างนี้ ความปนคละโดยชาติ ย่อมมีในลัทธิของพราหมณ์นั้นแหละ เพื่อแสดงความดังกล่าวมานี้ จึงกล่าวคำนั้นไว้.
               คำว่า กึ พลํ โก อสฺสาโส ท่านแสดงว่า ในที่ใดพวกท่านเป็นทาส ทุกคนก็เป็นทาส ถ้าเป็นเจ้าทุกคนก็เป็นเจ้า ในที่นี้อะไรเป็นกำลัง อะไรเป็นความยินดีของท่านทั้งหลายผู้กล่าวอย่างนี้ว่า พราหมณ์เท่านั้นเป็นวรรณะประเสริญ.
               คำว่า ขตฺติโย จ นุโข เป็นต้น เป็นคำตัดฝ่ายขาวทิ้งเสีย.
               บัดนี้ เมื่อจะแสดงความบริสุทธิ์อันมีวรรณะ ๔ จึงกล่าวคำว่า อิธ ราชา ดังนี้เป็นต้น.
               บทว่า สาปานโทณิยา ได้แก่ รางน้ำข้าวแม้แห่งสุนัข.
               บทว่า อคฺคิกรณียํ ได้แก่ หน้าที่ของไฟเป็นต้นว่า บรรเทาความหนาว ขจัดความมืด หุงต้มข้าว. ชื่อว่าผู้ทำกิจด้วยไฟในกิจทุกอย่างนี้ ชื่อว่าอัสสลายนะ ในบทนี้.
               บัดนี้ ในข้อที่พราหมณ์กล่าวว่า ความบริสุทธิ์เกี่ยวกับวรรณะ ๔ ความบริสุทธิ์เกี่ยวกับวรรณะ ๔ นี้ไม่มีความชี้ชัดลงไปว่า วรรณะ ๔ เพราะยังมีวรรณะผสมเป็นที่ ๕ ฉะนั้น เพื่อจะแสดงความผิดพลาดในคำของพราหมณ์เหล่านั้นโดยย่อ พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า ขัตติยกุมารในโลกนี้ดังนี้เป็นต้น.
               บรรดาคำเหล่านั้น คำว่า อมุตฺร จ ปน สานํ ความว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ก็แลเราไม่เห็นการกระทำอันต่างกันอะไรๆ ของมาณพเหล่านี้ ในนัยก่อนโน้น. แต่แม้พราหมณ์เหล่านั้นยังมีการกระทำต่างกันเทียว. ก็ผู้ที่เกิดจากนางพราหมณีกับขัตติยกุมาร ก็ชื่อว่าลูกผสมกษัตริย์. นอกนี้ชื่อว่าลูกผสมพราหมณ์. เหล่านี้เป็นมาณพผู้มีชาติต่ำ.
               พระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้นทรงแสดงโทษในวาทะของพราหมณ์เหล่านี้ว่า ความบริสุทธิ์เกี่ยวกับวรรณะ ๔ เพราะยังมีวรรณะที่ ๕ อยู่อย่างนี้แล้ว บัดนี้ เมื่อจะหยั่งลงในความบริสุทธิ์เกี่ยวกับวรรณะ ๔ อีก จึงตรัสคำว่า ตํ กึ มญฺญสิ ดังนี้เป็นต้น.
               ในบทเหล่านั้น บทว่า สทฺเธ ได้แก่ ภัตรเพื่อผู้ตาย.
               บทว่า ถาลิปาเก ได้แก่ ภัตรเพื่อบรรณาการ.
               บทว่า ยญฺเญ ได้แก่ ภัตรเพื่อบูชายัญ.
               บทว่า ปาหุเน ได้แก่ ภัตรที่เขาทำเพื่อแขก.
               บทว่า กึ หิ คือ ย่อมแสดงว่า อันไหนจะมีผลมากหรือจะไม่มีผลมาก.
               บทว่า ภูตปุพฺพํ ความว่า อัสสลายนะในกาลก่อน เราต่ำกว่าโดยชาติ ท่านแม้ประเสริฐกว่าก็ไม่อาจแก้ปัญหาในวาทะปรารภชาติที่เราถามแล้วได้ บัดนี้ท่านเป็นผู้ต่ำกว่าเรา ถามปัญหาวาทะปรารภชาติของตนแห่งพระพุทธเจ้าทั้งหลาย จะแก้ได้หรือ การคิดในปัญหานั้น ก็พึงกระทำไม่ได้ เมื่อจะค้ำชูมาณพนั้น จึงปรารภการเทศนานี้ด้วยประการฉะนี้.
               ในบทเหล่านั้น บทว่า อสิโต แปลว่า ดำ.
               คำว่า เทวโล เป็นชื่อของดาบสนั้น. โดยสมัยนั้น ก็คือพระผู้มีพระภาคเจ้านี้แหละ.
               บทว่า อาคลิโย ได้แก่ รองเท้าสองชั้น.
               บทว่า ปตฺติณฺฑิเล ได้แก่ บริเวณบรรณศาลา.
               คำว่า โก นุ โข ได้แก่ ณ ที่ไหนหนอแล.
               คำว่า คามณฺฑรูโป วิย ได้แก่ เหมือนเด็กชายชาวบ้าน.
               คำว่า โส ขฺวานํ โภ โหมิ ความว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า เราเป็นอสิตเทวละ.
               ได้ยินว่า ในกาลนั้น พระมหาสัตว์เป็นผู้ฝึกม้าที่ยังมิได้ฝึก เที่ยวไป.
               คำว่า อภิวาเทตุํ อุปกฺกมีสุ คือ กระทำความพยายามจะไหว้. และต่อแต่นั้น แม้ดาบสผู้มีอายุ ๑๐๐ ปีก็ไม่ไหว้พราหมณ์กุมารผู้เกิดในวันนั้น เป็นผู้ฝึกแล้ว ฝึกดีแล้ว.
               คำว่า ชนิมาตา ความว่า หญิงใดให้ท่านเกิดมา หญิงนั้นก็เป็นแม่ ผู้เกิดเกล้าของท่าน.
               บทว่า ชนิมาตุ คือ แห่งมารดาบังเกิดเกล้า.
               บทว่า ชนิปิตา คือ ผู้ใดเป็นบิดาบังเกิดเกล้า. ปาฐะว่า โย ชนิปิตา ดังนี้ก็มี.
               บทว่า อสิเตน ความว่า ฤาษีอสิตเทวละผู้ได้อภิญญา ๕ ถามปัญหาปรารภคนธรรพนี้ แล้วแก้ไม่ได้.
               บทว่า เยสํ ได้แก่ ฤาษี ๗ ตนเหล่าใด.
               คำว่า ปุณฺโณ ทพฺพิคาโห ความว่า มาณพคนหนึ่ง ชื่อปุณณะจับทัพพีคั่วใบไม้ให้ฤาษี ๗ ตนเหล่านั้น. ปุณณะนั้นรู้ศิลปะในการจับทัพพี แต่ปุณณะไม่ได้เป็นอาจารย์ของฤาษีเหล่านั้น ท่านไม่รู้แม้เพียงศิลปะ คือการจับทัพพีที่ปุณณะนั้นรู้แล้ว.
               คำที่เหลือในที่ทั้งปวงง่ายทั้งนั้นแล.
               ก็อัสสลายนพราหมณ์นี้เป็นผู้มีศรัทธา มีความเลื่อมใส ได้สร้างเจดีย์ไว้ในนิเวศน์ของตน. ผู้ที่เกิดในวงศ์ของอัสสลายนพราหมณ์ สร้างนิเวศน์แล้ว ก็สร้างเจดีย์ไว้ในภายในนิเวศน์จนตราบเท่าถึงวันนี้.

               จบอรรถกถาอัสสลายยนสูตรที่ ๓               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ พราหมณวรรค อัสสลายนสูตร ทรงโปรดอัสสลายนมาณพ จบ.
อ่านอรรถกถา 13 / 1อ่านอรรถกถา 13 / 604อรรถกถา เล่มที่ 13 ข้อ 613อ่านอรรถกถา 13 / 630อ่านอรรถกถา 13 / 734
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=13&A=9673&Z=9914
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=9&A=7387
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=9&A=7387
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๑๗  กันยายน  พ.ศ.  ๒๕๔๙
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :