ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 

อ่าน อรรถกถาหน้าต่างที่ [๑] [๒]อ่านอรรถกถา 13 / 1อ่านอรรถกถา 13 / 293อรรถกถา เล่มที่ 13 ข้อ 314อ่านอรรถกถา 13 / 356อ่านอรรถกถา 13 / 734
อรรถกถา มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ ปริพพาชกวรรค
มหาสกุลุทายิสูตร

               ๗. อรรถกถามหาสกุลุทายิสูตร               
               มหาสุกุลุทายิสูตร มีบทเริ่มต้นว่า เอวมฺเม สุตํ ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้.
               ในบรรดาบทเหล่านั้นบทว่า โมรนิวาเป คือในที่นั้นชนทั้งหลายได้ประกาศให้อภัยแก่นกยูงทั้งหลายแล้วได้ให้อาหาร. เพราะฉะนั้น ที่นั้นจึงชื่อว่าโมรนิวาปะ เป็นที่ให้เหยื่อแก่นกยูง.
               บทว่า อนฺนภาโร เป็นชื่อของปริพาชกผู้หนึ่ง. เหมือนวรตระก็เป็นชื่อปริพาชกเหมือนกัน. บทว่า อญฺเญ จ ไม่เพียงปริพาชก ๓ คนนี้เท่านั้น แม้ปริพาชกอื่นๆ ที่มีชื่อเสียงก็มีอยู่มาก. ในบทนี้ว่า อปฺปสทฺทสฺส วณฺณวาที พระสมณโคดมทรงกล่าวสรรเสริญคุณของเสียงเบา ท่านไม่กล่าวว่า อปฺปสทฺทวินีโต แนะนำให้มีเสียงเบา จึงกล่าวบทนี้. เพราะเหตุไร. เพราะพระผู้มีพระภาคเจ้ามิได้ทรงแนะนำผู้อื่น. บทว่า ปุริมานิ วันก่อนๆ คือวันก่อนๆ หมายถึงเมื่อวานนี้. หลังจากนั้นเป็นวันก่อนหลังจากวานนี้.
               ไม่มีศาลาเฉพาะจึงชื่อว่า กุตูหลสาลา (ศาลาแพร่ข่าว). ศาลาที่พวกเดียรถีย์ต่างๆ สมณพราหมณ์ประชุมสนทนากันหลายอย่างท่านเรียกว่า กุตูหลสาลา เพราะเป็นที่แพร่ข่าวของชนเป็นอันมากว่า คนนี้พูดอะไร คนนี้พูดอะไร. ปาฐะว่า โกตูหลสาลา บ้าง.
               บทว่า ลาภา ความว่า นี้เป็นลาภของชาวอังคะ มคธะ ที่จะได้เห็นสมณพราหมณ์ ถามปัญหา หรือฟังธรรมกถาของสมณพราหมณ์เหล่านั้น.
               พึงทราบความในบทมีอาทิว่า สงฺฆิโน เจ้าหมู่ ดังต่อไปนี้.
               ชื่อว่า สงฺฆิโน เพราะมีหมู่คือหมู่บรรพชิต. ชื่อว่า คณิโน เจ้าคณะ เพราะมีคณะนั้นนั่นแล. ชื่อว่า คณาจริยา เพราะเป็นอาจารย์ของคณะนั้น ด้วยให้ศึกษาถึงอาจาระ.
               บทว่า ญาตา คือ มีชื่อเสียงเป็นผู้ปรากฏ. ชื่อว่า ยสสฺสิโน เพราะมียศสูงด้วยคุณตามที่ไม่จริงและด้วยคุณตามที่เป็นจริง.
               ก็บูรณกัสสปเป็นต้นมียศสูงโดยนัยมีอาทิว่า เป็นผู้มีความปรารถนาน้อย สันโดษ แม้ผ้าก็ไม่นุ่งเพราะเป็นผู้มีความปรารถนาน้อย. ยศของพระตถาคตสูงด้วยพระคุณตามที่เป็นจริงมีอาทิว่า อิติปิ โส ภควา ดังนี้.
               บทว่า ติตฺถกรา คือเจ้าลัทธิ. บทว่า สาธุสมฺมตา คือชนเป็นอันมากสมมติกันอย่างนี้ว่า ดี งาม เป็นสัตบุรุษ.
               บทว่า พหุชนสฺส ชนเป็นอันมาก คือคนอันธพาล และพาลปุถุชนผู้ไม่มีการศึกษา และบัณฑิตชนผู้มีปัญญา. ในชนเหล่านั้นพวกเดียรถีย์เขาสมมติว่าเป็นพาลชน. พระตถาคตเขาสมมติว่าเป็นบัณฑิตชน.
               โดยนัยนี้พึงทราบความในบทมีอาทิว่า ปูรโณ กสฺสโป สงฺฆี บูรณกัสสปเป็นเจ้าหมู่.
               ก็เพราะพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงจำแนกอารมณ์ ๓๘ ได้ทรงกระทำท่าเป็นที่หยั่งลงสู่นิพพานไว้มาก ฉะนั้นควรกล่าวว่าเป็น ติตฺถกโร ผู้ทำท่า. ก็เพราะเหตุไรเจ้าลัทธิเหล่านั้นทั้งหมดจึงมาประชุมในที่นั้น. เพื่อรักษาอุปัฏฐากและเพื่อลาภสักการะ.
               ได้ยินว่า เจ้าลัทธิเหล่านั้นมีความวิตกว่า อุปัฏฐากของพวกเราพึงพากันถึงพระสมณโคดมว่าเป็นที่พึ่ง. พวกเราจักดูแลอุปัฏฐากเหล่านั้น. แม้อุปัฏฐากของพวกเราเห็นอุปัฏฐากของพระสมณโคดมทำสักการะ ก็จักทำสักการะแก่พวกเราบ้าง. เพราะฉะนั้นเจ้าลัทธิเหล่านั้นทั้งหมด จึงพากันไปประชุมในที่ที่พระผู้มีพระภาคเจ้าประชุม.
               บทว่า วาทํ อาโรเปตฺวา พากันยกโทษ คือยกโทษในวาทะ.
               บทว่า อปกฺกนฺตา คือพากันหลีกไป บางพวกพากันหลีกไปสู่ทิศ. บางพวกสึก บางพวกมาสู่ศาสนานี้.
               บทว่า สหิตมฺเม ถ้อยคำของเราเป็นประโยชน์ คือถ้อยคำของเรามีประโยชน์สละสลวยประกอบด้วยอรรถ ประกอบด้วยเหตุ.
               บทว่า อสหิตํ คือถ้อยคำของท่านไม่ประกอบด้วยประโยชน์.
               บทว่า อธิจิณฺณนฺเต วิปราวตฺตํ ข้อที่ท่านเคยช่ำชองมาผันแปรไปแล้ว. ความว่า ข้อที่ท่านเคยมีความคล่องแคล่วด้วยสะสมมาเป็นเวลานานได้ผันแปรไปแล้วด้วยคำพูดคำเดียวของเรา ไม่เกิดอะไรขึ้น.
               บทว่า อาโรปิโต เต วาโท คือ เราจับผิดวาทะของท่านได้แล้ว.
               บทว่า จร วาทปฺปโมกฺขาย ท่านจงถอนวาทะของท่านเสีย ความว่า จงประพฤติเพื่อปลดเปลื้องความผิด คือจงศึกษาเพื่อไปในที่นั้นๆ.
               บทว่า นิพฺพิเธหิ วา สเจ ปโหสิ หรือจงแก้ไขเสียถ้าสามารถ คือ หากสามารถด้วยตนเอง จงแก้ไขเสียในบัดนี้ทีเดียว.
               บทว่า ธมฺมกฺโกเสน ด้วยคำติเตียนโดยธรรมคือด้วยคำติเตียนที่เป็นจริง.
               บทว่า ตนฺโน โสสฺสาม คือ เราทั้งหลายจักฟังธรรมที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสแก่พวกเรา.
               บทว่า ขุทฺทํ มธุํ คือ รังผึ้งที่ตัวอ่อนทำไว้. บทว่า อเนลกํ ไม่มีโทษ คือรังผึ้งที่ปราศจากตัวอ่อน. บทว่า ปีเฬยฺย คือพึงให้.
               บทว่า ปจฺจาสึสมานรูโป หมู่มหาชนคอยหวังอยู่ คือถือภาชนะตั้งความหวังว่า บุรุษนั้นจักให้เราจนเต็มภาชนะไหมหนอ.
               บทว่า สมฺปโยเชตฺวา บาดหมางกัน คือเถียงกันเล็กน้อย. บทว่า อิตรีตเรน คือ ตามมีตามได้.
               บทว่า ปวิวิตฺโต พระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นผู้สงัด ปริพาชกกล่าวคำนี้หมายถึงเพียงกายวิเวก. แต่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงสงัดด้วยวิเวก ๓.
               บทว่า โกสกาหารา คือ อาหารเพียงเท่าโกสกะ ในเรือนของทานบดีมีถ้วยเล็กเพื่อใส่อาหารอย่างดี. ทานบดีทั้งหลายใส่อาหารดีไว้ในถ้วยนั้นแล้วบริโภค. เมื่อบรรพชิตมาถึง ก็ถวายอาหารแก่บรรพชิตนั้น ถ้วยนั้นเรียกว่าโกสกะ เพราะฉะนั้นบุคคลใดยังชีวิตให้เป็นไปด้วยอาหารถ้วยหนึ่ง บุคคลนั้นชื่อว่า โกสกาหารา มีอาหารเพียงเท่าโกสกะ.
               บทว่า เวฬุวาหารา คือ มีอาหารเพียงเท่าภัตใส่ในผลมะตูม.
               บทว่า สมติตฺติกํ เสมอขอบ คือเสมอลวดลายข้างล่างแห่งขอบปากบาตร.
               บทว่า อิมินา ธมฺเมน คือโดยธรรมเพราะความเป็นผู้มีอาหารน้อยนี้.
               อนึ่ง ในบทนี้ไม่ควรกล่าวว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงมีอาหารน้อยโดยอาการทั้งปวง. ทรงมีอาหารน้อยตลอด ๖ ปี ณ ที่ทรงบำเพ็ญเพียร. ทรงยังพระชนม์ชีพให้เป็นไปด้วยข้าวแล่งหนึ่งตลอด ๓ เดือนในเมืองเวรัญชา. ทรงยังพระชนม์ชีพให้เป็นไปด้วยเหง้าบัวเท่านั้นตลอด ๓ เดือนในปาริไลยกไพรสณฑ์.
               แต่ในที่นี้ พระองค์ทรงแสดงถึงความนี้ว่า เราได้มีอาหารน้อยในกาลหนึ่ง แต่สาวกทั้งหลายของเราไม่ทำลายธุดงค์ตลอดชีวิตตั้งแต่สมาทานธุดงค์. เพราะฉะนั้น ผิว่าสาวกทั้งหลายเหล่านั้นพึงสักการะเราโดยธรรมนี้.
               ด้วยว่า สาวกเหล่านั้นเป็นผู้วิเศษโดยเรา ย่อมสักการะเราด้วยธรรมอื่นที่มีอยู่. ท่านแสดงไว้ดังนี้. โดยนัยนี้พึงทราบโยชนาในทุกวาระ.
               บทว่า ปํสุกูลิกา ถือผ้าบังสุกุลเป็นวัตร คือสมาทานปังสุกูลิกังคธุดงค์.
               บทว่า ลูขจีวรธรา ทรงจีวรเศร้าหมองด้วยด้าย ๑๐๐ เส้น.
               บทว่า นนฺตกานิ ผ้าเก่า คือชิ้นผ้าที่ไม่มีชาย. จริงอยู่ ผิว่า ผ้าเหล่านั้นพึงมีชาย ผ้าเหล่านั้นเรียกว่า ปิโลติกา ผ้าขี้ริ้ว.
               บทว่า อุจฺจินิตฺวา เลือกเก็บ คือฉีกทิ้งส่วนที่ใช้ไม่ได้ถือเอาส่วนที่ยังใช้ได้เท่านั้น.
               บทว่า อลาวุโลมสานิ คือ มีเส้นด้ายเช่นกับขนน้ำเต้า. ท่านแสดงว่า ละเอียด.
               ก็ด้วยเหตุเพียงเท่านี้ ไม่ควรกล่าวว่าพระศาสดามิได้ทรงสันโดษด้วยจีวรสันโดษ. เพราะในวันที่พระองค์ทรงรับเอาผ้าบังสุกุลทำด้วยเปลือกไม้ ที่นางปุณณทาสีนำมาจากป่าช้าผีดิบถวาย มหาปถพีได้ไหวจนกระทั่งถึงน้ำเป็นที่สุด พระองค์ทรงแสดงความในบทนี้ไว้ว่า เรารับผ้าบังสุกุลครั้งเดียวเท่านั้น. แต่สาวกทั้งหลายของเราไม่ทำลายธุดงค์จนตลอดชีวิต จำเดิมแต่สมาทานธุดงค์.
               บทว่า ปิณฺฑปาติกา ถือบิณฑบาตเป็นวัตร คือปฏิเสธอติเรกลาภ สมาทานปิณฑปาติกังคธุดงค์. บทว่า สปทานจาริโน คือ เที่ยวไปตามลำดับตรอกเป็นวัตร คือ ปฏิเสธโลลุปปจาร (การเที่ยวไปด้วยความโลภ) แล้ว สมาทานสปทานจาริกวัตร.
               บทว่า อุจฺจาปเก วตฺเต รตา ยินดีในวัตรชั้นสูงของตน. ความว่า ยินดีในวัตรตามปรกติของภิกษุทั้งหลาย กล่าวคือการเที่ยวไปเพื่ออาหารเลี้ยงชีพ เป็นผู้ยืนที่ประตูเรือนทั้งสูงและต่ำ สำรวมอาหารที่ปนกันเป็นคำแล้วฉัน.
               บทว่า อนฺตรฆรํ ละแวกบ้าน คือละแวกเรือนตั้งแต่ธรณีประตู ดังได้กล่าวแล้วในพรหมายุสูตร. ในที่นี้ท่านประสงค์ตั้งแต่เสาเขื่อน. ด้วยเหตุเพียงเท่านี้ ไม่ควรกล่าวว่า พระศาสดาไม่ทรงสันโดษด้วยบิณฑบาตสันโดษ.
               ทั้งหมดพึงพิสดารโดยทำนองเดียวกับที่กล่าวแล้ว เพราะความเป็นผู้มีอาหารน้อย. แม้ในที่นี้พระองค์ก็ทรงแสดงความนี้ไว้ว่า เราไม่ยินดีรับนิมนต์ในเวลาเดียวเท่านั้น. แต่สาวกทั้งหลายของเราไม่ทำลายธุดงค์ตลอดชีวิต ตั้งแต่สมาทานธุดงค์.
               บทว่า รุกฺขมูลิกา ถือการอยู่โคนไม้เป็นวัตร คือปฏิเสธที่มุงบัง สมาทานรุกขมูลิกังธุดงค์.
               บทว่า อพฺโภกาสิกา ถืออยู่กลางแจ้งเป็นวัตร คือปฏิเสธที่มุงบังและโคนไม้ แล้วสมาทานอัพโภกาสิกังคธุดงค์.
               บทว่า อฏฺฐมาเส ตลอด ๘ เดือน คือตลอดเดือนในฤดูเหมันต์และคิมหันต์. แต่ในภายในฤดูฝนเข้าไปสู่ที่มุงบังเพื่อรักษาจีวร. ด้วยเหตุเพียงเท่านี้ไม่ควรกล่าวว่า พระศาสดาไม่ทรงสันโดษด้วยเสนาสนสันโดษ. แต่พึงแสดงเสนาสนสันโดษของพระองค์ด้วยมหาปธานตลอด ๖ ปี และด้วยปาริไลยกไพรสณฑ์ แต่ในที่นี้ พระองค์ทรงแสดงความนี้ไว้ว่า เราไม่เข้าไปสู่ที่มุงบังในกาลหนึ่งเท่านั้น. แต่สาวกของเราไม่ทำลายธุดงค์ตลอดชีวิตตั้งแต่สมาทานธุดงค์.
               บทว่า อารญฺญิกา ถือการอยู่ป่าเป็นวัตร คือปฏิเสธเสนาสนะท้ายบ้านแล้วสมาทานอารัญญิกังคธุดงค์.
               บทว่า สงฺฆมชฺเฌ โอสรนฺติ ย่อมประชุมในท่ามกลางสงฆ์ ท่านกล่าวถึงในอพัทธสีมา (สีมาที่ยังมิได้ผูก). แต่สาวกผู้อยู่ในพัทธสีมา ย่อมทำอุโบสถในที่อยู่ของตน.
               ด้วยเหตุเพียงเท่านี้ ไม่ควรกล่าวว่าพระศาสดา ไม่ทรงสงัด เพราะความสงัดย่อมปรากฏแก่พระองค์อย่างนี้ว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราปรารถนาเพื่อหลีกเร้นอยู่ตลอด ๘ เดือน. แต่ในที่นี้พระองค์ทรงแสดงความนี้ไว้ว่า เราหลีกเร้นอยู่ในกาลเห็นปานนั้น ครั้งหนึ่งๆ. แต่สาวกของเราไม่ทำลายธุดงค์ ตลอดชีวิตตั้งแต่สมาทานธุดงค์.
               บทว่า มมํ สาวกา คือ สาวกทั้งหลายของเรา.
               บทว่า สนิทานํ มีเหตุ คือมีปัจจัย. ก็พระศาสดาไม่ทรงแสดงถึงนิพพานอันไม่มีปัจจัยหรือ. ไม่แสดงหามิได้. แต่ทรงแสดงทำเทศนานั้นให้มีเหตุ.
               บทว่า โน อเหตุกํ มิใช่แสดงธรรมไม่มีเหตุ.
               บทว่า สปฺปาฏิหาริยํ ทรงแสดงธรรมมีความอัศจรรย์นี้เป็นไวพจน์ของบทก่อน. อธิบายว่ามีเหตุ.
               วต ในบทว่า ตํ วต เป็นเพียงนิบาต.
               บทว่า อนาคตวาทปถํ คลองแห่งวาทะในอนาคต คือคลองแห่งวาทะอันตั้งอยู่ในวันนี้แล้วมาเบื้องบนแห่งปัญหานั้นๆ ในวันพรุ่งนี้ มะรืนนี้ กึ่งเดือน หรือปีหนึ่ง.
               บทว่า น ทกฺขติ ย่อมไม่เห็น คือไม่เห็นโดยอาการที่สัจจกนิครนถ์ ยังเหตุที่ตนมาเพื่อจะข่มขี่ให้วิเศษ เมื่อจะกล่าวจึงมิได้เห็น เพราะเหตุนั้น ข้อนั้นมิใช่ฐานะจะมีได้.
               บทว่า สหธมฺเมน เป็นไปกับด้วยธรรม คือมีเหตุ.
               บทว่า อนฺตรนฺตรา กถํ โอปาเตยฺยุํ จะพึงคัดค้านๆ ให้ตกไปในระหว่างๆ. ความว่า ตัดการสนทนาของเราแล้วสอดการสนทนาของตนเข้าไปในระหว่างๆ.
               บทว่า น โข ปนาหํ อุทายิ ความว่า ดูก่อนอุทายี เราไม่หวังคำสอนในสาวกทั้งหลายนี้ว่า เมื่อการสนทนาครั้งยิ่งใหญ่กับอัมพัฏฐะ โสณทัณฑะ กูฏทันตะและสัจจกนิครนถ์เป็นต้นแม้ยังดำเนินอยู่ ถ้าการใช้สาวกของเรารูปหนึ่ง ควรชักอุปมา หรือเหตุมากล่าว.
               บทว่า มมเยว คือในฐานะอย่างนี้ สาวกทั้งหลายก็มิได้หวังโอวาทอันเป็นคำสอนของเรา.
               บทว่า เตสาหํ จิตฺตํ อาราเธมิ เรายังจิตของสาวกเหล่านั้นให้ยินดี คือเราจะถือเอาจิตของสาวกเหล่านั้นให้ถึงพร้อมให้บริบูรณ์ด้วยการพยากรณ์ปัญหาของพระอรหันต์. ถามอย่างหนึ่ง พยากรณ์อย่างหนึ่ง เหมือนถามมะม่วง พยากรณ์ขนุนสำมะลอ. ถามขนุนสำมะลอ พยากรณ์มะม่วงฉะนั้น.
               อนึ่ง ในบทนี้ ท่านกล่าวถึงศีลของพระพุทธเจ้าในที่ที่กล่าวไว้แล้วว่า อธิสีเล สมฺภาเวนฺติ ให้สรรเสริญในเพราะอธิศีล.
               ท่านกล่าวถึงสัพพัญญุตญาณในที่ที่กล่าวไว้แล้วว่า อภิกฺกนฺเต ญาณทสฺสเน สมฺภาเวนฺติ ให้สรรเสริญในเพราะญาณทัศนะอันงาม.
               ท่านกล่าวถึงปัญหาอันให้เกิดฐานะในที่ที่ท่านกล่าวไว้ว่า อธิปญฺญาย สมฺภาเวนฺติ ให้สรรเสริญในเพราะอธิปัญญา.
               ท่านกล่าวถึงปัญหาพยากรณ์สัจจะในที่ที่กล่าวไว้ว่า เยน ทุกฺเขน ด้วยทุกข์ใด ปัญญาที่เหลือ เว้นสัพพัญญุตญาณ และปัญหาพยากรณ์สัจจะ ย่อมเป็นอธิปัญญา.
               บัดนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อจะทรงบอกปฏิปทาของสาวกเหล่านั้นๆ ผู้บรรลุถึง จึงตรัสว่า ปุน จ ปรํ อุทายิ ดูก่อนอุทายี ข้ออื่นยังมีอยู่อีก เป็นอาทิ.
               ในบทเหล่านั้นบทว่า อภิญฺญาโวสานปารมิปฺปตฺตา สาวกของเราเป็นอันมากได้บรรลุบารมีอันเป็นที่สุดแห่งอภิญญา คือบรรลุอรหัตอันเป็นที่สุดแห่งอภิญญา และอันเป็นบารมีแห่งอภิญญา.
               บทว่า สมฺมปฺปธาเน สัมมัปปธาน ๔ คือ ความเพียรอันเป็นอุบาย. บทว่า ฉนฺทํ ชเนติ ยังความพอใจให้เกิด คือยังความพอใจในกุศลอันเป็นกัตตุกามยตาฉันทะให้เกิด. บทว่า วายมติ คือทำความพยายาม. บทว่า วีริยํ อารภติ คือ ปรารภความเพียร ได้แก่ยังความเพียรให้เป็นไป. บทว่า จิตฺตํ ปคฺคณฺหติ ย่อมประคองจิต คือยกจิตขึ้น. บทว่า ปทหติ ย่อมตั้ง คือทำความเพียรด้วยอุบาย.
               บทว่า ภาวนาย ปาริปูริยา คือ เพื่อความเจริญ เพื่อความสมบูรณ์.
               อีกอย่างหนึ่ง ในบทนี้พึงทราบว่าความตั้งมั่นใด นั้นเป็นความไม่หลง ความไพบูลย์ใด นั้นเป็นความเจริญและความสมบูรณ์. บทก่อนเป็นอธิบายของบทหลังด้วยประการฉะนี้แล.
               อนึ่ง บุพภาคปฏิปทาของพระสาวก ท่านกล่าวไว้ด้วยปริยายแห่งกัสสปสังยุตที่พระมหากัสสปเถระกล่าวไว้ด้วยเรื่องสัมมัปปธาน ๔ เหล่านี้แล้ว
               สมจริงดังคำที่ท่านกล่าวไว้ในกัสสปสังยุตนั้นว่า
               ดูก่อนอาวุโส สัมมัปปธานของเรามี ๔ สัมมัปปธาน ๔ เป็นไฉน
               ดูก่อนอาวุโส ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ ทำความเพียรเครื่องเผากิเลส โดยคิดว่า อกุศลธรรมอันลามกที่ยังไม่เกิดขึ้นแก่เรา เมื่อเกิดขึ้น จะพึงเป็นไปเพื่อความเสียประโยชน์ ทำความเพียรเครื่องเผากิเลส โดยคิดว่า อกุศลธรรมอันลามกที่เกิดขึ้นแล้วแก่เรา เมื่อเรายังละไม่ได้ จะพึงเป็นไปเพื่อความเสียประโยชน์ ทำความเพียรเครื่องเผากิเลส โดยคิดว่า กุศลธรรมที่ยังไม่เกิดขึ้นแก่เรา เมื่อไม่เกิดขึ้น จะพึงเป็นไปเพื่อความเสียประโยชน์ ทำความเพียรเครื่องเผากิเลส โดยคิดว่า กุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้วแก่เรา เมื่อดับ จะพึงเป็นไปเพื่อความเสียประโยชน์.๑-
____________________________
๑- สํ. นิ. เล่ม ๑๖/ข้อ ๔๖๓

               อนึ่ง ในบทนี้พึงทราบว่า อกุศลอันลามก ได้แก่โลภะเป็นต้น.
               บทว่า อนุปฺปนฺนา กุสลา ธมฺมา กุศลธรรมที่ยังไม่เกิด ได้แก่สมถวิปัสสนาและมรรคเท่านั้น. สมถวิปัสสนาชื่อว่ากุศลที่เกิดขึ้นแล้ว. ส่วนมรรคเกิดขึ้นครั้งเดียวแล้วดับไป ไม่ชื่อว่าเป็นไปเพื่อความพินาศ เพราะมรรคนั้นให้ปัจจัยแก่ผลแล้ว จึงดับ.
               หรือแม้ในบทก่อนท่านกล่าวว่า พึงถือเอาสมถะและวิปัสสนา แต่ข้อนั้นไม่ถูก. สมถะและวิปัสสนาเกิดขึ้นแล้วในกุศลธรรมนั้น เมื่อดับไปย่อมเป็นไปเพื่อความพินาศ.
               เพื่อความแจ่มแจ้งของเนื้อความ จะนำเรื่องมาเล่าดังต่อไปนี้.
               ได้ยินว่า พระเถระผู้เป็นขีณาสพรูปหนึ่งคิดว่า เราจักไหว้พระมหาเจดีย์และพระมหาโพธิ จึงมายังมหาวิหารจากชนบทกับสามเณรผู้ถือภัณฑะผู้ได้สมาบัติ แล้วเข้าไปยังบริเวณวิหารในตอนเย็น เมื่อภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ไหว้พระเจดีย์อยู่ ไม่ออกไปเพื่อไหว้พระเจดีย์.
               เพราะเหตุไร.
               เพราะพระขีณาสพมีความเคารพอย่างมากในพระรัตนตรัย.
               ฉะนั้น เมื่อภิกษุสงฆ์ไหว้กลับไปแล้ว ในเวลาที่พวกมนุษย์บริโภคอาหารในตอนเย็น แม้สามเณรก็ไม่ให้รู้ คิดว่าเราจักไหว้พระเจดีย์ จึงออกไปรูปเดียวเท่านั้น.
               สามเณรคิดว่า พระเถระไปรูปเดียวในมิใช่เวลา เราจักรู้ จึงออกตามรอยเท้าพระอุปัชฌาย์ไป. พระเถระไม่รู้ว่าสามเณรมา เพราะไม่ได้นึกถึงจึงขึ้นสู่ลานพระเจดีย์ทางประตูทิศใต้. สามเณรก็ขึ้นตามรอยเท้าไป. พระมหาเถระแลดูพระมหาเจดีย์ ยึดปีติในพระพุทธเจ้าเป็นอารมณ์ สำรวมใจทั้งหมด ชื่นชมยินดีไหว้พระเจดีย์.
               สามเณรเห็นอาการไหว้ของพระเถระ จึงคิดว่า พระอุปัชฌาย์ของเรามีจิตเลื่อมใสอย่างยิ่ง ไหว้พระเจดีย์ ได้ดอกไม้แล้วพึงทำการบูชาหรือหนอ. เมื่อพระเถระลุกขึ้นไหว้ ยกอัญชลีเหนือศีรษะยืนแลดู พระมหาเจดีย์. สามเณรกระแอมให้พระเถระรู้ว่าตนมา. พระเถระเหลียวดูแล้วถามว่า เธอมาเมื่อไร. สามเณรตอบว่า ท่านขอรับ ในเวลาท่านไหว้พระเจดีย์ ท่านเลื่อมใสเหลือเกินจึงไหว้พระเจดีย์. ท่านได้ดอกไม้แล้วพึงบูชาหรือ. พระเถระตอบว่าถูกแล้ว สามเณร ชื่อว่าการฝังพระธาตุประมาณเท่านี้ นอกจากในพระเจดีย์นี้แล้วย่อมไม่มี. ใครได้ดอกไม้แล้วจะไม่พึงบูชามหาสถูปอันไม่มีเหมือนเช่นนี้ได้เล่า. สามเณรกล่าวว่า ท่านขอรับ ถ้าเช่นนั้น ขอท่านจงรอก่อน ผมจักนำดอกไม้มา.
               ทันใดนั้นเอง สามเณรก็เข้าฌานไปป่าหิมพานต์ด้วยฤทธิ์ เก็บดอกไม้สมบูรณ์ด้วยสีและกลิ่นใส่ในธมกรกจนเต็ม เมื่อพระมหาเถระยังไม่ถึงมุขหลัง จากมุขใต้. สามเณรมาวางผ้าธมกรกห่อดอกไม้ไว้ที่มือแล้วกล่าวว่า ขอท่านจงบูชาเถิดขอรับ.
               พระเถระกล่าวว่า สามเณร ดอกไม้ของเธอยังน้อยนัก.
               สามเณรกล่าวว่า ท่านขอรับ ขอท่านจงไป ระลึกถึงคุณของพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้วบูชาเถิด.
               พระเถระขึ้นบันไดอาศัยมุขหลัง เริ่มทำการบูชาด้วยดอกไม้ ณ ชั้นแท่นบูชา. ชั้นแท่นบูชาเต็มไปหมด ดอกไม้ตกลงไปเต็มในชั้นที่ ๒ โดยพื้นที่ประมาณเข่า. พระเถระลงจากชั้นที่ ๒ ยังแถวหลังเท้าให้เต็ม. แม้แถวหลังเท้านั้นก็เต็ม. พระเถระรู้ว่าเต็มจึงเกลี่ย ที่พื้นล่างกลับไป. ลานพระเจดีย์ มีดอกไม้เต็มไปหมด.
               เมื่อลานพระเจดีย์เต็ม พระเถระกล่าวว่า สามเณร ดอกไม้ยังไม่หมด.
               สามเณรตอบว่า ท่านขอรับ ท่านจงคว่ำธมกรกลงเถิด. พระเถระคว่ำธมกรกแล้วเขย่า. ในกาลนั้น ดอกไม้ก็หมด. พระเถระให้ธมกรกแก่สามเณร แล้วทำประทักษิณพระเจดีย์มีกำแพงสูง ๖๐ ศอก ๓ ครั้ง ไหว้ในที่ทั้ง ๔ แห่งแล้วกลับไปยังบริเวณ คิดว่า สามเณรนี้มีฤทธิ์มากแท้ จักสามารถรักษาอิทธานุภาพนี้ไว้ได้หรือหนอ.
               แต่นั้น พระเถระเห็นว่า จักไม่สามารถรักษาไว้ได้ จึงกล่าวกะสามเณรว่า สามเณร บัดนี้เธอมีฤทธิ์มาก ในภายหลัง ครั้นฤทธิ์เสื่อม จักดื่มน้ำซาวข้าวด้วยมือของหญิงทอหูกตาบอดข้างเดียว. นี้ชื่อว่าโทษของความเป็นหนุ่ม.
               สามเณรนั้นหวั่นใจในถ้อยคำของพระอุปัชฌาย์ (แต่) ไม่ขอร้องว่า ท่านขอรับ ขอท่านจงบอกกรรมฐานแก่ผมเถิด. สามเณรคิดว่า พระอุปัชฌาย์ของพวกเราพูดอะไร ทำเหมือนไม่ได้ยินคำนั้นได้ไปแล้ว.
               พระเถระครั้นไหว้พระมหาเจดีย์และพระมหาโพธิ แล้วจึงให้สามเณรรับบาตรและจีวรไปยังกุเฏฬิติสสมหาวิหาร. สามเณรเดินตามพระอุปัชฌาย์ไป ไม่ไปบิณฑบาต. แต่ถามว่า ท่านขอรับ ท่านจักเข้าไปบ้านไหน ครั้นรู้ว่าบัดนี้พระอุปัชฌาย์ของเราจักไปถึงประตูบ้าน จึงถือบาตรและจีวรของตนและของพระอุปัชฌาย์ แล้วเหาะไป ถวายบาตรและจีวรแก่พระเถระแล้วจึงเข้าไปบิณฑบาต.
               พระเถระสั่งสอนตลอดเวลาว่า สามเณร เธออย่าได้ทำอย่างนั้น ชื่อว่าฤทธิ์ของปุถุชนง่อนแง่น ไม่แน่นอน ครั้นได้อารมณ์มีรูปเป็นต้นไม่เป็นที่สบายเพียงเล็กน้อยเท่านั้นก็ทำลาย. เมื่อการเสื่อมจากสมาบัติมีอยู่การอยู่ประพฤติพรหมจรรย์ ก็ไม่สามารถค้ำจุนไว้ได้. สามเณรไม่ปรารถนาจะฟังว่าพระอุปัชฌาย์ของเรากล่าวอะไร ยังทำเหมือนเดิม.
               พระเถระไหว้พระเจดีย์ไปโดยลำดับแล้วจึงไปยังกัมพพินทวิหาร.
               แม้เมื่อพระเถระอยู่ ณ วิหารนั้น สามเณรก็ยังทำอยู่อย่างนั้น.
               อยู่มาวันหนึ่ง ธิดาของช่างทอหูกคนหนึ่งรูปงาม ยังอยู่ในปฐมวัย ออกจากบ้านกัมพพินทะ ลงไปยังสระบัวร้องเพลงเก็บดอกบัว. ในสมัยนั้น สามเณรไปถึงท้ายสระติดใจเสียงร้องเพลงของหญิงนั้น ดุจคนขายปลาตาบอด ติดใจเสียงของหญิงยั่วยวนฉะนั้น. ทันใดนั้นเอง ฤทธิ์ของสามเณรนั้นก็เสื่อม ได้เป็นดุจกาปีกหัก. แต่ด้วยผลของสมาบัติที่ยังมีอยู่ สามเณรไม่ตกไปที่หลังน้ำนั้น ตกลงเหมือนปุยดอกงิ้วโดยลำดับ ได้ยืนอยู่แล้วใกล้ฝั่งสระปทุม.
               สามเณรรีบไปถวายบาตรและจีวรแก่พระอุปัชฌาย์แล้วกลับ. พระมหาเถระคิดว่า เราเห็นเหตุการณ์มาก่อนแล้ว แม้ห้ามสามเณรก็คงไม่กลับ จึงไม่พูดอะไรๆ เข้าไปบิณฑบาต. สามเณรไปยืนที่ฝั่งสระบัว รอหญิงนั้นขึ้น.
               แม้หญิงนั้นก็เห็นสามเณรทั้งขณะเหาะและขณะมายืนอยู่รู้ว่า สามเณรนี้กระสันเพราะอาศัยเราเป็นแน่จึงกล่าวว่า หลีกไปเถิด สามเณร. สามเณรนั้นจึงหลีกไป. หญิงนั้นขึ้นมานุ่งผ้าแล้วเข้าไปหาสามเณรถามว่า สามเณร ต้องการอะไรหรือ. สามเณรบอกความนั้น. นางจึงแสดงถึงโทษในการครองเรือนด้วยเหตุหลายอย่างและอานิสงส์ในการอยู่ประพฤติพรหมจรรย์. แม้สอนอยู่ก็ไม่สามารถบรรเทาความกระสันของสามเณรนั้นได้ คิดว่า สามเณรนี้เสื่อมฤทธิ์เห็นปานนี้เพราะเราเป็นเหตุ บัดนี้ไม่ควรจะเสียสละจึงกล่าวว่า สามเณร ท่านจงรออยู่ที่นี่เถิด แล้วไปเรือน บอกเรื่องนั้นแก่มารดาบิดา.
               แม้มารดาบิดาก็มาแล้วสอนหลายอย่าง ได้กล่าวกะสามเณรผู้ไม่เชื่อฟัง ว่าท่านอย่าเข้าใจพวกเราว่ามีตระกูลสูง. พวกเราเป็นเพียงช่างทอหูกสามารถทำได้เพียงงานทอหูกเท่านั้น. สามเณรกล่าวว่า อุบาสก ธรรมดาคนที่เป็นคฤหัสถ์ควรทำงานทอหูก หรือควรทำงานสานกระจาดก็ได้. ประโยชน์อะไรด้วยเพียงผ้าสาฎกนี้ ท่านจงทำงานไปเถิด. ช่างหูกให้ผ้าสาฎกที่ผูกท้องแล้วนำไปเรือนยกลูกสาวให้.
               นายหนุ่มผู้นั้น (สึกจากสามเณรแล้ว) เรียนการงานของช่างหูก ทำการงานที่โรงกับพวกช่างหูก. บรรดาหญิงของช่างหูกเหล่าอื่น ได้เตรียมอาหารนำมาแต่เช้าตรู่. ภรรยาของนายหนุ่มนั้นยังไม่มา. นายหนุ่มนั้นเมื่อคนอื่นพักงานบริโภคอาหาร ยังนั่งกรอหลอดด้ายอยู่. ภรรยาได้ไปภายหลัง. นายหนุ่มนั้นจึงพูดตะคอกภรรยาว่า เธอนี่มาช้าเหลือเกิน.
               ธรรมดามาตุคามรู้ว่า แม้พระเจ้าจักรพรรดิซึ่งมีจิตผูกพันในตน ยังนึกว่าตนเป็นดุจทาส. เพราะฉะนั้น นางจึงกล่าวว่า ในเรือนของคนอื่นเขาสะสมฟืนใบไม้และเกลือไว้. แม้คนทอหูกที่เป็นทาสนำออกจากภายนอกก็ยังมี. แต่ฉันเป็นหญิงตัวคนเดียวเท่านั้น. แม้ท่านก็ยังไม่รู้ว่า ในเรือนของเรา สิ่งนี้มี สิ่งนี้ไม่มี. หากท่านต้องการก็จงบริโภคเถิด. หากไม่ต้องการก็อย่าบริโภค.
               นายหนุ่มนั้นพูดตะคอกว่า เธอไม่เพียงนำอาหารมาสายเท่านั้น ยังกระทบกระเทียบเราด้วยคำพูดอีก แล้วโกรธ เมื่อไม่เห็นเครื่องทำร้ายอื่นจึงดึงไม้กระสวยทอผ้านั้น เอาหลอดด้ายออกจากกระสวยแล้วขว้างไป. ภรรยาเห็นไม้กระสวยแล่นมาจึงหลบหน่อยหนึ่ง ก็ปลายไม้กระสวยคม.
               เมื่อนางหลบ ปลายไม้กระสวยจึงเข้าไปที่หางตาคาอยู่. นางรีบเอามือทั้งสองกุมนัยน์ตา. เลือดไหลออกที่ที่ถูกเจาะ.
               นายหนุ่มนั้นระลึกถึงคำของพระอุปัชฌาย์ได้ในเวลานั้นว่า พระอุปัชฌาย์คงหมายถึงเหตุนี้จึงกล่าวกะเราว่า ในอนาคตเธอจักต้องดื่มน้ำข้าวที่ขยำด้วยมือของหญิงทอหูกตาบอดข้างเดียว. พระเถระคงจักเห็นเหตุนี้เป็นแน่. จึงเริ่มร้องไห้ด้วยเสียงดังว่า โอ พระคุณเจ้าผู้เห็นกาลไกล. พวกช่างหูกอื่นๆ ได้กล่าวกะนายหนุ่มนั้นว่า พอทีเถิด พ่อคุณ อย่าร้องไห้ไปเลย. ธรรมดานัยน์ตาที่แตกแล้วไม่สามารถทำให้เหมือนเดิมได้ ด้วยการร้องไห้ดอก. นายหนุ่มนั้นกล่าวว่า เรามิได้ร้องไห้ถึงเรื่องนั้นดอก แต่เราร้องไห้หมายถึงเหตุนี้ ดังนี้แล้วจึงบอกเรื่องทั้งหมดตามลำดับ.
               สมถะและวิปัสสนาเกิดขึ้นแล้วอย่างนี้ เมื่อดับย่อมเป็นไปเพื่อความเสียประโยชน์.
               ยังมีเรื่องอื่นอีก.
               ภิกษุประมาณ ๓๐ รูปไหว้พระกัลยาณิมหาเจดีย์แล้วหยั่งลงสู่ทางใหญ่ตามทางดง ได้เห็นมนุษย์คนหนึ่งทำกรรมในเขตไฟไหม้ในระหว่างทางเดินมา. ร่างกายของมนุษย์ผู้นั้นได้เป็นดุจเปื้อนด้วยเขม่า. แลดูผ้าสาฎกผืนหนึ่งเปื้อนด้วยเขม่านุ่งหนีบรักแร้ ปรากฏดุจตอไม้ถูกไฟไหม้. มนุษย์ผู้นั้นทำการงานในตอนกลางวัน ขนกองไม้ที่ถูกไฟไหม้ครึ่งหนึ่งออกมีผมรุงรังที่หลัง มาผิดทาง ได้ยืนอยู่เฉพาะหน้าภิกษุทั้งหลาย.
               พวกสามเณรเห็นจึงมองดูกันและกันแล้วหัวเราะกล่าวว่า อาวุโส บิดาของท่าน ลุงของท่าน อาของท่าน แล้วจึงถามชื่อว่า อุบาสกท่านชื่อไร.
               ชายผู้นั้นถูกถามถึงชื่อก็เดือดร้อน ทิ้งกองฟืน จัดแจงนุ่งผ้าไหว้พระมหาเถระแล้ว จึงกล่าวว่า พระคุณเจ้าทั้งหลายโปรดหยุดก่อนเถิด.
               พระมหาเถระทั้งหลายได้ยืนอยู่. พวกสามเณรมาแล้ว ทำการเย้ยหยันแม้ต่อหน้าพระมหาเถระทั้งหลาย.
               อุบาสกกล่าวว่า พระคุณเจ้าทั้งหลายเห็นผมแล้วหัวเราะเยาะ พระคุณเจ้าอย่าเข้าใจว่า พวกเราได้บรรลุถึงที่สุดด้วยเหตุเพียงเท่านี้. แม้ผมเมื่อก่อนก็เป็นสมณะเช่นเดียวกับพวกท่าน แต่พวกท่านมิได้มีแม้เพียงจิตมีอารมณ์เดียว ผมได้เป็นผู้มีฤทธิ์มากมีอานุภาพมากในศาสนานี้. ผมถืออากาศแล้วทำให้เป็นแผ่นดินได้. ถือแผ่นดินแล้วทำให้เป็นอากาศได้. ทำที่ไกลให้ใกล้ได้. ทำที่ใกล้ให้ไกลได้. ผมทะลุไปแสนจักรวาลได้โดยขณะเดียว. พวกท่านจงดูมือของผมซิ บัดนี้เช่นกับมือลิง. ผมนั่ง ณ ที่นี้ลูบคลำพระจันทร์พระอาทิตย์ด้วยมือทั้งสองเหล่านี้ได้. ผมทำพระจันทร์และพระอาทิตย์ให้เป็นแท่นรองนั่งล้างเท้าเหล่านี้แล. ฤทธิ์ของผมเห็นปานนี้ได้สิ้นไปเพราะความประมาท. พวกท่านอย่าได้ประมาทเลย. เพราะชนทั้งหลายถึงความพินาศเห็นปานนี้ ด้วยความประมาท. ผู้ไม่ประมาทย่อมทำที่สุดแห่งชาติชราและมรณะได้. เพราะฉะนั้น ท่านทั้งหลายทำผมนี้แหละให้เป็นอารมณ์ แล้วพูดเตือนว่า พระคุณเจ้าทั้งหลายจงอย่าประมาทเลยแล้วให้โอวาท เมื่อชายผู้นั้นกล่าวอยู่นั่นเอง
               ภิกษุ ๓๐ รูปเหล่านั้นถึงความสลดใจนี้ เห็นแจ้งอยู่ ได้บรรลุพระอรหัต ณ ที่นั้นเองด้วยประการฉะนี้.
               สมถวิปัสสนาที่เกิดขึ้นแล้วแม้อย่างนี้ เมื่อดับไปพึงทราบว่า ย่อมเป็นไปเพื่อความพินาศ.

.. อรรถกถา มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ ปริพพาชกวรรค มหาสกุลุทายิสูตร
อ่านอรรถกถาหน้าต่างที่ [๑] [๒]
อ่านอรรถกถา 13 / 1อ่านอรรถกถา 13 / 293อรรถกถา เล่มที่ 13 ข้อ 314อ่านอรรถกถา 13 / 356อ่านอรรถกถา 13 / 734
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=13&A=5498&Z=6022
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=9&A=4350
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=9&A=4350
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๓๐  กันยายน  พ.ศ.  ๒๕๔๙
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :