ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 13 / 1อ่านอรรถกถา 13 / 356อรรถกถา เล่มที่ 13 ข้อ 367อ่านอรรถกถา 13 / 389อ่านอรรถกถา 13 / 734
อรรถกถา มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ ปริพพาชกวรรค
จูฬสกุลุทายิสูตร เรื่องสกุลุทายีปริพาชก

               ๙. อรรถกถาจูฬสกุลุทายิสูตร               
               จูฬสกุลุทายิสูตร มีบทเริ่มต้นว่า เอวมฺเม สุตํ ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้.
               ในบรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ยทา ปน ภนฺเต ภควา คือ ปริพาชกประสงค์จะฟังธรรมกถานี้ เมื่อจะแสดงความมีอาลัยในพระธรรมเทศนา จึงกล่าวแล้ว.
               บทว่า ตํเยเวตฺถ ปฏิภาตุ ปัญหาจงปรากฏแก่ท่าน. ความว่า หากท่านประสงค์จะฟังธรรม ปัญหาข้อหนึ่ง เหตุอย่างหนึ่ง จงปรากฏแก่ท่าน.
               บทว่า ยถา มํ ปฏิภาเสยฺย คือ เป็นเหตุที่จะให้ธรรมเทศนาปรากฏแก่เรา. ท่านแสดงว่า เมื่อกถาตั้งขึ้นด้วยเหตุนั้น เพื่อจะฟังธรรมได้สบาย.
               บทว่า ตสฺส มยฺหํ ภนฺเต ข้าพระองค์เกิดสติปรารภพระผู้มีพระภาคเจ้า.
               ความว่า นัยว่า สกุลุทายิปริพาชกนั้นเห็นพระผู้มีพระภาคเจ้านั้น คิดว่า หากพระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ ที่นี้ ความแห่งภาษิตนี้จักปรากฏ จึงระลึกถึงพระทศพลว่า พระทศพลจักทรงทำเนื้อความให้ปรากฏ ดุจให้ประทีปพันดวงช่วงโชติฉะนั้น. เพราะฉะนั้น สกุลุทายิปริพาชกจึงได้กล่าวคำมีอาทิว่า ตสฺส มยฺหํ ภนฺเต ดังนี้.
               ในบทเหล่านั้นบทว่า อโห นูน ทั้งสองบทเป็นนิบาตลงในความว่า เป็นที่ระลึกถึง. ด้วยเหตุนั้น เมื่อสกุลุทายิปริพาชกระลึกถึงพระผู้มีพระภาคเจ้าจึงได้มีความระลึกถึงว่า อโห นูน ภควา อโห นูน สุคโต โอ ผู้ฉลาดในธรรมเหล่านี้ต้องเป็นพระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นแน่ ต้องเป็นพระสุคตเป็นแน่.
               บทว่า โย อิเมสํ ความว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์ใดเป็นผู้ฉลาดดี ฉลาดด้วยดี ชำนาญ เฉียบแหลมในธรรมเหล่านี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้นพึงทรงกล่าวเป็นแน่ พระสุคตพระองค์นั้นพึงทรงกล่าวเป็นแน่. เพราะกิเลสเครื่องถึงภพใหญ่น้อยอย่างเดียวแสนโกฏิไม่น้อย ปรากฏแก่ปุพเพนิวาสญาณของพระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น. นี้เป็นอธิบายในบทนี้ด้วยประการฉะนี้.
               บทว่า ตสฺส วาหํ ปุพฺพนฺตํ อารพฺภ หรือเราพึงปรารภส่วนอดีต.
               ความว่า จริงอยู่ ผู้ใดเป็นผู้มีลาภ ผู้นั้นเมื่อเขากล่าวว่า เมื่อก่อนท่านได้เป็นกษัตริย์ ได้เป็นพราหมณ์ เมื่อรู้อยู่จักฟังโดยเคารพ. ส่วนผู้ไม่มีลาภจักเป็นอย่างนี้ จักเป็นอย่างนี้ ดังนี้บ้าง เขาย่อมแสดงเพียงกรรมเท่านั้น. เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสอย่างนี้ว่า เราจะพึงยังจิตของผู้นั้นให้ยินดีได้ด้วยการพยากรณ์ปัญหาปรารภขันธ์ส่วนอดีต ดังนี้.
               บทว่า โส วา มํ อปรนฺตํ ผู้นั้นพึงถามปัญหาปรารภขันธ์ส่วนอนาคตกะเรา คือ เพราะอนาคตังสญาณย่อมสำเร็จแก่ผู้ได้ทิพยจักษุ. เพราะฉะนั้น พระองค์จึงตรัสอย่างนี้.
               บทนอกนี้มีนัยดังได้กล่าวแล้วในตอนก่อน.
               บทว่า ธมฺมํ โว เทสิสฺสามิ เราจักแสดงธรรมแก่เธอทั้งหลาย.
               ความว่า ได้ยินว่า สกุลุทายิปริพาชกนี้ แม้เมื่อแสดงถึงขันธ์ในอดีตก็จักไม่รู้ แม้เมื่อแสดงถึงขันธ์ในอนาคตก็จักไม่รู้. เมื่อเป็นดังนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้ามีพระประสงค์จะทรงแสดงถึงปัจจยาการอันละเอียดอ่อน จึงตรัสอย่างนั้น.
               ก็สกุลุทายีนั้นจักรู้ขันธ์นั้นได้หรือ จักยังไม่รู้ขันธ์นั้นในทันทีทันใด แต่จักเป็นปัจจัยแห่งวาสนาของเขาในอนาคต. พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเห็นดังนี้จึงตรัสอย่างนั้น.
               บทว่า ปํสุปีสาจกํ ปีศาจฝุ่น คือปีศาจที่เกิดในที่ไม่สะอาด. ด้วยว่า ปีศาจนั้นถือเอารากไม้รากหนึ่งแล้วไม่ปรากฏกาย.
               มีเรื่องเล่าว่า
               ยักษิณีตนหนึ่งให้ทารก ๒ คนนั่งที่ประตูถูปารามแล้วเข้าไปในเมืองเพื่อแสวงหาอาหาร. พวกเด็กเห็นพระเถระกำลังออกบิณฑบาตรูปหนึ่ง จึงกล่าวว่า พระคุณเจ้าขอรับ มารดาของพวกเราเข้าไปภายในพระนคร พระคุณเจ้าเห็นช่วยบอกแก่มารดานั้น เจ้าได้สิ่งใดจงถือเอาสิ่งที่ได้แล้วรีบกลับไปเสีย. พวกเด็กเหล่านั้นไม่อาจจะรออยู่ได้ เพราะความหิว.
               พระเถระถามว่า เราจะเห็นมารดาของเจ้านั้นได้อย่างไรเล่า. พวกเด็กจึงกล่าวว่า พระคุณเจ้าจงถือเอารากไม้นี้เถิด แล้วได้ถวายรากไม้ชิ้นหนึ่ง. ยักษ์หลายพันได้ปรากฏแก่พระเถระ พระเถระได้เห็นยักษิณีนั้นด้วยสัญญาณที่พวกเด็กให้ไว้. พระเถระเห็นยักษิณีมีรูปร่างน่าเกลียด น่ากลัว หวังแต่จะหาของสกปรกที่ถนนกันแต่อย่างเดียว จึงกล่าวความนี้. เมื่อยักษิณีถามว่า ท่านเห็นฉันได้อย่างไร. พระเถระจึงแสดงชิ้นรากไม้ให้ดู. ยักษิณีคว้ารากไม้ถือเอาไป.
               ปีศาจฝุ่นทั้งหลายถือรากไม้รากหนึ่งแล้วไม่ปรากฏกายด้วยประการฉะนี้.
               สกุลุทายิปริพาชกนั้นกล่าวว่า แม้ปีศาจฝุ่น ข้าพระองค์ยังไม่เห็นเลยหมายถึงยักษิณีนั้น.
               บทว่า น ปกฺขายติ คือ ไม่เห็นไม่ปรากฏ.
               บทว่า ทีฆาปิ โข เต เอสา ความว่า ดูก่อนอุทายี วาจาของท่านนั้นพึงขยายออกอย่างยืดยาว. อธิบายว่า เมื่อกล่าวอย่างนั้น พึงเป็นไปร้อยปีบ้าง พันปีบ้าง และวาจานั้นก็ไม่พึงแสดงเพื่อความได้ประโยชน์เลย.
               บทว่า อปฺปาฏิหิรีกตํ เป็นคำใช้ไม่ได้. ความว่า คำนั้นถึงความเป็นคำไม่นำสัตว์ออกไป ไม่มีค่า ไม่มีประโยชน์.
               บัดนี้ เมื่อสกุลุทายิปริพาชกจะแสดงถึงวรรณนั้นจึงกล่าวคำมีอาทิว่า เสยฺยถาปิ ภนฺเต ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เปรียบแก้วไพฑูรย์.
               ในบทเหล่านั้นบทว่า ปณฺฑุกมฺพเล นิกฺขิตฺโต แก้วไพฑูรย์ เขาวางไว้ที่ผ้ากัมพลสีแดง คือวางไว้ที่ผ้ากัมพลสีแดงอันมีสีไม่เสมอกัน.
               บทว่า เอวํวณฺโณ อตฺตา โหติ ตนก็มีวรรณฉันนั้น. สกุลุทายีกล่าวคำนี้ว่า ตัวตนนั้นในเวลาเราตายย่อมรุ่งเรืองดุจขันธ์ในสุภกิณหเทวโลก หมายถึงขันธ์ที่เกิดในสุภกิณหเทวโลก.
               บทว่า อยํ อิเมสํ อุภินฺนํ บรรดาวรรณทั้งสองเหล่านี้หิ่งห้อยในเวลาเดือนมืดในราตรีนี้งามกว่า ประณีตกว่า. ความว่า นัยว่ารัศมีของแก้วมณีไม่ซ่านออกภายนอก แสงของหิ่งห้อยตัวเล็กแผ่ออกไปเพียง ๑ นิ้ว ๒ นิ้วและ ๔ นิ้ว. ส่วนแสงของหิ่งห้อยตัวใหญ่แผ่ออกไปแม้ประมาณเท่าบริเวณของลานนวดข้าว เพราะฉะนั้น สกุลุทายีจึงกล่าวอย่างนั้น.
               บทว่า วิทฺเธ คือ กระจ่าง. อธิบายว่า อยู่ไกลโดยปราศจากเมฆ.
               บทว่า วิคตวลาหเก คือ ปราศจากเมฆ.
               บทว่า เทเว คือฝน.
               บทว่า โอสธิตารกา คือ ดาวพระศุกร์.
               จริงอยู่ เพราะอาจารย์บางคนบอกกล่าวว่า ชนทั้งหลายย่อมถือเอาโอสถ โดยสัญญาณนั้นตั้งแต่ดาวพระศุกร์ขึ้น ฉะนั้นดาวนั้นท่านจึงเรียกว่า โอสธิตารกา.
               บทว่า อภิโท อฑฺฆรตฺตสมยํ คือ ดวงจันทร์ในเวลาเที่ยงคืนตรง. ด้วยบทนี้ท่านแสดงถึงดวงจันทร์ที่ตั้งอยู่ในสมัยคือในท่ามกลางท้องฟ้า. แม้ในบทว่า อภิโท มชฺฌนฺติเก ดวงอาทิตย์ในเวลาเที่ยงตรง ก็มีนัยที่เหมือนกัน.
               บทว่า ตโต โข คือ เทวดาเหล่านั้นมีมากกว่า กว่านั้น. อธิบายว่า มีมากและมีมากกว่า.
               บทว่า อาภา นานุโภนฺติ คือ สู้แสงพระจันทร์พระอาทิตย์ไม่ได้. แสงพระจันทร์และพระอาทิตย์ย่อมส่องแสงสว่างไปด้วยแสงสว่างในตัวของตนเอง.
               บัดนี้ เพราะสกุลุทายีคิดว่าเราจักถามถึงโลกมีความสุขโดยส่วนเดียว จึงนั่งนิ่งลืมคำถาม. ฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อจะทรงให้สกุลุทายีระลึกถึงคำถามได้ จึงตรัสพระดำรัสมีอาทิว่า กึ ปน อุทายิ เอกนฺตสุโข โลโก ดูก่อนอุทายี โลกมีความสุขโดยส่วนเดียวมีอยู่หรือ.
               ในบทเหล่านั้น บทว่า อาการวตี คือ มีเหตุ.
               บทว่า อญฺญตรํ วา ปน ตโปคุณํ คุณคือตบะอย่างใดอย่างหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสหมายถึงลัทธิของอเจลกะ คือเว้นการดื่มสุรา.
               เพราะเหตุไร สกุลุทายีจึงถามว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ โลกมีความสุขโดยส่วนเดียวมีอยู่หรือ. นัยว่า สกุลุทายีนั้นได้คิดว่า แม้เราก็กล่าวว่า ตนมีความสุขโดยส่วนเดียว. อนึ่ง เรากล่าวการปฏิบัติเป็นสุขบางเวลา เป็นทุกข์บางเวลา. แม้ปฏิปทาของตน ผู้มีความสุขโดยส่วนเดียวก็พึงมีความสุขโดยส่วนเดียว. กถาของพวกเราเป็นกถาไม่นำสัตว์ออกไป. ส่วนกถาของพระศาสดาเป็นกถานำสัตว์ออกไป เพราะเหตุนั้น บัดนี้ เราจะถามพระศาสดาแล้วจึงจะรู้ เพราะฉะนั้น จึงถาม.
               บทว่า เอตฺถ มยํ อนสฺสาม คือ พวกเราไม่ยินดีในเหตุนี้ เพราะเหตุไร บริษัทของสกุลุทายิปริพาชกจึงได้กล่าวอย่างนั้น.
               นัยว่า บริษัทของสกุลุทายิปริพาชกเหล่านั้นรู้ว่า เมื่อก่อนพวกตนตั้งอยู่ในธรรม ๕ ประการกระทำกสิณบริกรรมยังตติยฌานให้เกิด ครั้นฌานยังไม่เสื่อม ทำกาละแล้วเกิดในชั้นสุภกิณหะ แต่เมื่อกาลผ่านไปๆ แม้กสิณบริกรรมก็ไม่รู้ แม้ตติยฌานก็ไม่สามารถให้เกิดได้.
               อนึ่ง พวกเขาเรียนธรรมอันเป็นส่วนเบื้องต้น ๕ ว่า ปฏิปทามีเหตุ. แล้วเรียนตติยฌานว่าโลกมีสุขโดยส่วนเดียว. เพราะฉะนั้น พวกเขาจึงกล่าวอย่างนั้น.
               บทว่า อุตฺตริตรํ คือ สิ่งที่ยิ่งกว่าธรรม ๕ นี้. ท่านอธิบายว่า พวกเราไม่รู้ปฏิปทาหรือโลกอันเป็นสุขโดยส่วนเดียวยิ่งกว่าตติยฌาน.
               บทว่า อปฺปสทฺเท กตฺวา คือ ห้ามปริพาชกเหล่านั้นซึ่งเริ่มจะทำเสียงดังไม่ให้มีเสียงโดยเตือนครั้งเดียวเท่านั้น.
               ในบทว่า สฺจฉิกิริยาเหตุ เพราะเหตุทำให้แจ้งนี้.
               สัจฉิกิริยามี ๒ อย่างคือ ปฏิลาภสัจฉิกิริยา (การทำให้แจ้งการได้) ๑ ปัจจักขสัจฉิกิริยา (การทำให้แจ้งประจักษ์) ๑.
               ในสัจฉิกิริยา ๒ อย่างนั้น ผู้ยังตติยฌานให้เกิดแล้ว ตติยฌานยังไม่เสื่อม ทำกาละเกิดเป็นผู้มีอายุและวรรณเสมอเทวดาเหล่านั้น ในสุภกิณหโลก นี้ชื่อว่าปฏิลาภสัจฉิกิริยา. ผู้ยังจตุตถฌานให้เกิดแล้วไปสู่สุภกิณโลกด้วยการแสดงฤทธิ์ แล้วดำรงอยู่สนทนาปราศรัยกับเทวดาเหล่านั้น นี้ชื่อว่าปัจจักขสัจฉิกิริยา.
               ตติยฌานของสัจฉิกิริยาแม้ทั้งสองนั้น ชื่อว่าอาการวดีปฏิปทา ปฏิปทามีเหตุ ไม่ยังตติยฌานให้เกิดก็ไม่สามารถเกิดในสุภกิณหโลกได้ (และ) ไม่สามารถยังจตุตถฌานให้เกิดได้.
               สกุลุทายีหมายถึงสัจฉิกิริยาทั้งสองแม้นี้ จึงทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เพราะเหตุทำให้แจ้งโลกมีสุขโดยส่วนเดียวนั้นแน่นอน.
               บทว่า อุทกมณิโก คือ หม้อน้ำ.
               บทว่า อนฺตรายมกาสิ บริษัทของสกุลุทายีได้ทำอันตราย คือได้ทำอันตรายโดยที่สกุลุทายีปริพาชกไม่ได้บรรพชา เพราะอุปนิสัยวิบัติ.
               ได้ยินว่า สกุลุทายีปริพาชกนี้ได้บวชในศาสนาของพระกัสสปพุทธเจ้า ได้บำเพ็ญสมณธรรม. ครั้งนั้น ภิกษุสหายของเขาคนหนึ่งกล่าวว่า อาวุโส เขาเบื่อในศาสนาจักสึกละ. ภิกษุนั้นเกิดความโลภในบาตรและจีวรของภิกษุผู้เป็นสหายนั้น จึงได้กล่าวถึงคุณของความเป็นคฤหัสถ์. ภิกษุสหายจึงให้บาตรและจีวรแก่ภิกษุนั้นแล้วก็สึก.
               ด้วยกรรมของภิกษุนั้น บัดนี้ จึงเกิดอันตรายต่อการบรรพชาเฉพาะพระพักตร์ของพระผู้มีพระภาคเจ้า.
               สูตรก่อนของพระผู้มีพระภาคเจ้านั้นเป็นเพียงภาณวารที่เกิน. สูตรนี้เป็นภาณวารหลัก ด้วยประการฉะนี้. พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสธรรมโดยแบบแผนเพียงเท่านี้. การบรรลุมรรคผลไม่เกิดแม้ด้วยเทศนาครั้งเดียว. แต่จักเป็นปัจจัยแก่ภิกษุนั้นในอนาคต เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงทรงแสดงธรรม.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเห็นความที่ธรรมนั้นจะเป็นปัจจัยในอนาคต เมื่อยังมีพระชนม์อยู่จึงไม่ทรงแต่งตั้งภิกษุแม้รูปหนึ่งไว้ในเอตทัคคะในเมตตาวิหารี (มีธรรมเป็นเครื่องอยู่คือเมตตา).
               พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเห็นว่า ในอนาคต ภิกษุนี้จักบวชในศาสนาของเราแล้วจักเป็นผู้เลิศกว่าภิกษุผู้เป็นเมตตาวิหารี. ภิกษุนั้นเมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าปรินิพพานแล้ว บังเกิดในกรุงปาตลีบุตร ในสมัยของพระเจ้าธรรมาโศกราชบวชแล้ว ครั้นบวชแล้วได้บรรลุพระอรหัต มีชื่อว่าพระอัสสคุตตเถระ ได้เป็นผู้เลิศแห่งภิกษุผู้เป็นเมตตาวิหารี. ด้วยอานุภาพแห่งเมตตาของพระเถระ แม้สัตว์เดียรัจฉานทั้งหลายก็ได้รับเมตตาจิต.
               พระเถระเป็นอาจารย์สั่งสอนภิกษุสงฆ์ในสกลชมพูทวีป อาศัยอยู่ที่วัตตนิเสนาสนะ. ดงประมาณ ๓๐ โยชน์ได้เป็นเรือนสำหรับทำความเพียรอย่างเดียว. พระเถระลาดแผ่นหนังไว้บนอากาศแล้วนั่งบนแผ่นหนังนั้นบอกกรรมฐาน. เมื่อกาลผ่านไปพระเถระไม่ไปบิณฑบาต นั่งบอกกรรมฐานอยู่ในวิหาร. มนุษย์ทั้งหลายไปยังวิหารได้ถวายทาน.
               พระเจ้าธรรมาโศกราชได้สดับคุณของพระเถระ มีพระประสงค์จะทรงเห็น ได้ทรงส่งคนไปนิมนต์ถึง ๓ ครั้ง. พระเถระดำริว่า เราจะให้โอวาทแก่ภิกษุสงฆ์ ดังนี้แล้วจึงมิได้ไปแม้แต่ครั้งเดียวด้วยประการฉะนี้.

               จบอรรถกถาจูฬสกุลุทายิสูตรที่ ๙               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ ปริพพาชกวรรค จูฬสกุลุทายิสูตร เรื่องสกุลุทายีปริพาชก จบ.
อ่านอรรถกถา 13 / 1อ่านอรรถกถา 13 / 356อรรถกถา เล่มที่ 13 ข้อ 367อ่านอรรถกถา 13 / 389อ่านอรรถกถา 13 / 734
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=13&A=6175&Z=6463
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=9&A=4966
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=9&A=4966
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๑๗  กันยายน  พ.ศ.  ๒๕๔๙
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :