ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 13 / 1อ่านอรรถกถา 13 / 276อรรถกถา เล่มที่ 13 ข้อ 293อ่านอรรถกถา 13 / 314อ่านอรรถกถา 13 / 734
อรรถกถา มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ ปริพพาชกวรรค
สันทกสูตร เรื่องสันทกปริพาชก

               ๖. อรรถกถาสันทกสูตร               
               สันทกสูตร มีบทเริ่มต้นว่า เอวมฺเม สุตํ ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้.
               ในบรรดาบทเหล่านั้นบทว่า ปิลกฺขคุหายํ ที่ประตูถ้ำนั้นได้มีต้นเลียบ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ปิลักขคูหา.
               บทว่า ปฏิสลฺลานา วุฏฺฐิโต พระอานนท์ออกจากที่เร้น คือออกจากวิเวก.
               บทว่า เทวกตโสพฺโภ บ่อน้ำที่น้ำฝนเซาะ คือสระน้ำใหญ่เกิดในที่ที่ถูกน้ำฝนเซาะ.
               บทว่า คุหา ในบทว่า คุหาทสฺสนาย เพื่อดูถ้ำนี้ เป็นถ้ำเต็มไปด้วยฝุ่น.
               ถ้ำนั้นได้อยู่ในที่ที่พ้นน้ำ เป็นที่ดอน. ชนทั้งหลายทำอุโมงค์ตลอดนำตอไม้และฝุ่นออก ยกเสาไว้ภายในข้างบนสุดมุงด้วยกระดานทำเป็นเรือนชั่วคราว. พวกปริพาชกเหล่านั้นอยู่กันในถ้ำนั้น. ถ้ำนั้นในฤดูฝนมีน้ำขังเต็ม. ถึงหน้าแล้ง ปริพาชกพากันไปอยู่ในถ้ำนั้น. พระอานนท์กล่าวว่า คุหาทสฺสนาย หมายถึงถ้ำนั้น.
               จริงอยู่ การไปเพื่อดูวิหาร หรือว่าเพื่อดูสมุทรและภูเขา เพราะพิจารณาซึ่งสังสารวัฏอันมีเบื้องต้นและที่สุดอันบุคคลตามรู้ไม่ได้แล้ว ย่อมควร.
               บทว่า อุนฺนาทินิยา ด้วยเสียงสูง คือแผดเสียงเอ็ดตะโร.
               ติรัจฉานกถานั้น แผดเสียงอยู่อย่างนี้ สูงด้วยส่งเสียงสูงเสียงดังแพร่ไปในทิศทั้งหลาย. เพราะเหตุนี้จึงชื่อว่า อุจฺจาสทฺทมหาสทฺโท เพราะเสียงสูงและเสียงดัง.
               ปริพาชกเหล่านั้นลุกขึ้นแต่เช้าตรู่แล้วควรทำเจติยวัตร โพธิวัตร อาจริยวัตร อุปัชฌายวัตร หรือโยนิโสมนสิการไม่มีเลย. พวกเขาลุกแต่เช้าตรู่ กลางวันประชุมกัน ตอนเย็นประชุมสนทนากัน เพื่อหาความสบาย. เริ่มคุยกันถึงเรื่องมือและเท้าเป็นต้นของกันและกันอย่างนี้ว่า มือของคนนี้งาม เท้าของคนนี้งาม หรือคุยกันถึงผิวพรรณของหญิงชาย เด็กหญิงและเด็กชายหรือเรื่องอื่นๆ เช่นความชื่นชมในกามและความชื่นชมในภพเป็นต้น. แล้วกล่าวติรัจฉานกถาหลายอย่างมีพูดถึงเรื่องพระราชาเป็นต้นโดยลำดับ.
               จริงอยู่ การพูดอันเป็นการขัดขวางทางสวรรค์และนิพพาน ชื่อว่าติรัจฉานกถา เพราะไม่นำออกไปจากภพได้. ในกถาเหล่านั้นการพูดถึงเรื่องพระราชาเป็นไปโดยนัยมีอาทิว่า พระเจ้ามหาสมมตราช พระเจ้ามันธาตุราช พระเจ้าธรรมาโศกราชมีอานุภาพอย่างนี้ ชื่อว่าราชกถา.
               ในโจรกถาเป็นต้นก็มีนัยนี้เหมือนกัน.
               การพูดอาศัยกามคุณโดยนัยมีอาทิว่า พระราชาองค์โน้นพระรูปพระโฉมงดงามน่าชม ดังนี้ ก็เป็นติรัจฉานกถา. แต่การพูดเป็นทำนองอย่างนี้ว่า แม้พระราชาองค์นั้นมีอานุภาพมากอย่างนี้ก็ยังสวรรคตดังนี้ ชื่อว่าย่อมตั้งอยู่ในความเป็นกรรมฐานกถา. แม้ในโจรทั้งหลายการพูดอาศัยกามคุณว่า โอ เขากล้าหาญ เพราะอาศัยกรรมของโจรเหล่านั้นว่า โจรมูลเทพมีอานุภาพมากอย่างนี้ โจรเมฆมาละมีอานุภาพมากอย่างนี้ ดังนี้ก็เป็นติรัจฉานกถา. แม้ในการรบ การพูดในภารตยุทธเป็นต้นด้วยความพอใจในกามว่า คนโน้นถูกคนโน้นฆ่าอย่างนี้ ถูกแทงอย่างนี้ ดังนี้ก็เป็นติรัจฉานกถา. แต่การพูดในเรื่องทั้งหมดเป็นทำนองอย่างนี้ว่า แม้ชนเหล่านั้นก็ยังตายได้ดังนี้เป็นกรรมฐานกถาทีเดียว.
               อีกอย่างหนึ่ง ในเรื่องข้าวเป็นต้น ไม่ควรพูดด้วยสามารถความชื่นชมในกามว่า เราเคี้ยว กิน ดื่ม บริโภค ข้าวเป็นต้นมีสี มีกลิ่น มีรส มีผัสสะอย่างนี้.
               แต่ควรพูดถึงเรื่องน้ำเป็นต้นทำให้มีประโยชน์ว่า เราได้ถวายข้าวผ้าที่นอน ดอกไม้ของหอมอันสมบูรณ์ด้วยสีอย่างนี้แก่ท่านผู้มีศีลในครั้งก่อน. เราได้ทำการบูชาที่พระเจดีย์ดังนี้. แม้ในการพูดถึงเรื่องญาติเป็นต้น ก็ไม่ควรพูดด้วยสามารถความชื่นชมว่า ญาติของเราเป็นผู้กล้า เป็นผู้สามารถ หรือว่าเมื่อก่อน เราได้เที่ยวไปด้วยยานอันสวยงามอย่างนี้. แต่ควรพูดทำให้มีประโยชน์ว่า แม้ญาติของเราเหล่านั้น ก็ได้ตายไปเสียแล้ว. หรือว่าเมื่อก่อนเราได้ถวายรองเท้าชนิดนี้แก่พระสงฆ์. แม้พูดเรื่องบ้าน ก็ไม่ควรพูดด้วยสามารถความอยู่ดีอยู่ชั่ว อาหารดีอาหารขาดแคลนเป็นต้น หรือพูดด้วยสามารถความชื่นชมว่า คนอยู่บ้านโน้นเป็นคนกล้าเป็นคนสามารถ. แต่ควรพูดทำให้มีประโยชน์ว่าแม้คนกล้าที่มีศรัทธาเลื่อมใส ก็ยังตายได้.
               แม้ในการพูดเรื่องนิคม เรื่องนคร เรื่องชนบทก็มีนัยนี้เหมือนกัน.
               แม้การพูดเรื่องผู้หญิง ก็ไม่ควรพูดด้วยสามารถความชื่นชมอาศัยผิวพรรณและทรวดทรงเป็นต้น. ควรพูดอย่างนี้ว่า สตรีที่มีศรัทธา เลื่อมใส ก็ยังตายได้.
               แม้พูดเรื่องคนกล้าหาญ ก็ไม่ควรพูดด้วยความพอใจว่า นักรบชื่อว่าสันธิมิตรได้เป็นผู้กล้าหาญ. ควรพูดอย่างนี้ว่านักรบผู้กล้าหาญมีศรัทธา ก็ยังตายได้. แม้พูดเรื่องตรอกก็ไม่ควรพูดด้วยความพอใจว่า ตรอกโน้นตั้งอยู่ดี ตั้งอยู่ไม่ดี มีคนกล้า มีคนสามารถ. ควรพูดว่า คนกล้าคนสามารถที่อยู่ตรอกนั้น ก็ยังตายได้.
               บทว่า กุมฺภฏฺฐานกถา พูดเรื่องท่าน้ำ คือที่ตั้งของหม้อน้ำ ท่านเรียกว่าท่าน้ำ.
               บทว่า กุมฺภทาสีกถา พูดเรื่องนางกุมภทาสี แม้นางกุมภทาสีนั้นก็ไม่ควรพูดด้วยความชื่นชมว่า นางกุมภทาสีน่ารัก ฉลาดการฟ้อนรำขับร้อง. ควรพูดโดยนัยมีอาทิว่า สทฺธาสมฺปนฺนา นั่นแหละ.
               บทว่า ปุพฺพเปตกถา พูดเรื่องคนที่ล่วงลับไปแล้ว คือพูดเรื่องญาติในอดีต.
               ในบทว่า ปุพฺพเปตกถา นั้น เช่นเดียวกับพูดเรื่องญาติที่ยังมีชีวิตอยู่.
               บทว่า นานตฺตกถา พูดเรื่องเบ็ดเตล็ด คือพูดเรื่องไม่มีประโยชน์มีสภาพต่างๆ นอกเหนือจากพูดเรื่องก่อนและเรื่องหลัง.
               บทว่า โลกกฺขายิกา พูดเรื่องโลก คือสนทนากันเรื่องโลกายตศาสตร์และเรื่องนอกคัมภีร์ มีอาทิอย่างนี้ว่า โลกนี้ใครสร้าง โลกนี้คนโน้นสร้าง กาขาว เพราะกระดูกขาว นกยางกรอกแดงเพราะเลือดแดง การพูดเรื่องทะเลไร้ประโยชน์มีอาทิอย่างนี้ว่า เพราะเหตุไรจึงเรียกว่าสมุทร เพราะเหตุไรจึงเรียกว่าสาคร. ที่เรียกว่าสมุทร เพราะยกมือประกาศว่าเราขุด. ชื่อว่าสาคร เพราะสาครเทพขุด ชื่อว่าพูดเรื่องทะเล พูดถึงเหตุไร้ประโยชน์ ไม่เป็นชิ้นเป็นอันว่า ความเจริญเป็นอย่างนี้ ความเสื่อมเป็นอย่างนี้ ชื่อว่าพูดเรื่องความเจริญและความเสื่อมด้วยประการนั้นๆ.
               อนึ่ง ในบทนี้ความเห็นว่าเที่ยงคือความเจริญ. ความเห็นว่าสูญคือความเสื่อม. ความเจริญคือภว ความเสื่อมคืออภว. กามสุขคือความเจริญ. การทำตนให้ลำบากคือความเสื่อม.
               ชื่อว่า ติรัจฉานกถามี ๓๒ อย่าง รวมกับ อิติภวาภวกถา (พูดเรื่องความเจริญความเสื่อม) ๖ อย่างนี้ด้วยประการฉะนี้.
               สันทกปริพาชกนั่งร่วมกับผู้พูดติรัจฉานกถาเห็นปานฉะนี้.
               แต่นั้น สันทกปริพาชกแลดูปริพาชกเหล่านั้นคิดว่า ปริพาชกเหล่านี้ไม่เคารพยำเกรงกันและกันเสียเลย.
               อนึ่ง พวกเราตั้งแต่พระสมณโคดมปรากฏขึ้นเปรียบเหมือนหิ่งห้อยในเวลาพระอาทิตย์ขึ้น. แม้ลาภสักการะของพวกเราก็เสื่อม. หากพระสมณโคดมหรือสาวกของพระโคดม แม้อุปัฏฐากผู้เป็นคฤหัสถ์ของพระสมณโคดมนั้นพึงมาสู่ที่นี้ จักน่าละอายอย่างยิ่ง. ก็โทษในบริษัทย่อมขึ้นในเบื้องบนของผู้เจริญในบริษัท. จึงมองดูข้างโน้นข้างนี้ได้เห็นพระเถระ. ด้วยเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า อทฺทสา โข สนฺทโก ปริพาชโก ฯลฯ ตุณฺหี อเหสุํ
               สันทกปริพาชกได้เห็นท่านพระอานนท์มาแต่ไกล จึงห้ามบริษัทของตนให้สงบเสียงว่า ท่านผู้เจริญทั้งหลายจงเบาเสียงเถิด ท่านผู้เจริญทั้งหลายอย่าทำเสียงดังต่อไปเลย นี่สาวกของพระสมณโคดมเป็นสมณะชื่ออานนท์กำลังมาอยู่ สมณะชื่ออานนท์นี้เป็นสาวกองค์หนึ่งในบรรดาสาวกของพระโคดมที่อาศัยอยู่ ณ กรุงโกสัมพี ก็ท่านผู้มีอายุเหล่านั้นเป็นผู้ใคร่ในความเป็นผู้มีเสียงเบา แนะนำในความมีเสียงเบา กล่าวสรรเสริญเสียงเบา ถ้ากระไรสมณะชื่ออานนท์นั้นทราบว่าบริษัทมีเสียงเบาแล้ว พึงสำคัญที่จะเข้ามาใกล้.
               ลำดับนั้น ปริพาชกเหล่านั้นได้นิ่งอยู่.
               ในบทเหล่านั้นบทว่า สณฺฐเปสิ ให้สงบเสียง คือให้สำเหนียก ได้แก่ปกปิดโทษของบริษัทนั้น ยังบริษัทตั้งอยู่โดยอาการที่ตั้งอยู่แล้วด้วยดี. เหมือนบุรุษเมื่อเข้าไปยังท่ามกลางบริษัท ย่อมนุ่งห่มเรียบร้อยเพื่อปกปิดโทษ กวาดที่รกด้วยฝุ่นละอองฉันใด.
               สันทกปริพาชกห้ามบริษัทว่า ท่านผู้เจริญทั้งหลายจงเบาเสียงเถิดเพื่อปกปิดโทษของบริษัทนั้น. อธิบายว่า ให้บริษัทตั้งอยู่โดยอาการที่ตั้งอยู่ด้วยดี.
               บทว่า อปฺปสทฺทกามา สาวกทั้งหลายใคร่ในความเป็นผู้มีเสียงเบาคือปรารถนาเสียงเบา นั่งผู้เดียว ยืนผู้เดียว ไม่คลุกคลีด้วยหมู่.
               บทว่า อปฺปสทฺทวินีตา แนะนำในความมีเสียงเบา คือพระพุทธเจ้าผู้มีเสียงเบา มีเสียงไม่ดังทรงแนะนำไว้.
               บทว่า อปฺปสทฺทสฺส วณฺณวาทิโน ผู้กล่าวสรรเสริญเสียงเบา คือ กล่าวสรรเสริญที่อันมีเสียงเบา ไม่มีเสียง.
               บทว่า อุปสงฺกมิตพฺพํ มญฺเญยฺย พึงสำคัญที่จะเข้ามาใกล้ คือพึงสำคัญที่จะเข้าไป ณ ที่นี้.
               ก็เพราะเหตุไร สันทกปริพาชกนั้นจึงหวังจะเข้าไปใกล้พระเถระเล่า.
               เพราะปรารถนาความเจริญแก่ตน.
               ได้ยินว่า ปริพาชกทั้งหลาย เมื่อพระพุทธเจ้าหรือเมื่อสาวกของพระพุทธเจ้ามายังสำนักของตนๆ จึงยกตนขึ้นในสำนักของพวกอุปัฏฐากว่า วันนี้พระสมณโคดมมายังสำนักของพวกเรา พระสารีบุตรก็มา. ท่านเหล่านั้นไม่ไปหาใครๆ เลย. พวกท่านจงเห็นว่า พวกเราสูงส่งแค่ไหน. ย่อมตั้งตนไว้ในที่สูง. พยายามจะรับเอาอุปัฏฐากแม้ของพระผู้มีพระภาคเจ้า.
               นัยว่า ปริพาชกเหล่านั้นเห็นพวกอุปัฏฐากของพระผู้มีพระภาคเจ้าจึงกล่าวอย่างนี้ว่า แม้พระโคดมผู้เจริญศาสดาของพวกท่าน แม้สาวกของพระโคดมยังมาสู่สำนักของพวกเรา. พวกเราพร้อมเพรียงกันและกัน. ส่วนพวกท่านไม่ปรารถนาจะมองดูพวกเรา ไม่ทำสามีจิกรรม. พวกเราทำผิดอะไรแก่พวกท่านหรือ.
               ครั้งนั้น มนุษย์บางพวกคิดว่า แม้พระพุทธเจ้ายังเสด็จมาถึงสำนักปริพาชกเหล่านี้ ประสาอะไรแก่พวกเรา. ตั้งแต่นั้น พวกมนุษย์เห็นปริพาชกแล้วก็ไม่ดูแคลน.
               บทว่า ตุณฺหี อเหสุํ ปริพาชกเหล่านั้นได้นิ่งอยู่ คือนั่งล้อมสันทกปริพาชก.
               บทว่า สฺวาคตํ โภโต อานนฺทสฺส ท่านพระอานนท์มาดีแล้ว ท่านแสดงไว้ว่า เมื่อท่านผู้เจริญมาหาพวกเรา เป็นพระอานนท์. เมื่อท่านไปก็จะเสียใจ.
               บทว่า จิรสฺสํ โข นี้เป็นคำกล่าวแสดงความน่ารัก. ส่วนพระเถระไปอารามของปริพาชกตามเวลาเพื่อต้องการจาริก เพราะเหตุนั้น สันทกปริพาชกถือเอาการไปก่อนจึงกล่าวอย่างนี้.
               ครั้นปริพาชกกล่าวอย่างนี้แล้วก็มิได้เป็นผู้กระด้างด้วยมานะนั่ง. จึงลุกจากอาสนะของตนปัดอาสนะนั้น นิมนต์พระเถระให้นั่งบนอาสนะกล่าวว่า ท่านพระอานนท์จงนั่งเถิด. นี่อาสนะปูไว้แล้ว.
               บทว่า อนฺตรากถา วิปฺปกตา เรื่องอะไรที่พวกท่านหยุดค้างไว้ในระหว่าง.
               พระอานนท์ถามว่า กถาอะไรที่พวกท่านหยุดค้างไว้ในระหว่างตั้งแต่พวกท่านนั่งสนทนากันจนกระทั่งผมมา. กถาอะไรที่ยังไม่จบ เพราะผมมาเป็นเหตุ.
               ลำดับนั้น ปริพาชกเมื่อจะแสดงว่า กถาไร้ประโยชน์ไม่มีสาระอาศัยวัฏฏะ ไม่สมควรจะกล่าวต่อหน้าท่าน จึงกล่าวคำมีอาทิว่า ติฏฺฐเตสา โภ ท่านผู้เจริญ เรื่องนั้นขอยกไว้เถิด.
               บทว่า เนสา โภโต สันทกปริพาชกกล่าวว่า หากท่านผู้เจริญประสงค์จะฟัง แม้ภายหลังก็จักได้ฟังโดยไม่ยาก. กถานี้ไม่มีประโยชน์แก่พวกเราเลย. พวกเราได้การมาของท่านผู้เจริญแล้ว ประสงค์จะฟังกถาอันมีเหตุผลดีอย่างอื่นต่างหาก.
               สันทกะเมื่อจะวิงวอนขอพระธรรมเทศนา จึงกล่าวคำมีอาทิว่า สาธุ วต ภวนฺตํเยว ดีละหนอ กถาที่เป็นธรรมจงแจ่มแจ้งแก่ท่านผู้เจริญเถิด.
               ในบทเหล่านั้นบทว่า อาจริยเก คือ ในลัทธิของอาจารย์.
               บทว่า อนสฺสาสิกานิ พรหมจรรย์อันเว้นความยินดี คือไม่มีความปลอดโปร่ง.
               บทว่า สสกฺกํ เป็นนิบาตลงในอรรถว่าโดยส่วนเดียว. อธิบายว่า วิญญูชนไม่พึงอยู่ประพฤติโดยส่วนเดียว. ท่านอธิบายว่า ส่วนอวิญญูชนเมื่ออยู่ประพฤติไม่พึงให้ยินดี ไม่พึงให้สำเร็จ ไม่พึงทำให้บริบูรณ์.
               บทว่า ญายํ ธมฺมํ กุสลํ ยังกุศลธรรมเครื่องออกไป คือชื่อว่ากุศลธรรม เพราะอรรถว่าไม่มีโทษอันเป็นเหตุ.
               บทว่า อิธ คือ ในโลกนี้.
               บทมีอาทิว่า นตฺถิ ทินฺนํ ทานที่ให้แล้วไม่มีผล ท่านกล่าวไว้แล้วในสาเลยยกสูตร.
               บทว่า จาตุมหาภูติโก คือ สำเร็จด้วยมหาภูตรูป ๔.
               บทว่า ปฐวี ปฐวีกายํ ธาตุดินไปตามธาตุดิน คือธาตุดินภายในไปตามธาตุดินภายนอก.
               บทว่า อนุเปติ คือ ไปตาม.
               บทว่า อนุปคจฺฉติ ไปตามเป็นไวพจน์ของบทว่า อนุเปติ. นั้น เป็น อนุคจฺฉติ ก็มี. แม้ด้วยบททั้งสอง นี้ท่านแสดงว่า อุเปติ อุปคจฺฉติ คือ เข้าไป.
               แม้ในธาตุน้ำเป็นต้นก็มีนัยนี้เหมือนกัน.
               บทว่า อินฺทฺริยานิ คือ อินทรีย์มีมนินทรีย์เป็นที่ ๖ ย่อมแล่นไปสู่อากาศ.
               บทว่า อาสนฺธิปญฺจมา คือ มือมีเตียงเป็นที่ ๕ คือมีเตียงนั่งเป็นที่ ๕. อธิบายว่า เตียงและบุรุษ ๔ คนยืนจับเท้าเตียงทั้ง ๔.
               บทว่า ยาว อาหฬนา แค่ป่าช้า.
               บทว่า ปทานิ คือ ร่างกาย.
               คุณบททั้งหลายเป็นไปแล้วโดยนัยมีอาทิว่า ผู้นี้มีศีลอย่างนี้ ทุศีลอย่างนี้.
               ในบทว่า ปทานิ นี้ท่านประสงค์เอาสรีระ.
               บทว่า กาโปตกานิ คือ มีสีดุจสีนกพิราบ. อธิบายว่า มีสีดุจปีกนกพิราบ.
               บทว่า ภสฺสนฺตา คือ มีเถ้าเป็นที่สุด. ในบทนี้บาลีเป็นอย่างนี้.
               บทว่า อาหุติโย การเซ่นสรวง. ความว่า ทานที่ให้แล้วมีประเภทเป็นเครื่องสักการะเป็นต้นที่เซ่นสรวง ทั้งหมดนั้นมีเถ้าเป็นที่สุด. ต่อจากนั้นไม่ให้ผลเลย.
               บทว่า ทตฺตุปญฺญตฺตํ ทานที่คนเขลาบัญญัติไว้ คือ คนโง่ คนพาลบัญญัติไว้
               บทนี้ท่านอธิบายว่า ทานนี้ คนพาล คนโง่บัญญัติไว้. มิใช่บัณฑิตบัญญัติ. คนพาลให้ บัณฑิตรับ.
               บทว่า อตฺถิกวาทํ วาทะว่ามีผล คนบางพวกกล่าววาทะว่ามีผลว่า ผลทานที่ให้แล้วมีอยู่. คำของคนเหล่านั้นเป็นคำเปล่าคำเท็จ คำเพ้อ.
               บทว่า พาโล จ ปณฺฑิโต จ คือ พาลและบัณฑิต.
               บทว่า อกเตน เม เอตฺถ กตํ กรรมในลัทธินี้ที่เราไม่ได้ทำเลยเป็นอันทำแล้ว คือกรรมในลัทธินี้โดยกรรมของสมณะที่เราไม่ได้ทำเลย ชื่อว่าเป็นอันทำแล้ว. พรหมจรรย์อันเราไม่เคยอยู่ชื่อว่าเป็นอันอยู่แล้ว.
               บทว่า เอตฺถ คือในธรรมของสมณะนี้.
               บทว่า สมสมา เป็นผู้เสมอๆ กัน คือเสมอกันอย่างยิ่ง หรือเสมอกันด้วยคุณอันเสมอ.
               บทว่า สามญฺญํ ปตฺตา คือถึงความเป็นผู้เสมอกัน.
               บทมีอาทิว่า กรโต เมื่อบุคคลทำเองท่านกล่าวไว้แล้วในอปัณณกสูตร.
               บทมีอาทิว่า นตฺถิ เหตุ ไม่มีเหตุ ก็อย่างนั้น.
               พึงทราบวินิจฉัยในพรหมจริยวาสที่ ๔ ดังต่อไปนี้
               ชื่อว่า อกตา เพราะไม่มีใครทำ.
               บทว่า อกตวิธา คือ ไม่มีแบบอย่างอันใครทำ. อธิบายว่า ไม่มีใครๆ สั่งให้ทำว่าท่านจงทำอย่างนี้.
               บทว่า อนิมฺมิตา ไม่มีใครนิรมิต คือไม่มีใครนิรมิตแม้ด้วยฤทธิ์.
               บทว่า อนิมฺมาปิตา คือ ไม่มีใครให้นิรมิต. อาจารย์บางพวกกล่าวบทว่า อนิมฺมิตพฺพา ไม่พึงนิรมิตให้. บทนั้นไม่ปรากฏในบาลี ไม่ปรากฏในอรรถกถา.
               บทว่า วญฺฌา เป็นหมัน สัตว์เลี้ยงเป็นหมัน มิให้เกิดแก่ใครๆ ดุจตาลเป็นต้นไม่มีผล. ด้วยบทนี้ปฏิเสธความที่ปฐวีธาตุเป็นต้น ให้เกิดเป็นรูปเป็นต้น. ชื่อว่า กูฏฏฺฐา เพราะตั้งอยู่มั่นดุจยอดภูเขา.
               บทว่า อีสิกฏฺฐายิฏฺฐิตา๑- คือ ตั้งอยู่มั่นดุจเสาระเนียดในหญ้ามุงกระต่าย.
               ในบทนั้นมีอธิบายว่า สิ่งใดที่ท่านกล่าวว่าย่อมเกิด สิ่งนั้นมีอยู่ ดุจเสาระเนียดย่อมออกไปจากหญ้ามุงกระต่าย. ปาฐะว่า เอสิกฏุฐายฏฺฐิตา ก็มี.
               อธิบายว่า เสาระเนียดที่ฝังไว้ดีแล้ว ไม่หวั่นไหวตั้งอยู่มั่นคง. สภาวะ ๗ กอง ตั้งมั่นแล้วอย่างนั้น. แม้ด้วยบททั้ง ๒ นี้ท่านแสดงถึงความไม่พินาศไปแห่งสภาวะ ๗ กองเหล่านั้น.
____________________________
๑- บาลีว่า เอสิกฏฺฐายิฏฺฐิตา ม. มัช. เล่ม ๑๓/ข้อ ๓๐๒

               บทว่า น อิญฺชนฺติ สภาวะ ๗ กองไม่หวั่นไหว คือไม่สั่นคลอนเพราะตั้งอยู่มั่นคง ดุจเสาระเนียดฉะนั้น.
               บทว่า น วิปริณมนฺติ ไม่แปรปรวน คือไม่ละปรกติไป.
               บทว่า อญฺญมญฺญํ พฺยาพาเธนฺติ คือ ไม่เบียดเบียนกันและกัน.
               บทว่า นาภํ คือ ไม่สามารถ.
               พึงทราบความในบทมีอาทิว่า ปฐวีกาโย กองดินดังต่อไปนี้. กองดินหรือหมู่ดิน.
               บทว่า ตตฺถ คือ ในกองมีชีวะเป็นที่ ๗ เหล่านั้น.
               บทว่า นตฺถิ หนฺตา วา ผู้ฆ่าเองไม่มี.
               ท่านแสดงไว้ว่า ไม่มีผู้สามารถเพื่อฆ่าเองก็ดี เพื่อใช้ให้ฆ่าก็ดี เพื่อให้เดือดร้อนก็ดี เพื่อกระทบกระทั่งก็ดี เพื่อเศร้าโศกเองก็ดี เพื่อให้ผู้อื่นเศร้าโศกก็ดี เพื่อได้ยินเองก็ดี เพื่อเข้าใจเองก็ดี.
               บทว่า สตฺตนฺนํเยว กายานํ แห่งสภาวะ ๗ กอง.
               ท่านแสดงไว้ว่า เหมือนศัสตราที่ทำลายในกองถั่วเขียวเป็นต้น ย่อมเข้าไปโดยระหว่างกองถั่วเขียวฉันใด ศัสตราสอดเข้าไปโดยช่องในระหว่างสภาวะ ๗ กองก็ฉันนั้น ศัสตราเป็นเพียงสัญญาอย่างเดียวเท่านั้นว่า เราจะฆ่าผู้นี้เสีย.
               บทว่า โยนิปฺปมุขสตสหสฺสานิ ท่านแสดงทิฏฐิไร้ประโยชน์โดยเพียงคาดคะเนอย่างเดียวว่า กำเนิดที่เป็นประธานและกำเนิดสูงสุด ๑,๔๐๖,๖๐๐ กรรม.
               บทว่า ปญฺจกมฺมุโน สตานิ ความว่า ๕๐๐ กรรม.
               แม้ในบทมีอาทิว่า ปญฺจ จ กมฺมานิ ตีณิ จ กมฺมานิ ๕ กรรมและ ๓ กรรมก็มีนัยนี้เหมือนกัน.
               แต่อาจารย์บางพวกกล่าวว่า บทว่า ปญฺจ กมฺมานิ กรรม ๕ ท่านกล่าวด้วยสามารถอินทรีย์ ๕.
               บทว่า ตีณิ กรรม ๓ ท่านกล่าวด้วยสามารถกายกรรมเป็นต้น.
               แต่ในบทว่า กมฺเม จ อฑฺฒกมฺเม จ ๑ กรรม กรรมครึ่ง นี้คือ ลัทธิของกรรมนั้น คือกายกรรมและวจีกรรม. มโนกรรมเป็นกรรมครึ่ง.
               บทว่า ทิฏฺฐิปฏิปทา ท่านกล่าวถึงปฏิปทาในทิฏฐิ ๖๒.
               บทว่า ทฺวฏฺฐนฺตรกปฺปา อันตรกัป ๖๒ คือในกัปหนึ่งๆ มีอันตรกัป ๖๔. พระอานนท์เถระเมื่อไม่รู้ ๒ กัปอย่างอื่นจึงกล่าวอย่างนี้. อภิชาติ ๖ กล่าวไว้พิสดารแล้วในอปัณณกสูตร.
               บทว่า อฏฺฐ ปุริสภูมิโย ปุริสภูมิ ๘ ท่านกล่าวไว้ว่า ปุริสภูมิ ๘ เหล่านี้ คือมันทภูมิ (ภูมิอ่อน) ๑ ขิฑฑาภูมิ (ภูมิเล่น) ๑ ปทวีมังสกภูมิ (ภูมิหัดเดิน) ๑ อุชุคตภูมิ (ภูมิเดิน) ๑ เสกขภูมิ (ภูมิศึกษา) ๑ สมณภูมิ (ภูมิสมณะ) ๑ ชินภูมิ (ภูมิเรียนรู้) ๑ ปันนภูมิ (ภูมิบรรลุแล้ว) ๑.
               ในภูมิเหล่านั้นท่านกล่าวว่า สัตว์ทั้งหลายเป็นผู้ยังอ่อน ยังเขลา เพราะตั้งแต่วันคลอดออกจากที่คับแคบใน ๗ วัน นี้ชื่อว่ามันทภูมิ.
               อนึ่ง สัตว์เหล่าใดมาจากทุคติ สัตว์เหล่านั้นย่อมร้องและร้องดังบ่อยๆ. สัตว์มาจากสุคติ ระลึกถึงสุคตินั้นๆ แล้วหัวเราะ นี้ชื่อว่าขิฑฑาภูมิ. การจับมือหรือเท้าของมารดาบิดาหรือเตียงตั่งแล้วเหยียบเท้าลงบนพื้น ชื่อว่าปทวีมังสกภูมิ. คราวที่สามารถเดินไปด้วยเท้าได้ ชื่อว่าอุชุคตภูมิ. คราวศึกษาศิลปะ ชื่อว่าเสกขภูมิ. คราวออกจากเรือนแล้วบวช ชื่อว่าสมณภูมิ. คราวคบอาจารย์แล้วรู้ ชื่อว่าชินภูมิ. อนึ่ง ภิกษุผู้รู้บรรลุแล้วไม่เรียนอะไรอีก เพราะเหตุนั้น สมณะผู้ไม่ต้องเรียนอย่างนี้ ชื่อว่าปันนภูมิ.
               บทว่า เอกูนปญฺญาส อาชีวสเต คือ ความเป็นไปของอาชีวก ๔,๙๐๐ อย่าง.
               บทว่า เอกูนปญฺญาส ปริพฺพาชกสเต คือ การบรรพชาของปริพาชก ๔,๙๐๐.
               บทว่า เอกูนปญฺญาส นาคาวาสสเต คือ นาคมณฑล ๔,๙๐๐.
               บทว่า วีเส อินฺทฺริยสเต คือ อินทรีย์ ๒,๐๐๐.
               บทว่า ตึเส นิรยสเต คือ นรก ๓,๐๐๐.
               บทว่า รโชธาตุโย คือ ที่เกลื่อนกล่นด้วยธุลี. ท่านกล่าวหมายถึงหลังมือและหลังเท้าเป็นต้น.
               บทว่า สตฺต สญฺญิคพฺภา สัญญีครรภ์ ๗ ท่านกล่าวหมายถึง อูฐ โค ลา แพะ สัตว์เลี้ยง มฤคและควาย.
               บทว่า อสญฺญิคพฺภา ได้แก่ อสัญญีครรภ์ ๗. ท่านกล่าวหมายถึงข้าวสาลี ข้าวเหนียว ข้าวละมาน ถั่วเขียว ข้าวฟ่าง ลูกเดือยและหญ้ากับแก้.
               บทว่า นิคนฺถคพฺภา นิคันถครรภ์ คือครรภ์เกิดในนิคันถะ. ท่านกล่าวหมายถึง อ้อย ไม้ไผ่ ต้นอ้อ.
               บทว่า สตฺต เทวา เทวดา ๗ คือเทวดามาก. แต่ท่านกล่าวว่า ๗. แม้มนุษย์ก็ไม่น้อย. ท่านก็กล่าวว่า ๗.
               บทว่า สตฺต ปีสาจา ปีศาจ ๗ คือปีศาจมาก ท่านก็กล่าวว่า ๗.
               บทว่า สรา คือ สระใหญ่ ท่านกล่าวหมายถึงสระชื่อว่า กัณณมุณฑกะ รถกาฬะ อโนตัตตะ สีหัปปปาตะ ฉัททันตะ มุจจลินทะ กุณาลทหะ.
               บทว่า ปวุฏา ได้แก่ เจ้าตำรา.
               บทว่า สตฺตปปาตา ได้แก่ เหวใหญ่ ๗.
               บทว่า สตฺตปปาตสตานิ ได้แก่ เหวน้อย ๗๐๐.
               บทว่า สตฺต สุปินา ได้แก่ มหาสุบิน ๗.
               บทว่า สตฺต สุปินสตานิ ได้แก่ สุบินน้อย ๗๐๐.
               บทว่า มหากปฺปิโน ได้แก่ มหากัป.
               ในบทนี้ท่านกล่าวว่า ทุกๆ ๑๐๐ ปี เอาปลายหญ้าคา จุ่มน้ำ นำออกไปครั้งละหยาด ๗ ครั้ง เมื่อกระทำให้น้ำหมดจากสระนั้นแล้วจึงเรียกว่า ๑ มหากัป. คนพาลและบัณฑิตยังมหากัป ๘,๔๐๐,๐๐๐ เห็นปานนั้นให้สิ้นไป จึงจะทำที่สุดทุกข์ได้ นี้เป็นลัทธิของเขา.
               นัยว่า แม้บัณฑิตก็ไม่สามารถทำให้บริสุทธิ์ได้ในระหว่าง. แม้คนพาลก็ไม่ไปสูงกว่านั้นได้.
               บทว่า สีเลน คือ ด้วยศีลเช่นนั้น แม้ท่านกล่าวด้วยอเจลกศีลหรือศีลอื่นอย่างใดอย่างหนึ่ง. ท่านกล่าวว่า โนติปิ เม โน โน โนติปิ เมโน คือความเห็นของเราว่าไม่ใช่ ก็มิใช่, ว่ามิใช่ ไม่ใช่ ก็มิใช่. จากนั้นเมื่อท่านกล่าวว่า ความเห็นของท่านว่าไม่ใช่หรือ ย่อมถึงความฟุ้งซ่านว่า ความเห็นของเราว่าไม่ใช่ก็มิใช่. ย่อมไม่ตั้งอยู่ในฝ่ายหนึ่ง.
               บทว่า นิพฺพิชฺช ปกฺกมติ เบื่อแล้วหลีกไป คือ ศาสดานั้นไม่สามารถเป็นที่พึ่งแม้แก่ตนได้ จักอาจเป็นที่พึ่งแก่เราได้อย่างไรกัน เพราะเหตุนั้นจึงเบื่อหลีกไป.
               ในความเว้นจากความยินดีแม้ในก่อนก็มีนิสัยนี้เหมือนกัน.
               บทว่า สนฺนิธิการกํ กาเม ปริภุญฺชิตุํ ไม่ควรทำการสะสมบริโภคกาม คือเป็นคฤหัสถ์มาก่อนทำการสะสมแล้วบริโภควัตถุกาม. บัดนี้ไม่ควรทำการสะสมงา ข้าวสาร เนยใสและเนยข้นเป็นต้นอย่างนี้แล้วบริโภค. ก็งาและข้าวสารเป็นต้น ย่อมปรากฏในฐานะของพระขีณาสพ มิใช่หรือ เพราะเหตุนั้นจึงไม่ปรากฏแก่พวกเรา. แต่นั้นมิได้ตั้งไว้เพื่อประโยชน์แก่ตัวของท่าน ตั้งไว้เพื่อประโยชน์แก่ผู้บวชที่ไม่สบายเป็นต้น.
               เพื่อพระอนาคามี อย่างไร? พระอนาคามีนั้นละกามคุณ ๕ ได้โดยประการทั้งปวง แต่พระอนาคามีพิจารณาสิ่งที่ท่านได้โดยธรรมโดยเสมอแล้วจึงบริโภค.
               บทว่า ปุตฺตมตาย ปุตตา อาชีวกเหล่านั้น ชื่อว่าเป็นบุตรของมารดาผู้มีบุตรตายแล้ว คือนัยว่า สันทกปริพาชกนั้นฟังธรรมนี้แล้ว สำคัญว่าอาชีวกตายแล้ว จึงกล่าวอย่างนี้.
               ในบทนี้มีอธิบายดังต่อไปนี้.
               อาชีวกทั้งหลายชื่อว่าตายแล้ว มารดาของอาชีวกเหล่านั้นชื่อว่าเป็นมารดาผู้มีบุตรตายแล้ว ด้วยประการฉะนี้ อาชีวกทั้งหลายจึงเป็นผู้ชื่อว่าเป็นบุตรของมารดาผู้มีบุตรตายแล้ว.
               บทว่า สมเณ โคตเม ท่านแสดงว่า การอยู่ประพฤติพรหมจรรย์มีอยู่ในพระสมณโคดม.
               บทที่เหลือในที่ทั้งปวงง่ายทั้งนั้น.

               จบอรรถกถาสันทกสูตรที่ ๖               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ ปริพพาชกวรรค สันทกสูตร เรื่องสันทกปริพาชก จบ.
อ่านอรรถกถา 13 / 1อ่านอรรถกถา 13 / 276อรรถกถา เล่มที่ 13 ข้อ 293อ่านอรรถกถา 13 / 314อ่านอรรถกถา 13 / 734
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=13&A=5062&Z=5497
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=9&A=4112
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=9&A=4112
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๑๗  กันยายน  พ.ศ.  ๒๕๔๙
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :