ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 13 / 1อ่านอรรถกถา 13 / 549อรรถกถา เล่มที่ 13 ข้อ 559อ่านอรรถกถา 13 / 571อ่านอรรถกถา 13 / 734
อรรถกถา มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ ราชวรรค
ธรรมเจติยสูตร ว่าด้วยธรรมเจดีย์

               ๙. อรรถกถาธรรมเจติยสูตร               
               ธรรมเจติยสูตร มีคำเริ่มต้นว่า ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้ :-
               ในพระสูตรนั้น คำว่า เมทลุปํ เป็นชื่อของนิคมนั้น.
               ก็ได้ยินว่า นิคมนั้นมีแผ่นหินมีสีดุจมันข้น๑- เกิดขึ้นหนาแน่นในที่นั้นๆ เพราะฉะนั้น จึงถึงการนับว่า เมทลุปะ. อนึ่ง เสนาสนะในนิคมนั้น ก็ไม่แน่นอน ฉะนั้น จึงมิได้กล่าวไว้.
____________________________
๑- ศิลามีสีอันแดงงามดุจหงอนไก่เทศ (ลีปี)

               บทว่า นครกํ ได้แก่ นิคมหนึ่งของเจ้าศากยะมีชื่ออย่างนั้น.
               คำว่า ด้วยพระราชกรณียะบางอย่าง คือ มิใช่ด้วยกรณียะอย่างอื่น แต่พระเจ้าปเสนทิโกศลนี้ตรัสสั่งว่า พวกเจ้าจงจับพันธุละเสนาบดีพร้อมด้วยบุตร ๓๒ คนให้ได้โดยวันเดียว. ก็ในวันนั้น นางมัลลิกาภริยาของพันธุละเสนาบดีนั้น ทูลนิมนต์พระผู้มีพระภาคเจ้าพร้อมด้วยภิกษุ ๕๐๐ รูป. พอภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุขเสด็จถึงเรือนประทับนั่งแล้วเจ้าหน้าที่ก็นำข่าวว่า ท่านเสนาบดีถึงอสัญกรรมแล้วมาให้นางมัลลิกา. นางรับหนังสือ ถามว่าเป็นข่าวดี (หรือร้าย). ก็เรียนว่า พระราชาทรงให้จับเสนาบดีพร้อมด้วยบุตร ๓๒ คนประหารชีวิตพร้อมกัน แม่เจ้า. นางกล่าวว่า พวกเจ้าอย่าได้กระทำให้แพร่งพรายแก่มหาชน แล้วเอาหนังสือใส่ห่อพกไว้ อังคาสพระภิกษุสงฆ์. ในตอนนั้น เจ้าหน้าที่ยกหม้อสัปปิมาหม้อหนึ่ง (เผอิญ) หม้อสัปปินั้นกระทบธรณีประตูแตก จึงสั่งให้ไปนำหม้ออื่นมาอังคาสพระภิกษุสงฆ์.
               พระศาสดาทรงกระทำภัตกิจเสร็จแล้ว จึงตรัสว่า นางไม่ควรคิด เพราะเหตุหม้อสัปปิแตก เพื่อเป็นเหตุให้ตั้งกถาขึ้น. ขณะนั้น นางมัลลิกาจึงนำหนังสือออกมาวางตรงหน้าพระพักตร์พระผู้มีพระภาคเจ้า แล้วกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ นี่เป็นข่าวการตายของเสนาบดีกับบุตร ๓๒ คน หม่อมฉันมิได้คิดแม้เรื่องนี้ เหตุไรจะคิดเพราะเหตุหม้อสัปปิ (แตก).
               พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงกระทำธรรมีกถาให้ปฏิสังยุตด้วยสามัญลักษณะมีความไม่เที่ยงเป็นต้นว่า ดูก่อนนางมัลลิกา อย่าคิด (มาก) ไปเลย ธรรมดาในสังสารวัฏฏ์มีที่สุดและเบื้องต้นอันใครๆ ไปตามอยู่ รู้ไม่ได้แล้ว ย่อมเป็นไปเช่นนั้น แล้วเสด็จกลับ.
               นางมัลลิกาเรียกลูกสะใภ้ ๓๒ คน มาให้โอวาท. พระราชารับสั่งให้นางมัลลิกาเข้าเฝ้า ตรัสถามว่า ในระหว่างเสนาบดีกับเรา โทษที่แตกกันมีหรือไม่มี.๒- นางทูลว่า ไม่มี พะยะค่ะ.
____________________________
๒- สี. จิตฺตโทโส

               พระราชาทรงทราบว่า เสนาบดีนั้นไม่มีความผิดตามคำของนาง จึงมีความเดือดร้อนเกิดความเสียพระทัยอย่างล้นพ้น. พระองค์ทรงรำพึงว่า ได้นำสหายผู้ยกย่องเราว่ากระทำสิ่งที่หาโทษมิได้ เห็นปานนี้มาแล้วให้พินาศแล้ว ตั้งแต่นั้นไปก็ไม่ได้ความสบายพระทัยในปราสาท หรือในเหล่านางสนม หรือความสุขในราชสมบัติทรงเริ่มเที่ยวไปในที่นั้นๆ.
               กิจอันนี้แหละได้มีแล้ว หมายถึงเรื่องนี้ จึงกล่าวไว้ว่า ด้วยราชกรณียกิจอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังนี้.
               บทว่า ทีฆํ การายนํ ความว่า ทีฆการายนะซึ่งเป็นหลานของพันธุละเสนาบดีคิดว่า พระราชาทรงฆ่าลุงของเราผู้มิได้ทำผิดนั้นโดยไม่มีเหตุ พระราชาได้ทรงตั้งไว้ในตำแหน่งเสนาบดีแล้ว.
               คำนั้น ท่านกล่าวหมายถึงเรื่องนี้.
               คำว่า มหจฺจราชานุภาเวน ความว่า ด้วยราชานุภาพอันใหญ่.
               หมายความว่า ด้วยหมู่พลมากมายงดงามด้วยเพศอันวิจิตร ดุจถล่มพื้นธรณีให้พินาศ ประหนึ่งจะยังสาครให้ป่วนปั่นฉะนั้น.
               บทว่า ปาสาทิกานิ ความว่า อันให้เกิดความเลื่อมใสพร้อมทั้งน่าทัศนาทีเดียว.
               บทว่า ปาสาทนียานิ เป็นไวพจน์ของคำนั้น.
               อีกนัยหนึ่ง บทว่า ปาสาทิกานิ ความว่า น่าดู (น่าทัศนา).
               บทว่า ปาสาทนียานิ ได้แก่ ให้เกิดความเลื่อมใส.
               บทว่า อปฺปสทฺทานิ คือ ไม่มีเสียง.
               บทว่า อปฺปนิคฺโฆสานิ ความว่า เว้นจากเสียงกึกก้อง เพราะอรรถว่าไม่ปรากฏ.
               บทว่า วิชนวาตานิ ความว่า ปราศจากกลิ่นของคน.
               บทว่า มนุสฺสราหสฺเสยฺยกานิ ความว่า สมควรแก่งานที่จะพึงทำในที่ลับของมนุษย์ อรรถว่าสมควรแก่ผู้ที่ปรึกษาค้นคว้าอย่างลี้ลับ.
               บทว่า ปฏิสลฺลานสารุปฺปานิ ความว่า สมควรแก่ความเป็นผู้เดียวซ่อนเร้นอยู่.
               บทว่า ยตฺถ สุทํ มยํ ความว่า พระผู้มีพระภาคเจ้ามิได้เคยเสด็จไปในที่นั้น ในคำนี้มีอรรถดังนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าควรเสด็จเข้าไปในที่เช่นนั้น เพราะเป็นที่พวกเราทั้งหลายมีความสุข.
               บทว่า อตฺถิ มหาราชา ความว่า เสนาบดีผู้ฉลาดย่อมทราบว่า พระราชาทรงนับถือพระผู้มีพระภาคเจ้า. เสนาบดีนั้นจะส่งจารบุรุษไป จนรู้ที่ประทับของพระผู้มีพระภาคเจ้าอยู่ ด้วยคิดว่า ถ้าพระราชาถามเราว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงประทับที่ไหน ก็ควรจะกราบทูลได้โดยมิชักช้า เพราะฉะนั้น จึงกล่าวอย่างนั้น.
               บทว่า อารามํ ปาวิสิ ความว่า ทรงตั้งค่ายไว้นอกนิคมแล้ว เสด็จเข้าไปกับการายนะเสนาบดี. ท่านกล่าวว่า วิหาโร หมายเอาพระคันธกุฎี.
               บทว่า อาฬินฺทํ แปลว่า หน้ามุข.
               บทว่า อุกฺกาสิตฺวา คือ กระทำเสียงกระแอม.
               บทว่า อคฺคฬํ คือ บานประตู.
               บทว่า อาโกฏฺเฏหิ ท่านกล่าวอธิบายไว้ว่า ทรงเคาะที่ใกล้ช่องกุญแจค่อยๆ ด้วยปลายพระนขา.
               ได้ยินว่า พวกอมนุษย์ย่อมเคาะประตูสูงเกินไป ทีฆชาติก็เคาะต่ำเกินไป จึงไม่เคาะอย่างนั้น คือเคาะที่ใกล้ช่องตรงกลาง นี้เป็นมรรยาทในการเคาะประตู ท่านโบราณาจารย์กล่าวแสดงไว้ด้วยประการดังนี้.
               บทว่า ตตฺเถว คือ ในที่ที่ภิกษุทั้งหลายกล่าวแล้วนั่นแหละ.
               คำว่า ขคฺคญฺจ อุณฺหีสญฺจ นั้นเป็นเพียงเทศนา.
               อนึ่ง พระราชาทรงมอบราชกกุธภัณฑ์ทั้ง ๕ ที่มาแล้ว คือ
                         พัดวาลวีชนี อุณหิส พระขรรค์ ฉัตรและ
                         ฉลองพระบาท พระราชาเสด็จลงจาก
                         ยาน จอดซ่อนไว้.
               ถามว่า ก็พระราชาทรงมอบเบญจราชกกุธภัณฑ์ เพราะเหตุไร.
               ตอบว่า เพราะไม่ควรเสด็จเข้าไปยังสำนักพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งเป็นที่เคารพยิ่งด้วยเพศแห่งอิสริยยศ และทรงคิดว่าจะเข้าไปเฝ้าเพียงพระองค์เดียวจะได้สนทนาได้ตามพอพระทัยของพระองค์. ก็ในบรรดาราชกกุธภัณฑ์ทั้ง ๕ พระองค์ให้กลับแล้ว ก็ไม่ได้กล่าวว่าท่านจงกลับ. จะกลับไปเองทั้งหมดทีเดียว. พระราชาทรงมอบไปด้วยเหตุ ๒ ประการ ดังกล่าวมานี้.
               บทว่า รหายติ ความว่า ย่อมกระทำเร้นลับ คือซ่อนเร้น.
               ได้ยินว่า เสนาบดีนั้นมีประสงค์ดังนี้ว่า พระราชานี้ แม้คราวก่อนก็ปรึกษาจตุกัณมนต์กับพระสมณโคดม แล้วให้จับลุงของเรากับบุตร ๓๒ คน แม้ครั้งนี้ก็คงปรึกษาจตุกัณณมนต์ สั่งให้จับเราอีกกระมังหนอ เสนาบดีนั้นได้มีความคิดดังนี้ เพราะอำนาจแห่งความโกรธ.
               บทว่า วิวริ ภควา ทฺวารํ ความว่า พระผู้มีพระภาคเจ้ามิได้ทรงลุกขึ้นเปิดประตู. แต่ทรงเหยียดพระหัตถ์ตรัสว่า จงเปิดเถอะ. ต่อแต่นั้น ประตูก็เปิดเองทีเดียว กล่าวว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า พระองค์เมื่อให้ทานอยู่ในโกฏิแห่งกัปป์มิใช่น้อย มิได้เคยกระทำกรรมคือการกั้นประตูด้วยพระหัตถ์ของพระองค์. ก็ประตูนั้น เพราะเปิดออกด้วยพระทัยของพระผู้มีพระภาคเจ้า เพราะฉะนั้น จึงควรกล่าวได้ว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าเปิดประตูแล้ว.
               บทว่า วิหารํ ปวิสิตฺวา ความว่า เข้าไปสู่พระคันธกุฎีแล้ว. ก็เมื่อพระราชาพอเสด็จเข้าไปแล้ว การายนะเสนาบดีก็ถือเอาเบญจราชกุกธภัณฑ์ กลับค่าย เรียกวิฑูฑภะมาว่า เพื่อนรัก จงยกฉัตรขึ้น.
               วิฑูฑภะถามว่า พระชนกของข้าพเจ้าไปแล้วหรือ.
               ตอบว่า อย่าถามถึงพระชนกเลย ถ้าท่านไม่ยก ข้าพเจ้าจะถือฉัตรนั้นยกขึ้นเอง.
               วิฑูฑภะจึงกล่าวว่า ข้าพเจ้าจะยกเอง สหาย.
               การายนะเสนาบดีทิ้งม้าไว้ให้พระราชาตัวหนึ่ง ดาบเล่มหนึ่ง นางสนมคนเดียวเท่านั้น สั่งว่า ถ้าพระราชาอยากจะมีชีวิตอยู่ ก็อย่าตามมา แล้วยกฉัตรให้วิฑูฑภะ แล้วพาวิฑูฑภะนั้นไปยังนครสาวัตถีทีเดียว.
               บทว่า ธมฺมนฺวโย ความว่า รู้ตาม คืออนุมาน คือเข้าใจธรรม กล่าวคือปัจจักขญาณ.
               บัดนี้ คำว่า สมฺมาสมฺพุทฺโธ ภควา ดังนี้เป็นต้น ย่อมมีแก่พระราชานั้นด้วยความรู้ตามธรรมอันใด เพื่อแสดงความรู้ตามธรรมอันนั้น จึงกล่าวว่า อิธ ปนาหํ ภนฺเต ดังนี้เป็นต้น.
               ในบทเหล่านั้น บทว่า อาปาณโกฏิตํ ความว่า ชีวิตชื่อว่า ปาณะ (ปราณ) กระทำเขตแดนแห่งชีวิตอันมีลมปราณเป็นที่สุดนั้นไว้ในภายใน. ท่านอธิบายว่า แม้ในสมัยใกล้ตาย ก็ยังท่องเที่ยวไปอยู่เทียว จึงก้าวล่วงชีวิตนั้นไปไม่ได้.
               ปาฐะว่า อาปนโกฏิกํ๓- ดังนี้ก็มี. หมายความว่า มีชีวิตเป็นที่สุดรอบ.
               อธิบายว่า บางคนก้าวล่วงอยู่ไม่กระทำชีวิตอันมีปราณเป็นที่สุดเที่ยวไป เพราะเหตุแห่งชีวิตฉันใด ภิกษุทั้งหลายย่อมไม่เป็นอย่างนั้น.
____________________________
๓- ฉ. อปาณโกฏิกํ

               คำว่า อยมฺปิ โข เม ภนฺเต พระอรรถกถาจารย์ย่อมแสดงว่า ข้อนี้ย่อมเป็นอย่างนี้ เพราะพระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ดีแล้ว พระธรรมอันพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสดีแล้วและพระสงฆ์เป็นผู้ปฏิบัติดีแล้ว ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ความเลื่อมใสในธรรมในพระผู้มีพระภาคเจ้าของข้าพระองค์นี้ย่อมเป็นอย่างนี้.
               ในบททุกบท ก็มีนัยดังนี้แล.
               บทว่า นิ วิย มญฺเญ จกฺขํ พนฺธนฺเต๔- (ดูเหมือนราวกะว่าไม่ห่วงใยจักษุ) ความว่า เหมือนไม่ผูกพันจักษุ. เพราะมองดูเห็นอย่างไม่น่าเลื่อมใสแล้วยังไม่ทำหน้าที่ในการแลดูอีก ฉะนั้น เขาจึงชื่อว่าไม่ผูกพันจักษุ. เห็นอย่างน่าเลื่อมใสแล้วยังทำกิจในการแลดูเนืองๆ ฉะนั้นเขาชื่อว่าผูกพันจักษุ. ก็ท่านเหล่านี้เป็นผู้ไม่น่าเลื่อมใส ฉะนั้น ท่านจึงกล่าวอย่างนั้น.
____________________________
๔- ฎีกา จกฺขุ อตฺตนิ พนฺธนฺต.

               บทว่า พนฺธุกโรโค โน ได้แก่ โรคแห่งตระกูล (โรคกรรมพันธุ์). อาจารย์ทั้งหลายกล่าวว่า มีโรคเห็นปานนี้เกิดในตระกูลของเราทั้งหลาย.
               บทว่า อุฬารํ คือ มีศักดิ์ใหญ่.
               บทว่า ปุพฺเพนาปรํ ได้แก่ เป็นอย่างอื่น คือแตกต่างจากก่อน. คือกระทำกสิณบริกรรมจนบังเกิดสมาบัติ ชื่อว่ารู้กว้างขวาง คือวิเศษกว่าก่อนในคำนั้น. กระทำสมาบัติให้เป็นปทัฏฐาน เจริญวิปัสสนา ถือเอาพระอรหัตต์ ชื่อว่ารู้กว้างขวาง คือวิเศษยิ่งกว่าแต่ก่อน.
               บทว่า ฆาเฏตยํ วา ฆาเฏตุํ ความว่า เพื่อให้ฆ่าคนที่ควรฆ่า.
               บทว่า ชาเปตายํ วา ชาเปตุํ ความว่า จะให้ริบคนที่ควรริบด้วยทรัพย์ คือกระทำให้เสื่อมสิ้นให้ไม่มีทรัพย์.
               บทว่า ปพฺพาเชตายํ วา ปพฺพาเชตุ คือ ให้เนรเทศคนที่ควรเนรเทศเสียจากรัฐ.
               บทว่า อิสิทนฺตปุราณา คือ อิสิทันตะและบุราณะ. ในคนทั้ง ๒ นั้น คนหนึ่งเป็นพรหมจารี คนหนึ่งเป็นสทารสันโดษ (ยินดีแต่ภริยาของตน).
               บทว่า มมภตฺตา ความว่า ชื่อว่ามมภัตตา เพราะอรรถว่าภัตรอันเป็นของแห่งตนของชนเหล่านั้นมีอยู่.
               บทว่า มมยานา ความว่า ชื่อว่ายวดยานของเรา เพราะอรรถว่ายวดยานอันเป็นของแห่งเรามีอยู่.
               บทว่า ชีวีตํ ทาตา ได้แก่ เป็นผู้ให้ความเป็นไปแห่งชีวิต.
               บทว่า วีมํสมาโน คือ เมื่อจะทดลอง.
               ได้ยินว่า ในกาลนั้น พระราชามิได้ทรงบรรทมหลับเลย ทรงบรรทมเหมือนหลับอยู่. ทีนั้นได้ตรัสถามช่างไม้เหล่านั้นว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับทางทิศาภาคไหน ครั้นได้ทรงสดับว่าทางทิศาภาคโน้น จึงปรึกษากันว่า พระราชาทรงหันพระเศียรไปยังทิศาภาคที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าประทับ หันพระบาทมา (ทางนี้) ถ้าพระศาสดาทรงหันพระเศียรไปยังทิศาภาคที่พระราชาประทับ หันพระบาทมา เราจักกระทำอย่างไรดี. แต่นั้น ช่างไม้เหล่านั้นจึงคิดกันว่า พระราชาทรงขัดพระทัยอยู่ เคยทรงให้สิ่งใดแก่พวกเรา ก็ทรงตัดสิ่งนั้นเสีย ช่างไม้ทั้งหลายพูดกันว่า ก็พวกเราไม่สามารถที่จะหันเท้าไปทางพระศาสดาได้ จึงหันเท้าไปทางพระราชาแล้ว จึงนอนแล้ว. พระราชานี้ทรงหมายถึงข้อนั้น จึงตรัสอย่างนี้.
               บทว่า ปกฺกามิ ความว่า พระราชาเสด็จออกจากพระคันธกุฎีแล้ว ทรงดำเนินไปถึงที่ที่การายนะอยู่ ไม่เห็นการายนะนั้นในที่นั้น จึงเสด็จไปยังค่ายที่พักพล. แม้ในที่นั้นก็ไม่เห็นใครอื่น จึงตรัสถามหญิงนั้น. หญิงนั้นจึงกราบทูลเรื่องราวทั้งสิ้นให้ทรงทราบ.
               พระราชาทรงพระดำริว่า บัดนี้เราไม่ควรไปในพระนครนั้นแต่ผู้เดียว เราจะไปยังพระนครราชคฤห์ กลับมากับหลานแล้ว ยึดราชสมบัติของเรา ดังนี้.
               เมื่อเสด็จไปยังพระนครราชคฤห์ ได้ทรงเสวยพระกระยาหารข้าวปลายเกรียน ทรงดื่มน้ำที่ขุ่นในระหว่างทาง. อาหารของพระองค์ซึ่งมีปกติเป็นสุขุมาลชาติ ไม่ย่อยไปโดยง่าย พระองค์แม้เสด็จถึงพระนครราชคฤห์ ก็เป็นเวลาวิกาล ถึงเมื่อประตูพระนครปิดเสียแล้ว. ทรงดำริว่า วันนี้ นอนที่ศาลา (นี้) ต่อพรุ่งนี้จึงเข้าไปหาหลานของเรา ดังนี้ จึงทรงบรรทมที่ศาลาภายนอกพระนคร. พระองค์เสด็จลุกขึ้นตลอดราตรีเสด็จไปข้างนอกหลายครั้ง. ตั้งแต่นั้น ก็ไม่อาจทรงพระดำเนินไปด้วยพระบาท ทรงบรรทมเหนือตักของหญิงนั้น พอใกล้รุ่งก็ทรงสวรรคตแล้ว.
               หญิงทราบว่า พระราชาสวรรคตแล้ว ก็เริ่มปริเทวนาด้วยการร้องไห้คร่ำครวญด้วยเสียงดังว่า บัดนี้ พระเจ้าโกศลสามีของเราเสวยราชสมบัติในรัฐทั้ง ๒ มานอนสวรรคตอย่างคนอนาถา ที่ศาลาของคนไร้ที่พึ่งภายนอกพระนครของคนอื่น ดังนี้เป็นต้น.
               พวกมนุษย์ได้สดับข่าวจึงมากราบทูลแด่พระราชา. พระราชาเสด็จมาทอดพระเนตรแล้ว ทรงจำได้ ทรงทราบเหตุที่เสด็จมาแล้ว ทรงจัดทำสรีรกิจอย่างสมพระเกียรติทรงให้เจ้าพนักงานตีฆ้องร้องประกาศว่า เราจักจับพระเจ้าวิฑูฑภะ ประชุมหมู่พลให้พรักพร้อมแล้ว.
               อำมาตย์ทั้งหลายพากันมาหมอบแทบพระยุคลบาททูลว่า ขอเดชะ ถ้าหากพระเจ้าลุงของพระองค์ไม่มีโรค พระองค์ก็ควรเสด็จ แต่บัดนี้ แม้พระเจ้าวิฑูฑภะสมควรยกฉัตรขึ้น เพราะอาศัยพระองค์ทีเดียว ทูลให้เข้าใจ ห้ามไว้แล้ว.
               บทว่า ธมฺมเจติยานิ เป็นคำบอกถึงการทำความเคารพพระธรรม.
               จริงอยู่ เมื่อกระทำความเคารพในรัตนะหนึ่ง ในบรรดารัตนะทั้ง ๓ ก็ย่อมเป็นอันกระทำในทุกรัตนะทีเดียว. เพราะฉะนั้น เมื่อกระทำความเคารพในพระผู้มีพระภาคเจ้า ก็ย่อมเป็นอันกระทำความเคารพในพระธรรมด้วย เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า ธรรมเจดีย์ทั้งหลาย.
               บทว่า อาทิพฺรหฺมจริยกานิ ความว่า อันเป็นเบื้องต้นของมรรคพรหมจรรย์. หมายความว่า อันเป็นการปฏิบัติในส่วนเบื้องต้น.
               คำที่เหลือในที่ทั้งปวงง่ายทั้งนั้นแล.

               จบอรรถกถาธรรมเจติยสูตรที่ ๙               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ ราชวรรค ธรรมเจติยสูตร ว่าด้วยธรรมเจดีย์ จบ.
อ่านอรรถกถา 13 / 1อ่านอรรถกถา 13 / 549อรรถกถา เล่มที่ 13 ข้อ 559อ่านอรรถกถา 13 / 571อ่านอรรถกถา 13 / 734
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=13&A=8789&Z=8961
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=9&A=6357
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=9&A=6357
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๑๗  กันยายน  พ.ศ.  ๒๕๔๙
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :