ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 13 / 1อ่านอรรถกถา 13 / 423อรรถกถา เล่มที่ 13 ข้อ 452อ่านอรรถกถา 13 / 464อ่านอรรถกถา 13 / 734
อรรถกถา มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ ราชวรรค
มฆเทวสูตร เรื่องพระเจ้ามฆเทวะ

               อรรถกถามฆเทวัมพสูตร๑-               
๑- บาสี มฆเทวสุตฺตํ

               มฆเทวัมพสูตรมีคำเริ่มต้นว่า ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้ :-
               ในบรรดาบทเหล่านั้น บทว่า มฆเทวมฺพวเน ความว่า แต่ปางก่อน พระราชาพระนามว่ามฆเทพ ตรัสสั่งให้ปลูกสวนมะม่วงแห่งนั้นไว้. เมื่อต้นไม้เหล่านั้นหักรานสิ้นไปแล้ว ต่อมาพระราชาทั้งหลายองค์อื่นๆ ก็ได้รับสั่งให้ปลูกไว้อีก. ก็สวนนั้นถึงการนับว่า มฆเทวัมพวัน เพราะการร้องเรียกกันมาแต่เดิม.
               บทว่า สิตํ ปาตฺวากาสิ ความว่า ในเวลาเย็น พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จจาริกไปในวิหาร ทรงเห็นภูมิภาคอันน่ารื่นรมย์ใจ จึงทรงรำพึงอยู่ว่า เราเคยอยู่ในที่นี้มาหรือไม่หนอ จึงทรงเห็นว่า เมื่อก่อนเราเป็นพระราชานามว่ามฆเทพ ได้ปลูกสวนมะม่วงนี้ไว้. เราบวชในที่นี้แหละ เจริญพรหมวิหาร ๔ ไปบังเกิดในพรหมโลก ก็เหตุนี้นั่นแลยังไม่ปรากฏแก่ภิกษุสงฆ์ เราจักกระทำให้ปรากฏ เมื่อจะทรงแสดงไรพระทนต์อันเลิศ ได้ทรงกระทำการแย้มพระโอษฐ์ให้ปรากฏแล้ว.
               ชื่อว่าธัมมิก ผู้มีธรรม เพราะอรรถว่าทรงมีธรรม. ชื่อว่าพระธรรมราชา เพราะอรรถว่าทรงเป็นพระราชาโดยธรรม.
               คำว่า ทรงตั้งอยู่ในธรรม คือ ทรงดำรงอยู่ในธรรม คือกุศลกรรมบถ ๑๐ ประการ.
               คำว่า ทรงประพฤติธรรม คือ ทรงประพฤติราชธรรม.
               ในบทเหล่านั้น บทว่า พฺราหฺมณคหปติเกสุ ความว่า พระองค์ทรงเป็นที่รักทรงรักษาระเบียบประเพณีที่พระราชาองค์ก่อนๆ ให้แล้วแก่พวกพราหมณ์ ไม่ทรงยังกิจนั้นให้เสื่อมหายไป ทรงกระทำโดยปรกตินิยมตลอดมา. พวกคหบดีทั้งหลายก็ทรงปฏิบัติเช่นกัน.
               คำที่ท่านกล่าวหมายถึงเรื่องนี้.
               ด้วยบทว่า ปกฺขสฺส ท่านรวมแม้ปาฏิหาริกปักษ์เข้าด้วย.
               คือ บัณฑิตพึงทราบว่า วันเหล่านี้ชื่อว่า ปาฏิหาริกปักษ์ คือวัน ๗ ค่ำ วัน ๙ ค่ำ ด้วยอำนาจแห่งวันรับวันส่งแห่งวันอุโบสถในดิถี ๘ ค่ำ วัน ๑๓ ค่ำและวันปาฏิบทด้วยสามารถแห่งวันรับวันส่ง แห่งวันอุโบสถที่ ๑๔ ค่ำ ที่ ๑๕ ค่ำ. พระองค์ทรงเข้าอยู่ประจำอุโบสถในวันเหล่านั้นทุกวัน.
               บทว่า เทวทูตา ความว่า มัจจุ ความตาย ชื่อว่าเทวะ ชื่อว่าเทวทูต เพราะอรรถว่าเป็นทูตของความตายนั้น.
               คือ บุคคลเมื่อผมหงอกปรากฏแล้ว ก็เหมือนยืนอยู่ในสำนักของพระยามัจจุราช. เพราะฉะนั้น ผมที่หงอกแล้ว ท่านจึงกล่าวว่า เป็นทูตของมัจจุเทวะ. ชื่อว่าเทวทูต เพราะอรรถว่าทูตเหมือนเทวดาทั้งหลายก็มี. อุปมาเหมือนเมื่อเทวดาผู้ประดับแล้ว ตกแต่งแล้ว มายืนอยู่ในอากาศ ร้องบอกว่า ในวันโน้นท่านจักตาย ดังนี้ เทวทูตนั้นก็เป็นเช่นนั้น เมื่อผมหงอกแล้ว ปรากฏแล้ว ก็เป็นเหมือนกับเทวดาพยากรณ์ให้ฉันนั้นเหมือนกัน. เพราะฉะนั้น ผมที่หงอกแล้ว ท่านจึงเรียกว่าทูต เป็นเช่นเดียวกับเทวะ ดังนี้.
               ชื่อว่าเทวทูต เพราะอรรถว่าเป็นทูตแห่งวิสุทธิเทพก็ได้.
               แท้จริง พระโพธิสัตว์ทุกๆ พระองค์ทรงเห็นคนแก่ คนเจ็บ คนตายและบรรพชิตก่อน ทรงสังเวชจึงออกบวช.
               เหมือนอย่างที่ตรัสไว้ว่า
                         ขอถวายพระพร เราเห็นคนแก่ คนมีทุกข์ คนเจ็บ
                         และเห็นคนตาย สิ้นอายุขัย และเห็นนักบวชผู้นุ่ง
                         ห่มผ้ากาสายะ เหตุนั้น เราจึงออกบวช ดังนี้.
               โดยปริยายนี้ ผมที่หงอกแล้ว ท่านจึงเรียกว่า เทวทูต เพราะเป็นทูตแห่งวิสุทธิเทพ.
               บทว่า กปฺปกสฺส คามวรํ ทตฺวา ทรงพระราชทานบ้านส่วยแก่ช่างกัลบก. ความว่า ทรงพระราชทานบ้านที่เจริญที่สุด มีส่วยเกิดขึ้นถึงแสนหนึ่ง.
               ทรงพระราชทาน เพราะเหตุไร. เพราะทรงสลดพระทัย.
               จริงอยู่ พระองค์ทรงเกิดความสลดพระทัย เพราะทรงเห็นผมหงอกที่อยู่ที่นิ้วพระหัตถ์ จะทรงมีพระชนม์อีกถึง ๘๔,๐๐๐ ปี. แม้เมื่อเป็นอย่างนั้นก็ทรงสำคัญพระองค์เหมือนยืนอยู่ในสำนักของพระยามัจจุราชจึงทรงสลดพระทัย ทรงพอพระทัยในบรรพชา.
               เพราะฉะนั้น ท่านจึงกล่าวว่า
                         พระเจ้ามฆเทพผู้เป็นอธิบดีในทิศ ผู้ปราชญ์ทรงเห็น
                         ผมหงอกบนพระเศียร ทรงสลดพระทัย ทรงยินดีใน
                         บรรพชาแล้ว.
               ยังกล่าวไว้ต่อไปอีกว่า
                         ผมหงอกงอกขึ้นบนเศียรของเรา ก็นำเอาความหนุ่ม
                         ไปเสีย เทวทูตปรากฏแล้วเป็นสมัยที่เราควรออกบวช.
               บทว่า ปุริสยุเค เมื่อยุคบุรุษเป็นไปอยู่ คือเมื่อยุคบุรุษที่สมภพในวงศ์.
               คำว่า เกสมสฺสุํ โอหาเรตฺวา ทรงปลงพระเกศาและพระมัสสุ. ความว่า ก็แม้เมื่อจะบวชเป็นดาบสก็ทรงปลงพระเกศาและพระมัสสุบวช. ต่อแต่นั้นก็ทรงพันพระเกศาที่ยาวขึ้นมาไว้ ทรงชฎา เที่ยวไป. แม้พระโพธิสัตว์ก็ทรงบวชเป็นดาบส. ก็ครั้นบวชแล้วก็ทรงไม่ประกอบเนืองๆ ซึ่งอเนสนา ยังอัตตภาพให้เป็นไปด้วยภิกษาที่นำมาจากพระราชวัง ทรงเจริญพรหมวิหารธรรม. เพราะฉะนั้น ท่านจึงได้กล่าวว่า พระองค์ทรงมีพระทัยประกอบด้วยเมตตา ดังนี้เป็นต้น.
               บทว่า กุมารกีฬิกํ กีฬิ๒- พระราชโอรส... ทรงเล่นอย่างพระกุมาร. ความว่า อันพระพี่เลี้ยงจับอุ้มอยู่ด้วยสะเอว ทรงเล่นอยู่แล้ว. ก็พระพี่เลี้ยงทั้งหลายยกพระกุมารนั้นประดุจกำแห่งดอกไม้เที่ยวไปอยู่.
____________________________
๒- ฉ. กุมารกิฬิตํ กีฬิ

               บทว่า รญฺโญ มฆเทวสฺส ปุตฺโต ฯเปฯ ปพฺพชิ พระราชโอรสของพระเจ้ามฆเทพเสด็จออกทรงผนวช. ความว่า ในวันที่พระราชโอรสนี้ทรงผนวชได้เกิดมงคลถึง ๕ ประการ คือทำมตกภัตรถวายพระเจ้ามฆเทวะ ๑ มงคลคือพระโอรสของพระเจ้ามฆเทวะออกบวช ๑ มงคลคือพระราชบุตรของพระราชายกเศวตฉัตรขึ้นครองราชย์ ๑ มงคลคือพระราชบุตรของพระราชาที่ยกเศวตฉัตรขึ้นครองราชย์ เป็นอุปราชย์ ๑ มงคลคือขนานพระนามพระราชโอรสของพระราชา ผู้ยกเศวตฉัตร ๑.
               ประชาชนได้กระทำมงคล ๕ ประการรวมในคราวเดียวกัน. ในพื้นชมพูทวีปได้ยกไถขึ้น คือไม่ต้องทำไร่ไถนา บ้านเมืองอุดมสมบูรณ์.
               บทว่า ปุตฺตปปุตฺตกา ความว่า ความสืบต่อกันมาของพระราชบุตรของพระเจ้ามฆเทวะนั้นเป็นไปแล้วอย่างนี้ คือ พระราชบุตรและพระเจ้าหลานต่อๆ กันไป.
               บทว่า ปจฺฉิมโก อโหสิ (พระเจ้านิมิเป็นองค์สุดท้าย) ความว่า กษัตริย์องค์สุดท้ายที่ได้ทรงบรรพชาแล้ว.
               ได้ยินว่า พระโพธิสัตว์ทรงบังเกิดในพรหมโลกแล้วทรงรำพึงอยู่ว่า "กัลยาณวัตรที่เราตั้งไว้ในมนุษย์โลกนั้นยังเป็นไปหรือหนอ" ดังนี้ ก็ทรงเห็นว่า ยังเป็นไปตลอดกาลนานมีประมาณเท่านี้ แต่บัดนี้จักไม่เป็นไปแล้ว พระองค์ทรงดำริว่า "ก็เราจักมิให้เชื้อสายของเราขาดตอนเสีย" ดังนี้ จึงทรงถือปฏิสนธิในพระครรภ์ของพระอัครมเหสีแห่งพระราชาที่เกิดในวงศ์ของตน มาทรงบังเกิดเหมือนสืบต่อกุ่มแห่งวงศ์ของตน. ด้วยเหตุนั้นแหละ พระราชกุมารนั้นจึงทรงมีพระนามว่านิมิ.
               ด้วยประการฉะนี้ พระราชานั้นจึงเป็นพระราชาองค์สุดท้ายทั้งหมดของพระราชาที่ออกบวชแล้ว ผู้ที่ออกบวชคนสุดท้ายจึงมีโดยประการฉะนี้.
               อนึ่ง เมื่อว่าโดยคุณก็มีคุณอย่างมากมาย. แต่คุณที่ยิ่งใหญ่กว่าพระราชาทุกพระองค์ของพระเจ้านิมิราชนั้น มีคุณอยู่ ๒ ประการ คือ พระองค์ทรงสละทรัพย์ในประตูทั้ง ๔ ประตูละหนึ่งแสนทุกวัน และทรงห้ามผู้มิได้รักษาอุโบสถเข้าเฝ้า. คือ เมื่อผู้ที่มิได้รักษาอุโบสถตั้งใจว่าจะเข้าเฝ้าพระราชาจึงไปแล้ว นายประตูจะถามว่า "ท่านรักษาอุโบสถหรือมิได้รักษา". ผู้ใดมิได้รักษาอุโบสถก็จะห้ามผู้นั้นเสียว่า พระราชาไม่ทรงให้ผู้ที่มิได้รักษาอุโบสถเข้าเฝ้า. ในคนเหล่านั้นไม่มีโอกาสที่จะพูดว่า พวกข้าพเจ้าทั้งหลายเป็นชาวชนบทจักได้โภชนะในกาลที่ไหน ดังนี้บ้าง.
               จริงอยู่ เจ้าพนักงานจะตกแต่งเตรียมโอ่งภัตรไว้หลายพันที่ประตูทั้ง ๔ และที่พระลานหลวง. เพราะฉะนั้น มหาชนจะโกนหนวดอาบน้ำ ผลัดเปลี่ยนผ้าบริโภคโภชนะได้ตามชอบใจ ในที่ที่ปรารถนาแล้วๆ อธิษฐานองค์อุโบสถไปยังประตูพระราชวังได้.
               เมื่อนายประตูถามแล้วๆ ว่า "ท่านรักษาอุโบสถหรือ" ก็ตอบว่า "จ๊ะ รักษา" ด้วยเหตุนั้นแล นายประตูจึงจะพูดว่า "มาได้" แล้วนำเข้าไปยังประตูพระราชวัง.
               พระเจ้านิมิราชทรงมีพระคุณที่ยิ่งใหญ่กว่าด้วยคุณ ๒ ประการเหล่านี้ ด้วยประการดังกล่าวมานี้.
               บทว่า เทวานํ ตาวตึสานํ ความว่า พวกเทวดาที่บังเกิดในภพชั้นดาวดึงส์.
               ได้ยินว่า เทวดาเหล่านั้นตั้งอยู่ในโอวาทของพระราชาผู้เสวยราช ณ พระนครมิถิลา ในวิเทหรัฐ รักษาเบญจศีล กระทำอุโบสถกรรม จึงไปบังเกิดในชั้นนั้น จึงกล่าวสรรเสริญคุณของพระราชา.
               คำว่า พวกเทวดาชั้นดาวดึงส์ ท่านกล่าวหมายเอาเทวดาเหล่านั้น.
               บทว่า นิสินฺโน โหติ ความว่า พระราชาเสด็จขึ้นยังปราสาทอันประเสริฐชั้นบน ประทับนั่งตรวจดูทานและศีลอยู่.
               ได้ยินว่า ได้ทรงมีพระดำริอย่างนี้ว่า ทานใหญ่กว่าศีล หรือศีลใหญ่กว่าทาน ถ้าทานใหญ่กว่า เราก็จะท่วมทับให้แต่ทานอย่างเดียว ถ้าหากศีลใหญ่กว่า ก็จักบำเพ็ญแต่ศีลอย่างเดียว. เมื่อพระองค์ไม่อาจตกลงพระทัยได้ว่า อันนี้ใหญ่ สิ่งนี้ใหญ่. ท้าวสักกะจึงเสด็จมาปรากฏเฉพาะพระพักตร์.
               ด้วยเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวไว้ว่า อถ โข อานนท์ ฯเปฯ สมฺมุเข ปาตุรโหสิ.
               ได้ยินว่า พระองค์ทรงดำริอย่างนี้ว่า พระราชาเกิดความสงสัยขึ้นเพื่อจะตัดความสงสัยของพระองค์ ข้าพระองค์จะตอบปัญหาและจะถือเอาปฏิญญาเพื่อเสด็จมาในที่นี้ เพราะฉะนั้น จึงมาปรากฏเฉพาะพระพักตร์. พระราชาทรงเห็นรูปที่ไม่เคยเห็นก็ทรงเกิดความกลัว พระโลมาชูชัน.
               ทีนั้น ท้าวสักกะตรัสกะพระราชานั้นว่า "อย่าทรงกลัวไปเลย มหาราช ถามมาเถอะ จะวิสัชชนาถวาย จักบรรเทาความสงสัยของพระองค์ให้" ดังนี้.
               พระราชาตรัสถามปัญหาว่า
                         ข้าแต่มหาราชผู้เป็นใหญ่กว่าสรรพสัตว์ ข้าพระองค์
                         ขอถามพระองค์ ทาน ๑ พรหมจรรย์ ๑ (ศีล) ข้อไหน
                         จะมีผลมากกว่ากัน.๓-
____________________________
๓- ขุ. ชา. เล่ม ๒๘/ข้อ ๕๒๖

               ท้าวสักกะตรัสว่า "ชื่อว่า ทานจะใหญ่อย่างไร ศีลเท่านั้นใหญ่ เพราะเป็นคุณอันประเสริฐที่สุด ข้าแต่มหาราช แม้ข้าพระองค์ได้ให้ทานแก่ชฏิลถึงหมื่นคนอยู่หมื่นปี แต่ปางก่อนยังไม่พ้นจากเปตวิสัย แต่ท่านผู้มีศีลบริโภคทานของข้าพเจ้าได้ไปบังเกิดในพรหมโลก" ดังนี้.
               แล้วตรัสคาถา ดังต่อไปนี้ว่า
                         บุคคลจะเข้าถึงความเป็นกษัตริย์ด้วยพรหมจรรย์อย่างต่ำ
                         และจะเข้าถึงความเป็นเทพด้วยพรหมจรรย์อย่างกลาง
                         จักบริสุทธิ์ได้ ด้วยพรหมจรรย์อย่างสูง เพราะผู้ไม่มีเรือน
                         บำเพ็ญตบะทั้งหลายย่อมเข้าถึงกายเหล่าใด กายเหล่านั้น
                         อันใครๆ ผู้บำเพ็ญเพียร ด้วยการอ้อนวอนได้โดยง่ายไม่ได้.
               ท้าวสักกะทรงบรรเทาความสงสัยของพระราชาอย่างนี้แล้ว เพื่อจะให้ถือเอาปฏิญญาในการเสด็จไปยังเทวโลก จึงตรัสว่า ลาภา วต มหาราช ดังนี้เป็นต้น.
               ในบทเหล่านั้น บทว่า อวิกมฺปมาโน ความว่า ไม่ทรงเกรงกลัว.
               บทว่า อธิวาเสสิ ความว่า พระราชาทรงรับเชิญแล้วด้วยพระดำรัสว่า ข้าพระองค์ชักชวนมหาชนให้บำเพ็ญกุศล อันข้าพระองค์ได้มาเห็นที่เป็นที่อยู่ของท่านผู้มีบุญทั้งหลายแล้ว ย่อมอาจเพื่อบอกกล่าวได้สะดวกในถิ่นแห่งมนุษย์ ดังนี้.
               บทว่า เอวํ ภทฺทนฺตวา ความว่า มาตลีเทพบุตรทูลว่า พระดำรัสของพระองค์เจริญจงเป็นอย่างนั้น.
               บทว่า โยเชตฺวา ความว่า เทียมรถม้าอาชาไนยพันหนึ่งในยุคหนึ่งนั่นเทียว.
               แต่กิจที่พึงประกอบเฉพาะส่วนหนึ่งของรถเหล่านั้นมิได้มี ย่อมอาศัยใจประกอบแล้วนั่นเทียว. ก็ทิพยรถนั้นใหญ่ยาวถึง ๒๕๐ โยชน์. จากสายเชือกถึงงอนรถ ๕๐ โยชน์. ที่เนื่องกับเพลา ๕๐ โยชน์. ส่วนข้างหลังจำเดิมแต่ที่เนื่องกับเพลา ๕๐ โยชน์ ทั้งคันล้วนแต่ประกอบด้วยรัตนะมีวรรณะเจ็ด. สูงเทียมเทวโลก ต่ำเท่ามนุษยโลก เพราะฉะนั้น ไม่พึงกำหนดว่า ส่งรถให้บ่ายหน้าไปภายใต้.
               เหมือนอย่างว่า ส่งไปสู่ทางเดินตามปรกติฉันใด พอพวกมนุษย์รับประทานข้าวในเวลาเย็นอิ่มเสร็จแล้ว ส่งไปทำให้เป็นคู่กับพระจันทร์ฉันนั้นทีเดียว. ได้เป็นเหมือนพระจันทร์ตั้งขึ้นเป็นคู่กันฉะนั้น.
               มหาชนเห็นแล้วต่างพูดกันว่า พระจันทร์ขึ้นเป็นคู่กัน. เมื่อใกล้เข้ามา ใกล้เข้ามาจึงรู้กันว่าไม่ใช่พระจันทร์เป็นคู่กัน เป็นวิมานวิมานหนึ่ง ไม่ใช่วิมานอันหนึ่ง แต่เป็นรถคันหนึ่ง. แม้รถพอใกล้เข้ามาแล้วๆ ก็เป็นรถตามธรรมดานั่นเอง แม้ม้าก็มีประมาณเท่ากับม้าตามธรรมดานั้นแหละ. ครั้นนำรถมาด้วยอาการอย่างนี้แล้ว กระทำประทักษิณปราสาทของพระราชา แล้วกลับรถ ณ สีหบัญชรด้านปราจีน กระทำให้บ่ายหน้าไปทางด้านที่มา จอดรถที่สีหบัญชรเตรียมเสด็จขึ้นว่า ข้าแต่มหาราช ขอพระองค์เสด็จขึ้นประทับเถิด.
               พระราชาทรงดำริว่า ทิพยยานเราได้แล้ว จึงยังไม่เสด็จขึ้นทันทีทันใด แต่ทรงประทานโอวาทแก่ชาวพระนครว่า จงดูเถิด พ่อเจ้าแม่เจ้าทั้งหลาย ข้อที่ท้าวสักกะเทวราชทรงส่งรถมารับเรานั้น พระองค์มิได้ส่งมาเพราะอาศัยชาติและโคตร หรือตระกูลและประเทศ แต่เพราะทรงเลื่อมใสในคุณคือศีลาจารวัตรของเราจึงส่งมา ถ้าหากว่าพวกท่านทั้งหลายจะรักษาศีล ก็คงจะส่งมาแก่ท่านทั้งหลาย ชื่อว่าศีลนี้สมควรแล้วเพื่อรักษา เรามิได้ไปเที่ยวยังเทวโลก ขอท่านทั้งหลายเป็นผู้ไม่ประมาทเถิด. ทรงสอนมหาชนให้ตั้งอยู่ในศีลห้าแล้ว จึงเสด็จขึ้นรถ.
               แต่นั้นมาตลีสารถีแสดงทางเป็น ๒ ทางในอากาศคิดว่า แม้เราก็จักกระทำความที่สมควรแก่มหาราช จึงกล่าวคำมีอาทิว่า อปิจ มหาราช ดังนี้.
               ในบทเหล่านั้น บทว่า กตเมน ความว่า ข้าแต่มหาราช ในบรรดาทางเหล่านี้ ทางหนึ่งไปนรก ทางหนึ่งไปสวรรค์ ข้าพระเจ้าจะนำพระองค์ไปทางไหนในทางเหล่านั้น.
               บทว่า เยน ความว่า ไปแล้วโดยทางใด สัตว์ทั้งหลายทำกรรมอันลามก ย่อมเสวยผลแห่งกรรมอันลามกในที่ใด ข้าพเจ้าย่อมอาจเพื่อเห็นที่อันนั้น.
               แม้ในบทที่ ๒ ก็มีนัยดังนี้.
               แม้ความแห่งคาถาในชาดกว่า
                         ข้าแต่พระราชาผู้ประเสริฐ ผู้เป็นใหญ่ยิ่งทุกทิศ
                         ข้าพเจ้าจะนำพระองค์ไปทางไหน สัตว์ผู้ทำกรรม
                         ชั่วไปทางหนึ่ง สัตว์ผู้ทำกรรมดีไปทางหนึ่งดังนี้.
               เพราะเหตุนั้น พระเจ้านิมิราชจึงตรัสว่า
                         เราจักเห็นนรก อันเป็นที่อยู่แห่งผู้ทำกรรมชั่ว
                         ก่อน ซึ่งเป็นสถานที่ของผู้มีกรรมชั่ว และเป็น
                         ทางไปของคนทุศีล.
               บทว่า อุภเยเนว มํ ความว่า ดูก่อนมาตลี ท่านจงนำเราไปโดยทางทั้งสอง เราใคร่จะเห็นนรก แม้เทวโลกก็อยากเห็น. ข้าพเจ้าจะนำพระองค์ไปทางไหนก่อน. จงนำไปโดยทางนรกก่อน.
               ลำดับนั้น มาตลีจึงแสดงมหานรก ๑๕ ขุมแก่พระราชาด้วยอานุภาพของตน.
               ในข้อนี้มีถ้อยคำกล่าวโดยพิสดาร พึงทราบตามนัยที่กล่าวไว้ในชาดกว่า
                         มาตลีเทพบุตรแสดงเวตรณีนทีนรกที่ข้ามได้แสนยาก
                         เดือดพล่านประกอบด้วยน้ำกรด ร้อนแล้วเปรียบดัง
                         เปลวไฟ แก่พระราชา.
               มาตลีสารถี ครั้นแสดงนรกแล้วก็กลับรถบ่ายหน้าไปยังเทวโลก เมื่อแสดงวิมานทั้งหลายของนางเทพธิดานามว่าภรณี และของคณะเทพบุตรมีเทพบุตรนามว่าโสณทินนะเป็นหัวหน้า จึงนำไปยังเทวโลก.
               แม้ในข้อนั้นก็พึงทราบถ้อยคำอย่างพิสดาร โดยนัยที่กล่าวไว้ในชาดกนั่นแหละว่า
                         ก็นางเทพธิดาที่พระองค์หมายถึงนั้น ชื่อภรณี
                         เมื่อมีชีวิตอยู่ในโลก (มนุษย์) เป็นทาสีเกิดแต่
                         ทาสี ในเรือนของพราหมณ์ผู้หนึ่ง นางรู้แจ้งซึ่ง
                         แขก มีกาลอันถึงแล้ว (ให้นั่งในอาสนะ อังคาส
                         ด้วยสลากภัตร ที่ถึงแก่ตนโดยเคารพ ยินดีต่อ
                         ภิกษุนั้นเป็นนิจ) ดุจมารดายินดีต่อบุตรผู้จาก
                         ไปนาน มาถึงในครั้งเดียวฉะนั้น เป็นผู้สำรวม
                         (มีศีล) เป็นผู้จำแนกทาน (มีจาคะ) จึงมาบังเกิด
                         รื่นเริงอยู่ในวิมาน.
               ก็เมื่อพระโพธิสัตว์เสด็จไปอย่างนี้ พอกงรถกระทบพื้นธรณีซุ้มประตูจิตกูฏ เทพนครก็มีความโกลาหล. หมู่เทพพากันละทิ้งท้าวสักกเทวราชไว้แต่พระองค์เดียว ไปทำการต้อนรับพระมหาสัตว์. ท้าวสักกะทรงเห็นพระมหาสัตว์นั้นมาถึงเทวดาทั้งหลายแล้ว เมื่อไม่ทรงอาจธำรงพระทัยได้ จึงตรัสว่า ดูก่อนมหาราช ขอพระองค์จงทรงอภิรมย์ในเทวโลกทั้งหลาย ด้วยเทวานุภาพเถิด.
               ได้ยินว่า ท้าวสักกะนั้นทรงมีพระดำริอย่างนี้ว่า พระราชานี้เสด็จมาในวันนี้แล้ว ทรงทำหมู่เทพให้อยู่พร้อมหน้าตน เพียงวันเดียวเท่านั้น ถ้าจักประทับอยู่สิ้นหนึ่งวันสองวัน พวกเทพก็จะไม่ดูแลเรา ดังนี้.
               ท้าวสักกะนั้นทรงริษยาจึงตรัสอย่างนั้นด้วยพระประสงค์นี้ว่า ดูก่อนมหาราช การที่พระองค์ประทับอยู่ในเทวโลกนี้จะไม่มีบุญ ขอพระองค์จงประทับอยู่ด้วยบุญของพวกอื่นเถิด.
               พระโพธิสัตว์เมื่อทรงปฏิเสธว่า ท้าวสักกะแก่ไม่อาจแล้ว เพื่อดำรงพระทัยได้ เพราะอาศัยผู้อื่น แต่เป็นเหมือนภัณฑะที่ได้มา เพราะขอเขาได้มาฉะนั้น จึงตรัสว่า พอละท่านผู้นิรทุกข์ ดังนี้ เป็นต้น.
               แม้ในชาดกท่านก็กล่าวไว้ว่า
                         สิ่งอันใดได้มา เพราะผู้อื่นให้ สิ่งนั้นมีอุปมา
                         เปรียบเทียบเหมือนอย่างยานที่ขอยืมเขามา
                         หรือทรัพย์ที่ยืมเขามา หม่อมฉันไม่ปรารถนา
                         สิ่งที่ผู้อื่นให้.๔-
____________________________
๔- ขุ. ชา. เล่ม ๒๘/ข้อ ๕๙๗

               ควรกล่าวทุกเรื่อง.
               ถามว่า ก็พระโพธิสัตว์เสด็จไปยังเทวโลกด้วยอัตตภาพมนุษย์กี่ครั้ง.
               ตอบว่า สี่ครั้ง คือ เมื่อเสวยพระชาติเป็นพระเจ้ามันธาตุราชครั้งหนึ่ง เมื่อเสวยพระชาติเป็นพระเจ้าสาธินครั้งหนึ่ง เมื่อเสวยพระชาติเป็นคุตติลวีณวาทกพราหมณ์ครั้งหนึ่ง เมื่อเสวยพระชาติเป็นพระเจ้านิมิครั้งหนึ่ง.
               เมื่อครั้งเป็นพระเจ้ามันธาตุ พระองค์ประทับอยู่ในเทวโลกสิ้นเวลาอสงไขยหนึ่ง. ก็เมื่อพระองค์ประทับอยู่ในเทวโลกนั้น ท้าวสักกะเคลื่อนไปถึง ๓๖ พระองค์. เมื่อครั้งเป็นพระเจ้าสาธินราชประทับอยู่สัปดาห์หนึ่ง ด้วยการนับอย่างมนุษย์ก็เป็น ๗๐๐ ปี. เมื่อครั้งเป็นคุตติลวีณวาทกะ และครั้งเป็นพระเจ้านิมิราช ประทับอยู่เพียงครู่เดียว ด้วยการนับอย่างมนุษย์เป็น ๗ วัน.
               คำว่า ตตฺเถว มิถิลํ ปฏิเนสิ ความว่า มาตลีสารถีได้นำกลับมาประดิษฐานไว้ ณ พระที่อันมีศิริตามเดิมนั่นเทียว (ห้องประทับ).
               คำว่า กฬารชนกะ เป็นพระนามของพระราชบุตรนั้น.
               อนึ่ง ชนทั้งหลายกล่าวว่ากฬารชนกะ เพราะมีจุดดำแดงเกิดขึ้น.
               คำว่า พระราชกุมารนั้นมิได้เสด็จออกจากพระราชนิเวศน์ ทรงผนวช ความว่า พระองค์ได้ตรัสคำมีประมาณเพียงเท่านี้.
               คำที่เหลือทั้งหมดได้ปรากฏตามเดิมนั้นเทียว.
               ในคำว่า สมุทฺเฉโท โหติ นี้พึงทราบวิภาคดังนี้
               ใครตัดกัลยาณวัตร ขาดสูญไปเพราะอะไร ใครให้เป็นไป ย่อมชื่อว่าอันใครให้เป็นไปแล้ว.
               ในข้อนั้น ภิกษุผู้มีศีลเมื่อไม่กระทำความเพียรด้วยคิดว่า เราไม่อาจได้พระอรหัต ชื่อว่าย่อมตัด. กัลยาณวัตรย่อมชื่อว่าอันผู้ทุศีลตัดแล้ว. พระเสกขบุคคลทั้ง ๗ ย่อมให้เป็นไป. ย่อมชื่อว่าอันพระขีณาสพให้เป็นไปแล้ว.
               คำที่เหลือในที่ทุกแห่งตื้นทั้งนั้นแล.

               จบอรรถกถามฆเทวัมพสูตรที่ ๓               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ ราชวรรค มฆเทวสูตร เรื่องพระเจ้ามฆเทวะ จบ.
อ่านอรรถกถา 13 / 1อ่านอรรถกถา 13 / 423อรรถกถา เล่มที่ 13 ข้อ 452อ่านอรรถกถา 13 / 464อ่านอรรถกถา 13 / 734
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=13&A=7249&Z=7473
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=9&A=5653
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=9&A=5653
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๑๗  กันยายน  พ.ศ.  ๒๕๔๙
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :